บทสัมภาษณ์ โดม ปกรณ์ ลัม: ล้มได้ก็ลุกได้ เรื่องราวของชายผู้หลงใหลในเสียงดนตรี techno วันที่สอบตกและหมดไฟ สู่การลุกขึ้นสู้ใหม่อีกครั้ง

บทสัมภาษณ์ โดม ปกรณ์ ลัม: ล้มได้ก็ลุกได้ เรื่องราวของชายผู้หลงใหลในเสียงดนตรี techno วันที่สอบตกและหมดไฟ สู่การลุกขึ้นสู้ใหม่อีกครั้ง
"เพลงผมที่เอาไปให้เขาฟังมันคือเพลง techno ซึ่งทุกคนฟังแล้วก็เหมือนทุกคนส่ายหัวว่าเพลงนี้มันขายไม่ได้ในเมืองไทย มันไม่มีทางจะขายได้เลยในวันที่ RS ทำเพลงแบบ teen pop แบบในยุคนั้น" “มันก็เป็นงานที่ทำมา 4-5 ปี แล้วอยู่ดี ๆ มันไปไม่ถึงฝั่งฝัน แล้วมันก็ต้องจบ ตอนนั้นดิ่งเหมือนกัน แล้วก็ไม่ทำอะไรเลย ผมหายไปจากเพลงเลย ผมไม่อยากแม้แต่ฟังเพลงด้วยซ้ำ” เริ่มต้นจากการเข้าวงการด้วยโฆษณาเด็กตอน 2 ขวบ สู่เจ้าของฉายาหล่ออมตะผู้มีผลงานมากมายทั้งดนตรีและงานแสดง แต่ ‘รากฐาน’ ของชายคนนี้คือ ‘เสียงเพลง’ นับจากวันที่รู้จักเครื่องเล่นแผ่นเสียงและดนตรีแนว ‘techno’ ก่อนถูกแมวมองชวนให้เข้าสังกัด RS และกลายเป็นศิลปิน teen pop ชื่อดังคนหนึ่งของไทย โดยมีผลงานเพลงที่เป็นที่รู้จักอย่าง ‘ยิ่งรักเธอ’ พบกับบทสัมภาษณ์ที่เต็มไปด้วย passion ทางดนตรี ตั้งแต่ 25 ปีก่อนที่เมืองไทยยังไม่รู้จักเพลง ‘techno’ ความผิดหวังจากการเปิดค่ายเพลงของตัวเอง จนไม่อยากฟังเพลงอีกต่อไป และลุกขึ้นสู้ครั้งใหม่ของ โดม ปกรณ์ ลัม นักร้อง - นักแสดง - โปรดิวเซอร์ดนตรี ที่เชื่อว่า “เพลงยังไงก็เพราะ”   The People: เล่าย้อนอดีตของคุณสักหน่อย เข้าวงการบันเทิงและวงการดนตรีได้อย่างไร โดม: เป็นสองพาร์ทครับ พาร์ทแรกเป็นวงการบันเทิงก่อน เข้ามาจริง ๆ ตั้งแต่ประมาณ 2 ขวบ คือเราเริ่มจากงานโฆษณา มันก็เหมือนกับแบบของเด็กอ่อนน้อย ๆ คนหนึ่งที่ตอนนั้นเริ่มจากงานโฆษณาผ้าอ้อม โฆษณานมผง เท่าที่ผมถามเหตุผลคุณแม่จะเล่าว่าเราไม่ค่อยร้อง ไม่ค่อยงอแงเวลาเจอคน เจอไฟ หรือว่าร้อน ๆ ซึ่งแบบเด็กตอนนั้นก็ยังไม่เยอะ เราก็มีโอกาสได้ถ่ายแบบโฆษณาอยู่ร่วมร้อยชิ้นครับ ตั้งแต่ประมาณ 2 ขวบยาวมาเรื่อยเลยจนถึง 4 ขวบ หนึ่งในนั้นมันมีโฆษณาเด่น ๆ อยู่หลายตัวเหมือนกันที่ทำให้ผ่านตาของทั้งผู้กำกับภาพยนตร์หรือว่าผู้จัดละคร มีโฆษณาหนังสือพิมพ์อันหนึ่งที่ค่อนข้างจะเป็นกระแสอยู่ โฆษณาแยมสตรอว์เบอร์รี หรือนมผง เลยเป็นที่มาของการได้ไปเล่นละครช่อง 3  จำได้ว่าละครเรื่องแรกตอนนั้นเล่นอายุประมาณ 4-5 ขวบ เล่นเป็นลูก เรื่องความรักสีขาว หลังจากนั้นก็มีโอกาสเล่นหนังต่อเลย ด้วยวัยที่ต่อเนื่องกันมา