มาร์แซล ดูว์ช็อง: เอาโถปัสสาวะมาจัดแสดงในนิทรรศการ เพื่อตั้งคำถามว่า ‘ศิลปะ’ คืออะไร?
คุณคิดว่าโถปัสสาวะในภาพ นับเป็นงานศิลปะหรือไม่ ?
ก่อนจะตอบคำถามนี้เราอยากชวนไปฟังเรื่องราวของ ‘มาร์แซล ดูว์ช็อง’ (Marcel Duchamp) ผู้ส่งโถสุขภัณฑ์ในภาพ ไปให้สมาคมศิลปินอิสระในนิวยอร์ก (Society of Independent Artists) จัดแสดงในนาม ‘R.Mutt’ เมื่อปี ค.ศ. 1917 แต่ผลงานของเขากลับถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่า ‘โถปัสสาวะ’ เป็นอุปกรณ์สำหรับกำจัดของเสียและเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่จะย้ายจากห้องน้ำชายมาสู่สายตาสาธารณชนในฐานะ ‘งานศิลปะ’
แต่แล้วงานชิ้นนี้กลับกลายเป็นไอคอนของงานศิลปะในศตวรรษที่ 20 ส่วนดูว์ช็องได้กลายเป็นศิลปินคนสำคัญที่มีอทธิพลต่อศิลปะสมัยใหม่ (modern art)
‘มาร์แซล ดูว์ช็อง’ คือศิลปินสัญชาติอเมริกัน-ฝรั่งเศส เขาเกิดในนอร์มังดี (Normandy) ประเทศฝรั่งเศส ช่วงปีค.ศ. 1887 ดูว์ช็องเป็นลูกคนที่ 4 จากพี่น้องทั้ง 7 คน ครอบครัวของเขามักใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นหมากรุก อ่านหนังสือ วาดภาพ และเล่นดนตรี ทั้งยังแวดล้อมไปด้วยผู้คนที่มีจิตวิญญาณของศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นพี่ชายทั้งสองที่ประสบความสำเร็จในสายงานนี้ แม่ที่เป็นศิลปินสมัครเล่น และปู่ที่เป็นช่างแกะสลัก ส่วนดูว์ช็องเองก็เริ่มฉายแววความสนใจทางด้านงานศิลป์จากผลงานภาพวาดทิวทัศน์ ‘Church in Blainville’ เมื่อเขาอายุได้ 15 ปี
ดูว์ช็องคลุกคลีอยู่ในแวดวงศิลปะและสนใจงานแบบ ‘Readymade’ หรือผลิตภัณฑ์แบบสำเร็จรูป เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการนำสิ่งของในชีวิตประจำวันที่นำมาตีความใหม่ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างปี ค.ศ. 1913 ดูว์ช็องผลิตงาน readymade ชิ้นแรกของเขา คือ ‘Bicycle Wheel’ ล้อจักรยานที่ตั้งอยู่บนเก้าอี้ไร้พนักพิงโดยไอเดียของผลงานชิ้นนี้ คือ พื้นฐานของศิลปะมาจาก ‘คอนเซ็ปต์’ มากกว่า ‘วัตถุ’ สวนทางกับความคิดของคนส่วนใหญ่ในช่วงเวลานั้น
วันหนึ่งสมาคมศิลปินอิสระในนิวยอร์ก (Society of Independent Artists) ได้เปิดรับผลงานศิลปะแบบใดก็ได้เข้าจัดแสดง และแล้วดูว์ช็องก็เกิดไอเดียหนึ่งขึ้นมาในวงสนทนากับนักสะสมอย่างวอลเตอร์ แอเรนส์เบิร์ก (Walter Arensberg) และศิลปินอย่างโจเซฟ สเตลลา (Joseph Stella)
เดือนเมษายน ปีค.ศ.1917 เขาซื้อโถปัสสาวะจากซัพพลายเออร์เครื่องสุขภัณฑ์ แล้ววางกลับหัวพร้อมตั้งชื่อผลงานว่า ‘Fountain’ ส่งเป็นผลงานศิลปะในนาม ‘R. Mutt’ โดยที่ดูว์ช็องเป็นหนึ่งในคณะกรรมการครั้งนี้ แต่ไม่ได้เปิดเผยตัวตนว่าเป็นเจ้าของผลงาน
