แบงก์ซี: “ถ้ากราฟฟิตีเปลี่ยนโลกได้ มันคงผิดกฎหมาย” ศิลปินจอมขบถผู้เสียดสีสังคมด้วยกราฟฟิตีสเตนซิล
“IF GRAFFITI CHANGED ANYTHING, IT WOULD BE ILLEGAL”
กลุ่มตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ที่ถูกพ่นตัวโต ๆ ด้วยสเปรย์สีแดงสด เบื้องล่างเยื้องขวามีหนูท่อยืนสองขาอยู่แทนสัญลักษณ์ของกราฟฟิตีหรือนักสร้างศิลปะบนกำแพงฝีมือดีจากเกาะอังกฤษ ที่ใช้หนูเป็นสัตว์แทนตัวด้วยเหตุผลว่า
“ถ้าคุณรู้สึกสกปรก ไร้ความสำคัญ หรือไม่มีใครรัก หนูคือตัวแทนของคุณ หนูดำรงอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต หนูไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ไม่สนชนชั้นทางสังคม นอกจากนั้นพวกมันยังมีเซ็กส์ห้าสิบครั้งต่อวันด้วยซ้ำไป”
‘แบงก์ซี’ (Banksy) คือผู้สร้างศิลปะข้างฝาชิ้นนั้นไว้ที่ฟิทซ์โรเวีย ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2011 หลังจากที่ชื่อและผลงานของเขาเป็นที่รู้จักไปทั่วทั้งโลกแล้ว หากก่อนและหลังผลงานชิ้นนั้น แบงก์ซียังมี ‘วีรกรรม’ อีกที่สร้างความฮือฮาให้โลกอยู่หลายต่อหลายชิ้น บางชิ้นวิพากษ์สังคมอย่างแสบสัน บางชิ้นพูดเรื่องการเมือง บางชิ้นเล่าเรื่องเสรีภาพ ขณะที่บางผลงานหยอกแกมหยันวงการศิลปะได้อย่างมีสไตล์ แบงก์ซีคือศิลปินจอมกวนโอ๊ยผู้เป็นมือบอมบ์ (กราฟฟิตี) ไร้ชื่อจริงและโฉมหน้า คือชายที่ซ่อนตัวตนของเขามาหลายสิบปีเพื่อหลบตำรวจและพ่นกำแพง กับคำถามมากมายที่ผู้คนสงสัย
เขาคือศิลปินหรือคนเถื่อนนักทำลาย? การ ‘ทิ้งบอมบ์’ ไว้ตามผนังของเขาคือ ‘ศิลปะแห่งการต่อต้าน’ หรือเป็นการกระทำของพวกมือบอน?
ศิลปินปิดหน้าและที่มาของสเตนซิลอาร์ต
ย้อนกลับไปช่วงต้นยุค 90s แบงก์ซีเคยเล่าเรื่องราวที่เริ่มประวัติศาสตร์การบอมบ์ของเขาให้กับ เฟลิกซ์ เบราน์ (Felix Braun) นักเขียนชีวประวัติฟัง ขณะนั้นแบงก์ซีในวัย 18 ปีที่ยังเซ็นชื่อตัวเองว่า ‘Robin Banx’ พร้อมกับกลุ่มเพื่อนกราฟฟิตีได้แฝงตัวเข้าไปในย่านบาร์ตันฮิลล์ เมืองบริสตอลเพื่อทำการทิ้งบอมบ์ หรือวาดลวดลายกราฟฟิตีไว้บนกำแพงสาธารณะเป็นครั้งแรก ๆ ด้วยเทคนิค ‘ฟรีแฮนด์’ (การพ่นกราฟฟิตีด้วยมือ ไม่ใช้อุปกรณ์อื่นช่วย) ที่ใช้เวลาค่อนข้างมาก ร่วมกับประสบการณ์การหลบหนีที่ยังไม่ชำนาญของเด็กหนุ่ม เมื่อตำรวจประจำย่านได้เปิดสัญญาณไซเรนและมาจับพวกเขาถึงที่ แบงก์ซีเป็นคนเดียวที่วิ่งหนีกลับไปที่รถไม่ทัน
