‘เอาละทุก ๆ คน ตอนนี้ผมกำลังจะฆ่าตัวตาย’ภายในคฤหาสน์หลังใหญ่ที่รายล้อมไปด้วยผู้คน เอลตัน จอห์น (Elton John) ภายในภาพยนตร์ Rocketman ที่รับบทโดย ทารอน เอเจอร์ตัน (Taron Egerton) พูดแบบนั้น พร้อมด้วยสายตานับสิบคู่ของผู้มาร่วมงานปาร์ตีในวันดังกล่าว เขาทิ้งดิ่งร่างกายที่หนักอึ้งไปด้วยสิ่งมึนเมาลงสู่เบื้องล่าง - ร่างของนักร้องดังจมหายลงไปในสระน้ำ พร้อมด้วยเพลง ‘Rocket Man’ ที่ดังขึ้นในจังหวะเดียวกัน/ She packed my bags last night pre-flight. Zero hour 9:00 a.m. /ภาพยนตร์ยังคงดำเนินต่อไป เสียงของทารอนขับร้องเพลงฮิตของเอลตันได้อย่างน่าฟังตั้งแต่ต้นจนจบ พรั่งพร้อมด้วยเสียงปรบมือจากผู้คนด้านล่างเวที เสียงร้องคลอตามจังหวะดนตรี รอยยิ้มและความยินดีของแฟน ๆ ผู้นิยมเพลงป็อป - ร็อกในวันวานทำให้ผู้ชมภาพยนตร์ต่างรับรู้ได้กับหูและตาว่าเพลงเพลงนี้ถูกรักจากผู้คนมากเพียงใดซึ่งในความเป็นจริงนั้น เพลง ‘Rocket Man’ ที่มีชื่อเต็ม ๆ ว่า Rocket Man (I Think It’s Gonna Be A Long, Long Time) นอกจอก็ถูกรักไม่ต่างจากในหนังเลยพร้อมด้วยการตีความเนื้อเพลงและทฤษฎีที่ผู้ฟังคิดกันไปต่าง ๆ นานา เอลตัน จอห์น และ เบอร์นีย์ เทาพิน (Bernie Taupin) เพื่อนคู่คิดและนักแต่งเพลงคู่ใจ ผู้อยู่เบื้องหลังทุกถ้อยคำในเพลงนี้ ได้ออกมายืนยันถึงที่มาที่ไปของเพลงฮิตดังกล่าวว่า เขาไม่ได้จงใจสร้าง ‘Rocket Man’ ให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความ ‘ไฮ’ จากฤทธิ์เหล้ายา และแน่นอนว่าเขาไม่ได้รับแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงมาจาก ‘Space Oddity’ บทเพลงของเดวิด โบวี (David Bowie) ที่ปล่อยออกมาก่อนเมื่อปี 1969 และเกี่ยวข้องกับอวกาศเช่นเดียวกันแต่อย่างใดRocket Man บทเพลงจากวรรณกรรมน้ำเสียงนุ่มทุ้ม สองมือพรมนิ้วกับเปียโนเล่นเพลงตั้งแต่แว่วหวานไปจนถึงซาบซ่านและแน่นหนักตามฉบับร็อกแอนด์โรล - พ่วงด้วยการแต่งตัวฟู่ฟ่าไปด้วยขนนก หมวกหรือเครื่องประดับหัวทรงแปลก ๆ รองเท้ามีส้นและสีสันฉูดฉาดบนเสื้อผ้า การกางสองแขนออกอย่างโอ่อ่าขณะร้องเพลง รวมถึงการยกสองขาให้ลอยขึ้นจากพื้นเวทีขณะสองมือยังกดย้ำบนคีย์เปียโน ทั้งหมดนี้กลายเป็นเอกลักษณ์ของชายที่มีชื่อเล่นว่า ‘Rocket Man’ ผู้ขึ้นแท่นป็อปไอคอนระดับตำนานมาตั้งแต่วันวานจนถึงปัจจุบันหลังจากฝีมือการแต่งเพลงของเบอร์นีย์ทำให้เอลตันกลายเป็นศิลปินดังด้วยเพลงฮิตหวานซึ้งเพลงแรกอย่าง ‘Your Song’ เขาและเอลตันก็ได้ร่วมงานกันเพื่อผลิตผลงานเพลงดี ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ‘Rocket Man’ คือเพลงที่เป็นกระแสเกือบจะเรียกได้ว่ามากที่สุด เพราะนอกจากมันจะทะยานขึ้นชาร์ตเพลงพีกสุดที่อันดับ 2 ใน UK Singles Chart และทะยานขึ้นประดับชาร์ตดนตรีอีกหลายต่อหลายครั้งในระยะเวลากว่า 5 ทศวรรษนับจากวันที่ถูกปล่อยออกมาในรูปแบบซิงเกิล และรวมเข้าในอัลบั้ม Honky Château เมื่อปี 1972 ผู้คนยังจดจำมันถึงขั้นที่เรียกชื่อเอลตันตามชื่อเพลงเลยทีเดียวแม้จะมีข้อครหาว่าเบอร์นีย์หยิบยืมบางส่วนของไอเดียมาจากเดวิด โบวี แต่ทั้งเอลตันและนักแต่งเพลงของเขายืนยันหนักแน่นว่าไม่ใช่ เบอร์นีย์เล่าว่าบางส่วนในดนตรีแวบเข้ามาในหัวเขาขณะกำลังทำธุระนอกบ้าน ท่ามกลางความวุ่นวายบนท้องถนน เขาต้องฮัมทำนองเพลงซ้ำ ๆ เพื่อให้ไม่ลืมมันไปก่อนที่จะผ่านเจอกระดาษสักใบ และเริ่มเขียนร้อยเรียงถ้อยคำ/ I miss the Earth so much I miss my wifeIt’s lonely out in spaceOn such a timeless flight /“คนชอบคิดว่าผมเขียนเพลงนี้ตาม Space Oddity แต่อันที่จริงมันไม่มีอะไรเกี่ยวกับเพลงนั้นเลย ‘Rocket Man’ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรย์ แบรดบูรี (Ray Bradbury) และหนังสือนิยายแนววิทยาศาสตร์ของเขาเรื่อง The Illustrated Man ต่างหาก”‘The Illustrated Man’ เป็นวรรณกรรมรวมเรื่องสั้นของเรย์ แบรดบูรี นักเขียนผู้เป็นเจ้าของผลงานอย่าง Fahrenheit 451 (ชื่อไทยว่า เผาหนังสือให้หมดโลก) วรรณกรรมแนวดิสโทเปียที่ตัวเอกเป็นนักผจญเพลิงผู้มีหน้าที่เผาหนังสือ เพราะหนังสือถือเป็น ‘สิ่งต้องห้าม’ ในโลกของเขา กลับมาที่เล่ม The Illustrated Man ภายในหนังสือเล่มนี้มีเรื่องสั้นชื่อ ‘The Rocket Man’ อยู่ด้วย เรื่องราวในบทดังกล่าวดำเนินไปภายใต้จินตนาการของเรย์ ถึงโลกในอนาคตที่งาน ‘นักบินอวกาศ’ กลายเป็นงานทั่วไป/ And all this scienceI don’t understandIt’s just my job five days a week /ขับกระสวยเลาะร่อนระหว่างหมู่ดาว ลอยคว้างอยู่กลางอวกาศห้าวันต่อสัปดาห์ ห่างหายจากการเห็นหน้าภรรยาและลูกชาย เหล่านั้นคือเนื้อความที่ปรากฏใน ‘Rocket Man’ ที่เอลตันบอกว่าทุก ๆ คำถ่ายทอดเรื่องราวแบบตรงตัว - ไม่มีความหมายแฝงหรือบิดพลิ้วด้วยสำนวนใด ๆคำวิเคราะห์จากแฟนดนตรี