แต่แล้วคณะกรรมการคนอื่น ๆ กลับมองว่าโถสุขภัณฑ์ดังกล่าวมีไว้สำหรับการกำจัดของเสีย ไม่นับเป็นงานศิลปะและอ้างว่าอาจทำให้ดูไม่เหมาะสมในสายตาของผู้หญิงที่ได้มาชมงาน ซึ่งหลังจากการพูดคุยและการโหวตของคณะกรรมการในระหว่างการติดตั้งงานศิลปะทั้งหมด พวกเขาตัดสินใจไม่นำ ‘Fountain’ จัดแสดงต่อหน้าสาธารณชนในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ.1917
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ดูว์ช็องตัดสินใจลาออกเพื่อประท้วงการกีดกันงานศิลปะทั้งที่บอกว่าสามารถส่งผลงานชนิดใดก็ได้เข้ามาในงานจัดแสดง ต่อมาเขาและเพื่อนสนิทอย่างอองรี - ปิแอร์โรเช่ (Henri-Pierre Roché ) และเบียทริซวู้ด (Beatrice Wood) จึงได้ก่อตั้ง ‘The Blind Man ‘วารสารที่สนับสนุนแนวคิดแบบ ‘Dada’ หรือ ‘Dadaism’ ศิลปะแนวใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 20 ที่ปฏิเสธศิลปะในกรอบของตรรกะ เหตุผล และสุนทรียภาพในสังคมทุนนิยม ด้วยความที่ดูว์ช็องคิดว่า พวกเขาควรให้ศิลปินได้แสดงผลงานอย่างเท่าเทียมโดยไม่ได้ใช้มุมมองหรือความชอบส่วนบุคคลของคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาตัดสิน
แม้ดูว์ช็องจะไม่เคยแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจนว่าเหตุใดเขาจึงต้องการทดสอบหลักการของผองเพื่อนที่เป็นคณะกรรมการจัดแสดงงานศิลปะครั้งนี้ แต่คาดว่าอาจเกิดจากประสบการณ์แสนปวดใจของดูว์ช็องเมื่อปี ค.ศ.1912 ที่ Salon des Indépendants ในปารีส ขณะที่ ‘Nude Descending a Staircase No.2’ ผลงานชิ้นสำคัญของเขาที่กำลังจะถูกจัดแสดงและระบุไว้ในแคตตาล็อกเรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ ๆ ผู้จัดงานกลับบอกว่าเขารู้สึกไม่ถูกใจคอนเซ็ปต์และผลงานชิ้นนี้ จึงขอให้พี่ชายของดูว์ช็องซึ่งเป็นศิลปินมาขอให้ดูว์ช็องนำผลงานชิ้นนี้ออกจากการจัดแสดงเพียงไม่กี่วันก่อนงานจะเริ่มขึ้น
ดูว์ช็องจำต้องนำผลงานของตัวเองออกไปจากห้องจัดแสดงอย่างเงียบ ๆ หากความรู้สึกของเขาครั้งนั้นคล้ายกับการถูกหักหลัง และยังคงบาดลึกอย่างแจ่มชัดเสมอมา จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของมาร์แซล ดูว์ช็อง
การส่งงาน ‘Fountain’ สำหรับเขา จึงเปรียบเสมือน ‘การทดลอง’ และ ‘ทดสอบ’ ชาวอเมริกันเกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงออก ความพร้อมเปิดรับงานศิลปะไม่จำกัดรูปแบบ และความอดทนต่อแนวคิดทางศิลปะใหม่ ๆ ในยุคนั้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก ๆ คนทั่วไปยังไม่รู้แน่ชัดว่า ‘Fountain’ เป็นผลงานของใครกันแน่ แม้เพื่อนสนิทของเขาจะทราบดีและมีหลายคนที่สงสัยว่าดูว์ช็องอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานชิ้นนี้ก็ตาม ซึ่งดูว์ช็องอธิบายในตอนหลังว่า สาเหตุที่เขาไม่สามารถแสดงตัวว่าเป็นศิลปินได้เพราะถ้าคณะกรรมการคนอื่น ๆ รู้ว่าเป็นผลงานของเขาอาจจะทำให้ผลลัพธ์ของเหตุการณ์แตกต่างออกไป
