‘แคทเธอรีน สวิตเซอร์’ หญิงสาวผู้พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าการวิ่งมาราธอนเป็นกีฬาของทุกเพศ
ปัจจุบัน ‘การวิ่งมาราธอน’ เป็นกีฬาที่ทุกเพศสามารถลงสนามได้อย่างเท่าเทียม แต่เชื่อหรือไม่ว่า ก่อนหน้านี้ การก้าวเท้าออกวิ่งระยะยาวได้ชื่อว่าเป็นกีฬาสำหรับผู้ชาย และเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับผู้หญิง จนกระทั่งสายลมแห่งความเท่าเทียมได้พัดสู่งานบอสตัน มาราธอนครั้งแรกในปี 1967 พร้อมภาพประวัติศาสตร์ในนาทีที่หญิงสาวคนหนึ่งถูกขัดขวางการวิ่งโดยชายอีกคนที่วิ่งตามเธอมา
หญิงสาวคนนั้นคือ ‘แคทเธอรีน สวิตเซอร์’ ผู้ลงทะเบียนวิ่งมาราธอนหมายเลข 261 ที่กำลังลงแข่งขันอย่างเป็นทางการ แต่ถูกขัดขวางโดย ‘จ๊อค เซมเปิล’ ผู้จัดการแข่งขันบอสตัน มาราธอน เนื่องจากสมาคมกรีฑาสมัครเล่น (AAU-Amateur Athletic Union) ได้ออกกฎห้ามผู้หญิงวิ่งมาราธอน ทำให้จ๊อคต้องปฏิบัติตามกฎอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่กระนั้นแคทเธอรีนก็สามารถวิ่งจนถึงเส้นชัย
เธอกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม และได้ตั้งปณิธานว่า จากนี้ไป เธอจะทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเล่นกีฬา และแสดงให้ทุกคนเห็นว่า การวิ่งเป็นสิทธิ์ของทุกคน มิใช่เฉพาะเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น
งานวิ่งบันลือโลก...ทำไมฉันจะวิ่งไม่ได้
หญิงสาวในวัย 20 ปี ไว้ผมยาวประบ่า สวมเสื้อแขนยาวสีเทา กางเกงวอร์มขายาว พร้อมรองเท้าวิ่ง และมีเลข 261 เป็นเลขประจำตัวนักวิ่งที่เรียกว่า ‘บิบ’ (Bib) อยู่บนเสื้อ คือภาพของแคทเธอรีน สวิตเซอร์ ในงานบอสตัน มาราธอน ประจำปี 1967
ในยุคนั้นมีความเชื่อว่า การวิ่งระยะไกลอย่างมาราธอนเป็นกีฬาที่ไม่เหมาะสำหรับผู้หญิง เพราะต้องใช้พละกำลังและความอดทนมาก ทั้งยังส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ของพวกเธอ ทำให้สมาคมกรีฑาสมัครเล่นของสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎ ‘ห้ามผู้หญิงวิ่งมาราธอน’ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามอาจส่งผลต่อการถูกตัดสิทธิ์ในการจัดงาน
จ๊อค เซมเปิล หนึ่งในผู้จัดการแข่งขันจึงพยายามวิ่งตามเธออย่างรวดเร็ว หมายจะดึงบิบหมายเลขของแคทเธอรีนออก เพื่อไม่ให้เธอเข้าร่วมการแข่งขันอย่างเป็นทางการ แต่เขาก็ถูกแฟนหนุ่มของแคทเธอรีนและครูฝึกส่วนตัวอย่าง ‘อาร์นี บริกส์’ ขัดขวาง จนในที่สุดเธอก็ไปถึงเส้นชัยด้วยเวลา 4 ชั่วโมง 20 นาที
หลังจากเหตุการณ์นั้น ภาพถ่ายของพวกเขาก็ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก ถึงขนาดที่นิตยสารไทม์ยกให้เป็น 1 ใน 100 ภาพถ่ายทรงอิทธิพลที่สุดในโลกตลอดกาล เพราะแคทเธอรีนได้กลายเป็นตัวแทนของผู้หญิงในการเรียกร้องสิทธิสตรี และความเท่าเทียมในการเล่นกีฬาให้แก่คนทั่วโลก
