บัว-พิรญาณ์ พงษ์กาบ : ชีวิตคนไทยในเยอรมัน เมื่อเปลี่ยนจากบทบาท ‘นักท่องเที่ยว’ มาเป็น ‘ผู้อยู่อาศัย’
“ตอนจะมาเยอรมัน คนคิดว่าเราต้องกินไส้กรอกเยอะแน่เลย”
ประโยคเจือเสียงหัวเราะนี้ส่งจากปลายสายที่ห่างออกไป 5-6 ชั่วโมง ซึ่งเจ้าของเสียงคือ บัว-พิรญาณ์ พงษ์กาบ คนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีมาหนึ่งปีสามเดือน เริ่มจากวีซ่าออร์แพร์ (Au Pair) ที่เป็นโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ก่อนจะมาทำงานเป็นอาสาสมัครในโรงเรียนอนุบาลสำหรับเด็กพิเศษทางการพูด ณ เมืองเล็ก ๆ ทางตอนเหนือของเยอรมนี
แม้ว่าบัวจะเคยมาเยือนประเทศนี้ในฐานะนักท่องเที่ยว แต่การเดินทางมาต่างประเทศในฐานะ ‘ผู้อยู่อาศัย’ ย่อมมีวิถีชีวิตและมุมมองที่แตกต่างออกไป The People จึงชวนบัวมาพูดคุยถึงชีวิตคนไทยในเยอรมนี รวมทั้งวิธีการย้ายไปอยู่ที่นั่นทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว
นักท่องเที่ยว vs ผู้อยู่อาศัย
“ถ้ามาเที่ยว เราเลือกได้ว่าจะไปที่ไหน กินอะไร เห็นอะไร แต่การมาอยู่ เราเลือกตลอดไม่ได้”
บัวเกริ่นกับเราเมื่อพูดถึงความแตกต่างจากมุมมองของนักท่องเที่ยวกับผู้อยู่อาศัย ซึ่งแน่นอนว่าช่วงแรก ๆ เธอต้องปรับตัวกับวัฒนธรรมเยอรมัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษาที่ชาวเยอรมันส่วนใหญ่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ หรือวันอาทิตย์ที่ทุกอย่างปิดยกเว้นร้านอาหาร แต่สิ่งสำคัญกว่าเรื่องไหน ๆ และแตกต่างจากประเทศไทยค่อนข้างมาก คือเรื่องอาหารการกิน
“คนไทยกินขนมปังเป็นของหวาน แต่คนเยอรมันกินเป็นอาหารหลัก แล้วเอาส่วนผสมอื่น ๆ มาวาง กินเป็นอาหารเย็น ช่วงแรกเราเครียดมากเลย เพราะชินกับการซื้อร้านโน้นร้านนี้มาตอนเย็น เราจะทำอย่างนั้นก็ได้ แต่ว่าของมันแพงมาก ไม่เหมือนที่ไทย
“บางคนคิดว่าอาหารเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่มันใหญ่มากเลยนะ อะไรถูก ๆ ในไทย ถ้าไม่แพงก็ต้องทำเอง บางเมนู อย่างไข่พะโล้ ที่เราไม่เคยทำ ต่อให้ทำก็เป็นโอกาสพิเศษ แต่อยู่ที่นี่ต้องทำอาหารทุกวันจนจะเป็นแม่ครัวแล้วค่ะ (หัวเราะ) แล้ววัฒนธรรมของคนไทย ถ้าไม่กินก็จะคิดเรื่องกิน ถ้าไม่กินอยู่ก็จะคิดว่า พรุ่งนี้จะกินอะไร แฟนเรายังแซวเลยว่า เธอคิดเรื่องกินพรุ่งนี้แล้วเหรอ คือคนเยอรมันเขามองว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดานะ เพราะเขาไม่ได้คิดเรื่องกินขนาดนั้น แต่ถ้าอยากจะกินจริง ๆ ก็จะคิดว่าต้องซื้ออะไรบ้าง แล้วเปิดสูตรอาหารเลย”
