ชาร์ลส ไฟเซอร์ ผู้กำเนิด Pfizer จากยาถ่ายพยาธิรสหวานสู่ ‘ไวอากร้า’ และวัคซีนโควิด-19

ชาร์ลส ไฟเซอร์ ผู้กำเนิด Pfizer จากยาถ่ายพยาธิรสหวานสู่ ‘ไวอากร้า’ และวัคซีนโควิด-19

จากพ่อค้าขายของชำและลูกกวาด ‘ชาร์ลส ไฟเซอร์’ (Charles Pfizer) ได้สร้างจุดเปลี่ยนมาทำธุรกิจยาในชื่อ Pfizer เริ่มจากผลิตยาถ่ายพยาธิ และสร้างชื่อกับการผลิต ‘ไวอากร้า’ มาถึง ‘วัคซีนโควิด-19’

  • 'ชาร์ลส ไฟเซอร์' (Charles Pfizer) เป็นชาวเยอรมันในครอบครัวพ่อค้าขายของชำและลูกกวาด
  • ต่อมาเขาย้ายมาลงหลักปักฐานที่สหรัฐเอมริกา และทำธุรกิจยาชื่อ Pfizer
  • วันนี้ Pfizer กลายเป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่ โดยเป็นผู้ผลิตยาที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทั้งไวอากร้า และวัคซีนโควิด-19 เป็นต้น

สำหรับที่มาความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนคุณภาพสูงและเป็นที่ต้องการในท้องตลาดของไฟเซอร์ สามารถมองย้อนกลับไปได้ไกลถึงสมัยเริ่มก่อตั้งบริษัทเมื่อ 170 กว่าปีก่อน ภายใต้วิสัยทัศน์และปรัชญาทางธุรกิจของ 'ชาร์ลส ไฟเซอร์' (Charles Pfizer) 

จากเยอรมนีสู่นิวยอร์ก 

ชาร์ลส ไฟเซอร์ เกิดวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1824 ในเมืองลุดวิกส์บวร์ก (Ludwigsburg) ประเทศเยอรมนี ครอบครัวของเขาเป็นชนชั้นกลาง บิดามีอาชีพพ่อค้าขายของชำและลูกกวาด หลังเรียนจบภาคบังคับ ไฟเซอร์ได้เข้าศึกษาต่อทางเคมี และมีประสบการณ์ฝึกงานเป็นเภสัชกร รวมถึงเรียนรู้การบริหารธุรกิจ ก่อนตัดสินใจอพยพไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่อเมริกา 

ไฟเซอร์ ในวัย 25 ปี ออกเดินทางจากเยอรมนีมาขึ้นฝั่งที่นครนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ พร้อมกับ 'ชาร์ลส เออร์ฮาร์ต' (Charles Erhart) ลูกพี่ลูกน้องของเขา ซึ่งเชี่ยวชาญการทำลูกกวาดจากประสบการณ์ที่ได้รับในการทำงานกับพ่อของไฟเซอร์ ทั้งคู่ไม่ได้มาอเมริกาแบบตายเอาดาบหน้า แต่พวกเขามีความคิดในการทำธุรกิจอยู่ในหัวแล้ว 

โดยในปี 1849 หลังใช้เวลาสำรวจตลาดประมาณ 1 ปี ไฟเซอร์และเออร์ฮาร์ต ตัดสินใจเริ่มก่อตั้งบริษัทซึ่งเป็นต้นกำเนิดของธุรกิจยาไฟเซอร์ในปัจจุบันขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า ‘บริษัท ชาร์ลส ไฟเซอร์ แอนด์ คัมปะนี’  บริษัทแห่งนี้ตั้งขึ้นด้วยทุนเริ่มต้น 2,500 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเงินกู้ยืมจากบิดา เพื่อนำไปซื้ออาคารอิฐหลังเก่าในเขตบรุกลิน ของนครนิวยอร์ก ดัดแปลงเป็นทั้งสำนักงาน ห้องวิจัยและพัฒนา และโรงงานผลิตสินค้าในสถานที่เดียวกัน 

