วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ: ชลบุรี เอฟซีและผลผลิตจากการพัฒนารากฐานโครงสร้างฟุตบอลไทย
การแข่งขันฟุตบอลในฤดูกาล 2020-2021 เกิดขึ้นในบริบทความท้าทายแบบใหม่ของวงการฟุตบอลไทยและวงการฟุตบอลทั่วโลก กล่าวคือ เป็นการจัดการแข่งขันในท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรค covid-19 ซึ่งบีบบังคับให้ธุรกิจฟุตบอลทั่วโลกต้องปรับตัวเพื่อประคับประคองสถานการณ์ทางธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้แม้จะถูกคำสั่งของรัฐให้ยุติการแข่งขันชั่วคราว และให้จัดการแข่งขันแบบปิด (แข่งขันแบบไร้ผู้ชมในสนาม)
แม้ว่าสโมสรชลบุรี เอฟซี จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวนี้เช่นเดียวกับสโมสรฟุตบอลอื่น ๆ ในประเทศไทยและทั่วโลก แต่ด้วยแนวทางการดำเนินงานของสโมสรที่เน้นการวางรากฐานทางฟุตบอล และเน้นผลิตและส่งเสริมนักฟุตบอลระดับเยาวชน จึงทำให้สโมสรชลบุรี เอฟซีฟันฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ด้วยขุมกำลังที่มาจากระบบเยาวชนของสโมสรเป็นหลัก
นักฟุตบอลเหล่านี้นอกจากจะถูกฝึกซ้อมหล่อหลอมทั้งทักษะและทัศนคติในการเล่นฟุตบอลร่วมกันมาอย่างยาวนานแล้ว พวกเขายังเต็มไปด้วยความกระหายและความผูกพันภักดีต่อสโมสรด้วย
ดังนั้น แม้ว่าผลงานของสโมสรชลบุรี เอฟซีในไทยลีกจะจบลงไม่สวยงามนัก แต่ในรายการ Chang FA Cup นักฟุตบอลเยาวชนเหล่านี้กลับสามารถพาสโมสรของพวกเขาเข้ามาถึงรอบชิงชนะเลิศ โดยสามารถล้มช้างอย่างบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดในรอบรองชนะเลิศได้อย่างงดงาม แม้ว่าสุดท้ายพวกเขาจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการดวลจุดโทษให้กับเชียงราย ยูไนเต็ดในรอบชิงชนะเลิศก็ตาม
นี่ย่อมสะท้อนถึงความสำเร็จของการวางรากฐานโครงสร้างฟุตบอลของชลบุรี เอฟซี และของวงการฟุตบอลไทยนั่นเอง
ผู้เล่น 11 คนแรกของชลบุรีในนัดชิงชนะเลิศนี้ ผู้เล่นไทยทั้ง 9 คนล้วนมาจากระบบเยาวชนของสโมสรทั้งหมด โดยหนึ่งในกำลังหลักของสโมสรในนัดนี้ และในฤดูกาลนี้คือ วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ หรือเจ้ายิม กองกลางตัวรุกวัย 23 ปี ลูกศิษย์ที่โค้ชเฮง วิทยา เลาหกุล บรรจงปั้นมาตั้งแต่เขาอายุเพียง 12 ปีเท่านั้น
จุดเริ่มต้นการสัมผัสฟุตบอลของวรชิต คงคล้ายกับเด็กผู้ชายส่วนใหญ่ในโลกนี้ กล่าวคือ เขาฟุตบอลตั้งแต่อายุ 4-5 ปีในฐานะที่ฟุตบอลเป็นกีฬาหรือการละเล่นของเด็กผู้ชายโดยมีพ่อและพี่ชายเป็นทั้งผู้ชักชวนและเพื่อนเล่น เขาเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอสมควร มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดเชียงใหม่ และสนับสนุนให้เขาเล่นฟุตบอลตั้งแต่เด็ก (วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ, 2559ข)
