วินเซนโซ กาซาโน: Vincenzo มาเฟียถึงแชโบล ผู้ทำลายปีศาจด้วยความชั่วร้ายยิ่งกว่า

วินเซนโซ กาซาโน: Vincenzo มาเฟียถึงแชโบล ผู้ทำลายปีศาจด้วยความชั่วร้ายยิ่งกว่า
***บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์ Vincenzo ค.ศ. 1993 พัค จู-ฮยอน เด็กชายชาวเกาหลีวัย 8 ปี ต้องประสบเคราะห์กรรมกลายเป็นเด็กกำพร้าเนื่องด้วยมารดาของเขาถูกกระบวนการยุติธรรมเกาหลีใต้ ณ เวลานั้นตัดสินว่าฆาตกรรม CEO ของธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งในเกาหลี  มารดาของจู-ฮยอนพยายามต่อสู้แต่กลับถูกตัดสินโทษอย่างไม่เป็นธรรมโดย ‘มีธงไว้ก่อน’ ว่าเธอจะต้องพ่ายแพ้ เธอถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลากว่า 20 ปี และรอการประหาร อีกทั้งเธอยังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 3 อีกด้วย มารดาของจู-ฮยอนจึงมีความจำเป็นต้องสละสิทธิ์การเลี้ยงดูเขาให้แก่โบสถ์แห่งหนึ่ง  ไม่นานนักจู-ฮยอนถูกรับอุปการะโดยคู่แต่งงานชาวอิตาลีคู่หนึ่ง ทำให้จู-ฮยอนจำใจย้ายไปมีชีวิตใหม่ที่อิตาลี แต่เคราะห์กรรมของจู-ฮยอนก็ยังเกิดขึ้นอีก เนื่องจากพ่อแม่บุญธรรมของเขาถูกฆาตกรรม จนสุดท้ายชะตากรรมของจู-ฮยอนนำพาให้เขาได้ถูกอุปถัมภ์โดย ดอน กาซาโน หัวหน้าตระกูลมาเฟียกาซาโน ผู้ซึ่งเปลี่ยนชื่อเขาจาก พัค จู-ฮยอน เป็น วินเซนโซ กาซาโน วินเซนโซเติบโตขึ้นมาเป็นหนึ่งในมาเฟียของตระกูลกาซาโน จนก้าวขึ้นถึงตำแหน่งคอนซิเยเร (consigliere) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ตำแหน่งสูงสุดของตระกูลมาเฟีย ร่วมกับบอส หรือดอน (หัวหน้าตระกูล) และ รองบอส (รองหัวหน้า) ตำแหน่งคอนซิเยเร คือที่ปรึกษาและวางแผนการต่าง ๆ ให้แก่ตระกูล รวมถึงเป็นตัวแทนของดอนในการเจรจาธุรกิจ  ตำแหน่งคอนซิเยเรแสดงให้เห็นว่าวินเซนโซได้รับความไว้วางใจจากดอน และทำให้เขาได้รับการยอมรับอย่างมากจากสมาชิกตระกูล นอกจากนี้วินเซนโซยังได้รับฉายา ‘แมวที่อิ่มแปล้’ ด้วยวิธีการจัดการกับศัตรูด้วยการบีบเค้นความคิดจิตใจให้ศัตรูทรมานถึงที่สุด ก่อนที่จะให้ความหวังเพียงน้อยนิดแล้วค่อยจัดการสังหาร ราวกับแมวที่ไม่ได้ต้องการจับหนูมาเพื่อกิน แต่จับหนูมาเพื่อเล่นสนุกจนกว่าจะเบื่อแล้วค่อยกิน แต่เมื่อดอนเสียชีวิต ความเก่งกาจและการได้รับการยอมรับของวินเซนโซสร้างความอิจฉาริษยาให้แก่ลูกชายตัวจริงของดอนที่กำลังจะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งแทนบอสผู้ล่วงลับ วินเซนโซถูกลอบสังหาร แต่เขาก็รอดมาได้และเลือกที่จะไม่แก้แค้นเพื่อตอบแทนบุญคุณดอน วินเซนโซจึงเลือกที่จะกลับมาที่เกาหลีใต้ นี่คือการปูเรื่องราวเริ่มต้นของ ‘วินเซนโซ ทนายมาเฟีย’ ซีรีส์ความยาว 20 ตอน ที่บอกเล่าเรื่องราวของชายผู้มีชื่อต้นแปลว่า ‘ผู้ได้รับชัยชนะ (Vincenzo)’ และมีนามสกุลแปลว่า ‘บ้านที่อบอุ่น (Cassano)’ ซึ่งก็สอดคล้องกับภาพการเป็นคอนซิเยเรของตระกูลมาเฟีย ผู้ที่สามารถเอาชนะด้วยการทำลายศัตรู และเอาชนะใจมิตรผู้ร่วมตระกูลมาเฟียเดียวกัน ซึ่งก็ดูจะเป็นการสร้างความโรแมนติกให้กับซีรีส์ตามแนวภาพยนตร์มาเฟียที่หยิบเอาวัฒนธรรมมาเฟียอิตาลีมาดัดแปลงเป็นจุดขาย   มาเฟีย เหล่าผู้หยิ่งผยองแห่งยุคกลางสู่องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ มาเฟียถือกำเนิดขึ้นในอิตาลีบนเกาะซิซิลี ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 คำว่ามาเฟียมาจากภาษาพื้นถิ่นของชาวเกาะซิซิลีว่า มาฟิวสุ (mafiusu) ซึ่งมีความหมายว่า ‘ผู้กล้า’ หรือ ‘ผู้หยิ่งผยอง’ ทั้งยังสามารถสื่อนัยถึง ‘ความงามที่น่าหลงใหล’ มาฟิวสุเกิดขึ้นเพราะความจำเป็นของปลายยุคสมัยศักดินาที่บรรดาชนขุนนางเจ้าที่ดินเริ่มถูกลดบทบาททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองลงจนไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในการถือครองที่ดินและเลี้ยงดูกำลังพลขนาดใหญ่ได้อีกต่อไป บรรดาขุนนางจึงเริ่มทำธุรกิจปล่อยเช่าที่ดิน ที่ดินจึงค่อย ๆ ถูกเปลี่ยนมือจากเจ้าที่ดินมาสู่ ‘ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์’ ซึ่งมักเป็นชนชั้นล่างของสังคม จึงไม่มีกองกำลังของตนเองที่จะใช้ปกป้องที่ดินและผลผลิตจากโจรผู้ร้าย  ในเวลานั้นอำนาจในการคุ้มครองจากรัฐบาลก็ไม่ได้เข้มแข็ง เพราะกองกำลังของเหล่าขุนนางที่เป็นหน่วยหลักในการดูแลความสงบของสังคมเพิ่งถูกยุบเลิก การเปลี่ยนผ่านจากระบบศักดินาสู่ทุนนิยมอุตสาหกรรมในช่วงแรกจึงนำมาสู่สภาวะไม่มีขื่อไม่มีแปขึ้น ชายหนุ่มจำนวนหนึ่งจึงรวมกลุ่มกันเป็นมาฟิวสุ เพื่อรับจ้างคุ้มครองที่ดิน ผลผลิต และสวัสดิภาพของผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ มีการบันทึกว่าการคุ้มครองความสงบด้วยการสร้างความยุติธรรมแบบตาต่อตาฟันต่อฟันของมาฟิวสุนั้นได้ผลลัพธ์ดีกว่ากระบวนการยุติธรรมโดยตำรวจถึง 9 เท่า ซึ่งนั่นยังหมายความถึงการเพิ่มขึ้นอย่างยิ่งยวดของตัวเลขคดีฆาตกรรม (เพราะมันคือการคุ้มครองความสงบ ด้วยวิธีการ เชือดไก่ให้ลิงดู เลยยิ่งทำให้เกิดการฆาตกรรมเพิ่มขึ้น) ยิ่งบรรดาขุนนางปล่อยเช่าที่ดิน และยุบกองกำลังของตนมากเท่าใด มาฟิวสุก็เติบโตมากขึ้นเป็นเงาตามตัว วัฒนธรรมแบบมาฟิวสุเริ่มเติบโตจากฝั่งตะวันตกของเกาะซิซิลี การเติบโตดังกล่าวทำให้มาฟิวสุเริ่มจัดระบบลำดับชั้นต่ำ-สูง และสายการบังคับบัญชา รวมถึงเครือข่ายทางธุรกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลความมั่นคงและความยุติธรรมเป็นสายตระกูล ด้วยบารมีและความรุนแรงของดอน มาฟิวสุเริ่มกลายเป็นรัฐซ้อนรัฐในสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองของเกาะซิซิลีไปในที่สุด กระทั่ง ค.ศ. 1925 เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำเผด็จการต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองของอิตาลีตามแนวคิดฟาสซิสม์ โดยพยายามสร้างความเชื่อเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวด้วยชาตินิยมทางการทหารและลัทธิบูชาผู้นำเพียงคนเดียว นั่นก็คือมุสโสลินีนั่นเอง การมีอยู่ของวัฒนธรรมมาฟิวสุบนเกาะซิซิลี หรือที่เรียกกันในภาษาอิตาลีภาคพื้นทวีปว่า มาเฟียโอโซ (mafioso) หรือ มาเฟีย (mafia) ในภาษาอังกฤษ และการที่คนซิซิเลียนให้ความสำคัญกับดอนมากกว่าท่านผู้นำรัฐ ยอมรับอำนาจตระกูลมาเฟียมากกว่าอำนาจรัฐ ได้สร้างความอึดอัดให้แก่มุสโสลินีเป็นอย่างยิ่ง ราว ค.ศ. 1925 มุสโสลินีจึงประกาศให้ตระกูลมาเฟียเป็นองค์กรนอกกฎหมาย และมุสโสลินียังใช้โอกาสนี้ในการยัดข้อหาการจับกุมคุมขังศัตรูทางการเมืองของตนบนเกาะซิซิลีในฐานะผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นมาเฟีย เหตุการณ์นี้มีการคุมขังผู้ต้องสงสัยกว่า 1,000 คน และ อีกจำนวนมากที่ลี้ภัยสู่แคนาดาและสหรัฐอเมริกา (ดินแดนที่ในเวลาต่อมาสร้างภาพลักษณ์ชายหนุ่มรูปงาม ร่ำรวย เรียบหรู เข้มแข็ง น่าค้นหา เป็นที่น่าดึงดูดใจ น่าเคารพแก่มาเฟียผ่านสื่อบันเทิง จนกลายเป็นภาพประทับของมาเฟีย