‘เอ็ดเวิร์ด ธอร์นไดค์’ กับปรากฏการณ์ ‘Halo Effect’ ที่อธิบายว่าทำไมคนที่ใช่ ทำอะไรก็ไม่ผิด ?
“Don’t judge a book by its cover.”
“คนที่ใช่ ทำอะไรก็ไม่ผิด”
“หน้าตาก็ดี ไม่คิดว่าจะใจร้าย”
เคยสงสัยไหมว่าเหตุใดบางครั้งมนุษย์จึง ‘ปักใจ’ หรือ ‘คาดหวัง’ ว่าคนที่ชอบ เชียร์ หรือประทับใจแต่แรกพบจะมีด้านอื่น ๆ ที่ดีตามไปด้วย ราวกับแปะป้ายคำว่า ‘คนนี้ดี’ เอาไว้ไม่ค่อยอยากจะเปลี่ยนใจไปมองมุมอื่น
ในปี 1920 นักจิตวิทยานามว่า ‘เอ็ดเวิร์ด ธอร์นไดค์’ (Edward Thorndike) ได้ตั้งคำถามเหล่านี้เช่นเดียวกัน เขาจึงทำการทดลองพร้อมอธิบายปรากฏการณ์ที่เข้าข่าย ‘คนที่ใช่ ทำอะไรก็ไม่ผิด’ นี้ด้วยคำว่า ‘Halo Effect’
เอ็ดเวิร์ด ธอร์นไดค์ กับการทดลองประเมินลูกน้อง
ในปี 1920 ธอร์นไดค์เริ่มทำการทดลองหนึ่งโดยขอให้ผู้บังคับบัญชาประเมินทหารของพวกเขา ทั้งด้านสติปัญญา ด้านความเป็นผู้นำ ด้านลักษณะภายนอก เช่น เสียง พละกำลัง ความอดทน และด้านคุณสมบัติส่วนบุคคล เช่น ความภักดี ความไม่เห็นแก่ตัว ความร่วมมือ โดยห้ามพูดคุยกับทหารแต่ละคนที่ถูกประเมิน
ความน่าสนใจคือ ธอร์นไดค์พบว่า ความดึงดูดใจ (attractiveness) และลักษณะภายนอกของบุคคลนั้น ๆ เช่น ความสูง มีอิทธิพลต่อการประเมินด้านอื่น ๆ ไปในทิศทางเดียวกัน เรียกง่าย ๆ ว่า คนที่มีคะแนนคุณลักษณะภายนอกสูงก็จะมีคะแนนในด้านอื่น ๆ เช่น สติปัญญา ความเป็นผู้นำ สูงตามไปด้วย
นั่นแสดงว่ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะนำลักษณะเด่นอย่างหนึ่งมาสร้างมุมมองต่อบุคลิกภาพหรือลักษณะโดยรวมของบุคคลนั้น ซึ่งธอร์นไดค์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘Halo Effect’ แม้เขาจะไม่ใช่คนแรกที่พูดถึงคำนี้ แต่เขาก็ถูกจดจำในฐานะคนที่อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวพร้อมหลักฐานเชิงประจักษ์คนแรก ๆ โดยใช้คำว่า ‘the halo error’ อย่างเป็นทางการ ในบทความ ‘A Constant Error in Psychological Ratings’ เมื่อปี 1920
'Halo Effect' รัศมีความดีงาม
คำว่า ‘halo’ มาจากแนวคิดทางศาสนาที่กล่าวถึงรัศมีวงกลมส่องสว่างเหนือศีรษะหรือรอบศีรษะของนักบุญและบุคคลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมักปรากฏในภาพวาดยุคกลางและยุคเรเนสซองส์ แสดงถึงความโดดเด่นหรือรัศมีความศักดิ์สิทธิ์ของบุคคลนั้น ๆ กลายเป็นที่มาของชื่อปรากฏการณ์ Halo Effect ที่ใช้อธิบายเหตุการณ์เมื่อเรานำข้อดี ‘บางอย่าง’ ของคนคนนั้นมาสรุปว่าเขาเป็นคนดี หรือมีข้อดีด้านอื่น ๆ (ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน) ตามไปด้วย เช่น เมื่อได้พูดคุยกับคนที่เป็นมิตร แล้วคิดว่าคนคนนี้น่าจะเป็นคนเก่ง ใจกว้างและมีน้ำใจ ทั้งที่ยังไม่เคยมีเหตุการณ์หรือหลักฐานสนับสนุนคุณสมบัติเหล่านั้นเลย
