โคลอี้ เจา: ผู้กำกับยอดเยี่ยมออสการ์ จาก Nomadland ชาวจีนพลัดถิ่นที่คนจีนไม่รัก

งานประกาศผลออสการ์ 2021 ได้ผ่านพ้นไปแล้วโดยมีสถิติใหม่เกิดขึ้นหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมของ ”โคลอี้ เจา (Chloé Zhao)” หรือ “เจาถิง” จาก Nomadland ซึ่งเธอเป็นผู้หญิงคนที่สองที่คว้ารางวัลนี้มาครอง (คนแรกคือ แคทเธอรีน บิเกโลว์จาก The Hurt Locker(2008)) และผู้หญิงเอเชียคนแรกที่คว้ารางวัลนี้ในรอบ 93 ปีของการแจกรางวัล
ความสำเร็จนี้สามารถมองได้ว่ามาเร็วกว่าที่คาด เนื่องจากเธอมีอายุยังไม่ถึง 40 ปีและ Nomadland เป็นเพียงหนังยาวเรื่องที่สามของเธอ แต่ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ เพราะที่ผ่านมานั้นเธอกวาดรางวัลทั้งหนังและผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวทีต่าง ๆ แบบทิ้งห่างหนังเรื่องอื่น บวกกับเสียงวิจารณ์ส่วนใหญ่ก็ยกย่องว่า Nomadland ถือเป็นหนึ่งในหนังที่ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งปี
นั่นทำให้เธอกลายเป็นผู้กำกับซึ่งถูกจับตามากเป็นอันดับต้น ๆ ในตอนนี้ ทั้งจากคุณภาพของผลงานที่ผ่านมา, รางวัลที่เธอได้รับ, ผลงานในอนาคตที่น่าจับตา (จากการร่วมงานกับค่ายมาร์เวล) รวมถึงวิวาทะต่างๆ ที่เธอเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง (อย่างเรื่องความเป็นจีน – ความไม่รักชาติ)
1) นักเรียนจีนพลัดถิ่น นักศึกษารัฐศาสตร์ สู่คนทำหนังอเมริกันอิสระ
โคลอี้ เจาเกิดเมื่อปี 1982 ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน ในครอบครัวมีฐานะ พ่อของเธอเป็นเจ้าของธุรกิจที่ได้สัมปทานจากรัฐ แม่ของเธอเป็นนักแสดงชื่อดัง โดยเจาให้สัมภาษณ์ว่า “ฉันเป็นเด็กที่ดื้อและขี้เกียจซึ่งมีงานอดิเรกคืออ่านมังงะและเขียนแฟนฟิคชัน”
พ่อแม่ส่งเธอไปเรียนที่โรงเรียน Brighton College ที่อังกฤษตอนเธออายุ 15 ปีและแทบไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ หลังเรียนจบไฮสคูล เธอได้เรียนต่อด้านรัฐศาสตร์ที่ Mount Holyoke College ที่อเมริกา แต่ด้วยความหลงใหลในภาพยนตร์ทำให้หลังเรียนจบ เธอเลือกเรียนต่อด้านภาพยนตร์ที่ New York University Tisch School of the Arts
หนังที่ส่งอิทธิพลอย่างมากจนทำให้เธออยากเป็นคนทำหนังคือ Happy Together (1997, หว่องการ์ไว) รวมถึงหนังของผู้กำกับสไปค์ ลี (ซึ่งเป็นอาจารย์สอนภาพยนตร์ของเธอที่มหาวิทยาลัยด้วย), เวอร์เนอร์ เฮอร์ซอค, เทอร์เรนซ์ มาลิค และอังลีโดยเธอกล่าวว่า “เส้นทางการทำหนังของอังลีสร้างแรงบันดาลใจให้กับฉันมาก เขาสามารถใส่ตัวตนของความเป็นคนเอเชียลงไปในหนังทุกเรื่องที่เขาทำได้อย่างลงตัว”