เมื่ออายุได้ 6 ปี ขณะเรียนอยู่โรงเรียนสาธิตราชภัฎเชียงใหม่วรชิตจึงได้เล่นฟุตบอลให้กับสโมสรเชียงใหม่ 700 ปีด้วย ต่อมาเมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ผู้ปกครองของวรชิตย้ายมาทำงานที่กรุงเทพมหานครทำให้วรชิตต้องย้ายโรงเรียน ผู้ปกครองของเขาเลือกให้เขาเข้าเรียนต่อชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่โรงเรียนเพ็ญสมิทธ์ซึ่งวรชิตเล่าว่าเป็นโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงเรื่องฟุตบอลแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานครในสมัยนั้น
และเขาก็ได้เล่นฟุตบอลทีมโรงเรียนอยู่ 1 ปี กระทั่งได้รับการบอกกล่าวล่วงหน้าว่าทีมฟุตบอลของโรงเรียนจะถูกยุบในไม่ช้า ผู้ปกครองของวรชิตและเพื่อนร่วมทีมโรงเรียนจำนวนหนึ่งจึงย้ายวรชิตและเพื่อนไปเรียนที่โรงเรียนวัดคู้บอน พร้อม ๆ กับที่ผู้ปกครองของเพื่อนซึ่งสนใจการทำทีมฟุตบอลเป็นพิเศษอยู่แล้วจึงได้ก่อตั้งทีมฟุตบอล “เลียบสวัสดิ์” ขึ้นเพื่อให้ลูกของตนเองและเพื่อน ๆ มีทีมฝึกซ้อมและแข่งขัน (วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ, 2559ก)
สู่รั้วเยาวชนฉลาม
ในขณะที่วรชิตจบชั้นประถมศึกษาปี 4 ที่โรงเรียนวัดคู้บอน เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สโมสรชลบุรี เอฟซีเริ่มจัดตั้งศูนย์ฝึกฟุตบอลเยาวชนของสโมสร (โดยให้แยกจากทีมฟุตบอลโรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชาที่เคยเป็นเสมือนศูนย์ฝึกฟุตบอลเยาวชนของชลบุรีในอดีต) โดยมีโค้ชเฮง วิทยา เลาหกุลเป็นผู้ดูแล
วรชิตจึงได้รับคำแนะนำจาก “ป๋าลอย” หรือจีรศักดิ์ เจริญจันทร์ อดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอนสโมสรสุพรรณบุรี เอฟซีซึ่งมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับโค้ชเฮง วิทยา เลาหกุลให้ไปคัดตัวที่ศูนย์ฝึกเยาวชนของสโมสรชลบุรี เอฟซี เพราะป๋าลอยเห็นว่าศูนย์ฯ ของชลบุรี เอฟซีน่าจะทำให้วรชิตมีความก้าวหน้าในเส้นทางฟุตบอลได้ดีกว่าที่อื่น (วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ, 2558ข)
วรชิตเล่าว่าครั้งแรกที่ไปทดสอบฝีเท้าที่ศูนย์ฯของชลบุรี เอฟซีนั้นเขาไม่ผ่านการคัดตัว จนเมื่อมาคัดตัวเป็นครั้งที่ 2 (ระยะเวลาห่างกันไม่นาน) จึงผ่านเข้ามาเป็นเยาวชนของสโมสรชลบุรี เอฟซีรุ่นแรก
ในขณะนั้นศูนย์ฯ ของชลบุรี เอฟซีตั้งอยู่ที่อำเภอศรีราชา วรชิตและเพื่อนอีก 10 กว่าชีวิตใช้ชีวิต กิน นอน ฝึกซ้อม และเรียนหนังสืออยู่นั่นตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีโค้ชเฮงเป็นผู้ดูแลเรื่องการฝึกซ้อมและการพัฒนาทักษะฟุตบอลในสนาม และมีธนศักดิ์ สุระประเสริฐ หรือลุงตุ๋ย (ผู้บริหารสโมสรชลบุรี เอฟซี) เป็นผู้ดูแลและให้คำปรึกษาเรื่องชีวิตนอกสนามฟุตบอล
ต่อมาเมื่อชลบุรี เอฟซีสร้างศูนย์ฯ แห่งใหม่ขึ้นที่อำเภอบ้านบึง วรชิตและเพื่อนจึงย้ายมาฝึกที่นี่ และเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนท่าข้ามพิทยาคม (วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ, 2558ข)
