หากถามว่าพิธีกรข่าวคนไหน คือ ‘นัมเบอร์วัน’ เป็นที่รู้จักตั้งแต่ลูกเล็กเด็กแดงยันคนเฒ่าคนแก่ หรือถามว่ารายการเล่าข่าวที่ดาษดื่นหน้าจอในทศวรรษนี้ ถูกจุดกระแสโดยฝีมือใคร และหากถามอีกว่า มีคนวงการสื่อคนไหนที่ไต่เต้าตั้งแต่นักข่าวภาคสนามตัวเล็ก ๆ จนกลายเป็นระดับมหาเศรษฐี สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยความสามารถรอบด้านตั้งแต่เขียนข่าว วิเคราะห์ข่าว และเก่งในเรื่องธุรกิจสื่อ
คำตอบทั้งหมดนั้นอยู่ในตัวของชายที่ชื่อ ‘สรยุทธ สุทัศนะจินดา’ เพียงคนเดียว
เขาสร้างปรากฏการณ์ไว้มากมายในวงการสื่อ ทั้งชื่อเสียง ทั้งรางวัล ทั้งเงินทองที่เคยทำรายได้เกินครึ่งพันล้านต่อปี และทำให้ชื่อของสรยุทธเป็นหมุดหมายของแหล่งข่าวผู้ตกทุกข์ได้ยาก ที่เชื่อว่าหากได้ออกรายการของเขาแล้วจะถูกบำบัดทุกข์บำรุงสุขชนิดพลิกฝ่ามือ และยามภัยพิบัติไม่ว่าสึนามิ อุทกภัย สรยุทธคือคนที่ผู้คนเชื่อมั่นความช่วยเหลือยิ่งกว่ารัฐบาล เจ้าของสินค้า-ผลิตภัณฑ์ องค์กรมหาชน มหาเศรษฐี ก็เชื่อมั่นที่จะบริจาคผ่านมือเขาไปสู่แหล่งเป้าหมาย เขาจึงมีพี่น้องเพื่อนฝูงทุกแวดวงทั้งคนดังระดับเอ-ลิสต์ของประเทศไปจนถึงชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อย ขณะเดียวกันในแวดวงวิชาชีพสื่อเขาก็มีทั้งคนรักมากและชังมาก กลายเป็น Talk of The Town ว่าการเล่าข่าวของเขาสร้างสรรค์หรือทำลายวิชาชาชีพสื่อ อีกทั้งการรายงานข่าวที่เพียงหยิบข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ มาเล่าก็ดูเหมือนเอาเปรียบสื่อสิ่งพิมพ์ แถมยังได้ค่าโฆษณาอย่างมโหฬารเป็นผลตอบแทน
"มีคนบอกว่า ผมได้ค่าตอบแทนเท่าโน้นเท่านี้ ผมไม่บอกว่าจริงหรือเปล่า แต่บอกได้ว่าผมรวยกว่านักข่าวคนอื่นมาก ยิ่งเป็นคนที่ไม่มีเวลาใช้เงิน ทำแต่งาน กินอยู่ง่าย ๆ ความเป็นอยู่จึงไม่เดือดร้อน แต่ถามว่าทุกวันนี้ทำไมยังทำงานหนัก ขอถามกลับว่า แล้วจะให้ผมไปทำอะไร งานทุกอย่างที่ทำ เพราะอยู่กับมันมาทั้งชีวิตก็ต้องทำต่อไป ผมทำอย่างอื่นไม่เป็น จึงไม่รู้ว่าการเป็นกรรมกรข่าวในบทบาทพิธีกรข่าวของผมจบลงเมื่อไหร่" สรยุทธเคยเขียนประโยคนี้ไว้ในหนังสือ 'กรรมกรข่าว สรยุทธ สุทัศนะจินดา’ พ็อคเก็ตบุ๊กที่เคยฮือฮาจนต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง
ออกตัวว่าเป็น ‘กรรมกรข่าว’ ที่เขานิยามถึงการก่อร่างสร้างตัวทีละเล็กละน้อยกว่ากลายเป็นตึกหรูหรา อย่างที่เขาเป็นนักเล่าข่าวมือทองผู้เป็นที่หมายปองของช่องดังเช่นในกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ผ่านการทำงานหนัก คิดอย่างละเอียด มองการณ์ไกล วิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง โดยใช้ท่วงทำนองที่น่าเชื่อถือ เอาแขกรับเชิญอยู่มือ ไม่ว่าเขี้ยวลากดินขนาดไหนเจอสรยุทธเป็นอันหมดเขี้ยวเล็บ โดนเขาใช้กลยุทธ์ต้อนเข้ามุมจนหมดไต๋
