05 เม.ย. 2564 | 18:42 น.
“คนที่มีความสุขในชีวิตไม่ใช่เพราะทุกอย่างในชีวิตของเขาถูกต้องเสมอไป แต่เขามีความสุขเพราะทัศนคติที่มีต่อทุกสิ่งในชีวิตถูกต้องต่างหาก”ประโยคข้างต้นอาจจะฟังดูแล้วมองโลกในแง่ดีเกินไป หากแต่เจ้าของข้อความคือชายหนุ่มชาวอินเดียวัย 49 ปีที่มีชีวิตไม่ธรรมดา เพราะเขาคือผู้รับไม้ต่อในฐานะซีอีโอของบริษัทเสิร์ชเอนจิน (Search Engine) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างกูเกิล (Google) ต่อจากผู้ก่อตั้งและซีอีโอ แลร์รี เพจ (Larry Page) ทำให้เขากลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการไอทีโลกในยุค 2020s ทันที ทว่าเบื้องหลังการขับเคลื่อนบริษัทระดับโลกแบบนี้จำเป็นต้องมีผู้นำแบบไหน? ในวันที่โลกข้อมูลต้องอาศัยการเสิร์ชผ่านอากู๋ ‘กูเกิล’ เปิดเบราว์เซอร์ผ่าน Chrome ส่งงานผ่าน Gmail เรียกได้ว่าผลิตภัณฑ์ของ Google แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามายาวนาน เพื่อสืบทอดองค์กรให้คงอยู่และเติบโตต่อไป ซันดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) ใช้เวลาร่วม 11 ปีนับจากวันแรกที่ก้าวเท้าเข้ากูเกิล สู่เก้าอี้ซีอีโอ กลายเป็นผู้นำที่มีความทะเยอทะยานแต่บริหารด้วยความเรียบง่าย และนิตยสาร Time ได้ยกให้เขาเป็นหนึ่งใน 100 Most Influential People ในปี 2020 11 ปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับเส้นทางอาชีพของเขา ทำไมวิศวกรชาวอินเดียคนนี้ถึงใช้เวลาไต่เต้าสู่ตำแหน่งสูงสุดในบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างรวดเร็ว นี่คือเรื่องราวของผู้นำแห่งยุคที่เต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ รักเทคโนโลยี รักทีม รักบริษัท และรักในสิ่งที่ตนทำสุดใจ ตามฝันสู่ดินแดนเทคโนโลยีแบบฉบับอเมริกันชน ก่อนจะเข้ามาเป็นพนักงานที่กูเกิล พิชัยเติบโตมาในอพาร์ตเมนต์เล็ก ๆ ขนาด 2 ห้องในเมืองเชนไน ทางตอนใต้ของอินเดีย พร้อมกับฐานะของครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยนัก แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขารู้สึกขาดอะไรในชีวิต เพราะเขาเลือกใช้เวลาว่างอ่านหนังสือ ตั้งใจเรียน บ่มเพาะความหลงใหลในเทคโนโลยีเมื่อมีเงินซื้ออุปกรณ์แต่ละชิ้นมาลอง แม้จะขาดต้นทุนสำคัญอย่างเงิน แต่หนุ่มน้อยผู้มุมานะเอาชนะโชคชะตาด้วยการสอบชิงทุนไปเรียนปริญญาโทสาขาวัสดุศาสตร์ที่อเมริกาในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ต่อด้วยวุฒิ MBA จากโรงเรียนธุรกิจวอร์ตันในมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ Indian Institute of Technology Kharagpur (IIT) ในประเทศบ้านเกิด รู้ตัวอีกที พิชัยก็นั่งเครื่องบินหอบเอาความหลงใหลในเทคโนโลยีจากบ้านเกิดไปยังแคลิฟอร์เนียในปี 1993 ด้วยตั๋วเครื่องบินราคาเทียบเท่าเงินเดือนทั้งปีของพ่อ สู่ดินแดนที่เขาใฝ่ฝันเพื่อคว้าโอกาสในการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และล้อมรอบตัวเองไปด้วยอินเทอร์เน็ตที่กำลังเติบโต “ตอนผมอยู่ที่ IIT (มหาวิทยาลัย) ผมแทบไม่มีโอกาสได้ใช้คอมพิวเตอร์เลย ผมเคยใช้มันแค่สามหรือสี่ครั้งเท่านั้น แต่การมีห้องเรียนเหล่านี้ (ใน Stanford) ที่คุณสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์และตั้งโปรแกรมได้ นี่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับผม ผมหมกมุ่นอยู่กับเรื่องนั้น ตอนที่ผมไม่เข้าใจว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นเกิดขึ้นกับอินเทอร์เน็ตด้วยซ้ำ” ไม่ต่างจากเนิร์ดไอทีทั่วโลกที่ใฝ่ฝันถึงซิลิคอนแวลลีย์ พิชัยเริ่มปรับตัวกับชีวิตราคาแพงในอเมริกา ตั้งใจเรียนและมองหาสิ่งที่ตนเองหลงใหล ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบหนึ่งเดียวคือ เทคโนโลยี “ยิ่งครอบครัวผมเข้าถึงเทคโนโลยีมากเท่าไร ชีวิตของพวกเราก็ดีขึ้นมากเท่านั้น ดังนั้นเมื่อผมเรียนจบปริญญา ผมรู้ว่าผมอยากทำบางอย่างที่จะนำเทคโนโลยีไปสู่คนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เวลานั้น ผมคิดว่าผมสามารถทำได้ด้วยการสร้าง semiconductor (ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้สารกึ่งตัวนำ) ที่ดีขึ้น” ปริญญาโททั้งสองใบกลายเป็นรากฐานสำคัญ เมื่อบวกกับประสบการณ์ทำงานเป็นวิศวกรที่ Applied Materials (บริษัทพัฒนาอุปกรณ์ semiconductor) และที่ปรึกษาในบริษัทระดับท็อปอย่าง McKinsey มันส่งผลให้เขาเก่งทั้งด้านวิศวกรรมและธุรกิจ ก่อนพิชัยตระหนักว่าอินเทอร์เน็ตเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะนำเทคโนโลยีให้คนเข้าถึงมากที่สุด เขาเริ่มมองหาบริษัทที่ใช่เพื่อพิสูจน์ความเชื่อนี้ เขาเลือกเดินมาที่ ‘กูเกิล’ แต่มันไม่ง่ายตั้งแต่เริ่มต้นสัมภาษณ์งาน… ชายผู้ไม่รู้จัก Gmail มาก่อน วันที่ 1 เมษายน 2004 เขาไปสัมภาษณ์ในตำแหน่งรองประธานกรรมการฝั่ง Product Management และบังเอิญที่วันนั้นเป็นวันเปิดตัวบริการอีเมลฟรีตัวใหม่อย่าง Gmail พอดิบพอดี ตรงกับวัน April Fool’s day ที่ทำให้พิชัยงงว่าเจ้า Gmail นี่เป็นเรื่องโจ๊กหรือเปล่า ปัญหาบังเกิดเมื่อทั้ง 3 รอบแรกของการสัมภาษณ์ เขาถูกถามถึงความรู้สึกต่อการใช้งาน Gmail แต่ Gmail เพิ่งเปิดตัววันนั้นพอดี นั่นหมายถึงพิชัยไม่รู้อะไรเกี่ยวกับ Gmail เลย ในเหตุการณ์แบบนี้ คนส่วนมากคงเลือกตอบบางอย่างออกไป เช่นการอธิบายถึงข้อด้อยของแพลตฟอร์มอีเมลอื่น การคาดเดาว่า Gmail จะมาช่วยพัฒนาเครื่องมือของกูเกิลอย่างไร หรือเลี่ยงคำตอบไปเลย แต่พิชัยเลือกที่จะตอบอย่างจริงใจด้วยประโยคง่าย ๆ “ผมไม่รู้ ผมไม่เคยใช้งานมัน” แทนที่ผู้สัมภาษณ์จะปัดเขาตกไป พวกเขากลับโชว์หน้าตา Gmail ให้ดูและอธิบายว่ามันคืออะไร