read
social
18 เม.ย. 2564 | 20:05 น.
กันตพงศ์ ทองรงค์ หมอนักท่องโลกเจ้าของเพจ PYONG: Traveller x Doctor ที่ใช้การเที่ยวสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน
Play
Loading...
ย้อนกลับตอนเรายังเป็นเด็ก เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำถามเชย ๆ แบบ “โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” แน่นอนที่เกือบทุกคนจะมีคำตอบอยู่ในใจกันแทบทั้งนั้น ซึ่งส่วนใหญ่หนีไม่พ้นคำตอบสำเร็จรูปไม่ว่าจะเป็น โตขึ้นอยากเป็นหมอ เป็นพยาบาล ครู ตำรวจ ทหาร หรือถ้าถามเด็กรุ่นนี้อาจเปลี่ยนจะเป็นว่าอยากเป็นยูทูปเบอร์ เป็นเกมแคสเตอร์
แต่ถ้าอยากได้คำตอบที่หลากหลายขึ้น เราอาจถามลึกต่อไปอีกว่า ทำไมถึงได้อยากเป็นอาชีพนั้น ๆ กันล่ะ?
“มันเท่ ตอนเด็กๆ ก็คิดแค่ว่าเป็นหมอแล้วเท่เท่านั้นเอง เหมือนกับฮีโร่คนนึง ผมชอบพูดว่าหมอก็เหมือนฮีโร่คนนึง ที่ใส่เสื้อกาวน์แทนที่จะสวมผ้าคลุม เรามองอย่างนั้นเลยอยากจะเท่แบบหมอ กลายเป็นความฝันตั้งแต่เด็กว่า จะเป็นหมอให้ได้ เพราะอยากเท่แบบนั้น”
ความเท่ คือคำตอบสั้น ๆ หากในวันนั้นมีใครมาถาม หมอเปียง-นายแพทย์กันตพงศ์ ทองรงค์ แพทย์หนุ่มซึ่งตอนนี้เป็นแพทย์ประจำที่ คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) และ ขณะนี้กำลังเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู (rehabilitation medicine) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ไม่น่าเชื่อว่า แรงผลักดันให้พยายามตั้งใจเรียนมาตลอดตั้งแต่ชั้นสมัยมัธยมต้น จนผ่านด่านมาเป็นคุณหมอในวันนี้ได้ เพราะความฝันในวัยเยาว์ที่ทำให้เขาทุ่มเทจนมาถึงจุดนี้ได้
“พอได้เป็นหมอจริง ๆ ผมก็ยังรู้สึกว่าหมอเป็นอาชีพที่เท่อยู่ดี แต่สิ่งที่เพิ่มมาจากความคิดตอนเด็กก็คือพวกรายละเอียดต่าง ๆ ที่เราได้รู้มากขึ้นว่า อาชีพหมอเป็นอาชีพที่ได้ช่วยรักษาคน มีรายได้ที่มั่นคง แต่กลับกันหมอก็ต้องแบกรับความคาดหวังจากสังคม ทำให้ต้อง keep look กันในระดับนึง เพื่อให้ภาพลักษณ์ของหมอออกมาตรงตามทัศนคติของคนทั่วไป”
ความภูมิฐาน มีความน่าเชื่อถือ และทำงานหนัก เป็นภาพลักษณ์หนึ่งของหมอในสายตาของคนส่วนใหญ่ แต่สำหรับหมอเปียงแล้ว หมอหนุ่มคนนี้กลับเป็นที่รู้จักในการเป็นแพทย์ที่รักในการถ่ายภาพ งานศิลปะ และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในงานอดิเรกนอกเวลาทำการหลังจากเขาถอดเสื้อกาวน์ เปลี่ยนมาแบกเป้ สะพายกล้อง เพื่อเดินตามความฝัน
จากจุดเริ่มต้นที่เป็นคนชื่นชอบในการถ่ายภาพ แล้วพยายามหาโอกาสเท่าที่มีในช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากการเข้าเวรทำงาน เพื่อเดินทางไปในสถานที่ต่าง ๆ แล้วเก็บภาพความประทับใจลงในภาพถ่าย จนเกิดเป็นเพจ
PYONG: Traveller x Doctor