ในวัย 5-6 ขวบ ถ่ายภาพยนตร์ พี่มาช่า วัฒนพานิชเป็นนางเอก ผมก็เล่นเป็นเด็กอยู่ในภาพยนตร์ อันนั้นคือพาร์ทแรก เหตุการณ์ที่มันเปลี่ยนผันมาคือถ่ายจนเริ่มเรียนชั้นที่สูงขึ้น การเรียนมันเข้มข้นขึ้น อาจารย์ปกครองก็ต้องเรียกคุณแม่ไปคุยว่าสรุปจะให้ลูกเรียนหนังสือหรือจะให้ลูกถ่ายอยู่ในวงการ เพราะตอนนี้ขาดเรียนเยอะมาก แล้วตอนนี้ผลการเรียนเริ่มตกลง กลัวจะเป็นปัญหาตอนจบ ป.6 ต้องเข้า ม.1 ต้องมีการสอบกัน ต้องเตรียมตัว ตอนนั้นแน่นอนคุณแม่ก็ชัดเจนว่าต้องเลือกเรียน ทำให้ผมหายไปเลยจากงานวงการบันเทิงในพาร์ทแรกของชีวิต กลับมาอีกทีหนึ่งสอบ ม.1 อะไรเรียบร้อย อยู่ประมาณ ม.2 ก็เริ่มกลับมาเป็นงานถ่ายแบบนิตยสารวัยรุ่น บทสัมภาษณ์ โดม ปกรณ์ ลัม: ล้มได้ก็ลุกได้ เรื่องราวของชายผู้หลงใหลในเสียงดนตรี techno วันที่สอบตกและหมดไฟ สู่การลุกขึ้นสู้ใหม่อีกครั้ง เป็นนายแบบวัยรุ่น ถ่ายโฆษณาเสื้อผ้า ถ่ายแบบเสื้อผ้าลงแมกกาซีน แต่จุดที่มาเปลี่ยนจริง ๆ คือตอนที่ผมอายุประมาณ 15 ย่าง 16 ครับ ตอนนั้นเราเริ่มสนใจดนตรี ดนตรีที่เราสนใจตอนนั้นมันมาในรูปแบบของการเป็นดีเจ ผมมีเพื่อนที่สนิทมากเลยเรียนมัธยมฯ ต้นด้วยกัน เกเรมาก โดนพ่อแม่ส่งไปเรียนนิวซีแลนด์ ตั้งแต่ ม.3 ม.2 นี่จะโดนหมดสิทธิ์สอบแล้วพ่อแม่ก็เลยส่งไปดัดนิสัยอยู่ที่นิวซีแลนด์ซะเลย พอจบ ม.3 กลับมาปิดเทอม ไอ้นี่ก็แสบเหมือนเดิม ก็บอกว่า เฮ้ย! กูบอกแม่กูว่ากูกลับอาทิตย์หน้าว่ะ แต่กูกลับมาก่อน กูอยู่บ้านมึงได้ปะ เฮ้ย! ได้เลย มันสนิทกันมากไง มาก่อน ๆ ก็ไปอยู่ที่บ้าน เขากลับมาด้วยเครื่อง turntable แบกมาใส่กระเป๋าเหมือนกระเป๋ากีฬาใหญ่ ๆ เลย มี turn สองตัว ซึ่งสมัยนั้นมันคือเครื่องเล่นแผ่นเสียงหนัก ๆ เลย ไม่ใช่ซีดี แล้วก็มีมิกเซอร์ หนึ่งอาทิตย์ก็คือมันมาก ไม่หลับไม่นอน เพราะมันเปิดโลกใหม่ของเรามาก มีแผ่นเสียง เล่นกันทั้งวันทั้งคืน ดุเดือดมาก รู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เราชอบ เพื่อนกลับ คราวนี้เริ่มอยากเล่น มันคันมากเลย แม่ซื้อให้หน่อย เราก็ไปขอคุณแม่ ซึ่งตอนนั้นอุปกรณ์พวกนี้แพงมาก ผมจำได้เลยตอนนั้นทั้งเซตเป็นเงินประมาณ 70,000 ก็ยี่สิบกว่าปีที่แล้ว 70,000 บาทนี่แพงมาก แม่เห็นราคาตกใจบอก เฮ้ย! เป็นเด็กอยู่แค่ ม.3 ม.4 มาซื้อของอะไรอย่างนี้ไม่ได้ ต้องมีวาระหน่อย ไปเรียนมาให้ดี ต้องมีผลส่งผลสอบตามสไตล์ผู้ปกครอง บวกกับตอนนั้นสอบปิดเทอมคาบเกี่ยววันเกิดเราพอดี ก็เลยคะแนนถึงด้วย บวกไปเลยวันเกิดด้วย คุณแม่ก็เลยซื้อให้ วันเกิดอายุ 