*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ The Mauritanian
ปี 2001 วินาศกรรม 11 กันยายน หรือ 9/11 ในสหรัฐอเมริกา คือฝันร้ายที่ชาวอเมริกันและคนทั่วโลกไม่อาจลืม
ณ ช่วงเวลาอันแสนหดหู่นั้น สหรัฐอเมริกาได้พยายามจับกุมผู้ต้องสงสัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือ ‘โมฮัมมาดู โอ ซาลาฮี’ (Mohamedou Ould Slahi) ชาวมอริเตเนียที่ถูกคุมขังในคุกกวนตานาโม (Guantánamo) แต่เมื่อเวลาผ่านไป คดีความของโมฮัมมาดู โอ ซาลาฮี กลับพลิกผันไปอีกทิศ เมื่อทนายความสามารถพิสูจน์ได้ว่าเขาคือผู้บริสุทธิ์ ทั้งยังพบว่าคุกกวนตานาโมมีวิธีทรมานนักโทษที่ผิดต่อข้อตกลงเจนีวา
ทนายความผู้อยู่เบื้องหลังการคืนความยุติธรรมให้โมฮัมมาดู โอ ซาลาฮี ครั้งนี้ คือ ‘แนนซี่ ฮอลแลนเดอร์’ (Nancy Hollander) ทนายอเมริกันผู้มีชื่อเสียงด้านคดีอาชญากรรม และการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เธอคือผู้ที่ทำให้โมฮัมมาดู โอ ซาลาฮีตัดสินใจจรดปากกาบอกเล่าเรื่องราวผ่านหนังสือ ‘Guantanamo Diary’ ที่ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนในปี 2015 ก่อนจะถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘The Mauritanian’ ที่จะเข้าฉายวันที่ 1 เมษายน 2021 นี้ ซึ่งเป็นผลงานการกำกับของเควิน แมคโดนัลด์ (Kevin Macdonald) ผู้กำกับรางวัลออสการ์ กับผลงานสารคดีเรื่อง One Day in September
‘The Mauritanian’ บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่วันแรกที่โมฮัมมาดู โอ ซาลาฮี (รับบทโดย ทาฮาร์ ราฮิม) ถูกจำกัดอิสรภาพไปจนถึงวันสุดท้ายที่ได้กลับบ้าน รวมทั้งการต่อสู้ของ แนนซี่ ฮอลแลนเดอร์ (รับบทโดย โจดี้ ฟอสเตอร์) เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับลูกความของเธอ
โจดี้ ฟอสเตอร์ ผู้มารับบทเป็นแนนซี่ ฮอลแลนเดอร์ เล่าว่า “ฉันคิดว่าเราทุกคนต่างหวั่นไหวกับเหตุการณ์ 9/11 จนเกิดความกลัวแบบนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เราก็ไม่เคยสนใจว่าใครโดนขัง"
ย้อนกลับไปในช่วงเวลาแห่งความกลัวนั้น ‘แนนซี่ ฮอลแลนเดอร์’ กลับเป็นคนที่ตัดสินใจก้าวเข้ามาทำคดีให้กับโมฮัมมาดู โอ ซาลาฮี หากจุดเริ่มต้นของเธอไม่ได้มาจากความคิดที่ว่าใครคือผู้บริสุทธิ์ แต่เป็น ‘การตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรม’ ที่เกิดขึ้น เพราะโมฮัมมาดู โอ ซาลาฮี ถูกคุมขังไว้หลายปี โดยปราศจากข้อกล่าวหาใด ๆ นอกจาก ‘ข้อสงสัย’ ว่าเขาอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคัดเลือกทีมผู้ก่อการร้าย 9/11
และนี่คือเรื่องราวของแนนซี่ ฮอลแลนเดอร์ สตรีผู้คืนความยุติธรรมให้กับผู้บริสุทธิ์
ทนายของผู้ก่อการร้าย (?)
“รัฐบาลสหรัฐฯ จับนักโทษไว้ที่กวนตานาโมกว่า 700 คน ประเทศนี้ขังคนแบบไม่พิจารณาคดีได้ตั้งแต่เมื่อไหร่กัน”
ขณะที่คนจำนวนมากเรียกแนนซี่ ฮอลแลนเดอร์ ว่าเป็น ‘ทนายของผู้ก่อการร้าย’ แต่เธอกลับไม่ได้คิดอย่างนั้น เพราะมองว่าเหตุการณ์ทั้งหมดยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งลูกความของเธออาจจะทำหรือไม่ได้ทำผิดก็เป็นได้ หากสิ่งสำคัญไปกว่านั้นคือการพิจารณาคดีที่ยุติธรรม
“ไม่หงุดหงิดเหรอที่ต้องมาช่วยคนแบบนี้” อัยการทางฝั่งสหรัฐฯ เอ่ยถามเธอ
“ฉันไม่ได้ปกป้องเขา แต่ฉันปกป้องกฎหมาย” เธอตอบเสียงเรียบพร้อมสีหน้าและแววตาอันแน่วแน่
แนนซี่เริ่มต้นจากการรวบรวมหลักฐานทั้งจากภาครัฐ และการพูดคุยกับลูกความ หากการทำงานครั้งนี้ไม่ราบรื่นเท่าไรนัก เพราะฝ่ายอัยการไม่ยอมให้ดูหลักฐานที่ใช้ฟ้องโมฮัมมาดู โอ ซาลาฮี ข้อมูลทุกอย่างถูกเซ็นเซอร์ เป็นเพียงกระดาษเปล่าที่มีไฮไลต์สีดำทึบทับตัวอักษรทุกบรรทัด เธอจึงต้องขอให้สหรัฐฯ เปิดเผยเอกสารดังกล่าว แต่ด่านที่หินยิ่งกว่าการขอให้สหรัฐฯ เปิดเผยเอกสารทั้งหมด คือการค้นพบหลังจากนั้นว่า ลูกความของเธอเคย ‘รับสารภาพ’ ทุกข้อกล่าวหา
ความยุติธรรมบนชั้นศาล ไม่อาจขับเคลื่อนด้วย 'ความรู้สึก'
‘คุณเชื่อว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์จริงไหม ?’