กว่าจะถึงวันนี้ สรยุทธเคยเล่าว่าเขาจำรายละเอียดวัยเด็กไม่ได้มาก บ้านเป็นตึกแถวย่านสนามเป้า ชั้นบนใช้นอน ชั้นล่างเปิดเป็นร้านขายผลไม้เกรดเอประเภทผลไม้นำเข้าผสมของชำนิดหน่อย เขาจึงเป็นลูกแม่ค้าเต็มตัว ส่วนพ่อเสียไปตั้งแต่เขาอายุสองขวบกว่า และเป็นลูกชายคนเดียวในบ้าน มีพี่สาวกับน้องสาวอย่างละคน ชีวิตวัยเด็กแม้ไม่ได้ร่ำรวยแต่ก็ไม่ลำบาก กระทั่งเจอปัญหาหนี้สินของที่ครอบครัวจนต้องยอมแลกตึกที่สนามเป้ากับทาวน์เฮาส์ที่ลาดพร้าวพร้อมเงินสดอีกจำนวนหนึ่ง เขาจึงโยกย้ายไปเป็นเด็กลาดพร้าวในเวลาต่อมา
“พี่สอ” คือชื่อเล่นที่น้อง ๆ ในวงการเรียก ส่วน “เผือก” คือชื่อที่คนสนิทและครอบครัวเรียกกัน “ยุทธ” เป็นชื่อเรียกขานของน้อง ๆ ในวงการ และเพื่อนมัธยมฯ อำนวยศิลป์รุ่น 57 ในวัยที่สรยุทธได้ชื่อว่าเป็นเด็กหนุ่มเลือดร้อน ถึงไหนถึงกันกับเพื่อนจนถึงขั้นที่เคยถูกควบคุมเข้าบ้านเมตตาและควบคุมประพฤติ 1 ปีเต็มมาแล้ว หลังถูกดัดนิสัยเขากลับมาตั้งใจเรียนจนจบมัธยมฯ เรียนต่อคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สรยุทธตั้งใจเรียนอย่างหนักจนได้เกรดเฉลี่ย 3.80 เกียรตินิยมอันดับ 1 ในปี พ.ศ.2530 และยังเป็นประธานคณะอีกด้วย หลังฝึกงานที่หนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่นในยุครุ่งเรืองเขาเขียนใบสมัครทิ้งไว้ ต่อมาก็ถูกเรียกเข้าทำงานได้เงินเดือนเริ่มต้น 4,000 บาท ได้รับมอบหมายเป็นนักข่าวสายรัฐสภา 2 ปี ก่อนโยกไปประจำการที่ทำเนียบรัฐบาลอีก 2 ปี สรยุทธ์ขึ้นชื่อว่าเป็นนักข่าวที่ทำงานหนัก ขยันถามเพื่อหาข่าว ช่วงปี 2532 พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรี เจอหน้าสรยุทธ์ที่เป็นอันถามไม่หยุด จนครั้งหนึ่งพลเอกชาติชายถึงกับตอบโต้สรยุทธว่า “คนอย่างคุณนี่แหละทำให้กรุงศรีอยุธยาแตก” จนเป็นเรื่องฮือฮาของนักข่าวร่วมวง
สรยุทธขยายความเรื่องนี้ว่า “น้าชาติมีวลีประจำตัวว่า โนพร็อพเบล็ม ไม่มีปัญหา ทุกครั้งที่ท่านพูดอย่างนี้ นักข่าวชื่อสรยุทธจะต้องมีปัญหาถามกลับไปเสมอ ช่วงก่อนที่จะมีการปฏิวัติ วันนั้นผมถามน้าชาติว่า ผู้นำเหล่าทัพไม่มากินข้าวเช้าแปลว่าอะไร เพราะปกติผู้นำเหล่าทัพจะมาทานข้าวเช้าบ้านท่าน จำได้ว่าจากที่ยิ้ม ๆ อยู่ น้าชาติเครียดทันที ทั้งที่ปกติอารมณ์ดี แต่วันนั้น พูด (คำนั้น) เสร็จก็เดินหนี เพื่อน ๆ บอก สรยุทธเปิดคำถามวงแตก ถึงจะรู้สึกผิดนิด ๆ แต่ก็ยังเอากลับมายอกย้อน ตามประสาคนชอบเถียงผ่านทางบทความว่า น้าชาติคงจำประวัติศาสตร์ผิด ที่กรุงศรีฯ แตกไม่ใช่เพราะมีใครทำให้เกิดความสับสน แต่เป็นเพราะผู้นำมีปัญหาต่างหาก ....ไม่นานก็มีการปฏิวัติจริง ๆ"