เธอทำหนังสั้นไป 4 เรื่อง ก่อนที่กำกับหนังยาวเรื่องแรกอย่าง Songs My Brothers Taught Me (2015) ซึ่งมีฉากหลังอยู่ในเขตอนุรักษ์อินเดียนแดง Pine Ridge ที่เซาท์ดาโคตาซึ่งเต็มไปด้วยทะเลทรายเวิ้งว้าง หนังเล่าเรื่องราวของจอห์นนี่ (รับบทโดยจอห์น เรดดี้) หนุ่มอินเดียนแดงวัย 18 ปีที่เลี้ยงชีพด้วยการขายเหล้าเถื่อน เขาตั้งใจจะหนีไปจากเมืองเล็ก ๆ ที่ไร้อนาคตไปอยู่แอลเอกับแฟนสาวที่เป็นคนผิวขาว แต่สิ่งที่เหนี่ยวรั้งเขาไว้คือความผูกพันที่มีต่อครอบครัวโดยเฉพาะน้องสาว
มันเป็นหนังฟิคชันที่มีลักษณะเหมือนสารคดี ด้วยพล็อตเรื่องที่เบาบาง, การบอกเล่าเรื่องราวสามัญในชีวิตประจำวัน, การถ่ายทำในสถานที่จริง, นักแสดงทั้งหมดไม่ใช่มืออาชีพแต่เป็นคนในพื้นที่นั้นจริง ๆ โดยรับบทบาทที่อ้างอิงจากชีวิตจริงของพวกเขา (โดยมีเรื่องแต่งผสมเข้าไปด้วย)
ความโดดเด่นของหนังยังอยู่ที่การกำกับภาพผลงานของโจชัว เจมส์ ริชาร์ดส์ (คนรักของโคลอี้ เจาซึ่งรับหน้าที่กำกับภาพให้หนังของเธอทุกเรื่อง โดยเขาได้เข้าชิงออสการ์จาก Nomadland) ซึ่งเน้นความสมจริงของสถานการณ์และความยิ่งใหญ่สวยงามของธรรมชาติ ซึ่งเป็นสไตล์ที่ชวนให้คิดถึงหนังของผู้กำกับเทอร์เรนซ์ มาลิค (The Tree of Life)
หนังประสบความสำเร็จด้านเสียงวิจารณ์ ได้เข้าฉายที่เทศกาลหนังซันแดนซ์และเทศกาลหนังเมืองคานส์ (สาย Director's Fortnight) และได้เข้าชิงสาขาหนังเรื่องแรกยอดเยี่ยมจากเวที Independent Spirit Awards
หนังยาวเรื่องต่อมาของเธอคือ The Rider (2017) ซึ่งเธอได้แรงบันดาลใจมาจากแบรดี้ แจนโดร คนฝึกม้าในหนัง Songs My Brothers Taught Me ซึ่งกลายมาเป็นเพื่อนเธอ ภายหลังเขาประสบอุบัติเหตุถูกเหวี่ยงจนตกจากม้าในระหว่างแข่งโรดิโอจนบาดเจ็บที่หัวอย่างรุนแรง เธอเขียนบทโดยอ้างอิงจากชีวิตของเขาและนำเขามาแสดงในบทนำด้วย หนังเล่าเรื่องราวของแบรดี้ แบลคเบิร์น คาวบอยหนุ่มอนาคตไกลที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรงจนทำให้ความฝันในการเป็นนักขี่ม้ามืออาชีพต้องจบลง โดยเขาต้องกอบกู้ชีวิตที่พังทลายขึ้นมาให้ได้
