‘Letter from a Birmingham Jail’ คือจดหมายเปิดผนึกของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr) นักต่อสู้เรียกร้องความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ เขียนจากเรือนจำเมืองเบอร์มิงแฮม รัฐแอละแบมา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1963
ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เขียนจดหมายฉบับนี้หลังถูกจับคุมขังในคดีร่วมเดินขบวนประท้วงต่อต้านการแบ่งแยกทางเชื้อชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเนื้อหาในจดหมายบรรยายถึงเหตุผลในการตัดสินใจกระทำการดังกล่าว และตอบโต้เสียงวิจารณ์ของกลุ่มนักบวชผิวขาว ซึ่งต่อต้านการประท้วง และเสนอให้ใช้วิธีต่อสู้ทางกฎหมายผ่านระบบตุลาการ
นอกจากนี้ ดร.คิง ยังอธิบายถึงเหตุผลที่มีคนวิจารณ์ว่า เขาเป็นคนนอกที่เข้ามาปลุกปั่นความวุ่นวายในเมืองเบอร์มิงแฮม โดยให้เหตุผลว่า “ความอยุติธรรมไม่ว่าจะอยู่ที่ใด มันคือภัยคุกคามต่อความยุติธรรมที่อื่นทุกหนแห่ง” และว่า “ความยุติธรรมที่มาช้าเกินไป ไม่ใช่ความยุติธรรม”
จดหมายฉบับนี้ยังพยายามชี้ให้เห็นถึงความชอบธรรมในการละเมิดกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม พร้อมปิดท้ายด้วยการอธิบายว่า เหตุใดตำรวจจึงไม่มีความชอบธรรมในการจับกุมผู้ประท้วง แม้จะเป็นการทำตามกฎหมาย
นี่คือข้อความบางตอนของจดหมายจากในเรือนจำของตำนานนักสู้ผู้เรียกร้องความเท่าเทียมด้วยสันติวิธีที่ชื่อ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์
เรียน เพื่อนสาธุคุณทั้งหลาย
ระหว่างถูกคุมตัวอยู่ที่นี่ในเรือนจำเมืองเบอร์มิงแฮม ผมบังเอิญได้รับรู้เกี่ยวกับแถลงการณ์ล่าสุดของพวกท่านที่เรียกความเคลื่อนไหวของผมในปัจจุบันว่า ‘ไม่ฉลาดและไม่ถูกเวลา’ ขณะเดียวกันผมก็ไม่ค่อยมีเวลาหยุดตอบคำถามเกี่ยวกับเสียงวิจารณ์ในงานและแนวความคิดของผม
หากผมต้องตอบทุกเสียงวิจารณ์ที่มาถึงโต๊ะทำงาน เลขาฯ ของผมคงแทบไม่มีเวลาทำอย่างอื่นนอกจากคอยตอบเสียงวิจารณ์เหล่านั้นทั้งวัน และผมเองก็จะไม่มีเวลาไปทำงานที่เป็นประโยชน์ แต่เพราะผมรู้สึกว่า พวกท่านคือผู้ที่มีความปรารถนาดีอย่างแท้จริง และเสียงวิจารณ์ของท่านก็มาจากความจริงใจ ผมจึงต้องการพยายามตอบถ้อยแถลงของท่านในแบบที่ผมหวังว่าจะเป็นไปอย่างอดทน และด้วยเหตุด้วยผล
…ผมมาอยู่ที่เบอร์มิงแฮม เพราะที่นี่ไม่มีความยุติธรรม เหมือนเหล่าศาสดาในศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล ที่ออกจากหมู่บ้าน และนำสาส์น ‘พระยะโฮวาตรัสดังนี้ว่า’ (thus saith the Lord) ไปยังแดนไกลนอกขอบเขตบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา เหมือนกับนักบุญเปาโลอัครสาวก เดินทางออกจากหมู่บ้านทาร์ซัส และนำพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ไปเผยแผ่ยังมุมอันไกลโพ้นของโลกกรีก-โรมัน ดังนั้นผมจึงทำหน้าที่นำพระกิตติคุณแห่งเสรีภาพออกมานอกเมืองบ้านเกิดของตนเองบ้าง ผมต้องคอยตอบรับเสียงเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากมาซิโดเนียเสมอเหมือนกับนักบุญเปาโล
