ไชนา แมค: จากนักเลงที่เคยติดคุก เป็นแรปเปอร์ผู้ปลุกพลังคนเอเชียลุกขึ้นสู้กับการถูกทำร้ายในอเมริกา
เริ่มศักราชใหม่ไม่นาน ชาวไทยและคนเอเชียทั่วโลกต้องพบกับข่าวสะเทือนใจ เมื่อนายวิชา รัตนภักดี อดีตพนักงานแบงก์วัย 84 ปี ซึ่งเดินทางจากเมืองไทยไปเลี้ยงหลานที่ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา มาตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากความเกลียดชังคนเอเชียโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ขณะเดินอยู่ริมถนนใกล้บ้านพักของตนเอง
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าวันที่ 28 มกราคม 2021 และกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เนื่องจากกล้องวงจรปิดจับภาพได้ระหว่างที่นายวิชาเดินมาช้า ๆ เหมือนคนชราทั่วไป จู่ ๆ เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งก็วิ่งข้ามถนนมาผลักเขาล้มหัวฟาดพื้นจนหมดสติ และเสียชีวิตในอีก 2 วันต่อมา
ผู้ก่อเหตุเป็นวัยรุ่นแอฟริกัน-อเมริกันอายุ 19 ปี ชื่อ แอนทอน วัตสัน โดยแอนทอนกับนายวิชาไม่รู้จักกันมาก่อน และเชื่อว่าสาเหตุน่าจะมาจากความเกลียดชังคนเอเชีย ซึ่งเป็นกระแสลุกลามทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ระหว่างการระบาดของโควิด-19
ทำร้ายคนเอเชียยอดพุ่ง
สำนักข่าววีโอเอ (Voice of America) รายงานว่า สถิติการเกิดอาชญากรรมจากความเกลียดชัง (hate crime) ต่อชาวเอเชีย (ในที่นี้หมายถึงชาวเอเชียตะวันออกที่หน้าตาละม้ายคล้ายคนจีน) ในเมืองใหญ่ทั่วสหรัฐฯ เมื่อปี 2020 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบ 150% จากปี 2019 ก่อนโควิด-19 ระบาด
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ความเกลียดชังคนเอเชียพุ่งสูงส่วนหนึ่งมาจากการปลุกเร้าของโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพยายามตอกย้ำต้นตอการระบาดของเชื้อไวรัสมรณะว่ามาจากจีน ด้วยการเรียกมันว่า ‘China virus’ (ไวรัสจีน) และ ‘kung flu’ (ล้อเลียนคำว่า ‘กังฟู’)
กระแสการทำร้ายชาวเอเชียด้วยความเกลียดชังที่ลุกลามรวดเร็ว ผนวกการตายของชายชราผู้บริสุทธิ์อย่างนายวิชา ทำให้ชาวเอเชียและผู้ที่เห็นใจคนเอเชียทั่วสหรัฐฯ อดรนทนไม่ได้ ต้องออกมาประท้วงและเคลื่อนไหวต่อต้านความรุนแรงครั้งนี้
โดยหนึ่งในแกนนำนักเคลื่อนไหวที่ได้รับการจับตาและถูกพูดถึงคือแรปเปอร์ชาวอเมริกันเชื้อสายจีนผู้เคยมีประวัติอาชญากรรมโชกโชนที่ชื่อว่า เรย์มอนด์ หยู หรือมีฉายาในวงการว่า ไชนา แมค (China Mac)
กำเนิดแรปเปอร์นักเคลื่อนไหว
ไชนา แมค เกิดที่เขตบรุกลิน ในนครนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ ช่วงต้นทศวรรษ 1980 โดยพ่อของเขาเป็นนักเลง มีฉายาว่า ‘ฟ็อกซ์’ และเป็นสมาชิกระดับสูงของแก๊ง ‘มังกรบิน’ (Flying Dragons) ซึ่งเป็นแก๊งอาชญากรรมชื่อดังในย่านไชนาทาวน์ ของนครนิวยอร์ก
