เนวิน ชิดชอบ จาก “นักเลงเซราะกราว” สู่ผู้มากบารมี

เนวิน ชิดชอบ จาก “นักเลงเซราะกราว” สู่ผู้มากบารมี

เนวิน ชิดชอบ จาก “นักเลงเซราะกราว” สู่ผู้มากบารมี

30 ปีที่แล้ว ชมทุ่งรีสอร์ต คลับ คาราโอเกะ ริมถนนประโคนชัย-บุรีรัมย์ ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ 5 กิโลเมตร ธงสีเหลืองปลิวไสว รถแห่ป้ายหาเสียงเปิดเพลง “เนวิน เนวิน เนวิน” ดังครึกครื้น นี่คือกองบัญชาการเลือกตั้งของพรรคเอกภาพ บุรีรัมย์ เลือกตั้ง 2 ก.ค.2538 กว่าที่ “ชัย ชิดชอบ” จะพาลูกชาย “เนวิน ชิดชอบ” ตระเวนหาพรรคสังกัดได้ ก็เลือดตาแทบกระเด็น โชคดีที่ “ไชยยศ สะสมทรัพย์” หัวหน้าพรรคเอกภาพสมัยนั้น เปิดประตูต้อนรับ นักข่าวสมัยนั้น ยังจำภาพเนวินพาคู่ชีวิต “ต่าย-กรุณา” ไปรอพบ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” ที่สำนักงานพรรคมวลชน ตรงข้ามห้างพาต้า ปิ่นเกล้า เพื่อเจรจาความเรื่องขอนำทีมนักการเมืองบุรีรัมย์เข้าสังกัดพรรคมวลชน รออยู่ครึ่งค่อนวัน ร.ต.อ.เฉลิมก็ไม่มาพบ เนวินจดจำภาพความตกต่ำในชีวิตการเมือง พ.ศ.2538 ได้เป็นอย่างดี ถูกถากถางจากคอลัมนิสต์ นสพ.หัวสี ทั้ง “ไอ้ขันปากบาน” , “ยี้ห้อยร้อยยี่สิบ” และ “ชื่อพม่า หน้าลาว เว้าเขมร” ทั้งที่เขามีชื่อเล่นว่า “เป็ด” เสียง “ยี้” ดังก้องในหมู่คนชั้นกลาง บวกกับวีรกรรมของเนวิน และมิตรสหายในนามกลุ่ม 16 เป็นแรงบันดาลใจให้นักวิชาการคุณภาพ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ บัญญัติศัพท์การเมือง “ระบอบยียาธิปไตย” ขึ้นมา เนวินปิดการรับรู้ทุกกระแสข่าวจากเมืองหลวง เขาตัดสินใจนำภรรยาคนใหม่ “กรุณา สุภา” นักเรียนนอก ลูกสาวพ่อเลี้ยงคะแนน สุภา เจ้าของบริษัท เชียงใหม่คอนสตรั๊คชั่น จำกัด ลงสนามด้วย โดยเนวินมอบให้ภรรยาผู้ใหญ่บ้าน-กำนัน ในเครือข่ายของเขาเป็นพี่เลี้ยงพาสาวนักเรียนนอกออกหาเสียง แต่เช้าจรดค่ำของทุกวัน เนวินพาภรรยา “ต่าย กรุณา” และเพื่อนรัก “กำนันเม้ง” ประสิทธิ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ออกหาเสียงไปทั่ว 700 หมู่บ้าน 5 ตำบล ในพื้นที่ 5 อำเภอของเขตเลือกตั้งที่ 1 ปรากฏว่า ชาวบุรีรัมย์เทใจเลือกเนวินมากกว่า 1 แสนคะแนน รองลงมาคือ ภรรยาก็เกือบแสนคะแนน และกำนันเม้ง 8 หมื่นคะแนน ชัยชนะฝ่ากระแสยี้ของเนวิน ลบคำติฉินนินทาไปได้ระดับหนึ่ง ทำให้ บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยเวลานั้น รับตระกูล “ชิดชอบ” กลับเข้าพรรคในช่วงเลือกตั้ง 2544 ชื่อ “เนวิน” ถูกตั้งขึ้นตามชื่อนายพลเนวิน ผู้นำทหารพม่า ที่เป็นนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาลเมื่อปลายปี 2501 พอดิบพอดีกับเนวินลืมตามองโลก ซึ่งบิดา-กำนันชัยประทับใจมาก ชัย ชิดชอบ เป็นชาวสุรินทร์โดยกำเนิด ย้ายมาตั้งรกรากที่บุรีรัมย์ในปี 2505 ได้รับเลือกตั้งเป็นกำนันตำบลอีสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ กำนันชัยเล่นการเมืองท้องถิ่นอยู่ระยะหนึ่ง จึงลงสมัคร ส.