ซึ่งภาพประทับที่ว่านี้ก็ปรากฏอยู่ในบทบาทของวินเซนโซเช่นกัน) หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังการพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของมุสโสลินี สหรัฐอเมริกามองว่ากลุ่มต่าง ๆ รวมถึงเหล่ามาเฟียเป็นเพียงนักโทษการเมือง จึงได้ปล่อยผู้ต้องสงสัยออกมา ตระกูลมาเฟียต่าง ๆ กลายเป็นกองกำลังสนับสนุนสำคัญของบรรดาผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในซิซิลีในการต่อสู้กับแนวคิดของนักการเมืองฝ่ายซ้ายของอิตาลีที่ต้องการปฏิรูปสังคมอิตาลีให้เป็นสังคมนิยม ในอีกทางหนึ่งบรรดาตระกูลมาเฟียต่างก็มีการทำธุรกิจมืด ไม่ว่าจะเป็น รีดไถค่าคุ้มครอง ขนของหนีภาษี รวมถึงยาเสพติดสู่สหรัฐอเมริกาซึ่งมีกลุ่มตระกูลที่ลี้ภัยไปตั้งแต่ทศวรรษ 1940 และเริ่มสร้างฐานอำนาจขึ้นเป็นตระกูลมาเฟียอเมริกัน  ตระกูลมาเฟียกลายเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่มีโครงข่ายธุรกิจขนาดใหญ่หนุนหลัง เริ่มมีการใช้ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารเป็นสถานที่ฟอกเงิน และย้ายฐานอำนาจมาสู่เมืองใหญ่โดยเฉพาะที่ปาแลร์โม และนาโปลี ซึ่งตระกูลมาเฟียต่าง ๆ แสดงออกถึงการเป็นองค์กรอาชญากรรมอย่างโจ่งแจ้ง ช่วงทศวรรษ 1950 - 1960 รัฐบาลอิตาลีมีความพยายามกวาดล้างอาชญากรรมจากตระกูลมาเฟีย มีการออกกฎหมายต่าง ๆ ในการจัดการตระกูลมาเฟีย ประกอบกับช่วงทศวรรษ 1960 - 1970 เกิดความขัดแย้งระหว่างตระกูลมาเฟียต่าง ๆ จนกลายเป็นสงคราม และอาชญากรรมการลอบสังหารปะทุไปทั่วอิตาลีจนมีประชาชนทั่วไปโดนลูกหลงเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลอิตาลีดำเนินการกวาดล้างตระกูลมาเฟียต่าง ๆ อย่างจริงจัง ดอนของหลายตระกูลถูกจับกุม เกิดการใช้ความรุนแรงทั้งจากฝ่ายรัฐและตระกูลมาเฟีย สภาวการณ์ดังกล่าวนี้เพิ่งค่อย ๆ เลือนหายไปจากอิตาลีเมื่อราวต้นทศวรรษ 1990 นี้เอง  ปัจจุบันตระกูลมาเฟียยังดำเนินธุรกิจมืด อาทิ การขนยาเสพติด การค้ามนุษย์ การพนัน และฟอกเงินด้วยธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงมีการลงทุนในตลาดหุ้น แต่ด้วยกฎหมายของอิตาลีที่จับตาธุรกิจของตระกูลมาเฟีย และมีมาตรการแข็งกร้าวต่ออาชญากรรมของมาเฟีย ทำให้ตระกูลมาเฟียต่าง ๆ ไม่สามารถแสดงบทบาทในการเป็นองค์กรอาชญากรรมอย่างโจ่งแจ้งได้อีกต่อไป    วินเซนโซผู้ลาจากครอบครัวที่อบอุ่น แล้วจับพลัดจับผลูต้องไปทำลายหอคอยบาเบล การเดินทางของวินเซนโซออกจาก ‘บ้านที่อบอุ่น’ ของตนที่อิตาลีนั้น นอกจากจะเป็นการดึงตัวเองออกมาจากความวุ่นวายในการแก่งแย่งอำนาจในตระกูลช่วงเปลี่ยนผ่านจนทำให้การเป็นคอนซิเยเรของตระกูลกาซาโนของเขาดูไม่อบอุ่นอีกต่อไป  การเลือกมาที่เกาหลีใต้ของวินเซนโซยังเป็นเพราะก่อนหน้านี้เขาได้เคยช่วยเหลือนักธุรกิจชาวจีนคนหนึ่งในการสร้างห้องลับเพื่อซ่อนทองจำนวน 15 ตันไว้ใต้ตึกคึมกาพลาซ่า ตึกสำนักงานเช่าเก่าแห่งหนึ่งกลางกรุงโซล ซึ่งวินเซนโซซื้อไว้โดยใช้ตัวแทนชาวเกาหลีใต้คนหนึ่งถือครองกรรมสิทธิ์แทน แต่ไม่นานนักธุรกิจชาวจีนคนดังกล่าวก็หัวใจวายเสียชีวิต ด้วยความโลภวินเซนโซจึงคิดจะฮุบทองนั้นเอาไว้เอง แต่ตลกร้ายก็เกิดขึ้นกับมาเฟียอิตาลีผู้ช่ำชองกับการก่ออาชญากรรมอย่างวินเซนโซ เพราะเพียงเมื่อเขาได้ก้าวลงจากเครื่องบิน เขาก็ได้รับการ ‘รับน้อง’ จากนักต้มตุ๋นเกาหลีใต้จนแทบไม่เหลือทรัพย์สินติดตัว จนเมื่อเขาเดินทางมาถึงคึมกาพลาซ่า วินเซนโซกลับพบว่างานของเขาไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะคึมกาพลาซ่ากำลังถูกบังคับไล่ที่จากบริษัทก่อสร้างบาเบล