นี่คือคำถามที่แนนซี่ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง ทั้งจากลูกความ ผู้ช่วย และผู้คนอีกมากมายที่พบเจอ ซึ่งเธอมักจะตอบกลับไปว่า ‘อาจจะผิดหรือไม่ผิดก็ได้’
น้ำเสียงเรียบเฉย และการพูดคุยด้วยเหตุผลมากกว่าความรู้สึก ทำให้ภาพลักษณ์ของตัวละคร (และแนนซี่ตัวจริง) อาจดูเป็นคนมาดนิ่ง เย็นชา และคาดเดาได้ยาก แต่หากมองลึกลงไปภายใต้บุคลิกเหล่านั้น คือจิตวิญญาณของวิชาชีพทนายความ เพราะไม่ว่าเธอจะมีความเชื่อ ความคิด หรือความรู้สึกอย่างไร สิ่งที่สามารถนำไปสู้คดีบนชั้นศาลได้ มีเพียงหลักฐานเชิงประจักษ์เท่านั้น
ดังนั้น แม้ว่าเธอจะเจอหลักฐานคำสารภาพของลูกความ และผู้ช่วยของเธอขอถอนตัวออกจากการทำคดีนี้ แต่เธอกลับเลือกก้าวข้ามความรู้สึก ‘เชื่อ’ หรือ ‘ไม่เชื่อ’ โมฮัมมาดู โอ ซาลาฮี แล้วทำหน้าที่ต่อไปด้วยการ ‘หาหลักฐาน’ ทั้งเอกสารจากทางสหรัฐฯ และการเดินทางไปพบลูกความเพื่อให้เขียนอธิบายว่าเหตุใดตอนนั้นจึงรับสารภาพ
การถูกสอบสวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยที่คำพูดของเขาไร้ความหมายมาโดยตลอด ทำให้ตอนแรกโมฮัมมาดู โอ ซาลาฮีเองก็กลัวเกินกว่าจะยอมเขียนทุกอย่างออกมา และเอาแต่บอกว่าเธอไม่เชื่อใจเขา หากแนนซี่ก็ยังยืนยันคำเดิมว่า ‘ความเชื่อใจ’ ไม่อาจนำไปใช้บนชั้นศาลได้ นอกจากหลักฐานที่มาจากปลายปากกาของโมฮัมมาดู โอ ซาลาฮีเอง
ท้ายที่สุด เขาจึงยอมเผยความจริงผ่านตัวอักษรซึ่งกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้คดีพลิกไปอีกทิศทาง และนำไปสู่อิสรภาพในเวลาต่อมา
เมื่อความจริงได้ปรากฏ
ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอหลักฐานเดียวกันจากทั้งสองมุม ทั้งเอกสารลับที่อัยการฝั่งสหรัฐฯ ได้อ่าน (หลังจากทราบเรื่องอัยการคนนี้ขอถอนตัวจากการทำคดีดังกล่าว) และเรื่องราวที่โมฮัมมาดู โอ ซาลาฮีเล่าให้แนนซี่ฟังผ่านจดหมาย ซึ่งหลักฐานดังกล่าวไม่เคยถูกนำมาเปิดเผยหรือนำมาพิจารณาในชั้นศาล นั่นคือการสอบสวน ‘รูปแบบพิเศษ’ ในคุกกวนตานาโมที่ผิดต่อข้อตกลงเจนีวา เช่น การทุบตี การทำให้อับอาย การคุกคามทางเพศ การทรมานด้วยอุณหภูมิที่หนาวจัด การรบกวนด้วยแสงและเสียงในระดับรุนแรงต่อเนื่อง การอดอาหาร อดนอน และถูกข่มขู่กระทั่งว่าจะจับตัวแม่ของโมฮัมมาดู โอ ซาลาฮีมาทำร้าย
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การสอบสวนและรับสารภาพในรูปแบบปกติ แต่เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บีบเค้นให้บุคคลนั้นหมดหนทางจน ‘ยอม’ รับสารภาพออกมา เพราะไม่สามารถทนต่อแรงกดดันและสถานการณ์นั้นได้ไหว
หากมองเพียงลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏว่าใช้มาตรการพิเศษเพื่อสอบสวนจนโมฮัมมาดู โอ ซาลาฮีรับสารภาพ การตัดสินก็คล้ายจะยุติธรรมและปกติดี แต่หากพิจารณาสิทธิมนุษยชน ความชอบธรรมของกฎหมายและความเป็นมนุษย์เข้าไปด้วย นี่คือการตัดสินที่โหดร้ายและอยุติธรรม
เมื่อค้นพบข้อเท็จจริงนี้ แนนซี่จึงเดินทางกลับไปหาลูกความ หากครั้งนี้เธอไม่ได้ต้องการหลักฐาน หรือคำให้การใด ๆ