ส.ไม่สังกัดพรรค และได้เป็น ส.ส.สมัยแรกปี 2512 จากนั้นกำนันชัยลงทุนทำธุรกิจโรงโม่หิน ชื่อ “โรงโม่หินศิลาชัย” ตอนที่กำนันชัยเป็น ส.ส. เนวินเรียนอยู่ชั้นประถม 7 โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม ก่อนที่จะเดินทางไปเรียน ม.ศ.1-5 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เนวินชอบเล่นฟุตบอล ซึ่งการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวง เนวินมีอันจะต้องย้ายที่พักอยู่ทุกปี เป็นเด็กวัดสามปลื้ม แถวจักรวรรดิ์ ก่อนจะถูกส่งไปอยู่หอพักแถวเทเวศร์ และไปอยู่โรงแรมสหายสหกิจแถวหัวลำโพงอยู่หลายปี กำนันชัยลงสมัคร ส.ส.ปี 2518 พ่ายกระแสเงิน จึงเรียกตัวลูกชายกลับคืนบุรีรัมย์ เพราะทางบ้านมีปัญหาขาดคนดูแลธุรกิจ รวมถึงพฤติกรรมบางด้านในช่วงวัยคะนองของลูกชายด้วย ฉากชีวิตวัยรุ่นของ “เป็ด” หรือเนวิน โลดโผนไม่แพ้เรื่องเล่าของลูกผู้ชายชื่อ แดง ไบเล่ย์ หรือจอร์จ เฮาดี้ กำนันชัยนำเนวินไปฝากฝังกินนอนอยู่บ้านนายตำรวจใหญ่ให้ช่วยดูแล เขาคลุกคลีตีโมงอยู่กับตำรวจโรงพักบุรีรัมย์ ติดสอยห้อยตามไปทุกที่ ตั้งด่านตรวจ ลาดตระเวน และยามที่มีการจับกุมผู้ต้องหา เขาทำตัวราวกับว่าเป็นตำรวจเสียเอง ภาพจำของหลายคน ที่เคยเห็นเนวินในบทบาทนักการเมือง กล้าได้กล้าเสีย มีบุคลิกนักเลงบ้านนอก ล้วนมีที่มาจากประสบการณ์ห้าวเป้งในช่วงชีวิตวัยรุ่นทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ความเป็นลูกชายผู้แทนฯ ส่งผลให้เนวินกลายเป็น “ผู้นำ” หรือหัวหน้ากลุ่มชื่อ "สิงห์ทอง" ซึ่งเนวินกับเพื่อนๆ ร่วมกันตั้งขึ้นมา เพื่อความสะใจในการสำแดงพลังหนุ่ม และท้าทายสังคม ครั้งที่เนวินจัดสนาม Castle 12 ให้ไบค์บอยประลองความเร็ว พูดภาษาบ้านบ้าน เปิดสนามให้เด็กแว้น เนวินให้สัมภาษณ์สื่อว่า "เราก็เคยเป็นเด็กมาก่อน ชื่นชอบการขับมอเตอร์ไซค์ พอเราโตขึ้นเห็นเด็กๆ ที่มีใจรักในความเร็ว อยากที่จะแสดงออก อยากโชว์ของ อยากจะทำอะไรตามที่ฮอร์โมนหลั่งออกมา ก็คิดว่าไม่เสียหาย" องค์กรสิงห์ทองของเนวินทำอะไร? ตอบสั้นๆคือ แว้นป่วนเมือง ตามที่เนวินเล่าวีรกรรมในอดีตให้ฟังข้างต้น แต่อีกด้านหนึ่ง การที่มีเพื่อนเยอะ กลายเป็น “ต้นทุนการเมือง” ของเขา เมื่อกลุ่มสิงห์ทองประสาคนเซราะกราว ได้แปรสภาพเป็นกลุ่มเพื่อนเนวิน องค์กรทางการเมืองระดับท้องถิ่น สมัยที่เป็น ส.ส. หลังพฤษภาทมิฬ เนวินแวะเวียนไปที่กองบรรณาธิการผู้จัดการรายวัน ตรอกโรงไหมอยู่บ่อยๆ เพื่อขอความรู้เรื่องการเงิน-การลงทุนจากบรรณาธิการข่าวการเงิน เนวินจึงให้สัมภาษณ์นิตยสารผู้จัดการ (ฉบับกันยายน 2538) เกี่ยวกับเส้นทางการเมืองในวัยหนุ่มฉกรรจ์ "ผมมีพรรคพวกเพื่อนฝูงมาก วันแรกที่ลงสมัคร ส.