ทฤษฎีนักดนตรีเสพยาอาจจะเป็นเพราะแฟนคลับของเอลตัน จอห์น ต่างรู้กันว่าศิลปินที่ตนชื่นชอบนั้นไม่ได้มีชีวิตที่ ‘คลีน’ สักเท่าไรในช่วงต้น หรือไม่ก็เป็นเพราะท่อน ‘And I’m gonna be high as a kite by then’ ที่ฟังไปฟังมาก็คล้ายอาการของคนที่เมาหรือไฮเพราะฤทธิ์ยาอยู่ไม่น้อย ที่ทำให้พวกเขารวมถึงนักวิจารณ์พยายามโยงเนื้อเพลง ‘Rocket Man’ ให้หันเหเข้าหายาเสพติดอยู่ไม่สร่างซาทฤษฎีที่น่าสนใจ (แม้อาจไม่ใช่ความจริง) ก็คือคำกล่าวที่ว่า หากมองลึกลงไปในเนื้อความแต่ละบรรทัด ‘Rocket Man’ คือการบอกเล่าชีวิตอันฉาบและฉาวของตัวเอลตันเอง/ Mars ain’t the kind of place to raise your kidsIn fact it’s cold as hell /วัยเด็กของเอลตัน หรือชื่อกำเนิดว่า เรจินัล เคนเน็ธ ไดวธ์ (Reginald Kenneth Dwight) นั้นไม่ได้สวยงามอะไรนักในสายตาของเจ้าตัว เอลตันหมกมุ่นในดนตรีและเป็นอัจฉริยะเปียโนที่เล่นเพลงยาก ๆ ได้ตั้งแต่สี่ขวบโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ใครสอน - เพียงแค่เปิดแผ่นเสียงและฟัง เจ้าหนูเรจินัลสามารถเข้าเรียนที่ London Academy of Music ได้ตั้งแต่ 11 ขวบ แม้จะได้รับทุนการศึกษาตั้งแต่ปีแรกจนปีท้าย ๆ จากโรงเรียน หากในที่สุดเรจินัลที่เริ่มโตเป็นหนุ่มก็ตัดสินใจลาออกและกระโจนเข้าเส้นทางสายดนตรีในอีกรูปแบบ คราวนี้เป็นรูปแบบที่เกี่ยวกับคลับ เพลงบลูส์ ป็อป อาร์แอนด์บี ไปจนถึงร็อกแอนด์โรทำวงดนตรี เปลี่ยนชื่อตัวเอง เจอกับเบอร์นีย์และแต่งเพลงร่วมกัน เรื่องราวเหล่านั้นถูกเล่าทั้งในหนังสือชีวประวัติของเจ้าตัวและภาพยนตร์ ‘Rocketman’ รวมไปถึงเรื่องรักและใคร่ และความสัมพันธ์กับยาเสพติดของนักร้องนักดนตรีที่ระบุเพศวิถีตัวเองว่าเป็นเกย์คนนี้ด้วย/ And I think it’s gonna be a long, long time’Til touchdown brings me ’round again to findI’m not the man they think I am at homeOh, no, no, noI’m a rocket manRocket man, burning out his fuse up here alone /ชีวิตของเอลตันนั้นไม่ต่างอะไรจากการพุ่งทะยานขึ้นสู่ฟากฟ้าของกระสวยอวกาศ เขาประสบความสำเร็จในเส้นทางดนตรี แต่ล้มเหลวในรักและอกหักจากครอบครัว - เอลตันมีปัญหากับชีลา แม่ของตนเสมอจวบจนวาระท้าย ๆ ก่อนที่เธอจะจากโลกใบนี้ไป เขามักเล่าว่าแม่ของเขาไม่เข้าใจ ส่วนพ่อของเขาก็ไม่สนับสนุนเขาในเส้นทางดนตรี (ต่างจากคำพูดของอีกฝ่ายที่เล่าว่าอันที่จริงแล้ว