โจวเหวินฟะ สำหรับคอหนังแล้วคงไม่มีใครไม่รู้จักเขาไม่ว่าคุณจะเป็นคนยุคไหนในรอบ 50 ปี ย่อมเคยผ่านตารับชมบทบาทอันหลากหลายของเขาไม่มากก็น้อย เพราะนักแสดงคนนี้ผ่านมาแล้วกับการแสดงจากหนังและซีรีส์นับไม่ถ้วน
เรามาทำความรู้จักแง่มุมอันหลากหลายจากผู้ชายคนนี้ที่เคยผ่านทั้งจุดที่ยากลำบาก จุดสูงสุดของชีวิต และการคลี่คลายชีวิตเพื่อนำทางสู่ความสงบอันแสนธรรมดา
เด็กน้อยผู้สู้ชีวิต
โจวเหวินฟะ ถือกำเนิดที่เกาะลัมมา ชานเมืองของฮ่องกง พ่อของโจวเหวินฟะทำงานในเรือบรรทุกน้ำมัน ส่วนแม่เป็นคนดูแลฟาร์มและเป็นแม่บ้านดูแลลูกทั้ง 4 โจวเหวินฟะในวัยเด็กอยู่ในฐานะที่ไม่สู้ดีนัก เขาต้องตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อทำงาน ก่อนไปโรงเรียนเขาก็ต้องไปเร่ขายพุดดิ้งชานม หลังเลิกเรียนก็ต้องมาทำไร่ทำสวน โจวเหวินฟะแทบไม่เคยได้เล่นสนุกตามประสาเด็กเลยในช่วงเวลานั้น
จนเขามีอายุครบ 10 ขวบ ครอบครัวก็ย้ายมาฝั่งเกาลูน เพื่อหาลู่ทางชีวิตที่ดีกว่า แต่คุณภาพชีวิตก็แลกมาด้วยการใช้เงินที่มากกว่าเช่นกัน โจวเหวินฟะยิ่งต้องช่วยเหลือจุนเจือทางบ้านหนักกว่าเดิม จวบจนย่างเข้าสู่วัยรุ่น โจวเหวินฟะก็ลาออกจากโรงเรียนรับจ้างทำงานมากมาย ตั้งแต่เป็นเด็กยกกระเป๋า, ผู้ช่วยบุรุษไปรษณีย์ ไปจนถึงคนขับรถแท๊กซี่ จนเขาได้เห็นประกาศรับสมัครตัวประกอบเขาก็ไม่รีรอที่จะไปร่วมแสดง จนกระทั่งมีคนเห็นแววของเขาจึงชักชวนให้โจวเหวินฟะไปเป็นนักแสดงฝึกหัดเพื่อเพิ่มทักษะทางการแสดงที่ TVB และที่แห่งนี้ก็เป็นสถานที่ ๆ แจ้งเกิดเขาในฐานะนักแสดงอย่างเต็มตัว
เข้าถึงผู้ชมจากบทบาทเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้
แม้โจวเหวินฟะจะมีอาการประหม่าเมื่อแรกเริ่มเข้าเรียนการแสดง ด้วยเพราะเขาในตอนนั้นเป็นเด็กหนุ่มที่มีรูปร่างอ้วน แต่เมื่อแสดงหลายครั้ง ก็ค่อย ๆ เสริมสร้างความมั่นใจให้กับตัวเขาไปเรื่อย ๆ
หลังจากจบการศึกษาการแสดง โจวเหวินฟะก็เซ็นสัญญากับ TVB เป็นเวลา 14 ปี โดยหนังทีวีเรื่องแรกที่เขาได้แสดงคือตอนหนึ่งในหนังชุดสามก๊กเรื่อง God of River Lok (1974) หลังจากนั้นเขาก็ค่อย ๆ ไต่เต้าและลดความอ้วนจนขึ้นแท่นเป็นพระเอกหนังจีนชุดในทุก ๆ แนวตั้งแต่กำลังภายใน ไปจนถึงบทบาทตลกหรือแม้กระทั่งแนวน้ำเน่าเมโลดรามา
