ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก เผชิญเสียงวิจารณ์และกระแสต่อต้านอย่างหนัก (จนล่าสุดหลายทีมเริ่มถอนตัว) หลังจาก 12 สโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ของยุโรป นำโดย เรอัล มาดริด, บาร์เซโลนา, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูล ประกาศจับมือกันจัดตั้งลีกฟุตบอลรูปแบบใหม่ที่จะมาท้าทายศึกยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า)
ผู้คัดค้านส่วนใหญ่ รวมถึงแฟนบอล และองค์กรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างยูฟ่า พากันโจมตีว่า ซูเปอร์ลีกเกิดขึ้นมาจากความโลภและความเห็นแก่ตัวของบรรดาทีมใหญ่ พร้อมขู่ตัดสิทธิ์นักเตะที่จะลงเล่นในลีกใหม่ ไม่ให้เข้าร่วมรายการของยูฟ่า และฟีฟ่า (สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ) ในอนาคต
เรื่องนี้กระทบโดยตรงต่อ ฟลอเรนติโน เปเรซ ประธานสโมสร เรอัล มาดริด หนึ่งในผู้ผลักดันให้เกิดลีกใหม่ และเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคนแรกของซูเปอร์ลีก จนต้องออกมาชี้แจงเหตุผลของการ ‘คิดใหม่ทำใหม่’ ในครั้งนี้
“เมื่อใดก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลง มักจะมีคนต่อต้านเสมอ เรากำลังทำสิ่งนี้เพื่อช่วยรักษาวงการฟุตบอลให้อยู่รอด”
เปเรซกล่าวโดยให้เหตุผลว่า แชมเปียนส์ลีก ซึ่งแข่งขันกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1955 มีความล้าสมัย และทำให้คนรุ่นใหม่สนใจกีฬาฟุตบอลน้อยลง นอกจากนี้ ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เป็นอีกตัวเร่งที่ทำให้ฟุตบอลยุโรปต้องเปลี่ยนแปลง
ประธานซูเปอร์ลีกชาวสเปน ระบุว่า ปัจจุบันมีวัยรุ่นสูงถึงร้อยละ 40 ที่ไม่สนใจกีฬาฟุตบอล เพราะมีเกมคุณภาพต่ำและน่าเบื่อมากเกินไป ขณะเดียวกันบรรดาสโมสรใหญ่อย่าง เรอัล มาดริด ของเขาก็ขาดทุนไปแล้ว 400 ล้านยูโร ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ระหว่างปี 2020 - 2021
“เมื่อคุณไม่มีรายได้เข้ามา นอกจากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเพียงอย่างเดียว คุณต้องหาทางแก้ไขให้แมตช์แข่งขันดึงดูดความสนใจมากขึ้น เพื่อทำให้แฟนบอลทั่วโลกสามารถรับชมเกมของสโมสรใหญ่ ๆ ได้ทั้งหมด
“ฟุตบอลจำเป็นต้องดึงดูดใจคนทั่วโลกให้มากขึ้น เกมอย่าง แมนเชสเตอร์ (ยูไนเต็ด) ปะทะบาร์เซโลนา จะน่าดูมากกว่าแมนเชสเตอร์ ปะทะทีมเล็ก ๆ”
ตำนานรวมดารา
ฟลอเรนติโน เปเรซ เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในการพลิกฟื้น ‘ราชันชุดขาว’ เรอัล มาดริด จากยุคตกต่ำให้กลายเป็นทีมฟุตบอลชั้นนำของโลก ด้วยนโยบาย ‘กาลาคติกอส’ (Galácticos) หรือการสร้างความสำเร็จด้วยการทุ่มเงินมหาศาลซื้อนักเตะซูเปอร์สตาร์มารวมไว้ในทีมเดียวกัน
นักเตะคนแรกที่เปเรซซื้อเข้าทีมตั้งแต่ปีแรกที่เขาชนะการเลือกตั้งได้นั่งเก้าอี้ประธานเรอัล มาดริด คือ หลุยส์ ฟิโก้ จอมทัพชาวโปรตุเกสจากทีมคู่ปรับร่วมลีกอย่างบาร์เซโลนา
จากนั้นในช่วงแรกของการทำหน้าที่ประธานสโมสร (2000 - 2006) นักเตะซูเปอร์สตาร์คนอื่น ๆ ก็พากันตบเท้าเข้าร่วมทีมตามมา ไม่ว่าจะเป็น ซีเนดีน ซีดาน, เดวิด เบ็คแฮม และ ‘โล้นทองคำ’ โรนัลโด แม้ช่วงนั้นผลการแข่งขันอาจยังไม่น่าพอใจ แต่ชื่อเสียงและรายได้ของทีมเริ่มกลับมามีแนวโน้มที่ดีขึ้น
