เลอพงศ์ สวนสังข์ จากอาสาสู่อาชีพ ผู้เคยสวมเสื้อเกราะกันกระสุนดับไฟกลางพื้นที่ใช้กระสุนจริง
"ช่วงมีการชุมนุมแล้วไฟไหม้กรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ พวกผมรอเตรียมพร้อมตลอดทั้งวันทั้งคืนไม่ได้กลับบ้าน ต้องนอนใต้โต๊ะทำงานอยู่เกือบสองเดือน เผื่อมีเหตุจะได้รีบออกไปทันที คงไม่มีอีกแล้วที่ต้องใส่เสื้อเกราะกันกระสุนข้างในแล้วสวมชุดดับเพลิงทับไว้ เพื่อไปยืนถือสายฉีดน้ำ ตอนนั้นเราไปถึงเซ็นทรัลเวิลด์เป็นทีมแรก แต่กว่าจะเข้าไปได้ก็เกือบสองทุ่ม กำลังดับไฟมีทหารตะโกนว่าโดนโจมตีต้องรีบปิดน้ำวิ่งหนีออกมา”
ประสบการณ์การผจญเพลิงในใจกลางพื้นที่การใช้กระสุนจริง ที่ความเสี่ยงจากเปลวไฟร้อนแรง มีไม่น้อยไปกว่าคมกระสุนที่ปลิวว่อนไร้ทิศทางนี้ เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของเหตุการณ์เสี่ยงอันตรายที่นักกู้ภัยมืออาชีพอย่าง หนุ่ย-เลอพงศ์ สวนสังข์ เคยสัมผัสมาตลอดชีวิตของการทำงานด้านกู้ภัย อาชีพที่เขาเริ่มต้นจากการเป็นอาสาสมัครเมื่อกว่า 25 ปีที่แล้ว
ย้อนไปตอนที่หนุ่ย อายุ 15 ปี ตอนนั้นเขาไม่อยากใช้ชีวิตวัยรุ่นไปกับการเที่ยวเล่นตามวัยคะนอง เลยเอาเวลาว่างทุ่มให้กับงานช่วยเหลือสังคม ด้วยการตามรุ่นพี่ไปเป็นอาสาในมูลนิธิ จนเรียนในระดับมหาวิทยาลัยเขาก็ยังคงมุ่งมั่นทำงานด้านนี้อยู่ตลอด แม้จะถูกมองด้วยสายตาแปลก ๆ จากเพื่อนบางคน ยามเหลือบไปเห็นเสื้อมูลนิธิที่เขานำติดตัวมาด้วย แต่กลิ่นเหงื่อและคราบเลือดบนเสื้อไม่เคยทำให้เขาอับอาย เพราะความเชื่อมั่นว่านี่เป็นงานที่ได้ช่วยเหลือสังคม
ในอดีตความรู้เรื่องวิธีการกู้ภัยส่วนใหญ่มาจากการครูพักลักจำ และรุ่นพี่สอนต่อกันมา ด้วยการที่เขาเป็นคนมุ่งมั่นตั้งใจจริง ทำให้ตัดสินใจหาความรู้ด้านการกู้ภัยเพิ่มเติมให้มีหลักที่ถูกต้อง โดยได้ไปอบรมหลักสูตรเบื้องต้นทั้งการดับเพลิง ปฐมพยาบาลเบื้องต้น การขนย้ายคนเจ็บ ไปจนถึงด้านการกู้ชีพ
"สมัยก่อนการเรียนด้านกู้ภัยในประเทศไทยไม่มีเลย ยังไม่มีหลักสูตรเฉพาะ และหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก ตอนนั้นส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัคร ที่ทำเป็นอาชีพไม่มีเลย อย่างผมเองก็เป็นอาสาด้านกู้ภัยดับเพลิงมานาน จนวันหนึ่งคิดว่าน่าจะไปให้สุดทาง ถึงเป็นอาสาเราก็ต้องเต็มที่ให้กับมัน”
แม้จะผ่านงานหลากหลายทั้งพนักงานบริษัท ทีมเลขานักการเมือง ไปจนถึงผู้จัดการบริษัทในวงการบันเทิง แต่สิ่งหนึ่งที่หนุ่ยยังคงทำมาตลอดนั้นคืองานด้านกู้ภัย เมื่อ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย หรือ ปภ. เปิดรับสมัคร เขาเลยแทบไม่ต้องตัดสินใจว่าจะลาออกทิ้งเงินเดือนผู้จัดการหลายหมื่นมารับเงินเดือนหลวงที่เริ่มต้นไม่ถึงหมื่นบาท เพราะความตั้งใจที่อยากทำให้ประเทศไทยมีทีมกู้ภัยอาชีพ