บทบาทที่สร้างชื่อจนทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วทั้งโลกคือหนังจีนชุดเรื่องยิ่งใหญ่ เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ (The Bund, 1980) ในบทบาทของ สวี่เหวินเฉียง ชายหนุ่มผู้มาเผชิญโชคที่เซี่ยงไฮ้และได้รู้จักกับติงลี่ก่อนจะร่วมสร้างอาณาจักรด้วยการสั่งสมอำนาจ จนทำให้เขากลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลอันน่าเกรงขาม บทบาทของ สวี่เหวินเฉียง ส่งผลให้โจวเหวินฟะกลายเป็นนักแสดงยอดนิยม ทำให้ช่วงเวลาที่เขาอยู่ในจอทีวีทำให้โรงหนังในช่วงนั้นซบเซาเพราะต่างเฝ้าหน้าจอทีวีเพื่อรอชมบทบาทการแสดงของโจวเหวินฟะกันงอมแงม
แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น โจวเหวินฟะ ก็ปรากฏตัวบนจอใหญ่ในฐานะนักแสดงภาพยนตร์เช่นกัน แต่ผลลัพธ์ความนิยมกลับตรงกันข้าม เมื่อแฟน ๆ พึงใจในบทบาททางจอทีวีมากกว่า จนโจวเหวินฟะได้รับฉายาว่า “ยาพิษแห่งบ็อกซ์ออฟฟิศ” เพราะไม่มีหนังเรื่องไหนที่สร้างชื่อเสียงให้เขาได้เลย แต่โจวเหวินฟะกลับไม่ท้อ และเขารู้สึกว่าศาสตร์แห่งภาพยนตร์นั้นน่าสนใจกว่าหนังชุดทางทีวี เขายังมุ่งมั่นรับงานแสดงทั้ง 2 ทาง โดยทีวีไว้บริหารเสน่ห์ ส่วนภาพยนตร์เอาไว้ฝึกปรือฝีมือ
จากความสำเร็จของเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ ส่งผลให้โจวเหวินฟะเคยข้ามน้ำข้ามทะเลมาแสดงหนังไทยในเรื่องกตัญญูประกาศิต (1983) จากการกำกับของแจ๊สสยาม ที่ประกบนักแสดงไทยมากหน้าหลายตาในยุคนั้นอย่าง เกรียงไกร อุณหนันท์ / ฉัตรชัย เปล่งพานิช / สินจัย เปล่างพานิช ซึ่งถือเป็นหนังไทยเพียงเรื่องเดียวที่โจวเหวินฟะได้เคยมาฝากฝีมือเอาไว้
กระทั่งล่วงเลยมายุค 80s โจวเหวินฟะที่ฝีมือของโจวเหวินฟะค่อยๆเข้าฝัก จนบทบาทในหนังเรื่อง โหดผสมโหด (Hong Kong 1941, 1984) ที่โจวเหวินฟะรับบทเป็นหนุ่มฮ่องกงที่ไม่ยอมจำนนต่อการรุกรานของทหารญี่ปุ่นในยุคสงครามโลก ทำให้เขาได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลตุ๊กตาทองฮ่องกงในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และคว้ารางวัลม้าทองคำในเรื่องเดียวกัน
และผลงานการแสดงจากหนังเรื่องนี้ก็ทำให้เขาคว้ารางวัลระดับเอเชียในเทศกาล Asia-Pacific Film Festival ที่เขาคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมร่วมกับอำพล ลำพูน จากหนังเรื่อง น้ำพุ และบทบาทจากหนังเรื่องนี้ ก็ทำให้ผู้กำกับคนหนึ่ง ได้เห็นศักยภาพการแสดงอันลึกล้ำของเขาก็คือ จอห์น วู ที่ผลักดันให้โจวเหวินฟะได้แจ้งเกิดในฐานะนักแสดงยอดฝีมือในเวลาต่อมา
แจ้งเกิดในบทบาทหนังแอ๊คชั่น
