read
interview
26 เม.ย. 2564 | 16:43 น.
บทสัมภาษณ์แว่นใหญ่: จากกีตาร์คอหักที่ขอคนอื่นมา กว่าจะเป็นนักร้อง - นักแต่งเพลงมือดี และหัวเรือใหญ่ค่าย ‘HolyFox’
Play
Loading...
“ไปเจอกีตาร์ของคนรู้จักคนหนึ่งที่แบบมันหัก คอหักอย่างนี้เลยนะ แล้วก็ขอเขา เขาคิดว่าสภาพนี้พี่คงไม่ได้เล่นหรอก เขาก็ให้มา เราก็มาต่อ มาสกรูมายึดตรงคอแล้วก็ต่อ แล้วก็ใส่สายจนมันเล่นได้ พ่นสีใหม่ เป็นกีตาร์ตัวแรกในชีวิต แล้วเสียงมันแบบแย่มาก แข็งมาก แบบเหมือนเอาไม้ตอกลวดแล้วดีด”
เสียงกีตาร์อะคูสติกเพราะ ๆ ดังขึ้น รับด้วยเสียงร้องทุ้ม ๆ และนุ่มหู ของ ‘แว่นใหญ่’ โอฬาร ชูใจ นักร้อง มือกีตาร์ และนักแต่งเพลง อดีตสมาชิกวง Room39 ผู้กลายเป็นศิลปินเดี่ยวและหัวเรือใหญ่ของค่าย ‘HolyFox’ ค่ายน้องใหม่ในเครือ ‘LOVEiS’ แว่นใหญ่กำลังเล่นเพลงล่าสุดของเขา ‘อยู่คนเดียว’ เพลงเศร้าแนวให้กำลังใจคนเหงาให้เราฟังสด ๆ หลังจาก The People เพิ่งจะชวนคุยถึงเรื่องราวในวงการดนตรีของเขาไป
ตั้งแต่วันที่มีกีตาร์ตัวแรกเป็นกีตาร์คอหักที่ขอคนรู้จักมา วันที่ทำวงดนตรีประกวดแบบ ‘แข่งที่ไหนก็แพ้’ วันที่กลายเป็นนักดนตรีอาชีพในต่างแดน วันที่กลับมาเป็นศิลปินที่ไทย วันที่กลายเป็นศิลปินเดี่ยวและผู้บริหารค่ายได้ถูกถ่ายทอดลงในบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มชิ้นนี้ โดยที่แว่นใหญ่บอกกับเราว่า ตลอดระยะเวลาที่เขาเล่นดนตรีมาร่วมยี่สิบปี ไม่มีวันไหนที่ความรักในเสียงเพลงของเขาลดลง และไม่มีวันไหนที่ความสุขในดนตรีของเขาหายไป
“ผมว่าตั้งแต่วันแรก ๆ ที่เล่นดนตรีในวงดุริยางค์ วันที่เป็นวง Room39 วันนี้ที่เป็นแว่นใหญ่ หรือวันที่เล่นกับเพื่อนไปประกวด ความสุขผมไม่เคยเปลี่ยนเลยนะ เป็นศิลปินเดี่ยว แน่นอนมันก็คือเดี่ยว เหงานิดหนึ่ง แต่ว่าความสุขเท่าเดิม”
The People: ย้อนเล่าชีวิตวัยเด็กหน่อย เริ่มสนใจดนตรีตั้งแต่ช่วงไหน
แว่นใหญ่: ตั้งแต่จำความได้เลยนะผมว่า ชอบฟังเพลง แล้วก็มีพี่สาว 4 คน พี่สาวเขาโตกว่าเรา เขาก็จะฟังเพลงก่อนเรา คนโตก็จะฟังเพลงฝรั่ง ส่วนคนรองมาก็ฟังเพลงแบบเพลงเพื่อชีวิต คนที่สามฟังเพลงวัยรุ่นแบบเพลงร็อก เพลงเมทัล เราก็เริ่ม เขาอ่านหนังสืออะไรเราก็เริ่มไปหยิบของเขามาอ่าน เขาฟังเพลงอะไรก็เริ่มเอาของเขามาฟัง เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้น แล้วก็ชอบดนตรีมาตั้งแต่เด็ก โดยที่ไม่ได้รับการผลักดันจากที่บ้านขนาดนั้น คือที่บ้านก็ปล่อยให้เราเป็นอย่างที่เราเป็น เป็นปกติเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไปที่ชอบดนตรี
The People: จากที่ชอบฟังเพลงตามพี่ แว่นใหญ่เริ่มเล่นดนตรีด้วยตัวเองตั้งแต่เมื่อไหร่
แว่นใหญ่: ตอนเริ่มเล่นดนตรีน่าจะ ป.5 มั้ง มีญาติคนหนึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องเขามาอยู่ที่บ้าน เขามีกีตาร์มาด้วยหนึ่งตัว เขาก็เล่นกีตาร์ เราก็ถือโอกาสนั้นเล่นกีตาร์เขาแล้วก็ให้เขาสอน เล่นกีตาร์เขาอยู่สองสามปี แล้ววันหนึ่งพี่เขาก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น เราก็ไม่มีกีตาร์เล่น ตอนนั้นก็เลยไปขอกีตาร์ คือไม่มีกีตาร์แล้วก็ไม่ได้มีตังค์ซื้อ ก็เลยไปขอ ดูเหมือนรันทด แต่ไม่ได้รันทดขนาดนั้นนะ คือไปเจอกีตาร์ของคนรู้จักคนหนึ่งที่มันหัก คอหักอย่างนี้เลยนะ แล้วก็ขอเขา เขาคิดว่าสภาพนี้พี่คงไม่ได้เล่นหรอก ก็ให้มา เราก็มาต่อ มาสกรูมายึดตรงคอแล้วก็ต่อ แล้วก็ใส่สายจนมันเล่นได้ พ่นสีใหม่ เป็นกีตาร์ตัวแรกในชีวิต ตรงหัวกีตาร์เป็นภาษาพม่า เป็นกีตาร์เมดอินพม่าแน่นอน แล้วเสียงมันแบบแย่มาก แข็งมาก แบบเหมือนเอาไม้ตอกลวดแล้วดีด มันเป็นอย่างนั้น แต่ว่าก็เป็นกีตาร์ของผมเองตัวแรกที่หัดเล่น เรียกว่าไม่มีกีตาร์ก็ไปหาแบบนั้นมาเล่น แล้วก็รู้สึกว่าจริง ๆ แล้วเราไม่ได้ต้องการแรงผลักดันหรือว่าการสนับสนุนอะไรขนาดนั้น มันขวนขวายหาหนทางของมันเองมากกว่า