เพื่อจะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นตึกระฟ้า แม้ผู้เช่าจำนวนมากจะสมัครใจยอมรับค่าตอบแทนอันน้อยนิดเพื่อย้ายออกไปแล้ว แต่ก็ยังมีกลุ่มผู้เช่าจำนวนหนึ่งยังไม่ยอมย้ายออกไป นอกจากผู้เช่าเหล่านี้จะไม่ให้การต้อนรับที่ดีแก่วินเซนโซ พวกเขายังแสดงออกถึงความไม่พอใจจากความไม่เป็นธรรมที่ต้องถูกไล่ที่ แต่ด้วยความเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย พวกเขาจึงเพียงได้รับการช่วยเหลือจากสำนักงานกฎหมายฟางข้าว ซึ่งเป็นสำนักงานกฎหมายเล็ก ๆ ในตึกคึมกาพลาซ่านั่นเองเพื่อต่อสู้เรียกร้อง วินเซนโซจับพลัดจับผลูจำต้องร่วมงานกับฮง ยู-ชาน ทนายความนักสิทธิมนุษยชนหัวหน้าสำนักงานกฎหมายฟางข้าว ที่เปิดสำนักงานกฎหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก และมองว่าสำนักงานทางกฎหมายของตนเปรียบได้กับ ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ที่คนจนคนยากผู้ถูกกดขี่ข่มเหงจากกระบวนการยุติธรรมที่ฉ้อฉลจะสามารถหยิบฉวยได้เป็นอย่างสุดท้าย  ไม่นานนัก วินเซนโซพบว่านอกจากยู-ชานจะเป็นทนายที่มีจิตสำนึกอย่างแรงกล้าในการช่วยเหลือคนยากจนแล้ว เขายังเป็นทนายความที่คอยดูแลทางกฎหมายให้แก่มารดาของวินเซนโซมากว่า 5 ปี ด้วยอุดมการณ์ของยู-ชาน ทำให้เขาทุ่มเทชีวิตจิตใจและแรงกายทั้งหมดว่าความให้กับคนตัวเล็กตัวน้อยผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่เอารัดเอาเปรียบมาตลอด จนทำให้เขาไม่มีเวลาในการดูแลภรรยา เมื่อภรรยาของยู-ชานเสียชีวิตลง ฮง ชา-ยอน ลูกสาวของยู-ชานไม่พอใจบิดาของเธอเป็นอย่างมาก จึงเลือกที่จะเป็นทนายว่าความให้กับบริษัทกฎหมายขนาดใหญ่ที่รับงาน ‘ปัดกวาดสิ่งปฏิกูลเพื่อแลกมาด้วยทองคำ’ จากเหล่านายทุน ชา-ยอนตั้งตนเป็นศัตรูกับยู-ชานผู้เป็นบิดาโดยคิดว่าต้องทำลายงาน ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ของเขาที่ชา-ยอนโทษว่าเป็นต้นเหตุให้มารดาของเธอต้องเสียชีวิต ในบรรดาคดีความที่ยู-ชานให้การช่วยเหลือนั้น มีคดีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมและฆาตกรรมอันเกิดจากการพัฒนายาโดยบริษัทเภสัชกรรมบาเบล การตามหาความจริงนี้เองทำให้ ฮง ยู-ชานถูกสั่งฆ่าปิดปาก วินเซนโซมีส่วนร่วมกับความตายของยู-ชานอย่างใกล้ชิด เขายังพบว่าปัญหาต่าง ๆ ของเกาหลีใต้ที่เขารู้จักนั้นเกี่ยวข้องกับ ‘กลุ่มแชโบล’ ขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า ‘บาเบลกรุ๊ป’ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น บริษัทก่อสร้างบาเบล บาเบลเภสัชกรรม นักการเมือง หรือแม้แต่สำนักงานกฎหมายชื่อดังก็ทำงานให้กับบาเบลกรุ๊ปในการ ‘ปัดกวาดสิ่งปฏิกูลเพื่อแลกมาด้วยทองคำ’ โดยเฉพาะกับบริเวณตึกคึมกาพลาซ่านั้น บาเบลกรุ๊ปวางแผนพัฒนาจะสร้างบาเบลทาวเวอร์ ตึกระฟ้าที่เบื้องหลังเต็มไปด้วยการคอร์รัปชันและคราบน้ำตาของคนตัวเล็กตัวน้อย บาเบลทาวเวอร์จึงไม่ต่างจากหอคอยบาเบลในพระคำภีร์ ที่ถูกสร้างขึ้นจากบาปและความอหังการ์ของมนุษย์ วินเซนโซจึงได้พบว่าพฤติกรรมสองหน้าของกลุ่มแชโบลในเกาหลีใต้แทบไม่ต่างจากพฤติกรรมตระกูลมาเฟียที่อิตาลีเลย เพียงแค่ 4 ตอนแรก ซีรีส์เรื่อง ‘วินเซนโซ ทนายมาเฟีย’ ที่ผู้ชมกำลังเริ่มคิดว่าซีรีส์เรื่องนี้เป็นซีรีส์ตลก และดูเป็นเรื่องราวดรามาของมาเฟียอิตาลีผู้มีนามสกุลว่าครอบครัวที่อบอุ่น แต่กลับต้องระหกระเหินจากบ้านของตนที่เกาหลีใต้ ไปมีบ้านใหม่ที่อบอุ่นที่อิตาลี