จ. ผมมีเพื่อนเป็นกำนันทั้งหมด 10 กว่าตำบล เราเกาะกลุ่มกันในฐานะคนหนุ่มสาวมาตั้งแต่เด็ก เรามีกลุ่มของเราตั้งขึ้นมาทำงานด้านการเมือง ใครลงเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านเราก็ลงไปช่วยกัน เราทำโครงข่ายการเมืองในพื้นที่เพื่อรองรับสิ่งเหล่านี้ เราตกลงกันในกลุ่มว่า เราจะรวมกันเหมือนปิระมิด วันนี้หากผมมีคุณสมบัติที่เหมาะสมผมก็ควรจะอยู่ตรงยอดนั้น แต่วันใดคนในกลุ่มมีคุณสมบัติพร้อมกว่าผม ผมก็พร้อมจะลงมาเป็นฐาน นั่นคือข้อตกลง" 1 ใน 10 กำนันกลุ่มเพื่อนเนวินคือ “กำนันเม้ง” ประสิทธิ์ ตั้งศรีเกียรติกุล เพื่อนสนิทแต่วัยเด็ก และมีศักด์เป็นญาติทางมารดา-ละออง ชิดชอบ เนวินลงสมัคร ส.จ.บุรีรัมย์ ปี 2528 ในวันที่กำนันชัยเป็น ส.ส.บุรีรัมย์ สมัยที่ 2 สังกัดพรรคสหประชาธิปไตย ของ พ.อ.พล เริงประเสริฐวิทย์ คนหิ้วกระเป๋าให้ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา อดีต ผบ.ทบ. ดังนั้น เมื่อเนวินเป็น ส.จ.สมัยแรก ก็ทะยานขึ้นเป็นประธานสภา ส.จ.บุรีรัมย์ ตามแรงหนุนของกำนันชัย และได้ชื่อว่า ประธาน ส.จ.อายุน้อยที่สุดในประเทศไทย ตอนนั้นเขาอายุ 27 ปี "ผมเป็นประธานสภาจังหวัดใหม่ๆ เกิดภัยแล้งสามปีติดต่อกัน ระหว่างปี 2529-2531 ชาวบ้านอดอยากมาก ตอนนั้นรัฐบาลพลเอกเปรม ผมเคยยื่นหนังสือขอให้ท่านช่วยเหลือ ก็เลยมานั่งคิดกันในกลุ่มว่า เราควรจะทำอย่างไร ก็เลยประชุมกันแล้วจัดโครงการ “ข้าวหนึ่งขัน ฉันช่วยเธอ” โดยเรารวมกับพวก ส.จ. และคนหนุ่มสาวเดินขอข้าวจากคนบุรีรัมย์ในอำเภอที่ไม่มีปัญหาภัยแล้ง" ก่อนที่เนวินจะลงสมัคร ส.ส.สมัยแรก กำนันชัยนำเนวินไปฝากเนื้อฝากตัวกับ “ดอกเตอร์แมลง” ดร.อนุวรรตน์ วัฒนพงษ์ศิริ เพื่อก้าวขึ้นสู่นักการเมืองระดับชาติ เพราะเวลานั้น กำนันชัยลง ส.ส. สอบตกมากกว่าสอบได้ แต่ ดร.อนุวรรตน์ เป็น ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคชาติไทยมาแต่ปี 2519 มีฐานเสียงในเขต อ.เมืองบุรีรัมย์ นี่เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ของ “อากับหลาน” ในทางการเมือง เพราะ ดร.อนุวรรตน์เอง ก็เชื่อว่าเนวินจะเป็นผู้สานต่อเจตนารมณ์ทางการเมืองให้ตนได้ เนวินลงสมัคร ส.ส.สังกัดพรรคสหประชาธิปไตยร่วมกับบิดา แต่ก็ถือว่าเป็น “ทีมดอกเตอร์แมลง” และได้เป็น ส.ส.เขต 1 บุรีรัมย์ ปี 2531 ส่วนกำนันชัยพลาดท่าปราชัยที่เขต 3 บุรีรัมย์ เหตุที่กำนันชัย ต้องไปสมัคร ส.ส.เขต 3 (อ.สตึก อ.พุทธไธสง และ อ.ลำปลายมาศ) เพราะมีฟาร์มกุ้งก้ามกรามอยู่ที่ อ.สตึก เนื้อที่ฟาร์มกว้างใหญ่ 400 ไร่ ส่วนธุรกิจโรงโม่หินศิลาชัย 1 ของกำนันชัย และโรงโม่หินศิลาชัย 2 อยู่ภายใต้การดูแลของเนวิน อยู่ในพื้นที่ อ.เมืองบุรีรัมย์ และ อ.ประโคนชัย ระหว่างเป็น ส.