นอกจากนี้ ผมยังรับรู้ถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันของรัฐทุกรัฐและชุมชนทุกชุมชน ผมไม่อาจนั่งเฉย ๆ อยู่ในเมืองแอตแลนตา และไม่รู้สึกรู้สากับสิ่งที่เกิดขึ้นในเบอร์มิงแฮม ความอยุติธรรมไม่ว่าจะอยู่ที่ใด มันคือภัยคุกคามต่อความยุติธรรมที่อื่นทุกหนแห่ง อะไรก็ตามที่กระทบต่อสิ่งหนึ่งโดยตรง จะกระทบทางอ้อมต่อทุกสิ่งทั้งมวล
เราไม่สามารถมีชีวิตอยู่กับแนวคิดอันคับแคบและมองแยกส่วนอย่างเรื่อง ‘ผู้ก่อความไม่สงบคนนอก’ ได้อีกต่อไป เพราะผู้ใดก็ตามที่อยู่ในสหรัฐฯ ไม่สามารถมองเป็นคนนอก ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดภายในเขตแดนของชาติ
…การประท้วงด้วยสันติวิธีทุกแคมเปญเบื้องต้นมีทั้งหมด 4 ขั้นตอน ได้แก่ การรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาว่ามีความอยุติธรรมเกิดขึ้นหรือไม่, การเจรจาต่อรอง, การทำตัวเองให้ใสสะอาด (self-purification) และการกระทำโดยตรง (direct action) พวกเราผ่านขั้นตอนทั้งหมดนี้มาแล้วในเบอร์มิงแฮม เราไม่สามารถโต้แย้งต่อข้อเท็จจริงที่ว่า ความอยุติธรรมทางเชื้อชาติได้แผ่ปกคลุมชุมชนแห่งนี้
เบอร์มิงแฮมน่าจะเป็นเมืองที่มีการแบ่งแยกทางเชื้อชาติเกิดขึ้นแพร่หลายมากที่สุดในสหรัฐฯ ประวัติความป่าเถื่อนโหดร้ายอันน่าเกลียดของที่นี่เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง คนผิวดำมีประสบการณ์ได้รับการปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมจากศาลอย่างชัดเจน ปัญหาบ้านเรือนและโบสถ์ของคนผิวดำในเบอร์มิงแฮมถูกวางระเบิดไม่ได้รับการแก้ไขมากกว่าเมืองอื่นใดในประเทศนี้
สิ่งเหล่านี้คือข้อเท็จจริงอันโหดร้ายและยากลำบากของเรื่องราวที่เกิดขึ้น ในสภาพการณ์พื้นฐานเหล่านี้ บรรดาผู้นำคนผิวดำได้พยายามเจรจากับพ่อเมืองแล้ว แต่คนกลุ่มหลังปฏิเสธเข้าร่วมการเจรจาด้วยจิตศรัทธาที่ดี
…ท่านอาจถามว่า ‘ทำไมต้องกระทำการโดยตรง? ทำไมต้องนั่งปักหลัก, เดินขบวน และอื่น ๆ? การเจรจาไม่ใช่หนทางที่ดีกว่าหรือ?’ ท่านถูกแล้วที่เรียกร้องให้มีการเจรจา อันที่จริงนี่คือเป้าหมายหลักของการกระทำโดยตรง
การกระทำโดยตรงแบบไม่ใช้ความรุนแรงพยายามสร้างวิกฤตให้เกิดขึ้น และทำให้เกิดความตึงเครียดเพื่อให้ชุมชนซึ่งมักปฏิเสธการเจรจา ถูกบังคับให้ต้องเผชิญหน้ากับประเด็นปัญหา มันพยายามทำให้ประเด็นปัญหากลายเป็นดรามาเพื่อไม่ให้ถูกเพิกเฉยอีกต่อไป