The People: จากกีตาร์หัก ๆ ตัวแรก หลังจากนั้นคุณสนใจดนตรีมาโดยตลอดเลยไหม
แว่นใหญ่: ผมว่าเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไปนะ เราสนใจหลาย ๆ สิ่ง แล้วเราก็ได้ทำนู่นทำนี่ในสิ่งที่เราสนใจ แต่ว่าเรื่องของดนตรีเป็นอะไรที่ไม่เคยหยุดหายไป มันเป็นเสียงที่ไม่เคยเงียบ สมมติว่ามันมีเสียงนู้นโผล่มา เราก็วิ่งไปดูอันโน้น แต่ว่าเสียงของดนตรีมันยังไม่เคยเบาลง สมัยก่อนพอมีอะไรที่เกี่ยวกับดนตรีมาสักอย่างหนึ่ง เราจะรู้สึกว่ามันมีแรงกระตุ้นให้เราออกไปหามัน ไม่ว่าจะเป็นประกวดดนตรีกับเพื่อน อ๋อ! จริง ๆ ขอโทษนะ ถ้าเล่นดนตรี คำว่าเล่นดนตรีจริง ๆ เนี่ย น่าจะตอน ป.4 ที่โรงเรียนบอกว่ามีวงดุริยางค์ตอนเช้าที่มันเล่นเพลงชาติ แล้วเราก็รู้สึกว่าเขารับสมัครคน แล้วเขาอยากได้มือแซกโซโฟน แล้วเราก็อะไรก็ได้ ตีกลองก็ได้ อะไรก็ได้ แต่เขาบอกว่าเขาต้องการมือแซกโซโฟน เราก็กลายเป็นไปหัดแซกโซโฟน จำได้ว่าวันแรกที่ไปทำ ด้วยความที่หัดเล่นแล้วก็อยู่กับเพื่อนด้วย ก็ดึงกันไปดึงกันมา ปากของแซกโซโฟนมันเป็นไม้ใช่ไหม มันหล่น พอมันหล่นแล้วมันก็แตก เพื่อนก็บอกว่ามึงซวยแน่ แพงแน่อะไรอย่างนี้ ซวยแน่ เราจำได้ว่าวันนั้นเราก็ไม่ได้ไปอีก หายไปสองสามวัน เพราะเรารู้สึกว่าเราต้องโดนทำโทษหรืออะไร จนครูก็ฝากบอกเพื่อนว่ามาเล่นเถอะ ไม่เป็นไร ซ่อมแล้ว ก็กลับไป จริง ๆ น่าจะเป็นจุดนั้นมากกว่าที่เริ่มชิ้นแรกจริง ๆ เป็นแซกโซโฟน
The People: คือเริ่มก่อนกีตาร์
แว่นใหญ่: ก่อนกีตาร์ด้วยครับ กีตาร์เพิ่งมาเริ่มหลังจากนั้น ป.5 ป.6 อะไรอย่างนี้ แล้วก็ในบ้านเอง คุณพ่อเป็นคนชอบดนตรี จริง ๆ ย้อนกลับไปนิดหนึ่ง คุณแม่ก็เป็นนักร้อง สมัยก่อนอัดแผ่นเสียง แต่เราก็ไม่รู้ แล้วในบ้านก็จะมีอุปกรณ์เครื่องดนตรีบ้าง มีคีย์บอร์ด คุณพ่อก็จะเล่น แต่เราไม่ได้เริ่มจากตรงนั้นที่คุณพ่อหัดให้เลย ไม่มีนะ คือไปเริ่มจริง ๆ ในโรงเรียน ไปเริ่มด้วยตัวเองมากกว่า
The People: ที่บ้านมีคีย์บอร์ด มีคุณพ่อคุณแม่สนใจดนตรี แต่เราไม่มีกีตาร์?
แว่นใหญ่: ใช่ แต่จริง ๆ แล้วมองว่าคุณพ่อเล่น แล้วก็มีไว้ แต่ไม่ได้เล่นจริงจัง ไม่ได้เป็นอาชีพ แล้วก็นาน ๆ ประกวดทีหนึ่ง เราก็เห็นมันเป็นเฟอร์นิเจอร์เครื่องหนึ่ง ไม่ได้เป็นเครื่องดนตรีที่พ่อเล่นให้ดูว่า โอ้โห! เล่นอย่างนี้นะ ไม่ใช่ ก็เลยรู้สึกว่าไม่ได้รับการปลูกฝังตรงนั้นเลยต้องเอามาจากข้างนอกครับ
The People: เราเป็นนักดนตรีเดินสายประกวดด้วยใช่ไหม
แว่นใหญ่: โห! ฟังดูดี เดินสายประกวด จริง ๆ เรียกว่าสมัยวัยรุ่น คือเราอยากเล่นดนตรี วิธีการสมัยก่อนมันก็คงไม่ได้มีให้เล่นเยอะ มันก็มีการทำวง การไปห้องซ้อม แล้วเขามีประกวดเราก็ไปประกวดเพื่อหวังว่าเราจะได้ขึ้นเวที จริง ๆ การประกวดมันคือการได้ขึ้นเวที แล้วมันไม่มีใครให้มาขึ้นเวทีง่าย ๆ ก็รวมทำวงกับเพื่อนแล้วก็ไปซ้อม ตอนซ้อมก็แอบบอกที่บ้านว่าไปซ้อมกีฬา คือที่บ้านคุณพ่อเขาจะกังวล เขาจะไม่ค่อยสนับสนุนกับการที่เราเล่นดนตรีเท่าไร เพราะห่วงว่าเราจะไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ห่วงว่าเราจะแบบว่า ครั้งหนึ่งเคยบอกว่าอยากจะเรียนดนตรีเป็นอาชีพ เรียนสายดนตรีเลย ก็ถูกเบรกว่าอยากให้เรียนด้านอื่นมากกว่า ที่สามารถทำอาชีพที่มั่นคงได้ ซึ่งเราเข้าใจนะ โตขึ้นมาเราเข้าใจว่าในสายตาของผู้ใหญ่ผ่านโลกมาแบบหนึ่ง ซึ่งก็คงไม่เห็นว่าโลกของเราปัจจุบันมันเป็นยังไงบ้าง ก็เป็นความห่วงใย ซึ่งโอเคตอนนั้นเราอาจจะไม่เข้าใจ แต่วันเวลาผ่านมาเราก็เข้าใจเขา ไปเล่นดนตรี ไปซ้อม เพราะเราฟังเพลงเยอะ ๆ เพลงฝรั่ง เราอยากมีวง อยากเล่นเพลงนั้นเพลงนี้ ก็ทำวงไปแข่งกัน