ชีวิตวัยเด็กของแมคเติบโตมาโดยแทบไม่ได้เจอหน้าพ่อบ่อยนัก ขณะที่แม่ซึ่งพูดภาษาอังกฤษได้เล็กน้อย ต้องทำงานหนัก ทำงานถึง 2 งานในเวลาเดียวกัน เพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว
“ตอนโตขึ้นมาจริง ๆ แล้วผมเกลียดพ่อนะ ผมอยากเป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่แบบเขา แต่แทนที่จะไปเรียนหนังสือหรือทำเรื่องดี ๆ ผมกลับไปเป็นพวกแก๊งอันธพาลแบบเดียวกับเขา” ไชนา แมค เล่าย้อนความหลัง
ตอนอายุ 12 ปี แมคเข้าร่วมแก๊ง ‘เงาผี’ (Ghost Shadows) ซึ่งเป็นคู่อริกับแก๊ง ‘มังกรบิน’ ที่พ่อของเขาเคยสังกัด โดยได้ฉายาว่า ‘G-Kay’ ก่อนจะมาเปลี่ยนเป็นชื่อ ไชนา แมค ระหว่างติดคุกในภายหลัง
ขณะร่วมแก๊ง ‘เงาผี’ แมคต้องไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องผิดกฎหมายมากมาย ทั้งจี้ปล้น ค้ายาเสพติด และคุมบ่อนการพนัน ทำให้ต้องเดินเข้า-ออกสถานพินิจและเรือนจำเป็นว่าเล่น จนกระทั่งปลายปี 2003 เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตเขาได้เริ่มต้นขึ้น
แก๊งอันธพาลกลับใจ
ไชนา แมค เดินทางไปเที่ยวคลับแห่งหนึ่งในย่านไชนาทาวน์ของนครนิวยอร์ก และเกิดมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับเอ็มซี จิน (MC Jin) แรปเปอร์ชื่อดังเชื้อสายจีนเหมือนกัน ก่อนที่แมคจะใช้ปืนยิงคริสโตเฟอร์ ลูอี เพื่อนของจินที่มีเรื่องกันจนบาดเจ็บสาหัส จากนั้นเขาพยายามหลบหนีไปแคนาดา แต่ไม่สำเร็จและถูกจับในปีถัดมา
แมคถูกตัดสินจำคุก 11 ปีจากคดีพยายามฆ่า ก่อนใช้เวลาระหว่างอยู่ในเรือนจำกลับตัวกลับใจ ศึกษาการทำธุรกิจ จนพ้นโทษออกมาในปี 2013 เขาใช้พรสวรรค์ด้านดนตรีแรปทำเพลง และนำเงินที่เก็บหอมรอมริบมาเปิดค่ายเพลงของตนเองชื่อว่า Red Money Records ขณะเดียวกันยังเปิดร้านขายสัตว์เลี้ยงให้แม่เป็นผู้ดูแลกิจการ
เขาเผยถึงจุดที่ทำให้สำนึกผิดว่ามาจากการได้เห็นแม่ร้องไห้ระหว่างเดินทางมาเยี่ยมเขาในเรือนจำ ก่อนที่เพื่อนนักโทษคนหนึ่งซึ่งสูญเสียแม่ไปขณะถูกคุมขัง ช่วยพูดเตือนสติให้ปรับปรุงตัวเพื่อออกไปดูแลผู้มีพระคุณก่อนที่จะสายเกินไป
นอกจากวิชาบริหารธุรกิจแล้ว สิ่งที่แมคได้เรียนรู้จากชีวิตในเรือนจำคือการต่อสู้ปกป้องสิทธิของตัวเอง และเป็นที่มาที่ทำให้เขาตัดสินใจออกมาเป็นแกนนำเคลื่อนไหวต่อต้านการใช้ความรุนแรงจากความเกลียดชังชาวเอเชียที่เป็นกระแสหลังการระบาดของโควิด-19
คดีเผาอาม่า
จุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเริ่มลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์หญิงชราชาวจีนวัย 89 ปี ถูกชาย 2 คน รุมทำร้ายและจุดไฟเผาในเขตบรุกลิน ของนครนิวยอร์ก เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2020