สินค้าตัวแรกของไฟเซอร์ คือ ยาซานโทนิน ซึ่งมีสรรพคุณฆ่าพยาธิในลำไส้ที่เป็นปัญหาใหญ่ของคนในศตวรรษที่ 19 แต่เนื่องจากยามีรสขมและต้องกินวันละ 3 ครั้งติดต่อกันหลายวัน ไฟเซอร์และเออร์ฮาร์ตจึงคิดวิธีการทำให้น่ากินด้วยการใช้ความเชี่ยวชาญของทั้งคู่ผลิตยาให้มีรสหวานคล้ายลูกกวาด ทำให้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เนื่องจากถูกอกถูกใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่

คุณภาพไฟเซอร์ 

หลังประสบความสำเร็จจากยาซานโทนิน ไฟเซอร์ตัดสินใจปรับโมเดลธุรกิจด้วยการเลิกขายยาแบบเม็ดหรือลูกอม หันไปผลิตสารเคมีบริสุทธิ์เพื่อจัดจำหน่ายทั้งแบบขายปลีกและขายส่ง เริ่มจากสารประกอบไอโอดีน ซึ่งสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาและยาฆ่าเชื้อได้หลากหลาย 

นอกจากนี้ยังมีสารเคมีอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ บอแรกซ์ (สำหรับผลิตน้ำยาทำความสะอาดและถนอมอาหาร) โพแทสเซียมไอโอไดด์ (ใช้ได้ทั้งผลิตยาและในอุตสาหกรรมถ่ายภาพ) การบูร (ใช้ได้ทั้งอุตสาหกรรมอาหารและยา) และกรดปูน (Tartaric acid ใช้ทำน้ำอัดลม ไวน์ และของหวาน) เป็นต้น ในปี 1861 - 1865 สหรัฐฯ เกิดสงครามกลางเมือง ทำให้ผลิตภัณฑ์ของไฟเซอร์ยิ่งกลายเป็นที่ต้องการของตลาด 

นอกจากนี้การตั้งกำแพงภาษีเพื่อกีดกันสินค้าจากยุโรปในช่วงเวลานั้นยิ่งช่วยลดการแข่งขันทางธุรกิจ ทำให้บริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดด แม้กิจการของไฟเซอร์จะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่บริษัทยังคงรักษาคุณภาพของสินค้าได้เป็นอย่างดี ผลิตภัณฑ์เคมีของไฟเซอร์ได้รับการยกย่องว่ามีความบริสุทธิ์และคุณภาพสูง จนคำว่า ‘คุณภาพไฟเซอร์’ (Pfizer quality) กลายเป็นคำพูดติดปากของคนในยุค 1860s นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลการันตีจากองค์กรต่าง ๆ อีกมากมาย 

สร้างเครือข่ายธุรกิจ 

นอกจากคุณภาพสินค้าแล้ว ผู้ก่อตั้งบริษัทไฟเซอร์ยังให้ความสำคัญกับการเข้าสังคม และใช้พลังของเครือข่ายทางธุรกิจในการขับเคลื่อนกิจการให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

แม้ไฟเซอร์และเออร์ฮาร์ตจะอพยพมาอเมริกา แต่เขาไม่เคยลืมบ้านเกิด และยังคงเดินทางไปมาระหว่างยุโรปกับอเมริกาเป็นประจำ ทั้งเพื่อมองหาหุ้นส่วนทางธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ส่งออกวัตถุดิบราคาถูกเพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท และเรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเคมี

ยุคนั้นอเมริกายังล้าหลังฝั่งยุโรป การสร้างเครือข่ายธุรกิจของเขาไม่ได้หยุดแค่หุ้นส่วนต่างชาติเท่านั้น ภายในสหรัฐฯ ไฟเซอร์ก็ถือเป็นผู้ที่กระตือรือร้นในการเข้าสังคม และร่วมก่อตั้งสมาคมผู้ผลิตสารเคมีแห่งชาติ โดยจับมือกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันอีก 13 บริษัท เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลยังคงกำแพงภาษีไว้หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมผลิตสารเคมีในสหรัฐฯ ยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง เนื่องจากรัฐบาลยอมทำตามข้อเรียกร้อง และคงกำแพงภาษีไว้ตลอดศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ขณะที่สมาคมผู้ผลิตสารเคมีสหรัฐฯ กลายเป็นสมาคมการค้าที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งยังคงเคลื่อนไหวจนถึงปัจจุบัน 