“หลังจบการแข่งขัน ฉันรู้ทันทีว่าต่อจากนี้คือเวลาที่ฉันจะลุกขึ้นสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกของผู้หญิง”
แต่ก่อนที่แคทเธอรีนจะกลายมาเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ เธอเองก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายทั้งขีดจำกัดทางร่างกาย และแนวคิดชายเป็นใหญ่ของคนรอบตัว กว่าจะได้ใบสมัครเข้าแข่งขันบอสตัน มาราธอนมาครอบครอง
ก่อนไปถึงบอสตันมาราธอน
แคทเธอรีน สวิตเซอร์ เกิดที่ประเทศเยอรมนี ในปี 1947 ก่อนจะย้ายกลับมาอาศัยที่สหรัฐอเมริกาพร้อมครอบครัวในปี 1949 เธอเป็นเด็กสาวที่หลงรักการเล่นกีฬาเป็นอย่างมาก โดยเริ่มวิ่งวันละ 1 ไมล์ตั้งแต่อายุได้เพียง 12 ปี
เมื่อแคทเธอรีนเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เธอได้พบกับครูฝึกวิ่งอย่าง อาร์นี บริกส์ ผู้มีความเชื่อว่าการวิ่งมาราธอนในระยะ 42.195 กิโลเมตรนั้นไม่ใช่ระยะที่เหมาะสมสำหรับผู้หญิง เพราะพวกเธอ ‘เปราะบาง’ เกินกว่าจะรับไหว แต่เขาก็ไม่ได้กีดกันแคทเธอรีนออกจากความตั้งใจ โดยเสนอให้เธอพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าเธอวิ่งไหว แล้วเขาจะพาเธอไปร่วมการแข่งขันบอสตัน มาราธอนด้วยตัวเอง
หลังจากนั้นไม่นาน แคทเธอรีนก็ได้ทลายความเชื่อของอาร์นีโดยการวิ่ง 42.195 กิโลเมตร และขอเขาวิ่งเพิ่มอีก 8 กิโลเมตร จนอาร์นียอมพาเธอไปสมัครวิ่งในงานบอสตัน มาราธอน ภายใต้ชื่อ ‘K.V. Switzer’ โดยไม่ได้ระบุเพศ และรับบิบหมายเลข 261 มา นั่นทำให้แคทเธอรีนกลายเป็นนักวิ่งหญิงคนแรกที่ได้วิ่งในงานบอสตันมาราธอนอย่างเป็นทางการ
ส่วนนักวิ่งหญิงอีกราย เธอได้เข้าร่วมการแข่งขันบอสตัน มาราธอนก่อนหน้าแคทเธอรีน 1 ปี แต่เป็นการลักลอบเข้ามาวิ่ง โดยไม่ได้รับบิบหมายเลข เธอคนนั้นมีชื่อว่า ‘บ็อบบี กิ๊บบ์’ ซึ่งสถิติเวลาที่เธอทำไว้น้อยกว่าของแคทเธอรีน แต่ก็ไม่สามารถนับว่าเป็นสถิติอย่างเป็นทางการได้ เพราะเธอไม่ได้ยื่นใบสมัคร
และภายหลังการวิ่งของแคทเธอรีนจบลง ความคิดที่ว่าผู้หญิงนั้นอ่อนแอเกินกว่าจะวิ่งมาราธอนได้ก็มลายหายไป ส่งผลให้หญิงสาวมากมายทั้งในฝั่งยุโรปและอเมริกาเริ่มมีพื้นที่ในการวิ่งมาราธอนมากขึ้น
โลกของกรีฑาเมื่อผู้หญิงร่วมRUNวงการ
เหตุการณ์ที่บอสตัน มาราธอนเป็นบทพิสูจน์ให้ทั่วโลกเห็นว่า การวิ่งเป็นสิทธิ์ของทุกคน ไม่ใช่เพศใดเพศหนึ่ง เพราะอีกเพียง 5 ปีต่อมา ในปี 1972 บอสตัน มาราธอนก็อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าร่วมได้อย่างเป็นทางการภายใต้ความช่วยเหลือของจ๊อค เซมเบิล ตามมาด้วยการบรรจุกีฬามาราธอนหญิงเข้าสู่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนเป็นครั้งแรกในปี 1984