16 คุณแม่ซื้อ turntable กับ mixer ให้ คราวนี้คุณแม่บอกไม่รู้ฉันตัดสินใจผิดหรือเปล่า วัน ๆ ไม่ทำอะไรเลย อยู่ในห้องแล้วมีแต่เสียง ตึบ ๆ ๆ  ตอนนั้นวัฒนธรรมในฝั่งพวกออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หรือยุโรป เพลงที่ฟังคือ techno ครับ แผ่นที่เราเปิดคือ techno อย่างเดียว เราเล่นเพลง techno เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว ซึ่งไม่มีคนฟังในเมืองไทย สมัยก่อนไม่มีร้านแผ่นเสียงในเมืองไทย ผมต้องไปเสาะแสวงหา มีร้านที่ใกล้สุดในเมืองไทยคือที่ฮ่องกง เราต้องอีเมลไปสั่งซื้อ สุ่มซื้อ ปกสวย เพราะแน่เลย ซื้อ หลัง ๆ เริ่มสนิทกับพนักงานก็มีการอีเมลบอก เราชอบเพลงแบบนี้ เราชอบ label นี้จากการลองผิดลองถูกของครั้งก่อน ๆ จนเรารู้ว่า label นี้มันดี สั่งมาครั้งหนึ่งค่าส่งแพงเพราะแผ่นเสียงน้ำหนักมันเยอะ สั่งที 50 แผ่น ค่าส่ง 15 กิโลฯ มาห้าสิบโดนอยู่สิบ โดนอยู่สิบสาม ที่เหลือทำยังไง แผ่นเริ่มเต็มบ้านไม่ได้เล่น ไม่ได้ใช้ ทำยังไง คุณแม่ก็เริ่มกดดัน สิ้นเปลืองมาก สั่งทีสองสามหมื่นไม่ได้เป็นประโยชน์ เราคิดว่าเราต้องหาเงินจากตรงนี้ให้ได้ในอายุประมาณ 17 แต่ก่อนกฎหมายในการอายุไม่ถึงแล้วไปเข้าผับไม่มี อายุเท่าไรก็เข้าได้ ผมเริ่มฝึกวิชาอยู่ประมาณปีหนึ่ง เริ่มรู้ว่าคลับไหนในเมืองไทยที่เล่นเพลงแนวนี้บ้าง ซึ่งมีน้อยมาก มีอยู่ประมาณสองคลับ หนึ่งในนั้นคือที่สุขุมวิท เราก็ไปเฝ้ารอ เขามาจากอังกฤษ ซึ่งคนนี้เก่งมาก แล้วเขาจะมีแผ่นอัปเดตมาก ๆ เราไปรอแผ่นตกสต็อกของเขาเพื่อขอซื้อต่อ จำได้ว่าประมาณปีกว่า ๆ วันนั้นแหละผมจะออกไปเล่น ก็ไปเดินหาที่เล่น เริ่มจากเล่นฟรีจนเริ่มได้เงินบ้าง ได้เป็นเปอร์เซ็นต์บ้าง ไม่ได้เงินเป็นค่าตัว คืนนี้ร้านได้เท่าไรร้านปัดให้นะ สิบเปอร์เซ็นต์ สิบห้าเปอร์เซ็นต์ เป็นแบบนั้น มัน underground มาก เริ่มมีคลับที่เปิดเพลงแบบนี้เพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย จนแมวมองของบริษัท RS เขาไปเที่ยวคลับที่เราเปิดเพลงอยู่ แล้วด้วย look เราสมัยนั้น เอาตรง ๆ ก็กวน ก็ซ่า ๆ แล้วก็เปิดเพลงแบบนี้ มันอาจจะน้อยที่ตอนนั้นวัยรุ่นเป็นแบบนั้น ก็เลยมีการติดต่อมาว่าให้เข้าไปแคสต์ ไปเทสต์ที่ RS โดยที่เราก็ยังงง ๆ อยู่เลยว่าเราชอบดนตรีนะ แต่ดนตรีที่เราชอบมันไม่ใช่ดนตรีของคนร้องเพลง ให้ผมร้องเพลงเหรอพี่ ผมร้องไม่เป็นนะ อยู่ดี ๆ ก็ได้เซ็นสัญญา ด้วยโชคชะตาลิขิตหรืออะไรก็ไม่รู้ พอเซ็นสัญญาทุก ๆ คนก็ทำงานกับเราเต็มที่เลย อยู่ดี