ส่วนมากเลยจะตกรอบแรก แล้วก็เป็นการตกรอบแรกแบบไร้สิ้นความน่าเสียดายอย่างยิ่ง มีครั้งหนึ่งเข้ารอบ เข้ารอบเพราะสมมติมี 10 วงที่เข้ารอบ สละสิทธิ์ไปหนึ่งวง ก็เลยได้เข้า แต่เขามาสัมภาษณ์เราแบบมั่นใจไหม ยังไง ผมแบบมั่นใจมากครับ แล้วพิธีกรก็บอกว่า เอ๊ะ! เดี๋ยวนะ วงนี้ที่เข้ารอบเพราะว่ามีคนสละสิทธิ์นะ ก็รู้สึกว่า ไม่รู้ดิ รู้สึกดีใจ อย่างหนึ่งก็คือแทนที่จะรู้สึกว่าโดนเขาว่า หรือว่าตลอดเวลาที่ผ่านมากับการเล่นดนตรี ตกรอบแรกหรืออะไรก็ตาม ไม่อายเลยนะ จริง ๆ ควรจะอาย แต่ไม่อาย รู้สึกแฮปปี้กับสิ่งที่ทำ มีความสุขมาก มาย้อนกลับไปดูสิ่งนี้มันทำให้เราไม่หยุด ไม่ว่าเราจะเฟลแค่ไหน แข่งที่ไหนก็แพ้ ขึ้นไปบนเวทีก็แบบ เป็นความอายที่จริง ๆ ควรจะอายมาก เล่น ๆ อยู่แล้วมือกลอง เล่น ๆ ๆ แล้วไม้กลองหลุดไปนู่นแล้ว อยู่ข้างล่างเวที คนดูหันไปดูไม้กลอง แล้วมือกลองก็เล่นแล้วก็เอาไงดีวะ เล่นต่อดีเปล่า เราก็แบบ เฮ้ย! อย่าหยุดนะ อย่าหยุดนะเพื่อน แล้วสักพักหนึ่งมือกลองก็ตัดสินใจเดินลงจากเวทีไปหยิบไม้กลอง อะไรอย่างนี้ ซึ่งพอเราลงมา คือคนอื่นอาจจะมองว่าโหยไอ้พวกนี้แม่งห่วย แต่เราไม่รู้ดิ ไม่รู้สึกอะไรเลย แบบว่าความต้านทานต่อความอาย
The People: เล่นแบบนั้นจนถึงมหาวิทยาลัยเลยไหม
แว่นใหญ่: ใช่ครับ ก็เล่น ประกวด ทำวงกัน แล้วก็พอช่วงมหา’ลัย เริ่มมีเล่นตามงานมหา’ลัยบ้าง กับเพื่อน แล้วมีไปเปิดหมวกที่สยามก็มี บนบีทีเอส อยากลอง ช่วงนั้นอยากลอง แล้วก็มีการชักจูงจากเพื่อนต่างมหา’ลัยแล้วก็ทำวงกันขึ้นมา แล้วก็ทำเดโม มีประกวดบ้างแล้วก็ไปยื่นตามค่ายบ้าง ไปยื่นเดโมก็มี screen test ถ่ายหน้ากล้อง ค่ายใหญ่ ๆ เขาจะมีแบบนี้ เราก็ไป ดีใจมากเลยเวลาเขาติดต่อมา เข้าใจ feeling เลยเวลาที่มีค่ายเพลงให้เราเข้าไปหาหรือว่าไปสัมภาษณ์ ผมไป screen test เล่นอย่างนี้ เล่นกันสามคน ตอนนั้นผมเป็นนักร้อง เขาให้อยู่ข้างหน้า เล่นไปเล่นมาขอกีตาร์ขึ้นมา นักร้องถอยมานี่หน่อย จำได้ว่าช็อตที่จะอัดถ่ายคือผมยืนอยู่ข้างกลองแล้ว เอามือกีตาร์กับมือเบสขึ้นมาข้างหน้า แล้วก็เรา ก็รู้สึกว่าสมัยนั้นมันก็ไม่ง่ายนะ สมัยนั้นมันเป็นช่องทางเดียว ไม่มียูทูบที่จะไปเสนอผลงาน ช่องทางเดียวคือไปที่ค่ายเพลง แล้วก็ให้เขารับเราเพื่อที่จะทำเพลงกับเรา แต่ตอนนั้นมันอยู่ในช่วงทางแยก คือที่บ้านก็อยากให้เรียนต่อ เรียนจบมหา’ลัยแล้ว เราก็ เอ๊ะ! จะเอายังไง จะไปเรียนต่อเมืองนอกหรือว่าจะทำสิ่งนี้ต่อ ซึ่งพูดตรง ๆ นะ ถึงได้รับ feedback ว่า มาคุยกับค่าย แต่มันไม่ได้มีอะไรที่แบบ ยังรู้สึกว่าเราไม่ดีพอขนาดนั้น ก็ตัดสินใจไปเรียนต่อ
The People: การที่เราไปเรียนต่อจริง ๆ แล้วในสายตาแว่นใหญ่มันคือการทิ้งความฝันในการเป็นนักดนตรีในประเทศไทยไป หรือเป็นการจุดความฝันครั้งใหม่
แว่นใหญ่: จริง ๆ ผมว่าผมไปด้วยความที่ไม่รู้ว่าผมจะเจออะไรบ้างด้วยซ้ำ แต่เป้าหมายเราคือต้องไปเรียนแหละ เพราะที่บ้านอยากให้เรียน ทิ้งความฝันหรือเปล่า จริง ๆ ตั้งใจว่าจะรีบเรียนให้เสร็จแล้วกลับมาทำวงต่อกับเพื่อน แต่ชีวิตมันไม่ได้เหมือนกับที่เราคิด พอไปเราก็ติดพันหลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ อย่าง เป้าหมายในการใช้ชีวิตก็เริ่มมีมากขึ้น ก็เลยอยู่กับสิ่งตรงหน้าที่เราต้องทำ เผอิญว่าไปแล้วได้เล่นดนตรี ได้อยู่ในร้าน ได้เล่นเป็นอาชีพจริง ๆ อยู่ที่นั่น ได้เรียนรู้คำว่าการเล่นดนตรีเป็นอาชีพจากการอยู่ที่อเมริกา แล้วก็ได้ประสบการณ์ตรงนั้น ได้เจอเพื่อนฝูง แล้วก็ได้ฝึกตัวเองจากตรงนั้น ปกติทำเพลงของเราเอง เราไม่ได้เรียนรู้ว่าอะไรที่ยังไม่ดีในสิ่งที่เราทำ ในวิธีการร้องการเล่นของเรา จนพอเราไปอยู่ตรงนั้น จนวันที่เราไปอยู่ตรงนั้น เราเริ่มเรียนรู้ว่า เวลาที่เรารับเงินใครสักคนแล้วเราทำสิ่งนั้น เราจะมาทำเล่น ๆ หรือว่าจะทำตามใจ ก็ผมอินดี้อะ ไม่ได้แล้ว คาดหวังว่ามันควรจะต้องมีมาตรฐานประมาณหนึ่ง จากเพื่อนในวงเอง จากคนฟังเอง ก็เริ่มพัฒนาตัวเองตรงนั้น
.
