ยุนยอจอง: คุณยายจาก Minari นักแสดงเกาหลีใต้คนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์
แม้งานประกาศผลรางวัลอะคาเดมี อะวอร์ดส์ หรือเรียกสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่างานออสการ์ จะจัดมาอย่างยาวนานถึงครั้งที่ 93 แล้ว แต่สถิติใหม่ ๆ ยังพร้อมเกิดขึ้นเสมอ เพื่อสร้างความคึกคักและความหลากหลายให้กับเวทีอันทรงเกียรตินี้
โดยเฉพาะรางวัลนักแสดงสมทบฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม ที่ในหลาย ๆ ปี มักจะมาพร้อมความเซอร์ไพรส์ ความตื่นเต้น และเต็มไปด้วยประเด็นที่น่าถกเถียงอยู่เสมอ และปีนี้ก็ไม่ต่างกัน เมื่อยุนยอจอง นักแสดงหญิงอาวุโสวัย 73 ปีจากเกาหลีใต้ ขึ้นรับรางวัลนี้อย่างสมเกียรติ จากการรับบทเป็นคุณยายที่ข้ามน้ำข้ามทะเลจากเกาหลีใต้มาช่วยดูแลหลานในครอบครัวเกาหลีใต้ที่มาตั้งรกรากที่อเมริกาในภาพยนตร์เรื่อง Minari
ถือเป็นนักแสดงเกาหลีคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์ และตอกย้ำกระแสเกาหลีใต้บนเวทีนี้อีกครั้ง หลังจากที่ Parasite เคยปูทางมาก่อนในออสการ์ 2020
นี่คือเรื่องราวของเธอ...ยุนยอจอง
ยุนยอจอง เกิดที่เมืองแกซอง และไปเติบโตที่กรุงโซล การสูญเสียพ่อตั้งแต่เยาว์วัยทำให้เธอและน้องสาวอีก 2 คนต้องยืนหยัดทำงานเพื่อให้ทัดเทียมผู้ชายในยุคที่ชายเป็นใหญ่
ด้วยความสนใจในงานการแสดงตั้งแต่เด็ก ระหว่างที่เธอร่ำเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยฮันยาง ในคณะภาษาและวรรณคดีเกาหลี มีการประกาศคัดตัวนักแสดงเพื่อแสดงในซีรีส์ที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์ช่อง TBC จนเมื่อได้รับคัดเลือกให้แสดงนำ เธอก็หันหลังให้การศึกษาเพื่อเดินหน้าเข้าวงการบันเทิงอย่างเต็มตัว
ประเดิมด้วยซีรีส์ดรามาอย่าง Mister Gong (1967) และแม้จะเป็นซีรีส์เรื่องแรกในชีวิตการแสดงของเธอ แต่บทบาทที่ท้าทายก็ทำให้เธอคว้ารางวัล TBC Drama Awards ในสาขานักแสดงหน้าใหม่ ทำให้เธอมีกำลังใจที่จะเฟ้นหาบทบาทที่ท้าทายเพื่อให้คนดูได้จดจำเธอต่อไป
และในอีกหลายปีต่อมา ชื่อยุนยอจองก็เป็นที่กล่าวขวัญถึงในฐานะนักแสดงสาวที่กล้าแสดงในบทบาทที่แสนร้ายลึกจากหนังเรื่องแรกของเธอ Woman of Fire (1971) กับบทบาทหญิงร้ายที่มาปั่นป่วนหัวใจคู่รัก นับเป็นความกล้าหาญในยุคที่สตรีต้องเรียบร้อยดุจผ้าพับไว้ การแสดงบทบาทสาวร้ายกร้านโลกทำให้หนังได้รับความนิยมอย่างสูง และทำให้ยุนยอจองคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงจากเทศกาลภาพยนตร์ Blue Dragon Film Awards และรางวัลนักแสดงหน้าใหม่ Grand Bell Awards ไปครองในปีนั้น แถมชื่อชั้นของเธอยังดังในระดับอินเตอร์ เมื่อเธอได้คว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ Sitges Film Festival ของประเทศสเปน
เสน่ห์อันแสนร้ายกาจ ในบทบาทที่ไม่ห่วงภาพลักษณ์ ทำให้ยุนยอจองได้บทบาทที่ท้าทายมากมาย และเพียงหนังเรื่องที่ 2 The Insect Woman (1972) บทบาทที่ท้าทายก็แวะเวียนมาหาเธอด้วยบทของหญิงโสเภณีที่ต้องรับมือกับลูกค้าหนุ่มที่ป่วยทางจิต รวมไปถึงซีรีส์ Jang Hui-bin (1971) ในบทสนมเอกที่เฉียบคม ทำให้เธอเป็นแม่แบบของการแสดงที่โดดเด่นอย่างมีสไตล์ที่เฉิดฉายและเป็นตัวของตัวเองแบบที่หาไม่ได้จากนางเอกในยุคนั้น
แม้วัยของเธอในยุค 70s จะเป็นวัยที่สามารถตักตวงชื่อเสียงได้จากผลงานมากมาย แต่เธอกลับเน้นเลือกแต่บทบาทที่หลากหลายและแตกต่าง ทำให้ผลงานการแสดงของเธอไม่มากเท่าไร แถมปี 1974 เธอยังประกาศวิวาห์กับนักร้องหนุ่มในยุคนั้นอย่างโจยังนัม โดยไม่สนว่าเวลานักแสดงขวัญใจประกาศแต่งงาน หมายถึงความนิยมจะเสื่อมถอยลง เธอก็ไม่แคร์ พร้อมทั้งตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปอยู่อเมริกา ทิ้งวงการบันเทิงและการแสดง ก่อนจะทิ้งทวนด้วยบทบาทแม่ผู้ต้องทนทุกข์กับการเห็นลูกสาวถูกลักพาตัวไปข่มขืนและบังคับให้ขายตัวจนลูกของเธอตัดสินใจฆ่าตัวตาย เธอจึงล้างแค้นด้วยการไล่ล่าและฆ่าคนที่ทำร้ายลูกเธออย่างสาสมในหนังเรื่อง Mother (1985)
แต่เธอและคนรักก็อยู่ร่วมกันได้ไม่นาน เมื่อทั้งสองประกาศแยกทางกัน ยุนยอจองกลับคืนสู่แผ่นดินบ้านเกิด แม้การกลับมาคืนรังในวงการบันเทิงจะไม่สวยงามเหมือนเมื่อก่อน แต่เพราะเธอวางตัวในฐานะนักแสดงที่เก่งกาจในด้านการสวมบทบาทที่หลากหลาย จึงกลายเป็นการกลับมาอย่างงดงามและสมศักดิ์ศรีของเธอ ยิ่งประสบการณ์ชีวิตที่มากขึ้น บทบาทการแสดงยิ่งท้าทายยิ่งกว่าเดิม
เช่นในหนังอื้อฉาวอย่าง Angel, Become an Evil Woman (ฉาย 2 เวอร์ชัน ในปี 1990 และได้รับการตัดต่อใหม่เพื่อฉายในปี 1995) เธอรับบทหญิงสาวช้ำรักที่ถูกสามีหักหลัง จึงสมคบกับหญิงสาวที่ชอกช้ำอีกคนและทำการวางแผนผลัดกันฆ่าสามีของอีกฝ่ายเพื่อเป็นการล้างแค้น หรือบทบาทแม่ผัวจอมจุ้นจ้าน และไร้ซึ่งความสุขกับคู่ครองจนเธอต้องไปหาเศษหาเลยด้วยการนอนกับชายคนอื่น ในหนังดรามาเข้มข้นอย่าง รัก แลก ปรารถนา (A Good Lawyer’s Wife, 2003) บทบาทของเธอก็ทำให้คว้ารางวัลนักแสดงสมทบหญิงไปครองในหลายสถาบัน และหนังที่สร้างชื่อให้เธอได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่าง แรงปรารถนา...