ๆ ก็มีเปรี้ยง! เป็น schedule ออกมาว่าอีก 3 เดือนอัลบั้มต้องวาง ผมก็เดี๋ยว ๆ 3 เดือนจริงเหรอพี่ ผมจำได้ว่าผมเรียนร้องเพลงกับครูแหม่ม พัชริดา ผมเรียนอยู่ประมาณ 3 ที จะให้ผมร้องเพลงเหรอ ตอนนั้นก็มีทีมงานเข้ามาเยอะมาก มี creative group head เข้ามา เหมือนมา brainstorm กัน คนหนึ่งทำภาพ คนหนึ่งทำเรื่องของการแต่งกาย คนหนึ่งวางคอนเซปต์ เป็นกรุ๊ปประมาณ 10 คน มาดูดเอาข้อมูลเราทั้งหมดว่าเราคิดอะไร ชอบอะ ฟังเพลงแบบไหน ปัญหามันอยู่ตรงนี้ เพลงผมที่เอาไปให้เขาฟังมันคือเพลง techno ซึ่งทุกคนฟังก็แบบทุกคนส่ายหัวว่าเพลงแบบนี้มันขายไม่ได้ในเมืองไทย มันไม่มีทางจะขายได้เลยในวันที่ RS ทำเพลงแบบ teen pop แบบในยุคนั้น แต่สุดท้าย end up มา เราก็ออกอัลบั้มแรก แล้วก็มีเพลง ยิ่งรักเธอ เป็นเพลงเปิดตัว แล้วก็เป็นเพลงที่เป็นที่รู้จักของคนฟัง ก็เหมือนกับเป็นอัลบั้มแจ้งเกิดแล้วก็เปลี่ยนชีวิตเรา จากเด็กคนหนึ่งที่เราชอบเรื่องที่มันค่อนข้างจะส่วนตัวมาก วัน ๆ ตอนนั้นที่ผมทำคือ เรียน เล่นสเก็ตบอร์ด ดีเจ ผมทำอยู่ประมาณสามสิ่งนี้ อยู่ดี ๆ ผมต้องแบกภาระกลายมาเป็น pop idol ด้วยวัย 16-17 ตอนนั้นมันก็รู้สึกเซอร์ไพรส์เหมือนกัน แต่มันก็เป็นประตูที่ทำให้เรารู้สึกว่า เราได้โอกาสในสิ่งที่เราชอบ ถึงแม้ว่าแน่นอน ผมต้องขอบคุณทีมงาน RS ทุกคนที่พยายาม blend เอาสิ่งที่มันเป็นผมกับความที่มันเป็นตลาดเข้าไป ถึงแม้ว่ามันจะยังไม่ได้เข้มข้น แต่ผมมองย้อนกลับไป ผม happy กับงานในชุดแรกและทุก ๆ ชุดที่ผ่านมากับทางทีมงาน ณ ตอนนั้น ทุกคนก็พยายาม blend เรื่องการตลาด กับ personal ของผมด้วย บทสัมภาษณ์ โดม ปกรณ์ ลัม: ล้มได้ก็ลุกได้ เรื่องราวของชายผู้หลงใหลในเสียงดนตรี techno วันที่สอบตกและหมดไฟ สู่การลุกขึ้นสู้ใหม่อีกครั้ง The People: เริ่มจากการเป็นดีเจเปิดแผ่น จับพลัดจับผลูมาเป็นนักร้อง แล้วจุดไหนที่ทำให้คุณเริ่มแต่งเพลง ทำเพลงด้วยตัวเอง โดม: จุดเปลี่ยนมันเริ่มมาจากเราเริ่มมีเวลาให้กับเพื่อนในวัยเดียวกับเราน้อยลง เราต้องออกไปทำงานเยอะมาก ชุดแรกผมทัวร์คอนเสิร์ตประมาณสามร้อยกว่าโชว์ กินนอนบนรถตู้ ทำให้เราอยู่กับทีมงาน อยู่กับนักดนตรี อยู่กับ producer มากกว่าอยู่กับเพื่อน สิ่งที่เราเห็นคือพี่ ๆ ทำงานในห้องอัด เรารู้สึกว่ามันก็สนุกดี คุยถูกคอ มันก็ผู้ชาย ๆ คุยกันสนุก เราก็ชอบ hang out กับพี่เขา ก็เริ่มบอกว่าพี่สอนผมหน่อยดิว่าทำยังไง เห็นเขาอยู่กับอุปกรณ์กับเครื่อง เขาก็เริ่มสอน มันมีความเกี่ยวโยงกับเรื่องดีเจที่ผมชอบอยู่แล้ว