The People: ช่วงนั้นแว่นใหญ่หัดแต่งเพลงด้วย
แว่นใหญ่: จริง ๆ แต่งเพลงเริ่มเขียนตั้งแต่สมัยมัธยมฯ แล้ว แต่เขียนเล่น ๆ ลองเขียนให้ใครสักคนหนึ่ง แต่เราไม่ได้คาดหวังอะไรเลยนะ ไม่ได้คิดอะไรเลย แล้วก็เขียนมาเรื่อย ๆ จนมาอยู่ทำวงกับเพื่อน ก็มีเพื่อนเขียนด้วย เราก็มีเขียนของเราบ้าง แต่ว่ามันยังไม่อยู่จุดที่เป็นรูปเป็นร่างใด ๆ ทั้งสิ้น จนไปอยู่อเมริกา เคยทำเดโมเหล่านี้แล้วก็ส่งมา ตอนนั้นพี่ตู่-ภพธร กลับมาเป็นศิลปินที่ไทยแล้ว ซึ่งเมื่อก่อนเคยเล่นอยู่ด้วยกัน ก็ฝากเดโมมากับพี่ตู่ ให้พี่บอย โกสิยพงษ์ ซึ่งก็ตามคาดไว้จริง ๆ เงียบกริบ (หัวเราะ) ซึ่งตอนนั้นเราก็เข้าใจว่าสงสัยเขาคงไม่อยากได้เรา
บ่อยครั้งเราจะไม่เข้าใจว่าทำไมไอ้ที่เราทำมันยังไม่ดี จนวันที่เราสามารถข้ามเส้นบางเส้นมาได้ แล้วเรากลับไปดูว่าทำไมตอนนั้นมันไม่ดียังไง มันเหมือนกับว่าถ้าเราไม่วิเคราะห์ ไม่สามารถ analyze ตัวเอง ผลงานของตัวเองได้ว่า ถ้าเราไม่สามารถ ถ้าเราไม่ดูคำว่าดี ไอ้สิ่งที่ดีคืออะไร สิ่งที่ไม่ดีคืออะไร เราต้องรู้ก่อนว่าอะไรคือไม่ดี เราถึงจะทำสิ่งที่มันดีได้ ดังนั้นที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ได้โฟกัสกับสิ่งที่เราทำอย่างเพ่งมันจริง ๆ จนเราไม่สามารถแยกมันได้ วันที่เราทำมันได้แล้ว เรากลับมาดู เราก็จะเห็นเลยว่าตรงนี้มันยังไม่ดี ตรงนี้มันดี มันดีเพราะอะไร มันไม่ดีเพราะอะไร ผมคิดว่านี่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เรารู้ แต่วันนั้นมันล่องลอยมากนะ เพราะว่าเราไม่รู้ว่าเราทำไปแล้วมันไม่ดียังไง
The People: แล้วจุดไหนที่เป็นจุดเปลี่ยนให้เรากลับมาเป็นนักดนตรีที่ไทย
แว่นใหญ่: ก็เหมือนเดิม ไม่ได้ตั้งใจ จากการทำ cover เล่น ๆ กันโดยที่ไม่ได้คาดหวังอะไรเลยจริง ๆ แต่รู้แค่ว่าระหว่างทำเริ่มสนุก ทำแล้วก็ เฮ้ย! สนุก ดีนะ ไม่เคยทำ เราก็ไม่เคย เราก็เล่นแบบนี้นะกลางคืน เราก็เล่นในวงกัน คนดูก็ฟังเพลงประมาณนี้ที่เราเล่น แต่เราไม่เคยมานั่งอัดกัน เราไม่เคยมานั่งถ่ายภาพไปด้วย พยายาม ผมว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นการเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ แล้วรู้สึกว่ามันสนุก ก็เลยนัดกันว่าเราจะทำไปเรื่อย ๆ นะ โดยที่ไม่คาดคิดว่าคนจะให้ความสนใจขนาดนั้น
พอ cover แล้วก็ได้รับความสนใจมาก ก็เริ่มเฮ้ย! ทำยังไงต่อนะ หรือเราจะทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ หรือยังไง ก็เริ่มมีการสอบถามพูดคุยชักชวนมา จนเป็นพี่บอย โกสิยพงษ์นี่แหละ ท่านเดิม ที่ส่งอีเมลมาหาเรา แล้วเราก็...ผมเห็นอีเมล ผมคิดว่าตอนนั้นมีคนแกล้ง เราก็คิดว่าไอ้นี่แกล้งเราแน่เลย ก็เลยบอกทุกคนว่าได้อีเมลมา แต่อย่าเพิ่งดีใจนะ คิดว่าโดนแกล้ง โทรฯ หาตู่-ภพธรที่เมืองไทยว่า เฮ้ย! ตู่ มีอีเมลแบบนี้ ตู่บอก โดนแกล้งแน่นอน (หัวเราะ) ไม่ใช่หรอก แล้วตู่ก็ไม่รู้ด้วยว่าเราทำอะไรอยู่ ทำ cover อะไรอย่างนี้ แล้วก็ไปเช็กว่าสรุปเป็นพี่บอยจริง ๆ ตัดสินใจกันว่าพี่บอยชวนว่าอยากให้กลับมาทำเป็นศิลปิน ทำเพลง ร่วมงานกับพี่บอย เราก็ดีใจมาก เราไม่คิดว่าเราจากนักร้องธรรมดาวงหนึ่ง อยู่ ๆ จะได้รับความสนใจจากพี่บอย โกสิยพงษ์ เราก็ จริง ๆ พี่เขาก็เป็นเหมือนอาจารย์ของเราเหมือนกัน ในความรู้สึกที่เราเล่นดนตรีมา ฟังพี่เขาร้องเพลง เราคิดว่ามันเป็นโอกาสที่ดีมากตอนนั้น ก็เลยกลับมาในฐานะวง Room39
The People: แล้วเรามาเริ่มเขียนเพลงอย่างจริงจังหลังจากนั้น
แว่นใหญ่: ใช่ คือทุกอย่างบนโลกมันเป็นโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง เรียนรู้อย่างหนึ่งเลยที่เรากลับมาแล้วมีแฟนคลับด้วย มีคนมาตาม เราพยายามเรียนรู้มัน แล้วก็เรียนรู้ว่าวันเวลาผ่านไปทุกอย่างมีขึ้นมีลง กระแสทุกอย่าง ความที่คนชอบมันก็มีเสื่อมถอยเป็นธรรมดา แล้วเรารู้สึกว่าสิ่งที่มันจะยั่งยืนจริง ๆ คือเราต้องยืนด้วยขาของตัวเองให้ได้ อย่างเช่นเราต้องสร้างงานตัวเองให้ได้ ตอนนั้นก็เริ่มแล้ว ช่วงแรก ๆ ก็มีพี่บอย โกสิยพงษ์ เขียนให้ ซึ่งก็มีเพลงที่ดัง แต่วันเวลาผ่านไป ทั้งกระแสเอย ทั้งเพลงเอย เรารู้สึกว่าเราต้องหาหนทาง เพราะว่าบางช่วงไม่มีงานนะ แล้วเราคิดว่าถ้าเราไม่สามารถทำงานด้วยตัวเองได้ หรือว่าทำให้คนชื่นชมผลงานเรา เราอาจจะต้องหยุดอาชีพนี้ไปแล้ว ณ ตอนนั้นคิดอย่างนั้น ก็เลยเริ่มเขียนเพลง เริ่มหัดเขียนเพลง ระหว่างนั้นก็อาศัยครูพักลักจำจากพี่บอยมาเยอะเหมือนกัน แล้วก็ทำ ใช้เวลากับมันค่อนข้างนาน เพื่อจะทำเพลงของวงให้ได้ ก็ทำ มีเพลงของวงออกมา
The People: เพลงแรกที่แต่งในนามวงคือเพลงอะไร