แต่เขาก็ได้บทเรียนจากการถูกตอกใส่จากพล.อ.ชาติชายครั้งนั้นว่า “นักข่าวบางคนจะมีสไตล์หรือเอกลักษณ์ที่คนอื่นจำได้ ของผมจะเป็นการยิงคำถามที่ค่อนข้างหวือหวา แรง จนบางทีรู้สึกผิด ความจริงถามได้ แต่ไม่ควรใช้คำรุนแรง ถามหาเรื่อง หรือถามเรื่องที่เซ้นซิทีฟเกินไป”
สรยุทธไต่เต้าเป็นหัวหน้าข่าวการเมืองเดอะเนชั่นในปี 2537 ก่อนได้รับตำแหน่งบรรณาธิการข่าวในปี 2540 และจากจุดนี้เองที่สรยุทธเริ่มจับงานโทรทัศน์ครั้งแรก และเป็นนโยบายแบบ ‘มาก่อนกาล’ ของคุณ ‘สุทธิชัย หยุ่น’ ที่ต้องการให้สื่อสายสิ่งพิมพ์ ‘Transmedia’ ไปออกหน้าจอ นำความรู้และประสบการณ์ไปเล่าเป็นเสียงแทนตัวหนังสือ ซึ่งเป็นรูปแบบการเล่าที่เรียกว่า ‘Interactive’ เล่นกับคนดูที่สุทธิชัยคิดและส่งต่อให้สรยุทธ ทำให้แฟนโทรทัศน์รู้จักสรยุทธเป็นครั้งแรกบนหน้าจอในรายการวิเคราะห์ข่าว
หลังพฤษภาทมิฬเกิดช่องโทรทัศน์เสรีในระบบยูเอชเอฟตามเสียงเรียกร้องของประชาชน กระทั่งเกิดเป็นช่อง ‘ไอทีวี’ และกลุ่มสยามอินโฟเทนเมนท์ผู้ชนะประมูลดึงเครือเนชั่นเข้าไปร่วมทุน สถานีโทรทัศน์ไอทีวีจึงเป็นอีกเวทีที่สรยุทธ สุทัศนะจินดา สร้างชื่ออย่างมากในฐานะ ‘นักวิเคราะห์ข่าวทางโทรทัศน์’ ขยายวงผู้ชมกว้างกว่าเดิม ทั้งรายการเวทีไอทีวี, ฟังความรอบข้าง, ไอทีวี ทอล์ก ฯลฯ ผู้ชมถึงกับทึ่งที่ผู้ชายคนหนึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีแต่เล่าข่าวเศรษฐกิจและวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นอย่างรวดเร็วฉะฉาน คู่ขนานกับการทำหน้าที่ประจำในสถานีเนชั่นทีวีที่ยกระดับเป็นสถานีข่าว 24 ชั่วโมง
สรยุทธไปประจำการอยู่กับหลายรายการ เช่น เก็บตกจากเนชั่น, รายการคม ชัด ลึก, ก๊วนกวนข่าว เป็นต้นจนแฟนข่าวของเขางงว่าชายคนนี้เอาเวลาที่ไหนพักผ่อน แต่เหมือนกราฟชีวิตของสรยุทธพุ่งสูงไม่หยุดยั้ง หลังจากเขาขึ้นดำรงตำแหน่ง รองบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น เป็นตำแหน่งสุดท้ายสรยุทธก็ยื่นขอลาออก ชนิดที่ถูกผู้บริหารเรียกประชุมสอบถามความในใจเพื่อเหนี่ยวรั้ง แต่สรยุทธก็ตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะลาออก ด้วยเหตุผลว่าเขารู้สึกอิ่มตัวในชายคาเดอะ เนชั่น
