ดรู คาตะโอกะ : ไอคอนคลับเฮาส์คนแรกที่เป็นทั้งศิลปิน นักเคลื่อนไหวทางสังคมและสตรีอเมริกันเชื้อสายเอเชีย
นอกจากหัวข้อสนทนาใน ‘คลับเฮาส์’ จะชวนให้หลายคนตั้งตารอแล้ว สิ่งที่น่าติดตามไม่แพ้กันคือ ‘ไอคอนคลับเฮาส์’ ที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ และเป็นภาพของเหล่าผู้ใช้งานที่สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมผ่านการใช้แอปพลิเคชันนี้
วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนเมษายน 2021 มีไอคอนใหม่ของคลับเฮาส์ปรากฏขึ้น ภาพขาว-ดำของหญิงสาวที่ตัดผมสั้น พร้อมหน้าม้าเต่อแสนเก๋ แปลกตาไปจากไอคอนที่ผ่านมา เธอคนนี้คือ ‘ดรู คาตะโอกะ’ (Drue Kataoka) ไอคอนคลับเฮาส์ ‘คนแรก’ ที่เป็นศิลปินหญิงสาขาทัศนศิลป์ (visual art) ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย
ดรู คาตะโอกะ เป็นที่รู้จักในนามศิลปินและซีอีโอของ Drue Kataoka Art Studios (www.Drue.Net) ในสหรัฐอเมริกา ผลงานจากสตูดิโอของเธอเป็นที่รู้จักและเคยปรากฏในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะงานที่การผสานศิลปะเข้ากับเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ อย่าง Up! งานศิลปะที่ได้ไปจัดแสดงในพื้นที่ไร้แรงโน้มถ่วงครั้งแรก ที่สถานีอวกาศนานาชาติ ( the International Space Station) โดยชิ้นหนึ่งอยู่บนพื้นโลก ส่วนอีกชิ้นหนึ่งถูกส่งขึ้นไปพร้อมนักบินอวกาศนามว่า ริชาร์ด การ์ริออท (Richard Garriott) ด้วยคอนเซปต์ที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ (Einstein’s Special Theory of Relativity) คือชิ้นส่วนที่ถูกส่งไปยังฟากฟ้า (the Celestial Piece) จะอายุน้อยกว่าชิ้นส่วนที่อยู่พื้นดิน (the Terrestrial Piece) คล้ายกับศิลปะแนวคอนเซปชวลที่เล่นกับเรื่องของเวลา
แม้ใบหน้าและชื่อดรู คาตะโอกะ จะบ่งบอกความเป็นเอเชียอย่างชัดเจน แต่เธอก็เติบโตขึ้นในสังคมอเมริกันตั้งแต่จำความได้ บิดาของเธอเป็นนักรัฐศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ส่วนมารดาเป็นอาจารย์ที่สอนด้านการสื่อสาร ณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ครอบครัวที่เปิดกว้างทางความคิด ทำให้คาตะโอกะมีความสนใจหลากหลายทั้งศิลปะ เทคโนโลยี สังคม และการเมือง หลังจบการศึกษาจากสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด คาตะโอกะก้าวสู่โลกการทำงานทั้งในฐานะศิลปินควบคู่กับบทบาทนักเคลื่อนไหวทางสังคม
บทบาททางสังคมของคาตะโอกะมีตั้งแต่การขายผลงานเพื่อมอบเป็นทุนการศึกษาให้เด็ก ๆ ในช่วงโศกนาฏกรรม 911 เมื่อปี 2001 ไปจนถึงการสนับสนุนการขับเคลื่อนเทคโนโลยีอย่าง VR (Virtual Reality) AR (Augmented Reality) AI (Artificial Intelligence) สำหรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และถูกเชิญไปเป็นวิทยากรหลายแห่ง เช่น โตเกียว นิวยอร์ก เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ปั่กกิ่ง ในองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งยังอยู่ในลิสต์ผู้นำระดับโลกรุ่นเยาว์ (Young Global Leader) และผู้นำด้านวัฒนธรรม (Cultural Leader) ของ the World Economic Forum summit (WEF)