พ่อของเอลตันที่รับราชการทหารนั้นเห็นดีเห็นงามกับทางที่ลูกชายเลือก และยังไปดูคอนเสิร์ตของเขาอยู่หลายรอบ) ในวันที่ประสบความสำเร็จที่สุดในชีวิต เอลตันก็ลอยคว้างอยู่ท่ามกลางเสียงเพลงและเหล้ายา เขาออกทัวร์อย่างไม่รู้พัก และเมาหัวราน้ำอย่างไม่รู้สร่าง จนในปี 1975 เช่นเดียวกับเรื่องราวในภาพยนตร์ที่ผู้เขียนนำมาจั่วหัวบทความ เขาพยายามจะฆ่าตัวตายเอลิซาเบธ โรเซนทัล (Elizabeth Rosenthal) ผู้เขียน His Song: The Musical Journey of Elton John หนังสือชีวประวัติของเอลตันเล่าถึงเรื่องราวในวันดังกล่าวเอาไว้ว่า“เขาปรากฏตัวในชุดคลุมและตะโกนว่า ‘ผมกินวาเลียมไป 85 เม็ด ผมจะตายภายในอีกหนึ่งชั่วโมง’ หลังจากนั้นเขาก็ทิ้งตัวลงสระว่ายน้ำไป ทันใดนั้นทุกอย่างก็อลหม่าน เราพาเขาขึ้นจากสระและเรียกหน่วยแพทย์ฉุกเฉินมาซีพีอาร์เขาอย่างเร่งด่วน”ภายหลังเอลตันได้เล่าระลึกถึงเรื่องราววันนั้นว่า“มันเครียดมากนะ ผมทำงานไม่หยุดมาห้าปีถ้วน แต่ถ้าเป็นตัวผมที่มีสติสมบูรณ์ละก็ ผมไม่มีทางจะทำอะไรแบบนั้นหรอก และคุณยายของผมก็พูดขึ้นมาได้ถูกจังหวะมาก ๆ หล่อนบอกว่า ‘ฉันว่าเราทุกคนต้องกลับบ้านกันแล้วละ’”และนั่นก็คือเรื่องราวในวันที่ ‘Rocket Man’ ได้เกือบที่จะ ‘burning out his fuse up here alone’ ไปจริง ๆRocketManในปัจจุบันแม้จะผ่านเรื่องราวมามากมาย หากท้ายที่สุดเอลตันก็รอดจากการจากโลกนี้ไปตั้งแต่ยังหนุ่มเช่นคนดังในแวดวงดนตรีหลายต่อหลายคนมาได้ หลังจากกรำงานหนักมาหลายปี และเสพสิ่งมึนเมาหลายขนานมานานนม ในยุค 90s เอลตันเข้ารับการบำบัดและกลายเป็นร็อกเก็ตแมนคลีนเวอร์ชัน เขาค้นพบเพศวิถีที่ตนเป็นหลังจากคบหากับผู้หญิงอยู่สองครั้ง และเริ่มต้นทำงานการกุศลเพื่อช่วยเหลือคนที่ประสบปัญหาทั้งเหมือนและต่างจากเขาในอดีต ปัจจุบันเอลตัน จอห์นที่ได้รับการประดับยศ ‘เซอร์’ ยังคงเป็นร็อกและป็อปไอคอนที่โลดแล่นในแวดวงดนตรี และแน่นอนว่าจนถึงวันนี้ เขายังร้องเพลงฮิตอย่าง ‘Rocket Man’ เพื่อขับกล่อมและมอบความสุขให้กับผู้คนอยู่เรื่อยไป ในเกือบทุกครั้งที่เขาขึ้นโชว์ที่มา: https://www.notablebiographies.com/Ho-Jo/John-Elton.htmlhttps://metro.co.uk/2019/05/23/shocking-elton-john-momentshttps://www.radiox.co.uk/features/what-does-rocket-man-by-elton-john-mean/https://www.songfacts.com/facts/elton-john/rocket-man