หลังลาออกจากเดอะ เนชั่น สรยุทธ สุทัศนะจินดาถูก ‘มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ขณะนั้นติดต่อให้มารับเป็นพิธีกรรายการใหม่ทางช่อง 9 อสมท รายการ “ถึงลูกถึงคน” ออกอากาศทุกคืนวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 23.00 น.-00.30 น. ครั้งแรกวันที่ 3 มิถุนายน 2546 ได้รับค่าจ้างเป็นรายวันตอนละ 5,500 บาท ขณะเดียวกัน ในห้วงเวลานั้น สรยุทธ ถูก“ประวิทย์ มาลีนนท์” และ “สุพล วิเชียรฉาย” บิ๊กบอสแห่งบางกอกการละคอนดึงไปเป็นพิธีกรร่วมที่รายการ ‘เรื่องเล่าเช้านี้’ คู่กับ ‘อรปรียา หุ่นศาสตร์’ และแทรกด้วยข่าวกีฬาโดย ‘เอกราช เก่งทุกทาง’ กลายเป็นรายการฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง จิงเกิ้ลประกอบรายการกลายเป็นสัญลักษณ์ของยามเช้าที่เปิดดังตั้งแต่ร้านข้าวแกงหน้าปากซอยยันสำนักงานบริษัทยักษ์ใหญ่
ความสำเร็จจากเรื่องเล่าเช้านี้ที่ช่อง 3 ทำให้เดือนกุมภาพันธ์ 2547 ผอ.มิ่งขวัญ แห่ง บมจ.อสมท เสนอให้สรยุทธขึ้นรายการใหม่แนวเล่าข่าวเพื่อตอบแทนที่ทำให้รายการ “ถึงลูกถึงคน” ได้ทั้งชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้ช่อง 9 ทาง บมจ. อสมท จึงเสนอให้สรยุทธร่วมเป็นผู้ร่วมผลิตและแบ่งเวลาโฆษณาแบบ Time Sharing 50:50 พร้อมกันนั้นก็ได้ขึ้นค่าตอบแทนการเป็นพิธีกรรายการ “ถึงลูกถึงคน”เป็นตอนละ 30,000 บาท ทำให้สรุยทธก่อตั้ง ‘บริษัท ไร่ส้ม จำกัด’ เพื่อผลิตรายการ “คุยคุ้ยข่าว”ในเวลาต่อมา ซึ่งรายการนี้สรยุทธได้ดึงคู่หูเล่าข่าวจากเนชั่น ทีวี อย่าง ‘กนก รัตน์วงศ์สกุล’ มาเป็นพิธีกรคู่ด้วย
รายการนี้สร้างปรากฏการณ์ความนิยมอย่างมาก แต่แล้วหลังจากเริ่มมีข่าวหลุดออกมาเกี่ยวกับการการโกงค่าโฆษณาที่ อสมท จู่ ๆ กนกก็หายไปจากรายการคุยคุ้ยข่าว ต่อมาเขาให้สัมภาษณ์กับสื่อหนึ่งว่า “ไม่อยากทำงานร่วมกับคนโกง” ซึ่งแน่นอนว่ากระแสความสงสัยเริ่มพุ่งไปที่สรยุทธ ยิ่งเมื่อเป็นที่แน่ชัดว่าบริษัทไร่ส้มของเขามีปัญหาเรื่องค่าโฆษณากับ อสมท สรยุทธก็ยุติการผลิตรายการคุยคุ้ยข่าวในวันที่ 31 ธันวาคม 2549 และย้ายไปเป็นบริษัทร่วมผลิตกับรายการเรื่องเล่าเช้านี้ที่ช่อง 3 เพียงอย่างเดียวภายใต้สัญญาที่เขาต้องขึ้นรายการอีก 2 รายการ คือ ‘เรื่องเด่นเย็นนี้’ และ ‘เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์’ นั่นหมายถึงประชาชนทั้งประเทศจะได้เห็นสรยุทธ์เล่าข่าวครบทั้ง 7 วัน ซึ่งคงไม่มีพิธีกรข่าวคนไหนทำได้อีกแล้ว
ที่ช่อง 3 เรื่องเล่าเช้านี้ โดยการกุมบังเหียนของสรยุทธสร้างปรากฏการณ์มากมาย เขาปรับเปลี่ยนมุมมองให้รายการข่าวเช้าต้องเป็นการเล่าแนวบันเทิง เพราะช่วงเช้าคนไม่อยากฟังเรื่องเครียด ๆ เขาจึงหยิบจับเรื่องหมาแมว ข่าวตลก หรืออาชญากรรมโอละพ่อมาเล่าเป็นสัดส่วนหลัก พร้อมกับดึงพิธีกรหน้าใหม่มาช่วยเบรกเขาบนหน้าจอ อย่าง สู่ขวัญ บูลกุล ,มีสุข แจ้งมีสุข ,ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล, ภาษิต อภิญญาวาท ,ไบรท์ พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ ขณะที่ข่าววงการบันเทิงเขาดึงโก๊ะตี๋ อารามบอย, น้าเน็ก เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา, จอย รินลณี ศรีเพ็ญ, เบนซ์ พรชิตา ณ สงขลา, โอ๋ ภัคจีรา มาช่วยเล่า