การเป็นนักฟุตบอลทีมเยาวชนของชลบุรี เอฟซีทำให้วรชิตมีโอกาสเดินทางไปแข่งขันฟุตบอลเยาวชนรายการต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอทุกปี กระทั่งในปี 2555 สโมสรวิสเซิล โกเบจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นสโมสรพันธมิตรของชลบุรี เอฟซีได้ส่งทีมเยาวชนมาแข่งนัดกระชับมิตรกับชลบุรี เอฟซีและเกิดประทับใจฝีเท้าของวรชิตและรุ่นน้องในทีม (สหรัฐ สนธิสวัสดิ์ –แจ๊ป) จึงติดต่อขอให้ทั้ง 2 คนไปร่วมฝึกซ้อมและทดสอบฝีเท้ากับสโมสรวิสเซิล โกเบเป็นเวลา 3 เดือน
แม้วรชิตและสหรัฐจะไม่ผ่านการทดสอบฝีเท้าแต่การร่วมฝึกซ้อมครั้งนั้นทำให้แมวมองของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้จากประเทศอังกฤษสนใจวรชิต และเมื่อทราบว่าปี 2556 วรชิตจะเดินทางไปร่วมฝึกซ้อมและทดสอบฝีเท้ากับสโมสรเอฟเวอร์ตันที่ประเทศอังกฤษ สโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้จึงติดต่อขอให้วรชิตไปร่วมฝึกซ้อมและทดสอบฝีเท้ากับสโมสรด้วย (ศศิศ สิงห์โตทอง, 2556)
นอกจากวิสเซิล โกเบ, เอฟเวอร์ตัน และแมนเชสเตอร์ซิตี้แล้ว วรชิตยังเคยไปร่วมฝึกซ้อมและทดสอบฝีเท้ากับสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ประเทศอังกฤษและสโมสรเอฟซี โตเกียว ประเทศญี่ปุ่นด้วย นับว่าเป็นนักฟุตบอลเยาวชนที่มีประสบการณ์ฝึกซ้อมกับสโมสรชั้นนำในต่างประเทศมากที่สุดคนหนึ่งของไทย
วรชิตได้รับคำแนะนำจากสโมสรที่ไปร่วมฝึกซ้อมว่าเขายังมีจุดอ่อนในเรื่องพละกำลังและความรวดเร็ว (วิทยา เลาหกุล, 2559) อย่างไรก็ตามเขานับเป็นลูกศิษย์คนโปรดของโค้ชเฮง และมีบุคลิกลักษณะอย่างที่โค้ชเฮงชื่นชอบ กล่าวคือเป็นนักฟุตบอลที่ไม่ทำตัวโดดเด่น ไม่ทำตัวเป็นซูเปอร์สตาร์ และมุ่งมั่นในหน้าที่ในสนามของตนเอง
สมญานามว่า wonder kid
วรชิตเริ่มเล่นฟุตบอลอาชีพครั้งแรกในปี 2556 กับสโมสรพานทอง เอฟซีซึ่งเป็นสโมสรที่อยู่ในความดูแลของผู้บริหารชลบุรี เอฟซีที่แข่งอยู่ในดิวิชั่น 2 (ลีกภูมิภาค) ต่อมาในปี 2557 มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสโมสรศรีราชา เอฟซีซึ่งเป็นอีกหนึ่งสโมสรที่อยู่ในความดูแลของผู้บริหารชลบุรี เอฟซี วรชิตและผู้เล่นเยาวชนของชลบุรีจำนวนหนึ่งจึงได้รับโอกาสให้ย้ายไปเล่นให้กับศรีราชา เอฟซีในชื่อใหม่ว่า “ศรีราชา-บ้านบึง เอฟซี” ซึ่งขณะนั้นแข่งขันอยู่ในดิวิชั่น 1 วรชิตสามารถแสดงความสามารถได้โดดเด่นกับศรีราชาฯ เขาจึงถูกเรียกตัวมาเล่นให้กับทีมชุดใหญ่ของชลบุรี เอฟซีในไทยพรีเมียร์ครั้งแรกในครึ่งปีหลังของปี 2557
วรชิตลงเล่นให้ทีมชุดใหญ่ของชลบุรีครั้งแรกในนัดที่ชลบุรี เอฟซีพบกับสมุทรสงคราม เอฟซีที่ชลบุรีสเตเดี้ยมซึ่งขณะนั้นเขามีอายุเพียง 16 ปี 11 เดือน 9 วันเท่านั้น เขาเล่าว่าครั้งแรกที่ได้ลงเล่นในเกมไทยพรีเมียร์ลีกต่อหน้าแฟนบอลจำนวนมาก ร่วมกับรุ่นพี่ในทีมซึ่งล้วนมีชื่อเสียงและ (เคย) ติดทีมชาติ ทำให้เขารู้สึกตื่นเต้นและกดดันไม่น้อย