“ข้อแรกคือเธออายุ 89 ปี ข้อสองคือเธอไม่ใช่แค่คนจีน แต่เธอยังเป็นคนกวางตุ้งเหมือนกับผม ด้วยเหตุนี้ ณ เวลานั้น ผมรู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้อาจเป็นอาม่าของผมได้ไม่ยาก” ไชนา แมค เผยถึงสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวประท้วง
แมคเริ่มต้นการเคลื่อนไหวด้วยการโพสต์ปลุกระดมในช่องคอมเมนต์ท้ายคลิปข่าวเผาอาม่าบนโลกโซเชียลฯ เพื่อชักชวนผู้คนออกมาเดินขบวน จากนั้นจึงใช้ชื่อเสียงความดังส่วนตัวและสายสัมพันธ์กับ ‘อินฟลูเอนเซอร์’ เหล่าคนดังเชื้อสายเอเชียคนอื่น ๆ ให้ช่วยกันออกมาร่วมโปรโมตและวางแผนประท้วง ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี
การประท้วงครั้งนั้นใช้ชื่อแคมเปญ They Can’t Burn Us All (พวกเขาเผาเราทุกคนไม่ได้) โดยแมคยังแต่งเพลงแรปในชื่อเดียวกันมาร่วมขับร้องระหว่างการรณรงค์ ขณะที่การประท้วงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในนิวยอร์ก แต่ยังรวมถึงเมืองอื่น ๆ ที่มีคนเอเชียอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากอย่างนครลอสแอนเจลิส และซานฟรานซิสโก
แรงบันดาลใจ
แมคบอกว่าเขาได้แรงบันดาลใจในการออกมาเคลื่อนไหวจากขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมืองของคนแอฟริกัน-อเมริกันในช่วงทศวรรษ 1960
“ผู้คนต้องเสียสละ ผู้คนต้องลุกขึ้นมา ผู้คนต้องต่อสู้ ผู้คนต้องไม่อยู่เฉยสบาย ๆ ลองจินตนาการว่ามาร์ติน ลูเธอร์ คิง รู้สึกอย่างไรในเวลานั้น? จินตนาการว่ามัลคอล์ม เอ็กซ์ รู้สึกอย่างไร?” ไชนา แมค พยายามนำการต่อสู้เรียกร้องสิทธิของคนผิวดำในอดีตมาเตือนใจ
“คนเอเชียไม่มีสิ่งนั้น มันยังมีไม่มากพอ เรายังไม่มีการต่อสู้แบบนั้น ผมไม่ได้บอกว่าไม่มีคนเอเชียเข้าร่วมการเคลื่อนไหวแบบนั้นนะ มันมี แต่ยังไม่ใช่คนหมู่มาก เรายังไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อตัวเราเองจริง ๆ”
ไชนา แมค พยายามปลุกพลังคนเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ ให้ออกมาร่วมกันส่งเสียงเรียกร้องต่อต้านความอยุติธรรม เพราะเขาเข้าใจดีว่า ชาวเอเชียส่วนใหญ่มักไม่ค่อยชอบมีปากเสียง และพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ทำให้ปัญหาของชาวเอเชียไม่ค่อยถูกพูดถึง และไม่ได้รับการเหลียวแลแก้ไข
ยิ่งเงียบยิ่งถูกกด
สิ่งนี้สังเกตได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับการต่อสู้เรียกร้องสิทธิคนผิวดำของขบวนการ Black Lives Matter ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อหลักและมีการสนับสนุนจากมวลชนทั่วโลก ต่างจากข่าวคนเอเชียถูกทำร้ายซึ่งแทบไม่มีพื้นที่และไม่มีใครพูดถึงในวงกว้าง จนกระทั่งเหตุการณ์ทำร้ายนายวิชา ซึ่งมีภาพออกมาชัดเจน
