เล็ก โตมร ปรมาจารย์ผู้ทำ “หัวสิงโต” ขวัญใจคณะเชิดสิงโตทั่วเมืองไทย

เล็ก โตมร ปรมาจารย์ผู้ทำ “หัวสิงโต” ขวัญใจคณะเชิดสิงโตทั่วเมืองไทย
ถึงช่วงเทศกาลของชาวไทยเชื้อสายจีนเมื่อไหร่ หนึ่งในสีสันที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการเชิดสิงโต ซึ่งถ้าจะถามหาช่างทำ “หัวสิงโต” ฝีมือฉกาจ แน่นอนว่าต้องมีชื่อ เล็ก โตมร หรือที่ในแวดวงรู้จักกันในนาม ‘อ.เล็ก ลูกเจ้าพระยา’ ช่างทำหัวสิงโตวัย 65 ปี วางอยู่เป็นอันดับต้น ๆ

เล็ก โตมร ปรมาจารย์ผู้ทำ “หัวสิงโต” ขวัญใจคณะเชิดสิงโตทั่วเมืองไทย

ด้วยประสบการณ์ที่คลุกคลีกับคณะสิงโตมาตั้งแต่ยังเล็ก สืบทอดตำแหน่งหัวหน้าคณะจากผู้เป็นพ่อ กระทั่งส่งไม้ต่อให้แก่ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน ทำให้ อ.เล็ก เป็นช่างทำหัวสิงโตฝีมือระดับพระกาฬ เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการนักเชิดสิงโตทั่วประเทศ “ผมโตมากับสิงโต เกิดมาก็เห็นหัวสิงโตอยู่ในบ้านแล้ว เพราะพ่อผมเขาทำคณะมาก่อน เปลี่ยนชื่อมาเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นลูกเจ้าพระยาทุกวันนี้” อ.เล็ก บอก แม้ว่าตำแหน่งหัวหน้าคณะจะเปลี่ยนไปสู่มือของลูกชายแล้ว แต่หน้าที่ช่างทำหัวสิงโตของ อ.เล็ก กลับไม่มีทีท่าว่าจะจบ เพราะด้วยชื่อเสียงและฝีไม้ลายมือที่ประณีตเป็นเลิศยังเป็นที่กล่าวขาน ทำให้คณะสิงโตหลายแห่งทั่วประเทศเลือกจะเดินทางมาสั่งทำหัวสิงโตจากเขาอย่างไม่ขาดสาย [caption id="attachment_3293" align="aligncenter" width="1113"] เล็ก โตมร ปรมาจารย์ผู้ทำ “หัวสิงโต” ขวัญใจคณะเชิดสิงโตทั่วเมืองไทย หัวสิงโตของชมรมสิงโตบางมูลนาก ที่ อ.เล็ก เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นอย่างประณีต[/caption] “ตอนแรกก็ทำหัวกันเอง เล่นกันเองอยู่แค่ในคณะ แต่พอนานวันเข้าคนเขาเห็นของเราสวย เลยเริ่มมาจ้าง เวลาลูกค้าสั่งหัวสิงโตเขาก็จะระบุว่าจะเอาหัวสีอะไร สีแดง สีดำ หรือสีเขียว ส่วนใหญ่ก็เน้นสีมงคลไว้ มันจะมีหลายทรงแล้วแต่เลือก จะเอาปากกว้างหรือปากตั้ง ตาฉีก ตากลม หรือตาใบโพธิ์ อยากได้ขนแบบไหน ขนนก ขนแกะ ขนถัก ขนเทียม ก็เหมือนเรารู้หมดว่าใครอยากได้อะไร เพราะเราทำมาก่อน” การทำหัวสิงโต หลัก ๆ จะแบ่งเป็นส่วนหัว และส่วนประกอบอื่น ๆ ได้แก่ ตาที่ต้องกระพริบได้ และหูที่ต้องขยับได้ ถือเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่ทำให้การเชิดสิงโตดูมีชีวิตชีวาขึ้น กลไกนี้ทำงานได้โดยการดึงเชือกที่ขึงพาดไว้ระหว่างตากับหู ซึ่งจังหวะที่ดึงเชือก ตาของสิงโตก็จะกะพริบพร้อมกับหูที่กระดิกได้ ส่วนนี้จึงจำเป็นต้องทำแยกกับหัวอีกที ตามมาตรฐานแล้ว หัวสิงโตมีทั้งหมด 4 ขนาด เรียงจากเบอร์ 1 ที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากที่สุด ไปจนถึงเบอร์ 4 ที่มีขนาดเล็กสุด ขนาดซึ่งเป็นที่นิยมมากสุดคือ เบอร์ 2 และเบอร์ 3 เพราะน้ำหนักกำลังดี โดยเฉพาะเบอร์ 3 ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม (แต่ถ้ารวม “หาง” ที่หมายถึงผ้ายาว ๆ เข้าไปด้วย จะมีน้ำหนักประมาณ 4 กิโลกรัม) เน้นใช้เล่นผาดโผน เชิดบนเสาดอกเหมย หรือขึ้นกระบอก ส่วนเบอร์ 2 จะใช้เล่นบนพื้น เพราะมีน้ำหนักมากกว่า การเคลื่อนไหวจะคล่องตัวน้อยกว่า ราคาของหัวสิงโตฝีมือ อ.เล็ก มีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น ขึ้นอยู่กับขนาดหัวและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ ราคานี้หากเทียบกับหัวสิงโตชนิดที่นำเข้าจากต่างประเทศนับว่าแพงกว่า แต่คณะสิงโตหลายคณะกลับยังยืนยันที่จะสั่งทำหัวสิงโตกับ อ.เล็ก เพราะติดใจในประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมาตลอดชีวิต

เล็ก โตมร ปรมาจารย์ผู้ทำ “หัวสิงโต” ขวัญใจคณะเชิดสิงโตทั่วเมืองไทย

“ก็นี่มันงานแฮนด์เมด มันทนกว่า หัวทั้งหัวเราทำงานคนเดียว ถ้าอย่างจีนนี่มันหัวโหล ทำกันเป็น 10-20 คน เหมือนโรงงาน คุณภาพงานก็ต่างกันเยอะ นึกดูว่าหัวหนึ่งใช้คนหนึ่งขึ้นโครง อีกคนหนึ่งผูก อีกคนปะ อีกคนวาด อีกคนประกอบ กว่าจะเสร็จสภาพมันก็ช้ำมาตั้งแต่ยังไม่ได้เชิดแล้ว แล้วยิ่งคนทำนะ ถ้าคนทำมันเล่นได้ เล่นเป็น ก็จะรู้จุดว่าตรงไหนต้องเสริมให้แข็งแรง ต้องปะตรงไหนให้หนา ตรงไหนให้บาง เพื่อให้น้ำหนักมันเบา จะได้ใช้เชิดได้นาน ๆ” ถึงอย่างนั้น เมื่อมีขึ้นก็ต้องมีลง ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้ความนิยมและอัตราการจ้างงานคณะสิงโตถดถอยไปมาก ประกอบกับอายุของ อ.เล็ก ที่มากขึ้น ทำให้เขาต้องใช้เวลาในการทำหัวสิงโตแต่ละหัวมากขึ้น ต่อให้หัวหนึ่งราคาเป็นหมื่น แต่ปีหนึ่ง ๆ ทำได้ไม่ถึง 10 หัวด้วยซ้ำ อ.เล็ก ยอมรับว่าทุกวันนี้ขายหัวสิงโตได้น้อยลง แต่ก็ยังยืนยันที่จะรักษามาตรฐานการทำหัวสิงโตไว้อย่างเหนียวแน่น เพราะมีคุณค่าทางใจ พร้อมย้ำว่า “ผมทำเพราะรัก ไม่ได้เน้นใช้หากิน”

เล็ก โตมร ปรมาจารย์ผู้ทำ “หัวสิงโต” ขวัญใจคณะเชิดสิงโตทั่วเมืองไทย

“เวลาทำหัวสิงโต เราทำไม่เหมือนกันสักหัว เพราะมันคือสิงโตคนละตัวกัน ถ้าเราคิดว่ามันเป็นสิงโตจริง ๆ เราจะยิ่งประณีตกับมันมากขึ้น ไม่เกี่ยวว่าหัวถูกหัวแพงเลย จะใหญ่จะเล็กเราตั้งใจทำหมด ทำสวย ๆ คนรับไปเขาจะได้ดูแลดี ๆ บางคณะถึงขนาดเอาไปเป็นหัวครูเลยก็มี” “หัวครู” ที่ อ.เล็ก พูดถึงก็คือหัวสิงโตที่คณะเชิดสิงโตแต่ละคณะนำไปใช้กราบไหว้เป็นตัวแทนเทพเจ้าเวลาไหว้ครูนั่นเอง ถือเป็นของสูง ซึ่งสมาชิกในคณะจะเก็บรักษาหัวครูเป็นอย่างดี อาจเป็นเพราะอุดมการณ์เช่นนี้ ทำให้ตลอดระยะเวลา 70 ปี หัวสิงโตจากคณะลูกเจ้าพระยา ยังคงรักษาวิธีการทำหัวสิงโตแบบดั้งเดิมมาได้ครบทุก ๆ รายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอน วัสดุ รวมถึงลวดลายสลับซับซ้อน กลายเป็นเอกลักษณ์ทางศิลปะที่สืบทอดผ่านสายเลือดแบบที่ไม่มีใครสามารถทำได้อีก เอื้อเฟื้อภาพหัวสิงโตผลงานของ อ.เล็ก โดย Rati Theerakarunwong