มันเป็น know-how มันลึกเข้าไปอีก จากการที่เราแค่ mix เพลง คราวนี้เราสร้างมันขึ้นมา เราเริ่มรู้สึกว่าเราอยากทำมัน ชุด 3 ผมยกตำแหน่งจากการที่เราร้องอย่างเดียวมาเป็น co-producer album เราได้มีการทำเพลงแล้วก็ได้ออก หลาย ๆ เพลงในชุด 3 เป็นเพลงที่เราทำ เรียบเรียงบ้าง ทำทำนองบ้าง สนุกมาก ผลงานที่เราตั้งใจ ที่เราไปเรียนรู้ในช่วง 3 ปีที่เราก้าวเข้ามา ผู้ใหญ่ก็ให้โอกาส เราก็ยิ่งเข้มข้นกับมันขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มศึกษาข้อมูลลึกขึ้น เริ่มไปเรียน ไปลงคอร์สต่าง ๆ ในตอนนั้นยังไม่มีเอกดนตรีที่เป็น engineer แต่มีสถาบันบางที่ที่มีบุคลากรที่ set up ขึ้นมา ผมก็ไปลงเรียน จนชุดที่ 4 ก็ได้โอกาส ผู้ใหญ่เขาบอกมันมีสปอนเซอร์โทรฯ มานะ จะมาสปอนเซอร์แล้วมันเป็นการสปอนเซอร์อัลบั้มด้วย ยังไม่บอก product อะไร แต่ว่าต้องทำอัลบั้มใหม่ เราก็ยกมือเลย ผมขอเป็น producer ครับ ตอนนั้นยังไม่ได้รู้เลยว่าจะอะไรยังไงต่อ ได้ แต่มาอีกแล้วครับ ต้องเสร็จ 3 เดือนนะ 3 เดือนเหรอเฮีย ตอนนั้นก็ตกปากรับคำ ก็ใจมันจะเอาแล้ว เอาครับ ได้ ก็ลุยกัน ตั้งแต่ชุดที่ 3 เราเริ่มดึงเอาเพื่อน ๆ เราสมัยเรียนตั้งแต่มัธยมฯ มาเล่นดนตรีด้วย มาเป็น back up ในวง เราเริ่มดึงเพื่อนเราที่เล่นสเก็ตบอร์ดด้วยกันที่มี skill ดนตรีมาอยู่ด้วยกัน พอเล่นด้วยกันไม่พอก็คิดงานด้วยกันด้วย มี 3 คนมาขลุกกันอยู่ในสตูดิโอ ก็อยู่กันอย่างนั้น ลุยกัน 2 เดือน จนคลอดออกมาเป็นอัลบั้มชุดที่ 4 ‘naked’ ที่มีเพลงพวก ผ่าเหล่า เวลา ก็เป็นอัลบั้มที่คนจำได้ เป็นอัลบั้มแรกในฐานะ producer   The People: อะไรที่ทำให้โดมตัดสินใจย้ายค่าย จาก RS สู่ GRAMMY โดม: พอผมจบ ม.6 ผมดร็อปเลย ผมไม่ต่อมหาวิทยาลัย ตอนนั้นงานเยอะมาก อัลบั้มไหนพีค ๆ หน่อยก็ต้องมีสามร้อยโชว์ สองร้อยต้องมี เพราะว่าสมัยก่อนนักร้องไม่เยอะด้วยในวงการ เราก็ตัดสินใจว่าเราไม่ต่อ เราดร็อปไว้ก่อน เพื่อนอยู่ปี 3 เพื่อนจะเรียนจบแล้ว เรายังไม่มีอะไรเลย วุฒิ ม.6 เรารู้สึกว่าไม่ได้แล้ว เราต้องเบรกตัวเอง เพราะไม่งั้นก็จะไปเรื่อย ๆ ตัดสินใจบอกผู้ใหญ่ว่าเราอยากเบรกไว้ก่อน เราอยากไปเรียน เราจะเรียนเกี่ยวกับดนตรี เกี่ยวกับ production ในเพลง ตัดสินใจบินไปเรียนที่ซาน ฟรานซิสโก ประมาณ 3 ปีครึ่ง เรียนปริญญาตรี sound engineer ระหว่างนั้นก็บินไป ๆ มา ๆ รับงานที่ไทย เขานัดให้มาลงเสียงที่สตูดิโอที่เอกมัย ใช้ชื่อว่า smallroom ตอนนั้น smallroom ยังไม่เป็นค่ายเพลง