ประเทศแห่งความเป็นระบบ
นอกจากวัฒนธรรมด้านการกินแล้ว ความแตกต่างระหว่างเยอรมันและประเทศไทยที่เห็นได้ชัดและส่งผลต่อวิถีชีวิตโดยรวมของชาวเยอรมัน คือความเคร่งครัดเรื่องกฎระเบียบ
“คนที่นี่จะเคร่งกฎระเบียบมาก อย่างเวลาข้ามถนนที่ไม่มีรถตอนเช้า ก็ต้องดูสัญญาณไฟ ระเบียบคือระเบียบ ต่อให้ไม่มีใครเห็น หรือไม่มีกล้องวงจรปิด ก็ต้องทำ เพราะเขามีการปลูกฝังอะไรแบบนี้มา”
ขณะที่เยอรมันเคร่งครัดกฎ ขนส่งสาธารณะมาตรงเวลา และอุบัติเหตุบนท้องถนนน้อยมาก แต่ประเทศนี้กลับมีทางด่วนที่ ‘ไม่จำกัดความเร็วรถ’
“มันจะมีป้ายสัญลักษณ์บอก จะขับเร็วแค่ไหนก็ได้ เราก็ช็อกมากว่าไม่เกิดอุบัติเหตุกันเหรอ แต่มันก็โยงไปถึงเรื่องการรักษากฎ เพราะคนที่ขับรถก็ค่อนข้างจะมีระเบียบ และการจะได้ใบขับขี่หนึ่งใบยากมาก ต้องหมดไปหลักแสนบาท เพราะรวมค่าเรียนและต้องเรียนที่โรงเรียนเท่านั้น แล้วก็มีค่าสอบ ถ้าสอบไม่ผ่านต้องสอบใหม่ บางคนหมดไปครึ่งล้านก็มี เพราะสอบไม่ผ่าน พอได้ใบขับขี่คนก็เลยหวง ไม่อยากให้หลุดไปจากมือ เขาเลยค่อนข้างระวังเวลาขับ ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุก็เลยน้อย”
บัวยกตัวอย่างให้เราฟังอีกเรื่องหนึ่ง คือการพบแพทย์ที่มีขั้นตอนและข้อกำหนดมากกว่าประเทศไทย เพราะต้อง ‘นัดหมาย’ ล่วงหน้าเสมอ ยกเว้นอุบัติเหตุร้ายแรง อีกทั้งยังไม่สามารถไปหาหมอเฉพาะทางได้โดยตรง
“คนที่นี่ส่วนใหญ่เขาจะไปคลินิกกันก่อน ไม่ว่าจะโรคอะไรก็ตามต้องไปหา ‘หมอบ้าน’ ก่อน เหมือนหมออายุรกรรมที่จะบอกเราว่าต้องไปหาหมอนี้ต่อ เราจะไปหาหมอเฉพาะทางเองไม่ได้ เพราะมันต้องมีใบส่งตัว มี process ที่คนไทยหรือคนต่างชาติไม่ค่อยชินกับระบบนี้เพราะรู้สึกว่ามันลำบาก แต่ระบบเขาก็เป็นแบบนี้ แล้วบางคนที่เป็นโควิด-19 เขาไม่ให้นอนโรงพยาบาล ยกเว้นว่าอาการหนักมาก ๆ เพราะคนที่เป็นโรคอื่นหรือจำเป็นจริง ๆ จะไม่มีเตียง ที่สำคัญคือส่วนมากเขาไม่ได้อยู่เป็นครอบครัวใหญ่ เลยอยู่บ้านได้ บวกกับการเป็นคนรักษากฎ ก็จะไม่แอบออกมาข้างนอก”
คอนเซปต์การทำงานแบบน้อยแต่มาก
ไม่เพียงวิถีชีวิตบนท้องถนนและการรักษาในโรงพยาบาล เมื่อเข้าสู่ชีวิตการทำงานทุกอย่างก็เป็นระบบเช่นเดียวกัน
“จริง ๆ คนที่นี่ทำงานไม่เยอะ ส่วนใหญ่เริ่มประมาณ 8-9 โมง เลิกงานเต็มที่เลยก็ 6 โมง ยกเว้นถ้ามีธุรกิจส่วนตัวก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เขาจะไม่ค่อยให้ทำงานล่วงเวลา (Overtime) เรียกง่าย ๆ ว่าไม่อยากให้ทำงานขาด ไม่อยากให้ทำงานเกิน แล้วโอที (OT) เขาก็ไม่ได้มีเยอะ เพราะไม่อยากสนับสนุนให้คนทำงานเยอะ ก็ทำงานจริงจัง แต่ถ้าจบงานก็คือจบ จะไม่กลับเอามาทำที่บ้าน