จอห์น วู ชักชวนโจวเหวินฟะให้มาแสดงร่วมในหนังเรื่องใหม่ ที่รวมนักแสดง 3 ยุคไว้ด้วยกัน รุ่นใหญ่ คือ ตี้หลุง นักแสดงยอดฝีมือจากยุคชอว์บราเดอร์ ส่วนรุ่นใหม่คือ เลสลี จาง นักแสดงขวัญใจวัยรุ่นในยุคนั้น ส่วนโจวเหวินฟะคือนักแสดงยุคกลางที่จอห์น วู หวังให้เขามารับบทเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์อันเปราะบางของพี่และน้อง ในหนังแอ๊คชั่นเรื่องยิ่งใหญ่ โหด เลว ดี (A Better Tomorrow, 1986) เรื่องราวของพี่น้องที่อยู่คนละขั้วทางกฏหมาย พี่ชายเป็นอาชญากรที่ต้องการกลับเนื้อกลับตัว ส่วนน้องชายคือว่าที่ผู้รักษากฏหมาย โดยโจวเหวินฟะอยู่กึ่งกลางในบทบาท เสี่ยวหม่า นักเลงเพื่อนซี้ของตี้หลุง ที่มีภาพลักษณ์เป็นแอนตี้ฮีโร่ที่มีคุณธรรม
ครึ่งเรื่องแรกเราจะได้เห็นภาพลักษณ์สุดเท่ สวมแว่นเรย์แบนด์ ปากคีบไม้ขีดไฟ มีเงินทองล้นเหลือจนเอาแบงค์ดอลลาร์มาจุดบุหรี่แทนไฟแช็ก ท่ายิงปืนคู่ของโจวเหวินฟะกลายเป็นไอคอนสำคัญของวงการภาพยนตร์แอ๊คชั่นในยุค 80s
ก่อนที่ครึ่งหลังของหนังจะกลับหน้ามือเป็นหลังเท้า เมื่อเขากลายเป็นคนพิการขาเป๋และมีชีวิตตกต่ำต้องมากลายเป็นเด็กล้างรถ บทบาทของโจวเหวินฟะสะท้อนภาพจุดสูงสุดต่ำสุดของวงการนักเลงได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน จอห์น วู ก็ได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์ จนโหดเลวดี กลายมาเป็นพิมพ์เขียวของหนังแอ๊คชั่น ที่ยอดเยี่ยมและโด่งดังจนทำให้โจวเหวินฟะคว้ารางวัลตุ๊กตาทองฮ่องกงในสาขานักแสดงนำชายได้สำเร็จ
โหดเลวดี ไม่เพียงเปิดโอกาสให้หนังฮ่องกงก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ที่คราคร่ำไปด้วยหนังแอ๊คชั่นที่ใช้ชื่อไทยที่มีคำว่า “โหด” โด่งดังข้ามน้ำข้ามทะเลไปดังทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังทำให้โจวเหวินฟะ ได้รับโอกาสมากมายในการรับบทบาทขบถของสังคมยุคใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น เถื่อนตามดวง (City on Fire, 1987) กำกับโดย ริงโก้ แลม หนังแก๊งสเตอร์ที่โจวเหวินฟะรับบทตำรวจที่แฝงตัวในหมู่อาชญากรกับการเตรียมแผนปล้นครั้งใหญ่ ที่กลายเป็นต้นแบบของหนังแอ๊คชั่นไอเดียแหวกอย่าง Reservoir Dogs ของเควนติน ทารันติโน่ ที่ทำให้โจวเหวินฟะคว้ารางวัลตุ๊กตาทองฮ่องกงในสาขานักแสดงนำฝ่ายชายได้อีกครั้ง / และในปีเดียวกันโจวเหวินฟะ ก็ได้ร่วมงานกับ ริงโก แลม อีกครั้งในหนังคนคุก เดือด 2 เดือด (Prison on Fire, 1987) เรื่องราวของนักโทษที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเหล่าผู้คมในเรือนจำ