หลังจากที่งานของเขาถูกปฏิเสธ ในวันที่เปิดงานจัดแสดง ดูว์ช็องได้นำ ‘Fountain’ มาถ่ายภาพไว้ โดยช่างภาพและเจ้าของแกลเลอรีชั้นนำอย่างอัลเฟรด สติกกลิซ (Alfred Stieglitz) ก่อนที่งานชิ้นนี้จะหายไป เหลือทิ้งไว้เพียงภาพถ่ายดังกล่าว โดยรูปถ่ายนี้ถูกตีพิมพ์พร้อมบทบรรณาธิการนิรนามที่กล่าวปกป้อง ‘โถปัสสาวะ’ ของดูว์ช็องว่า ช่างฟังดูเป็นเรื่องน่าขันสิ้นดีที่บอกว่างานของ Mr. Mutt ผิดศีลธรรม สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่คุณมองเห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน หาก Mr. Mutt ได้หยิบมาตีความในมุมใหม่ ไม่ว่าเขาจะสร้างมันขึ้นมาด้วยมือของตัวเองหรือไม่ แต่ ‘เขาเลือกมัน’ (He CHOSE it.) เขาทำให้เรื่องราวแสนธรรมดาในชีวิตประจำวัน และทำให้ความหมายในรูปแบบเดิม (ในที่นี้คือการใช้งานในห้องน้ำ) เลือนหายไปพร้อมกับนิยามและมุมมองใหม่ในฐานะงานศิลปะ
ผลงานของดูว์ช็องสั่นคลอนความเชื่อและนิยามของศิลปะในช่วงศตวรรษที่ 20 ด้วยแนวคิดที่ว่า วัตถุธรรมดาอาจได้รับการยกระดับไปสู่งานศิลปะที่มีเกียรติได้ด้วยการ ‘เลือก’ ของศิลปิน
นักปรัชญาชาวแคนาดา-อเมริกัน นามว่า สตีเฟน ฮิคส์ (Stephen Hicks) กล่าวถึงงานของดูว์ช็องว่า “งานศิลปะไม่ใช่วัตถุพิเศษ แต่ถูกผลิตขึ้นจำนวนมากในโรงงาน การเสพย์งานศิลป์นั้นไม่ใช่ความน่าตื่นเต้นเสมอไป อย่างดีที่สุดก็คงเป็นการสร้างความรู้สึกฉงนใจและส่วนใหญ่มักจะทิ้งความรู้สึกไม่พอใจไว้ด้วยซ้ำ แต่สิ่งเหนือสิ่งอื่นใด ดูว์ช็องไม่ได้เลือกเพียงวัตถุสำเร็จรูป (readymade object) มาเพื่อจัดแสดง ในการเลือกโถปัสสาวะ ข้อความที่ต้องการสื่อสารของเขานั้นแจ่มชัด นั่นก็คือ ศิลปะเป็นอะไรที่คุณสามารถฉี่ใส่มันได้”
ในปี ค.ศ. 1964 มีการสร้างแบบจำลอง ‘Fountain’ ขึ้นมาใหม่แทนของจริงที่หายไป โดยจัดแสดงอยู่ที่ Tate Modern ในประเทศอังกฤษ และทุกครั้งที่ได้ชมผลงานชิ้นนี้ สิ่งที่ผู้ชมได้รับไม่ใช่เทคนิคแพรวพราวหรือความวิจิตรตระการตาของงานศิลปะตรงหน้า หากแต่เป็นการกระตุ้นเตือน ชักชวนให้ฉุกคิดถึงเรื่อง ‘ความหมาย’ และ ‘คุณค่า’ ของงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น งานศิลปะคืออะไร ? ใครเป็นคนตัดสิน ศิลปินหรือนักวิจารณ์ ? แต่ละชิ้นงานสามารถเกิดขึ้นจากความคิดเพียงอย่างเดียวหรือไม่ หรือจำเป็นต้องสร้างขึ้นมาด้วยมือของศิลปิน ? แม้แต่คำถามตอนต้นที่ว่า...โถปัสสาวะในภาพ นับเป็นงานศิลปะได้หรือเปล่า ? อีกทั้งยังเปิดช่องว่างให้ผู้คนได้ตอบคำถามเหล่านี้ โดยที่คำตอบสามารถมีได้มากกว่าตัวเลือกแค่ว่า ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ งานศิลปะเพียงอย่างเดียว
ที่มา
https://www.tate.org.uk/art/artworks/duchamp-fountain-t07573
https://www.phaidon.com/agenda/art/articles/2016/may/26/the-fascinating-tale-of-marcel-duchamps-fountain/
https://www.moma.org/learn/moma_learning/themes/dada/marcel-duchamp-and-the-readymade/
https://www.theartstory.org/artist/duchamp-marcel/life-and-legacy/