read
social
21 มี.ค. 2564 | 21:01 น.
โครงการ Ending Statelessness | ยุติภาวะไร้สัญชาติ เพื่ออนาคตของเด็กทุกคน
Play
Loading...
ภาวะไร้สัญชาติที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในประเทศไทยนั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาโดยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยมีแนวนโยบายและกฎหมายที่ครอบคลุม แต่ปัญหาในทางปฏิบัติยังคงเป็นสาเหตุหลักของข้อท้าทายที่ทำให้ยังไม่สามารถยุติวงจรไร้สัญชาติได้อย่างเด็ดขาด ส่งผลให้ยังมีเด็กที่อยู่ในสภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติอยู่นับแสนคนในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศไทย
ปัจจุบันยังมีเด็กและเยาวชนตกอยู่ในภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติอยู่เป็นจำนวนนับแสนคน และภาวะไร้สัญชาติมักมีสภาพปัญหาเป็นวงจรสืบเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น บุตรหลานของผู้ที่ไร้สัญชาติ จะสืบต่อสถานะไร้สัญชาติตั้งแต่แรกเกิด และสถานะนี้จะยังสืบต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่ากระบวนการพัฒนาสถานะจะแล้วเสร็จ ซึ่งมักกินเวลานานหลายปี เป็นผลให้วงจรปัญหาดังกล่าวสืบต่อเนื่องและทำให้มีเด็กที่ตกอยู่ในภาวะไร้สัญชาติเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ในประเทศไทย มีการจัดแบ่งสถานะของเด็กกลุ่มนี้เป็น ไร้รัฐ คือ ไม่มีการขึ้นทะเบียนใด ๆ ไม่มีเอกสารแสดงตนของรัฐไทย หรือรัฐใดอีก ซึ่งเด็กที่ไร้รัฐนั้น ก็จะไร้สัญชาติไปด้วย เป็นเสมือนเด็กที่มีชีวิตอยู่โดยไร้ตัวตนในแผ่นดินที่อยู่ อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มส่วนใหญ่คือ เป็นเด็กที่ได้รับการจดทะเบียนบันทึกมีเอกสารระบุตัวแล้ว แต่ยังอยู่ในระหว่างกันระบุสถานะทางกฎหมาย ยังไม่ได้มีสัญชาติใดสัญชาติหนึ่ง ซึ่งเด็กกลุ่มนี้คือ ไร้สัญชาติ แต่ไม่ไร้รัฐ
ผลกระทบของภาวะไร้สัญชาติ คือ ทำให้เด็กเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็นหลายประการ นำไปสู่การขาดโอกาส และมักถูกเลือกปฏิบัติ และกีดกันจากการมีส่วนร่วมในสังคม โดยเด็กไร้สัญชาติมักตกอยู่ในสภาวะเปราะปาง ที่นำไปสู่ปัญหานานัปการไม่ว่าจะเป็นความยากจน การขาดโอกาส และการเข้าไม่ถึงการศึกษา การรักษาพยาบาล และความคุ้มครองทางสังคม รวมถึงความเสี่ยงสูงขึ้นในประเด็นคุ้มครองเด็ก เช่น ความรุนแรง การละเมิด และการแสวงหาประโยชน์ การค้ามนุษย์ หรือการถูกใช้แรงงานเด็ก เมื่อเด็กไร้สัญชาติเติบโตจนถึงวัยที่สามารถทำงานได้ เด็กกลุ่มดังกล่าวมักจะเผชิญข้อจำกัด และการถูกเลือกปฏิบัติ เช่น การไม่สามารถทำงานบางอาชีพได้ หรือการได้รับค่าจ้างที่น้อยกว่าปกติ ในหลายกรณี ตัวเลือกการทำงานมีอยู่อย่างจำกัดมากจนมักถูกจ้างให้ทำงานที่เสี่ยงอันตราย
แม้ในประเทศไทยจะมีความพยายามขยายสิทธิต่าง ๆ ให้ครอบคลุมถึงเด็กไร้สัญชาติ และเด็กที่ยังไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร เช่น สิทธิทางการศึกษา และสิทธิการรักษาพยาบาล แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับสถานะของเด็กแต่ละคน ว่าจะมีสิทธิเข้าถึงบริการทางสังคมใดได้บ้าง เช่น สถานะของบางกลุ่มจะยังไม่สามารถรับบริการด้านสุขภาพได้ หรือบางสถานะไม่ครอบคลุมการรับวัคซีน เป็นต้น ในขณะที่ด้านการศึกษานั้น แม้ว่าประเทศไทยจะมีนโยบายจัดการศึกษาให้เด็กทุกคนในประเทศไทยโดยไม่คำนึงถึงสถานะ เด็กไร้สัญชาติยังคงมีโอกาสที่จำกัด เช่น ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน กยศ. ได้ เนื่องจากจำเป็นต้องมีสถานะเป็นบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น นอกจากนี้ ปัญหาด้านการศึกษาที่อาจพบได้บ่อยสำหรับเด็กไร้สัญชาติ คือ การไม่ได้รับเอกสารรับรองจบการศึกษา ซึ่งมักมีสาเหตุจากความสับสนในหลักเกณฑ์ของผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปัญหาในการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษา
ยูนิเซฟร่วมมือกับสหภาพยุโรป ภายใต้โครงการความร่วมมือ การคุ้มครองเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการโยกย้ายถิ่นฐาน (Protecting Children Affected by Migration) เพื่อแก้ไขปัญหาที่เด็กไร้สัญชาติกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะในเชิงระบบ และโครงสร้าง เพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน สำหรับปัญหาภาวะไร้สัญชาติ ยูนิเซฟได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรจากหลายภาคส่วน โดยให้ความสำคัญกับการจดทะเบียนเกิด ที่เป็นหัวใจสำคัญในการช่วยยุติวงจรภาวะไร้สัญชาติได้
นอกจากการลงพื้นที่ร่วมกับพันธมิตรให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญ และกระบวนการการจดทะเบียนเกิด และการขอสัญชาติแล้ว ยูนิเซฟได้ร่วมมือกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พัฒนาโปรแกรมและริเริ่มการเชื่อมข้อมูลของเด็กที่คลอดในโรงพยาบาลกับข้อมูลทะเบียนราษฎรโดยอัตโนมัติ โดยใน ปี พ.ศ. 2556 โรงพยาบาลต่าง ๆ ของรัฐทั่วประเทศไทยได้เริ่มใช้ระบบการจดทะเบียนออนไลน์มาเป็นตัวเชี่อมโยงข้อมูลของทารกแรกเกิด เพื่อการันตีว่าเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย ไม่ว่าพ่อแม่จะมีสัญชาติใด ต้องได้รับการจดทะเบียนการเกิดและได้รับสูติบัตร ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการพิสูจน์ตัวตนเด็ก อันจะนำไปสู่การเข้าถึงสิทธิทางการศึกษา การรักษาพยาบาล และสวัสดิการสังคมต่าง ๆ
ปัจจุบัน ยูนิเซฟและพันธมิตร ทำการศึกษาสถานการณ์ล่าสุดของเด็กไร้สัญชาติในประเทศไทย
รวมทั้งออกแบบและนำเสนอแนวปฏิบัติเพื่อการพัฒนาสถานะบุคคลของเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม
และนำไปสู่การยุติวงจรภาวะไร้สัญชาติ พร้อมกันนี้ยังได้เตรียมออกแคมเปญ
Lives Untold | ชีวิตที่มีตัวตน
เพื่อสร้างความตระหนัก ความเข้าใจถึงสถานการณ์ ความท้าทายในการใช้ชีวิต ของเด็กที่อยู่ในภาวะไร้สัญชาติ โดยมุ่งหวังให้สังคมมีความรู้ความเข้าใจ และมีมุมมองทัศนคติที่พร้อมสนับสนุนสิทธิ และความเป็นอยู่ของเด็กไร้สัญชาติ เพื่อให้ชีวิตที่ไม่มีใครเห็นของเด็กไร้สัญชาติ ได้ถูกรับรู้ มีตัวตน และนำไปสู่การเปิดโอกาสอันเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาต่อยอดของเด็กกลุ่มนี้ได้ในท้ายที่สุด
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแคมเปญ Lives Untold | ชีวิตที่มีตัวตน ได้ที่
www.unicef.or.th/livesuntold
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3491
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6940
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
819
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Social
PartnerContent
Unicef
Statelessness