และด้วยความดังของโหดเลวดีภาคแรก ก็ทำให้นายทุนเรียกร้องให้ทำภาค 2 จนเกิดเป็น โหดเลวดี 2 (A Better Tomorrow 2, 1987) โดยปลุกชีพโจวเหวินฟะที่ตายในภาคแรกให้กลับมาในฐานะฝาแฝด และร่วมงานกับจอห์น วูในอีกหลายต่อหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็น โหดตัดโหด (The Killer, 1989) โจวเหวินฟะ รับบทนักฆ่าที่อุบัติเหตุทำให้เขายิงเป้าหมายพลาดจนไปโดนนางเอกตาเกือบบอด เขาจึงพยายามที่เก็บเงินเพื่อรักษาตาให้กับหญิงสาวคนนั้น แม้หนังจะไม่ทำเงินมากมายนักในบ้านเกิด แต่หนังกลับได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ชาวต่างชาติในฐานะหนังแอ๊คชั่นที่มีเลือดเนื้อและจิตวิญญาณรวมไปถึงฉากแอ๊คชั่นที่ยอดเยี่ยมจนขนาดนามการลีลาการดวลปืนว่า “ไม่ต่างกับการเต้นบัลเลต์” (“Bullet-Ballet”) / ตีแสกตะวัน (Once a Thief, 1991) ที่ลดทอนรสชาติความเข้มข้นให้เป็นหนังแอ๊คชั่นคอมเมอดี้ เรื่องของเด็กกำพร้าทั้ง 3 ที่เติบโตมาเป็นมิจฉาชีพ และปิดท้ายการร่วมมือกันก่อนที่จอห์น วู จะโกอินเตอร์ นั่นก็คือหนังมาสเตอร์พีซ ทะลักจุดแตก (Hard Boiled, 1992) เรื่องของมือปราบที่ต้องรับมือกับอาชญากรสุดโฉดในโรงพยาบาล ซึ่งนับเป็นการทิ้งทวนได้มันส์สะใจและได้รับคำชมว่าเป็นหนังแอ๊คชั่นที่เดือดและสนุกเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์หนังแอ๊คชั่นฮ่องกง
แต่ในความเป็นจริง โจวเหวินฟะสารภาพในภายหลังว่าเขาไม่ค่อยชอบหนังแอ๊คชั่นเท่าไหร่ ยิ่งหนังแอ๊คชั่นภาคต่อที่ไม่มีต้นสายปลายเหตุอย่างโหดเลวดี 2 และ โหดเลวดี 3 (A Better Tomorrow 3, 1989) ที่ฉีเคอะโดดลงมากำกับหลังจากเป็นผู้อำนวยการสร้างใน 2 ภาคแรกก่อนจะทะเลาะกันกับจอห์น วู นั้น เขายิ่งรับไม่ได้ เพราะในความเป็นจริงนั้นบทบาทที่เขานั้นชอบกลับเป็นหนังดราม่ามากกว่า
ขายฝีมือด้วยผลงานอันหลากหลาย จนกลายเป็นโคตรเซียนแห่งโลกภาพยนตร์
เพราะโจวเหวินฟะเริ่มต้นจากหนังชุดสายเมโลดราม่า จึงมีนายทุนที่ยังต้องการให้เขารับบทบาทในแบบนี้อยู่ แต่เพราะหนังโหดเลวดี ก็ทำให้ภาพของพระเอกในอุดมคติของเขานั้นเปลี่ยนไป โจวเหวินฟะได้รับบทในหนังโรแมนติกคอเมดี้ที่ยกกองถ่ายไปถ่ายทำไกลถึงนิวยอร์คในเรื่อง ดอกไม้กับนายกระจอก (An Autumn's Tale, 1987) ที่เล่าเรื่องราวความรักของสาวน้อย (นำแสดงโดย จงฉู่หง) ที่ดั้นด้นมาหาแฟนถึงอเมริกา ก่อนจะพบว่าเขามีรักใหม่แล้ว เธอได้รู้จักกับโรบินฮู้ดหนุ่มที่แอบลักลอบเข้าเมืองมาอย่างผิดกฏหมายที่แสดงโดยโจวเหวินฟะ
หนังรักในแบบดิบ ๆ แต่จริงใจนี้นี้ ได้ใจคนดูหนังอย่างมากจนทำให้เขาได้เข้าชิงรางวัลตุ๊กตาทองฮ่องกงอีกครั้ง (ในปี1987 โจวเหวินฟะได้ชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมพร้อมกันถึง 3 เรื่องเลยทีเดียว) และบทบาทที่ตราตรึงใจในฐานะนักแสดงขายฝีมือจนทำให้เขาคว้ารางวัลตุ๊กตาทองตัวที่ 3 ได้สำเร็จ ก็คือหนังเรื่อง อาหลาง (All About Ah Long,1989) เรื่องราวรันทดสู้ชีวิตของพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่เคยเป็นคนไม่ดีและขอโอกาสอีกครั้งเพื่อทำหน้าที่พ่อให้สมบูรณ์แบบที่สุด ที่หลายคนต่างพากันเสียน้ำตาให้กับบทบาทอันลุ่มลึกของเขา
