VannDa: จากเด็กยากไร้โดนครูดูถูก สู่แรปเปอร์เจ้าของเพลงฮิตใน TikTok ‘Time To Rise’ ที่เผยแพร่เสียงดนตรีแห่งกัมพูชาให้โลกรู้จัก
/ Time To Rise... ถึงเวลาพุ่งทะยานแล้ว พุ่งทะยานขึ้นสูงเท่าดวงดาว ให้มีความสุขทั้งหนุ่มสาว ศิลปินหนุ่มสาวที่กำลังใฝ่ฝัน ขอเปิดตำนานบทใหม่ มรดกยิ่งใหญ่จากข้า กง ไณย เอย... /
เริ่มต้นด้วยเสียงขับร้องของ ‘อาจารย์กง ไณย’ (Master Kong Nay) คลอเคล้ากับเสียง ‘จับเปย’ หรือ ‘จะเป็ย’ (จะเป็ยฏ็องแวง: กระจับปี่เขมร) รับด้วยขลุ่ยพื้นเมือง บทเพลง ‘Time To Rise’ ของศิลปินฮิปฮอปสายเลือดเขมร ‘วันดา’ (VannDa) ที่ได้เชิญกง ไณย ปรมาจารย์ดนตรีวัย 76 ปี เจ้าของฉายา ‘เรย์ชาร์ลแห่งกัมพูชา’ หนึ่งในไม่กี่ศิลปินที่เคยผ่านชีวิตช่วงเขมรแดงมาร่วมร้องและบรรเลงดนตรีเพลงนี้ ได้กลายเป็นไวรัลฮิตในแอป TikTok จนมีผู้ใช้เพลงนี้ในการสร้างคอนเทนต์กว่าเจ็ดหมื่นครั้ง และยังมียอดวิวทาง YouTube แตะ 30 ล้าน ภายในเวลาเพียง 3 สัปดาห์หลังจากเผยแพร่ (ปัจจุบัน 4 สัปดาห์ 34 ล้านยอดการรับชม)
แม้ภายในประเทศกัมพูชาเอง ชื่อของแรปเปอร์หนุ่มวันดา จะเป็นที่พูดถึงจากสไตล์การแรปที่โฟลว์และโชว์ไรห์มไม่ใช่เล่นอยู่บ้างแล้ว แต่ชื่อเสียงของเขาก็ยังไม่กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจนกระทั่งเพลง ‘Time To Rise’ ไม่ต่างอะไรจากวัฒนธรรมเขมรที่หลับใหลในเวทีดนตรีโลกมาอย่างยาวนาน - และเพิ่งฟื้นตื่นด้วยการผสมผสานดนตรีจากวันวานเข้ากับศิลปะร่วมสมัยอย่างฮิปฮอป
ก่อนพุ่งทะยาน
/ ถ้าผมไม่แกร่งพอก็คงไม่เหลือแม้แต่กระดูก ชีวิตดำเนินไปโดยไม่มีใครเหลียว ไม่มีเตียง ไม่มีบ้าน ผมอยู่อย่างคนเร่ร่อนไร้แหล่ง มีเพียงแอปเปิลหนึ่งลูกที่ผมแบ่งกันกัดกินกับพี่ชาย - เพลง SKULL (IF I DIE) /
ชีวิตก่อนการพุ่งทะยาน หรือก่อน ‘Time To Rise’ ของวันดานั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบดอกลำดวน (ดอกไม้ประจำชาติกัมพูชา) สักเท่าใด 22 มกราคม ปี 1997 เด็กชายวันดา มันน์ (Vannda Mann) เกิดและเติบโตในครอบครัวที่ไม่ร่ำรวยอะไรนัก - อันที่จริงแล้วครอบครัวของวันดาค่อนข้างขัดสน เขาและพ่อแม่ต้องอาศัยเจดีย์แห่งหนึ่งในกรุงพระสีหนุต่างบ้าน และต้องเดินสองเท้ารอนแรมไปทั่ว ขณะที่เพื่อนวัยเดียวกันของเขาหลายคนมีรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ให้ขับ