ส. เนวินได้ถือโอกาสต่อเติมวิทยฐานะจาก ม.ศ.5 โดยเข้าเรียนเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ที่วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ หลักสูตร กศ.บป. สาขาวิชาพัฒนาชุมชน นับว่าเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนให้กับเนวินอย่างมาก เพราะมีเพื่อนร่วมรุ่นหลายคนจบไปเป็นพัฒนากร และเป็นหัวคะแนนให้เขาในเวลาต่อมา นอกจากนั้น เนวินเป็นคนใจกว้าง ใจนักเลง เพื่อนนักศึกษาคนไหนเดือดร้อนเรื่องเงินทอง เนวินก็จะให้การช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ เลือกตั้ง 22 มี.ค.2535 กำนันชัยและเนวิน พร้อมกับ ดร.อนุวรรตน์ ย้ายมาสังกัดพรรคสามัคคีธรรม โดยดร.อนุวรรตน์ กับเนวิน สอบได้ที่เขต 1 แต่กำนันชัยยังสอบตกที่ เขต 3 กระทั่งเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง 13 ก.ย.2535 ตระกูลชิดชอบกับ “ดร.แมลง” สวมเสื้อพรรคชาติไทยลงสนาม ครั้งนี้กำนันชัยชนะเลือกตั้งเป็น ส.ส.อีกสมัย ได้เข้าสภาฯ พร้อมลูกชายหัวแก้วหัวแหวนเป็นครั้งแรก ต้นปี 2536 ส.ส.อีสานกลุ่มหนึ่งนัดรวมพลก่อตั้ง “กลุ่ม ส.ส.อีสานเพื่อการพัฒนา” และเนวินเป็น 1 ใน 8 ผู้ก่อการ แต่หลังจากนั้น เนวินก็ปลีกตัวออกจากกลุ่มผู้แทนฯ ที่ราบสูง เขาเดินเข้าไปพูดคุยกับ ไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ เจ้าพ่อบ้านฉาง บ่อยครั้งในฐานะสปอนเซอร์รายใหญ่ของ “กลุ่ม 16” เวลานั้น เนวินเปลี่ยนไป เขาปรับลุคการแต่งตัวใหม่ สลัดภาพ “นักเลงเซราะกราว” คนบุรีรัมย์แอบมองบทบาทของเนวินคราวนั้นว่า ผิดหูผิดตาจากสมัยเป็น ส.จ. การอภิปรายในสภาฯ มีลูกล่อลูกชน มีจังหวะจะโคน รวมทั้งมีการศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ เนื่องจากเนวินได้ลงทุนจ้างทีมงานศึกษาข้อมูลให้ความรู้ในทุกเรื่องที่เขาจะต้องเกี่ยวข้อง ถือว่าเป็นการวางแผนที่สมบูรณ์แบบและอย่างได้ผลที่สุด เมื่อเร็วๆนี้ คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ชื่อดังสรุปว่า เนวินเป็นนักการเมืองรุ่นกลาง ที่มีบทบาททางการเมืองต่อเนื่องมากว่า 30 ปีแล้ว จัดเป็นนักการเมืองที่เฉลียวฉลาด มีความคิดริเริ่ม และมีระบบความคิดที่มุ่งมั่นให้สิ่งที่คิดอ่านนั้น บังเกิดผลสำเร็จ ใครจะเชื่อว่า เมื่อปี 2538 ช่วงที่เนวินรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง กำนันชัยพูดเสียงดังว่า เนวิน ชิดชอบ จะเป็น “นายกรัฐมนตรี” ของประเทศไทย เหมือนชวน หลีกภัย วันนี้ เนวินคงไม่คิดฝันจะเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะสิ่งที่เขาเป็นอยู่ตอนนี้ ดูจะใหญ่กว่าการเป็นผู้นำรัฐบาลเสียอีก ความเป็นนักพัฒนาที่มากบารมี ชื่อ “เนวิน” มาไกลมาก จนคนเจเนอเรชั่นใหม่ลืมไปแล้วว่าครั้งหนึ่ง เนวินคือตัวแทนของระบอบยียาธิปไตย   เรื่อง: ชน บทจร