แว่นใหญ่: จริง ๆ มันมีตั้งแต่อัลบั้มแรกแล้ว ช่วงนั้น เพลง ‘ชั่วโมงที่สวยงาม’ ซึ่งเก่าเลย แต่ว่าเราก็เขียนโดยที่ อันนี้คือเขียน แต่ว่าเรายังไม่ได้ศึกษามันขนาดนั้น มันก็จะเป็นผลงานที่ยังมีช่องโหว่อยู่ แต่เราอาจจะยังมองไม่เห็น ณ วันนั้น แต่ก็เป็นเพลงที่เพราะเพลงหนึ่ง เพลงทุกเพลงที่เราเขียน เราคิดว่าเราชอบมันแหละ มันคงมีความเพราะในตัวแหละ แต่ว่ามันจะถูกใจใคร ไม่ถูกใจ หรือว่าโครงสร้างแข็งแรงไหม เราอาจจะไม่ได้ใส่ใจขนาดนั้น จนวันที่เริ่มต้องมาเขียนเยอะ mindset ของการเขียนแบบนักแต่งเพลงกับการเขียนแบบเป็นศิลปินก็ต่างกัน วันนั้นเราเริ่มมีความมองตัวเองเป็นนักแต่งเพลงมากขึ้น เขียนเพลงจากนั้นก็มีเพลงถัดมาที่เขียนน่าจะเป็นเพลง ‘รับได้รึเปล่า’ ซึ่งคนไม่ค่อยรับได้ (หัวเราะ) จากนั้นก็เป็นเพลงอื่น ๆ ที่เขียนมา มีเพลง ‘ความจริง’ ‘อย่าให้ฉันคิด’ ‘เป็นทุกอย่าง’ แล้วก็เริ่มเขียนเพลงที่เข้าหาคนมากขึ้น
The People: จากเพลง ‘รับได้รึเปล่า’ ที่คนรับไม่ค่อยได้ จนมาถึงวันนี้ที่เพลงหลาย ๆ เพลงคนจะจำได้ว่าแว่นใหญ่เป็นคนแต่ง เรียนรู้อะไรจากเพลงที่แต่งบ้าง
แว่นใหญ่: ผมว่าผมได้คุยกับตัวเองมากขึ้นระหว่างที่เขียนเพลงหลาย ๆ เพลง มันเหมือนบางทีเรารู้สึกบางอย่าง แต่เราไม่สามารถหาคำมาจำกัดหรืออธิบายมันได้ชัดเจน แต่การเขียนเพลงคุณต้องชัดเจนมากพอ เราถึงจะรู้ว่าเราจะเล่ามันยังไง ดังนั้นเราได้มีโอกาสได้เข้าไปดูในความรู้สึก เพื่อจะหาวัตถุดิบเหล่านี้มาเขียน เราเข้าไปดูในความรู้สึกแต่ละเรื่องแต่ละราวว่ามันเกิดอะไรขึ้นในตัวเรา เห็นตัวเอง รู้จักตัวเองได้ดีขึ้นจากสิ่งนี้
The People: คิดว่าอะไรที่ทำให้คนอื่น ๆ ชอบเพลงของคุณ
แว่นใหญ่: ไม่รู้เหมือนกัน ผมว่าเพลงผมอาจจะเข้าถึงง่ายนะ เพลงแต่ละเพลงก็เหมือนนิสัยของคน ซึ่งผมเป็นคนที่ไม่สลับซับซ้อนอะไร แล้วก็พยายามที่จะเอาความเป็นมนุษย์ของเราเองออกมา ซึ่งผมคิดว่าหลาย ๆ คนที่เป็นมนุษย์คล้าย ๆ กันก็อาจจะสัมผัสได้ถึงสิ่งที่เราพยายามสื่อสาร แล้วก็อาจจะเป็นความที่ผมมองความเศร้า ไม่รู้สิ ผมไม่รู้ว่าเพลงเศร้าของผมมันเศร้าต่างจากคนอื่นแบบไหนนะ แต่ว่าผมพยายามมองความเศร้าว่าเป็นเรื่องปกติของชีวิตมนุษย์ มันไม่ใช่เรื่องที่จะรับไม่ได้ ประมาณนั้น
The People: เล่าถึงที่มาของความเชื่อมโยงกันใน music video ของวงหน่อย
แว่นใหญ่: ผมชอบแบบนี้ ผมรู้สึกว่าการที่เรา...จริง ๆ บางเรื่องมันก็เป็นเรื่องของเรานะ อาจจะมีของผู้กำกับด้วยแหละ เราก็ต้องเห็นตรงกันประมาณหนึ่งที่จะเล่าแบบนั้น ผมรู้สึกว่าในชีวิตเรา สมมติเราอยู่กันสามสี่คน ในขณะที่คนหนึ่งร้องเพลงหนึ่งอยู่ในใจ อีกคนหนึ่งกำลังรู้สึกอีกแบบหนึ่งอยู่ อีกเพลงหนึ่ง แล้วมันเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันก็ได้ ผมรู้สึกว่านั่นคือความจริงของชีวิตเรา เราพยายามให้รู้สึกว่า มันยิ่ง character ในเพลง ยิ่งเขามีตัวตนแล้วเขามีความสำคัญต่ออีกหนึ่งคน ผมรู้สึกว่ามันมีความเป็นชีวิตจริงของมนุษย์มากขึ้นแล้วรู้สึกว่าชอบที่ตัวละครมันเหมือนสามารถถ่ายทอดความจริงในความสัมพันธ์ของหลาย ๆ คนได้ รู้สึกว่ามันดูมีอะไรขึ้น แล้วจริง ๆ มันเป็นอย่างนั้นด้วย ชีวิตมนุษย์มันไม่ใช่แค่เพลงเดียว สองคนแล้วก็มีปัญหากัน จริง ๆ มันมีอะไรมากมายที่เชื่อมโยงให้เกิดเหตุการณ์เหล่านั้น ผลพวงจากหนึ่งคนมันไม่ได้จบแค่ในเพลง มันเกิดกับอีกหนึ่งคน แล้วอีกหนึ่งคนก็เกิดกับอีกหนึ่งคน มันเป็นความจริงของชีวิตที่บางทีเราอาจจะไม่ได้คิด แต่ว่าผมอยากให้รู้สึกว่าทุกสิ่งมันมีผลต่อกันและกัน
The People: พูดถึงความจริงของชีวิตไปแล้ว แล้วความจริงของ ‘Room39’ ล่ะ
แว่นใหญ่: ผมว่าเหมือนกับทุก ๆ เพลงของผม คือความจริงของชีวิตคือไม่ว่าใครก็ใคร เราก็ต้องจากลากัน จากแบบไหนยังไงอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งมันก็ไม่พ้นสัจธรรมตรงนี้ ที่มันทุกอย่างมันจะเปลี่ยนแปลงไป วันนี้เรารู้สึกแบบนี้ อีกวันหนึ่งเราอาจไม่รู้สึกแบบนี้ วันนี้เขารู้สึกแบบนี้ วันนี้เขาอาจจะไม่รู้สึกแบบนี้ ต่อให้บางทีเราอยากจะเหนี่ยวรั้งแค่ไหนก็ตาม ความจริงของทุกสิ่งก็คือมันไม่มีอะไรที่จะเป็นอย่างที่เป็นแบบเดิมไปตลอด มันจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าเราไปฝืนความจริงว่า อยากให้มันเป็นอย่างนั้น มันเคยเป็นแบบนี้มันก็ต้องเป็นแบบนี้ เรายิ่งเจ็บปวด การที่เรายอมรับความจริงข้อนี้ในทุก ๆ ความสัมพันธ์มันเป็นเหมือนภูมิคุ้มกันบางอย่างให้เรา มันต้องเจ็บปวดอยู่ดีแหละ แต่เราจะไม่ทรมานไปกว่าเดิม เราจะไม่ทุกข์ไปกว่าเดิม ผมว่านี่ก็เป็นเรื่องปกติของทุก ๆ สิ่ง ทุก ๆ ความสัมพันธ์ ทุก ๆ relationship ทุก ๆ การทำงาน ทุก ๆ ครอบครัว ทุก ๆ ความรัก ก็ไม่แพ้ ไม่พ้นจากกฎกติกาแบบนี้ แต่เราหวังนะ เราหวังทุก ๆ ความสัมพันธ์ เราหวังว่ามันจะดี มันจะยืดยาว เราหวังอย่างนั้น แต่ในความจริง เราควบคุมทุกอย่างไม่ได้ เราอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของความเปลี่ยนแปลงนี้ เราก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งที่ต้องยอมรับทุก ๆ อย่างที่จะเกิดขึ้นให้ได้
