มาลาลา ยูซัฟไซ: เด็กสาวเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ผู้ถูกริบสิทธิการศึกษาด้วยกระบอกปืน
เช้าวันหนึ่งในเดือนตุลาคม ปี 2012 สองสมาชิกกลุ่มตาลีบันสวมหน้ากากปิดบังใบหน้า ก้าวขึ้นรถโรงเรียนแล้วเอ่ยถามเด็ก ๆ
“ใครชื่อมาลาลา?”
ทันทีที่รู้ตำแหน่งเป้าหมาย เขาหันกระบอกปืนไปยังทิศนั้นแล้วลั่นไกอย่างไม่ปรานี
นี่คือสิ่งที่ มาลาลา ยูซัฟไซ (Malala Yousafzai) เด็กหญิงวัย 15 ปีต้องแลก เพียงเพราะเธอลุกขึ้นมาทวงคืนสิทธิการศึกษาให้เด็กผู้หญิงในปากีสถาน
หากกระสุนปืนในครั้งนั้นไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเด็กและสตรีของเธอได้ จนกระทั่งปี 2014 มาลาลา ยูซัฟไซ ได้กลายเป็นผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่อายุน้อยที่สุดในโลก
ลูกสาวของนักเคลื่อนไหวด้านการศึกษา
“การต้อนรับลูกสาวไม่เคยนำมาซึ่งการเฉลิมฉลองในปากีสถาน แต่ ไซอุดดิน ยูซัฟไซ (Ziauddin Yousafzai) พ่อของฉันตั้งใจที่จะมอบทุกโอกาสที่เด็กผู้ชายจะได้รับให้กับฉัน”
มาลาลา ยูซัฟไซ เกิดวันที่ 12 กรกฎาคม 1997 ในมินโกรา (Mingora) เมืองใหญ่ที่สุดในสวัตวัลเลย์ ( Swat Valley) ซึ่งปัจจุบันคือแคว้นไคเบอร์ปัคตูนควา (Khyber Pakhtunkhwa) ของปากีสถาน
มาลาลาเป็นลูกสาวคนโตของ ทอร์ ปีไค ยูซัฟไซ (Tor Pekai Yousafzai) และ ไซอุดดิน ยูซัฟไซ นักเคลื่อนไหวผู้อุทิศตนให้การศึกษา และเป็นเจ้าของสถานศึกษาเอกชนในปากีสถาน
เมื่อครั้งยังเด็ก มาลาลามักจะเดินเตาะแตะตามบิดาเข้าไปในโรงเรียน เธอใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่ในแวดวงการศึกษาตั้งแต่จำความได้ จนกระทั่งอายุ 10 ปี สวัตวัลเลย์ถูกควบคุมโดยกลุ่มหัวรุนแรงตาลีบัน (Taliban) พวกเขาริบเอาสิทธิที่ทุกคนพึงมี ไม่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรี การดูโทรทัศน์ ไปจนถึงสิทธิการศึกษา เด็กผู้หญิงถูกสั่งห้ามไม่ให้ไปโรงเรียน และในปี 2008 กลุ่มตาลีบันได้ทำลายโรงเรียนไปกว่าสี่ร้อยแห่ง ทั้งยังบังคับให้ทำตามกฎที่เขียนขึ้นมาใหม่พร้อมบทลงโทษที่รุนแรง ทว่าเด็กหญิงและพ่อกลับยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิที่ถูกริดรอนไป
“กลุ่มตาลีบันกล้าเอาสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างการศึกษาของฉันไปได้อย่างไร?”
มาลาลาเอ่ยประโยคนี้ผ่านโทรทัศน์ของปากีสถานอย่างเปิดเผย และต่อมาในปี 2009 เธอเริ่มเขียนบล็อกโดยใช้นามแฝงว่า ‘กุล มาไค’ (Gul Makai) ในเว็บไซต์ภาษาอูรดู (Urdu) ของ BBC ก่อนถูกแปลและเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ
มาลาลาบอกเล่าเรื่องราวในบล็อกตั้งแต่ความปรารถนาที่จะไปโรงเรียน ชีวิตในแต่ละวันที่ถูกบังคับให้อยู่แต่ในบ้าน ฝันร้ายและความหวาดกลัวหากก้าวเท้าออกจากบ้านไปยังโรงเรียน ทุกตัวอักษรถูกถ่ายทอดออกมาด้วยความกลัวของเด็กสาว หากแฝงไปด้วยความกล้าหาญจากจิตวิญญาณของนักเคลื่อนไหว นอกจากนี้เธอยังใช้โซเชียลมีเดียกระจายข่าวสารและแคมเปญต่างๆ ต่อสาธารณชนเพื่อเรียกร้องให้เด็กหญิงในปากีสถานได้กลับไปเรียนในโรงเรียนได้ตามปกติ
การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้มาลาลาและพ่อเริ่มเป็นที่รู้จักทั่วปากีสถาน เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล The International Children’s Peace Prize ในปี 2011 และได้รับรางวัล Pakistan’s National Youth Peace Prize ในปีเดียวกัน
แม้ว่าเสียงเล็ก ๆ ของมาลาลาจะถูกรับฟังจากคนจำนวนมาก หากบ้านเกิดของเธอยังคงถูกปกคลุมด้วยบรรยากาศตึงเครียด เพราะกลุ่มตาลีบันไม่แม้แต่จะโอบรับข้อเรียกร้องและการรณรงค์ของเธอ
ริบสิทธิการศึกษาด้วยกระบอกปืน แต่ทวงคืนด้วยปลายปากกา
ยิ่งเสียงดังขึ้นเท่าไร เธอยิ่งเสี่ยงชีวิตมากขึ้นเท่านั้น…
ตุลาคม 2012 กลุ่มตาลีบันเลือกใช้กระสุนเพื่อกลบเสียงเรียกร้องของเธอ มาลาลาถูกยิงเข้าที่ศีรษะฝั่งซ้าย เธอถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลทหารของปากีสถานในเมืองเปชวาร์ (Peshawar) และอีกสี่วันต่อมา เธอถูกส่งตัวไปยังหอผู้ป่วยหนักในเบอร์มิงแฮม (Birmingham) ประเทศอังกฤษ
