เปียโนคลาสสิก, แร็ปเปอร์, Linkin Park และทุกสิ่งอย่างที่รวมมาเป็น ‘ไมค์ ชิโนดะ’
Hey, at least in my mind
I’m feeling like I’m the hero that saves me
There I hold my head high
Get everything right, delusional maybe
(เฮ้ อย่างน้อยข้างในใจของฉัน ฉันรู้สึกว่าฉันนี่แหละที่เป็นฮีโรที่ช่วยชีวิตตัวฉันไว้ ฉันเงยหน้าขึ้น ทำทุกอย่างให้ถูกต้อง แม้มันอาจจะเป็นแค่ภาพหลอนก็ตาม - เนื้อเพลง Happy Ending: Mike Shinoda)
ปี 1996 ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เด็กหนุ่มเชื้อสายญี่ปุ่น-อเมริกันและเพื่อนร่วมห้องกำลังวิ่งออกกำลังกายในวิชาพละ แทบทุกคนใส่หูฟังเพื่อฟังเพลง ในระหว่างทางที่ต้องวิ่งทำเวลา พอถึงจุดหมายทุกคนต่างเหนื่อยหอบ เขาและเธอพากันหยุดพัก พลางถอดหูฟังออกแล้วถามกันและกัน “นายฟังเพลงอะไรอยู่?”
เพื่อนร่วมชั้นต่างก็ฟังป็อปบ้าง ฟังเพลงร็อกบ้าง มีเพียงหนุ่มเชื้อสายญี่ปุ่น-อเมริกันคนนี้คนเดียวในห้องที่บอกเพื่อน ๆ ว่า เขาฟังวง Public Enemy (วงฮิปฮอปที่เรียกตัวเองว่าเป็น The Rolling Stones แห่งวงการเพลงแร็ป) ณ วินาทีนั้นเพื่อนในห้องต่างสงสัยปนประหลาดใจว่า หนุ่มญี่ปุ่น-อเมริกันคนนี้ฟังเพลงอะไร เด็กหนุ่มคนนี้ก็เริ่มรู้สึกว่า เอ๊ะ! นี่เราฟังเพลงแตกต่างจากคนอื่นเขาหรือเปล่านะ?
อย่างไรก็ตาม หนุ่มน้อยคนนั้นหาได้สนใจ เขาและเพื่อนชาวอเมริกันที่รักในเสียงดนตรีอย่าง มาร์ค เวคฟิลด์ (Mark Wakefield) (ผู้ทำหน้าที่นักร้องนำวงในเวลาต่อมา) แบรด เดลสัน (Brad Delson) - กีตาร์ขาร็อกผู้เติบโตมากับเพลงของ Gun N’ Roses และ Metallica ร็อบ บอร์ดอน (Rob Bourdon)- มือกลองผู้ได้แรงบันดาลใจในการเล่นกลองจากวง Aerosmith พากันตั้งวงดนตรีขึ้นมา และพวกเขาก็เรียกตัวเองว่า SuperXero (ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Xero)
ธรรมดาของการตั้งวงก็ต้องมีการออกแสดงโชว์ หนุ่มๆ วง Xero พาตัวเองออกโชว์ตามที่ต่าง ๆ ที่พวกเขาพอจะไปพูดคุยกับเจ้าของสถานที่ได้ ตั้งแต่ไนต์คลับในย่าน West Hollywood ไปจนถึงร้านขายเทปที่ Burbank ที่ที่มีคนมายืนดูพวกเขาโชว์อยู่แค่ 20 คน นอกจากไปขอแสดงโชว์ตามที่ต่าง ๆ สี่หนุ่มก็ฝันใฝ่อยากจะออกอัลบั้มเป็นของตัวเองสักครั้ง