ที่ได้รวบรวมบันทึกการเดินทางในรูปภาพถ่ายและงานเขียน บอกเล่าเรื่องราวของแต่ละแห่งหนที่ได้ไปเยือน ซึ่งถ้าใครเคยเข้าไปเยี่ยมชมเพจของเขาคงจำข้อความทักทายประจำได้ดี ที่เขาขึ้นต้นด้วยการแนะนำตัวเองว่า “สวัสดีครับ ผมเปียง” ก่อนจะพาทุกคนร่วมเดินทางไปกับเขาในแต่ละสถานที่
“จริง ๆ ผมชอบท่องเที่ยวตั้งแต่สมัยที่ใช้ทุนอยู่ เริ่มจาก passion ที่ชอบการถ่ายรูป การท่องเที่ยว จนกลายเป็นเพจ Pyong Travellor X Doctor ตอนนี้รวม ๆ ก็ 3 ปีกว่าแล้ว ทำจนออกพ็อคเก็ตบุค ‘Pyong See What I See ทริปฉุกเฉินของหมอเปียง’ เป็นหนังสือที่ต่อยอดมาจากตัวเพจอีกทีนึง บอกเล่าเรื่องราวว่าทำไมเราถึงเลือกที่จะทำสองอย่างนี้ไปพร้อม ๆ กัน ระหว่างการเป็นหมอ และการแบ่งเวลาส่วนหนึ่งมาทำอะไรพวกนี้ด้วย ซึ่งการก้าวออกมาท่องโลกทำให้เราได้รับโอกาสหลายอย่างจากการที่เอาตัวเองออกมาสังคมใหม่ ๆ ในฐานะ travel blogger ได้เจอวงการอื่น ได้ทำหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพวกงานการกุศลต่างหรือนิทรรศการ ก็ต่อยอดมาจากการทำเพจ”
ถ้าไม่นับการท่องเที่ยวที่เขาหลงรักขนาดจัดตารางเวลาว่างจากการทำงานเกือบทั้งหมดให้กับการเดินทางแล้ว อีกสิ่งที่เขาทำเป็นประจำคือ การออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำต่อเนื่องนานกว่า 10 ปี ตั้งแต่ก่อนขึ้นปี 1 จนตอนนี้จากเด็กตัวผอม ๆ คนหนึ่งได้กลายมาเป็นผู้ชายสูงเท่ สมกับภาพลักษณ์ฮีโร่ที่เขาเคยฝันไว้ตั้งแต่อดีต
นอกจากนี้หมวกอีกใบของหมอหนุ่มคนนี้คือการทำธุรกิจส่วนตัว ในชื่อแบรนด์
'REGIS Plantopia'
แบรนด์กระถางทำมือ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากความชื่นชอบในการปลูกต้นไม้ในช่วงโควิด-19 ซึ่งตอนนั้นเขาสนุกกับการปลูกต้นไม้มาก จากเริ่มปลูกเพียงต้นเดียว เพิ่มเป็นสองต้น ก่อนจะขยายเป็นสิบต้น ร้อยต้น จนบ้านเขาเต็มไปด้วยสีเขียวของต้นไม้หลากหลายชนิด
โดยเขาได้หยิบยกเอา texture ธรรมชาติของความเป็นหิน มาศึกษาเพื่อคิดค้นวิธีการผลิตกระถางลายหินที่สวยงามเข้ากับต้นไม้สีเขียวอย่างลงตัว จนสุดท้ายกลายมาเป็นแบรนด์
'REGIS Plantopia'
ในทุกวันนี้
คำถามที่เราอยากรู้ตลอดเวลาที่ได้สัมภาษณ์คุณหมออนาคตไกลคนนี้ คือฮีโร่เสื้อกาวน์แบบเขา มีเคล็ดลับในการบริหารจัดการเวลาอย่างไร ให้สามารถทำในสิ่งที่รักได้มากมายจนน่าเหลือเชื่อ ในขณะที่ต้องแบกรับความผิดชอบในฐานะแพทย์ซึ่งเป็นอาชีพที่รู้กันว่าต้องทำงานหนักมากอีกอาชีพหนึ่ง
“หน้าที่กับความสุข สุดท้ายแล้วอยู่ที่ว่าเรามีความสุขกับอะไรมากที่สุด แล้วอะไรคือหน้าที่ของเราบ้าง แต่ก่อนผมพยายามแบ่งเวลาให้กับสิ่งต่าง ๆ เยอะแยะไปหมด จนตอนหลังผมตัดแค่สองอย่าง เหลือแค่หน้าที่กับความสุขของเราคืออะไร ตอนนี้หน้าที่เราคือเป็นหมอ การเข้าเวรรักษาคนไข้ การเรียนต่อเฉพาะทาง การสอบ การอ่านหนังสือ เลยเป็นหน้าที่หลัก ส่วนความสุข เรามีความสุขกับหลายอย่างมากเลย เราชอบถ่ายรูป เราชอบไปเที่ยว เราชอบต้นไม้ เรายังรู้สึกสนุกกับการไปกินของอร่อย กับการเจอคนใหม่ ๆ อันนี้เป็นความสุข”