หนังมีองค์ประกอบที่ใกล้เคียงกับหนังเรื่องแรกของเธออย่างเป็นหนังฟิคชันที่มีสไตล์แบบสารคดี, ถ่ายทำที่เขตอนุรักษ์อินเดียนแดง Pine Ridge, นักแสดงสมัครเล่นซึ่งรับบทบาทที่อ้างอิงจากชีวิตจริงของพวกเขา หนังเข้าฉายในวงกว้างกว่าเดิมโดยได้รับเสียงชื่นชมมากกว่าหนังเรื่องก่อนหน้านี้ของเธอ หนังได้เข้าฉายที่เทศกาลหนังคานส์ (สาย Directors' Fortnight), ได้รางวัลหนังยอดเยี่ยมแห่งปีจาก National Society of Film Critics, ได้เข้าชิงหนังและผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวที Independent Spirit Awards
จุดร่วมในหนัง 2 เรื่องนี้ที่เห็นได้ชัดได้แก่ การเป็นหนังแนว Neo – Western หรือคาวบอยตะวันตกยุคใหม่ จากการที่ตัวละครขี่ม้าเป็นยานพาหนะหลัก, การถ่ายทอดให้เห็นถึงทิวทัศน์กว้างใหญ่ของอเมริกา, การที่ตัวเอกเป็นคนนอกของสังคมและต้องการออกเดินทางเพื่อหาตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง ซึ่งหนังคาวบอยยุคใหม่แตกต่างจากยุคดั้งเดิม (ซึ่งใช้ทุนสูง ให้ความรู้สึกฮึกเหิมเน้นวีรกรรมตัวละคร) ตรงที่เป็นหนังทุนต่ำและมีมุมมองเชิงวิพากษ์มากกว่า
จุดร่วมอีกอย่างของหนัง 2 เรื่องนี้ (ซึ่งรวมถึง Nomadland ด้วย) ก็คือการพูดถึงเรื่องราวของกลุ่มคนชายขอบหรือชนชั้นล่างซึ่งไม่ได้รับการเหลียวแลจากคนในสังคม การที่เธอมักสนใจในประเด็นนี้สามารถมองได้ว่าเป็นสิ่งที่ขัดกับฐานะครอบครัวของเธอแต่ก็สอดคล้องกับการเป็นคนจีนพลัดถิ่นของเธอ โดยเธออธิบายว่า “ตัวฉันเองมีความเป็นคนนอกอยู่เสมอ และฉันมักให้ความสนใจต่อผู้คนที่อยู่รอบนอกของสังคม ตัวละครในมังงะหรือหนังต่าง ๆ ที่ฉันสนใจนั้นมักจะไม่ใช่ตัวละครกระแสหลัก นอกจากนั้นการที่เพิ่งย้ายมาอยู่ในย่านดาวน์ทาวน์ในอเมริกาตั้งแต่อายุ 18 และการที่ฉันได้เรียนรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยก็ช่วยเปิดหูเปิดตาฉันมาก”
2) Nomadland ผลงานสร้างชื่อชิ้นสำคัญ
ด้วยความสำเร็จของหนัง 2 เรื่องดังกล่าว ทำให้เธอได้รับข้อเสนอสำคัญจากมาร์เวลให้กำกับหนังซูเปอร์ฮีโร่อย่าง Eternals แต่ก่อนจะถึงเวลาเริ่มโปรดักชั่นหนังเรื่องดังกล่าว เธอตัดสินใจกำกับหนังเรื่อง Nomadland ก่อน ซึ่งหนังทุนต่ำที่ดูเหมือนเป็นหนังคั่นเวลาเรื่องนี้กลับกลายเป็นหนังที่สร้างชื่อเสียงและทำให้เธอคว้ารางวัลต่าง ๆ มาได้มากที่สุด
Nomadland มีจุดเริ่มต้นมาจากฟรานเซส แมคดอร์แมนด์ นักแสดงนำซึ่งรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ด้วย แมคดอร์แมนด์ได้พบเจาในงานแจกรางวัล Independent Spirit Awards และชวนเธอมาร่วมงาน ทำให้เป็นครั้งแรกที่เจาได้ร่วมงานกับนักแสดงมืออาชีพ