อย่าห้าม (The Housemaid, 2010) ในบทบาทหญิงรับใช้รุ่นใหญ่ ที่กุมความลับปริศนาในบ้านที่เต็มไปด้วยเล่ห์ราคะ บทบาทนี้ทำให้เธอเป็นที่ยอมรับในเอเชียจากเวที Asian Film Awards และกระแสหนังเกาหลีที่กำลังโหมซัดไปทั่วโลก ทำให้ชื่อเสียงของเธอเป็นที่กล่าวขวัญถึงในระดับโลก
หลังจากนั้นเธอเป็นที่จดจำในฐานะนักแสดงเจ้าบทบาท ผู้เดินสายคว้ารางวัลในหนังมากมาย แต่บทบาทสำคัญและทำให้เธอได้รับการยอมรับในระดับโลกคือการรับบทบาทที่ทำให้เธอเป็นนักแสดงเกาหลีใต้คนแรกและนักแสดงเอเชียคนที่สอง ที่คว้ารางวัลออสการ์ในครั้งนี้ (ทิ้งช่วงจากครั้งแรกที่ มิโยชิ อูเมคิ คว้ารางวัลนี้จากหนัง Sayonara (1957) ถึง 63 ปี
ยุนยอจอง รับบทคุณยายที่เดินทางรอนแรมมาไกลจากเกาหลีใต้มายังอเมริกาเพื่อสนับสนุนลูกสาวและลูกเขยเพื่อเติมฝันแบบอเมริกันดรีมในหนัง Minari (2020) หนังชีวิตส่วนตัวของผู้กำกับที่ครอบครัวอพยพย้ายถิ่นฐานมายังดินแดนแห่งเสรีภาพ ยุนยอจองรับบทเป็นคุณยายใจดีที่อยู่ร่วมกับหลานและสอนวิถีชีวิตแห่งชาวตะวันออกในดินแดนตะวันตกให้หลาน ๆ ได้รับรู้ผ่านคาแรกเตอร์บ้าน ๆ แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ โดยยุนยอจองกล่าวถึงบทบาทคุณยายสุดเฟี้ยวผู้นี้ว่า
“มันทำให้ฉันหวนคิดไปถึงคุณยาย ฉันเกิดในยุคแร้นแค้นหลังสิ้นสุดสงครามเกาหลี พ่อก็มาจากไป แม่ก็ออกไปทำงาน ฉันต้องอยู่กับคุณยายที่ตอนแรกฉันไม่ได้ชอบเลย เพราะคุณยายเป็นคนแต่งตัวสกปรกมอซอ แถมยังผอมโซเพราะไม่ชอบกินข้าว จนฉันมารู้ทีหลังว่าแกเสียสละข้าวบางมื้อเพื่อให้พวกเราอิ่มท้อง กว่าฉันจะรู้สึกได้ก็สายไปแล้ว ยายจากไปตอนที่ฉันอายุ 9 ขวบ การที่ฉันมารับบทคุณยายในหนังเรื่องนี้จึงลึกซึ้งและเชื่อมโยงกับชีวิตของฉันมาก ๆ ยิ่งทำให้ฉันได้รับรู้ว่าชีวิตและความเสียสละของคนเฒ่าคนแก่นั้นมันงดงามแค่ไหน”
นอกจากนั้นเธอยังคิดถึงช่วงเวลาชีวิตที่เธอได้มาอาศัยอยู่ที่อเมริกากับอดีตสามีของเธอที่ตอนนั้นประเทศเกาหลียังไม่ได้เป็นที่จดจำเหมือนเช่นทุกวันนี้
“ฉันอาศัยอยู่กับอดีตสามีในรัฐฟลอริดา ในยุคนั้นผู้คนจะรู้จักเกาหลีเพียงแค่เป็นประเทศที่เคยก่อสงคราม ร้านขายของชำของคนเอเชียในยุคนั้นไม่เป็นของจีนก็ของญี่ปุ่น แถมของที่ขายพวกอาหารกระป๋องยังไม่ติดวันหมดอายุ ฉันค่อนข้างเครียดมาก เพราะฉันกำลังตั้งท้องลูกคนแรกอยู่ ฉันร้องไห้แทบทุกวัน มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก ๆ”