และอีกบทบาทหนึ่งที่ทำให้โจวเหวินฟะกลายเป็นนักแสดงที่สามารถเล่นได้ทุกบทบาทนั่นก็คือหนังตลก มีหนังตลกมากมายจากการแสดงของเขาที่กลายเป็นหนังทำเงินไม่ว่าจะเป็น ยกเครื่องเรื่องจุ๊ 1 และ 2 (The Romancing Star, 1987/1988) / ฟ้าส่งฟะมาเกย (Fractured Follies, 1988) / หนมจีบมี 2 เข่ง (Diary of a Big Man, 1988) และหนังที่ทำรายได้สูงสุดแห่งยุค 80s นั่นคือหนังเรื่อง ตุ้งติ้งตี๋ต๋า (Eighth Happiness, 1988) ที่โจวเหวินฟะพลิกบทบาทแสดงเป็นหนุ่มสุดตุ้งติ้ง
แต่ที่ทำให้คนไทยรู้จักอีก 1 บทบาทของโจวเหวินฟะมากที่สุด ก็คือบทบาทของโคตรเซียนเกาจิ้ง ยอดนักพนันในตำนานที่ประสบอุบัติเหตุจนกลายเป็นคนความจำเสื่อมในหนังตลกหักเหลี่ยมเซียนเรื่อง คนตัดคน (God of Gamblers, 1989) ที่ทำให้เกิดหนังตระกูลโคตรเซียนอีกหลายเรื่องในยุค 90s ก่อนจะทิ้งช่วงอีกหลายภาคและกลับมาอีกครั้งในหนัง คนตัดคน ตอน เกาจิ้งตัดเอง (God of Gamblers Returns, 1994)
โจวเหวินฟะ ทิ้งทวนบทบาทการแสดงบนเกาะฮ่องกงเป็นเรื่องสุดท้ายในหนัง ฅน พ.ศ.ไหน (Peace Hotel, 1995) เพื่อตามพี่ใหญ่อย่าง จอห์น วู สู่การโกอินเตอร์ที่ฮอลลีวูดอีกคน เขาซุ่มฝึกภาษาอังกฤษจนห่างหายจากจอหนังนานถึง 3 ปีเต็ม
สู่การโกอินเตอร์อย่างเต็มภาคภูมิ
แม้จะได้รับโอกาสอันยิ่งใหญ่ในการทำงานระดับอินเตอร์ แต่หนังเรื่องแรกของโจวเหวินฟะก็ยังไม่พ้นหนังแอ๊คชั่นเหมือนเดิม นักฆ่ากระสุนโลกันต์ (The Replacement Killers, 1998) ที่ได้จับคู่กับนางเอก มิรา เซอร์วิโน และ คอรัปเตอร์ ฅนคอรัปชั่น (The Corruptor, 1999) ที่รับบทคู่กับมาร์ค วาห์ลเบิร์ก ยังคงเป้นหนังแอ๊คชั่นแนวทางเดิม ๆ ที่ใช้ประโยชน์จากตัวตนเดิม ๆ ของโจวเหวินฟะมาเป็นจุดขาย ซึ่งโจวเหวินฟะก็ไม่ได้ชื่นชอบหนังทั้ง 2 เรื่องนี้นัก แม้จะมีโอกาสได้รับบทที่แตกต่างนั่นคือบทพระเจ้ากรุงสยามในหนังที่ถูกห้ามฉายในไทยอย่าง Anna and the King ที่ได้ประกบคู่กับโจดี้ ฟอสเตอร์ ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานะนอกบ้านเกิดของโจวเหวินฟะนั้นดีขึ้นแต่อย่างไร