แผน ‘กาลาคติกอส’ ของเปเรซ เริ่มเห็นผลชัดเจนเมื่อเขากลับมารับตำแหน่งประธานสโมสรรอบสองในปี 2009 หลังหยุดพักงานไปนาน 3 ปี โดยทีม ‘ชุดขาว’ หรือ โลส บลังโกส (Los Blancos) สามารถคว้าซูเปอร์สตาร์มาเสริมทัพได้ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น คริสเตียโน โรนัลโด, กาก้า, ชาบี อลองโซ, คาริม เบนเซมา และแกเร็ธ เบล
เรอัล มาดริด ภายใต้ประธานเปเรซ ยุคที่ 2 สามารถผงาดคว้าแชมป์ยุโรปมาครองได้ถึง 4 สมัย (2014, 2016, 2017, 2018) และยังได้แชมป์ลีก และแชมป์อื่น ๆ มาประดับสโมสรอีกมากมายจนนิตยสารฟอร์บส ยกให้เป็นทีมฟุตบอลที่มีมูลค่ามากที่สุดของโลก
“เรอัล มาดริดมีผู้เล่นที่เก่งที่สุดในโลกอยู่ในทีมเสมอ” ฟลอเรนติโน เปเรซ กล่าวถึงเคล็ดลับความสำเร็จ
“นั่นคือสิ่งที่ทำให้เราแตกต่างและครองตำแหน่งที่ชัดเจนในระดับโลก ผมก็แค่ทำตามสิ่งที่ผมเห็นมาตั้งแต่เด็ก”
แรงบันดาลใจวัยเด็ก
ฟลอเรนติโน เปเรซ เกิดวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1947 และเป็นชาวกรุงมาดริดโดยกำเนิด เขามีพ่อเป็นนักธุรกิจ โดยบิดาพาเขาเข้าชมเกมของเรอัล มาดริด ในสนามตั้งแต่อายุแค่ 4 ขวบ
ยุคนั้น ‘ราชันชุดขาว’ อยู่ภายใต้การดูแลของ ซานติอาโก เบอร์นาเบว ตำนานประธานสโมสรชื่อดัง ซึ่งต่อมาชื่อของเขาได้รับเกียรติให้นำไปตั้งเป็นชื่อสนามแข่งหลักของทีมจนกระทั่งปัจจุบัน
เปเรซบอกว่า แผน ‘กาลาคติกอส’ ของเขาได้แรงบันดาลใจมาจากเรอัล มาดริด ชุด ‘ดรีมทีม’ ของเบอร์นาเบว ในยุค 1950s ซึ่งมีนักเตะซูเปอร์สตาร์อย่าง ดิ สเตฟาโน, ปุสกัส และฟรานซิสโก เกนโต รวมอยู่ในทีมเดียวกัน พวกเขาสามารถพาทีมคว้าแชมป์มาได้มากมายด้วยสไตล์การเล่นที่สวยงาม และเน้นเกมรุกเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม แม้เปเรซจะเป็นแฟนบอล ‘ราชันชุดขาว’ มาตั้งแต่เด็ก แต่ชีวิตของเขาไม่ได้เริ่มมาจากวงการลูกหนังเท่านั้น
วิศวกร นักการเมือง นักธุรกิจ
ฟลอเรนติโน เปเรซ เรียนจบวิศวกรรมโยธาจากมหาวิทยาลัยโปลีเทคนิคแห่งกรุงมาดริด ก่อนเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยการทำธุรกิจขนาดเล็กหลากหลายอย่าง จนกระทั่งมาลงเล่นการเมืองท้องถิ่นในเมืองหลวงของสเปน
ปี 1979 เขาสังกัดพรรคสายกลางของนายกรัฐมนตรี อดอลโฟ ซัวเรซ และชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เป็นสมาชิกสภากรุงมาดริด แต่ในการเลือกตั้งใหญ่ปี 1982 พรรคต้นสังกัดกลับพ่ายแพ้การเมืองระดับชาติแบบราบคาบ ทำให้เปเรซเริ่มหันมาเน้นเอาดีทางธุรกิจแทน
เขาใช้ความรู้ทางวิศวกรรม และสายสัมพันธ์อันกว้างขวางพลิกฟื้นบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่เกือบล้มละลายในช่วงต้นทศวรรษ 1980s ให้กลับมาเฟื่องฟู ก่อนควบรวมกิจการจนกลายเป็นกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป ชื่อ ACS โดยเปเรซนั่งเก้าอี้ประธานบริษัท และกลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ คนหนึ่งของยุโรป
ด้วยความสำเร็จทางธุรกิจ และเครือข่ายความสัมพันธ์กับบุคคลชั้นนำมากมาย ทำให้เปเรซได้รับความไว้วางใจให้มาทำหน้าที่ประธานสโมสรเรอัล มาดริด แต่กว่าจะได้ตำแหน่งนี้ เขาต้องลงสมัครถึง 2 รอบ โดยรอบแรกในปี 1995 พ่ายให้กับ รามอน เมนโดซา ก่อนจะมาชนะ โลเรนโซ ซานซ์ ได้นั่งเก้าอี้ประธานสโมสรสมัยแรกในปี 2000
ประธานสายเปย์
เปเรซ นอกจากจะกลายเป็นประธานขวัญใจแฟนบอล เรอัล มาดริด ด้วยนโยบายทุ่มเงินจำนวนมหาศาลดึงนักเตะซูเปอร์สตาร์มาร่วมทัพแล้ว เขายังทุ่มงบพัฒนาสนามซ้อม ตลอดจนสนามแข่งขันของสโมสรให้มีความทันสมัยมากขึ้นด้วย