แต่ความอบอุ่นนั้นก็พังทลายลงตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรกของซีรีส์ตอนที่ 1 แรก ๆ เรื่องราวในเกาหลีใต้ของวินเซนโซดูเป็นเรื่องชวนหัว จากพฤติกรรมแปลก ๆ ของตัวละคร หรือการที่ตัวละครเอกอย่างวินเซนโซถูกเรียกชื่อผิดเพี้ยนอยู่ตลอด เนื่องจากความ ‘ไม่คุ้นลิ้น’ ในการออกเสียงภาษาอิตาลี ปัญหาความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม และความแข็งกระด้างของตัวเขาเอง ลามไปถึงปัญหาความสัมพันธ์กับนกพิราบที่วินเซนโซตั้งชื่ออย่างขอไปทีว่าเจ้าอินซากี (Inzaghi เป็นภาษาอิตาลีทางตอนเหนือ แปลว่า นก หรือ นกพิราบ) เจ้าอินซากีที่คอยรบกวนการพักผ่อนของวินเซนโซอยู่ทุกคืน นกพิราบที่ดูจะเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพและความสงบสุข กลายเป็นตัวปัญหาให้กับการพักผ่อนอย่างสงบสุขไปเสียอย่างนั้น ทว่าในครึ่งหลังของซีรีส์ เรื่องตลกต่าง ๆ ค่อย ๆ ลดลง แทนที่ด้วยความเข้มข้นของการสืบสวนสอบสวนที่หักเหลี่ยมเฉือนคม และดำมืดลงเรื่อย ๆ วินเซนโซต้องเผยตัวตนมาเฟียผู้ไม่ปฏิเสธที่จะเลือกวิธีการที่ชั่วร้ายเพื่อต่อสู้กับศัตรูที่ไม่ใช่มาเฟียอิตาลี แต่เป็น ‘บาเบลกรุ๊ป’ กลุ่มธุรกิจแชโบลที่มีทั้งด้านที่สว่างเจิดจ้าในฐานะกลุ่มทุนที่ขับเคลื่อนอนาคตของเกาหลีใต้ และด้านมืดที่สุดแสนจะโสมมไม่ว่าจะเป็นการจ้างวานกลุ่มนักเลงให้คุกคามคนตัวเล็กตัวน้อย การจ่ายสินบนตำรวจ นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง และสื่อให้ช่วยบิดเบือนรูปคดี และรวมไปถึงการจ้างวานฆ่าแล้วจ้างสำนักงานกฎหมายและนักกฎหมายฝีมือดีคอยซักฟอกงานสกปรกของบาเบลกรุ๊ป  “จ่ายเงินเพื่อกฎหมาย และใช้กฎหมายไม่ต่างจากใช้เงิน”   แชโบล แสงสว่างแห่งการพัฒนาและเงามืดแห่งการคอร์รัปชัน เรื่องราวของบาเบลกรุ๊ป เป็นภาพสะท้อนด้านมืดของสังคมเกาหลีใต้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มานานว่าตกอยู่ภายใต้อำนาจของ ‘กลุ่มแชโบล’ แชโบลคือกลุ่มธุรกิจที่เติบโตตั้งแต่ยุคสมัยที่เกาหลีใต้ตกอยู่ใต้การปกครองแบบอาณานิคมของญี่ปุ่น (ค.ศ. 110 - 1945) นักธุรกิจเกาหลีใต้ที่ร่วมงานกับบริษัทญี่ปุ่นได้สืบทอดทรัพย์สินจากบริษัทญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเกาหลีใต้ ธุรกิจเหล่านี้ค่อย ๆ ใช้สายสัมพันธ์กับธุรกิจของญี่ปุ่น และเงินอุดหนุนจากสหรัฐอเมริกา เพราะการที่ประเทศเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในการโฆษณาชวนเชื่อของโลกเสรีประชาธิปไตยที่ต้องการแสดงให้เห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตยนั้นจะสร้างความมั่งคั่งให้แก่สังคมมากกว่าอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ สหรัฐอเมริกาจึงส่งเงินทุนมาเพื่อช่วยให้เกาหลีใต้ที่ในเวลานั้นยังเป็นสังคมเกษตรกรรมให้สามารถพัฒนาก้าวกระโดดสู่สังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ ทว่าจากการคอร์รัปชันของรัฐบาลเกาหลีใต้กลับเอื้อประโยชน์จากเงินทุนนั้นแก่กลุ่มแชโบลแลกกับการสนับสนุนทางการเมืองให้แก่นักการเมืองระดับสูง  กลุ่มแชโบลใช้เวลาราว 20 ปี (ช่วง ค.ศ. 1940 - 1960) ในการค่อย ๆ แทรกซึมเข้าสู่ภาคสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมืองของเกาหลีใต้ แม้แต่ในช่วง ค.