แต่โจวเหวินฟะก็ยังเดินหน้าสร้างบทที่หลากหลายผ่านหนังพูดภาษาอังกฤษมากมายไม่ว่าจะเป็น คัมภีร์หยุดกระสุน (Bulletproof Monk, 2003) ร่วมแสดในหนังภาคต่อระดับ Blockbuster อย่าง ผจญภัยล่าโจรสลัดสุดขอบโลก (Pirates of the Caribbean: At World's End, 2007) แม้กระทั่งบทบาทจากมังงะอนิเมะชื่อดังแต่เป็นหนังไลฟ์แอ๊คชั่นที่เละไม่เป็นท่าอย่าง ดราก้อนบอล อีโวลูชั่น เปิดตำนานใหม่ นักสู้กู้โลก (Dragonball Evolution, 2009) ในบทบาทผู้เฒ่าเต่า แต่ฮอลลีวู้ดก็กว้างใหญ่จนเขาเบื่อหน่ายกับระบบการทำงานที่แตกต่างจากวงการหนังฮ่องกง
กลับคืนสู่มาตุภูมิ แต่ถูกแผ่นดินใหญ่แบน
ความเหนื่อยล้าจากการบินไป-กลับ ฮ่องกง - ฮอลลีวูด ประกอบกับหนังพูดภาษาจีนอย่าง พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก (Crouching Tiger, Hidden Dragon, 2000) ที่กำกับโดย อัง ลี และ ศึกโค่นบัลลังก์วังทอง (Curse of the Golden Flower, 2006) ที่กำกับโดยจางอี้โหมว นั้นได้รับความนิยมมากกว่า ทำให้โจวเหวินฟะ หวนคืนกลับสู่มาตุภูมิเพื่อแสดงหนังจีนฮ่องกงอีกครา ในยุคที่หนังจากจีนแผ่นดินใหญ่กลับมาบูมอีกครั้ง โจวเหวินฟะได้รับโอกาสในการเล่นหนังหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของนักปรัชญาผู้เกรียงไกรอย่าง ขงจื๊อ (Confucius, 2010) ขุนศึกผู้เกรียงไกรในสามก๊ก โจโฉ (The Assassins, 2012) หรือหนังที่ทำรายได้ระดับปรากฏการณ์อย่าง ไซอิ๋ว 3D ตอน กำเนิดราชาวานร (The Monkey King, 2014) ก็ถือเป็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งสำหรับโจวเหวินฟะ
แต่เพราะโจวเหวินฟะออกมาตำหนิการกระทำรุนแรงที่ภาครัฐมีต่อประชาชนในการสลายการชุมนุมของชาวฮ่องกงในช่วงปี 2014 นั้นทำให้โจวเหวินฟะถูกขึ้นบัญชีดำในจีนและถูกตัดโอกาสที่จะได้แสดงหนังในจีนทันที ซึ่งโจวเหวินฟะก็ไม่ได้สนใจ เขาเคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Shanghaiist ถึงกรณีนี้ด้วยน้ำเสียงที่แสนธรรมดาว่า “ไม่เป็นไร ผมก็แค่หาเงินได้น้อยลงแค่นั้นเอง”
แต่ถึงจีนจะแบน แต่บ้านเกิดอย่างฮ่องกงก็ยังคงต้อนรับนักแสดงยอดฝีมือคนนี้อยู่นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการกลับมารับบทโคตรเซียนในหนังไตรภาค โคตรเซียนมาเก๊าเขย่าเวกัส (From Vegas to Macau, 2014-2016) แม้เขาจะสารภาพในตอนหลังว่าเขาไม่ชอบการพนันเอาเสียเลย เพราะความหลังฝังใจที่พ่อติดการพนันจนสิ้นเนื้อประดาตัวและครอบครัวของเขาต้องปากกัดตีนถีบ แม่ต้องหาเลี้ยงครอบครัวอย่างเหนื่อยยาก ทำให้เขาเกลียดการพนันเป็นที่สุด
หนังโคตรเซียนชุดนี้จึงเน้นหนักไปทางตลกบ้าบอและแอ๊คชั่น หรือซีนเล่นไพ่ก็เสนอด้วยความเป็นแฟนตาซีเหนือจริงมากกว่าจะเป็นหนังหักเหลี่ยมบนโต๊ะพนันแบบที่เคยมีมา แม้จะเป็นหนังตลกไร้สาระ แต่ก็ยังทำเงินบนเกาะฮ่องกงได้เช่นเดิม