การซ่อนตัวคือสิ่งที่ดีที่สุดที่เขาทำได้ เขาแอบอย่างเงียบเชียบและเงี่ยหูฟังเสียงฝีเท้าของตำรวจอยู่ใต้รถเทรลเลอร์คันใหญ่ที่ข้นคลั่กด้วยน้ำมันใต้ท้องรถตลอดระยะเวลาร่วมชั่วโมงแห่งการตรวจค้นของตำรวจ ช่วงเวลานั้นเองที่แบงก์ซีได้เรียนรู้
“ผมต้องลดเวลาพ่นกำแพงลงครึ่งหนึ่ง ไม่งั้นก็ยอมแพ้และเลิกทำไปซะถ้าไม่อยากโดนจับ ผมมองออกไปจากใต้ท้องรถแล้วเห็นอุปกรณ์สำหรับทาบและพ่นกราฟฟิตีด้วยเทคนิค ‘สเตนซิล’ (Stencil: การนำกระดาษหรือวัสดุอื่น ๆ มาเจาะรูให้เป็นรูปร่าง แล้วพ่นสีตามรูเหล่านั้นจนออกมาเป็นภาพ) ถูกทิ้งไว้ ผมก็เลยนึกได้ว่าน่าจะลอกวิธีนั้นมาทำดูบ้าง”
การเกือบจะถูกจับครั้งนั้นทำให้แบงก์ซีเปลี่ยนวิธีสร้างศิลปะของเขา และอีกไม่นานเขาจะโด่งดังจากภาพที่วาดด้วยเทคนิคสเตนซิล พร้อมด้วยการยอมรับของแบงก์ซีที่ว่า
“ครั้งแรกที่ผมเริ่มตัดแผ่นสเตนซิล ผมรู้สึกได้ว่ามันมีพลัง เพราะว่าผมสนใจการเมือง และสเตนซิลนั้นมีประวัติศาสตร์ มันคือวิธีที่เริ่มใช้ในการปฏิวัติและยุติสงคราม”
การเมืองบนกราฟฟิตี
เริ่มต้นด้วยภาพแรก ‘The Mild Mild West’ (1999) ภาพกราฟฟิตีล้อเลียนโฆษณาของสำนักทนายความในย่านบริสตอลเมื่อปี 1997 ภาพตุ๊กตาหมีกำลังขว้างวัสดุทรงคล้ายระเบิดขวดใส่ตำรวจสามคนที่รุดหน้าเพื่อเข้าจับกุมกลายเป็นผลงานโด่งดังชิ้นแรกที่ทำให้ลายเซ็น ‘Banksy!’ ตัวใหญ่ ๆ ที่ประดับไว้ด้านล่างรูปภาพกลายเป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงในวงกว้าง สานต่อด้วยหลายผลงาน (ที่บ้างถูกทำลาย) ในปี 2000 ชื่อของแบงก์ซีถูกเล่าปากต่อปากไปทั่วเกาะอังกฤษ ผู้คนรอชมผลงานเสียดสีเจืออารมณ์ขันของเขา ขณะที่ตำรวจก็เฝ้ารอเพื่อเข้าจับกุมตัวเขาไม่ต่างกัน
แบงก์ซีปิดบังตัวตนเพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่ในไม่ช้ามันก็ได้สร้างผลดีในด้านการตลาด กลายเป็นว่าผู้คนสนใจผลงานของเขาโดยไม่สนว่าตัวตนที่แท้จริงของเขาจะเป็นใครที่ไหน แค่ลายเซ็น ‘Banksy’ และการใช้เทคนิคสเตนซิลสร้างรูปภาพที่พูดแทนในรูปแบบศิลปะก็ถือว่ามากเพียงพอให้ผู้คนจากหลากสารทิศชื่นชอบในตัวเขา และพร้อมรุมประณามสำนักข่าวหรือใครก็ตามที่พยายามจะ ‘แฉ’ ตัวจริงของแบงก์ซีเสียด้วยซ้ำ
