‘Imagine’ there's no heaven: ความฝันใต้ควันปืนและอดีตอันขมขื่นแห่งชีวิตจอห์น เลนนอน
/ Imagine there's no heaven
It's easy if you try
No hell below us
Above us only sky /
“ผมและภรรยามีโอกาสได้เยี่ยมชม 125 ประเทศจากทั่วโลก และทุกประเทศที่ไปผมได้ยินเพลง ‘Imagine’ ของจอห์น เลนนอน บ่อยไม่ต่างอะไรจากเพลงชาติ”
เหล่านี้คือถ้อยคำของจิมมี่ คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่สรุปภาพความเป็นตำนานของ ‘Imagine’ บทเพลงจากปลายปากกาที่ถูกแต่งหน้าเปียโนของ ‘จอห์น เลนนอน’ (John Lennon) ได้ในประโยคสั้น ๆ
ในสายตาของคนทั้งโลก ‘Imagine’ คือเพลงที่เป็นภาพสะท้อนของโลกมนุษย์ในอุดมคติที่ศิลปินฝีมือดีอย่างจอห์นทิ้งเอาไว้ก่อนจากไกล หากเบื้องหลังของเพลงนี้มีอะไรมากกว่านั้น เพราะสำหรับผู้สร้างอย่างจอห์น เลนนอน ‘Imagine’ คือความหวังและความฝันที่ทำให้เขายังดำรงอยู่ได้แม้ในปัจจุบัน หลังจากร่างกายถูกกลบและฝังไว้ - ใต้ความตายจากควันปืนและกระสุนสี่นัดในปี 1980
อดีตคือยาขม
“ออกไปให้พ้นหน้าผม”
คือเสียงที่ชัดที่สุดของเขาท่ามกลางเสียงกรีดร้องที่ดังขึ้นอย่างมิรู้พัก และการปรากฎตัวขึ้นของ อัลเฟรด เลนนอน (Alfred Lennon) พ่อบังเกิดเกล้าของจอห์น เลนนอน ศิลปินชื่อดังผู้เพิ่งวางมือจากบทบาท ‘The Fab Four’ หรือสมาชิกวง The Beatles วงดนตรีระดับตำนานจากเกาะอังกฤษ
หลังจากวงแตกและแยกย้ายกันไปคนละทิศ ในช่วงปี 1970 จอห์นที่เพิ่งย้ายเข้าบ้านหลังใหม่ ‘Tittenhurst Park’ ในเมืองแอสคอต ประเทศอังกฤษ พร้อมด้วยภรรยาชาวญี่ปุ่น ‘โยโกะ โอโนะ’ (Yoko Ono) ได้เริ่มชีวิตในฐานะศิลปินเดี่ยวของตนด้วยการเสพเฮโรอีนเป็นกิจวัตร และเข้ารับการบำบัดด้วย ‘เสียงกรีดร้อง’ เพราะหวังว่ามันจะช่วยให้เขาหลุดพ้น หรืออย่างน้อยก็ได้ระบายความคับแค้นจากประสบการณ์อันน่าเจ็บปวดในอดีตออกไปเสียบ้าง
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก อัลเฟรด เลนนอน พ่อของเขา แยกทางกับจูเลีย เลนนอน ผู้เป็นแม่ตั้งแต่จอห์นยังเด็ก ท่ามกลางวันและคืนในบ้านของลุงและป้า จอห์นเติบโตมาโดยไร้พ่อ ความสัมพันธ์ของจอห์นและแม่ไม่ได้เลวร้าย จนกระทั่งอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้พรากชีวิตผู้เป็นแม่ไปจากจอห์นตั้งแต่เขาอายุ 17 ปี ความทรงจำจากวันและวัยที่ขาดไร้และสูญเสียครอบครัวคอยหลอกหลอนจอห์นมาโดยตลอด ความโกรธของเขาพอกพูนและพุ่งตรงไปไปยังการจากไปของแม่ จอห์นก่นโทษเธอที่ทิ้งเขาไป แม้อีกฝ่ายจะไม่ได้ตั้งใจก็ตามที (และกลายเป็นเพลง ‘Mother’ จากอัลบั้ม ‘Plastic Ono Band’)
ตลอดชีวิตของจอห์นเขาได้พบหน้าพ่อเพียงไม่กี่ครั้ง การพบกันครั้งสุดท้ายของสองพ่อลูกเกิดขึ้นในช่วงที่เขาเข้ารับบำบัดดังกล่าว อัลเฟรดมาหาเขาที่บ้าน และสิ่งที่จอห์นทำคือกระชากคอเสื้อเขาพร้อมทั้งร้องตะโกนใส่หน้า ประโยค ‘Get the hell out.’ คือประโยคสุดท้ายแห่งการสนทนาระหว่างพวกเขาทั้งคู่ จวบจนอัลเฟรดจากโลกนี้ไปในอีกห้าปีให้หลัง