นั่นทำให้เขาเข้าใจผลิตภัณฑ์เพิ่มจนสามารถแสดงความเห็นและเสนอวิธีการพัฒนาให้ Gmail ดียิ่งขึ้นได้ เรื่องนี้แสดงให้เราเห็นว่า บางทีผู้นำ ผู้บริหารที่ดีอาจจะไม่ใช่คนที่รู้ทุกเรื่องเช่นในตอนแรกที่พิชัยไม่รู้จัก Gmail แต่ประเด็นสำคัญคือ การยอมรับความไม่รู้หรือความล้มเหลวของตัวเอง กล้าที่จะบอกว่าผมไม่รู้ ไม่ปัดความรับผิดชอบ และตั้งใจเรียนรู้ในเรื่องนี้ นี่คือหัวใจสำคัญ ซึ่งสะท้อนตัวตนของพิชัยในการสื่อสาร เรียนรู้และพร้อมพัฒนาตัวเองกับทีมตลอดการทำงาน ใช้เบราว์เซอร์เป็นเรือธงให้กูเกิลสู้กับคู่แข่ง เขาเริ่ม ‘ปล่อยของ’ ผลงานแรก ด้วยการแสดงความสามารถในการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ด้วยการพัฒนา Google Toolbar แถบเครื่องมือในการเสิร์ชที่ทำให้ผู้ใช้เข้าถึงกูเกิลได้จากเบราว์เซอร์อื่นอย่าง Firefox หรือ Internet Explorer ในยุคที่ Internet Explorer เป็นเบราว์เซอร์เริ่มต้นที่ติดมากับคอมพิวเตอร์เกือบทุกเครื่อง อย่างไรก็ตาม พิชัยมองเห็นอนาคตด้วยการทำนายว่าวันใดวันหนึ่ง คู่แข่งตัวดีอย่างไมโครซอฟท์จะสร้างเสิร์ชเอนจิน มาแทนที่ Google Toolbar ได้แน่ ๆ เพราะการแข่งขันอันดุเดือดนี้ กูเกิลจะต้องสร้างเบราว์เซอร์ของตัวเองเพื่อแก้เกมและเอาชนะการแข่งชิงผู้ใช้งานให้ได้ หลักฐานปรากฏเต็มตาเมื่อไมโครซอฟท์เปิดตัว Bing เครื่องมือเสิร์ชเอนจินออกมาบน Internet Explorer ในปี 2006 สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กูเกิลโดยตรง แม้ไอเดียเบราว์เซอร์ของพิชัยจะถูกเหล่าผู้บริหารยิงทิ้งมาก่อนหน้าเนื่องจากค่าใช้จ่ายที่สูง แต่เขาตัดสินใจรวบรวมข้อมูลมากพอที่จะแสดงให้คนอื่น ๆ เห็นว่ามันคุ้มค่าที่จะเสี่ยงลงทุน พร้อมโน้มน้าวผู้ก่อตั้งทั้งสองของกูเกิลอย่าง แลร์รี เพจ และ เซอร์เกย์ บริน ให้ลงมือสักที นี่คือที่มาของ Google Chrome เว็บเบราว์เซอร์ที่กอบกู้ความแข็งแกร่งของกูเกิลและปกป้องบริการเสิร์ชให้คงอยู่อย่างแข็งแรง ด้วยความคิดริเริ่มเชิงกลยุทธ์และกล้าที่จะเสี่ยง จนคอมพิวเตอร์แทบทุกเครื่องต้องมี Chrome ใช้ในปัจจุบัน สำหรับพิชัย เขามอง Chrome เป็นมากกว่าเบราว์เซอร์ แต่เป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้คนเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากกว่าเดิม ด้วยการเริ่มพัฒนา Chrome OS ระบบปฏิบัติการที่อยู่เบื้องหลังแล็ปท็อปราคาไม่แพงอย่าง Chromebook และ Chromecast ที่เชื่อมต่อกับทีวี และยังขยายขอบเขตของเจ้าเว็บเบราว์เซอร์หน้าตาสะอาดนี้ ให้กลายเป็นประสบการณ์การใช้เว็บไซต์ที่ดีเยี่ยมให้กับผู้ใช้งาน แสงสปอตไลท์จากสื่อเริ่มส่องมาหาเขา พิชัยเริ่มปรากฏบนหน้าสื่อและอีเวนต์ต่าง ๆ ของกูเกิล แต่ต้องบอกว่าเขาไม่ใช่ผู้นำประเภทโฉ่งฉ่าง พิชัยชอบเก็บตัว ทำตัวเรียบง่าย และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการตั้งหน้าตั้งตาศึกษาพัฒนาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ยุคใหม่ และหากกูเกิลมีเครื่องมือแปลภาษาอัตโนมัติที่ยอดเยี่ยมอย่าง Google Translate พิชัยก็เป็นนักแปลมือฉมังของแลร์รี เพจ ที่แปลงวิสัยทัศน์ของเพจ ด้วยการแปลข้อความยาก ๆ และนำสารไปเล่าต่อให้ทีมและพนักงานเข้าใจ ด้วยภาษาง่าย ๆ พร้อมลงมือทำจริง ครั้งหนึ่งในการประชุมกับกลุ่มรองประธานกรรมการและไดเรกเตอร์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เพจเข้ามาอธิบายคอนเซปต์ทุกอย่าง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรม และทิ้งให้ทั้งห้องช็อก เดินจากไป แต่พิชัยในฐานะผู้ดูแลผลิตภัณฑ์เลือกทำงานนอกหน้าที่ สรุปประชุมให้แต่ละทีมเข้าใจ Future Roadmap ของเพจร่วมกัน นี่คืออีกครั้งที่ตอกย้ำว่า เขามีทักษะการเป็นนักสื่อสารที่เยี่ยมยอดมาก เส้นทาง Product Manager ของพิชัยเติบโตไปเรื่อย ๆ ด้วยโปรเจกต์ต่าง ๆ ที่พิชัยเข้าไปดูแลในฐานะผู้นำ เขาได้รับมอบหมายหน้าที่ในขอบเขตที่กว้างขึ้น เช่น การดูแลแผนก Android ในปี 2013 ที่เขาสร้างผลงานให้เป็นระบบปฏิบัติการ Android one ซึ่งเป็นแรงผลักดันในการสร้างสมาร์ตโฟนราคาถูกให้ผู้ใช้งาน 5 พันล้านคน ปีต่อมา เพจก็ยกให้พิชัยดูแลผลิตภัณฑ์เกือบทั้งหมดของกูเกิล ทั้ง Search, Map, Google+ และอีกมากมาย ความสามารถของพิชัยทั้งด้านผลิตภัณฑ์และการบริหารทีมในโปรเจกต์ยาก ๆ อย่างไม่ย่อท้อทำให้เขากลายเป็นผู้นำเนื้อหอมที่บริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่หลายที่มาตามจีบอยู่หลายรอบ ทั้ง Twitter ที่ยื่นข้อเสนอให้ และข่าวลือที่จะขึ้นแทนที่ สตีฟ บาลเมอร์ (Steve Ballmer) ซีอีโอของไมโครซอฟท์เมื่อปี 2014 แต่ใครจะสู้รักแท้อย่างกูเกิลได้ เพราะหากจะมีใครที่เหมาะสมกับตำแหน่งซีอีโอแห่งกูเกิลมากที่สุด ณ เวลานั้น คนคนนั้นก็ต้องเป็นพิชัย ผู้ดูแลผลิตภัณฑ์เกือบทั้งหมดของกูเกิลได้อย่างดีเยี่ยม และสร้างผลงานประจักษ์ต่อเพจและสาธารณชน และแล้วพิชัยก็ได้เก้าอี้ซีอีโอของกูเกิลมาครองหลังทำงานมา 11 ปี เมื่อเพจก่อตั้งบริษัท Alphabet ขึ้นมาเป็นบริษัทแม่ของกูเกิลที่รวบรวมอีกหลายบริษัทไว้ภายใต้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์กว้างขึ้น โดยนอกจากจะเป็นผู้นำทางให้กูเกิลเคลื่อนไปไกลอย่างมั่นคง เขายังเป็นผู้นำทีมที่ยอดเยี่ยมแบบที่พนักงานหลายบริษัทต้องอิจฉาเลยทีเดียว นำทีมด้วยความตั้งใจ “Google มีการเมืองเหมือนในบริษัทใหญ่ ๆ และซันดาร์ก้าวข้ามการเมืองเหล่านั้นเพื่อทำให้ทีมของเขาประสบความสำเร็จ” คริส เบคแมน อดีต Product Manager ของกูเกิลกล่าว วิธีการจัดการทีมของพิชัยนั้นช่างเรียบง่าย เขาหลีกเลี่ยงการเมืองในบริษัท ไม่สร้างศัตรู และบริหารความสัมพันธ์ของคนในทีมให้ทำงานได้ดีที่สุด เริ่มจากการคัดเลือกคน คอยเป็น mentor ให้ และรักษาทีมที่ดีเยี่ยมให้คงอยู่ ซ้ำยังมองเห็นความสำคัญของทุกคน