ภารกิจในกะดึก ที่ต้องพบกับสถานการณ์ฉุกเฉินเฉียดตายของผู้คน สติต้องมา ปัญญาต้องเกิด ต้องใช้ความสตรองเบอร์ไหน หรือแรงบันดาลใจอะไรหรือ?
วนิชา แกล้วทนงค์ อายุ 27 ปี เจ้าหน้าที่ฉุกเฉินการแพทย์ ประจำแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉิน โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดพัทลุง ในรอบเวรกะดึกช่วงเที่ยงคืนถึงแปดโมงเช้า (0.00 - 08.00 น.) มีเรื่องมาแบ่งปัน
“หนูไม่เคยคิดเลยว่าจะเลือกอาชีพนี้ ความฝันจริง ๆ ตอนเด็กอยากเป็นครูภาษาอังกฤษ เพราะหนูชอบครูสอนภาษาอังกฤษ เขาสวย ลุคดี เราก็ไปสอบเรียนวิชาครูนะ สอบได้แล้วด้วย แต่หลักสูตร ป.ตรี ต้องเรียน 4 ปี ที่บ้านพ่อแม่มีลูก 3 คน พี่สาวก็เรียนอยู่ หนูเลยคิดว่าเป็นภาระส่งเสียการเรียนที่หนัก พอดีเห็นว่าหลักสูตรเวชกิจฉุกเฉิน (ประกาศนียบัตรด้านสาธารณสุข จากสถาบันบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข) เรียนแค่ 2 ปี จบ ปวส. มีงานให้ทำเลย คิดว่าตอบโจทย์ในเรื่องภาระของพ่อแม่ เลยตัดสินใจเลือกเรียนตรงนี้”
“พอเรียนจบ กลายเป็นว่า รุ่นหนู ระบบเปลี่ยน จะได้งานก็ต้องไปสอบแข่งขันอีก ต้องสอบอยู่หลายครั้งกว่าจะได้ ระหว่างนั้น ทำงานเป็นพนักงานสาธารณสุขในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว มีค่าจ้างและมีประกันสังคมให้กับตัวเอง แต่ไม่มีสวัสดิการให้ครอบครัวเหมือนที่ข้าราชการเขามี ซึ่งมันไม่ครอบคลุมถึงพ่อแม่เรา สามีและลูก ๆ เราอีก 3 คน”
ตอนนี้ วนิชา เพิ่งได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มาได้ 2 เดือน หลังจากที่ทำงานนี้ในตำแหน่งลูกจ้างมานานกว่า 6 ปี เธอบอกว่าแฮปปี้ทั้งงานช่วยเลี้ยงครอบครัว และงานที่ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น
หน้าที่หลักในตำแหน่งของเธอ คือการรับแจ้งเหตุผู้ป่วยฉุกเฉิน และออกไปพร้อมรถพยาบาล ต้องทำหน้าที่ช่วยเหลือเบื้องต้น หรือ “เฟิร์สท์ เรสพอนส์” (First Response : FR) ร่วมกับทีมแพทย์พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประมาณ 3-4 คน เพื่อรับคนไข้ ณ จุดเกิดเหตุหลังรับแจ้ง และต้องสแตนด์บาย เพื่อเป็นทีมเสริมเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น คนไข้จากอุบัติเหตุหมู่ หรือมีเจ้าหน้าที่ในแผนกป่วยหรือลากิจ จนถึงการเดินทางไปกับผู้ป่วยระหว่างการส่งตัวคนไข้ ไปยังโรงพยาบาลจังหวัด และการตรวจเช็คความพร้อมของรถพยาบาลเพื่อการใช้งานได้ทันท่วงที
สำหรับเธอ งานนี้มีความสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตโดยตรง
“ชีวิตการทำงานกลางคืน ไม่ปกติ ช่วงแรกต้องปรับตัวกับการนอน เราจะฝึกให้บริหารจัดการตัวเอง เราควรแบ่งเวลาอย่างไร ไม่เฉพาะในแผนกอีอาร์ในโรงพยาบาลนะคะ เป็นการทำงานกับมนุษย์ เป็นการทำงานกับสิ่งมีชีวิต ซึ่งต้องอาศัยหลายอย่าง ทั้งสติ ความรู้ และความถูกต้อง”