การพูดถึงการสร้างความตึงเครียดในฐานะส่วนหนึ่งของงานของนักสันติวิธีอาจฟังดูน่าตกใจ แต่ผมต้องสารภาพว่า ผมไม่ได้กลัวการใช้คำว่า ‘ความตึงเครียด’ ผมต่อต้านความตึงเครียดที่รุนแรงอย่างจริงจัง แต่มันมีประเภทของความตึงเครียดที่สร้างสรรค์และไม่รุนแรงด้วย ซึ่งจำเป็นต่อความก้าวหน้า เหมือนโสกราตีสที่รู้สึกว่า มันจำเป็นในการสร้างความตึงเครียดในจิตใจเพื่อปลดปล่อยปัจเจกชนจากพันธนาการของความเชื่อเก่า ๆ และความจริงครึ่งเดียว ไปสู่ดินแดนแห่งอิสระของการวิเคราะห์ด้วยความคิดสร้างสรรค์ และการประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรม
ดังนั้น เราจึงต้องมองถึงความจำเป็นของการมีผู้ก่อกวนที่ไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อสร้างความตึงเครียดในสังคม ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนหลุดพ้นจากหลุมลึกอันมืดมิดของลัทธิเหยียดเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติ และไปสู่ยอดสูงตระหง่านของการมีภราดรภาพและความเข้าอกเข้าใจกัน
เป้าหมายของโปรแกรมการกระทำโดยตรงของเรา คือการสร้างสถานการณ์ให้เต็มไปด้วยวิกฤต เพื่อที่จะเปิดประตูไปสู่การเจรจาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ผมเห็นด้วยกับท่านที่เรียกร้องให้มีการเจรจา ดินแดนฝ่ายใต้อันเป็นที่รักของเราที่ต้องหยุดชะงักอยู่กับความพยายามอันน่าเศร้าในการมีชีวิตอยู่กับการพูดฝ่ายเดียว มากกว่าการสนทนากันมานานเกินไป
…เรารู้ผ่านประสบการณ์อันเจ็บปวดว่า ผู้กดขี่ไม่เคยสมัครใจที่จะให้อิสรภาพ มันต้องมาจากความต้องการของผู้ถูกกดขี่เอง ผมขอพูดตรงไปตรงมาว่ายังไม่เคยเข้าร่วมแคมเปญการกระทำโดยตรงที่ ‘ถูกเวลา’ ในมุมมองของผู้ที่ไม่ได้ทนทุกข์ทรมานจนเกินไปจากโรคร้ายของการแบ่งแยกเชื้อชาติ
ผมได้ยินคำว่า ‘รอก่อน’ มานานหลายปีแล้ว มันดังในหูของคนผิวดำทุกคนด้วยความคุ้นเคยที่ทิ่มแทง คำว่า ‘รอก่อน’ นี้เกือบหมายความว่า ‘ไม่มีวัน’ เสมอ เราต้องมองไปพร้อมกับหนึ่งในยอดผู้พิพากษาของเราว่า ‘ความยุติธรรมที่มาช้าเกินไป ไม่ใช่ความยุติธรรม’
เรารอคอยสิทธิตามรัฐธรรมนูญและที่พระเจ้ามอบให้มานานกว่า 340 ปี ประเทศในเอเชียและแอฟริกากำลังเคลื่อนไปด้วยความเร็วไอพ่น สู่การได้รับอิสรภาพทางการเมือง แต่เรายังคงคืบคลานไปด้วยความเร็วของม้าและรถเข็น สู่การได้รับกาแฟแก้วเดียวที่เคาน์เตอร์อาหารกลางวัน บางทีมันอาจง่ายกับผู้ที่ไม่เคยรู้สึกถึงลูกดอกอันทิ่มแทงของการแบ่งแยกเชื้อชาติ ที่จะพูดคำว่า ‘รอก่อน’
…ท่านแสดงความกังวลมากมายเกี่ยวกับความตั้งใจของเราที่จะละเมิดกฎหมาย นี่คือความกังวลที่สมเหตุสมผลแน่นอน เป็นเพราะเราขอร้องผู้คนอย่างแข็งขันให้ทำตามคำตัดสินของศาลสูงสุดที่ประกาศให้การแบ่งแยกเชื้อชาติในโรงเรียนรัฐเมื่อปี 1954 เป็นเรื่องผิดกฎหมาย มองแวบแรกอาจดูเหมือนมันขัดแย้งกับท่าทีของเราที่จงใจละเมิดกฎหมาย บางคนอาจถามว่า ‘คุณจะสนับสนุนให้ละเมิดกฎหมายบางข้อและทำตามบางข้อได้อย่างไร?’