ภายใต้คืนและวันที่อดีตอันแสนขมไม่ซาสร่างร่วมกับความสนใจทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในขวบปีหลัง ๆ ของชีวิต จอห์น เลนนอนยังคงไว้ซึ่งความเป็นศิลปินและสร้างผลงานระดับตำนานอย่าง ‘Imagine’ รวมทั้งเพลงกึ่งการเมืองอื่น ๆ อย่าง ‘Gimme Some Truth’ และ ‘Power To The People’
เพลงการเมืองเคลือบน้ำตาล
เมโลดี้และเนื้อเพลงเกือบทั้งหมดของ ‘Imagine’ เกิดขึ้นภายในหัวของจอห์นในเช้าวันหนึ่งเมื่อต้นปี 1971 ภายในห้องนอนของเขาและโยโกะ จอห์นจรดปลายนิ้วลงกับสไตน์เวย์เปียโนและเริ่มบรรเลงดนตรี ถ้อยคำมากมายถูกถ่ายทอดเป็นเนื้อเพลงอย่างเรียบง่ายภายใต้การเฝ้าดูของภรรยาสาว – ผู้เป็นแรงบันดาลใจและแทบจะเรียกได้ว่าเป็นเจ้าของไอเดียที่ทำให้จอห์นแต่งเพลงนี้ขึ้นมา แม้ในช่วงเวลาดังกล่าวลิขสิทธิ์และเครดิตของเพลงที่ว่าจะบรรจุชื่อของจอห์นเพียงคนเดียวก็ตาม (ชื่อของโยโกะถูกเพิ่มในเครดิตนักแต่งเพลงภายหลัง เมื่อปี 2017)
6 ธันวาคม 1980 สองวันก่อนช่วงเวลาสุดท้ายแห่งชีวิตจอห์น เขากล่าวกับรายการวิทยุอย่างจริงใจว่า
“Imagine ควรใส่เครดิตว่า Lennon/Ono ทั้งเนื้อร้องและคอนเซ็ปต์เพลงส่วนใหญ่มาจากเธอ แต่ในวันนั้น (เมื่อปี 1971) ผมเห็นแก่ตัวเกินไป ผมคิดแบบเอาผู้ชายเป็นใหญ่ (a bit more macho) และไม่ได้พูดถึงส่วนร่วมที่เธอมีต่อเพลง แต่ก็นั่นแหละ Imagine ของผมมาจาก ‘Grapefruit’ (1964) หนังสือของเธอ”
ท่ามกลางบ้านสีขาวที่ฉาบทาภายในห้อง รายล้อมด้วยหน้าต่างจำนวนมาก จอห์น เลนนอนวางนิ้วเข้ากับคีย์เปียโน และเริ่มเล่นเมโลดี้แรกของ ‘Imagine’ โดยมีโยโกะในชุดสีขาวเยื้องย่างและเปิดหน้าต่างทีละบานเพื่อรับแสงสว่างจากภายนอก เหล่านั้นคือภาพที่ปรากฎในมิวสิกวิดีโอ ‘Imagine’ ที่กลายเป็นสัญลักษณ์แห่ง ‘รักและสันติภาพ’ อีกอย่างของโลก หากในวันแรก ๆ หลังจากเดโมของเพลงนี้เสร็จสิ้น ทั้งจอห์นและโยโกะต่างไม่คาดคิดว่ามันจะโด่งดังเช่นที่มันเป็น เพราะในทรรศนะของพวกเขา ‘Imagine’ ที่จอห์นแต่งนั้นเป็นเพลงการเมืองอย่างถ่องแท้ เพียงแต่ว่ามันถูกเคลือบไว้ด้วยความหวานและนุ่มในพาร์ตดนตรี แทนที่จะเล่าจุดมุ่งหมายออกมาตรง ๆ
“มันพูดถึงการต่อต้าน ต่อต้านศาสนา ต่อต้านชาตินิยม ต่อต้านขนบธรรมเนียม ต่อต้านทุนนิยม แต่เพราะว่าผมเอามันไป ‘เคลือบน้ำตาล’ มันถึงได้ถูกยอมรับ”
/ Imagine there's no countries
It isn't hard to do
Nothing to kill or die for
And no religion too /
แม้ด้านหนึ่งของ ‘Imagine’ จะประกอบไปด้วยการต่อต้านมากมายที่ออกจะอันตรายจนใครหลาย ๆ คนกล่าวว่ามันเป็นเพลงของคอมมิวนิสต์เสียด้วยซ้ำ หากอีกด้านของมันกลับเต็มไปด้วยความหวังและการเฝ้าฝันอย่างจริงใจถึงโลกที่ดีกว่า เพลงดังกล่าวเล่าว่า ‘ความเชื่อ’ และ ‘การจินตนาการ’ คือสิ่งสำคัญยิ่งในการเปลี่ยนโลกทั้งใบ
“คอนเซ็ปต์ของเพลงนี้คือการคิดแง่บวกเข้าไว้ ผมหมายถึงถ้าคุณจินตนาการถึงโลกที่สงบสุขได้ โลกที่ไร้นิกายแห่งศาสนา – ไม่ใช่ไร้ศาสนาโดยสิ้นเชิง แต่ไร้ซึ่งความคิดที่ว่า ‘พระเจ้าของฉันยิ่งใหญ่กว่าพระเจ้าของคุณ’ ถ้าคุณจินตนาการถึงมันได้ มันก็เป็นจริงได้ไม่ต่างกัน”