ว่าแล้วหนุ่มอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นคนนี้ก็จัดแจงเปลี่ยนห้องนอนของตัวเองให้กลายเป็นสตูดิโอขนาดย่อม ๆ เขาเอาเงินเก็บของตัวเองออกไปหาซื้อ mixing board มือสองในราคาไม่กี่ร้อยเหรียญ พร้อมกับไมโครโฟน และอุปกรณ์ในการทำเพลงต่าง ๆ ที่พอจะหาได้ในงบประมาณที่เขามี แล้วเอามาจัดวางบนชั้นวางตู้เสื้อผ้า เขากับมาร์ค (นักร้องนำของวง) ช่วยกันก่อร่างสร้างเดโมของตัวเองขึ้นมาด้วยการทำเพลงทีละเพลงสองเพลง
ตอนนั้นใครเลยจะคิดว่า จุดเริ่มต้นจาก bedroom studio ที่หนุ่มน้อยญี่ปุ่น-อเมริกันคนนี้กำลังทำอยู่จะนำพาเขาไปสู่เส้นทางของการเป็นวงร็อกระดับตำนานบนแผนที่ของโลกดนตรีจนถึงขนาดที่ New York Times เคยขนานนามวงนี้ว่าเป็นวงร็อกที่ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จมากที่สุดวงหนึ่งของโลก
เรากำลังพูดถึง…ไมค์ ชิโนดะ (Mike Shinoda) นักร้อง แร็ปเปอร์ โปรดิวเซอร์ และนักแต่งเพลงหลักของวงร็อกก้องโลก Linkin Park
นั่งไทม์แมชชีนย้อนไปสำรวจชีวิตของไมค์ในวัยเด็กกันสักนิด
ชีวิตเด็กญี่ปุ่นอเมริกันในดินแดนแห่งเสรีภาพ
ไมเคิล เคนจิ ชิโนดะ (Michael Kenji Shinoda) หรือไมค์ ชิโนดะ เกิดในปี 1977 ที่เมืองลอสแอนเจลิส ไมค์ถือเป็นชาวญี่ปุ่น-อเมริกันรุ่นที่ 3 ที่อาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เด็กชายไมค์เป็นเด็กที่มีความรักในศิลปะ เขาชอบที่จะวาดรูป เล่นดนตรี จนคุณแม่ของเขาเห็นว่าควรจะต้องสนับสนุนลูกชายให้ได้เรียนดนตรีอย่างจริงจัง ไมค์จึงได้เริ่มเส้นทางดนตรีด้วยการเรียนเปียโนคลาสสิก จากนั้นไม่นานโลกทางด้านดนตรีของไมค์ก็เริ่มเปิดกว้างขึ้น นอกจากแนวเพลงคลาสสิกแล้ว ไมค์เริ่มสนใจดนตรีแนวอื่น ทั้งแจ๊ส บลูส์ และฮิปฮอป ก่อนจะหันไปจับกีตาร์ที่กลายเป็นเครื่องดนตรีคู่ใจของเขาอีกชิ้นในการแสดงบนเวทีในเวลาต่อมา
ถึงตรงนี้จักรวาลเพลงของไมค์เริ่มกว้างขึ้น เขาเริ่มสนใจเพลงแร็ป และร็อก (ซึ่งต่อมาได้มีอิทธิพลเป็นอย่างมากในการทำเพลงให้กับ Linkin Park) จนเกิดความคิดอยากจะตั้งวงดนตรีขึ้นมาจนกลายเป็นวง Xero ในปี 1996
อ่านถึงตรงนี้ น่าสนใจตรงที่ว่า ไมค์ ผู้ซึ่งเริ่มต้นเส้นทางดนตรีจากการเล่นเปียโนคลาสสิก แต่ภายหลังกลับผันตัวไปสนใจเพลงร็อกและแร็ปจนได้ออกอัลบั้มและทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ แล้วการเล่นเปียโนคลาสสิกของเขาในวัยเด็กมีอิทธิพลอย่างไรต่อการทำดนตรีของเขาในวันนี้?