คำตอบอยู่ในข้อเท็จจริงที่ว่า กฎหมายมีอยู่ 2 ประเภท คือ กฎหมายที่ชอบธรรมและไม่ชอบธรรม ผมจะขอเป็นคนแรกที่สนับสนุนให้ทำตามกฎหมายที่ชอบธรรม เราทำตามกฎหมายที่ชอบธรรมไม่ใช่แค่เพราะมันเป็นกฎหมาย แต่เพราะเป็นความรับผิดชอบทางศีลธรรมด้วย ในทางกลับกัน เรามีความรับผิดชอบทางศีลธรรมที่จะไม่ทำตามกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม ผมเห็นด้วยกับนักบุญออกัสตินที่ว่า ‘กฎหมายที่ไม่ชอบธรรมย่อมไม่ถือเป็นกฎหมายแต่อย่างใด’
…เรามาพิจารณาตัวอย่างของกฎหมายที่ชอบธรรมและไม่ชอบธรรมที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นกัน กฎหมายไม่ชอบธรรมคือประมวลกฎหมายที่กลุ่มคนหมู่มากหรือมีอำนาจมากกว่าบังคับให้คนส่วนน้อยปฏิบัติตาม แต่ไม่ผูกพันกับพวกเขาเอง นี่คือกฎหมายที่มาจากความแตกต่างกัน
ด้วยเหรียญด้านเดียวกัน กฎหมายที่ชอบธรรมคือประมวลกฎหมายที่คนส่วนใหญ่บังคับคนส่วนน้อยให้ทำตาม และพวกเขาเองก็พร้อมจะปฏิบัติตาม นี่คือกฎหมายที่มาจากความเหมือนกัน
…บางครั้งกฎหมายก็มีความยุติธรรมในตัวเอง แต่ไม่ยุติธรรมในการนำไปบังคับใช้ ตัวอย่างเช่น ผมถูกจับกุมในข้อหาเดินขบวนโดยไม่ได้รับอนุญาต ถึงตรงนี้ไม่มีอะไรผิดในการมีกฎบังคับให้ต้องได้รับอนุญาตก่อนการเดินขบวน แต่กฎนั้นกลายเป็นความไม่ชอบธรรมเมื่อมันถูกนำไปใช้เพื่อคงไว้ซึ่งการแบ่งแยกเชื้อชาติ และปฏิเสธประชาชนไม่ให้มีสิทธิตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ว่าด้วยการชุมนุมและประท้วงโดยสันติ
…เราควรไม่ลืมว่า ทุกสิ่งที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ทำในเยอรมนีเป็นเรื่อง ‘ถูกกฎหมาย’ และทุกสิ่งที่นักสู้เพื่ออิสรภาพชาวฮังกาเรียนทำในฮังการีคือเรื่อง ‘ผิดกฎหมาย’ มัน ‘ผิดกฎหมาย’ ที่จะช่วยเหลือและปลอบประโลมชาวยิวในเยอรมนียุคฮิตเลอร์
