08 เม.ย. 2564 | 17:54 น.
การเฝ้ารอที่นานที่สุดในชีวิตของคุณ ใช้เวลานานแค่ไหน ?10 ปี คือวันเวลาที่สุนัขตัวหนึ่งในสถานีรถไฟชิบูย่า ประเทศญี่ปุ่น เฝ้ารอเจ้านายอยู่ที่แห่งเดิมจนวันสุดท้ายของชีวิต สุนัขตัวนี้มีชื่อว่า ‘ฮาจิโกะ’ (Hachiko) ปัจจุบันรูปปั้นของมันยังคงตั้งตระหง่านอยู่ในย่านชิบูย่า ด้วยท่าทางแบบเดียวกับที่เคยนั่งคอยรถไฟขบวนเดิมที่พาเจ้าของกลับมา และสุนัขตัวนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของความภักดี ซื่อสัตย์ และการเฝ้ารอด้วยความคิดถึง สุนัขพันธุ์อาคิตะขนปุยตัวนี้เกิดในฟาร์มใกล้เมืองโอดาเตะ เมื่อปี 1923 ก่อนจะถูกส่งมาที่ย่านชิบูย่า เมื่อครั้งยังเป็นลูกสุนัขตัวน้อย โดยอยู่ในความดูแลของ ‘ศาสตราจารย์เอซาบูโร อูเอโนะ’ แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว เดิมทีศาสตราจารย์อูเอโนะตั้งชื่อเจ้าหมาอาคิตะตัวนี้ว่า ‘ฮาจิ’ (Hachi) หมายถึง เลขแปด ซึ่งเป็นเลขมงคลของชาวญี่ปุ่น ก่อนจะเป็นที่รู้จักในนาม ‘ฮาจิโกะ’ ในเวลาต่อมา จากลูกสุนัขที่ตัวสั่นด้วยความกลัวในวันแรก ๆ ได้เริ่มคุ้นเคยกับไออุ่นของศาสตราจารย์แสนใจดี ความผูกพันของมนุษย์และสัตว์เลี้ยงเพื่อนรักค่อย ๆ พัฒนาอย่างช้า ๆ หากแต่เป็นธรรมชาติ หลายฤดูกาลได้ผันผ่าน ศาสตราจารย์มักพาฮาจิโกะออกไปเดินเล่นในสวน บอกเล่าเรื่องราวของผีเสื้อ ดอกไม้ เทศกาล ร้านรวงต่าง ๆ ที่ทั้งคู่เดินผ่าน แม้ฮาจิโกะจะฟังไม่เข้าใจ แต่น้ำเสียงอันคุ้นเคยของศาสตราจารย์ทำให้ฮาจิโกะอุ่นใจทุกครั้งที่ได้ฟังเรื่องราวระหว่างเดิน ทุก ๆ เช้า ฮาจิโกะจะเดินเคียงข้างศาสตราจารย์ไปยังสถานีรถไฟ เพื่อส่งศาสตราจารย์อูเอโนะไปทำงานที่มหาวิทยาลัย และทุกช่วงเย็น เวลาห้าโมงสิบห้านาที ทันทีที่ภรรยาของศาสตราจารย์เปิดประตูให้ ฮาจิโกะจะวิ่งไปยังสถานีรถไฟอีกครั้งเพื่อรอรับเจ้านาย ฮาจิโกะมักจะอ้าปากลิ้นห้อยราวกับเด็กน้อยกำลังยิ้มตาหยี หางปุกปุยส่ายไปมาด้วยความตื่นเต้นดีใจทันทีที่เห็นศาสตราจารย์หิ้วกระเป๋า ก้าวลงจากรถไฟ จากนั้นทั้งคู่จะเดินเคียงกันกลับบ้านด้วยความอุ่นใจ เรื่องราวธรรมดาแสนน่ารักของเจ้าสุนัขและศาสตราจารย์คู่นี้ยังคงดำเนินต่อไปทุกวัน นานกว่าหนึ่งปี จนเรียกว่าเป็นกิจวัตรประจำวันเลยก็ว่าได้ วันหนึ่ง ศาสตราจารย์เดินทางไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยพร้อมเจ้าฮาจิโกะเหมือนอย่างเคย แต่เจ้าฮาจิโกะไม่รู้เลยว่าวันนั้นจะเป็นวันสุดท้ายของน้ำเสียงนุ่มนวล และสัมผัสแสนอบอุ่นจากเจ้าของ เข็มนาฬิกาเวียนมาจนถึงห้าโมงสิบห้าอีกครั้ง ฮาจิโกะยังคงวิ่งไปคอยเจ้านายที่สถานีรถไฟเช่นเคย ‘เจ้านายหายไปไหน ?’ ฮาจิโกะคิดในใจ เมื่อรถไฟเที่ยวนี้ไม่มีแม้เงาของศาสตราจารย์ แต่มันก็ยังคงนั่งคอยต่อไปด้วยแววตาเปี่ยมความหวัง ขณะที่ฮาจิโกะตั้งตารอไม่ไปไหน ภายในบ้านของศาสตราจารย์อูเอโนะ เสียงกรีดกริ่งของโทรศัพท์ดังขึ้น ภรรยาของเขารับโทรศัพท์ ปลายสายได้แจ้งข่าวการจากไปอย่างไม่หวนกลับของศาสตราจารย์อูเอโนะ เขาเสียชีวิตขณะบรรยายอยู่ในมหาวิทยาลัยโตเกียวด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก หลังงานศพของศาสตราจารย์สิ้นสุดลง ภรรยาของเขาได้ย้ายไปอยู่อีกเมืองหนึ่ง และฝากฮาจิโกะไว้ให้ญาติดูแล แต่แล้วฮาจิโกะกลับหนีออกจากบ้านหลังใหม่ วิ่งกลับมายังสถานีรถไฟชิบูย่าเช่นเดิม ฮาจิโกะนั่งประจำที่ สองหูตั้งตรงฟังเสียงรถไฟที่เคลื่อนเข้ามายังสถานี สองตามองหาศาสตราจารย์อูเอโนะ แต่กลับไม่มีแม้วี่แวว... เมื่อคนสวนของบ้านหลังเก่ามาเห็นเข้า เขาจึงรับเจ้าฮาจิโกะกลับบ้านไปดูแล แม้ฮาจิโกะจะยอมไปอยู่กับคนสวน แต่ทุก ๆ ห้าโมงสิบห้า มันจะกลับมายังสถานีรถไฟอีกครั้ง นั่งประจำที่เก่าเวลาเดิม เจ้าสุนัขรอ รอ และรอ...