เมื่อแอปพลิเคชันคลับเฮาส์เปิดตัวช่วงต้นปี 2020 ดรู คาตะโอกะ เป็นหนึ่งในสมาชิกยุคบุกเบิก เธอยังคงส่งต่อจิตวิญญาณของศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางสังคมผ่านการใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวที่มีผู้ติดตามกว่า 7 แสนคน
ในช่วงที่มีประเด็นเรื่องการปฏิบัติต่อชาวเอเชีย การสร้างความเกลียดชัง รวมทั้งอาชญากรรมต่าง ๆ คาตะโอกะตัดสินใจใช้พื้นที่ในคลับเฮาส์เปิดวงสนทนาเกี่ยวกับชาวอเมริกันสัญชาติเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นอัตลักษณ์ อาชญากรรมที่เกิดขึ้น และการเหมารวมเรื่องเชื้อชาติ
ครั้งหนึ่งเธอร่วมมือกับ ดอกเตอร์เบอร์นิซ คิง (Dr. Bernice King) ซีอีโอของ The King Center ระดมทุนกว่า 1 แสนดอลลาร์ในห้องคลับเฮาส์ให้กับ แคมเปญ#StopAsianHate และ #24HoursofLove เพื่อสนับสนุนความยุติธรรมและความเป็นธรรมทางเชื้อชาติ รวมทั้งระดมทุนให้กับสหพันธ์เอเชียนอเมริกันผ่านแคมเปญ#StopAsianHate ไปกว่า 9 หมื่นดอลลาร์ หรือประมาณ 2 ล้านบาท นอกจากนี้เธอยังมีส่วนสำคัญในการโน้มน้าวและเรียกร้องให้คลับเฮาส์พัฒนาฟีเจอร์ที่ออกมารองรับผู้ใช้งานที่อยากจะบริจาคเงินเพื่อการกุศลและองค์กรไม่แสวงผลกำไร
คาตาโอกะมองว่า ในช่วง 15 ปีที่แล้วผู้คนยังเดียงสาต่อโลกโซเชียลมีเดีย เพราะทุกอย่างเพิ่งจะเริ่มต้น แต่ไม่นานมานี้หลายคนอาจจะเริ่มเห็นว่า การใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ จะพาไปสู่หนทางอันแสนมืดมิดหรือเปี่ยมไปด้วยความหวังนั้นขึ้นอยู่กับผู้ใช้งาน ดังนั้น การที่เธอได้เป็นไอคอนคลับเฮาส์ครั้งนี้ เธอตั้งใจที่จะใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวพาผู้คนก้าวไปสู่ความหวังและการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น อย่างที่เธอกล่าวไว้ว่า “ความหวังของฉันคือการทำงานร่วมกันเพื่อช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก”
นับว่าดรู คาตะโอกะ เป็นอีกหนึ่งคนที่น่าจับตามองทั้งในแง่แวดวงศิลปะและการเคลื่อนไหวทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นเตือนให้ผู้คนตระหนักในเรื่อง #StopAsianHate และเรื่องอื่น ๆ ในอนาคต ขณะเดียวกันก็น่าติดตามว่าหลังจากนี้คลับเฮาส์จะเลือกภาพใครมาเป็นไอคอนของแอปพลิเคชัน เพราะสิ่งที่สะท้อนผ่านไอคอนนั้นมีมากกว่าเรื่องราวของตัวบุคคล แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่า สังคมกำลังให้ความสนใจเรื่องไหนและโลกกำลังเปลี่ยนแปลง (ในทิศทางที่ดีขึ้น) อย่างไรบ้าง
ที่มา
https://www.drue.net/about-drue
https://www.forbes.com/sites/meimeifox/2021/04/25/clubhouse-selects-asian-american-artist-and-activist-drue-kataoka-as-its-latest-icon/?sh=64b1470c6144
https://www.worth.com/eventuser/drue-kataoka/
https://www.bbcnews24.com.bd/en/2021/04/26/drue-kataoka-clubhouse-logo-changed/
https://en.wikipedia.org/wiki/Drue_Kataoka
ที่มาภาพ https://twitter.com/DrueKataoka/status/1386418691043041282/photo/2