The People มีโอกาสสัมภาษณ์ ไมค์ ชิโนดะ ทางออนไลน์ (12 มีนาคม 2021) จึงถามคำถามนี้ไป ไมค์ตอบว่า
“ทุกครั้งที่ผมทำเพลงกับนักดนตรีคนอื่น ๆ ผมจะถามเขาเสมอว่า เครื่องดนตรีหลัก (ที่คุณถนัด) คืออะไร....อย่างแบรด มือกีตาร์ของ Linkin Park มีอยู่ช่วงหนึ่งเขาเคยเรียนเปียโน และเขาก็ชอบเล่นเปียโนมากเลย แต่พอเป็นเรื่องของการแต่งเพลง ผมจะบอกเขาว่า เฮ้...เวลาแต่งเพลงน่ะ ขอร้องละ แต่งโดยใช้กีตาร์นะ เพราะเมื่อคุณรู้จักเครื่องดนตรีชิ้นนั้น ๆ ดี คุณจะไม่ต้องกังวลในเรื่องของการเล่นมากนัก หรือพูดง่าย ๆ ครับ ตัวอย่าง ก็อย่างเช่น คุณจะรู้ทางคอร์ด (ในเครื่องดนตรีชิ้นนั้น ๆ มากกว่า) ผมว่านั่นคือสิ่งสำคัญเลย อย่างผม ผมจะรู้ทางเปียโนมากกว่าเครื่องดนตรีชนิดอื่น...ผมจะรู้สึกสบายใจกว่าครับ (ในการแต่งเพลง)” สรุปก็คือ การเรียนเปียโนในวันนั้นของไมค์มันทำให้เขาใช้มันในการแต่งเพลงให้ทั้งตัวเองและ Linkin Park
ตัดภาพกลับมาที่ไมค์และผองเพื่อนกับเส้นทางของการเป็นซูเปอร์ร็อกแบนด์ชื่อดัง
การปรากฏตัวของเชสเตอร์และกำเนิดซูเปอร์ร็อกแบนด์
พอเรียนจบมัธยมฯ ปลาย ไมค์ก็สมัครเข้าเรียนสาขา Graphic Design และ Illustration ที่ Pasadena’s Art Center College of Design ที่วิทยาลัยแห่งนี้เอง ไมค์ได้พบกับศิลปินและนักดนตรีคนหนึ่งที่ชื่อ โจเซฟ ฮาห์น (Joseph Hanh) หรือที่ใคร ๆ เรียกเขาว่า มิสเตอร์ฮาห์น (Mr. Hanh) ด้วยแนวทางดนตรีและรสนิยมทางศิลปะที่ตรงกันเป็นสิ่งที่ชักนำทั้งสองพูดคุยกันอย่างถูกคอ จนชักชวนกันเข้ามาเป็นสมาชิกอีกคนของวง Xero
ในขณะที่ไมค์ได้ชวนมิสเตอร์ฮาห์นมาเป็นสมาชิกใหม่ของวง มือกีตาร์ของวงอย่างแบรด ก็ชวนเดฟ ฟาเรล (Dave Farrell) รูมเมทของตัวเองมาเป็นมือเบสของวง Xero เหมือนกัน หลังจากเรียนจบไมค์ใช้มือข้างหนึ่งวาดรูปเพื่อหาเลี้ยงตัวเองในงานกราฟิกดีไซเนอร์ ในขณะที่มืออีกข้างหนึ่งก็ทำงานเพลง และพยายามหาทางผลักดันให้วง Xero ได้ออกอัลบั้มสักที เขาและเพื่อน ๆ ยังคงตระเวนเล่นดนตรีตามที่ต่าง ๆ แต่เส้นทางสำหรับวงร็อกหน้าใหม่ของพวกเขาดูจะไม่ง่ายเลย
ตระเวนไปโชว์ที่ไหน ๆ ก็แล้ว ได้เล่นเป็นวงเปิดให้ Cypress Hill (วงฮิปฮอปละตินที่มียอดขายหลายล้านแผ่น) ก็แล้ว แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ยังไม่ดังเสียที มาร์ค นักร้องนำของวงก็เลยถอดใจและขอลาออกจากวงไป จนวงต้องไปตามหานักร้องนำคนใหม่มาแทนที่มาร์ค
เขาคนนั้นคือ...เชสเตอร์ เบนนิงตัน (Chester Bennington) นั่นเอง (เรื่องราวของเขาจะปรากฏในส่วนสุดท้ายของบทความนี้)
และเมื่อเปลี่ยนนักร้องนำคนใหม่ ทางวงก็เลยคิดอยากจะเปลี่ยนชื่อใหม่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการเริ่มใหม่ของวง