ตอนที่บรรจุใหม่ ๆ เมื่อ 13 ปีที่แล้ว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยังทำงานด้านอำนวยการ ซึ่งเขาได้มีส่วนพัฒนาระบบกู้ภัย และฟอร์มทีมกู้ภัยขึ้นมา จนมีฝ่ายปฎิบัติการ ซึ่งเป็นทีมกู้ภัยที่เป็นราชการ โดยตามกฎหมายหน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านบรรเทาสาธารณภัย เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติต่าง ๆ ขึ้นในประเทศ
“งานแบบนี้รับรองความปลอดภัยไม่ได้เลย เราเลยต้องลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด โดยหนึ่งต้องมีความรู้ สองอุปกรณ์ต้องได้มาตรฐาน ผมอยากให้ประเทศไทยเป็นเหมือนประเทศที่เจริญแล้ว ที่เปลี่ยนจากระบบอาสาสมัครเป็นนักกู้ภัยมืออาชีพ เพื่อให้การช่วยเหลืออย่างถูกวิธี แต่ตอนนี้ยอมรับว่าเรายังไม่พร้อม เพราะถ้าตอนนี้ไม่มีอาสาสมัครเลยก็ทำอะไรไม่ได้ รถโรงพยาบาลก็ไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่ยิ่งน้อยกว่านั้นอีก”
ตอนนี้งานด้านกู้ภัยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือกรณีถ้ำหลวง ที่ช่วยทำให้คนเข้าใจระบบมากขึ้น โดยครั้งนั้นทีมของหนุ่ย นอกจากรับผิดชอบด้านการค้นหาปล่องจากด้านบนถ้ำหลวง เพื่อใช้ความเชี่ยวชาญในการโรยตัวช่วยเหลือทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิต และเป็นหน่วยงานเจ้าภาพที่เชื่อมทุกความผูกพันของคนไทยที่ส่งแรงใจมาช่วยทีมหมูป่าในรูปแบบการสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างเช่น ถังดำน้ำให้กับทีมกู้ภัยแล้ว
เขายังมีส่วนนำระบบกู้ภัยที่ได้มาตรฐาน คือ การค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (Urban Search And Rescue : USAR) ที่เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการค้นหาและกู้ภัยระหว่างประเทศ ขององค์กรสหประชาชาติ มาปรับใช้ให้เข้ากับพื้นที่ถ้ำหลวง เพื่อให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นเป็นระบบ
"ถ้ำหลวงเป็นครั้งแรกที่เราเจอปัญหาใหญ่ที่เกิดเหตุขึ้นจุดเดียว โดยมีคนมาจากทั่วโลกมาร่วมช่วยกัน เราเลยพยายามเอาระบบ USAR มาปรับใช้ เพื่อจัดการให้เป็นระเบียบ แยกหน่วยงาน เป็นกู้ชีพ กู้ภัย ตามส่วนงานที่เกี่ยวข้อง แล้วร่วมกันวางแผนประสานงานส่วนปฎิบัติการด้านการกู้ภัย มีการทำคลิปให้ความรู้กับทีมอาสาสมัคร ให้ส่งต่อกันไป ทหารก็เอาระบบที่เราเริ่มไปใช้ต่อ"
นอกจากนี้หน่วยงานของหนุ่ย อยู่เบื้องหลังการกู้ภัยทีมกู้ภัยที่ประสบอุบัติเหตุระหว่างหาทางช่วยเหลือทีมหมูป่า ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาแทบทุกวัน ทั้งรถกู้ภัยตกเหว ทหารได้รับบาดเจ็บ ไปจนถึงอาสาสมัครหลงป่า จนเขาต้องจัดทีมเข้าไปค้นหาอยู่ตลอดทั้งคืน