The People: จากวันที่ทำงานเป็นวงแล้วต้องออกมาทำเพลงของตัวเองมีความแตกต่างมากน้อยแค่ไหน
แว่นใหญ่: ผมว่าตั้งแต่วันแรก ๆ ที่เล่นดนตรีในวงดุริยางค์ หรือว่าวันที่เป็นวง Room39 หรือวันนี้ที่เป็นแว่นใหญ่ หรือวันที่เล่นกับเพื่อนไปประกวด ความสุขผมไม่เคยเปลี่ยนเลยนะ ความสุข ทุกครั้งก็คือความสุขเหมือนเดิม โอเค แต่ว่าต่างกันยังไงเหรอ มันก็คือวิธีคิดในการทำงานซึ่งผมมองตัวเองเป็น product ชิ้นหนึ่ง แว่นใหญ่ก็เป็น product ชิ้นหนึ่ง Room39 ก็เป็น product ชิ้นหนึ่ง เราก็ต้อง design ให้มันเข้ากับ product ชิ้นนั้นในการนำเสนอ หรือว่ากลุ่มคนที่บริโภคของเขามากขึ้น ก็คือคิดตรงนั้นมากขึ้น แต่ถามว่าข้อจำกัดบางอย่างก็น้อยลง
ตรงนี้ก็จะมีพื้นที่ว่างมากขึ้น มีโดดเดี่ยวมากขึ้น เพราะว่าในหลาย ๆ decision เป็นเราคนเดียวที่จะต้องตัดสินใจแล้ว ในขณะที่เมื่อก่อนมีช่วยกันคิดช่วยกันทำ ข้อดีก็มีเยอะ แต่ข้อเสียมันก็ ศิลปินเดี่ยวแน่นอนมันก็คือเดี่ยว เหงานิดหนึ่ง แต่ว่าความสุขเท่าเดิม การได้ไปเล่นดนตรีก็คือความสุข ระหว่างทางตั้งแต่ที่เล่นมาย้อนกลับไปดูมันคือความลำบากนะ วัยรุ่นขึ้นรถสองแถวไปซ้อมดนตรีไปอัดเพลง เดินแบกกีตาร์กัน หรือว่าระหว่างทางที่ไปเจออุปสรรคร้อยแปดพันเก้า มองย้อนกลับไปตัวเองตอนนั้นก็ตั้งคำถามว่า เฮ้ย! ทำไมเราไม่รู้สึกอะไรนะ เรามัวแต่ enjoy เรามัวแต่สนุก จนลืมไปว่าจริง ๆ มันทุกข์ แต่ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าในวัยนี้เราก็ยังรักมันอยู่ เราก็หวังว่าเราจะมีความสุขกับสิ่งนี้ไปเรื่อย ๆ ได้
The People: นิยามแพสชันในดนตรีในรูปแบบของแว่นใหญ่
แว่นใหญ่: เมื่อก่อนผมคิดว่าดนตรีก็คือดนตรี พอยิ่งโตขึ้นผมรู้สึกว่าผมเห็นคุณค่ามันมากขึ้น เห็นคุณค่ากับ...เริ่มมาเห็นคุณค่าว่า เฮ้ย! มันไม่ใช่สิ่งมีชีวิตทุกสิ่งที่ enjoy ดนตรี โอเค สัตว์บางชนิดอาจ enjoy ดนตรีด้วย ดนตรีมันเป็นเหมือนเป็นศิลปะที่บ่งบอกวิวัฒนาการของมนุษย์ว่ามันพัฒนาแล้วนะ แล้วมันมีความละเมียดละไมในจิตใจ เมื่อก่อนผมเองอาจจะมองว่าดนตรีเป็นแค่เครื่องประกอบความสนุกสนาน แต่จริง ๆ แล้วโตขึ้นมาเรารู้สึกว่ามันเยอะกว่านั้น แล้วพอเรายิ่งทำเป็นอาชีพ ผมรู้สึกว่าผมมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำมากขึ้น หมายความว่าเราอยากให้มันสำคัญและมีประโยชน์มากกว่าแค่เป็นความสนุกสนานที่จะเข้ามาในชีวิตแล้วก็ฆ่าเวลาบางอย่าง ผมอยากให้มันมีผลกระทบที่ดีกับชีวิตคนอื่นได้ ซึ่งมันไม่ง่าย ผมก็ไม่ได้คิดว่าผมจะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่อะไร แต่จะพยายามทำให้มันมีประโยชน์กับใครสักคนหนึ่งก็พอ
The People: เสน่ห์ของเพลงเศร้าในสายตาของแว่นใหญ่
แว่นใหญ่: ผมว่าคนผิดหวังน่าจะเยอะบนโลกนี้ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ผิดหวังบ่อย ไม่ได้ชอบความผิดหวังหรอก แต่ผมว่าผมเข้าใจมันดี ดังนั้นผมว่าถ้าเราเข้าใจอะไรได้ดี เราจะเขียนอธิบายมันได้ค่อนข้างง่ายแล้วก็ตรง ความเศร้ามันเหมือนกับที่เล่ามาทุกเรื่องเลย ก็คือมันอยู่ในชีวิตเรา มันอยู่กับเรา แล้วมันจะอยู่ต่อไปตลอด
ผมเสพติดความเศร้าหรือเปล่าผมไม่รู้นะ แต่ผมรู้สึกว่าในความสุขผมก็ยังมองเห็นความเศร้า แต่ในความเศร้าเหล่านี้ ที่เห็นเหล่านี้ มันก็มีความสวยงามของมัน ในความเศร้ามันมีคุณค่าของมัน มันไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจรังชังเลย บางครั้งมันมีความหมายมีประโยชน์ด้วยซ้ำไป ผมพยายามจะพลิกความรู้สึกเหล่านี้ให้มันมีความหมายที่ดี คือถ้าเศร้าเราก็ยังมองว่ายังไงแล้วมันก็ยังมีข้อดีในความเศร้าเหล่านั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมจะมองว่ามันไม่มีอะไรสูญเปล่า แม้แต่ความเศร้าความทุกข์เหล่านั้น มันก็มีประโยชน์ในตัวมัน ถ้าเราหยิบสิ่งเหล่านั้นมาแล้วให้คนเห็นว่ามันมีประโยชน์บางอย่างที่ทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น มันไม่ได้เศร้าแบบสูญเปล่า ผมไม่อยากให้เรามาเศร้ากันแบบโอ๊ยเศร้าว่ะแล้วก็ผ่านไป ผมคิดว่าความเศร้า ความทุกข์ เผลอ ๆ มีคุณค่า มีประโยชน์มากกว่าความสุขด้วยซ้ำ