เดิมทีธอร์นไดค์จะใช้คำนี้เพื่อกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้คนเท่านั้น แต่ในเวลาต่อมามีคนพูดถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวในแวดวงอื่น ๆ เช่น การดูโฆษณาสินค้าที่พรีเซนเตอร์มีชื่อเสียง แล้วคิดว่าสินค้าชนิดนี้คุณภาพดี ทั้งที่ยังไม่ได้ดูส่วนประกอบ วัตถุดิบ หรือรีวิวจากผู้ใช้งานคนอื่น ๆ เป็นต้น
คำอธิบายของการ ‘ด่วนสรุป’ ดังกล่าวคือ มนุษย์มีแนวโน้มจะหาอะไรมา ‘ยืนยัน’ หรือมองหาสิ่งที่ ‘สอดคล้อง’ กับความเชื่อหรือความคิดเดิมของตัวเอง มากกว่าสิ่งที่ขัดแย้งกับเรื่องที่ ‘ปักใจ’ เชื่อไปแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกตึงเครียด อึดอัด หรือไม่สบายใจ (ในทางจิตวิทยาเรียกกระบวนการเหล่านี้ว่า cognitive dissonance หรือ ความไม่คล้องจองของปัญญา)
นอกจากการทดลองของธอร์นไดค์แล้ว ได้มีคนทำการทดลองลักษณะคล้ายกันเพื่อยืนยันปรากฏการณ์ดังกล่าว อย่างโซโลมอน แอสช์ ก็เคยศึกษาเรื่องนี้ในมุมของ first impression เมื่อปี 1946 โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองอ่านคำอธิบายคุณลักษณะของคนคนหนึ่ง ซึ่งชุดคำอธิบายทั้งสองแบบนั้นเหมือนกัน แต่มีการเรียงคำแตกต่างกัน
กลุ่มแรกจะได้อ่านคุณสมบัติทางบวกไล่เลียงไปหาคุณสมบัติทางลบ ส่วนกลุ่มที่สองจะได้อ่านคุณสมบัติทางลบไล่เลียงไปหาคุณสมบัติทางบวก ผลปรากฏว่า เมื่อนำเสนอคุณสมบัติเชิงบวกก่อน คนจะประเมินและให้คะแนนความประทับใจต่อคนคนนั้น มากกว่าการนำเสนอคุณสมบัติเชิงลบขึ้นมาก่อน ดังนั้นความประทับใจแรกพบ หรือ first impression จึงมีอิทธิพลต่อการมองภาพรวมของคนคนหนึ่งมากกว่าความประทับใจที่เกิดขึ้นทีหลังหรืออยู่ด้วยกันมาพักหนึ่งแล้ว
เรื่องราวการทดลองทั้งหมดและปรากฏการณ์ Halo Effect นี้ทำให้เราได้ลองย้อนกลับมาทบทวนและตั้งคำถามกับตัวเองว่า มุมมองที่เรามีต่อสิ่งต่าง ๆ มาจากการใช้เหตุและผลพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว หรือมาจากปรากฏการณ์ Halo Effect เพราะสิ่งต่าง ๆ ล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย คนที่ใช่ก็อาจจะทำผิดได้ในบางครั้ง หรือคนที่ไม่ชอบก็อาจจะมีข้อดีบางอย่างเช่นเดียวกัน ดังนั้นเราไม่อาจสรุปสิ่งต่าง ๆ จากคุณสมบัติเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับประโยคที่พูดง่าย (แต่ค่อนข้างจะทำยาก) ในตอนต้นของบทความที่ว่า ‘Don’t judge a book by its cover’
ที่มา
https://www.simplypsychology.org/halo-effect.html
https://www.britannica.com/science/halo-effect
https://www.idealrole.com/blog/halo-effect.html
https://smarterlifebypsychology.com/2019/05/10/cognitive-dissonance/#:~:text=ทฤษฎีความไม่คล้องจองของ,ลดความไม่สบายใจนั้น