Resilient Business กลยุทธ์ธุรกิจแบบยืดหยุ่น ที่จะติดปีกให้สิงห์บินทะยานอย่างยั่งยืน
Resilience เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่หลายองค์กรได้นำมาใช้ฝ่าวิกฤตในช่วงโควิด-19 ซึ่งนิยามของ Resilience คือความยืดหยุ่นในการปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงที่ยุ่งเหยิงอันอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หรือความสามารถในการล้มแล้วลุกให้เร็วที่สุด แล้วมุ่งไปข้างหน้าสู่เป้าหมายอย่างแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม
โดย สิงห์ เอสเตท มีการนำแนวคิด Resilience มาปรับใช้อย่างน่าสนใจ ด้วยการเดินหน้าพัฒนาธุรกิจให้มีความครอบคลุมและเชื่อมโยงกันได้ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและสร้างผลตอบแทนที่ดีได้อย่างสม่ำเสมอ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยากจะคาดเดา ทั้งในประเทศและทั่วโลก
เดิมสิงห์ เอสเตท มีธุรกิจ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ประกอบไปด้วย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ พื้นที่รวม 140,000 ตารางเมตร ธุรกิจรีสอร์ตและโรงแรม 39 แห่ง ใน 5 ประเทศ มีห้องพักรวมกัน 4,647 ห้อง และ ธุรกิจโครงการที่พักอาศัย กว่า 23 โครงการ ทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบ และคอนโดมิเนียม ซึ่งในปี 2563 ทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจสามารถสร้างรายได้ในสัดส่วน 96% แต่สิงห์ เอสเตท ได้รุกกลุ่มธุรกิจที่ 4 อาทิ จะเป็นธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า ธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ธุรกิจบริการด้านวิศวกรรม และธุรกิจบริการนวัตกรรมอื่น ๆ เพื่อเป็นธุรกิจใหม่ที่เข้ามาเติมเต็มและส่งเสริมซึ่งกันและกันกับธุรกิจอื่น ๆ
ล่าสุด บมจ. สิงห์ เอสเตท (S) ได้เดินหน้าธุรกิจใหม่ ด้วยการลงนามในข้อตกลงเข้าซื้อหุ้น 100% ของบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด จากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด เป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ ตั้งอยู่ใน จังหวัดอ่างทอง บนพื้นที่กว่า 1,790 ไร่
“การซื้อนิคมอุตสาหกรรมซึ่งเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับโรงไฟฟ้าสามแห่งที่เราเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนที่มากพอสมควรนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่ง ในการเดินหน้าสู่เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของเราที่จะสร้างจุดแข็งที่ทรงพลังให้กับธุรกิจ จากการส่งเสริมซึ่งกันและกันของกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ที่หลากหลายของสิงห์ เอสเตท เพื่อทำให้เรามีความแข็งแกร่ง ในการแข่งขัน และทำให้ธุรกิจของเรามีความเป็น Resilient Business”
จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ บมจ. สิงห์ เอสเตท ได้เปิดเผยถึงการเข้าซื้อนิคมอุตสาหกรรมในครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าการโอนหุ้นระหว่างกันจะแล้วเสร็จ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564
ธุรกรรมดังกล่าวมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,421 ล้านบาท โดย 510 ล้านบาท เป็นเงินที่จ่ายเพื่อซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท ปาร์ค อินดัสตรีในราคาพาร์ ส่วนอีก 1,726 ล้านบาท เป็นเงินที่จะใช้ในการลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และอีกส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
การพัฒนาธุรกิจมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับโรงไฟฟ้าในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ Resilient Business ของสิงห์ เอสเตท จากการพัฒนาธุรกิจที่มีความหลากหลาย ซึ่งสามารถส่งเสริมกันและกันเพื่อสร้างจุดแข็งที่ทรงพลังให้กับธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
โดย ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สิงห์ เอสเตท ได้พูดถึงสิ่งที่จะได้จากการผสานธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเข้ากับธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าว่า “การรวมธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า จะช่วยสร้างประโยชน์ทั้งในด้านการเงินและการดำเนินงาน เพราะโรงไฟฟ้าทั้งสามแห่งของเราจะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ นอกจากนี้นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปอาหาร จึงมีความต้องการใช้ไอน้ำเป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถใช้ไอน้ำที่ใช้ได้จากโรงไฟฟ้าของเรา ทำให้กิจการโรงไฟฟ้าสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง และมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ลดความเสี่ยงเรื่องความไม่แน่นอนของกระแสเงินสดจากการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมได้อีกทางหนึ่ง”
นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอ่างทอง ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพราะในปี 2563 ภาคกลางมีอัตราการเข้าใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 89% เทียบกับอัตราการเข้าใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของทั้งประเทศ เฉลี่ยที่ประมาณ 80% ทำให้นอกจากความลงตัวในเชิงกลยุทธ์แล้ว การลงทุนของสิงห์ เอสเตท ในครั้งนี้ จึงมีแนวโน้มที่เป็นบวกอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการความเข้มงวดในการเดินทางหลังการคลี่คลายของวิกฤตโควิด-19 อาจส่งผลให้ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
ที่สำคัญจากข้อมูลของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพบว่า อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร เป็นหนึ่งในภาคอุตสาหรรมที่มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเข้ามาในอัตราเติบโตที่มากที่สุด เนื่องจากรัฐบาลไทยได้กำหนดนโยบายระยะยาว ในการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร โดยภาคกลางของประเทศไทยมีสัดส่วนของการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนประมาณครึ่งหนึ่งของการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดในปี 2563
“นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ ตั้งอยู่จุดยุทธศาสตร์ที่มีความเหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางห่วงโซ่อุปทานอาหารและวัตถุดิบของประเทศ ทั้งแหล่งสำคัญในการผลิตข้าว ผลิตภัณฑ์จากนม และสัตว์ปีก นอกจากนี้ ยังมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากอยู่ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศเพื่อมุ่งยกระดับประเทศไทยให้เป็นครัวของโลก และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สิงห์ เอสเตท กล่าวเพิ่มเติม
ซึ่งในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ของ บมจ. สิงห์ เอสเตท เมื่อวันศุกร์ที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นได้อนุมัติแผนการซื้อหุ้น 30% ในโรงไฟฟ้าสามแห่งที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ โดยคิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 1,392 ล้านบาท ทั้งนี้โรงไฟฟ้าแห่งแรกเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้วขนาด 123 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าแห่งที่สองและสาม เป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยมีกำหนดจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2566 มีกำลังการผลิตแห่งละ 140 เมกะวัตต์ ที่ในอนาคตจะมาช่วยเสริมความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
กลยุทธ์ Resilient ที่ใช้การพัฒนาธุรกิจที่มีความหลากหลายและสามารถส่งเสริมกันเพื่อสร้างจุดแข็งให้กับธุรกิจได้อย่างยั่งยืนนี้ จึงเหมือนกับการติดปีกให้สิงห์บินทะยานได้อย่างยั่งยืน ทำให้เดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา สิงห์ เอสเตท ประกาศเป้าหมายว่าจะดันรายได้ต่อปี ให้เพิ่มขึ้นสามเท่า เป็นประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี และภายในระยะเวลาสามปีจะมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 80,000 ล้านบาท