โคชิ คาวาจิ : ศิลปินชาวญี่ปุ่นผู้แกะสลักพระพุทธรูปเป็นขนมกินได้
Umaibō (うまい棒) คือขนมข้าวโพดอบกรอบแบบแท่งอันแสนโปรดปรานของชาวญี่ปุ่นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ด้วยราคาที่จับต้องได้และหาซื้อได้ทั่วไป
วันหนึ่งในปี 2008 ‘โคชิ คาวาจิ’ (Koshi Kawachi) ศิลปินร่วมสมัยแดนอาทิตย์อุทัยได้นำ Umaibō กว่า 107 ชิ้นมาแกะสลักเป็นรูปใบหน้าของพระพุทธเจ้า พร้อมจัดวางเรียงรายเป็นชั้น ๆ ราวกับพีระมิด แล้วตั้งชื่อผลงานชิ้นนี้ว่า ‘Tasty Buddha’ ทำให้หลายสื่อทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศให้ความสนใจกับศิลปะกินได้ชิ้นนี้อยู่ไม่น้อย
โคชิ คาวาจิ ลงหลักปักฐานวัยทำงานอยู่ในโตเกียว เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนาโงยะ (Nagoya University of Arts) เริ่มงานในออฟฟิศจากการออกแบบปกหนังสือ ซีดี โฆษณาต่าง ๆ ก่อนจะออกมาทำสตูดิโอของตัวเอง แต่แล้ววันหนึ่ง...เขาได้รับรู้ข่าวแสนสะเทือนใจว่า คุณปู่ของเขาได้จากโลกใบนี้ไปอย่างไม่หวนกลับ การสูญเสียคนที่รักและใกล้ชิดกับตนเอง ทำให้เขาเริ่มรู้สึกถึงความเปราะบางและตระหนักได้ว่าลมหายใจมีวันหมดอายุ
นั่นคือช่วงเวลาที่โปรเจกต์ ‘Tasty Buddha’ เริ่มต้นขึ้น
“ผมตระหนักได้ว่ามนุษย์ต้องสิ้นอายุขัยในสักวัน และผมอยากจะเปลี่ยนความเศร้าโศกออกมาเป็นศิลปะ” ในงานศพของคุณปู่ เขาตระหนักได้ว่าทุกวันอันแสนธรรมดานั้นมีคุณค่า คาวาจิจึงแสดงความรู้สึกนี้ออกมาผ่านการใช้ Umaibō ขนมสุดฮิตหาซื้อได้ทั่วไป เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตธรรมสามัญในแต่ละวัน อีกทั้ง ‘ขนม’ ยังแสดงถึงความเป็นมิตร (friendly) และเข้าถึงง่ายมากว่าการแกะสลักด้วยไม้ หิน หรือเหล็ก
ส่วนลักษณะของรูปปั้น คาวาจิได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของพระ Enkū (円空) ในยุคเอโดะ (Edo period) ผู้แกะสลักพระพุทธรูปจากตอไม้หรือเศษไม้กว่าหนึ่งแสนชิ้น ซึ่งต่อมา Enkū ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในประติมากรที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น
“ระหว่างการเดินทางเพื่อฝึกปฏิบัติธรรม Enku แกะสลักพระพุทธรูปเพื่อขอบคุณผู้คนที่ช่วยเหลือเขา โดยปกติแล้วพระพุทธรูปของ Enku หลายองค์มักถูกใช้เป็นของเล่นสำหรับเด็กมากกว่าถูกดัดแปลงหรือทำลาย ผมรู้สึกประทับใจกับพระพุทธรูปที่เป็นมิตรเช่นนี้มากกว่าแบบอื่น ๆ ขณะที่ Enku แกะสลักพระพุทธรูปด้วย 'แท่งไม้' ซึ่งกลายเป็นของเล่นสำหรับเด็ก ๆ ผมได้แกะสลักรูปพระพุทธรูปโดยใช้ ‘แท่งขนม’ คือ Umaibo ซึ่งเป็นของว่างสุดโปรดของเด็ก ๆ” คาวาจิให้สัมภาษณ์กับ Shift Magazine ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2010
ผลงานการแกะสลัก ‘Tasty Buddha’ จำนวน 107 ชิ้น มีที่มาจากความเชื่อทางพุทธศาสนาว่า ความปรารถนาทางโลกหรือตัณหามีทั้งหมด 108 อย่าง โดยสาเหตุที่หายไป 1 ชิ้นนั้น คาวาอิเคยบอกกับ The Japan Times เมื่อปี 2013 ว่า เขาพยามสร้างสรรค์ชิ้นสุดท้าย (ชิ้นที่ 108) แต่ก็ยอมแพ้ต่อความโลภของตนเอง แล้วลงเอยด้วยการกินชิ้นสุดท้ายนั้น Tasty Buddha จึงเหลือเพียง 107 ชิ้นนั่นเอง
แม้จะต้องการถ่ายทอดความเศร้า แต่คาวาจิกลับบอกว่า “ผมอยากให้ผู้คนเพลิดเพลินไปกับงานของผมในแบบที่พวกเขาต้องการ” เพราะการตีความหมายของงานศิลปะเป็นสิทธิและอิสระของผู้ชมทุกคน โดยงานชิ้นนี้เคยถูกจัดแสดงอยู่ที่ pARa:siTe ในเมือง คานาซาวะ (Kanazawa) ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2010
นอกจากการนำพระพุทธรูปมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะกินได้แล้ว ในแง่การท่องเที่ยว เมืองคามาคุระ (Kamakura) ประเทศญี่ปุ่น ยังมีคาเฟ่ Kannon Coffee Kamakura ที่เสิร์ฟเมนูเครปรูปพระไดบุทสึรสอร่อย จนนักท่องเที่ยวจำนวนมากแวะเวียนไปอุดหนุนหลังจากเยี่ยมชมพระใหญ่ไดบุทสึ (Daibutsu) ที่วัด Kōtoku-in
นับว่าผลงานของคาวาจิและเครปพระไดบุทสึเป็นตัวอย่างของการผสมผสานศิลปะ ศาสนา วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวได้อย่าง ‘ร่วมสมัย’ และ ‘สร้างสรรค์’ ทั้งยังทำให้ศาสนากลายเป็นเรื่องใกล้ตัวและเข้าถึงง่ายสำหรับทุกเพศทุกวัยในยุคสมัยนี้อีกด้วย
ชมผลการงานแกะสลักของโคชิ คาวาจิได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=9RPocKv1unI
ที่มา
http://www.shift.jp.org/en/archives/2010/03/koshi_kawachi.html#:~:text=Koshi%20Kawachi%20is%20an%20artist,are%20familiar%20to%20the%20Japanese
https://en.wikipedia.org/wiki/Enk%C5%AB
https://www.japantimes.co.jp/news/2013/09/19/national/buddha-sculpted-out-of-kids-snacks/
https://kiji.life/kannon-coffee-kamakura/
ที่มาภาพ
Kyodo News / Getty Images
https://www.facebook.com/koshi.kawachi/photos_albums