แม้ว่าเธอจะต้องผ่าตัดหลายครั้งและรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลายวัน แต่โชคดีที่สมองส่วนสำคัญไม่ได้รับความเสียหาย โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้คนทั่วโลกหันมาให้ความสนใจและออกมาให้กำลังใจมาลาลา
“ตอนนั้นฉันรู้ว่ามีทางเลือกคือ ฉันสามารถใช้ชีวิตที่เงียบสงบต่อไป หรือใช้ชีวิตใหม่นี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ฉันตัดสินใจที่จะสู้ต่อไป จนกว่าเด็กผู้หญิงทุกคนจะได้ไปโรงเรียน”
กระสุนในครั้งนั้นไม่ได้ทำให้เธอหวาดหวั่น หากแต่ลบความกลัว ความสิ้นหวัง และความอ่อนแอในตัวเธอจนหมดสิ้น ทั้งยังปลุกความกล้าหาญและทำให้เสียงของเธอก้องกังวานมากไปกว่าเดิม
ในปี 2013 มาลาลาในวัย 16 ปีตีพิมพ์หนังสืออัตชีวประวัติที่ชื่อว่า I Am Malala: The Girl Who Stand Up for Education and Was Shot by the Taliban และในปีเดียวกันนั้นเธอได้รับรางวัล Sakharov Prize สำหรับการต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพทางความคิด
ต่อมาเธอเดินทางไปยังจอร์แดนเพื่อพบผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย เดินทางไปเยือนเคนยาเพื่อพบเหล่านักเรียนหญิง และเดินทางไปในตอนเหนือของไนจีเรีย เพื่อกล่าวให้กำลังใจเด็ก ๆ ที่ถูกลักพาตัวไปเมื่อต้นปีโดยกลุ่มโบโก ฮาราม (Boko Haram) ผู้ก่อการร้ายที่พยายามจะกีดกันเด็กผู้หญิงออกจากโลกการศึกษาเช่นเดียวกับกลุ่มตาลีบันในประเทศของเธอ นอกจากนี้ มาลาลาและบิดายังได้ร่วมกันก่อตั้ง Malala Fund องค์กรการกุศลที่อุทิศตนเพื่อให้เด็กผู้หญิงทุกคนมีโอกาสทางการศึกษา
การเคลื่อนไหวที่ไม่หยุดยั้งนี้ทำให้มาลาลาในวัย 17 ปีได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2014 และเธอคือผู้คว้ารางวัลโนเบลที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมา หากแต่เธอกล่าวหลังได้รับรางวัลว่า
“รางวัลนี้ไม่ได้มีไว้สำหรับฉันเท่านั้น แต่มีไว้สำหรับเด็กผู้ถูกลืมที่ต้องการการศึกษา สำหรับเด็กผู้หวาดกลัวที่ต้องการสันติภาพ และสำหรับเด็กผู้ไร้สุ้มเสียงที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง”
เธอใช้ชื่อเสียงจากการคว้ารางวัลโนเบลในครั้งนี้เพื่อประกาศจุดยืน และรณรงค์ให้ผู้คนหันมาสนใจกับประเด็นสิทธิมนุษยชนทั่วโลกผ่านกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทุนจาก Malala Fund เปิดโรงเรียนสตรีในเลบานอนสำหรับผู้ลี้ภัยจากสงครามกลางเมืองในซีเรีย การเผยแพร่เรื่องราวของเธอทั้งก่อนและหลังการถูกยิงในสารคดีเรื่อง He Named Me Malala (2015) และการถ่ายทอดเบื้องหลังการต่อสู้ด้วยปลายปากกาออกมาเป็นหนังสือ Malala’s Magic Pencil ในปี 2017
“ฉันบอกเล่าเรื่องราวของฉัน ไม่ใช่เพราะว่ามันไม่เหมือนใคร แต่เพราะมันเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเด็กผู้หญิงอีกหลายคน”
ปัจจุบัน มาลาลาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) สาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ เธอยังคงใช้ปลายปากกาและวาจาของเธอในการทวงคืนสิทธิด้านการศึกษาและด้านอื่น ๆ ให้กับเด็กและสตรีทั่วโลก
ที่มา
คอนเทนต์นี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ 'THE PEOPLE เรื่องเล่า 'คน' เปลี่ยนโลก' หนังสือเล่มแรกของเพจ The People ผลงานของสำนักพิมพ์ Loupe Editions
'THE PEOPLE เรื่องเล่า 'คน' เปลี่ยนโลก' หนังสือรวมบทความว่าด้วยเรื่องราวและผลงานความสำเร็จของ 20 บุคคลที่ส่งผลกระทบและเปลี่ยนโฉมหน้าโลกไปในทิศทางต่าง ๆ ที่ถูกคัดสรรและเขียนขึ้นมาใหม่โดยทีมนักเขียน The People
? สั่งซื้อหนังสือได้ที่ https://store.minimore.com/loupe/items/the-people
? พิเศษ! สั่งซื้อวันนี้จนถึง 25 เม.ย. 2564 จาก 215.- ลด 15% เหลือ 183.-