มองมุมหนึ่งเหมือนสรยุทธเป็นป๋าดันที่พร้อมเปิดโอกาสเหมือนที่เขาเคยได้รับจากสุทธิชัย หยุ่น แต่มากกว่านั้นคือการมองทะลุปลุโปร่งในการสร้างแบรนด์ให้เรื่องเล่าเช้านี้เป็นที่นิยมและมีอนาคตไกล
สิ่งที่ตามมาคือเรตติ้งที่พุ่งทะยานเหนือช่องอื่น บางเช้ามีคนนั่งดูสรยุทธ์ถึง 3 ล้านคน ต่ำสุดก็ยังอยู่ 2.5 ล้านคน เพราะบางคนถึงไม่ได้ดูรายการก็ขอให้เปิดแช่ทิ้งไว้เพื่ออาบน้ำ แต่งตัว ทำกับข้าว กินข้าว รอตักบาตพระ สิ่งที่ตามมาคือค่าโฆษณาของช่อง 3 โดยเฉพาะข่าวเช้า ช่องอื่นยังอยู่หลักหมื่น แต่ช่อง 3 ปาไปนาทีละสามแสนบาท หรือหากให้สรยุทธพูดพีอาร์หรือ tie in ในรายการก็ไม่ต่ำกว่าครึ่งล้าน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือผลกระทบจากสิ่งที่สรยุทธรายงานนำไปสู่การถูกพูดถึง วิพากษ์วิจารณ์ต่อ หรืออาจถูกแก้ไขอย่างทันท่วงทีจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
เขาจึงเป็นทั้งสัญลักษณ์สื่อมวลชนของยุคสมัย และเป็นผู้มีอิทธิพลในคราวเดียวกัน เพราะนโยบายการทำงานของสรยุทธ์ว่ากันว่าเขี้ยวและเข้มงวดกับทีมงานมาก แหล่งข่าวต้องไม่หลุดมือ เขามีกลยุทธ์ที่สอนทีมงานให้ฉกชิงตัวแขกรับเชิญในกระแสเพื่อให้ออกอากาศรายการของตนเองก่อน ทำให้ยุคนั้นมีเสียงซุบซิบถึงขั้นว่า รายการของเขาชิงตัวแขกด้วยสารพัดวิธี ทั้งปาดหน้า ล็อคตัว และปิดตายรายการอื่นจนกว่าสรยุทธจะสัมภาษณ์เสร็จ แต่ไม่ว่าใครจะวิจารณ์เขายังไง สรยุทธแทบไม่เคยออกมาตอบโต้หรือแก้ข่าว เขาไม่เอาตัวเองเข้าไปขัดแย้งกับใคร แม้ว่าจะเริ่มถูกขุดคุ้ยอย่างหนัก โดยเฉพาะสำนักข่าวอิศราของ ‘ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์’ ที่เริ่มขุดรายได้ของเขาอย่างหนัก โดยระบุว่าหลังบริษัท ไร่ส้ม จำกัด มีปัญหาเรื่องเงินค่าโฆษณา 138 ล้าน และสรยุทธย้ายไปอยู่ช่อง 3 สร้างรายได้เพิ่มขึ้นทุกปี เฉพาะปี 2554 บริษัท ไร่ส้ม จำกัด มีรายได้ 455,383,699.19 บาท กำไรสุทธิ 159,431,585.71 บาท ส่วนบริษัท ชัดถ้อยชัดคำ จำกัดที่สรุยทธจดทะเบียนเพิ่มอีกบริษัทหนึ่งสำหรับงานอีเว้นท์และกิจกรรม มีรายได้ 69,729,311.44 บาท กำไรสุทธิ 24,707,537.12 บาทรวม 2 บริษัทเฉพาะปี 2554 รายได้ 525,113,010.63 บาท กำไรสุทธิ 184,139,122.83 บาท จึงเรียกได้ว่าเป็นกรรมกรข่าวพันล้านตัวจริงเสียงจริง