พี่ใหญ่แห่งวงการบันเทิง
โจวเหวินฟะรับรู้ในโอกาส เมื่อเขาได้รับโอกาสอันยิ่งใหญ่ในวงการบันเทิงแล้ว เขาก็พร้อมส่งมอบโอกาสนั้นให้กับคนรุ่นต่อไปเช่นกัน 2 นักแสดงที่ได้รับโอกาสที่วิเศษนี้จากโจวเหวินฟะ ก็คือ อู๋ม่งต๊ะ เพื่อนร่วมรุ่นนักแสงฝึกหัดทีวีบี ในยุคที่เขาสิ้นเนื้อประดาตัวจากการติดการพนัน อู๋ม่งต๊ะเคยไปขอหยิบยืมเงินเพื่อใช้หนี้นอกระบบ แต่ได้รับการปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย สร้างความบาดหมางในใจให้กับอู๋ม่งต๊ะเป็นเวลานับสิบปี
หารู้ไม่ว่าโจวเหวินฟะ ได้ติดต่อกับผู้กำกับอย่างตู้ฉีฟง ที่เคยร่วมงานสมัยเล่นหนังเรื่อง อาหลาง ที่ฝากฝังให้อู๋ม่งต๊ะได้แสดงในหนังเรื่อง ผู้หญิงข้า...ใครอย่าแตะ (A Moment of Romance, 1990) จนบทบาทของอู๋ม่งต๊ะคว้างรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากหนังเรื่องนี้ ซึ่งอู๋ม่งต๊ะมารู้ภายหลังถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความเสียใจและรับรู้ในน้ำใจที่มีค่ามากกว่าเงินตรา
ขณะเดียวกันอีก 1 นักแสดงที่ได้รับโอกาสนั้นก็คือ หลิวเต๋อหัว ที่โจวเหวินฟะในยุคนั้นเริ่มโด่งดัง แต่เขายอมปฏิเสธบทบาทในหนัง ใส่ความบ้าท้านรก (Boat People, 1982) เพื่อหลีกทางให้รุ่นน้องที่ยังเตาะแตะในวงการอย่าง หลิวเต๋อหัว ได้แสดงฝีไม้ลายมืออย่างแท้จริงจนโด่งดังจวบจนถึงทุกวันนี้ และทั้งคู่ก็ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ผ่านหนังเรื่องยิ่งใหญ่อย่าง คนตัดคน ในเวลาต่อมา
โจวเหวินฟะ จึงได้รับการขนานนามในวงการบันเทิงว่า “พี่ใหญ่ฟะ” เพราะความที่เขามีน้ำใจและให้โอกาสคนมากมายในวงการบันเทิง รวมถึงการไม่ถือเนื้อถือตัว กระทั่งผู้กำกับแจ๊สสยามที่เขาเคยบินมาร่วมงานในไทยเมื่อนานแสนนานมาแล้วจากหนังกตัญญูประกาศิต ยังเอ่ยปากชมความสมถะและไม่เคยลืมตัวของผู้ชายคนนี้
ชีวิตเรียบง่าย และผู้กุมหัวใจของโจวเหวินฟะ
โจวเหวินฟะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายกับคนรัก จัสมิน ถัน นักธุรกิจชาวสิงคโปร์ มาตั้งแต่ปี 1991 แต่ก่อนที่โจวเหวินฟะจะพบรักแท้ได้นั้น ชีวิตของเขาต้องพบวิบากกรรมของความรักมาถึง 2 หน
หนแรกคือการพบรักกับเพื่อนร่วมสังกัด TVB เฉินอวี้เหลียน นางเอกสาวเจ้าของบทบาทเซียวเหล่งนึ่งในหนังจีนชุดมังกรหยกภาค 2 แต่ความรักนั้นไม่สมหวังเนื่องจากโจวเหวินฟะถูกแม่กีดกัน โจวเหวินฟะที่กตัญญูต่อผู้ให้กำเนิด แม้จะยอมเลิกลาตามคำสั่งของผู้เป็นแม่ แต่หัวใจของเขาแหลกสลายจนตัดสินใจคิดสั้นกรอกน้ำยาล้างห้องน้ำหวังปลิดชีวิตของตน โชคดีที่ช่วยชีวิตได้สำเร็จ