แม้ช่วงแรกเขามักถูกโจมตีเรื่องการก่อหนี้ก้อนโต แต่ความสำเร็จที่ตามมาทั้งในแง่ผลการแข่งขัน และรายได้ทางการตลาด ทำให้สถานะทางการเงินของสโมสรกลับมาฟู่ฟ่าอีกครั้ง และเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า วิสัยทัศน์ของเขาพาสโมสรเดินมาถูกทาง
ปี 2020 ทีม ‘ราชันชุดขาว’ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่ามากที่สุดในยุโรปเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ด้วยมูลค่า 3,478 ล้านยูโร สูงกว่าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของอังกฤษ ซึ่งอยู่อันดับสอง ด้วยมูลค่า 3,342 ล้านยูโร
“คุณต้องลงทุนเหมือนกับที่คุณทำในบริษัทใหญ่ ๆ” เปเรซเปิดใจถึงนโยบาย ‘สายเปย์’ ของตนเอง
นอกจากนโยบายดังกล่าวจะทำให้ ฟลอเรนติโน เปเรซ กลายเป็นขวัญใจสาวก เรอัล มาดริด ทั่วโลกแล้ว มันยังการันตีเก้าอี้ประธานสโมสรของเขาว่าจะไม่มีใครกล้าขึ้นมาท้าทาย โดยอย่างน้อยเขาจะได้อยู่ในตำแหน่งผู้นำสูงสุดของสโมสรต่อไปเป็นสมัยที่ 6 จนถึงปี 2025
ความท้าทายใหม่
จากความสามารถและประสบการณ์ที่ผ่านมาจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บรรดาสโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ผู้ร่วมก่อตั้งซูเปอร์ลีกจากอังกฤษ, สเปน และอิตาลี ทั้งหมด 12 ทีม จะไว้ใจให้ ฟลอเรนติโน เปเรซ ในวัย 74 ปี ทำหน้าที่ประธานลีกน้องใหม่ที่จะเข้ามาท้าทายอำนาจของยูฟ่า
“มันจบแล้ว การผูกขาดของพวกเขา (ยูฟ่า) ยุติลงแล้ว มันถึงเวลาของยุคสมัยใหม่แล้ว” เปเรซประกาศกร้าวหลังยูฟ่าขู่แบนผู้เข้าร่วมศึกซูเปอร์ลีก ไม่ให้ลงแข่งขันแชมเปียนส์ลีกที่ยูฟ่าเป็นผู้ดูแล
เปเรซยกข้อกฎหมายของยุโรปมาตอบโต้และยืนยันว่า ยูฟ่าไม่มีอำนาจกีดกันพวกเขาจากการเข้าร่วมแชมเปียนส์ลีก พร้อมย้ำว่า ซูเปอร์ลีกรูปแบบใหม่ที่ประกอบด้วยทีมใหญ่ขาประจำ 15 ทีม และทีมอื่น ๆ อีก 5 ทีม สลับหมุนเวียนกันมาร่วมดวลแข้ง ตั้งมาเพื่อ ‘ปกป้องกีฬาฟุตบอล’ (save football) ในโลกยุคใหม่
ไม่ว่าเหตุผลที่ว่ามาจะฟังขึ้นหรือไม่ ดูเหมือนการออกหน้ารับภารกิจใหม่ครั้งนี้ของเปเรซจะไม่ใช่งานง่าย เพราะนอกจากยูฟ่าแล้ว ยังมีบรรดาผู้นำรัฐบาลและคนในวงการฟุตบอลยุโรปอีกมากมายที่ออกมาต่อต้านการเปลี่ยนแปลงตามข้อเสนอของเขา
นี่จึงเป็นความท้าทายใหม่ของชายที่ชื่อ ฟลอเรนติโน เปเรซ ประธานมากประสบการณ์ผู้ต้องการผลักดันให้เกิดซูเปอร์ลีก หรือลีกของบรรดาทีมซูเปอร์สตาร์ อย่างน้อยก็เพื่อต่อรองผลประโยชน์กับยูฟ่า และเป็นการเดินตามปรัชญา ‘กาลาคติกอส’ หรือทีมรวมดารา ที่เขาเคยทำสำเร็จมาแล้วกับ ‘ราชันชุดขาว’ เรอัล มาดริด
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.realmadrid.com/en/about-real-madrid/history/presidents/florentino-perez
https://barcauniversal.com/super-league-president-florentino-perez-its-over-their-monopoly-is-over-its-time-for-a-new-era/
https://www.givemesport.com/1678288-european-super-league-president-florentino-perez-answers-all-the-key-questions-in-interview
https://www.bbc.com/sport/football/56812151
https://www.wsj.com/articles/SB10001424052970204488304574427200385809282
https://www.ft.com/content/8d4376b4-56b4-11de-9a1c-00144feabdc0
https://peoplepill.com/people/florentino-perez
ภาพ: Angel Martinez / Getty Images