และอีกกลุ่มที่ดูเหมือนจะไม่ชอบสรยุทธ คือผู้ชุมนุมทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและ กปปส. ที่เชื่อว่าสรยุทธเป็นลิ่วล้อทักษิณมีทัศนคติโน้มเอียงไปทางเสื้อแดง และอ่านข่าวอย่างลำเอียง มีอคติต่อผู้ชุมนุมเสื้อเหลือง จนเกิดปรากฏการณ์มวลชนนำโดย ‘นางทยา ทีปสุวรรณ’ ล้อมตึกมาลีนนท์เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2556 เพื่อกดดันให้ช่อง 3 และสรยุทธนำเสนอข่าวเป็นกลาง ถึงขั้นที่บังคับให้เขาเป่านกหวีด จนทำให้สรยุทธต้องมาพบ และยินยอมเป่านกหวีด 1 ครั้งตามคำขอ บอกว่าสิ่งที่เรียกร้องให้ตนเป่านกหวีดเข้าใจว่าพี่น้องต้องการกำลังใจ สิ่งสำคัญคือการทำหน้าที่เสนอข้อมูลไปสู่ประชาชน ถ้าเป่านกหวีดแล้วหมายถึงการตัดสินอย่างหนึ่งอย่างใด อยากบอกว่าสิ่งที่แสดงออก นั่นคือการทำหน้าที่ ในฐานะสื่อคนรู้สึกว่านายสรยุทธเลือกสิ่งหนึ่งสิ่งใดออกไป คนทั้งประเทศจะเชื่อไหม การเป่านกหวีดไม่มีปัญหา แต่ขอให้เข้าใจว่าตนทำหน้าที่สื่อและจะเสนอทุกความเห็นของประชาชน
จุดแข็งมาก ๆ ของสรยุทธ คือความสัมพันธ์ที่เขาสร้างไว้กับคนดังหลายคน จนเป็นดั่งมิตรแท้ที่เกื้อกูลช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น ตัน ภาสกรนที, ชูวิทย์ กมลวิศิษย์, โน้ส อุดม, โก๊ะตี๋ อารามบอย ฯลฯ ล้วนรักและชื่นชมในสิ่งที่สรยุทธ์เป็น แม้ในวันที่ศาลตัดสินเรื่องทุจริตค่าโฆษณา อสมท คนเหล่านี้ก็ไม่เคยผละความเป็นเพื่อนกับเขา ยกเว้นแต่แวดวงวิชาชีพสื่อที่เหยียบซ้ำสรยุทธ์มายาวนานหลายปี ในปี 2555 ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันเคยจัดเสวนา “กรณีไร่ส้ม…บทพิสูจน์ความเข้มแข้งของสังคมในการต่อต้านคอร์รัปชั่น” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยเรียกร้องให้ช่อง 3 แสดงความรับผิดชอบต่อการถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดว่าสรยุทธสนับสนุนเจ้าหน้าที่ของ อสมท ทุจริตทำให้สรยุทธยักยอกเงินค่าโฆษณา และเรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ หยุดการสนับสนุนรายการ ขณะที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเรียกร้องให้สรยุทธพิจารณาทบทวนตัวเองด้วย ทางสรยุทธจึงตอบโต้ด้วยการยื่นจดหมายลาออกจากสมาชิกของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยหลังจากนั้น
ก่อนที่ศาลตัดสินคดีทุจริตค่าโฆษณา อสมท ให้จำคุก 6 ปี 24 เดือน และสรยุทธน้อมรับเดินเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ด้านคดีอาจมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน แต่ในโลกสื่อสารมวลชนปฏิเสธไม่ได้ว่าสรยุทธ สุทัศนะจินดาเป็นชายที่สร้างปรากฏการณ์หลายอย่างให้สังคมไทย ในยุคสมัยของเขารายการเล่าข่าวมากมายที่ช่องต่าง ๆ โหมสร้างขึ้นมาเพื่อสู้กับช่อง 3 แต่ก็สู้ไม่ได้