ต่อมาเขาได้พบรักกับ หวีอันอัน นางเอกชื่อดังในยุคนั้น แม้ว่าแม่จะไฟเขียวจนเขาได้แต่งงาน แต่ชีวิตคู่ของทั้ง 2 กลับไม่รอด ทั้งคู่ตัดสินใจแยกทางกันหลังจากครองรักกันเพียง 6 เดือน
จนกระทั่งโจวเวินฟะ ได้รู้จักกับ จัสมิน ถัง หญิงสาวนักธุรกิจนอกวงการที่มีไลฟ์สไตล์และชีวิตที่เรียบง่ายเหมือนกัน แม้เธอจะแท้งบุตรสาวเนื่องจากสายสะดือถูกบีบรัดเมื่อภรรยามีอายุครรภ์ 9 เดือนจนไม่สามารถมีลูกได้อีก แต่โจวเหวินฟะก็รักภรรยาคนนี้มากในฐานะหญิงสาวผู้เสียสละ
ความเรียบง่ายและการใช้ชีวิตอันแสนธรรมดาของโจวเหวินฟะ เกิดขึ้นในสื่อโซเชียลบ่อยครั้งเมื่อคนเห็นเขาโดยสารรถไฟใต้ดินร่วมกับคนทั่วไป ได้เห็นเขาต่อแถวเพื่อซื้อตั๋วหนังที่เขาแสดงโดยไม่อวดเบ่งใช้อภิสิทธิ์ใด ๆ และเป็นมิตรเสมอยามที่คนมาขอถ่ายรูป
โจวเหวินฟะได้ให้สัมภาษณ์ว่าเขาใช้เงินจับจ่ายใช้สอยเพียง 800 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 24,000 บาท ต่อเดือนเท่านั้น และภรรยาเพิ่งจะสอนให้เขาใช้สมาร์ทโฟนหลังจากที่โทรศัพท์โนเกียรุ่นเก่าที่เขาใช้มานาน 18 ปี พัง กระทั่งทรัพย์สินที่เขาเคยมีอย่างรถโบราณที่สะสม เขาก็ขายมันทิ้งด้วยเหตุผลที่ว่า “ผมป็นคนโบราณอยู่แล้ว ทำไมผมต้องขับรถโบราณด้วย ? ทุกนาทีชีวิตมันก็ค่อย ๆ สึกหรอด้วยตัวเองอยู่แล้ว”
แต่สิ่งที่เซอร์ไพรซ์และช็อควงการมากกว่าคือการที่เขาตัดสินใจว่าหากเขาเสียชีวิตไป เขาจะยกทรัพย์สินมูลค่ากว่า 5.6 พันล้านเหรียญฮ่องกง (ประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ) ให้เป็นการกุศล
“สิ่งที่ยากที่สุดในชีวิตไม่ใช่การหาเงินให้ได้มากที่สุด แต่ต้องรักษาวิธีคิดที่สงบสุขและใช้ชีวิตที่เรียบง่ายและไร้กังวลให้มากที่สุด”
เพราะชีวิตของเขาได้ผ่านเรื่องทุกข์เรื่องสุขมามากมาย นอกจากสิ่งที่โจวเหวินฟะได้มอบความบันเทิงให้นักดูหนังมาอย่างยาวนานแล้ว คุณธรรมและชีวิตของเขาก็เป็นหนึ่งในแบบอย่างที่ดีที่ชายคนนี้เหมาะสมแล้วสำหรับการเป็นพี่ใหญ่ทั้งในจอและนอกจอ
ข้อมูล
https://en.24smi.org/celebrity/83872-chow-yun-fat.html
https://peoplepill.com/people/chow-yun-fat
https://news.cgtn.com/news/3d3d514d7745544e31457a6333566d54/share.html
https://www.asiaone.com/entertainment/chow-yun-fat-flirt-hk-star-opens-personal-life-and-loss-child-new-interview
https://qz.com/1506767/the-humble-lifestyle-of-movie-star-chow-fat-yun/
https://www.scmp.com/magazines/style/news-trends/article/3084595/what-makes-hong-kongs-chow-yun-fat-coolest-actor-world
https://youtu.be/zU7laZcfung