“ตอนนั้นได้นอนวันละสองชั่วโมง จนหน่วยอื่น ๆ กลับกันไปหมดค่อยได้ถอนตัว ถามว่าเหนื่อยไหม ไม่เหนื่อยกายนะแต่มีเหนื่อยใจบ้าง การทำงานเสี่ยงภัยทุกคนเสียสละหมด ถ้าไม่มีใจเสียสละชอบช่วยเหลือคนอื่นจะมาทำอาชีพนี้ไม่ได้ แต่บางครั้งคนไม่เข้าใจข้อจำกัดของเราว่าคนไม่เพียงพอ ไม่สามารถช่วยได้ทุกจุดในเวลาเดียวกัน เราช่วยจุดนี้อยู่จนไม่ได้หลับไม่ได้นอน แต่คนอีกจุดกลับคิดว่าเราไม่ได้ไปช่วย”
สิ่งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยมืออาชีพแนะนำคือ ทุกคนควรต้องช่วยเหลือตัวเองในเบื้องต้นให้ได้ โดยหาความรู้ด้านการเอาตัวรอด และเตรียมพร้อมอยู่ตลอด อย่างเช่นการอพยพหนีไฟเวลาเกิดเพลิงไหม้ โดยเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นในเวลากลางคืนซึ่งความมืดและควันทึบบดบังทัศนวิสัย
“เวลาเกิดไฟไหม้ส่วนใหญ่คนจะเสียชีวิตเพราะสำลักควันเหมือนที่ซานติก้าผับ เคยมีเคสหนึ่งไฟไหม้ตึกสูงตอนตีห้า แล้วคนรอดชีวิตทั้งหมดเพราะเจ้าหน้าที่ให้หลบในห้องไม่ต้องหนีลงข้างล่าง แต่ถ้าจำเป็นจริง ๆ ให้ก้มต่ำแล้วรีบคลานออกจากที่เกิดเหตุ ซึ่งต้องรู้ทิศทางที่ปลอดภัย และมีสติ ดังนั้นการเตรียมความพร้อม ซ้อมแผนอพยพเวลาเกิดเพลิงไหม้อาคารเป็นสิ่งที่จำเป็น”
นอกจากนี้ในฐานะที่ทำงานด้านกู้ภัยอาชีพมานานหลายสิบปี เขายังย้ำว่าปัจจุบันภัยพิบัติเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากเรื่องไฟไหม้แล้วเรายังควรต้องตระหนักรู้และเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์พายุ น้ำท่วม และแผ่นดินไหว ซึ่งอาจเกิดขึ้นในเวลาไหนก็ได้อีกด้วย
สิ่งที่ทำให้คนคนหนึ่งยอมอดหลับอดนอน เพื่อเป็นยามเฝ้าระวังภัยอันตรายให้กับคนอื่น รวมไปถึงความกล้าในการเอาชีวิตตัวเองไปเผชิญหน้ากับภัยอันตรายมากมาย ตั้งแต่เปลวไฟร้อนแรง เศษซากหนักหลายตันที่พร้อมถล่มลงมาทุกเมื่อ ไปจนถึงกระสุนปืนกล และสะเก็ดระเบิดจากการชุมนุม เพื่อแลกกับความปลอดภัยของอีกหลายชีวิต อาจเป็นเพราะความรู้สึกว่าทุกคนที่กำลังประสบภัยต่างก็มีคนที่รักที่กำลังเป็นห่วงพวกเขา การทำงานด้านกู้ภัยเลยเหมือนเป็นตัวกลางเชื่อมทุกความผูกพันนั้น แล้วช่วยให้คนที่กำลังประสบภัยรอดปลอดภัยกลับไปหาคนที่รอเขาอยู่
"เราทำงานนี้มาตั้งอายุ 15 จนที่บ้านเองเริ่มชินแล้ว อะไรที่มันอันตรายมากเราก็พยายามไม่เสี่ยง แต่เวลามีอุบัติเหตุหรือไฟไหม้ คนทั่วไปวิ่งหนีแต่เราวิ่งเข้าหา เพราะรู้ว่ามีคนที่รอความช่วยเหลือจากเราอยู่ พอไปถึงได้เห็นแววตาขอบคุณของเขา มันแทบไม่ต้องสื่อด้วยคำพูดเลยนะ ถ้าไม่ใช่เราไปช่วยแล้วใครจะไปช่วยล่ะ เลยกลายเป็นงานที่เราต้องทำต่อไปเรื่อย ๆ”