อ้าย เหว่ยเหว่ย ศิลปินจอมแสบผู้ต่อสู้หมอกควันด้วยศิลปะ
จะว่าไป อ้าย เหว่ยเหว่ย ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นศิลปินหัวขบถแห่งยุคคนหนึ่งของโลกก็ว่าได้
เขานับเป็นศิลปินทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่ง ในฐานะนักวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในความเป็นประชาธิปไตย ผ่านการสร้างสรรค์ศิลปะทั้งประติมากรรม, สื่อประสม, ศิลปะจัดวาง, สถาปัตยกรรม, ภาพถ่าย และภาพยนตร์
อ้าย เหว่ยเหว่ย มีผลงานดังมากมาย เช่น การออกแบบงานสถาปัตยกรรมอาคารสนามกีฬาแห่งชาติปักกิ่งหรือสนามรังนก ที่เป็นสนามหลักในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2008, งาน Baby Formula 2013 โจมตีกรณีสารปนเปื้อนเมลามีนในนม ที่มีเหยื่อได้รับผลกระทบกว่า 300,000 คน หรือการระดมทีมผู้กำกับภาพชั้นนำ 12 คน ถ่ายทำภาพยนตร์สารคดี Human Flow (2017) ตีแผ่ชีวิตผู้ลี้ภัยใน 23 ประเทศ
ผลงานศิลปะส่วนใหญ่ของเขา โดดเด่นด้วยการนำวัสดุและข้าวของที่สามารถพบเห็นทั่วไปในชีวิตประจำวันมาดัดแปลงให้เป็นผลงานศิลปะ เช่น ไม้แขวนเสื้อ, เมล็ดทานตะวัน, จักรยาน หรือแม้กระทั่งถุงยาง ในปี 2011 อ้าย เหว่ยเหว่ย จึงได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร ArtReview ของอังกฤษให้เป็นหนึ่งใน 100 ศิลปินที่ทรงพลังที่สุด
มาร์ค แรบโพลท์ บรรณาธิการ ArtReview กล่าวถึง อ้าย เหว่ยเหว่ย ว่า “เขาเป็นผู้ที่ผลักดันให้ศิลปินออกมาอยู่นอกเขตแกลอรีหรือพิพิธภัณฑ์ ค้นหาหนทางให้ศิลปะอยู่ร่วมกับชีวิตจริง แทนที่จะเป็นสิ่งที่อยู่ในพื้นที่จำกัดเฉพาะตามสถาบันต่างๆ ซึ่งพอคุณเดินออกมาแล้ว มันก็ไม่สำคัญอีกต่อไป”
และเมื่อจีนริเริ่มนโยบายเปิดประเทศเพื่อก้าวสู่ชาติมหาอำนาจ ขยายฐานการผลิตแบบทุนนิยมโดยเริ่มตั้งโรงงานมากมาย ในมุมหนึ่งมันทำให้เกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจก็จริง แต่ในทางตรงข้ามมันกลับสร้างปัญหา “หมอกฝุ่น” ที่ปกคลุมไปทั่วเช่นกัน
ในที่สุดจีนก็ประสบกับสภาวะอากาศเป็นพิษอย่างหนัก โดยเฉพาะช่วงปี 2013-2016 ที่ระดับฝุ่นละออง PM 2.5 สูงถึง 500-600 เลยทีเดียว
ในฐานะศิลปินตัวแสบที่อยากตบหน้ารัฐบาล อ้าย เหว่ย เหว่ย ไม่รอช้า จึงออกโรงโพสต์ข้อความแนะนำการเอาตัวรอดในปักกิ่ง พร้อมรูปเสียดสีขณะเขาสวมใส่หน้ากากกันแก๊สพิษ และเริ่มต้นใช้ศิลปะสู้กับหมอกควันพิษ
“ผมรู้สึกสิ้นหวังจริงๆ หนทางเดียวที่จะแสดงออกได้คือการไปซื้อหน้ากากมาใส่และพิมพ์ข้อความสองอย่าง หนึ่งคือการบอกให้คนได้ตระหนักรู้ถึงความน่ารังเกียจของสถานการณ์หมอกควันในปักกิ่ง และสองคือให้ทุกคนตระหนักรู้ว่าตัวเองมีความสามารถในการปกป้องตัวเองจากสถานการณ์นี้”
ไม่เพียงแค่การโพสต์รูปอย่างเดียว อ้าย เหว่ยเหว่ย ยังต่อยอดประเด็นนี้ให้ทุกคนตระหนักถึงพิษภัย ด้วยการสร้างผลงานศิลปะการสลักหินอ่อนหลากหลายแบบเป็นรูปหน้ากากกันแก๊สพิษ เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปะที่จัดเวียนทั่วโลก
“ถ้าคุณเรียกตัวเองว่าศิลปิน นี่แหละคือความรับผิดชอบของคุณ งานในฐานะศิลปินคือการแสดงความคิด ซึ่งมันสำคัญพอๆ กับการแสดงความสนใจเกี่ยวกับมนุษยธรรมและคุณค่าของคุณ”
สำหรับเขาแล้ว ศิลปะคือสิ่งที่ไม่มีรูปแบบ รูปทรง ไร้กฏเกณฑ์ ศิลปะคือหนทางการต่อสู้เพื่ออิสระในใจและต่อสู้เพื่อตัวเองด้วย ฉะนั้นศิลปะจึงไม่ใช่แค่สิ่งที่คนทั่วไปแขวนประดับไว้ที่ผนังบ้าน
“ศิลปะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำความรู้จักตัวเอง ว่าคุณอยู่ในโลกแบบไหน มีความฝันอย่างไร?”
สิ่งที่ อ้าย เหว่ยเหว่ย ได้กระทำ จึงไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงภัยร้ายของหมอกควันเพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้ความเป็น “ศิลปิน” มาสะกิดเตือนรัฐบาลให้ออกมาจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อประเทศ (อาจรวมถึงโลก) ของมนุษย์ทุกคน
ที่มา