หนังดัดแปลงมาจากหนังสือนอนฟิคชัน Nomadland: Surviving America in the Twenty-First Century (2017) ของเจสสิก้า บรูเดอร์ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวกลุ่มคนเร่ร่อนที่เดินทางและอาศัยในรถบ้านซึ่งมีจำนวนมากขึ้นหลังช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในอเมริกาปี 2008 โดยส่วนใหญ่เป็นคนวัยกลางคนหรือเกษียณอายุแล้ว (ต่างจากยุคฮิปปี้ที่คนเร่ร่อนส่วนใหญ่มีอายุน้อยซึ่งออกค้นหาความหมายชีวิต) หนังเพิ่มตัวละครนำที่เป็นฟิคชันอย่างเฟิร์น (ฟรานเซส แมคดอร์แมนด์) หญิงวัยกลางคนที่ตกงาน สูญเสียบ้าน และสูญเสียสามีในเวลาใกล้เคียงกัน เธอตัดสินใจซื้อรถบ้านแล้วออกเดินทางร่อนเร่ โดยหางานไม่ประจำทำไปเรื่อย ๆ และใช้ชีวิตกินนอนอยู่บนรถคันนั้น ซึ่งต่อมาเธอได้ผูกสัมพันธ์กับกลุ่มคนเร่ร่อนอื่น ๆ
Nomadland แสดงถึงประเด็นกับแง่มุมเชิงสังคมในภาพรวมมากกว่าหนังเรื่องก่อน ๆ ของเธอ ผ่านเหล่าตัวละครต่างเชื้อชาติหลากหลายที่มา โดยหนังแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งทำให้มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก เฟิร์นและตัวละครคนร่อนเร่ในหนังคือผู้ที่ก้าวพลาดหรือถูกชะตากรรมเล่นงานเมื่อตอนอายุมากจนทำให้พวกเขาถูกทิ้งไว้ในระบบทุนนิยม นอกเหนือจากเหตุผลเรื่องเศรษฐกิจแล้ว บางคนยังเลือกเป็นคนเร่ร่อนเพราะความสูญเสียในอดีต แต่บางคนก็เลือกเส้นทางนี้เพราะต้องการอิสระในชีวิตโดยละทิ้งสิ่งผูกมัดที่ไม่จำเป็น
“ฉันต้องการให้หนังไปไกลกว่าการเป็น statement ทางการเมือง แต่ฉันต้องการโฟกัสไปที่ประสบการณ์ของมนุษย์ซึ่งมีความเป็นสากลและคนชาติไหนก็เข้าใจได้ ทั้งเรื่องการสูญเสียผู้คนหรือสิ่งอันเป็นที่รัก และการหาที่ทางของตัวเองท่ามกลางโลกที่สับสนวุ่นวายและเต็มไปด้วยปัญหา” เจากล่าว
แม้หนังจะทุนสูงขึ้นกว่าหนังเรื่องก่อน ๆ ของเธอและได้สตูดิโอใหญ่หนุนหลัง (Searchlight Picture ซึ่งบริษัทแม่คือดิสนีย์) แต่เธอยังคงรักษาสไตล์และลายเซ็นของเธอเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ได้แก่ การถ่ายทำในสถานที่จริง (เจา, แมคดอร์แมนด์ และทีมงานต้องกินนอนอยู่บนรถระหว่างถ่ายทำนาน 4 เดือน), นักแสดงส่วนใหญ่เป็นมือสมัครเล่น (มีมืออาชีพเพียง 2 คน ได้แก่ แมคดอร์แมนด์กับ เดวิด สเตรทธาร์น) โดยพวกเขาเป็นคนร่อนเร่จริง ๆ ซึ่งก่อนถ่ายทำเจาจะทำการสัมภาษณ์พูดคุยกับนักแสดงที่เป็นคนร่อนเร่แล้วทำการปรับเปลี่ยนบทเพื่อให้ประสบการณ์และมุมมองของพวกเขาได้อยู่ในหนังด้วย