แม้เป็นเช่นนั้น ผมมั่นใจว่า หากผมอยู่ในเยอรมนี ณ เวลานั้น ผมจะช่วยเหลือและปลอบประโลมพี่น้องชาวยิว หากวันนี้ผมอยู่ในประเทศคอมมิวนิสต์ซึ่งกดขี่หลักการอันเป็นที่รักของชาวคริสต์ ผมจะสนับสนุนการไม่เชื่อฟังกฎหมายต่อต้านศาสนาของประเทศนั้นอย่างเปิดเผย
…จงปล่อยให้เขาเดินขบวน ปล่อยให้เขาเดินทางไปสวดมนต์ที่ศาลากลาง ปล่อยให้เขาขับขี่เพื่อรณรงค์เรื่องเสรีภาพต่อไป และพยายามทำความเข้าใจว่า ทำไมเขาต้องทำอย่างนั้น หากอารมณ์ที่ถูกกดทับของเขาไม่ได้รับการปลดปล่อยในวิธีที่สันติ พวกเขาจะมองหาการแสดงออกผ่านการใช้ความรุนแรง นี่ไม่ใช่คำขู่แต่เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ดังนั้น ผมจะไม่บอกกับคนของผมว่า ‘จงขจัดความไม่พอใจของท่านทิ้งไป’ แต่ผมจะพยายามบอกว่า ความไม่พอใจที่เป็นปกติและมีประโยชน์นี้สามารถแสดงออกผ่านช่องทางอันสร้างสรรค์อย่างการกระทำโดยตรงที่ไม่ใช้ความรุนแรง และตอนนี้วิธีการนี้กำลังถูกเรียกว่าเป็นการสุดโต่ง (extremist)
แต่แม้ว่าตอนแรกผมจะผิดหวังที่ถูกจัดให้เป็นคนสุดโต่งขณะยังคงคิดถึงสิ่งนั้น ผมค่อย ๆ ได้รับมาตรวัดความพึงพอใจจากการถูกแขวนป้ายแบบนั้น ไม่ใช่พระเยซูหรอกหรือที่สุดโต่งเรื่องความรัก: ‘จงรักศัตรูของท่าน อวยพรคนที่สาปแช่งท่าน ทำดีกับคนที่เกลียดท่าน และสวดมนต์ให้คนที่ใช้ท่านด้วยความอาฆาตแค้น และกลั่นแกล้งท่าน’
ไม่ใช่อาโมส (ศาสดาแห่งความยุติธรรมตามคำภีร์ไบเบิล) หรอกหรือที่สุดโต่งเพื่อความยุติธรรม: ‘จงทำให้ความยุติธรรมโปรยลงมาดุจน้ำ และความถูกต้องเหมือนสายน้ำที่ไหลไม่มีวันหยุด’ ไม่ใช่นักบุญเปาโลหรอกหรือที่สุดโต่งเพื่อพระกิตติคุณของชาวคริสต์: ‘ข้าพเจ้ามีรอยเครื่องหมายเหล่านั้นของพระเยซูเจ้าฝังอยู่ในร่างของข้าพเจ้าแล้ว’
…ดังนั้นคำถามจึงไม่ใช่ว่าเราจะเป็นพวกสุดโต่งหรือไม่ แต่พวกสุดโต่งแบบไหนที่เราจะเป็นต่างหาก เราจะเป็นพวกสุดโต่งเรื่องความเกลียดชังหรือความรัก? เราจะสุดโต่งเพื่อรักษาความอยุติธรรมไว้หรือขยายความยุติธรรมให้แพร่ออกไป?