ภายในเวลาไม่กี่ปี แบงก์ซีผลิตงานศิลปะอย่างไม่หยุดยั้ง ปี 2001 เขาและก๊วนศิลปินข้างถนนรวมตัวกันเพื่อจัดนิทรรศการเล็ก ๆ ขึ้นที่ Rivington Street มุมเมืองหนึ่งของลอนดอน พวกเขาเขียนป้ายและจัดเตรียมสถานที่อย่างง่าย โดยแทบไม่ได้ใช้เงินเป็นต้นทุน พร้อมด้วยการเปิดเพลงฮิปฮอปและบรรยากาศกึ่งปาร์ตี้ งานศิลปะของแบงก์ซีและก๊วนได้ถูกผู้คนกว่าห้าร้อยคนแวะเวียนเข้ามาชมตลอดสัปดาห์
ปีถัดมาแบงก์ซีได้เผยแพร่อีกผลงานสร้างชื่อของเขา ‘Balloon Girl’ ปรากฏขึ้นครั้งแรกบนกำแพงอาคารในย่าน South Bank แห่งกรุงลอนดอน ภาพเด็กผู้หญิงที่ไม่แน่ว่ากำลังคว้าหรือปล่อยลูกโป่งสีแดงที่ลอยอยู่ไม่ไกลนั้นสะท้อนความนัยหลายต่อหลายอย่าง หลายคนตีความมันถึงความหวังที่หลุดลอย บ้างก็พลอยคิดว่ามันคือการเอื้อมมือไปคว้าฝันที่ห่างเพียงหนึ่งช่วงตัว
ในไม่ช้าแบงก์ซีก็มีผลงานมากพอที่จะจัดนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของตัวเอง ปี 2003 ภายใต้ชื่อ ‘Turf War’ ผลงานคลาสสิกไม่ว่าจะเป็นภาพวาดล้อเลียนควีนเอลิซาเบธและเช เกวารา รวมทั้งการพ่นสีบนวัวและแกะพร้อมลายเซ็นของเขา ผลงานสุดทะเล้นของเขาไม่ได้หมดเพียงเท่านั้น นานวันความท้าทายการเมืองแบบกวนโอ๊ยของแบงก์ซีก็ยิ่งทวีความน่าสนใจขึ้น พิมพ์แบงก์ปลอมแจก (แบงก์ซีตั้งใจให้คนที่ได้มันไปเก็บไว้เป็นที่ระลึก หรือไม่ก็เอาไปเมาท์กับเพื่อน แต่ปรากฏว่าคนกลับเอาแบงก์ปลอมของเขาไปใช้จ่ายจริง ๆ ทำให้ศิลปินหนุ่มต้องยุติการแจกจ่ายแบงก์รูปเจ้าหญิงไดอานา ที่มีคำ ‘Banksy of England’ ไปโดยปริยาย) ลักลอบประดับผลงานของตนในพิพิธภัณฑ์ศิลปะให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลต้องคอยวุ่นมาแกะออกอยู่เรื่อย ๆ หากก็ไม่มีวีรกรรมป่วน ๆ ครั้งไหนของแบงก์ซีที่จะอันตรายกับชีวิตของเขาเองมากไปกว่าการพ่นภาพชุดที่ชายแดนอิสราเอลและปาเลสไตน์
ปี 2005 ที่กำแพงคอนกรีต West Bank กำแพงที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันมือระเบิดพลีชีพ ท่ามกลางปากกระบอกปืนสไนเปอร์ที่ส่องกล้องตรวจตราอยู่จากทหารของทั้งสองฟากฝั่ง แบงก์ซีลักลอบเข้าไปที่นั่นพร้อมด้วยกระป๋องสีและอุปกรณ์พ่นกำแพง เขากลับออกมาได้โดยไม่ถูกปืนเป่าหัว ทิ้งชุดภาพที่บ่งบอกถึงอิสรภาพที่ควรรออยู่ในอีกชายฝั่ง - หาใช่สงครามและความตาย
มือบอมบ์อันดับหนึ่ง