แม้ว่า ‘Imagine’ จะโด่งดังตั้งแต่การเผยแพร่ครั้งแรกในปี 1971 และถูกยอมรับในฐานะเพลงที่วาดฝันและชวนจินตนาการถึงโลกไร้พรมแดนได้อย่างอิมแพกต์กับใจผู้คน หากผู้เคร่งศาสนาและคนบางกลุ่มกลับมองว่าทั้ง ‘Imagine’ และสิ่งที่จอห์น เลนนอนทำ (จอห์น เลนนอนแสดงออกและทำกิจกรรมการเมืองเสมอ) นั้นล้วนเป็นของปลอม เข้าตำรา ‘หน้าซื่อใจคด’ หลายคนกล่าวว่าจอห์นไม่มีสิทธิ์ในการบอกให้ใคร ๆ จินตนาการถึงโลกที่ไร้ทรัพย์สิน ตราบใดที่เขายังใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังใหญ่และมีรถโรลส์รอยซ์คันงามไว้ขับ
จอห์น เลนนอนโอบรับคำตินั้นเอาไว้ และแก้ไขมันด้วยการเปลี่ยนเนื้อเพลงท่อนเจ้าปัญหา
/ Imagine no possessions
I wonder if you can
No need for greed or hunger
A brotherhood of man
Imagine all the people sharing all the world /
เขาเปลี่ยนถ้อย ‘I’ ในเพลงเป็น ‘We’ เพื่อยอมรับกลาย ๆ กับผู้ตั้งข้อสงสัยในความร่ำรวยของเขา และกล่าวถามกลับพร้อมทั้งยืนยันในความคิดของตนด้วยเนื้อเพลงว่า
“จินตนาการถึงโลกที่ไม่มีทรัพย์สินสิ ฉันสงสัยว่า ‘เรา’ จะทำได้ไหม ไร้ความโลภและความหิว มีเพียงภราดรภาพของมนุษย์ที่แชร์โลกทั้งใบร่วมกัน”
จิตวิญญาณที่กระสุนไม่อาจพราก
8 ธันวาคม 1980 กระสุนสี่นัดจาก ‘เดวิด มาร์ก แชปแมน’ (David Mark Chapman) ได้แล่นเข้าปะทะร่างและปลิดชีวิตของจอห์น เลนนอน ความตายของเขาทำให้แฟน The Beatles ทั้งโลกร่ำไห้ ‘Imagine’ ทะยานขึ้นอันดังหนึ่งในหลายชาร์ตเพลงทั่วโลกอีกครั้งราวกับต้องการส่งลาบุรุษผู้นี้ด้วยเสียงเพลงเป็นครั้งสุดท้าย
จอห์น เลนนอนจากไป หาก ‘Imagine’ ยังอยู่ สองปีให้หลังนับจากวันที่จอห์นถูกยิง นักข่าวชื่อทอม บรูค (Tom Brook) ได้เข้าสัมภาษณ์โยโกะถึงเรื่องราวของผู้เป็นสามี เหมือนครั้งวันวานที่จอห์นยังคงอยู่เคียงข้างเธอ โยโกะยังคงพูดถึงจอห์นด้วย tense ของความเป็นปัจจุบัน
เช่นเดียวกับความฝันและความหวังถึงโลกที่ดีกว่าของเขา ภาพของจอห์นยังไม่เคยหายไปจากความทรงจำของโยโกะ ไม่ต่างกับใครอีกหลายคนที่ยังจดจำและระลึกถึงชายผู้เป็นหัวเรือของ ‘The Beatles’ วงดนตรีที่โด่งดังที่สุดจากยุค 60s แม้จะผ่านมาร่วมห้าสิบปีแล้ว ผู้คนก็ยังจดจำเขาได้ดีในฐานะผู้สร้างและถ่ายทอดเพลง ‘Imagine’ ไว้ประดับโลก
“เขายังมีชีวิตอยู่ จอห์นยังอยู่กับเรา จิตวิญญาณของเขาจะคงอยู่ตลอดไป คุณฆ่าตัวตนของใครไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้นหรอก” โยโกะ โอโนะ, 1982
/ You may say I'm a dreamer
But I'm not the only one
I hope some day you'll join us
And the world will be as one /
ที่มา: https://www.grunge.com/174017/the-tragic-real-life-story-of-john-lennon/
https://faroutmagazine.co.uk/john-lennon-imagine-real-meaning-communism/
https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-55214007
https://www.smoothradio.com/features/the-story-of/john-lennon-imagine-lyrics-meaning-facts-video/
https://www.radiox.co.uk/artists/john-lennon/john-lennon-imagine-meaning-behind-the-song/
https://www.songfacts.com/facts/john-lennon/imagine
https://www.biography.com/news/john-lennon-imagine-song-facts