แนนซี่เอื้อมไปสัมผัสมือโมฮัมมาดู โอ ซาลาฮีเบา ๆ พร้อมกับบอกจุดประสงค์ของการเข้าพบครั้งนี้ว่า “ฉันแค่ไม่อยากให้คุณอยู่คนเดียว” นี่อาจเป็นไม่กี่ครั้งที่เธอสามารถแสดงความรู้สึกได้อย่างตรงไปตรงมาขณะปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจในฐานะเพื่อนมนุษย์ผ่านคำพูดและแววตาที่รับรู้ได้ถึงความเจ็บปวด
หลังจากนั้นเธอได้นำเรื่องราวของเขาไปเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในศาล
“ลูกความของฉันไม่ใช่คนร้าย แต่เขาเป็นพยาน”
แนนซี่ ฮอลแลนเดอร์ทิ้งท้ายไว้ในวันพิจารณาคดี เพราะลูกความของเธอเป็นผู้บริสุทธิ์ ทั้งยังเป็นพยานที่ทำให้โลกรับรู้ถึงเรื่องราว ‘มาตรการพิเศษ’ ที่ทารุณกรรมผู้ถูกคุมขังในคุกกวนตานาโมแห่งนี้
และในที่สุดแนนซี่ก็ต่อสู้จนโมฮัมมาดู โอ ซาลาฮีดูสามารถชนะคดีได้ แต่สหรัฐอเมริกากลับยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ทำให้เขาต้องถูกคุมขังในกวนตานาโมต่อไปอีก 7 ปี ก่อนจะโอบรับอิสรภาพอย่างเต็มที่หลังอยู่ในคุกมานานถึง 14 ปี 2 เดือน
โจดี้ ฟอสเตอร์ ผู้รับบทเป็นแนนซี่เล่าถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า “ฉันคิดว่ามันมีบทเรียนสำคัญในภาพยนตร์เรื่องนี้ นั่นคือแรงกระตุ้น แรงกระตุ้นจากความกลัวนั้นแข็งแกร่งมาก และน่าเสียดายที่มันอยู่ในยุคของกวนตานาโม และในยุค 9/11 ซึ่งความกลัวเข้าครอบงำจิตใจของชาวอเมริกัน เรากำลังตัดสินใจนโยบายต่างประเทศด้วยความกลัว แทนที่จะใช้กฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เรารู้จัก”
ปัจจุบัน แนนซี่ ฮอลแลนเดอร์ตัวจริง ยังคงทำงานเป็นทนายความในคดีฆาตกรรม คดีความระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชนต่อไปอย่างที่เคยทำมาตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษ นอกจากนี้เธอยังได้รับรางวัลด้านกฎหมายจำนวนมาก เช่น Top 100 ทนายความของอเมริกาใน New Mexico, Best Lawyers 'Albuquerque Criminal Defense: Non-White-Collar Lawyer of the Year ในปี 2010, White-Collar Lawyer of the Year ในปี 2011, รางวัลทนายความมืออาชีพแห่งปีจาก New Mexico Trial Lawyers Foundation ในปี 2006 และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย
แต่ยิ่งกว่ารางวัลเหล่านั้น ‘แนนซี่ ฮอลแลนเดอร์’ คือผู้จุดประกายให้เรากลับมาฉุกคิดและตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมรอบตัวว่า ทุกอย่างกำลังดำเนินไป ‘ภายใต้กฎหมาย’ หรือ กฎหมายได้กลายเป็น ‘เครื่องมือ’ เพื่อหาความชอบธรรมในเรื่องที่ไม่ชอบธรรมอยู่หรือไม่ ?
ร่วมพิสูจน์ภาพยนตร์ที่ท้าทายความอยุติธรรมและพบการกลับมาของ ‘โจดี้ ฟอสเตอร์’ ในบทบาท แนนซี่ ฮอลแลนเดอร์ ที่ทำให้ชนะรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ลูกโลกทองคำปีล่าสุด ใน The Mauritanian “มอริทาเนียน : พลิกคดี จองจำอำมหิต” 1 เมษายนนี้...ในโรงภาพยนตร์!!!...