ศ. 1961 เกาหลีใต้อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารที่กล่าวอ้างว่าจะเข้ามาปราบปรามคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลประชาธิปไตยและกลุ่มแชโบล ทว่าผลสรุปกลับกลายเป็นว่าสานสัมพันธ์ของกลุ่มแชโบลกับรัฐบาลทหารกลับยิ่งแน่นแฟ้นมากขึ้น ผ่านการที่กลุ่มแชโบลจ่ายค่าปรับจำนวนมหาศาลต่อความผิดฐานเอื้อให้เกิดการคอร์รัปชันในรัฐบาล แลกมากับการที่กลุ่มแชโบลก็ได้ถูกซักฟอกว่าเป็นผู้สำนึกผิด กลับตัวกลับใจ และจึงมีความชอบธรรมที่จะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเกาหลีใต้สู่ความทันสมัยต่อไปได้อีก แชโบลกลายเป็นศูนย์รวมของการผลิตอุตสาหกรรมหนักและส่งออกทำเงินให้กับรัฐบาลเกาหลีใต้อย่างมหาศาล นอกจากนั้นแทบทุกอย่างในชีวิตประจำวันของชาวเกาหลีใต้ดำรงอยู่ด้วยสินค้าและบริการจากกลุ่มแชโบลตลอด 24 ชั่วโมง ช่วง ค.ศ. 1980 จากข้อเรียกร้องของประชาชนเกาหลีใต้ว่ารัฐบาลเอื้อให้กลุ่มแชโบลดำเนินธุรกิจแบบผูกขาด จนเกิดการคอร์รัปชัน ผลประโยชน์ทับซ้อน การติดสินบน การเลี่ยงภาษี และความเหลื่อมล้ำ กดดันให้รัฐบาลเกาหลีใต้ออกกฎระเบียบต่อต้านการผูกขาดทางการค้าและกฎหมายการค้าที่เป็นธรรมมาบังคับใช้ ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งหน่วยงานเฝ้าระวังการผูกขาดทางการค้าขึ้นมา ทว่าระเบียบดังกล่าวก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะกลุ่มแชโบลยังคงฝังรากลึกอยู่กับรัฐบาลเกาหลีใต้อยู่เช่นเดิม  การมีธุรกิจสีขาวขนาดใหญ่ที่มีผู้นำคนหนึ่งดำเนินการบริหารอย่างโปร่งใสในหน้าฉาก แต่มีผู้นำที่ยิ่งใหญ่กว่าผู้นำคนแรกคอยชักใยอยู่หลังฉาก และทำงานสีเทาจนถึงสีดำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มแชโบล สะท้อนไว้อย่างชัดเจนในเรื่องราวของบาเบลกรุ๊ป บาเบลกรุ๊ปตอกย้ำความล้มเหลวในการลดอำนาจกลุ่มแชโบลของรัฐบาลเกาหลีใต้ เพราะการจะถอนรากแก้วที่หยั่งลึกอันมีรากฝอยที่แผ่กระจายไปทั่วทั้งสังคมที่คอยสูบผลประโยชน์จากแผ่นดินเกาหลีใต้มาหล่อเลี้ยงจนได้ดอกผลจนทำให้เกาหลีใต้ยกระดับกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วนั้นก็อาจทำให้สังคมทั้งหมดพังครืนลงได้ ยิ่งกว่านั้น มันคงเป็นที่แน่นอนว่าหากจะมีกลุ่มแชโบลที่ชั่วร้ายเกิดขึ้นมาสักเพียงหนึ่งกลุ่ม การจะจัดการความชั่วร้ายนั้นคงไม่สามารถทำได้ด้วยเพียงการเป็น ‘นักกฎหมายที่ดี’ แล้วต้องตายลงอย่าง ฮง ยู-ชาน คงเป็นความไม่ยุติธรรมนักหากจะบอกว่ากลุ่มแชโบลทั้งหมดนั้นชั่วร้าย แต่เรื่องราวของวินเซนโซกำลังทำให้ผู้ชมเห็นภาพว่า หากจะมีกลุ่มแชโบลสักกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจด้วยวิถีของปีศาจ สังคมจะเจออะไรบ้าง  แม้การตายของฮง ยู-ชานจะทำให้ ฮง ชา-ยอนตาสว่างและกลับใจมาร่วมมือต่อสู้กับคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งสะท้อนภาพฝันของเหล่าคนตัวเล็กตัวน้อยที่อยากต่อสู้กับอำนาจอันมาจากการผูกขาดของแชโบล แต่ชา-ยอนคงไม่สามารถฝ่าด่านตำรวจที่รับสินบน เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงที่ใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม นักกฎหมายที่ขายวิญญาณให้แก่เงินและอำนาจ สื่อไร้อุดมการณ์ที่ประจบประแจงและพร้อมซักฟอกภาพลักษณ์แก่นายทุนเพื่อแลกเงินสนับสนุน นักการเมืองที่พูดจาสวยงามแต่พร้อมจะใช้อำนาจของตนตอบแทนผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุน  มารยาททางสังคมที่ดูมีระบบระเบียบที่งดงามเป็นเพียงพรมที่อบอวลด้วยควันปืนที่ช่วยซุกซ่อนเลือดเนื้อและซากศพของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมไว้ ชา-ยอนเองก็คงตกเป็นเครื่องสังเวยของปีศาจ หากเธอไม่ได้รับการช่วยเหลือจากปีศาจที่ชั่วร้ายกว่าอย่างวินเซนโซ   วินเซนโซ ผู้เอาชนะปีศาจที่ชั่วร้ายด้วยความชั่วร้ายยิ่งกว่า ในซีรีส์ตอนสุดท้ายของ ‘วินเซนโซ ทนายมาเฟีย’ วินเซนโซแสดงให้เห็นถึงความสับสนกับการกระทำของตนเอง การหลีกหนีควันปืนและกองเลือดจากอิตาลี กลับทำให้เขาต้องมาสูดกลิ่นควันปืนและกองเลือดกองใหม่ที่เกาหลีใต้ บทบาทของวินเซนโซยังคงเป็นคอนซิเยเรผู้ที่ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือเหล่าคนตัวเล็กตัวน้อยในการต่อสู้กับบาเบลกรุ๊ปในด้านสว่าง และเป็นหัวหอกในการก่ออาชญากรรมเพื่อทำลายบาเบลกรุ๊ปในด้านมืด  วินเซนโซเป็นมาเฟีย และแม้เราคิดว่าเขาได้กลายเป็นทนายไปแล้ว ทว่าวินเซนโซก็ยังคงเป็นมาเฟียจนถึงฉากสุดท้ายของซีรีส์ เหมือนกับที่ตัวละครตัวหนึ่งเปรียบเปรยบทบาทความเป็นมาเฟียของวินเซนโซว่าเป็นดัง  “...ท้าวเวสวัณ ผู้ควบคุมเหล่ายักษาและรากษสเพื่อปกป้องคำสอนของพระพุทธเจ้าและสรรพสัตว์ทั้งหลาย คนอย่างวินเซนโซทำบาปไว้เยอะ จะฝึกตนให้หนักอย่างไรก็ไม่สามารถเป็นพระพุทธเจ้าได้ แทนที่จะทำเช่นนั้น การดูแลยักษาและรากษส และต่อสู้เพื่อคนอื่น ถึงจะเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ แต่ก็ยังจะได้คำชื่นชมจากพระองค์อยู่ดี”  ทั้งนี้ แม้ไม่ได้กล่าวถึงในซีรีส์ การเปรียบเปรยวินเซนโซว่าเป็นท้าวเวสวัณยังสะท้อนบทบาททนายของเขาเข้ากับภาพลักษณ์ของท้าวเวสวัณที่มีหน้าที่รักษาความเรียบร้อยยุติธรรมในสวรรค์อีกด้วย ความเป็นคอนซิเยเรของวินเซนโซ ทำให้เขากลายเป็นท้าวเวสวัณที่สามารถเป็นที่พึ่งพิงของกลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อย ที่ต่างค่อย ๆ ถูกดึงดูดให้เข้าร่วมต่อสู้กับความชั่วร้ายของบาเบลกรุ๊ปที่ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นเมืองไร้ขื่อแปจนไม่ต่างกับเกาะซิซิลีในยุคที่ถือกำเนิดเหล่ามาฟิวสุ กลุ่มผู้เช่าในอะพาร์ตเมนต์จึงสะท้อนภาพการเป็นคนเล็กคนน้อยเช่นเดียวกัน พวกเขาค่อย ๆ พัฒนาความสัมพันธ์แนบแน่นจนคล้าย ๆ กับตระกูลมาเฟียอันเป็น ‘ครอบครัวที่อบอุ่น’ ของเหล่าผู้กล้าที่ต่อสู้กับสังคมที่กฎหมายไร้ประโยชน์ต่อพวกเขา ภายใต้การนำของท้าวเวสวัณ ดอน วินเซนโซ หากซีรีส์นี้เปิดตัวด้วยความตลก และบอกเล่าความดรามาให้เห็นจิตใจที่แข็งกร้าวของมาเฟียอย่างวินเซนโซที่ค่อย ๆ นุ่มนวลลงจากการสร้างสัมพันธ์กับคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมเกาหลีใต้ให้เป็น ‘ครอบครัวที่อบอุ่น’ ซึ่งยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ต่อเจ้าอินซากี จนสุดท้ายเจ้าอินซากีนี้เองมีบทบาททำให้วินเซนโซพ้นวิกฤตถึงชีวิตครั้งหนึ่งเลยทีเดียว แต่เมื่อซีรีส์ดำเนินไป เรื่องราวต่อมาของวินเซนโซดูจะเป็นตลกร้าย วินเซนโซ ที่ปรึกษาทางกฎหมายหนุ่มรูปงามผู้มีภาพลักษณ์หรูหราและรุ่มรวยในตอนเช้า ต้องเป็นกลายเป็นท้าวเวสวัณคอยประหัตประหารปีศาจของบาเบลกรุ๊ปในตอนกลางคืน ความตลกร้ายที่ร้ายยิ่งกว่าเรื่องราวในซีรีส์ก็คือการที่ซีรีส์นี้พยายามสื่อสารกับผู้ชมว่า  “หากเกิดความชั่วร้ายที่ยิ่งใหญ่ขึ้นแล้ว พวกเราจะสามารถต่อสู้กับมันด้วยความดีงาม ตรงไปตรงมา ได้จริงหรือไม่  “ในการต่อสู้กับความอยุติธรรมที่เกิดจากปีศาจในคราบนักบุญ พวกเราต้องการจะต่อกรกับมันด้วยนักบุญหรือปีศาจกันแน่   “การเฝ้ามองปีศาจที่ต้องการสร้างหอคอยบาเบลเพื่อห่อหุ้มความชั่วร้ายของตนด้วยหนังของพระเจ้า