ทีแรกพวกเขาคิดว่าจะเปลี่ยนเป็นชื่อ Hybrid Theory แต่เอาเป็นว่าไป ๆ มา ๆ ชื่อนี้ก็ตกไป เชสเตอร์จึงเสนอชื่อ ‘Linkin Park’ ให้กับวง ซึ่งจริง ๆ แล้วชื่อ Linkin Park เป็นชื่อที่แผลงมาจากคำว่า Lincoln Park สวนสาธารณะที่ตั้งตามชื่อประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา-อับราฮัม ลินคอล์น เชสเตอร์เสนอว่าให้แผลงเป็นคำว่า Linkin Park และสมาชิกในทีมก็ชอบชื่อนี้
ณ ตอนนั้น Linkin Park ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยสมบูรณ์พร้อมสมาชิกทั้ง 6
ถ้าเป็นของจริง เมื่อถึงเวลาที่ใช่ วันหนึ่งก็จะมีคนมองเห็น หลังจากที่ต่อสู้ทำเพลง และตระเวนโชว์ตามที่ต่าง ๆ แบบไม่มีถอย โชคชะตาก็ยืนอยู่ข้างไมค์และสมาชิกของ Linkin Park เพราะทางวงได้เซ็นสัญญากับบริษัท Warner Records ในปี 2000 พวกเขาก็ได้ออกอัลบั้มแรก ‘Hybrid Theory’ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล
อัลบั้มนี้เองเป็นอัลบั้มแจ้งเกิดและเป็นใบเบิกทางให้ทุกคนในวงมีที่ยืนในวงการดนตรีอย่างภาคภูมิกับยอดขายถึง 20.8 ล้านก๊อบปี้ (สถิติถึงปี 2020) ติดอันดับ 50 อัลบั้มขายดีที่สุดตลอดกาล นอกจากจะขายดีแล้วก็ยังได้กล่องอีกต่างหาก อัลบั้ม Hybrid Theory ชนะรางวัล Grammy Awards (2001) สาขาอัลบั้มร็อกยอดเยี่ยม (Best Rock Album) และการแสดงดนตรีฮาร์ดร็อกยอดเยี่ยม (Best Hard Rock Performance)
และเพลงที่ทำให้ทุกคนรู้จักเขาตลอดมาและตลอดไปคือเพลง In The End
I tried so hard and got so far
But in the end it doesn’t even matter
I had to fall to lose it all
But in the end it doesn’t even matter
(ฉันพยายามอย่างหนักและฉันมาได้ไกล แต่ท้ายที่สุดเหมือนมันจะไม่มีค่าอะไร ฉันต้องล้มเพื่อที่จะต้องเสียมันไป แต่ท้ายที่สุดเหมือนว่ามันจะไม่มีค่าอะไร - เนื้อเพลง In The End: Linkin Park )
เพลงที่ชวนให้เราคิดถึง Linkin Park และเชสเตอร์นั้นมีมากมาย แต่หนึ่งในเพลงที่ทำใหเราคิดถึงเขา นั่นคือเพลง ‘In The End’ ที่ท่อนร้องร้องโดยเชสเตอร์ จากปลายปากกาของไมค์ เขาล็อกตัวเองในห้องซ้อมดนตรีไร้หน้าต่างที่ไมค์และเพื่อน ๆ รวมเงินกันไปเช่าไว้เพื่อซ้อมดนตรีในย่าน West Hollywood
นอกจากจะเป็นห้องทึบไม่มีหน้าต่างแล้ว ห้องซ้อมนั้นยังไม่มีเก้าอี้อีกต่างหาก ไมค์นั่งกับพื้นพร้อมกับคอมพิวเตอร์จอตู้ กระดาษและปากกา เขาเค้นให้ตัวเองเขียนเพลงออกมาให้เสร็จให้จงได้ แล้วโลกก็ได้รู้จักกับ In The End
มิวสิกวิดีโอทางการเพลง Happy Endings ของ Mike Shinoda ถูกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2021
ฝันอยากเป็นแร็ปเปอร์