The People: อยากให้เล่าถึงความเศร้าที่สอนให้แว่นใหญ่เติบโตขึ้น
แว่นใหญ่: มันค่อย ๆ สอนเรามาเรื่อย ๆ มันเป็นบทเรียนที่พอเราเรียนรู้ได้ขั้นหนึ่งแล้ว เสร็จแล้วมันก็จะมีอะไรที่ใหญ่กว่าขึ้นมาให้เราได้เรียนรู้หนักขึ้น ความทุกข์ ความเศร้า ไม่ว่าความเจ็บป่วย ความพลัดพราก การจากของรักของหวงของเรา สัตว์เลี้ยง คนในครอบครัว คนรัก ถามว่ามันสอนอะไรใช่ไหม ผมว่ามันทำให้เราปล่อยง่ายขึ้น ผมว่ายิ่งผ่านมาเท่าไร เราก็รู้สึกว่าเราปล่อยง่ายขึ้น เพราะเราเห็นแล้วว่าที่ผ่านมา ยิ่งเราเหนี่ยวรั้ง ต่อต้าน มันคือความทุกข์หนักกว่าเดิม
ความทุกข์ในสภาพของมัน การเสียไปมันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่การที่เราไม่ยอมรับ การที่เราไม่ยอมกอดกับความผิดหวังนั้น การที่เราวิ่งหนีหรือเราต่อต้านมัน เราก็จะยิ่งลำบากกว่าเดิม เราทำให้ตัวเองลำบากกว่าเดิม พอเราปล่อยแล้วผมรู้สึกว่าเราเบาใจขึ้น แล้วก็รู้สึกว่า พูดเหมือนปลงนะ (หัวเราะ) แต่ผมว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ มันทำให้เรารู้สึกว่ามันก็เป็นแบบนี้แหละ แล้วเราก็ไม่สามารถไปฝืนอะไรความจริงนั้นได้ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าความเจ็บป่วย ความทุกข์ มันเป็นสิ่งที่มาสอนเราบอกเราตลอด ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิต จะเลวหรือจะดี ถ้าเราปล่อยให้มันผ่านไปเฉย ๆ โดยไม่ได้เรียนรู้อะไรจากมัน ผมว่ามันสูญค่าเลย แต่ทุก ๆ ความเจ็บปวด ทุก ๆ ความทุกข์ ทุก ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าเราได้อะไรจากมัน มันเป็นสิ่งที่ดีที่เกิดขึ้น มันมีมูลค่าที่ดีที่เราได้เจ็บปวดเพื่อสิ่งนั้น แล้วเราได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากสิ่งนั้น
The People: ย้อนกลับไปช่วงแรกที่บอกว่าที่บ้านไม่อยากให้เป็นนักดนตรีเพราะกลัวยุ่งกับยาเสพติด คิดว่าอะไรที่ทำให้เขาคิดแบบนั้น จริง ๆ แล้วดนตรีกับยาเสพติดเกี่ยวข้องกันหรือไม่ ในความคิดของแว่นใหญ่
แว่นใหญ่: ผมว่ายิ่งยุคนี้นะ ยิ่ง random มาก ๆ เลย ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสาขาอาชีพไหน เมื่อก่อนเราจะเห็นแบบว่าต้องเป็นศิลปินเพลงร็อกอะไรงี้ แล้วก็ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดใช่ไหม จริง ๆ ทุกวันนี้เราก็เห็นมันไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปินเพลงร็อกแล้ว แนวไหนก็ได้ เป็นทัศนคติที่ยังมีอยู่ แต่ว่าผมเองรู้สึกว่ามันห่างไกลมากเลยนะสำหรับผม มันขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ชีวิตแบบไหนมากกว่า ผมว่าบางทีมันอาจเป็นข้ออ้างด้วยซ้ำไปที่เราจะไปใช้สิ่งเหล่านั้น แต่จริง ๆ คนที่รักดนตรีจริง ๆ ไม่จำเป็นต้องไปรับสิ่งเหล่านี้หรือไลฟ์สไตล์แบบนั้นด้วยซ้ำไป
ซึ่งไม่ว่าคุณจะทำอาชีพไหน ถ้าคุณต้องการไลฟ์สไตล์แบบนั้น มันทำได้ แต่ว่าถ้าคุณอยากจะไปถึงจุดที่มัน on top ผมก็ไม่รู้ว่าศิลปินที่แบบตัวท็อป ๆ ของต่างประเทศก็ใช้ยาเสพติดทุกคนอะไรอย่างนี้ผมไม่รู้นะ แต่ในมุมมองของผม ผมไม่สามารถจินตนาการตัวเองที่บอกว่าจะทำแบบนั้นได้ เพราะว่าผมเป็นคนไม่มีระเบียบวินัยอะไรเลย ผมคงไม่สามารถทำอะไรได้เลย (หัวเราะ) คงจะไม่สามารถทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้เลย เพราะว่าเราอาจจะไม่แกร่ง เราต้องดูตัวเองว่าเราไม่แกร่งพอ คนแกร่ง ๆ ก็คงทำได้ ดังนั้นถามว่าจำเป็นไหม ไม่จำเป็น แล้วก็มันจะช่วยไหม ผมก็ไม่รู้นะ
เราเข้าใจมุมมองของผู้ใหญ่นะ แต่ว่ายิ่งทุกวันนี้เราจะเห็น มันมีความหลากหลายมากขึ้น ในหมู่นักดนตรีด้วยกัน มันคลีนมากเลยนะ บางคนแบบผมกินชีวจิตครับ ผมสายบิวต์กล้าม คือมันจะเจอคนเยอะแยะมาก ซึ่งทุกวันนี้ผมว่าเราหลุดออกจากตรงนั้นแล้วนะ แล้วก็อยากให้มองนักดนตรีเป็นอาชีพอาชีพหนึ่งที่ไม่ต่างจากอาชีพคนอื่น แล้วก็ทำ หารายได้ แล้วก็มีความมั่นคง มีเกียรติเหมือนกันด้วย ผมว่าควรจะเปลี่ยนตรงนี้ได้แล้ว เพราะว่าโลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปมากเลย
The People: มองว่าในวันนี้ ‘แว่นใหญ่’ เป็น ‘ใคร’ ในวงการดนตรี
แว่นใหญ่: สำหรับผม ผมมองตัวเองว่าเป็นเด็กใหม่ตลอดเลย เป็นเด็กใหม่อยู่เสมอ ผมเป็นศิลปินหน้าใหม่ตอนอายุ 40 เริ่มเข้ามาเป็น Room39 ตอนอายุ 30 ผมยังมองว่าตัวเองเป็นมือสมัครเล่นอยู่เสมอ เพราะว่าผมเริ่มจากการที่ cover เพลงกันในยูทูบ ผมไม่ได้มองว่าเราเป็นแบบ เฮ้ย! นี่คือแบบ เทพ อะไรงี้ ผมไม่มีมุมเหล่านี้ในตัวตนเลย รู้สึกว่าตัวเองยังเป็นคนที่จะต้องพยายามอยู่เสมอ เพราะว่าเราเป็นอย่างนั้น เราไม่ได้มีต้นทุนอะไรกว่าใครเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะไปหวังพึ่งเอาหน้าตาเข้าสู้ อะไรงี้มันก็คงยาก