และด้วยประสบการณ์ร่วม เธอจึงมอบบทบาทซุนจา ยายผู้เปรียบเสมือน ‘ดิน’ ที่เก็บกักประสบการณ์ชีวิตไว้มากมายเพื่อเป็นฐานให้ลูกและหลานได้เติบใหญ่ไปด้วยคำสอนและบทเรียนชีวิตอันแสนอบอุ่น ่ไม่ต่างจากต้นมินาริตามชื่อเรื่อง ที่เติบโตเป็นอาหารสำหรับชาวเกาหลีได้ทุกที่ ซึ่งแตกต่างจากภาพบทบาทสุดแหวกสุดร้ายที่เธอรับมาตั้งแต่สมัยสาว ๆ เธอไม่ใช่คุณยายผู้อ่อนโยนเท่าไร แต่เธอเป็นคุณยายที่แสนดีที่เข้าใจชีวิตและพร้อมมอบความปรารถนาดีให้กับครอบครัว จึงเป็นบทบาทที่ทำให้เธอสามารถคว้ารางวัลอันยิ่งใหญ่ แม้แต่คู่แข่งอย่าง เกลนน์ โคลส (เข้าชิงออสการ์สาขาเดียวกันจากเรื่อง Hillbilly Elegy) ที่ไม่เคยได้รับเกียรตินี้สักครั้งในชีวิตยังต้องซูฮกให้เธอ
แม้การได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่นี้จะเป็นที่ภาคภูมิใจสำหรับคนเอเชียและคนเกาหลีด้วยกันเอง แต่เธอก็ไม่ได้คิดว่ารางวัลการแสดงของเธอจะยิ่งใหญ่เกินกว่านักแสดงท่านไหน “จริง ๆ เราไม่ควรมาแข่งกันเลย เพราะเราต่างเล่นหนังคนละเรื่องกัน ฉันไม่ได้เก่งกว่าใคร ฉันแค่โชคดีกว่าแค่นั้นเอง” โดย แบรด พิตต์ เป็นคนมอบรางวัลให้กับเธอ ดูเหมือนเธอจะตื่นเต้นกับแบรด พิตต์มากกว่าเสียอีก “มิสเตอร์แบรด พิตต์ เราได้เจอกันเสียทีนะคะ คุณหายไปไหนตอนที่เราถ่ายทำหนังกัน” เธอแซวแบรด พิตต์ ที่มีส่วนร่วมในหนังเรื่องนี้ในฐานะโปรดิวเซอร์ที่ผลักดันให้หนังในฝันของผู้กำกับได้เป็นความจริง
ด้วยบทบาทอันหลากหลาย และเป็นไอคอนทางการแสดงที่ชาวเกาหลีต่างพากันยกย่องมากว่า 40 ปี ไม่แปลกใจเลยที่นักแสดงรุ่นใหญ่แห่งแดนเกาหลีใต้จะได้รับเกียรติสูงสุดแห่งโลกภาพยนตร์นี้ ในวันที่วัฒนธรรม K-Pop กลายเป็นวัฒนธรรมที่ทรงอิทธิพลของโลกบันเทิง เธอคือหนึ่งในแรงผลักดันอันยิ่งใหญ่ โดยเธอเคยสัมภาษณ์ในนิตยสาร Esquire อเมริกาว่า
“ฉันดีใจที่ได้เห็นโลกรับรู้ถึงความสามารถของคนเกาหลีก่อนที่ฉันจะตาย” และวันนี้เธอก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
ข้อมูล
https://www.esquire.com/food-drink/food/a35633760/yuh-jung-youn-minari-kimchi-jjigae-recipe-interview/
https://www.npr.org/2021/04/09/985344296/i-feel-like-im-an-olympian-youn-yuh-jung-on-her-historic-oscar-nomination
เรื่อง: สกก์บงกช ขันทอง
ภาพ: Chris Pizzello-Pool/Getty Images