วันเวลาผ่านไปปีแล้วปีเล่า รูปร่างของมันเริ่มผอมโซ เนื้อตัวมอมแมม หูที่เคยตั้งตรงพับลงข้างหนึ่ง ร่างกายของฮาจิโกะเริ่มอ่อนแอไปตามกาลเวลา แต่ไม่เคยมีวันไหนที่ฮาจิโกะเ้ล้มเลิกการตั้งตาคอยเจ้านายที่สัญญาไว้ว่าจะกลับมา ในปี 1932 เรื่องราวของเจ้าสุนัขแสนภักดีถูกตีพิมพ์เป็นบทความในหนังสือพิมพ์ Asahi Shimbun ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจมากขึ้น ชาวญี่ปุ่นเริ่มรู้จักฮาจิโกะในฐานะสัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์ ต่อมาประติมากรนามว่าเทรุ อันโด ได้ลงมือสร้างสรรค์รูปปั้นของฮาจิโกะขนาดเท่าตัวจริง และมีพิธีเปิดในปี 1934 โดยมีฮาจิโกะอยู่ในพิธีนี้ด้วย หนึ่งปีต่อมา ในวันที่ 8 มีนาคม ปี 1935 ขณะที่ฮาจิโกะเฝ้าคอยเจ้านายในสถานีรถไฟแห่งเดิม ลมหายใจของมันค่อย ๆ ผ่อนลง เปลือกตาของฮาจิโกะปิดลงช้า ๆ สู่นิทราที่ไม่มีวันฟื้นคืน ฮาจิโกะจากโลกนี้ไปด้วยโรคหนอนพยาธิหัวใจในวัย 11 ปี หลังจากนั้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รูปปั้นของฮาจิโกะถูกนำไปหลอมเพื่อใช้งานในสงคราม ก่อนจะสร้างขึ้นมาใหม่กลายเป็นรูปปั้นที่เราพบเห็นกันในปัจจุบัน และมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้สานฝันการกลับมาพบกันของทั้งคู่ผ่านการหล่อรูปปั้นของศาสตราจารย์และเจ้าสุนัขฮาจิโกะ โดยตั้งไว้ในมหาวิทยาลัยโตเกียว ส่วนร่างของฮาจิโกะถูกสตัฟฟ์ไว้ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งชาติ กรุงโตเกียว และอีกส่วนหนึ่งถูกฝังไว้กับหลุมศพของศาสตราจารย์ เรื่องราวของฮาจิโกะ ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ 2 เรื่อง คือ ‘เรื่องราวของฮาจิโกะ’ เป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่นในปี 1987 และ ‘ฮาชิ หัวใจพูดได้’ ภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกา ในปี 2009 รวมทั้งเผยแพร่ในหนังสือชื่อ ฮาจิโกะ (Hachiko. El gos que esperava) โดยหลุยส์ พรัทส์ นักเขียนชาวสเปน แม้การรอคอยกว่าสิบปี จนลมหายใจสุดท้าย จะไม่ได้ทำให้ฮาจิโกะพบกับศาสตราจารย์อูเอโนะ แต่ใครจะรู้ว่าในโลกอีกใบหนึ่ง ฮาจิโกะอาจกำลังเดินเคียงข้างศาสตราจารย์ไปยังสถานีรถไฟ เฝ้ารอเวลาห้าโมงสิบห้า และกลับบ้านพร้อมกันทุกวันอยู่เช่นเดิมก็เป็นได้... ที่มา: หนังสือ ฮาจิโกะ เขียนโดย หลุยส์ พรัทส์ แปลโดย รัศมี กฤษณมิษ จาก Hachiko. El gos que esperava พิคโคโล อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับบลิชชิ่ง https://www.timeout.com/tokyo/news/10-things-you-didnt-know-about-hachiko-japans-most-loyal-dog-030821 https://en.japantravel.com/tokyo/hachiko-statue-in-shibuya/44644 https://unbelievable-facts.com/2013/05/the-tale-unbound-loyalty-hachiko.html