เป็น house ทำเพลงโฆษณาเป็นหลัก ผมไปก็เจอพี่รุ่ง ก็คุยกันว่าเห้ย! กำลังมีแพลนที่จะทำซีดีเปิดค่ายชื่อ smallroom 001 มีการติดต่อคุยกับพี่รุ่งมาตลอด ในที่สุดพี่รุ่งก็ชวนว่า มาทำด้วยกันดิ ก็เลยได้ทำเพลงกับ smallroom อยู่สองชุด ที่ทำไปด้วยในขณะเรียน ทำอยู่ในห้องนอนมีโน้ตบุ๊กตัวหนึ่งแล้วก็นั่งทำ เสร็จแล้วก็ส่งมาให้เขา master แล้วก็กลับมาถ่ายเอ็มวี ตอนนั้นก็เริ่มทำอัลบั้มของตัวเอง มีเพลงที่ผมทำส่วนตัวอยู่ที่นู่น ก็มีโอกาสได้กลับมาถ่ายแบบหนังสือ IMAGE ก็บินกลับมาเพื่อมาถ่าย ตอนนั้น IMAGE บอกว่าจะนัดให้คุยกับพี่เล็ก บุษบา ดาวเรือง เอาไหม เราก็ดีเลยพี่ เข้าไปก็ทักทาย พี่เล็กก็บอกว่า มาอยู่ด้วยกันไหม มีค่ายหนึ่งพี่ว่าน่าจะเหมาะกับโดมนะ ค่ายชื่อ มอร์มิวสิค เจ้าของคือพี่ป้อม อัสนี เราก็เฮ้ย! จริงเหรอพี่ ผมชอบมาก เพราะเราชอบซิลลี่ ฟูลส์ คือค่ายนี้มีแต่วงที่เราชอบ ตอนนั้นมีซิลลี่ ฟูลส์ แบล็กเฮด โลโซก็ยังอยู่ ได้นั่งคุยกับพี่ป้อม คุยแล้วก็สนุก เป็นผู้ใหญ่ที่เรานับถืออยู่แล้วด้วย ก็เลยได้ร่วมงานกับพี่ป้อม ตอนนั้นก็เลยกลับมาเซ็นสัญญากับ GRAMMY เป็นการย้ายบ้านแบบ official   The People: จากการเข้าวงการตั้งแต่เด็กและคลุกคลีในวงการเพลงไทยมาโดยตลอด มีเหตุการณ์ครั้งไหนที่ทำให้โดมรู้สึก lost หรือหลงทางบ้างไหม โดม: มีหลายช่วงเลย ช่วงแรกก็คือช่วงที่อัลบั้มออก บอกเลยว่าปรับตัวไม่ได้ ย้อนไปในวันที่ผมอายุ 15-16 เราเป็นเด็กนักเรียนที่ชอบเล่นสเก็ตบอร์ดแล้วก็มีดนตรี techno อยู่ในใจ ในการออกไปเปิดเพลงแบบนี้ แล้วอยู่ดี ๆ เพลงปล่อยไป เดินถนนแล้วมีคนจำได้ มันไม่ได้เป็นอาการ lost แต่เป็นอาการวางตัวไม่ถูกของเด็กคนหนึ่ง จากที่เคยมีอิสระในการใช้ชีวิตแล้วอยู่ดี ๆ ไปไหนแล้วมีคนจำได้ มีคนจับจ้อง มีข่าวเขียนลงหนังสือพิมพ์ รู้สึกว่าเราปรับตัวยากมากตอนนั้น เพราะสมัยนั้นไม่ได้มีบรรทัดฐานหรือมีแบบแผนให้เราได้ดูและศึกษาสักเท่าไร สมัยนี้เรายังมีอินเทอร์เน็ต มีไกด์ไลน์ แต่สมัยนั้นมันไม่มี สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือคุณแม่ที่คอยบอกคอยสอน คอยเปลี่ยน attitude ของผม ว่าเฮ้ย! เราโตแล้ว เราควรจะเป็นยังไง เราควรจะเป็นแบบไหน การวางตัวที่ดีคืออะไร เรามาอยู่ตรงนี้แล้ว เราก็ต้องมีความรับผิดชอบทั้งในเรื่องงานและรับผิดชอบต่อสังคมด้วยนะ เพราะยูอยู่ในหน้าฉาก ยูเป็นคนที่อยู่ในสื่อ จะมาทำตัวเละ ๆ เทะ ๆ มันไม่ได้ มันก็หนักเหมือนกัน จากเด็กคนหนึ่งที่มีอิสระมาก ๆ ในการจะทำอะไร