ถึงคนจะหยุดพัก แต่เก็บขยะหยุดไม่ได้ - สุทิน ดีวงษ์ พนักงานเก็บขนมูลฝอย สำนักงานเขตดอนเมือง
“ต่อให้บ้านนี้จะหยุดงาน แต่ก็ยังมีขยะมาใหม่อยู่ดี ดังนั้นถ้าไม่มีธุระสำคัญจริง ๆ ก็ไม่อยากหยุด” สุทิน ดีวงษ์ อธิบายหลังจากบทสนทนาเริ่มต้นอย่างทีเล่นทีจริงว่า “ทำไมเดือนนี้ไม่ขอลาหยุดบ้าง”
พนักงานเก็บขยะไม่ได้ลำบากถึงขนาดยากแค้นวันพัก-วันลา ไม่ได้มีเกียรติศักดิ์ศรีมากน้อยกว่าอาชีพไหน ๆ แต่นี่คืออาชีพที่คนทำภาคภูมิใจ เขารักในสิ่งที่ทำ และที่สำคัญคือสุจริต ช่วยเลี้ยงปากท้องของสมาชิกครอบครัว
ในฐานะพนักงานขับรถเก็บขยะ สังกัดสำนักงานเขตดอนเมือง สุทิน บอกว่า เขาเลือกเองที่จะทำงานต่อเนื่องโดยไม่ได้ลาหยุดมาเกือบ 2-3 เดือนแล้ว นั่นเพราะหนึ่ง-เขาไม่รู้จะลาหยุดไปไหน สอง-ถ้าผู้นำทีมหายไป ลูกน้องคงต้องทำงานหนักขึ้น และสาม-อย่างที่บอกข้างต้น ต่อให้หยุดงาน แต่จำนวนขยะไม่ได้หยุดตาม ในทางตรงกันข้าม ช่วงเทศกาลมักจะมีจำนวนขวดแก้ว เศษอาหาร ถุงพลาสติก เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
“ไม่อยากทิ้งงานถ้าไม่จำเป็น” เขาสรุปคำถามสั้น ๆ
ถ้าการสแกนบัตรคือการแสดงตัวของพนักงานออฟฟิศ พนักงานเก็บขยะ สังกัดฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตดอนเมือง ก็คงไม่ต่างกัน พวกเขาจะรวมตัว ณ จุดจอดรถขนขยะหน้าสำนักงานเขต หาอะไรรองท้อง ดื่มกาแฟปลุกให้ตื่นสักแก้ว เชื่อมทุกความผูกพันกับทีมงาน ก่อนกระโดดขึ้นรถสู่ชั่วโมงทำงานตอนเที่ยงคืนตรง
รถขยะนับสิบ ๆ คันของสำนักงานเขตจะถูกแบ่งย่อยออกเป็นทีม ทีมละ 3-4 คน เพื่อแยกย้ายกันไปขนถ่ายขยะตามแต่ละชุมชนซึ่งถูกจัดสรรตามแผน เฉลี่ยคันละ 3-5 ชุมชน รถขยะคันใหญ่ความจุไม่เกิน 7 ตัน มุ่งหน้าเข้าชุมชนนี้-ถอยออกชุมชนนั้น เคลื่อนยกถังขยะนับสิบนับร้อยถังในแต่ละคืน
ระหว่างที่ผู้คนกำลังหลับใหล พวกเขาทำงานอย่างแข็งขัน พยายามส่งเสียงรบกวนชาวบ้านให้น้อยที่สุด กว่าจะจบภารกิจจบงานในแต่ละวัน ก็จะราว ๆ 8 โมงเช้า แต่ถ้าวันใดฝนตกทำให้ขยะเปียกก็ใช้ความลำบากในการขนย้าย กินเวลามากหน่อย
“คนขับ 1 คน ท้ายรถอีก 3 คน นี่กำลังสวย แต่ถ้าวันไหนทีมใดมีคนลา ก็จะเป็นคนขับ 1 ท้ายรถอีก 2 แบบนี้ก็จะเหนื่อยหน่อย แรก ๆ ยกกันเร็ว พอถึงท้าย ๆ เส้นทางจะเอาถังขึ้นหลังก็เริ่มล้า แต่กติกาคือห้ามปล่อยขยะทิ้งไว้ เพราะถ้าเจ้าของบ้านออกมาไม่มีที่ทิ้ง ถนนก็จะเกะกะ สกปรก และส่งกลิ่นเหม็น”