หมอเปียงได้แลกเปลี่ยนว่าเขาใช้วิธีการแบ่งเวลา โดยการจัดลำดับความสำคัญให้กับสิ่งจำเป็นที่ต้องทำตอนนี้ ซึ่งถ้ามีสิ่งที่ต้องการจะทำหลายอย่าง ต้องแบ่งตารางเวลาเผื่อไว้ อย่างเช่น ในหนึ่งสัปดาห์มีช่วงเวลาสำหรับ ทำงาน ออกกำลังกาย ถ่ายรูป ออกแบบกระถาง ไปกินข้าวกับเพื่อน กลับบ้านไปหาคุณแม่ หากมองว่าทุกเรื่องนี้สำคัญ ก็ต้องเอาทั้งหมดจัดสรรลงในตารางของแต่ละวันให้ได้
โดยในตอนนี้หน้าที่หลักของหมอเปียงคือ การเรียนต่อทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู (rehabilitation medicine) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การ preventive การรักษา ก่อนจะจบลงที่การฟื้นฟู ที่เป็นหนึ่งในพันธกิจทางการแพทย์ ที่คนอาจจะยังไม่ค่อยรู้จัก
“ก่อนหน้านี้เราโฟกัสแค่การรักษาโรค ว่าโรคนี้ต้องรักษาด้วยการกินยาตัวไหน แต่หลัง ๆ กลายเป็นว่า สุดท้ายพอรักษาไปแล้วคนไข้อาจไม่หายแล้วกลับมาอีก เลยมีคำว่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูเกิดขึ้นมา คือการทำอย่างไงก็ได้เพื่อให้คนไข้สามารถมีคุณภาพชีวิตได้ที่ดีที่สุดที่อัตภาพเขาจะเอื้อให้ได้ ผมรู้สึกว่าเป็นศาสตร์ที่สามารถคุยได้กับทุกคน คำว่าฟื้นฟูไม่ได้จำกัดอยู่แค่ว่าต้องฟื้นฟูคนพิการ หรือคนที่เป็นโรคเท่านั้น ถ้าเรามองให้กว้างกว่านั้น ฟื้นฟู ครอบคลุมถึงเราทุก ๆ คน การนั่ง การเดิน การนอน การออกกำลังกาย นักกีฬา การทำสปา wellness office syndrome คือทุกอย่างในชีวิตประจำวัน”
ซึ่งการรักษาในแบบเวชศาสตร์ฟื้นฟู เป็นสาขาที่กว้างมาก โดยมีหมอฟื้นฟูเป็นผู้ตรวจวินิจฉัยโรค วางแผนการรักษา และติดตามอาการหลัก โดยมีทีมอีกหลายสาขาวิชาชีพที่คอยช่วยเหลือให้ผู้ป่วยดีขึ้นตามเป้าหมาย เช่น นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด ฯลฯ ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับคนส่วนใหญ่ ทำให้หลายคนไม่คุ้นเคยการรักษาของหมอเปียง ที่บางครั้งตรวจเสร็จไม่มีการจ่ายยา แค่รับคำปรึกษาแล้วได้รับคำแนะนำให้กลับไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ขีวิตปกติเพื่อให้ร่างกายดีขึ้นเองเท่านั้น
“ทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู ยาหลักของพวกเรา คือการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์คนไข้ ใช้ยาตามที่จำเป็น บางทีเลยเหมือนจะไม่ได้ให้ยา หรือไม่ให้ไปทำ treatment อะไรทั้งนั้น เราตรวจและถามพฤติกรรมอย่างละเอียด ให้คำนำแนะในการปรับพฤติกรรมต่าง ๆ หมอฟื้นฟู จะสั่งออกกำลังกายแบบชัดเจน ระบุท่า จำนวนครั้ง รวมถึงความถี่ไว้ด้วย ซึ่งหลายเรื่องเขารู้อยู่แล้วเพียงแต่เขาแค่ไม่ทำ แต่พอเป็นหมอแนะนำอย่างตั้งใจ คนไข้บางคนก็เชื่อแล้วลองปฏิบัติตาม จนสุดท้ายก็ดีขึ้นในที่สุด หากปรับพฤติกรรมไม่สำเร็จ เวชศาสตร์ฟื้นฟู มีเครื่องมือและวิธีการรักษาที่เฉพาะนอกเหนือจากการให้ยา ด้วยการใช้เครื่องมือทางกายภาพบําบัด (Physical modality) เช่น dry needling, shock wave, ultrasound”
