ตรวจหาค่า PAHs วิธีง่าย ๆ ที่จะรู้ว่าตอนนี้ร่างกายสะสมฝุ่น PM2.5 ไปเยอะแค่ไหน
“เราติดหรือยัง ?” นี่คือคำถามยอดฮิตของยุคโควิด-19 ที่หลายคนอยากรู้ว่าตัวเองติดเชื้อร้ายนี้แล้วหรือไม่ ซึ่งสามารถทราบได้ด้วยการไปตรวจหาไวรัส SARS-CoV-2 แต่สำหรับภัยเงียบที่อยู่กับเรามานานกว่าอย่างฝุ่น PM2.5 จะทราบกันได้อย่างไรว่าเราได้รับฝุ่น PM2.5 ในปริมาณสูงจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ
ดร.ภูวดล ธรรมราษฎร์ ผู้จัดการอาวุโส ห้องปฏิบัติการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด (N Health) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันนี้ ถ้าอยากทราบว่าเราได้รับพิษจากฝุ่น PM2.5 มากน้อยแค่ไหน สามารถใช้การตรวจวัดระดับสารบ่งชี้ทางชีวภาพของการรับสัมผัสสาร PAHs เพื่อประเมินความเสี่ยง เฝ้าระวัง และวางแผนการดูแลสุขภาพได้ ซึ่ง PAHs มีชื่อเต็มว่า โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) เป็นสารมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้อย่างไม่สมบูรณ์ของสารอินทรีย์ต่างๆ เช่น ไอเสียจากเครื่องยนต์ ไอเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม เขม่า ควันไฟ ควันธูป ควันบุหรี่ อาหารปิ้งย่าง อาหารรมควัน ยาหรือเครื่องสำอางบางชนิด ซึ่ง PAHs สามารถปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้ทั้งในดิน น้ำ และอากาศ สามารถเข้าสู่ร่างกายเราโดยการสัมผัส สูดดม หรือบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อน PAHs ในปริมาณสูง
นอกจากนี้ ดร.ภูวดล ยังให้ข้อมูลด้านสุขภาพเพิ่มเติมว่า PAHs มีคุณสมบัติเป็นอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นอันตรายต่อเซลล์และเนื้อเยื่อของเรา ดังนั้นการได้รับในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย เช่น ระบบภูมิคุ้มกันลดลง ระบบทางเดินหายใจมีปัญหา ปอดถูกทำลาย มีอาการคล้ายหอบหืด นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า PAHs เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์และก่อมะเร็งได้
ในประเทศไทย บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด หรือ N Health ผู้ให้บริการด้านการสนับสนุนการบริการทางการแพทย์และธุรกิจโรงพยาบาลกว่า 50 แห่ง ทั้งในและต่างประเทศ เป็นห้องปฏิบัติการเอกชนแห่งแรกและแห่งเดียวที่ให้บริการตรวจวิเคราะห์สาร 1-Hydroxypyrene (1-OHP) ในปัสสาวะเพื่อใช้เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพสำหรับตรวจติดตามระดับการได้รับสาร PAHs ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Liquid Chromatography Tandem Mass Spectrometry (LC-MS/MS) ซึ่งมีความจำเพาะต่อโมเลกุลของสารที่ตรวจ และให้ผลการวิเคราะห์ที่แม่นยำแม้ว่าจะมีปริมาณน้อยๆ ก็ตาม การตรวจนี้มีระยะเวลารอผลประมาณ 8 วันนับจากส่งตัวอย่าง โดยมีค่าบริการตรวจวิเคราะห์เริ่มต้นที่ 2,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราค่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง การให้บริการนี้มีบทบาทสำคัญในการช่วยวางแผนดูแลสุขภาพและป้องกันการได้รับพิษจาก PAHs ในฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่มักเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรแออัด หรือตามเขตอุตสาหกรรม รวมถึงพื้นที่ที่ได้รับฝุ่นควันจากการเผาป่า
“คนไข้มักจะส่งตัวอย่างมาตรวจหา PAHs กันมากในช่วงที่มีมลพิษทางอากาศหนาแน่น เช่น ช่วงที่มีการเผาป่า และมีฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน เพื่อที่จะทราบว่าร่างกายได้รับ PAHs มากน้อยแค่ไหนแล้ว อยู่ในระดับที่เสี่ยงหรือเป็นผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่ ทำให้สามารถปฏิบัติตัวหรือหาทางป้องกันได้อย่างเหมาะสม เช่น การเลือกสถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง และระยะเวลาที่ใช้” ดร.ภูวดลกล่าว และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ในฝุ่น PM2.5 นอกจากจะมี PAHs แล้ว ยังมีสารที่เป็นพิษชนิดอื่นๆ เกาะอยู่บนผิวของเม็ดฝุ่นด้วย เช่น โลหะหนักต่างๆ และสารประกอบที่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์”
ดร.ภูวดลกล่าวปิดท้ายว่า “วิธีป้องกันตัวเองจากมลพิษทางอากาศที่ดีและง่ายที่สุด ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัยหรือใช้ผ้าปิดจมูกเพื่อกันฝุ่นและเชื้อโรค หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่มีฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน หลีกเลี่ยงการจราจรแออัด นอกจากนี้การเปิดเครื่องฟอกอากาศ และหมั่นทำความสะอาดที่อยู่อาศัยก็สามารถช่วยลดการสัมผัสฝุ่นได้ และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ อยากให้ทุกคนช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดี และไม่สร้างมลพิษเพิ่มเติม เพื่อที่จะทำให้เราและลูกหลานได้อาศัยอยู่บนโลกนี้ได้อย่างปลอดภัยและมีสุขภาพที่ดี”