ในฉากดรามานั้นบนเนินเขา Calvary มีชาย 3 คนโดนตรึงกางเขน เราต้องไม่ลืมว่า ทั้ง 3 คนถูกตรึงกางเขนจากคดีอาญาเดียวกัน นั่นคือความผิดอาญาเรื่องความสุดโต่ง สองคนแรกสุดโต่งเรื่องความผิดทางศีลธรรม และต่อมาจึงตกต่ำกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัว ส่วนคนสุดท้ายคือพระเยซูผู้สุดโต่งเพื่อความรัก ความจริง และความดีงาม ซึ่งต่อมาจึงผงาดเหนือสิ่งแวดล้อมรอบตัว บางทีดินแดนฝ่ายใต้ ประเทศชาติ และโลกนี้ก็ต้องการคนสุดโต่งที่มีความคิดสร้างสรรค์อย่างเร่งด่วน
…ก่อนที่จะจบ ผมรู้สึกถูกบีบให้ต้องพูดถึงจุดอื่นอีกจุดในแถลงการณ์ของท่าน ซึ่งสร้างความลำบากใจให้ผมเป็นอย่างยิ่ง ท่านชื่นชมยกย่องกำลังตำรวจเบอร์มิงแฮมอย่างอบอุ่นที่ช่วยรักษา ‘ความเป็นระเบียบเรียบร้อย’ (order) และ ‘ป้องกันความรุนแรง’ ผมสงสัยว่าท่านจะยังชื่นชมตำรวจอย่างอบอุ่นอยู่หรือไม่ หากได้เห็นสุนัขตำรวจฝังเขี้ยวลงบนร่างคนผิวดำที่ไม่มีอาวุธและไม่ใช้ความรุนแรง
ผมสงสัยว่าท่านจะยังชื่นชมตำรวจอย่างรวดเร็วหรือไม่ หากท่านเจอการปฏิบัติกับคนผิวดำอย่างไร้มนุษยธรรมและน่าเกลียดชังที่นี่ในเรือนจำของเมืองนี้ หากท่านได้ดูพวกเขาผลักไสและสาปแช่งทั้งหญิงชราและเด็กผู้หญิงผิวดำ หากท่านได้เห็นพวกเขาทั้งตบและเตะชายชราและเด็กผู้ชายผิวดำ หากท่านได้เห็นพวกเขาปฏิเสธการมอบอาหารให้เราถึง 2 มื้อ เพียงเพราะเราต้องการร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าร่วมกัน ผมไม่สามารถร่วมเชิดชูสำนักงานตำรวจเมืองเบอร์มิงแฮมกับพวกท่านได้
มันเป็นเรื่องจริงที่ตำรวจจัดการกับผู้ประท้วงตามระเบียบวินัยปฏิบัติ ในแง่นี้พวกเขาถือว่าทำตัว ‘ไม่ใช้ความรุนแรง’ ในที่สาธารณะ แต่เพื่อจุดประสงค์ใดเล่า? ไม่ใช่เพราะเพื่อธำรงไว้ซึ่งระบบอันชั่วร้ายของการแบ่งแยกเชื้อชาติหรอกหรือ
ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมได้เทศน์มาอย่างต่อเนื่องว่า การใช้สันติวิธีนั้นต้องการวิธีการที่ใสสะอาดพอ ๆ กับผลลัพธ์ที่เราแสวงหา ผมพยายามทำให้ชัดเจนว่า มันเป็นเรื่องผิดที่จะใช้วิธีการไร้ศีลธรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ถูกทำนองคลองธรรม
แต่ตอนนี้ผมต้องยืนยันว่า มันเป็นเรื่องผิด หรือบางทีอาจแย่กว่านั้น ที่จะใช้วิธีการถูกศีลธรรมเพื่อธำรงไว้ซึ่งผลลัพธ์อันผิดทำนองคลองธรรม บางทีมิสเตอร์คอนเนอร์ และลูกน้องตำรวจของเขาแค่ไม่ใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ เหมือนหัวหน้าพริตเชตต์ ในเมืองอัลบานี รัฐจอร์เจีย แต่พวกเขาใช้สันติวิธีที่ถูกศีลธรรมเพื่อรักษาไว้ซึ่งผลลัพธ์ของความอยุติธรรมทางเชื้อชาติที่ผิดทำนองคลองธรรม
คล้ายกับที่ ที.เอส. เอเลียต (กวีชาวอเมริกัน) เคยบอกไว้ว่า ‘บททดสอบสุดท้ายคือการทรยศอันยิ่งใหญ่ที่สุด, การตั้งใจทำความดีด้วยเหตุผลที่ผิด (The last temptation is the greatest treason: To do the right deed for the wrong reason)
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.africa.upenn.edu/Articles_Gen/Letter_Birmingham.html?fbclid=IwAR3naG213P94Y1sljR2oq5V-3JoQPWkBX3TL1-bMoPhU6lKNcPY5H8xs99c