พิธีกรข่าวหลายคนที่ถูกโปรโมทเป็น ‘นิวสรยุทธ’ ก็ไม่อาจทาบได้แม้เพียงเงา แต่กว่าจะมาถึงขั้นนี้ ต้องยอมรับว่าสรยุทธทำงานหนักและพักผ่อนน้อยมาตั้งแต่สมัยที่เนชั่น ไอทีวี จนถึงห้วงเวลาที่ อสมท แต่ช่วงรุ่งโรจน์ที่สุดที่ช่อง 3 กับสามรายการในความรับผิดชอบ ข้อมูลจากคนที่เคยร่วมงานกับเขาบอกว่า สรยุทธตื่นนอนตอนตีสาม มาถึงตึกมาลีนนท์ตอนตีสี่ อ่านหนังสือพิมพ์ดื่มกาแฟ สูบบุหรี่ที่เขาปันใจให้ยี่ห้อกรองทิพย์เพียงยี่ห้อเดียวทั้งชีวิต และคุยประเด็นกับโปรดิวเซอร์ให้รู้ประเด็นข่าวครบถ้วนก่อนเข้ารายการเรื่องเล่าเช้านี้ตอน 6 โมงเช้า ทานข้าวใกล้ ๆ เที่ยง และจะนอนอีกครั้งตอนเที่ยง 2-3 ชั่วโมงก่อนตื่นมาเตรียมตัวจัดรายการเรื่องเด่นเย็นนี้อีกครั้ง จบรายการเขาจะประชุมกับทีมงานเพื่อแก้ไขจุดอ่อนรายวันและตรวจเช็คประเด็นข่าวให้พอรู้ 80-90 เปอร์เซ็นต์แล้วค่อยกลับบ้านตอนเที่ยงคืนเพื่อนอนประมาณตีหนึ่งเหมือนเดิม ยกเว้นช่วงจัดเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ที่รายการเริ่มตอน 11 โมง เขาจะนอนยาวเพื่อตื่นตอน 8 โมง
การเล่าข่าวของเขาเป็นดั่งจิตวิญญาณ แม้วันที่เขาอยู่ในสภาพถูกคุมขัง แต่สรยุทธก็ยังจัดรายการ ‘เรื่องเล่าชาวเรือนจำ’ ให้เพื่อนนักโทษและผู้คุมได้ชมกัน ในขณะที่เรตติ้งของช่อง 3 ในวันที่ไม่มีสรยุทธกลับสาละวันเตี้ยลงจนช่องอื่นพากันแซง แม้จะเปลี่ยนแปลงภายในมากมายรวมถึงปรับลดพนักงานรายได้ก็ไม่กระเตื้อง จึงรอวันที่สรยุทธพ้นโทษออกมากอบกู้
แน่นอนว่าชายที่ชื่อสรยุทธ เขาให้ใจกับนายประวิทย์และช่อง 3 ไปแล้ว เพียงรอวันที่เหมาะสมกลับมาประจำการที่เดิม เพื่อกอบกู้เรตติ้งให้ช่อง 3 และแม้เพียงเปรยว่าจะกลับมาประจำการที่เดิม แฟนๆ ขาประจำก็แทบเปิดช่อง 3 แช่รอแล้ว ต้องยอมรับว่าเขาเป็นนัมเบอร์วันจริง ๆ
อ้างอิง
หนังสือ ‘กรรมกรข่าว สรยุทธ สุทัศนะจินดา’
https://thestandard.co/sorayuth-lawsuit/
http://www.prasong.in.th
https://positioningmag.com/7871
https://www.tvdigitalwatch.com/news-ch3-reunglow-choanee-21-1-63/
https://www.thairath.co.th/entertain/news/1056659
https://positioningmag.com/62931
https://news.thaipbs.or.th/content/250628
https://m.mgronline.com/daily/detail/9590000023464
https://positioningmag.com/8892
https://news.thaipbs.or.th/content/116413
https://siamrath.co.th/n/202315
https://www.thairath.co.th/entertain/news/1056659
https://www.posttoday.com/social/general/261067
เรื่อง: กัณฐ์ นครสุขาลัย