สุทินอยู่ในทีมเก็บขยะมาตั้งแต่อายุ 30 และปีหน้าเขาก็จะเกษียณอายุ 60 ปี โดยมีแผนจะกลับไปค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่บ้านเกิด จ.อ่างทอง
ในวัยหนุ่มเขาทำงานใช้แรงมาหลายรูปแบบ ตั้งแต่ทำนา ทำสวน คนงานก่อสร้าง จนกระทั่งกว่า 20 ปีก่อนที่ทราบข่าวว่ากรุงเทพมหานครรับสมัครพนักงานทั่วไปทำหน้าที่เก็บขยะ จึงส่งหนังสือมาสมัครและได้รับคัดเลือก
บนรถขยะซึ่งเปรียบเสมือนสำนักงาน แรกเริ่มเขาใช้เวลาอยู่ที่ท้ายรถ คอยยกขยะขึ้นรถ จากนั้นเมื่อได้รับความไว้วางใจ เขาขยับตำแหน่งมาเป็นพนักงานขับ พร้อม ๆ กับเป็นหัวหน้าทีม ดูแลความเป็นไปของสมาชิกทั้งที่เป็นลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว
หลังพวงมาลัยรถขยะคันใหญ่ เขาไม่เพียงต้องจำให้ได้ว่าวันนี้ต้องเข้าไปเก็บขยะที่ชุมชนใดบ้าง แต่ต้องบริหารจัดการภายในทีม การวางแผนคัดแยกขยะ บริหารพื้นที่ท้ายรถให้เพียงพอ และเตรียมรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับเรื่องไม่คาดฝัน ที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืน
“ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการจอดรถ บางชุมชนซอยแคบ แต่เจ้าของบ้านดันจอดรถขนาบสองฝั่ง แล้วรถขยะเข้าไปเก็บไม่ได้ เราก็ต้องให้ลูกน้องในทีมไปขอความร่วมมือไปขยับรถ ซึ่งผลลัพธ์คือมีทั้งที่ให้ความร่วมมือดี แต่ก็มีบางบ้านที่แกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น จอดรถขวางทางบ้าง จอดล้อมถังขยะไม่สามารถเข้าไปเก็บได้บ้าง เราก็ต้องหาวิธีการที่จะไปเอาขยะออกมาให้ได้ หรืออย่างแย่ที่สุดก็ต้องถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน มิเช่นนั้นถ้าเขาพบว่าขยะไม่ได้ถูกเคลื่อนย้ายไป เขาก็จะโทรมาฟ้องที่เขตอีก”
ชีวิตกลางคืนไม่ได้ผาดโผนหรือราบเรียบอย่างใดอย่างหนึ่งไปเสียทุกวัน ข้อดีของการทำงานกลางคืน คือความสงบเงียบ ไม่วุ่นวาย นั่นเพราะแสงจันทร์ไม่แสบร้อนเท่าแสงอาทิตย์ เช่นเดียวกับการจราจรในช่วงดึกสงัดที่ไม่ติดขัดหฤโหดแบบที่เราเห็น ๆ กันอยู่
แต่อีกด้านการทำงานกลางคืนคือการสวนทางกับกิจวัตรของผู้คนส่วนใหญ่ ประสบการณ์ของคนเก็บขยะกะดึกจึงมีไม่น้อยที่ต้องกระทบกระทั่งกับผู้ที่ไม่พอใจ ไหนจะถูกกล่าวหาว่าเสียงดังบ้าง ส่งกลิ่นบ้าง บางคนไม่พอใจยืนชี้หน้าต่อว่าตำหนิก็มี