ไม่หยุดวิจัยและพัฒนา 

อีกหัวใจของการเติบโตของไฟเซอร์ คือการวิจัยและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง โดยในยุคของผู้ก่อตั้ง ไฟเซอร์ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง นอกจากความคิดสร้างสรรค์ในการทำยาถ่ายพยาธิเคลือบน้ำตาลเป็นสินค้าตัวแรกแล้ว กระบวนการผลิตสารเคมีบริสุทธิ์หลายตัวก็มีการปรับเปลี่ยนดัดแปลงสูตรอยู่เสมอ

ที่ชัดเจนที่สุดคือการผลิตกรดซิตริก (Citric acid) หรือกรดมะนาว เพื่อใช้ปรุงแต่งรสชาติในอุตสาหกรรมน้ำอัดลม ซึ่งช่วงเริ่มต้นในปี 1880 บริษัทนำเข้าวัตถุดิบมาจากอิตาลีและซิซิลีเป็นหลัก แต่พอเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 วัตถุดิบขาดแคลน บริษัทต้องหันมาใช้วิธีหมักน้ำตาลเพื่อสร้างกรดดังกล่าว

จนต่อมากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการหมักเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในที่สุด “เป้าหมายของเรายังคงเหมือนเดิมเสมอมา นั่นคือการหาวิธีสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงสุด ด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้บริการที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า” ไฟเซอร์กล่าวในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งบริษัทที่นครนิวยอร์ก เมื่อปี 1899 

ยุคหลังผู้ก่อตั้ง

ชาร์ลส ไฟเซอร์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 1906 จากอาการปอดบวมขณะมีอายุ 82 ปี ส่วนชาร์ลส เออร์ฮาร์ต ผู้ร่วมก่อตั้งเสียชีวิตไปก่อนในปี 1891 อย่างไรก็ตาม แม้ทั้งคู่จะไม่ได้อยู่ดูแลบริษัทแล้ว วัฒนธรรมองค์กรของไฟเซอร์ยังคงตกทอดสู่ผู้บริหารรุ่นหลังจวบจนปัจจุบัน วัฒนธรรมดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการเน้นผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ขยายเครือข่ายธุรกิจ และทุ่มเทกับงานวิจัยและพัฒนา ทำให้ต่อมาไฟเซอร์ยังคงเป็นองค์กรที่เติบโตและประสบความสำเร็จอย่างไม่หยุดยั้ง 

ในปี 1944 ไฟเซอร์กลายเป็นผู้ผลิตยาเพนิซิลลินที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นบริษัทเดียวที่ใช้เทคโนโลยีการหมักในการผลิตยาปฏิชีวนะสำหรับรักษาอาการติดเชื้อตัวแรกของโลกนี้ เพนิซิลลินได้รับการขนานนามให้เป็น ‘ยาวิเศษ’ เนื่องจากช่วยชีวิตทหารฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไว้ได้เป็นจำนวนมาก 

ปี 1998 ชื่อเสียงของไฟเซอร์ยังกระหึ่มไปทั่วโลก หลังค้นพบยาไวอากร้า (ซิลเดนาฟิล) ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ จากนั้นวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 ไฟเซอร์จับมือกับห้องทดลองไบโอเอ็นเทคในเยอรมนี ประกาศความสำเร็จในการคิดค้นวัคซีนโควิด-19 เป็นเจ้าแรกของโลก โดยใช้เวลาคิดค้นไม่ถึง 1 ปี นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ 

นอกจากนี้ยังเป็นการตอกย้ำวิสัยทัศน์และปรัชญาของผู้ก่อตั้งบริษัทได้เป็นอย่างดี เนื่องจากวัคซีนที่คนไทยเฝ้ารอนี้ เป็นวัคซีนคุณภาพดีที่สุดในท้องตลาด และมาจากเครือข่ายความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาดังเจตนารมณ์ที่ ชาร์ลส ไฟเซอร์ วางไว้ไม่ผิดเพี้ยน

.

อ้างอิง

.

immigrantentrepreneurship

pfizer