การพยายามแนะนำคนไข้อย่างใจเย็น เพื่อให้เขารับรู้ได้ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสื่อสารถึงการรักษาด้วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู เป็นความสุขอย่างหนึ่งในฐานะหมอของหมอเปียง ที่ทุกครั้งเมื่อได้เห็นคนไข้มีอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ จากการยอมปรับไลฟ์สไตล์ หันมาออกกำลังกาย ปรับอาหารการกิน การปรับที่อยู่อาศัย
“ผมว่าการที่ได้เห็นคนไข้ของผมส่วนใหญ่เขาดีขึ้น นั่นแหละคือความสุขของผมที่พอเราได้ตั้งใจให้อะไรบางอย่างเขาไป แล้วเขาได้รับสิ่งนั้นจริง ๆ ซึ่งไปเปลี่ยนชีวิตเขาได้ ช่วยทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องโรคที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่เป็นเรื่องชีวิตด้านอื่นที่ดีขึ้นด้วย หลังจากที่แก้ไขปัญหาเรื่องโรคภัยออกไปได้ พอคนไข้กลับมาเล่าให้เราฟังว่าหลังจากอาการดีขึ้นมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วบ้าง เราก็มีความสุขในฐานะหมอที่ได้เห็นคนมีชีวิตที่ดีขึ้น”
ความสุขจากการได้เห็นผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้นจากการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตปกตินี่เอง ที่มีส่วนให้หมอเปียง ทำเพจ
PYONG: Traveller x Doctor
โดยตั้งใจนำความต่างของหมอ กับ travel blogger มารวมอยู่ในชื่อเดียวกัน เพื่อสื่อสารให้รู้ว่าทุกคนสามารถทำในสิ่งที่รักได้ไปพร้อมกับไม่ต้องทิ้งหน้าที่การงาน เพราะถ้าหมอคนหนึ่งยังสามารถเป็น travel blogger ได้ คนทั่วไปก็ลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่รัก หรือแม้แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาออกกำลังกาย ดูแลตัวเอง ใส่ใจอาหารการกิน เพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้เช่นกัน
“ผมมีความสุขกับการเป็นแบบอย่างของไลฟ์สไตล์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นที่เขารู้สึกว่าเขาไม่มีพลังมากพอที่จะทำอะไรบางอย่าง เราทำให้เห็นตัวอย่างจริงว่า ขนาดคนเป็นหมอที่มีงานเยอะขนาดนี้ ยังสามารถทำกิจกรรมเพิ่มได้อีกหลายอย่าง แค่ต้องจัดสรรเวลาและจัดลำดับความสำคัญบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องออกไปเที่ยวเหมือนผม แค่ให้ลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่คิดว่ามีความสุขที่ได้ทำก็พอแล้ว”
ไม่น่าเชื่อว่าสุดท้ายแล้วฮีโร่เสื้อกาวน์คนนี้ ใช้การออกเดินทางท่องโลกเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนได้กล้าที่จะก้าวขึ้นมามีความสุขจากการหาจุดสมดุลของชีวิต ในเรื่องการทำงาน ควบคู่ไปกับการใช้เวลากับสิ่งที่รัก และที่สำคัญคือการดูแลตัวเอง
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3556
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Social
PYONG
Kantaphong_Thongrong
PY