หนึ่งในผลกระทบต่อชาวเอเชียจากความเงียบงัน คือการตั้งข้อหา hate crime กับผู้ก่อเหตุ ซึ่งตำรวจมักพยายามหลีกเลี่ยง ทั้งในคดีของนายวิชา คดีจุดไฟเผาอาม่าที่บรุกลิน และเหตุบุกยิงร้านสปา 8 ศพในเมืองแอตแลนตา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2021
“มันเป็นเรื่องของตัวเลข” แมคเล่าเหตุผลที่ตำรวจบอกกับเขา โดยระบุว่า เพราะชาวเอเชียส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าเปิดเผยเรื่องราวที่ตนเองและคนใกล้ชิดถูกทำร้าย และไม่ไปแจ้งความ จึงทำให้ตำรวจมักเลี่ยงตั้งข้อหา hate crime เพื่อป้องกันคนเชื้อชาติอื่นในสังคมไม่ให้รู้สึกว่าตกเป็นเป้าถูกกล่าวโทษ
“หากคนเหล่านี้ไม่เคยออกมาประท้วงกับเรา ไม่เคยพูดถึงหรือแชร์เรื่องราวของหญิงชาวจีนที่เป็นเหยื่อในโซเชียลมีเดีย เรื่องนี้ก็จะหายไปไม่ได้รับความสนใจเลย สื่อทั่วไปแทบไม่มีใครรายงานเรื่องราวในชุมชนชาวเอเชียอยู่แล้ว ดังนั้น มันจึงเป็นแค่ก้าวแรกเพื่อให้แน่ใจว่าเรื่องของเราจะถูกรับฟังนับจากนี้ไป” ไชนา แมค ประกาศระหว่างออกมาเคลื่อนไหวประท้วง
สู้เพื่อตัวเอง
การเคลื่อนไหวของเขาและชุมชนชาวเอเชียในอเมริกาที่ผ่านมานับว่าได้ผลพอสมควร เพราะหลังจากนั้น บรรดาสื่อกระแสหลักเริ่มให้ความสนใจรายงานข่าวการทำร้ายชาวเอเชีย ขณะเดียวกัน โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติ hate crime กับคนเชื้อสายเอเชียด้วยตนเอง
นอกจากนี้ ตำรวจนิวยอร์กก็เริ่มหันมาใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อปราบปรามอาชญากรรมต่อชาวเอเชีย ด้วยการจัดตั้งหน่วยตำรวจนอกเครื่องแบบเชื้อสายเอเชียเพื่อออกปฏิบัติการ ‘ล่อจับ’ ผู้มีพฤติกรรมทำร้ายคนเอเชียตามที่สาธารณะ
“เราจะไม่ยอมรับมัน และเราพร้อมที่จะสู้ คุณไม่สามารถทำสิ่งนี้กับเราได้ นั่นคือสิ่งที่ผมเรียนรู้มาจากในเรือนจำ ผมเรียนรู้ที่จะลุกขึ้นสู้เพื่อตัวเอง
“ไม่มีใครจะลุกขึ้นสู้ให้เรา หากพวกเราไม่ลุกขึ้นสู้เพื่อตัวเอง”
นั่นคือบทเรียนจากห้องขังของแรปเปอร์กลับใจ จากนักเลงหัวไม้กลายเป็นศิลปินนักเคลื่อนไหวเพื่อชุมชนที่ชื่อ ไชนา แมค
จริง ๆ แล้วบทเรียนเรื่องนี้สามารถนำไปปรับใช้กับเรื่องอื่นได้ ไม่เฉพาะการต่อสู้ของไชนา แมค และชาวเอเชียในสหรัฐฯ เพราะการต่อสู้กับความอยุติธรรมในทุกเรื่องและทุกที่แทบจะไม่มีโอกาสสำเร็จ หากผู้ถูกกดขี่และได้รับผลกระทบไม่ออกมารวมพลังต่อสู้ เพื่อปกป้องสิทธิและอนาคตของตนเอง
ข้อมูลอ้างอิง:
https://people.com/human-interest/people-voices-china-mac-on-fighting-racism-in-the-asian-community/
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-55945949
https://nextshark.com/china-mac/