เลยรู้สึกว่าเราต้องพยายามเยอะเหมือนเดิมในผลงาน เรายังต้องตั้งใจไม่ให้น้อยกว่าเดิม ส่วนเรื่องค่ายก็เหมือนกัน ผมก็เป็นเด็กใหม่ในการดูแลค่าย (HolyFox) แล้วก็ไม่มีใครบอกได้ว่าผมจะทำได้ดีหรือเปล่า หรือว่าผมจะสอบตก ก็ไม่รู้เหมือนกัน คือทุกอย่างเหมือนที่เรียนรู้ชีวิตมาจากวันนั้นมาถึงตรงนี้ มายังไงก็ไม่รู้ ก็ไปเรื่อย ๆ ตามความรู้สึกว่า เราทำในสิ่งที่ควรทำ แล้วก็ทำมันด้วยความรัก แล้วก็หวังว่ามันจะไปของมันรอด แต่ก็ไม่มีใครรู้ ทุกวันนี้ก็ไม่รู้ สิบปีที่แล้ว เพื่อนถามว่า เฮ้ย! อีกห้าปีจะทำอะไร จะเล่นดนตรีเหรอ ไม่รู้ แล้วก็ไม่รู้จริง ๆ ห้าปีผ่านมา ดังนั้นมาวันนี้ให้มาถามอีก แต่วันนั้นกลัวไหม กลัวนะ ถ้าถามไปใครจะไปรู้ ถ้ามีคนรู้อนาคตว่าวันหนึ่งจะวงแตกนะครับอะไรงี้ ก็กลัวนะ แต่วันเวลาผ่านไปมันไม่มีใครรู้เลย แต่สิ่งที่เราทำก็ต้องทำเหมือนเดิม ตั้งใจเท่าเดิม พยายามเท่าเดิม ค่ายก็เหมือนกัน ผมก็ไม่รู้ว่าผมทำแล้วมันจะเจ๊งหรือเปล่า จะแป้กหรือเปล่า หรือจะเจริญรุ่งเรือง ก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน
The People: ความไม่รู้ส่งผลดีต่อชีวิตของแว่นใหญ่อย่างไร
แว่นใหญ่: ความไม่รู้ส่งผลดียังไง มันดีนะผมว่า การไม่รู้ก็ดีนะ มันทำให้เรารู้สึกว่าเรายิ่งต้องพยายาม เพราะว่าเรารู้สึกว่า เฮ้ย! ยังไงเราก็สบาย งานนี้เรียบร้อยไม่ต้องห่วง ผมว่าเราจะไม่พยายามเท่าเดิม ผมว่าความกลัว ความกังวลที่จะทำให้ดีมันเป็นสิ่งที่เป็นแรงขับที่ดีเหมือนกัน ผมก็มายืนอยู่ตรงนี้ด้วยสถานการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมด มันก็เลยทำให้เรารู้สึกว่าถึงจุดนี้เราไม่ค่อยกังวลแล้ว เพราะเรารู้สึกว่าเราแค่ทำเหมือนเดิม แต่ปราศจากความกังวลก็ได้เหมือนกัน
The People: คิดว่าดนตรีเปลี่ยนโลกได้ไหม
แว่นใหญ่: ดนตรีเปลี่ยนโลกได้ไหม ผมว่าดนตรีเปลี่ยนโลกได้นะ ผมเป็นคนหนึ่งที่คิดอย่างนั้นแล้วพยายาม หวังว่าสิ่งที่เราทำ ผมว่าไม่ว่าจะดนตรี คุณจะทำอาหารแล้วเปลี่ยนโลกก็ได้ คุณจะจัดสวนแล้วเปลี่ยนโลกก็ได้ คุณจะทำโซฟาแล้วเปลี่ยนโลกก็ได้ ผมว่าในความตั้งใจที่ดีที่จะไม่หยุดในการทำสิ่งที่ดีเพื่อคนอื่น ผมว่ามันเปลี่ยนโลกได้ มันค่อย ๆ เปลี่ยนทีละนิด แล้วสิ่งนั้นก็คือสิ่งที่ผมตั้งใจว่าเราจะทำเพลงของเราให้ ไม่ได้แบบมีคุณค่ามหาศาลเป็นผลงานศิลปะที่สุดยอดนะ ไม่ใช่นะ เราจะทำเพลงให้มีประโยชน์กับใครสักคน แค่หนึ่งคนที่ได้ประโยชน์ตรงนั้น เราก็ถือว่าเราได้ทำสิ่งที่มีคุณค่าแล้ว แต่ก็อย่างที่บอก คือเราก็ทำอย่างที่เรา เท่าที่เราสามารถ เราไม่สามารถที่จะเขียนเพลงแล้วแบบ โห! เปลี่ยนแปลงโลก คอร์รัปชันหายไป ผมคงทำไม่ได้
The People: ถ้าเปลี่ยนโลกได้ อยากเปลี่ยนโลกให้เป็นแบบไหน
แว่นใหญ่: ผมว่าโลกของแต่ละคนก็คงเป็นใจของแต่ละคน คงเป็นใจที่นิ่ง สงบ แล้วก็ผ่อนคลาย ไม่ทุรนทุราย ไม่เดือดร้อน มันเป็นใจที่เราปฏิเสธไม่ได้ ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตเรามันคืออะไรบ้าง แต่ผมว่าถ้ามันไปช่วยทำให้ใจของคนมีความ ได้เอะใจ ได้คิด ได้มอง ได้เห็น โดยไม่พยายามยัดเยียดนะ ไม่พยายามไปบอกใครว่าต้องคิดแบบนี้หรือสอนเขา ผมคิดว่าถ้ามันมีประโยชน์แบบนี้ ผมคิดว่าโลกของเราก็คงน่าอยู่ขึ้น โลกของเราเองด้วย โลกของเขาด้วย โลกของเราต่อกันด้วย ก็คงจะสบายใจมากขึ้น
The People: ฝากผลงานเพลงสักหน่อย
แว่นใหญ่: ฝากเพลงทุก ๆ เพลงด้วย แล้วก็ฝากศิลปินน้อง ๆ ในค่าย HolyFox ด้วย แล้วก็เพลงผมก็จะทำออกมาเรื่อย ๆ ล่าสุดที่ปล่อยไปก็คือเพลง ‘อยู่คนเดียว’ สำหรับคนที่อยู่คนเดียวแล้วรู้สึกว่ามันไม่ดีเลย จริง ๆ มันไม่ดีแหละ ผมก็รู้ว่ามันไม่ดี แต่ผมพยายามเขียนเพื่อมองหาว่ามันก็มีข้อดีบางอย่างนะ อย่างน้อยช่วงเวลาที่แย่ มันก็จะได้ไม่แย่กว่าเดิม แต่ถ้าเราแบบ โห! อยู่คนเดียวมันแย่ มันทรมาน มันก็คงไม่ดี คิดว่าเพลงอยู่คนเดียวก็เป็นตัวแทนสำหรับคนที่อยู่คนเดียวแล้วรู้สึกว่ามันแย่นะ ซึ่งผมก็รู้สึก แต่ผมพยายามให้เราผ่านช่วงเวลาแย่ ๆ ไปด้วยกัน ด้วยความรู้สึกที่ไม่แย่จนเกินไป ก็ฝากเพลง ‘อยู่คนเดียว’ ด้วยครับ
สัมภาษณ์: จิรภิญญา สมเทพ
ภาพ: ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3487
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6940
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
818
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Interview
The People
LOVEiS
room39
HolyFox
อยู่คนเดียว
แว่นใหญ่