“บางคนกำลังตั้งวงกินเหล้า เขาเมาได้ที่ ก็ไม่พอใจที่รถมาจอดใกล้ ๆ ที่เขากิน เราก็ได้แต่ขอโทษแล้วก็รีบไป แต่พอเจอกันอีกรอบ เขาก็มาตำหนิใหม่ ไล่ให้เราไปจอดที่อื่น ถ้าตรงไหนเขยิบได้เราก็ทำให้ แต่บางที่มันไม่มีที่จอด หรือจอดไปก็ต้องยกหลายรอบเสียเวลา เราก็ต้องรายงานเขตเพื่อส่งตัวแทนไปทำความเข้าใจกับหัวหน้าชุมชน บอกเขาว่าเรามาทำตามหน้าที่ ไม่ได้ตั้งใจจอดเพื่อส่งกลิ่นให้ใครรำคาญ”
อาชีพเก็บขยะถึงใครจะมองว่าต่ำต้อย แต่ลุงก็มีบ้านเล็ก ๆ มีรถกระบะไว้ใช้ มีเงินส่งลูกเรียน ไม่ต่างกับใคร ๆ ที่ต้องดิ้นรนใช้ชีวิตในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ
เสียงเครื่องยนต์ของรถขยะคันใหญ่สีเขียว กับถังขยะหลากสี จึงเป็นสัญญาณของการเชื่อมทุกความผูกพันในชีวิตที่ลุงสุทินมี ไม่ว่าจะเป็นการงานที่เลือกแล้ว กับครอบครัวที่เขารัก ทีมงานเองที่ต้องดูแลเหมือนพี่เหมือนน้อง
“กองขยะก็เหมือนซูเปอร์มาร์เก็ต” สุทินเปรียบเช่นนั้น และนั่นก็มีความหมายว่า ทุกสิ่งทุกอย่างหาได้จากกองขยะ
“ซูเปอร์มาร์เก็ตคือคุณต้องถือเงินไปซื้อถึงจะได้ของมา แต่กองขยะ รถขยะ เราต้องรอและใช้เวลา บางทีได้หม้อหุงข้าวแต่ยังขาดฝา ต้องรอไปอีก 3-4 เดือน ถึงจะไปเจอฝาหม้อหุงข้าวรุ่นเดียวกับที่เคยได้มาก่อน หรือบางครั้งคุณนึกในใจว่าอยากจะหากาต้มน้ำไว้ใช้สักใบ ไม่กี่วันก็ไม่เจอบนรถขยะ”
จะมองแบบสนุก ๆ หรือแบบซีเรียสก็ได้ แต่บางทีขยะที่ไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิงอาจไม่มีจริง ๆ มันเป็นเพียงทรัพยากรที่เอาไว้ผิดที่ ถ้าวางให้ถูกที่ถูกทาง ของที่เหลือใช้ของคนคนหนึ่ง อาจเป็นของที่อีกคนกำลังมองหา เช่นเดียวกับการงานที่คนอื่นมองว่าด้อยค่า เป็นงานหนักหน่วงน่าปฏิเสธ แต่สำหรับบางคนกลับเห็นคุณค่า เป็นหน้าที่อันแสนมีชีวิตชีวาที่ต้องทำต่อให้ดีที่สุด เท่าที่กำลังจะพาไปได้
ต่อให้มีเทศกาลหยุดยาว แต่อีกด้านหนึ่งทุก ๆ ครัวเรือนก็ต้องบริโภค และนั่นหมายความว่าพวกเราทุก ๆ คนมีส่วนในการผลิตขยะ สร้างของเหลือกินเหลือใช้ ที่ไม่ต้องการในเมืองแห่งนี้
เที่ยงคืนตรง เราหลับใหลเพราะความอ่อนล้า แต่เวลาเดียวกันนี้ คือเวลางานของพวกเขา เหล่าพนักงานเก็บขยะ ซึ่งจะคัดแยกของเหลือใช้ที่ว่านั้นให้อยู่ในที่ที่เหมาะสมที่สุด