ฤดูกาล 2558 วรชิตสามารถยิงประตูแรกในไทยพรีเมียร์ลีกได้ในการแข่งขันนัดที่ชลบุรี เอฟซีเปิดบ้านพบกับสโมสรราชบุรี มิตรผล เอฟซี ทำให้เขากลายเป็นผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยพรีเมียร์ลีกที่สามารถทำประตูได้ (ขณะนั้นวรชิตอายุ 17 ปี 340 วัน) (FourForuTwo, 2558)
วรชิตเล่าว่าประตูที่ยิงได้ในนัดนั้นทำให้ชีวิตนักฟุตบอลของเขาเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล จากที่ไม่ได้อยู่ในสายตาของแฟนบอลมากนัก ไม่เคยมีคนขอถ่ายรูป กลับกลายเป็นที่จดจำและกล่าวถึงของแฟนบอล ขณะที่สื่อมวลชนก็ให้ฉายาว่าเขาเป็น wonder kid ของฉลามชล
ผลงานอันโดดเด่นขณะที่เขาเล่นให้ชลบุรี เอฟซี ทำให้วรชิตถูกเรียกให้ติดทีมชาติชุดอายุไม่เกิน 19 ปีตั้งแต่เขาเพิ่งมีอายุได้ 17 ปีกว่า ทั้งยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกัปตันทีมด้วย
วรชิตเป็นตัวแทนของนักฟุตบอลที่มาจากครอบครัวชนชั้นกลาง และได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวให้เล่นฟุตบอลเพื่อมีอาชีพเป็นนักฟุตบอล โดยไม่กังวลเรื่องการเรียนหนังสือ ครอบครัวของเขายินดีให้ย้ายไปเรียนในที่ที่สามารถส่งเสริมความสามารถด้านฟุตบอลของเขาได้ นอกจากนี้วรชิตเคยให้สัมภาษณ์ว่าครั้งแรกที่เขาฝึกซ้อมกับโค้ชเฮงนั้นเขายังไม่รู้จักว่าโค้ชเฮงคือใคร และมีเกียรติประวัติทางฟุตบอลอย่างไรบ้าง แต่พ่อของเขาเป็นคนเล่าให้ฟังว่าครูของเขาคนนี้เคยเป็นนักฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของประเทศไทย (FourFourTwo, 2558) ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นว่าครอบครัวของเขาสนับสนุนเส้นทางสู่การเป็นนักฟุตบอลของเขาอย่างเต็มที่
ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในช่วงที่วรชิตเริ่มเล่นฟุตบอลอย่างจริงจังขึ้นเรื่อย ๆ นั้น วงการฟุตบอลอาชีพของประเทศไทยก็มีความเป็นมืออาชีพและเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน ดังนั้น ทั้งผู้ปกครองและตัวเยาวชนเองจึงสามารถมองเห็นหนทางความก้าวหน้าทางอาชีพได้ และเมื่อเลือกเส้นทางอาชีพนี้แล้ว
ระบบโครงสร้างพื้นฐานของวงการฟุตบอลไทยและสโมสรชลบุรี เอฟซีก็ยังช่วยให้เขาได้รับโอกาสในการพัฒนาฝีเท้า และแสวงหาความก้าวหน้าในอาชีพได้อย่างต่อเนื่อง
อาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า สำหรับวรชิตแล้ว ฟุตบอลไม่ได้เป็นเครื่องมือในการขยับฐานะทางชนชั้น และไม่ได้เป็นเวทีของหมาล่าเนื้อ หากแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจของสังคมการเมืองไทยโดยรวม และโครงสร้างพื้นฐานทางฟุตบอลของวงการฟุตบอลไทยที่มีความมั่นคงมากพอ และมีเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพที่ชัดเจนและเป็นระบบต่างหาก ที่ทำให้เขาและครอบครัว “เลือก” เส้นทางอาชีพนี้ แทนที่จะเลือกเส้นทางอื่น ๆ ที่พวกเขาสามารถเลือกได้เช่นเดียวกัน
อ้างอิง
วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ, สัมภาษณ์, 7 กรกฎาคม 2559ก.
“วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ ว่าที่ ซุปตาร์ ‘ฉลามชล’”,เว็บไซต์สโมสรชลบุรี เอฟซี, 27 สิงหาคม 2557 เผยแพร่ใน http://www.chonburifootballclub.com/en/news-scoop/scoops/item/908-2014-08-27-06-21-35 เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม 2559.
“วรชิต ศิษย์เฮงซัง : ครั้งหนึ่งลิเวอร์พูลเคยสนใจ”, โฟร์โฟร์ทูออนไลน์, 1 ตุลาคม 2558 เผยแพร่ใน http://www.fourfourtwo.com/th/features/wrchit-sisyehngchang-khranghnuengliewrphuulekhy
snaicch เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม 2559.
“วรชิตสุดปลื้มได้กระทบไหล่ชินจิ คางาวะ”, สยามกีฬาออนไลน์, 22 ธันวาคม 2557 เผยแพร่ใน http://www.siamsport.co.th/Sport_Football/151222_202.html เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม 2559.
อนิวัฏ แผ่นดินทอง, “Give a shout: เด็กสร้างไทยบูม วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ”, เว็บไซต์โกล์ไทยดอทคอม, 12 สิงหาคม 2558 เผยแพร่ใน http://www.goal.com/th/news/5285/give-a-shout/2015/08/12/14369172/Give-A-Shout-เด็กสร้างไทยบูม-วรชิต-กนิตศรีบำเพ็ญ เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม 2559.
ศศิศ สิงห์โตทอง และวรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ, สัมภาษณ์โดย Porrz Chaiwiphom, “FCFEVER ON TV - EP.111 [10/09/13] วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ l ชลบุรี เอฟซี U16”, 17 กุมภาพันธ์ 2556 เผยแพร่ใน https://www.youtube.com/watch?v=g8Mrxh3KlXA เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม 2559.
วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ และวิทยา เลาหกุล, สัมภาษณ์โดย Sutti Siwaranon, “The Football Wonder Kid ‘ยิม’ วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ”, 2 กุมภาพันธ์ 2559ข เผยแพร่ใน https://www.youtube.com/watch?v=t3mKudMdjnU เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม 2559.
_______, สัมภาษณ์โดย Shark Chennel Official, “‘เจ้ายิม’ วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ ฉายา ‘วันเดอร์คิดฉลามชล’”, 1 กันยายน 2558ข เผยแพร่ใน https://www.youtube.com/watch?v=VMDSsN2lJ6M เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม 2559.
_______, สัมภาษณ์โดย Channarong Bowornpatcharasirikul, “FC Fever TV EP.211 ‘ย้า’ สิทธิโชค ภาโส และ ‘ยิม’ วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ”, 10 สิงหาคม 2558ก เผยแพร่ใน https://www.youtube.com/watch?v=ZYmcDQcmpPw เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม 2559.
เรื่อง: ชาลินี สนพลาย
ภาพ: https://www.facebook.com/chonburi.football.club
***ปรับปรุงจากส่วนหนึ่งของงานวิจัย โครงการศึกษาค้นคว้าและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการจัดทานิทรรศการ เรื่อง “โลกฟุตบอลไทย” นำเสนอต่อสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