หลังจากแคทเธอรีนกลายเป็นขวัญใจหญิงสาวผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีและความเท่าเทียมในการเล่นกีฬาของผู้หญิงทั่วโลก เธอยังไม่หยุดภารกิจไว้เพียงเท่านั้น เพราะเธอยังได้ร่วมมือกับแบรนด์เครื่องสำอาง Avon จัดงาน Avon International Women’s Running Circuit ขึ้นใน 27 ประเทศทั่วโลก เพื่อเป็นงานวิ่งมาราธอนประจำปีของเหล่าสุภาพสตรี และกดดันให้คณะกรรมการโอลิมปิกบรรจุมาราธอนหญิงเข้าสู่การแข่งขันในปี 1984
แต่นั่นก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะตลอดระยะเวลากว่า 54 ปีที่ผ่านมา แคทเธอรีน สวิตเซอร์ยังคงวิ่งต่อไปไม่ยอมหยุด โดยการวิ่งเพื่อความเท่าเทียมและสิทธิสตรีของเธอได้ถูกส่งผ่านองค์กร ‘261 Fearless’ ที่เธอก่อตั้งขึ้นในปี 2015 เพื่อช่วยเหลือสตรีทั่วโลกผ่านกิจกรรมอย่าง ‘การวิ่ง’ ที่ทุกคนในเครือข่ายภาคภูมิใจ
261เลขนี้ไม่มีความหวาดหวั่น
“หญิงสาวมากมายทั่วโลกติดต่อมาหาฉันเพื่อบอกว่า พวกเธอได้สวมเสื้อหมายเลข 261 ขณะวิ่ง หรือก็คือหมายเลข 261 ได้ช่วยขจัดความกลัวและความหวาดหวั่นในจิตใจของพวกเธอออกไปให้พ้นทาง”
นั่นคือหมายเลขที่แคทเธอรีนได้รับเมื่อครั้งวิ่งมาราธอนที่บอสตัน และได้กลายมาเป็น ‘เลขบันดาลใจ’ ของหญิงสาวผู้เผชิญหน้ากับอุปสรรคในชีวิตที่นอกเหนือไปจากการเล่นกีฬา โดยแคทเธอรีนเล่าว่า หญิงสาวบางรายถึงกับสักเลข 261 ไว้ที่ข้อเท้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง
จนกระทั่งปี 2015 แคทเธอรีนได้ใช้แรงบันดาลใจในจุดนี้ก่อตั้งองค์กร ‘261 Fearless’ ขึ้น และกระจายเครือข่ายไปทั่วโลก เพื่อช่วยให้ผู้หญิงก้าวข้ามปัญหาในชีวิต และสร้างสุขภาพกายและใจที่ดีผ่านกิจกรรมอย่าง ‘การวิ่ง’ เช่น กิจกรรมวิ่งมาราธอนที่เกาะมายอร์กา ประเทศสเปน เมืองสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน หรือเมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย ซึ่งมีผู้หญิงสนใจเข้าร่วมกว่า 15,000 คน
ปัจจุบันสายสัมพันธ์ของเครือข่าย 261 Fearless ยังคงเชื่อมโยงสตรีทั่วโลกไว้อย่างแน่นแฟ้นผ่านสื่อกลางอย่าง ‘การวิ่ง’ เพื่อช่วยเหลือและสร้างแรงบันดาลใจให้กันและกัน ซึ่งบัดนี้ความตั้งใจของแคทเธอรีนได้ขยายผลไปทั่วโลก ทำให้การวิ่งมาราธอนที่เคยเป็นกีฬาของเพศชายได้กลายเป็น ‘กีฬาของทุกคน’ อย่างเท่าเทียมแล้ว
เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี
อ้างอิง
https://www.runnersworld.com/runners-stories/a20786864/kathrine-switzer-launches-race-series/
https://www.261fearless.org/about-261/kv-switzer/
https://kathrineswitzer.com/1967-boston-marathon-the-real-story/
https://thestandard.co/kathrine-switzer/
https://www.womenofthehall.org/inductee/kathrine-switzer/
https://en.wikipedia.org/wiki/Kathrine_Switzer