“ฉันต้องการให้เสียงและมุมมองของพวกเขาปรากฏอยู่ในหนัง เพราะเรื่องราว คาแรกเตอร์ และโลกที่พวกเขาอยู่นั้นมีความพิเศษ ซึ่งยากที่จะจำลองขึ้นมาใหม่ ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ฉันจึงมักเลือกผู้คนและสถานที่จริง ๆ ให้ปรากฏในหนัง” เจากล่าว
หนังประสบความสำเร็จและได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก โดยคว้ารางวัลหนังสิงโตทองคำที่เทศกาลหนังเวนิส, รางวัล People's Choice ที่เทศกาลหนังโตรอนโต้, ผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก ลูกโลกทองคำ, BAFTA, DGA โดยหนังสามารถคว้าออสการ์ 3 รางวัลในสาขาหนัง, ผู้กำกับ และนักแสดงนำหญิงมาครองได้
3) เส้นทางใหม่ที่คาดไม่ถึง และวิวาทะเรื่องความเป็นผู้กำกับจีน
ผลงานหนังเรื่องต่อไปของเธอถือได้ว่าเซอร์ไพรส์และทำให้หลายคนต้องเกาหัว นั่นก็คือหนังซูเปอร์ฮีโร่มหากาพย์แฟนตาซีทุนหนาของค่ายมาร์เวลเรื่อง Eternals ซึ่งมีกำหนดฉายพฤศจิกายนปีนี้ เรื่องราวของกลุ่มซูเปอร์ฮีโร่ที่มีพลังของเทพเจ้าและมีชีวิตยาวนานนับพันปี แสดงโดยนักแสดงหลากเชื้อชาติ เช่น แอนเจลิน่า โจลี่, ริชาร์ด แมดเดน, คูเมล แนนเจียนี, เจมม่า เฉิน, ซัลมา ฮาเย็ค เป็นต้น
การที่ผู้กำกับหนังอาร์ตเฮาส์ได้มากำกับหนังซูเปอร์ฮีโร่มาร์เวลที่จริงแล้วนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะไรอัน คูกเลอร์ (Black Panther), ไทก้า ไวติติ (Thor: Ragnarok) ก็สร้างชื่อจากหนังอาร์ตเฮาส์เช่นกัน แต่ที่หลายคนเซอร์ไพรส์เพราะผลงานก่อนหน้านี้ของเจาแตกต่างไปจากหนังซูเปอร์ฮีโร่แบบคนละขั้ว ทำให้หลายคนจับตามองว่าสไตล์ที่โดดเด่นของเธอจะสร้างความแปลกใหม่ให้หนัง MCU ได้อย่างไรบ้าง
“หลายคนเข้าใจว่ามาร์เวลเป็นฝ่ายติดต่อฉัน แต่ที่จริงฉันเป็นฝ่ายที่เสนอตัวแก่มาร์เวลต่างหาก ตัวฉันเองเป็นแฟนตัวยงของมังงะ อีกทั้งเป็นแฟนจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล (MCU) มานานกว่าสิบปีแล้ว มันจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลสำหรับฉันในการกำกับหนังให้มาร์เวล” เธอกล่าว “จุดประสงค์ของฉันคืออยากให้มันเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่อยู่ไปอีกยืนยาวและให้ความรู้สึกเหนือกาลเวลา ไม่ใช่แค่ประเดี๋ยวประด๋าวแบบเทรนด์ใน twitter”
นอกจากนั้นเธอยังมีส่วนร่วมในอีกจักรวาลภาพยนตร์อย่างจักรวาลสัตว์ประหลาดของค่ายยูนิเวอร์แซล โดยเธอถูกวางตัวให้กำกับหนัง Dracula เวอร์ชันใหม่ซึ่งจะถูกตีความให้เป็นแนวคาวบอย - ไซไฟ - โลกอนาคต “ฉันรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับเรื่องราวของแวมไพร์อยู่เสมอ นี่จึงเป็นโปรเจกต์ในฝันของฉัน”