แม้จะฝึกมาดี เตรียมพร้อมแค่ไหน แต่เรื่องไม่คาดฝันเกิดได้เสมอ วนิชาเล่าถึงประสบการณ์ระทึก เมื่อเธอต้องนั่งไปในรถพยาบาลเพื่อส่งตัวคนไข้วัยชราคนหนึ่งไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์ของจังหวัด ระยะทางจากต้นทางไปถึงปลายทางยาวไกลกว่า 90 กิโลเมตร
แต่พอเข้าช่วง 60 กิโลเมตรสุดท้าย คุณยายที่หายใจแผ่ว ๆ เกิดอาการหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน
“สิ่งแรกที่เจ้าหน้าที่ต้องทำ คือการกดนวดหัวใจ เป็นสิ่งที่เราทำได้โดยตรง และพยาบาลเป็นคอมมานเดอร์ (หัวหน้า) ของเรา ตอนนั้น เขาตัดสินใจพารถแวะโรงพยาบาลที่ใกล้เคียงที่สุด เพื่อใส่ท่อช่วยหายใจให้คนไข้ให้เร็วที่สุด” วนิชาเล่าถึงการแก้สถานการณ์ที่ใช้ทั้งสติ ความรู้ และทีมเวิร์ค
ผลลัพธ์ของวันนั้น เป็นส่วนหนึ่งของคุณค่างานในวันนี้ และทำให้เธอเชื่อมทุกความผูกพัน ทั้งกับทีมงานแพทย์พยาบาล คนไข้ ญาติคนไข้ และส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในฐานะเจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉินซึ่งเป็นฟันเฟืองหนึ่งของงานที่มีความสำคัญ ใกล้ชิดกับความเป็นความตายของมนุษย์
“มันเป็นงานที่เราผูกพันกลมกลืนไปโดยปริยาย ด้วยเพื่อนร่วมงานที่โอเค มีความเป็นพี่เป็นน้อง ทุกคน ทุกตำแหน่ง ทั้งหมอ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ เราต่างมีหน้าที่ของตัวเอง โดยการดูแลคนไข้คนหนึ่ง ต้องอาศัยหลาย ๆ วิชาชีพมาช่วยกัน จึงจะทำให้งานสำเร็จได้”
“ในช่วงการปฏิบัติงาน เราต้องดึงสติให้อยู่ และที่สำคัญคือความร่วมมือของทีมว่าเราต้องช่วยกันให้ผ่านไปได้ ผลตอบแทนจากงานของเรา ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แค่มีญาติคนไข้มาบอกเราว่า ที่เราพาคุณยายฟื้นกลับมาได้ ไปส่งถึงโรงพยาบาลจังหวัดได้ในวันก่อน เป็นเรื่องดีมาก แค่นี้เราก็หายเหนื่อยแล้วจริง ๆ”
เมื่อถามถึงความรู้สึกว่าตัวเองเป็นฮีโรไหม ในงานช่วยชีวิตคนแบบนี้ เธอตอบว่า
“ไม่นะคะ เรารู้สึกแค่เป็นคน ๆ หนึ่ง ที่กำลังทำงานกับคน ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์จริง ๆ กับคนไข้ เรื่องการใช้คำพูดมีความสำคัญนะ เพราะโดยธรรมชาติ เราเป็นคน (ภาค)ใต้ ลักษณะการพูดจาจะพูดแข็ง พูดห้วน เราต้องคิดก่อนพูดมากขึ้น มันมาจากประสบการณ์ที่เราเคยเป็นผู้รับบริการ เราอยากได้อย่างไร เมื่อเรามาทำอาชีพบริการ ก็ต้องปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างนั้น อย่างเรื่องการรอคิวนาน เราทำอาชีพนี้ เราเข้าใจ แต่บางคนเขาไม่เข้าใจ มาโวยวายร้องเรียน มันก็บั่นทอนนะ เราก็เลือกเคสที่เป็นกำลังใจให้เราอยู่ได้ ให้เราอยู่ต่อไปในอาชีพนี้ค่ะ”