พร้อมด้วยการสื่อสารกับผู้คนด้วยกราฟฟิตี แบงก์ซีเริ่มออกจากเซฟโซน ก่อนหน้านั้นเขาเคยใช้ลอนดอน (และนิวยอร์กในบางคราว) เป็นสนามสำหรับพ่นงานศิลป์ แต่หลังจากครั้งที่แฝงตัวเข้าไปในชายแดนปาเลสไตน์แล้วรอดกลับมาได้ เขาก็เริ่มออกเดินทางบ่อยขึ้น แบงก์ซีใช้ชีวิตเหมือนเงา เขาไปโผล่ที่นั่นทีที่นี่ทีเพื่อจะประดับภาพของตนเข้ากับกำแพงโดยไม่ให้ใครได้ทันเห็นตัว ควบคู่ไปกับการทิ้งบอมบ์ตามสถานที่ต่าง ๆ แบงก์ซีเริ่มเล่นตลกกับผู้คนด้วยการนำเสนอศิลปะรูปแบบใหม่ - ชายหนุ่มเริ่มต้นวิจารณ์วงการศิลปะและเม็ดเงินที่สะพรั่งพัดในวงการนี้ได้อย่าง (น่าจะ) ไม่มีใครเคยทำมาก่อน
ในช่วงเวลาดังกล่าว ผลงานของแบงก์ซีกลายเป็นที่ชื่นชอบของนักสะสม ผู้คนต่างแห่ประมูลเพื่อพารูปภาพของเขา แบงก์ซีทำเงินได้กว่า 102,000 ปอนด์จากผลงาน ‘Bombing Middle England’ 37,200 ปอนด์จาก ‘Balloon Girl’ และ 31,200 ปอนด์จาก ‘Bomb Hugger’ หากต่อมาเขาก็กลับเอารูปภาพของตัวเองไปเร่ขายตามถนนด้วยราคาภาพละ 60 ปอนด์หรือน้อยกว่านั้น ตลอดวันแบงก์ซีขายรูปของเขาได้เพียงไม่กี่ชิ้น ต่างจากห้องประมูลที่ผู้คนพากันยกมือเพื่อเสนอราคาให้สูงที่สุด ที่ข้างถนนผลงานของแบงก์ซีถูกต่อรองราคาจนเหลือเพียงครึ่ง การวางแผงขายภาพในครั้งนั้นของแบงก์ซีนั้นเกิดขึ้นเพื่อจะเยาะหยันวงการศิลปินทั้งคนอื่นและตนเอง พร้อมทั้งงานศิลปะของพวกเขาที่บางคราวก็สูงจนเกินจริง ราวกับจะกล่าวว่า
“ภาพเหล่านั้นก็มีค่าแค่หกสิบปอนด์เท่านั้นแหละ”
การล้อเล่นต่อวงการศิลปะของแบงก์ซียังดำเนินต่อไป ในปี 2018 ผลงานฉบับทำใหม่ของภาพ ‘Balloon Girl’ ถูกประมูลจนเสร็จสิ้นในราคา 1.04 ล้านปอนด์ (ราว 40 ล้านบาท) หากทันทีที่สิ้นเสียงค้อนเคาะของผู้ดำเนินการประมูล ทุกคนในห้องก็มีอันต้องตาค้าง เมื่อภาพผลงานดังกล่าวค่อย ๆ ทำลายตัวเองเป็นชิ้น ๆ ราวกับถูกย่อยด้วยเครื่องย่อยกระดาษ
ไม่ทันให้ใครได้หายฮือฮา แบงก์ซีปล่อยวิดีโอหนึ่งชิ้นที่แสดงว่าเขาเตรียมการซ่อนเครื่องย่อยกระดาษที่ว่าไว้ในภาพนั้นตั้งแต่หลายปีก่อน รอคอยเวลาที่มันจะถูกประมูลและกดปุ่มเพื่อสร้าง ‘เซอร์ไพรส์’ ให้กับเหล่าศิลปินและผู้เสพศิลป์ที่รักอย่างชื่นมื่นเป็นที่สุด แต่แม้การ ‘ทิ้งบอมบ์’ รอบนั้นจะเป็นไปเพื่อหยอกแกมแกล้งและตั้งคำถามกับคุณค่าและค่าตัวของศิลปะ แต่กลับกลายเป็นว่า ‘Balloon Girl’ ที่ถูกย่อยเป็นชิ้น ๆ นั้นดันราคาสูงขึ้นกว่าเดิมอีกและทะลุร้อยล้านไปในที่สุด การตั้งคำถามของแบงก์ซีได้กลายเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลงานของตัวเองไปเสียอย่างนั้น…
ศิลปินหรือคนเถื่อน?