ไม่ใช่แค่ความสำเร็จของตัวเอง ด้วยการให้ความสนใจกับพนักงานและชื่นชมพวกเขาอย่างจริงใจ อดีตพนักงานของกูเกิลคนหนึ่งเคยเล่าบนเว็บไซต์ Quora ว่า ขณะที่พิชัยนำทีมโปรเจกต์ Chrome อยู่นั้น เขาได้มีโอกาสเจอกับพิชัยในออฟฟิศ จึงเข้าไปแนะนำตัวโดยไม่ได้คาดหวังอะไร ทว่าพิชัยกลับสนใจงานที่เขาทำและชื่นชมที่เขาเป็นส่วนหนึ่งในกูเกิลดียิ่งขึ้น แม้ว่างานชิ้นนั้นจะเป็นเพียงจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กของงานทั้งหมดก็ตาม นี่คือบุคลิกของผู้บริหารที่ทำให้ลูกทีมรักเขา “ในฐานะผู้นำ งานส่วนใหญ่ของคุณคือการทำให้คนเหล่านั้นประสบความสำเร็จ ความพยายามที่จะประสบความสำเร็จ (ด้วยตัวคุณเอง) นั้นมีน้อยกว่า และมากกว่านั้นคือ การทำให้แน่ใจว่าคุณมีคนที่ดี และงานของคุณคือการขจัดอุปสรรค ลบสิ่งกีดขวางสำหรับพวกเขา เพื่อให้พวกเขาประสบความสำเร็จในสิ่งที่พวกเขาทำ นั่นคือสิ่งที่ผมคิดเสมอ” อาจเป็นเพราะกูเกิลคือสถานที่ที่ใช่สำหรับพิชัยในการเดินทางที่ยาวนานด้วยความพยายามของตัวเอง กลายเป็นแรงขับที่ทำให้พิชัยตั้งใจส่งมอบคุณค่าให้กับคนที่เข้ามาในกูเกิลได้ทำงานที่สำคัญต่อบริษัท และคนเหล่านั้นจะเข้าใจว่ากูเกิลเป็นที่ที่ใช่สำหรับเป้าหมายของพวกเขาจริง ๆ ตลอด 15 ปีที่พิชัยพัฒนาโปรเจกต์มากมายเป็นบทพิสูจน์ว่าเขาคือตัวจริง จนได้รับตำแหน่งซีอีโอในบริษัท Alphabet ในปี 2019 นำทัพวงการเทคโนโลยีเต็มตัว และเมื่อถามถึงบทเรียนสำคัญในฐานะผู้นำที่เอาชนะความลำบากวัยเด็กจนกลายเป็นสุดยอดซีอีโอได้ พิชัยทิ้งท้ายข้อความถึงคนรุ่นใหม่ในรายการ Dear Class of 2020 ด้วยความจริงใจว่า “สิ่งที่พาผมมาถึงวันนี้ได้นอกจากโชคแล้วคือ deep passion ในเทคโนโลยีและการเปิดกว้างเปิดใจ เพราะฉะนั้น ใช้เวลาเพื่อหาสิ่งที่ทำให้คุณตื่นเต้นมากกว่าทุกสิ่งบนโลกนี้ ไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่ต้องการ หรือสิ่งที่เพื่อนทุกคนของคุณทำ หรือสิ่งที่สังคมหวังจากคุณ” นี่คงเป็นทัศนคติที่ถูกต้องในแบบฉบับของซันดาร์ พิชัย ซีอีโอผู้เรียบง่ายที่รักษาความทะเยอทะยานและความตั้งใจ มุ่งทำในสิ่งที่รักและรักในสิ่งที่ทำ ที่มา https://www.nytimes.com/2018/11/08/business/sundar-pichai-google-corner-office.html https://www.scmp.com/magazines/style/news-trends/article/3040719/who-sundar-pichai-millionaire-behind-google-chrome-and https://resumebuilder.isourcecorp.com/sundarpichaisapproach/ https://www.cnbctv18.com/entrepreneurship/google-ceo-sundar-pichai-shares-a-few-success-lessons-2684661.htm https://www.youtube.com/watch?v=gEDChDOM1_U https://www.productplan.com/learn/sundar-pichai-product-manager-to-ceo/ https://www.scoopwhoop.com/news/ceo-of-alphabet-sundar-pichai-first-interview-with-google-in-2004/