นอกเหนือจากการได้รางวัลออสการ์ ชื่อของเธอยังปรากฏอยู่ในพาดหัวข่าวในฐานะที่เป็นผู้กำกับซึ่งทำให้ทางการจีนสั่งแบนงานประกาศผลออสการ์ 2021
ก่อนหน้านี้ในตอนที่เธอได้รับรางวัลผู้กำกับบนเวทีลูกโลกทองคำในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 เธอได้รับเสียงชื่นชมจากผู้ใช้โซเชียลมีเดียในจีนอย่างมาก อีกทั้งสื่อมวลชนจีน (ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล) ก็ได้ประกาศว่าเธอเป็นคนจีนที่สร้างชื่อเสียงระดับโลกซึ่งถือเป็นความภูมิใจของประเทศ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีเสียงคัดค้านว่า เธอย้ายไปอยู่ที่ต่างประเทศตั้งแต่ตอนเรียนไฮสคูล อีกทั้งประเด็นในหนังของเธอล้วนเกี่ยวข้องกับสังคมอเมริกันโดยไม่เกี่ยวข้องกับจีน ทำให้ควรมองว่าเธอเป็นผู้กำกับอเมริกันมากกว่า บางคอมเมนต์ยังมองว่าควรพิจารณา Nomadland ที่คุณภาพของหนัง ไม่ใช่เชื้อชาติของผู้กำกับ
แต่กระแสชื่นชมกลับเปลี่ยนทางเหตุการณ์เมื่อบทสัมภาษณ์ของเธอในนิตยสาร Filmmaker Magazine เมื่อปี 2013 ซึ่งเผยแพร่ทางออนไลน์ได้ถูกค้นพบใหม่ ซึ่งเธอได้กล่าวในบทความว่า “ตอนฉันเป็นวัยรุ่นอยู่ที่จีน มันมีความหลอกลวงอยู่ทุกแห่งหน” แม้ทางนิตยสารจะลบบทสัมภาษณ์ทางออนไลน์ออกไปแต่ก็ไม่ทันการ และแม้จะมีผู้เชี่ยวชาญมองว่าเกิดจากการแปลเป็นภาษาจีนในข่าวที่คลาดเคลื่อน แต่ก็ไม่อาจหยุดกระแสโจมตีเธอจากผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในจีนได้
ต่อมาเนื้อหาในโลกออนไลน์ของจีนที่เกี่ยวข้องกับหนังเรื่องนี้หรือโคลอี้ เจา รวมถึงเทรนด์ #Nomadland ใน weibo ก็ถูกเซนเซอร์, หนัง Nomadland ซึ่งมีโปรแกรมเข้าฉายในเดือนเมษายนก็ถูกถอดโปรแกรมไป และมีผู้วิเคราะห์หลายคนมองว่านี่ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ทางการจีนเซนเซอร์งานประกาศผลออสการ์ปีนี้ทั้งในจีนและฮ่องกง ซึ่งการที่เธอโดนแบนนั้นอาจส่งผลต่อการฉาย Eternals ในจีนอีกด้วย (ซึ่งเป็นประเทศที่ถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของหนัง MCU)
ถือเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าถึงหนังเรื่องนั้นถึงแม้จะเป็นหนังฟอร์มเล็กและพูดถึงคนชายขอบ แต่มันก็ถูกขยายให้กลายเป็นความขัดแย้งระดับชาติได้เช่นกัน
อ้างอิงข้อมูล – นิตยสาร: Little White Lies, Total Film, Empire // เว็บไซต์: collider.com, indiewire.com, variety.com
ภาพ: Todd Wawrychuk/A.M.P.A.S. via Getty Images