เช่นเดียวกับสัญลักษณ์ที่แบงก์ซีใช้แทนตัว ในขวบปีแรก ๆ ของการทำงานสายกราฟฟิตี การมีอยู่ของแบงก์ซีไม่ต่างอะไรจากหนูข้างถนน สกปรก ไม่เจริญหูเจริญตา ในสายตาของผู้คน แบงก์ซีและศิลปินข้างถนนคนอื่น ๆ สมควรถูกจับ งานศิลปะที่ออกจะเปรอะในสายตาบางคนก็สมควรที่จะถูกลบให้หายไปจากผนัง และทาทับด้วยสีขาวหรือไข่ อิฐ หรืออะไรก็ตามที่จรรโลงใจและไม่ ‘เลอะเทอะ’ หลายคนต่อต้านแบงก์ซีและสิ่งที่เขาทำ กล่าวหาว่าเขาเป็นคนเถื่อน
หากเมื่อเวลาผ่าน ผลงานเสียดสีรวยอารมณ์ขันของแบงก์ซีได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของลอนดอน และในท้ายที่สุดก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของโลก ผู้คนเริ่มปกป้องผลงานของเขา (แต่บางคนก็ยังจ้องทำลายอยู่ เพราะในชีวิตการทำงานของแบงก์ซี ชายคนนี้ก็มีโจทก์ที่เกลียดชังเขาอยู่บ้างเหมือนกัน) เริ่มยกย่องและมองหาความหมายในละอองหมึกที่ติดแน่นกับกำแพงและงานประเภทอื่น ๆ ที่เขาทำ
นิทรรศการของเขาประสบความสำเร็จ ภาพยนตร์ ‘Exit Through the Gift Shop’ ที่เขากำกับสร้างเม็ดเงินมหาศาลและถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สาขาสารคดี ในปี 2010 สวนสนุกสุดหลอน ‘Dismaland’ ที่เขาสร้างเพื่อล้อเลียนดิสนีย์แลนด์ก็กลายเป็นที่ฮือฮา แม้แต่การทำลาย ‘Balloon Girl’ ของเขาก็ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นแนวทางใหม่ในการตั้งคำถามกับสิ่งที่ถูกเรียกว่าศิลปะ
ด้วยผลงานทั้งหมดที่กล่าวมา คำว่า ‘คนเถื่อน’ (Vandal) ที่บางคนเคยใช้เพื่อกล่าวถึงศิลปินชาวอังกฤษคนนี้ในช่วงต้นการทำงานของเขา ก็คงจะกลายเป็นคำที่ถูกขีดฆ่า และแทนที่ด้วยคำว่า ‘ศิลปิน’ ตามนิยาม ‘ผู้สร้างศิลปะโดยไม่เป็นขี้ข้าใคร’ ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ส่วนประโยคของแบงก์ซีที่เราใช้เปิดเรื่อง “IF GRAFFITI CHANGED ANYTHING, IT WOULD BE ILLEGAL” หรือ “ถ้ากราฟฟิตีเปลี่ยนโลกได้ มันก็คงผิดกฎหมาย” นั้น ข้อสรุปก็คงเป็นใจความว่า
กราฟฟิตีและศิลปะแขนงอื่น ๆ นั้น (มีแนวโน้มที่จะ) เปลี่ยนโลกได้ ไม่เช่นนั้นมันคงไม่กลายเป็นสิ่งผิดขนบ ผิดกฎหมาย ที่ต้องถูกเซนเซอร์หรือทำลายในหลาย ๆ ประเทศ
ที่มา:
https://www.smithsonianmag.com/arts-culture/the-story-behind-banksy-4310304/?page=2
https://www.thefamouspeople.com/profiles/banksy-6697.php
https://medium.com/@yangcynthia/banksy-vandal-or-artist-47800f57d4d5
https://www.artlyst.com/news/new-banksy-work-appears-on-fitzrovia-side-street/
https://www.widewalls.ch/murals/banksy-if-graffiti-changed-anything-it-would-be-illegal