แม้จะประสบความสำเร็จแล้ว หากแต่ไมค์เอง เขาไม่ได้มีความสนใจเพียงแค่การทำดนตรีร็อกปนแร็ปให้กับ Linkin Park เพียงอย่างเดียว เขาเองมีจิตวิญญาณของความเป็นฮิปฮอปและแร็ปเปอร์อยู่ ในปี 2005 ไมค์จึงเริ่มโปรเจกต์พิเศษ Fort Minor ที่จะถือว่าเป็นการทำอัลบั้มเดี่ยวให้ตัวเองก็ได้ แต่การที่ไม่ได้ใช้ชื่อของตัวเองเป็นด่านหน้า ก็มาจากการที่ไมค์เองเคยบอกไว้ว่าเขาอยากจะให้คนโฟกัสที่ตัวเพลง ไม่ใช่มาโฟกัสที่ ‘ชื่อ’ ของเขา
“ตั้งแต่เด็ก ผมฝันอยากจะโตขึ้นมาเป็นแร็ปเปอร์”
การได้ทำ Fort Minor อนุญาตให้ไมค์สามารถใส่ความเป็นตัวของตัวเองลงไปได้แบบไม่ยั้ง อะไรที่เขาอยากจะเขียน อะไรที่เขาอยากจะพูด เขาใส่มันลงไปในงานนี้ได้ทั้งหมด เขาอยากจะดีไซน์ให้ซาวนด์ออกมาเป็นยังไง อยากจะแร็ปแบบไหน เขาสร้างสรรค์มันได้อย่างเต็มที่กับ Fort Minor และในปี 2006 Fort Minor ขึ้นสูงสุดในบิลบอร์ดชาร์ตถึงอันดับที่ 6
ไมค์กับประตูที่เปิดกว้างต้อนรับทุกคน
ครั้งหนึ่งไมค์ คือหนุ่มน้อยคนหนึ่งที่ฝันอยากจะออกอัลบั้ม เขาเพียรทำเพลง ซ้อมดนตรี ออกโชว์อยู่นานจนประตูแห่งโอกาสได้เปิดรับเขาและสมาชิกคนอื่นในวง Linkin Park มาถึงวันนี้ วันที่เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งตำนานวงดนตรีร็อกอันยิ่งใหญ่และเป็นหลักไมล์หนึ่งของวงการเพลงร็อกของโลกในสหัสวรรษนี้ เขาสร้างประตูบานใหม่เพื่อเปิดรับคนที่มีฝันอยากจะเป็นศิลปินเหมือนกับเขาเมื่อ 20 ปีที่แล้วโดยการทำโปรเจกต์ Open Door
ความเป็นมาของโปรเจกต์นี้ช่างเรียบง่าย เริ่มจากช่วงล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ไมค์ต้องอยู่ที่บ้านและนั่งทำเพลง จนวันหนึ่งเขาเกิดไอเดียว่า “ทำไมไม่ Live การทำเพลงของตัวเองล่ะ?” พอเริ่มได้ลอง Live ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากฟอลโลเวอร์ เขาจึงเกิดไอเดียใหม่ขึ้นมาอีกว่า เอ...เขาก็มีเพลงอยู่เพลงหนึ่งที่ทำไว้แล้ว ทั้งเนื้อ ทั้งทำนอง ดนตรี เขียนไว้เสร็จสรรพ ขาดก็แต่นักร้อง “แล้วทำไมเราไม่ลองหานักร้องจากฟอลโลเวอร์ซะเลยล่ะ” ว่าแล้วพี่ไมค์ของเราก็ประกาศใน Instagram ว่าเขากำลังตามหาคนมาร้องเพลง ‘Open Door’ ที่เขาแต่งไว้แล้ว ข่าวการตามหานักร้องสำหรับเพลง Open Door ก็เริ่มกระจายออกไปในวงกว้างขึ้นเหมือนกับก้อนหิมะที่ก่อตัวใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
จนในที่สุดไมค์ก็ได้เลือกนักร้องมาทั้งหมดถึง 7 คนที่เขารู้สึกคลิกมากที่สุดในการมาร้องเพลง Open Door ซึ่งตรงนี้เอง ไมค์บอกไว้ว่า “จริง ๆ แล้วมีคนสมัครมาหลายร้อยคน ผมแยกแยะได้เลยว่า ใครเป็นนักร้องอาชีพ ใครเป็นนักร้องที่ร้องเพลงทุกคืนเพื่อใช้เสียงเพลงหาเลี้ยงชีพ (ตอนแรก) ผมตั้งใจจะเลือกแค่คนเดียว แต่ผมเลือกไม่ได้ เพราะเขาร้องดีกันหมดทุกคน และแต่ละคนก็มีสไตล์เป็นของตัวเอง ผมเลยเลือกมา 7 คนเสียเลย”
และเพลง Open Door ถูกปล่อยออกมาในเดือนกรกฎาคม 2020 และได้รับยอดวิวไปถึงกว่า 1 ล้านวิวแล้ว (ณ วันที่ 12 มีนาคม 2021)