แม้จะมีวัยเด็กที่ยากลำบาก หากวันดาก็เป็นเด็กช่างฝัน ในชั้นเรียน ทุกครั้งที่ถูกถามถึงอาชีพในอนาคต วันดาจะตอบอย่างมั่นใจว่าเขาอยากเป็น ‘ศิลปิน’ หรือ ‘แรปเปอร์’ แม้ว่าผลตอบรับจากการพูดคำนั้นจะทำให้เพื่อนและครูบางคนหัวเราะเยาะเขา และบอกว่าเขาคือ ‘ความล้มเหลว’
/ ตอนเรียนอยู่ผมเคยทำบีต ครูรู้เข้าก็บอกว่าผมผิด ผมล้มเหลว ผมไม่เรียน เข้าชั้นเรียนไม่ถือหนังสือ ครูก็บอกว่าผมขี้แพ้ แล้วดูผมตอนนี้สิครู ดูกูตอนนี้สิเพื่อน ที่เคยดูถูกตอนกูสอบไม่ผ่านน่ะ ขอบคุณมากนะ - เพลง BORN THIS WAY/
เด็กชายที่ย่างก้าวเข้าวัยหนุ่มยังคงกอดความฝันของตนไว้แนบอกไม่ต่างอะไรจากเนื้อเพลงท่อนหนึ่งของ ‘Time To Rise’ ที่มีความหมายว่า ‘ขออย่าละทิ้งความฝัน มันมีค่าจนหมดลมหายใจ’ จากการเขียนโคลงและกลอนลงสมุด วันดาเริ่มเขียนและทำบีตเมื่อปี 2009 แต่เรื่องราวบนเส้นทางสายนี้ของเขาก็ยังไม่เป็นชิ้นเป็นอันนักจนกระทั่งปี 2014
มะดายและโอปุก ระหว่างทางฝันวันดา
เมื่อลู่ทางในเมืองท่าติดชายทะเลอย่างพระสีหนุไม่ตอบโจทย์อาชีพศิลปินของเขา ในเพลง SKULL (IF I DIE) วันดาแรปเอาไว้ว่าที่นั่นเขาก็ไม่ต่างอะไรจากเด็กที่พยายามปลูกต้นไม้ในดินแล้งน้ำ ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนหลายคนที่วันดาเคยพูดขอบคุณพวกเขาไว้ในเพลงเดียวกัน เด็กหนุ่มจึงมีโอกาสได้เก็บกระเป๋า บอกลาหมู่บ้านเกิด และเดินทางร่วม 246 กิโลเมตร เพื่อมุ่งเข้าสู่เมืองหลวงของประเทศกัมพูชาอย่าง ‘กรุงพนมเปญ’
ที่นั่นเองที่รังสีศิลปินในตัววันดาเริ่มเฉิดฉาย ปี 2014 วันดาก็ได้ฤกษ์ปล่อย ‘Is It Hurt’ เพลงแรกของเขาให้คอเพลงกัมพูชาได้ฟัง ตามมาด้วยเพลงที่พาให้ชื่อของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักอย่าง ‘J+O’ วันดาใช้เวลา 4 ปีระหว่างปี 2016 - 2020 ในการซุ่มทำ ‘SKULLTHEALBUM’ อัลบั้มชุดแรกของเขาที่ประกอบไปด้วย 18 แทร็ก บอกเล่าเรื่องราวว่าด้วยสัจธรรมแห่งชีวิตอย่าง เกิด แก่ เจ็บ และตาย
หากเราฟังเพลงของวันดาแบบคำต่อคำจะพบว่าแรปเปอร์หนุ่มคนนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวส่วนตัว การทำงานหนักของเขา รวมทั้งกล่าวขอบคุณคนที่ทำให้เขามาถึงจุดนี้ได้ผ่านทุก ๆ บทเพลง โดยเฉพาะแทร็กที่ 17 ‘MAMA’ ที่มียอดวิวถึง 50 ล้านการรับชม แรปเปอร์หนุ่มคนนี้ได้ฝากข้อความถึงมะดาย (แม่) และโอปุก (พ่อ) ของตนด้วยถ้อยคำที่แปลเป็นไทยได้ว่า
