โฮเรซ แมนน์ : บิดาแห่งการศึกษาของอเมริกัน ผู้ทำให้ ‘โรงเรียน’ เข้าถึงง่าย และ ‘การบ้าน’ แพร่หลายในระบบการศึกษา
นอกจากคุณครู กระดาน หนังสือ หรืออาคารเรียนแล้ว สิ่งที่หลายคนนึกถึงและมักจะมาคู่กับโรงเรียนเสมอ คือ ‘การบ้าน’ ซึ่งไม่ใช่สิ่งโปรดปรานสำหรับนักเรียนสักเท่าไร
แต่หากย้อนกลับไปก่อนที่การบ้านจะแพร่หลายในระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศทั่วโลก การศึกษาของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในบ้านหรือในพื้นที่ส่วนตัว หากเป็นโรงเรียนที่เปิดอย่างสาธารณะก็มุ่งสอนศาสนาหรือคุณธรรม จริยธรรมมากกว่าความรู้ด้านวิชาการ เด็ก ๆ ที่ยากจนจึงไม่สามารถเข้าถึงความรู้หลายแขนงหรือรับการศึกษาที่มีคุณภาพได้ทัดเทียมคนที่มีต้นทุนสูง
จนกระทั่ง ‘โฮเรซ แมนน์’ (Horace Mann) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งการศึกษาของสหรัฐอเมริกา (Father of American Education) ได้ก้าวเข้ามาปฏิรูประบบการศึกษาใหม่ให้มีคุณภาพ เข้าถึงได้ พร้อม ๆ กับทำให้การบ้านเริ่มแพร่หลายในโรงเรียน
อดีตนักการเมือง กับเบื้องหลังแสนขมขื่น
โฮเรซ แมนน์ เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ปี 1796 ในเมืองแฟรงคลิน (Franklin) รัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) สหรัฐอเมริกา เขาเติบโตมาในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน และเผชิญโศกนาฏกรรมถึงสองหน ครั้งแรกพ่อแม่ที่ทำงานในฟาร์มป่วยและเสียชีวิตจากวัณโรค ครั้งที่สองคือพี่ชายจมน้ำตายในวันอาทิตย์ ซึ่งในหมู่บ้านที่เขาอาศัยอยู่ ผู้คนเคร่งศาสนามากจึงไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมอื่นใดในวันอาทิตย์ ดังนั้น แทนที่พวกเขาจะปลอบโยนครอบครัวที่โศกเศร้าของแมนน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท้องถิ่นกลับใช้โอกาสนี้เพื่อเตือนชาวเมืองว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากไม่เชื่อฟังกฎของคริสตจักร เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้แมนน์ละทิ้งความเชื่อของกลุ่มศาสนาที่เคยศรัทธามาก่อนหน้า
นอกจากชีวิตครอบครัวอันแสนขื่นขมแล้ว เมืองแฟรงคลินยังไม่มีโรงเรียนที่ดีเหมือนชุมชนหลายแห่งในนิวอิงแลนด์ การเรียนการสอนที่เขาได้รับ มักเป็นการสอนแบบสั้น ๆ คร่าว ๆ และมีเวลาที่ไม่แน่นอน ส่วนครูผู้สอนก็ไม่ได้เรียนหรือฝึกฝนวิชาชีพครูมาโดยตรง อีกทั้งครูส่วนใหญ่ยังสอนด้วยการใช้ความกลัวและการทำร้ายร่างกายเด็ก ๆ
แมนน์จึงพยายามเรียนรู้ด้วยตัวเองจากการอ่านหนังสือในห้องสมุดของเมืองแฟรงคลิน (Franklin Town Library) จนสามารถเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยบราวน์ได้ แมนน์สนใจเรื่องปัญหาการเมือง การศึกษา และการปฏิรูปสังคมมากเป็นพิเศษ หลังจบการศึกษาในปี 1819 เขาจึงเลือกทำงานด้านกฎหมาย และลงหลักปักฐานที่เมืองเดดแฮม (Dedham) รัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts)
ความหลักแหลมด้านกฎหมายและทักษะการพูดที่เฉียบคมทำให้เขาได้นั่งเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรช่วงปี ค.ศ. 1827 - 1833 กลายเป็นจุดเริ่มต้นของงานด้านการเมืองที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในเวลาต่อมา
ขณะที่แมนน์กำลังมุ่งมั่นกับงานด้านการเมือง เขารู้สึกเสมอมาว่า ‘ระบบการศึกษา’ เป็นปัญหาของสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ตั้งแต่ช่วงที่เขาเยาว์วัยมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้แมนน์ตัดสินใจก้าวออกจากบทบาททางการเมือง มารับหน้าที่เลขาธิการคนแรกของคณะกรรมการการศึกษาแมสซาชูเซตส์ในปี 1837
'การบ้าน' ไอเดียจากปรัสเซียถึงอเมริกา
หลังจากที่แมนน์วางมือจากบทบาท ‘นักการเมือง’ มาเป็น ‘นักการศึกษา’ อย่างเต็มตัว เขาเริ่มปรับปรุงระบบการศึกษาของรัฐและจัดตั้งโรงเรียนหลายแห่งเพื่อฝึกอบรมครู รวมทั้งเดินทางไปเยือนยุโรปเพื่อเรียนรู้เรื่องการศึกษาเพิ่มเติมในปี 1843
การเดินทางในครั้งนั้น แมนน์ค่อนข้างประทับใจระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนในปรัสเซีย (รัฐหนึ่งของเยอรมนี) ทำให้เขาได้ไอเดียหลากหลายกลับมาพัฒนาการศึกษาในสหรัฐอเมริกา หนึ่งในนั้นคือเรื่อง ‘การบ้าน’
แม้จะยังไม่แน่ชัดว่าผู้คิดค้นการบ้านคนแรกคือใคร บ้างก็บอกว่ามีมาตั้งแต่ยุคโรมัน บ้างก็บอกว่ามาจากครูในอิตาลีนามว่า โรเบอร์โต เนเวลิส (Roberto Nevelis) ที่ใช้การบ้านเพื่อลงโทษนักเรียนที่ได้คะแนนน้อย แต่สิ่งที่แน่นอนคือตอนที่แมนน์ไปเยือนปรัสเซีย เขาพบว่า ‘การบ้าน’ ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในระบบการศึกษาของเยอรมัน หากการบ้านในยุคนั้นไม่ได้มีจุดประสงค์ด้านการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยตรง แต่ต้องการเน้นย้ำถึงอำนาจของรัฐเหนือปัจเจกบุคคล (ในที่นี้คือการควบคุมเวลาส่วนตัวของแต่ละคนผ่านการบ้าน) เพื่อสนับสนุนเรื่องชาตินิยมและการรวมชาติของเยอรมัน โดยระบบการบ้านและการศึกษารูปแบบดังกล่าวได้เผยแพร่ไปทั่วยุโรป ยกเว้นบางแห่งที่ยังคงใช้ระบบของตัวเอง เช่น ฟินแลนด์ไม่ได้กำหนดให้เด็ก ๆ ทำการบ้าน
แม้ว่าแมนน์ไม่ได้มีจุดประสงค์หลักแบบเดียวกับปรัสเซีย แต่เขาคิดว่าไอเดียด้านการศึกษาหลาย ๆ อย่างของที่นี่่น่าสนใจ จึงนำมาปรับใช้กับสหรัฐอเมริกา ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องการบ้านก็เป็นหนึ่งในไอเดียเหล่านั้น
ชายผู้ปฏิรูประบบการศึกษา
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากแมนน์ได้เข้ามาปฏิรูประบบการศึกษาในแมสซาชูเซตส์ คือ เริ่มมีโรงเรียนรัฐ หรือโรงเรียนทั่วไปที่มาจากภาษีท้องถิ่น มีการฝึกอบรมวิชาชีพครูก่อนเข้ามาสอนในโรงเรียน รวมทั้งการบ้านที่มาคู่กับนโยบายเหล่านี้
แต่วิธีการของแมนน์สร้างความขุ่นเคืองให้กลุ่มต่าง ๆ ในสังคมอเมริกาช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะนักบวชที่พบว่าบทบาทของศาสนาในห้องเรียนลดน้อยลง และนักการเมืองบางคนไม่เห็นด้วยกับระบบโรงเรียน แต่ในที่สุดแนวคิดของแมนน์ก็ได้รับการยอมรับ และหลายรัฐได้นำระบบการศึกษาจากแมสซาชูเซตส์ไปใช้ ก่อนจะขยับขยายไปยังหลายประเทศทั่วโลก
แมนน์ได้ให้เหตุผลถึงการก้าวเข้ามาเป็นนักปฏิรูปการศึกษา และสนับสนุนให้เกิดการศึกษาสาธารณะ (public education) ว่า ในสังคมประชาธิปไตย การศึกษาควรเป็นไปอย่างเสรี (free) และเป็นสากล ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มศาสนาหรือการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น (nonsectarian) และในโรงเรียนควรจะต้องมีครูมืออาชีพที่ฝึกฝนมาเป็นอย่างดี (well-trained professional teachers) นอกจากนี้ การศึกษาที่ทุกคนเข้าถึงได้จะช่วยให้สหรัฐอเมริกาสามารถรักษาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ เพราะพลเมืองของรัฐควรเข้าใจธรรมชาติและหน้าที่ที่แท้จริงของรัฐบาลในที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่
ต่อมา โฮเรซ แมนน์ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการศึกษาของสหรัฐอเมริกา (Father of American Education) ก่อนจะจากโลกใบนี้ไปอย่างไม่หวนกลับในวันที่ 2 สิงหาคม 1859
แม้ปัจจุบันจะมีประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับ ‘การบ้าน’ ว่าช่วยให้เด็ก ๆ ได้ทบทวนบทเรียน หรือเป็นการรบกวนช่วงเวลาที่เด็ก ๆ จะได้ทำเรื่องที่สนใจและใช้เวลากับครอบครัวกันแน่ แต่ก็นับว่าโฮเรซ แมนน์คือผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เด็ก ๆ ในสหรัฐอเมริกาได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้นจวบจนปัจจุบัน
ที่มา
https://courses.lumenlearning.com/teachereducationx92x1/chapter/educational-reforms/
https://www.mtsu.edu/first-amendment/article/1283/horace-mann
https://study.com/blog/who-invented-homework-the-history-of-a-school-staple.html
https://www.britannica.com/biography/Horace-Mann
https://www.encyclopedia.com/people/social-sciences-and-law/education-biographies/horace-mann
https://www.througheducation.com/debunking-the-myth-of-roberto-nevilis-who-really-invented-homework/
https://www.biography.com/scholar/horace-mann