และลุ้นอย่างสะใจให้ปีศาจอีกตนมากระชากหนังของพระเจ้าออกแล้วลากปีศาจแต่ละคนลงมารับกรรมที่เหมาะสม เหี้ยมโหด เพื่อให้มันตายอย่างช้า ๆ ให้สมกับความชั่วร้ายของมัน สะท้อนความสิ้นหวังต่อคุณค่าของศีลธรรม จริยธรรมในสังคมเพียงใด” เมื่อความยุติธรรมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในบ้านเมืองที่ขื่อแปถูกทำให้ไร้ประสิทธิภาพ กำลังจะกลายเป็นสิ่งสำคัญ ดั่งที่นักคิดอิตาเลียนในศตวรรษที่ 16 อย่าง นิกโกโล มาคิอาแวลลี เคยอธิบายบทบาทของ ‘ผู้นำ’ เอาไว้ว่า ผู้นำที่ดีนั้นต้องมีภาพลักษณ์ของผู้มีศีลธรรม แม้อาจไม่ได้มีศีลธรรม ในใจ ผู้นำต้องเด็ดขาด โหดเหี้ยม เฉลียวฉลาด ระแวดระวัง และเจ้าเล่ห์เพทุบาย เพื่อแสวงหา ใช้ และรักษาอำนาจเพื่อให้เกิดการปกครองที่มั่นคง ดังนั้นเรื่องราวของวินเซนโซอาจกำลังตั้งคำถามสำคัญกับพวกเราว่าเพื่อที่จะ ‘เอาชนะ’ ความชั่วร้าย เพื่อปกป้องความยุติธรรมในสังคมแห่งการตีสองหน้า การเป็น ‘คนดี’ อาจเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ และความชั่วร้ายอาจฆ่าคนดีตายไปเสียแล้วตั้งแต่ต้น การเอาชนะปีศาจที่ชั่วร้ายจึงต้องเป็นการตอบโต้ด้วยความชั่วร้ายยิ่งกว่า ดังประโยคที่วินเซนโซพูดปิดท้ายซีรีส์ในตอนที่ 20 ว่า “ผมยังคงเป็นวายร้าย ไม่สนใจเรื่องความยุติธรรมแม้แต่น้อย ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่อ่อนแอและว่างเปล่า สิ่งนี้ไม่สามารถเอาชนะความชั่วร้ายใด ๆ ได้ หากความยุติธรรมที่ไม่ปรานีมีจริง ผมก็เต็มใจที่จะยอมจำนน เพราะวายร้ายเองก็อยากใช้ชีวิตในโลกที่สงบสุข แต่เพราะโลกแบบนั้นไม่มีทางเป็นจริง ผมจึงมีงานอดิเรกใหม่ นั่นคือการกำจัดขยะ เพราะถ้าไม่กำจัดขยะ เราก็จะจมตายอยู่ใต้กองขยะ และสุดท้ายนี้ ผมมีสิ่งหนึ่งที่อยากจะพูดจากมุมมองของวายร้าย ความชั่วร้าย...แข็งแกร่งและกว้างใหญ่”   อ้างอิง Unger, M. J. (2557). มาเคียแวลลี: เจ้าทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่. ศิริรัตน์ ณ ระนอง (แปล). มติชน. Aldag, R. J. (n.d.). Chaebol: South Korean corporate conglomerates. Retrieved. https://www.britannica.com/topic/chaebol. Bandiera, O. (2002). Private States and the Enforcement of Property Rights - Theory and Evidence on the Origins of the Sicilian Mafia. CEPR Discussion Papers 3123, C.E.P.R. Discussion Papers. Retrieved. https://ideas.repec.org/p/cpr/ceprdp/3123.html. Bureau, E.T. (2018, 17 Apr). Do you know the history behind the infamous word 'mafia'?. Retrieved. https://economictimes.indiatimes.com/magazines/panache/do-you-know-the-history-behind-the-infamous-word-mafia/articleshow/63795610.cms?utm_source=contentofinterest&utm_medium=text&utm_campaign=cppst Duggan, C. (1989). Fascism and the Mafia. Yale University Press. Genesis 11:4. History.com Editors. (2019, 22 Feb). The Mafia in Popular Culture. Retrieved. https://www.history.com/topics/crime/the-mafia-in-popular-culture. Editors of Encyclopaedia Britannica, The. (n.d.). Mafia. Retrieved. https://www.britannica.com/topic/Mafia. Wheeldon, T. (2017, 24 Jul). Challenging the chaebol: big business and corruption in South Korea. Retrieved. https://www.riskscreen.com/kyc360/article/challenging-chaebol-big-business-corruption-south-korea/.   เรื่อง: พิสิษฐิกุล แก้วงาม