/ ลูกเขียนเพลงนี้ให้แม่ แม่เป็นอย่างไรบ้าง ลูกคิดถึงแม่เหลือเกิน หากได้ยินแล้วช่วยส่งข่าวบ้าง ลูกงานยุ่งนัก ไม่ค่อยได้พักแวะไปเยี่ยม อย่าโกรธและงอนเลย ถ้าว่างแล้วจะรีบไปหา /
/ ใคร ๆ เขาบอกว่าลูกจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ แต่พ่อบอกลูกว่าอย่าไปฟังเสียงนกเสียงกา ‘ลูก อย่าเสพยา กลับบ้านถ้าคิดถึงแม่ ไหว้พระและเคารพผู้ใหญ่’ ที่พ่อเคยสอนไว้ลูกจำได้ไม่ลืม /
ทะยานให้สูงเท่าดาวและอาทิตย์
ด้วยแรงใจจากคนที่บ้าน ด้วยแรงสนับสนุนจาก ‘Baramey’ หรือ ‘บารมี’ ค่ายเพลงของเขา ด้วยโปรเจกต์จาก ‘cellcard’ และด้วยการตอบตกลงร่วมร้องและเล่นดนตรีในเพลงของอาจารย์กง ไณย เวลาเพียง 5 นาทีกว่า ๆ ใน ‘Time To Rise’ ได้กลายเป็นสิ่งที่พังทลายกำแพงแห่งความไม่รู้ที่ชาวโลกเคยมีต่อวัฒนธรรมและศิลปะเขมรไปจนหมดสิ้น
รูปปั้นมากมายปรากฏในมิวสิกวิดีโอดังกล่าวเผยให้เห็นถึงความงดงามของประติมากรรมเขมรได้อย่างดี นอกจากนี้วันดายังใช้การแรปของเขาเพื่อกล่าวถึงชื่อเสียงเรียงนามของศิลปินเอกผู้ล่วงลับของกัมพูชาหลายต่อหลานท่าน การขับร้องของอาจารย์กง ไณยและเสียงเครื่องดนตรีพื้นเมืองที่ผสานเข้ากับบีตแบบฮิปฮอปได้อย่างลงตัวนั้น ทำให้สารที่วันดาต้องการจะสื่อทรงพลังยิ่งขึ้นไปอีก
นอกจากความอิมแพกต์นอกประเทศ ที่ทำให้เหล่าชาวต่างชาติร้อง ‘ว้าว’ กับความสร้างสรรค์ที่ลงตัวเหล่านั้น ‘Time To Rise’ ยังเปรียบเสมือนคำบอกเล่า เชิญชวน และอวยชัย จากกง ไณยถึงวันดา และจากวันดาถึงหนุ่มสาวชาวกัมพูชาที่มีความฝันเดียวกับเขาในวัยเด็ก
หากอยากเป็นศิลปินก็จงอย่าละทิ้งความฝัน ความสำเร็จของวันดาคือตัวอย่างที่ดีที่สุดในการสื่อสารกับเด็กช่างฝันที่คิดหวังถึงสิ่งที่ดูเป็นไปไม่ได้ในสายตาหลาย ๆ คน ได้เห็นว่าวันหนึ่งข้างหน้าเสียงเพลงหรืออะไรก็ตามที่พวกเขาทำก็อาจกลายเป็นไวรัล (ในทางที่ดี) ในโลกออนไลน์ และพาความสำเร็จมาให้ก็เป็นได้
โลกดนตรีแห่งกัมพูชาเปิดแล้ว น่าสนใจไม่น้อยว่าในวันต่อ ๆ ไป วันดาและศิลปินอื่นที่เรารู้จักและยังไม่รู้จัก จะส่งผลงานดี ๆ อะไรออกมาสร้างสีสันใหม่ ๆ ประดับไว้บนโลกยุคที่ความเร็วอินเทอร์เน็ตไว 4 ถึง 5G ใบนี้อีกบ้าง
ที่มา: https://m.phnompenhpost.com/lifestyle/time-rise-rapper
https://liftedasia.com/article/vannda-bridges-traditional-modern-cambodian-music-with-time-to-rise
https://www.cellcard.com.kh/en/media-center/news/post/វណ្ណដា-តារាចម្រៀងរ៉េបដែ/