#shinodaproduceme
นอกจากจะเปิดโอกาสให้แฟนเพลงของตัวเองมาร่วมแจมในการร้องเพลงที่ตัวเองแต่ง และถือเป็นการส่งสปอตไลท์ไปที่แฟนเพลงของตัวเองทั้ง 7 ให้ได้มีโอกาสเขียนลงไปใน portfolio ของตัวเองว่าเคยได้ร่วมงานกับคนดนตรีระดับโลกอย่างไมค์ ชิโนดะแล้ว เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา (วันที่ 5 มกราคม 2021) ไมค์โพสต์ในอินสตาแกรมของเขาอีกครั้งว่า เขากำลังมองหาศิลปินใหม่ที่สนใจจะมาทำงานร่วมกับเขา และอยากจะให้เขาโปรดิวซ์งานให้
กติกาก็ไม่มีอะไรมาก ไม่ว่าคุณจะเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง ถ้าคุณไม่มีโอกาสเข้าถึงการทำเพลง (ไปจ้างคนอื่นช่วยทำเพลง) หรืออาจจะยังไม่มีความรู้เรื่องการทำเพลง และคุณสนใจอยากจะให้ไมค์โปรดิวซ์เพลงให้ ขอให้ติดแฮชแท็ก #shinodaproduceme แล้วไมค์จะโปรดิวซ์เพลงให้คุณแบบ Live ใน Twitch (แพลตฟอร์มการถ่ายทอดสดอย่างหนึ่งที่ไมค์ใช้)
การสัมภาษณ์ไมค์ ชิโนดะ ทางออนไลน์จากสื่อเอเชีย (รวมถึง The People ในวันที่ 12 มีนาคม 2021) ไมค์เล่าถึง #shinodaproduceme อย่างตื่นเต้น เล่าไปยิ้มไปว่า เขาจะทำการโปรดิวซ์เพลงให้กับคนที่เขาและฟอลโลเวอร์ของเขาช่วยกันเลือกมาจากการติด #shinodaproduceme แบบสด ๆ ผ่านทาง Twitch ทั้งโปรดิวซ์ ทั้ง mixing and mastering เสร็จสรรพแล้วส่งไฟล์เพลงกลับไปให้เจ้าของผลงาน และให้เขานำไปปล่อยในช่องทางต่าง ๆ “...หลาย ๆ คนตอนนี้มีฟอลโลเวอร์ไปตามเพียบแล้วนะครับ” ไมค์พูดปิดท้ายพร้อมรอยยิ้ม
Linkin Park ในวันที่ไม่มีเชสเตอร์
ส่วนสุดท้ายของบทความนี้ ขอย้อนกลับไปที่จุดที่แสนเจ็บปวดของทั้งสมาชิกและแฟนคลับของวง Linkin Park
นั่นคือการจากไปของ…เชสเตอร์ ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2017
หลังการจากไปของนักร้องนำของวง Linkin Park ไมค์ ชิโนดะเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ต้องจมอยู่กับความเศร้าของการจากไปของคนที่เป็นทั้งเพื่อนร่วมงานและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเขา
“ส่วนหนึ่งของตัวตนผมคือดนตรี ส่วนหนึ่งของตัวตนผมคือ Linkin Park (ตอนที่เชสเตอร์จากไป) ผมก็กลัวนะ ผมกลัวว่ามัน (ความเป็นตัวตนของผมและ Linkin Park) จะจากไปตลอดกาลด้วย ผมกลัวว่านี่ผมจะขึ้นเวทีแล้วร้องเพลง Linkin Park ได้อีกหรือเปล่า... แต่พอเวลามันผ่านไป ผมก็ได้รู้ว่า (เชสเตอร์) ไม่ได้หายไปไหน ตำนานยังไงก็เป็นตำนาน เพลงที่เราทำด้วยกันก็ยังไม่หายไปไหน เรายังกลับมาฟังเพลงของพวกเราได้ เรายังกลับไปดูเทปการแสดงสดของพวกเราได้ และผมยังคงแต่งเพลงได้ ผมยังขึ้นเวทีไปร้องเพลงได้ (จริง ๆ แล้ว) มันไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไปเลย ทุกอย่างยังคงอยู่ที่เดิมเหมือนเดิม”
...
เดือนมิถุนายน 2018 ไมค์ ชิโนดะออกอัลบั้มใหม่ ‘Post- traumatic’ ที่ถ้าแปลเป็นไทยก็น่าจะหมายความได้ว่า ภาวะหลังอาการบอบช้ำทางจิตใจ อัลบั้มนี้ไมค์รับบทเป็นโปรดิวเซอร์หลักแถมเขียนเนื้อและทำนองเองเป็นส่วนใหญ่ เขาเขียนเรื่องราวส่วนตัวทั้งความเศร้า ความเสียใจ ความมืดมิดไว้มากมายในหลายต่อหลายเพลงในอัลบั้มนี้
ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป...
11 มีนาคม 2021 ไมค์เพิ่งปล่อยมิวสิกวิดีโอทางการของเพลง Happy Ending ในนามของตัวเขาเอง ส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจในการเขียนเพลงนี้มาจากการเขียนถึงตอนจบแบบ Happy Ending ซึ่งไมค์เองก็เล่าไว้ในสัมภาษณ์ (12 มีนาคม 2021) ว่า หลาย ๆ คนพูดถึงปีที่แล้ว (2020- ปีที่มีการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก) เขียนถึงปีที่แล้วว่ามันเป็นการจบปีที่แย่ แต่ไมค์เองกลับบอกไว้ว่า “ผมรู้สึกดีนะ คือแบบโอเค มันก็ (เป็นปีที่แย่แหละ) แต่พวกเราก็ผ่านมันมาได้แล้วไม่ใช่หรือ มันไม่ได้สิ้นหวังมืดมน ไม่มีทางออก คือเดี๋ยว (สักวันหนึ่ง) มันก็จะจบลง...”
แล้วคุณล่ะ คิดว่าอย่างไร ถ้าไมค์คิดว่าปีที่คนทั้งโลกคิดว่าเป็นปีที่แย่ที่สุดปีหนึ่ง และเราสามารถเลือกตอนจบให้มันได้ ถ้าอย่างนั้นทำไมเราไม่เลือกที่จะข้ามผ่านทุกเรื่องไม่ว่าจะดีจะร้ายที่ผ่านเข้ามาในช่วงชีวิตเรา และเขียนตอนจบให้วันทุกวันของเรา หรือปีทุกปีของเราให้มันจบแบบ Happy Ending ล่ะ
ที่มา:
บทสัมภาษณ์ออนไลน์ของไมค์ ชิโนดะกับสื่อฝั่งเอเชีย วันที่ 12 มีนาคม 2021
https://www.allmusic.com/artist/mike-shinoda-mn0000485118/biography
https://linkinpark.fandom.com/wiki/Mark_Wakefield
https://www.instagram.com/p/CGXsuhughsA/
https://linkinpark.fandom.com/wiki/Xero
http://www.hiphopscriptures.com/cypress-hill
https://www.last.fm/music/Mark+Wakefield/+wiki
https://www.nytimes.com/2005/12/28/arts/music/linkin-park
https://www.kerrang.com/features/linkin-park-the-inside-story-of-hybrid-theory/
https://www.billboard.com/articles/news/billboard-lists/
https://www.rocksound.tv/news/read/linkin-parks-hybrid-theory
https://www.youtube.com/watch?v=duOrvQEuDoA
https://www.billboard.com/music/fort-minor/chart-history
https://www.youtube.com/watch?v=PAm90_eBnVA
https://www.youtube.com/watch?v=XcQ8TKwJKXo
https://www.loudersound.com/features/linkin-park-in-the-end
https://www.theguardian.com/music/musicblog/2016/dec/07/public-enemy-10-of-the-best