แต่อยู่ดี ๆ เราต้องเข้ามาอยู่ในกรอบ ช่วงที่สองคือช่วงที่ผมออกจาก GRAMMY ย้อนไปประมาณ 10 ปีที่แล้ว มาเปิดค่ายเพลงของตัวเองว่า Iconic Records ช่วงนั้นคือบ้าพลังมาก มุ่งมั่นมาก แล้วก็ทุ่มเททุกอย่าง โดยที่ไม่สนใจเลยว่าในเชิงของธุรกิจเพลงตอนนั้นมันวิกฤตขนาดไหน มันเป็นช่วงรอยต่อของ physical platform ไปสู่ digital platform แต่มันก็ยังไม่มีใครบอกว่าแล้วคุณจะหาเงินจาก digital platform ยังไงนอกเหนือจากการแค่เอาเพลงไปแชร์แล้วก็โหลด BitTorrent กัน เพลงเป็นของฟรีเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว บทสัมภาษณ์ โดม ปกรณ์ ลัม: ล้มได้ก็ลุกได้ เรื่องราวของชายผู้หลงใหลในเสียงดนตรี techno วันที่สอบตกและหมดไฟ สู่การลุกขึ้นสู้ใหม่อีกครั้ง เราเปิดค่ายเพลงแล้วเราก็รับศิลปินมาเยอะมาก ดูแลประมาณ 60 คน สุดท้ายแล้วมันก็จบไม่สวย มันก็ไม่ได้ happy ending เราเสียใจมาก เพราะว่าเราลงแรง เราใช้ทรัพยากรชีวิตไปเยอะมาก อดหลับอดนอน ทุ่มเท อันนี้ไม่รวมทรัพยากรทรัพย์ด้วยนะ เราต้องใช้เงินทุนด้วย เพราะว่าพอเราทำหลายอย่างพร้อม ๆ กัน ขณะที่เราไม่รู้ว่า income มันจะมาทางไหน มันก็เกิดปัญหา ช่วงนั้นดิ่งมาก เราไม่สนุกกับมันแล้ว 5 ปีแรกเราสนุกกับมันมาก เราบู๊กับมันมาก เรารู้สึกว่ามันเป็นความฝันเรา คนหนึ่งที่อยู่ในวงการดนตรีมันก็อยากจะทำดนตรี เป็นไปได้ก็อยากจะส่งไม้ต่อให้น้อง ๆ หรือวงอื่นที่เราเห็นว่าเขามี potential สุดท้ายแล้วมันพลังงานชีวิตหมด ทุกอย่างหมด เป็นเรื่องของคนด้วย บริหารคนมันยากมาก ยากกว่าการบริหารองค์กร คนเป็นเรื่องที่ซับซ้อนที่สุด แล้วพอบริหารคนแล้ว พอมันจบกันไม่สวย มันก็มีเรื่องที่บาดหมางกัน หันไปทางไหนมันก็ไม่สนุกแล้ว เราก็ประกาศว่าเราอยากจะหยุดมัน เป็นงานที่ทำมา 4-5 ปีแล้วอยู่ดี ๆ มันไปไม่ถึงฝั่งฝัน แล้วมันต้องจบ ก็เครียด แล้วก็ไม่ทำอะไรเลย ผมหายไปจากเพลงเลย ผมไม่อยากแม้แต่ฟังเพลงด้วยซ้ำตอนนั้น ฟังเพลงไม่เพราะ เรื่องเข้าห้องอัดทำเพลงไม่ต้องพูดเลย ไม่ทำอยู่แล้ว 29:14 ไม่ฟังเพลง ไม่อะไรเลย จากคนที่อยู่กับเพลง อัปเดตเพลงตลอด ไม่รับงานเพลงด้วย ก็หันไปเข้าป่า ไปขี่จักรยานเสือภูเขา ไปทำอะไรที่มันปลีกวิเวกไปเลย ต้องการอยู่กับตัวเอง เฟลอะ เขาเรียกเฟล   The People: หลังจากความผิดหวังครั้งนั้น คุณกลับมารักเสียงเพลงอีกครั้งได้อย่างไร โดม: เรามาจากเพลงอยู่แล้ว แต่ว่าเราอาจจะมาผิดที่ผิดเวลา ณ วันนั้น ที่เรามาทำค่ายเพลงที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันเฟล แต่จริง ๆ แล้วเพลงยังไงก็เพราะครับ เพลงยังไงมันก็ส่งผลต่ออารมณ์ของเราอยู่แล้ว เราหนีไปไม่ได้ เพลงมันก็ยังอยู่กับโลกนี้อยู่แล้ว ผมเชื่อว่าความสงบที่มันเกิดขึ้นจากการที่เราใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น วัยของเราที่มันกลางคนแบบนี้มันทำให้เรานิ่งขึ้น ดิ่งไปสู่จิตใจเรามากขึ้นว่าจริง ๆ แล้วเราเป็นอะไร เราเศร้าเพราะอะไร เราหลุดออกมาจากมันได้มากขึ้น มันมีแต่เดินไปข้างหน้านะชีวิต ผมว่า แล้วการเฟลครั้งนี้ของผมมันก็ยังไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ผมอาจจะต้องเจออีกสาม 4-5 เฟลก็ได้ ตราบจนกว่าผมจะตาย ซึ่งครั้งนี้เองจะให้เราติดจมอยู่กับมันแล้วก็ดิ่งไปกับมันเลยมันเป็นไปไม่ได้ เราดิ่งมาหลายปีแล้ว เพราะฉะนั้นถึงเวลาที่ต้องกลับมาทำสิ่งที่มันเป็นแกนของเรา เรามาจากสิ่งนี้ เราโตมาจากเพลง คนรู้จักเราจากเพลง เราเรียนก็เรียนเพลง อยู่เราก็อยู่ห้องอัด กินนอนมันก็เป็นอย่างนั้น ก็เริ่มกลับมารับงานเพลง กลับมารับคอนเสิร์ตก่อน โห! มันได้ energy บวกดีมาก มันจะไม่มีงานในวงการบันเทิงเหมือนกับการเล่นคอนเสิร์ตอีกแล้วครับ คอนเสิร์ตนี่คือขอเสียงหน่อยแล้วได้เสียงกลับมานะ มันเป็น two way communication พอกลับมาแล้วสนุกครับ คนร้องเพลงเก่า ๆ เราแบบเต็มที่เลย ต้อนรับดี กลับมารับงานดีเจด้วย เพราะว่ากระแสเพลง EDM ช่วง 2-3 ปีมันกลับมามาก มันคือรูปแบบฟอร์มของ techno ในยุคนี้ คนมาเรียกเป็น EDM มันก็คือ root เดียวกันหมด ก็กลับมารับงานดีเจ โควิด-19 ทำให้เราได้อยู่บ้าน ได้อยู่กับตัวเอง พอเราแต่งงานมีภรรยามาอยู่ด้วย โควิด ภรรยาก็ดู Netflix ไป เราทำอะไรดี ก็ค้นงานเก่า ๆ เพลงเก่า ๆ มีเป็น library มีเป็นสิบเพลง บางเพลงมีแต่เรียบเรียง บางเพลงมีแต่กีตาร์ เมโลดี้ รู้สึกว่ามันเอามาปัดฝุ่นได้นะในบางเพลง เลยเป็นที่มาของการเริ่มหยิบเพลงเก่าทำเพลงใหม่ ชวนเพื่อนนักดนตรีมาอัด มันก็สนุก บรรยากาศเก่า ๆ มันกลับมาหมด ก็เลยรู้สึก เราอยากทำอัลบั้มเนอะ เลยเป็นที่มาของอัลบั้ม ‘6was9’ เราตั้งใจว่าทำเพลงให้ดีที่สุด มันก็เหมือนอาหารจานหนึ่ง ถ้าเรากินแล้วอร่อยคือสุดยอดละ อาหารจานนี้ถ้าผมให้คุณกิน คุณก็อาจจะไม่อร่อย เค็มไปพี่ มันเป็น personal test มาก แต่ท้ายที่สุดมันต้องอร่อยสำหรับเราก่อน ที่เหลือผมว่ามันเป็นสิ่งที่เรา control ไม่ได้ และถือว่าเป็น bonus สำหรับการทำเพลง   สัมภาษณ์: จิรภิญญา สมเทพ ภาพ: ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม