ป้าเล็ก แม่ค้าตลาดกลางคืน ชีวิตแม่ค้าได้มากกว่าขายอาหาร
คืนวันอาทิตย์ ฝนยังไม่มา ในบรรยากาศตลาดนัดกลางคืน รอยยิ้มของแม่ค้า และกลิ่นน้ำซุปยั่วใจ ดึงให้ลูกค้าสนใจเลือกร้านก๋วยจั๊บลุงวิเชียร
ระหว่างที่กำลังฟินกับรสชาติ เสียงของหญิงวัยกลางคนที่ทักทายคนเดินผ่านไปมา บ่งบอกถึงสัมพันธภาพอันอบอุ่นในตลาดกลางคืนแห่งนี้ เธอนั่งอยู่ข้างรถเข็นตั้งหม้อน้ำซุป ส่งยิ้มและเปรยขึ้นมาเรื่องดินฟ้าอากาศ
แล้วบทสนทนาชีวิตกับแม่ค้า ที่เชื่อมทุกความผูกพัน ก็เริ่มต้นขึ้น
ป้าเล็ก อายุ 57 ปีแล้ว และขายก๋วยจั๊บในตลาดนัดรถไฟ ศรีนครินทร์ ที่เป็นตลาดนัดกลางคืนแห่งนี้มาเข้าปีที่ 7 แล้ว
วัยเด็กป้าเล็กอยู่ที่ลพบุรี เข้ามาทำมาหากินที่กรุงเทพฯ เมื่อราว 40 ปีก่อน ทำงานหลากหลาย ทั้งเป็นลูกจ้างในร้านอาหาร ทำความสะอาด งานในครัว รวมถึงเคยไปใช้ชีวิตที่เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น เป็นแม่ครัวในร้านอาหารไทย และกลับมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ รปภ. ที่ห้างโมเดิร์นเทรดแห่งหนึ่ง ย่านศรีนครินทร์ ที่นั่น ทำให้ป้าเล็กได้พบรักกับลุงวิเชียร
และเมื่อ 7 ปีก่อน ป้าเล็กกับลุงวิเชียร จึงตัดสินใจเช่าที่ในตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ ตลาดนัดสำหรับคนกลางคืน เปิดขายช่วง เวลา 5 โมงเย็น ถึง ตี 1 ของวันพฤหัสบดี ถึงวันอาทิตย์ ทุกสัปดาห์
ชื่อร้าน ก๋วยจั๊บลุงวิเชียร ขายก๋วยจั๊บสูตรน้ำดำและหมูกรอบบางเบาเคี้ยวกรุบ สูตรคิดเองที่แม่ค้าภูมิใจ ได้น้ำซุปเข้มข้น ฉีกจากสูตรน้ำซุปพะโล้ของก๋วยจั๊บเจ้าอื่นในตลาด ราคาเริ่มต้นชามละ 50-60 บาท รายได้เฉลี่ยสัปดาห์ละสองหมื่น
"ตลาดนัดกลางคืนแบบนี้ขายได้ กลางวันคนไม่ค่อยออกมาซื้อ ถ้าขายกลางวัน ต้องไปอยู่แถวโรงงาน ขายตามที่บ้านอาศัย มันขายไม่ค่อยได้ แถมตลาดอื่น ๆ ที่มีแม่ค้าพ่อค้าเจ้าเดิม เราก็ต้องไปแย่งกับเขาอีก อันนี้เราได้ช่องทางดี คนเยอะด้วย มาขายแบบนี้ เราได้เป็นนายตัวเอง ไม่ต้องรอเข้ากะ และนี่ก็รายได้เท่ากันแหละ ทำสี่วัน วันอื่น ๆ ก็รับส่งให้ หากมีใครมาสั่งเหมาหม้อก๋วยจั๊บไป”
แต่นอกจากรายได้แล้ว การได้เชื่อมทุกความผูกพันในวิถีชีวิตยามค่ำคืนเช่นนี้ ยังเป็นโบนัสของคนวัยห้าสิบกว่าด้วย เพราะชีวิตในเมืองใหญ่ คนไม่สะดวกในการทำอาหาร
"ป้าว่าสนุกดีนะ มีอะไรเจริญหูเจริญตาให้ดู ดูสาว ๆ เขาแต่งตัวสวย ๆ ดูสาวขาสวย ๆ นมสวย ๆ มาเดินตลาด ก็เพลินดี ช่วงกลางคืนไม่ร้อน บางคนเขาอยู่คอนโด จะทำอาหารอะไรก็ลำบาก คนก็มาเดินหากินกัน หมายถึง หาของกินนะ แล้วตัวเราชอบคุยกับลูกค้า ทักทายกันบ้าง เราก็หายเครียดไปด้วย ได้ระบายออก ไม่งั้นคุยกับลุงกับหลานที่บ้าน มันก็ออกจะเป็นการทะเลาะกันซะมากกว่า (ยิ้ม)"
ป้าเล็กย้ำว่างานสำคัญของการขายในตลาดกลางคืนแบบนี้ ได้เชื่อมทุกความผูกพันกับผู้คนในตลาด ช่วยทำให้วิถีชีวิตยามค่ำคืนของเมืองใหญ่ ไม่เหนื่อยล้าแห้งแล้งเกินไป
"ในตลาดเดียวกัน พ่อค้าแม่ค้าต้องช่วยเชียร์กัน ใครมาถามป้าว่า ที่นี่ร้านไหนอร่อย ป้าจะแนะนำให้ได้เลย อย่างป้าชอบรู้จักคนทั้งตลาด คนว่าง ๆ เราก็ไปเดินเล่น ทักทายร้านอื่นบ้าง บางคนเขาอาจไม่คุยกับใครเลย อยู่แต่ในร้านตัวเอง เราต้องเอาเพื่อนฝูงด้วย ลูกค้ามานี่ เราก็คุยให้ฟังได้ว่า ร้านอื่นมีอะไรอร่อยด้วย เพราะว่า คนเราไม่ได้กินอย่างเดิมทุกวัน นี่ป้าว่าจะเจียวไข่กับต้มแซ่บเนื้อกินกับลุง ตอนเก็บร้านแล้ว เรายังเบื่อ (ก๋วยจั๊บ) เลย ทำทุกวัน คนกินเขาก็คงไม่มากินเราทุกวันอยู่แล้ว เป็นธรรมดา แล้วพอลูกค้าที่เดินผ่านไม่แวะร้านเรา จะไปว่าเขา แหม วันนี้ไม่กินเราเหรอ แบบนั้น ป้าว่าไม่ดีหรอก เพราะทำให้เขารู้สึกไม่ดี คนเราต้องเปลี่ยนบ้าง ใครจะไปกินของเดิม ๆ ได้ทุกวัน ใช่ไหม"
“อยากเป็นแม่ค้า เราต้องเอาใจใส่ลูกค้าบ้าง เข้าใจป่ะ” ป้าเล็กให้ ทิปส์ในสายงาน
“อย่าไปคิดว่ารสชาติของเราเลอเลิศอย่างเดียว ลูกค้าจะกินก็เข้ามาไม่ต้องเรียกหรอก ไม่ใช่ เราต้องเรียกลูกค้าด้วย เชิญชวนเขา ถ้าเขาเคยมากินกับเราครั้งหนึ่ง แล้วเราจับลูกค้าได้ มันก็เชื่อมทุกความผูกพันกันไปด้วย บางทีก็ถามเขา ไปซื้ออะไรลูก ทักทายเวลาเขาเดินผ่านร้านเรา ไม่ต้องถามว่า วันนี้ไม่กินก๋วยจั๊บแล้วเหรอ อย่าถามเขาอย่างนี้นะ เสียมารยาท เพราะจะให้เขามากินของเราทุกวัน ๆ ไม่ได้ เขาก็อยากจะเปลี่ยนเหมือนเรานั่นแหละ คิดถึงจิตใจเขาจิตใจเราสิ”
ระหว่างการสนทนา มีเพื่อนจากแผงอาหารข้าง ๆ มาทักทายสัพเพเหระ เรื่องฟ้าฝนกันเป็นระยะ
"ขายหมดแล้วสิ กลับบ้านดี ๆ นะ" ป้าตะโกนสั่งลาแม่ค้าอีกราย ที่เดินผ่านร้านไปยังลานจอดรถ รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ดังแข่งกับเสียงเพลงจากลำโพงร้านขายส้มตำที่อยู่ในบูธข้างเคียง
เห็นพลังมากขนาดนี้ ป้าเล็กบอกว่า ไม่ได้ใช้อะไรชูกำลัง เพราะทุกวัน ก็มีกาแฟถ้วยโปรด ชงดื่มเป็นประจำอยู่แล้ว และเมื่อมาอยู่ในตลาดกลางคืน ก็อาศัยความเฮฮาไปกับบรรยากาศของตลาดนั่นเอง
“เขาเปิดเพลง ป้าก็เต้นไปตามเพลง เต้นให้เขาดู รำให้เขาดู ไม่งั้นมันจะวูบ ๆ “ ป้าเล็กอธิบาย พร้อมลุกขึ้นขยับสเต็ปเบา ๆ และหัวเราะร่าตบท้าย