“คนเยอรมันเขาจะมีคอนเซปต์การทำงานแบบน้อยแต่มาก ถ้าเราทำแค่ 6 ชั่วโมง แต่ 6 ชั่วโมงนั้นคือจริงจังมากนะ คุยแต่เรื่องงาน อย่างออฟฟิศที่ไทยอาจจะมีคุยเล่นกันบ้าง แต่คนเยอรมันค่อนข้างจะซีเรียสกับการทำงาน พอเวลาเลิกงาน เดินกลับบ้านเลย ไม่มีการนั่งทำงานต่อ ถึงมีก็น้อยมาก คือเขาจะแบ่งชัดเลย”
ความจริงจังของคนที่นี่ยังหมายรวมถึงการทำงานของบัวในโรงเรียนอนุบาลเช่นกัน
“ที่โรงเรียนเรา เขาดูเด็กรายบุคคลเลยว่า เด็กคนนี้เป็นแบบนี้ เขาต้องแก้ยังไง บางคนที่มีปัญหามาก ๆ เขาก็จะมีนักจิตวิทยา นักวิชาการเกี่ยวกับเด็กมาช่วยกันคิด เพราะเราจะมาโทษแต่สิ่งแวดล้อมไม่ได้ บางทีอาจจะมาจากอาการทางร่างกาย หรือโรคต่าง ๆ ที่ต้องหาวิธีรับมือ เราก็เซอร์ไพรส์เหมือนกัน แต่การเรียนอนุบาลที่นี่เป็นชอยซ์ เราไม่ให้ลูกเราไปก็ได้ มันเป็นระดับชั้นเดียวที่ต้องเสียตังค์ เพราะเป็นตัวเลือกของผู้ปกครอง ส่วนระดับชั้นอื่นไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างโรงเรียนจะฟรีหมด แต่มหาวิทยาลัยหรือภาคพิเศษจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมบ้าง เพราะว่ามันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และคนเยอรมันค่อนข้าง support เรื่องการศึกษา”
สวัสดิการดี ภาษีสูง
นอกจากการศึกษาฟรีแล้ว ประเทศนี้ยังมีสวัสดิการหลังเกษียณอายุจากการจ่ายประกันสังคมในวัยทำงาน แต่สองสิ่งที่บัวประทับใจมากที่สุด คือขนส่งสาธารณะที่รองรับความหลากหลายและพื้นที่สาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ
“คนพิการที่นี่อยู่ได้ด้วยตัวเอง ใช้ชีวิตได้เพราะเดินทางสะดวก พอคนพิการมา คนขับจะกดปุ่มให้พื้นของรถเมล์ยุบลงเท่ากับฟุตบาธ แล้วใช้วีลแชร์ขึ้นไปได้โดยไม่ต้องให้คนมาช่วย แล้วรถเมล์ รถไฟที่นี่ค่อนข้างทั่วถึงและตรงเวลา ถ้าเลทก็ประกาศว่ากี่นาที ช่วยให้เตรียมตัวง่าย คือที่นี่ไม่จำเป็นต้องมีรถส่วนตัวก็ดำเนินชีวิตได้ เพราะใช้ขนส่งสาธารณะ เหมือนเราเอาชีวิตฝากไว้ได้ อย่างการไปนัดแล้วมาไม่ตรงเวลาเพราะรสบัส มันไม่เมคเซนส์ ทุกอย่างมันต้องเป็นระบบ พอระบบมันดี รถก็ไม่ติด
คนเยอรมันเขาค่อนข้างจะเชื่อกฎหมาย ทำตามกฎ เพราะถ้าคุณทำตามกฎ ระบบมันก็ไปต่อได้ ชีวิตก็จะง่าย เพราะทุกอย่างส่งผลต่อกัน
“อีกสิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกได้ว่าประทับใจ คือเรื่องสิ่งแวดล้อม สวนสาธารณะที่นี่เยอะมาก ตอนอยู่ไทย เราชอบไปสวนสาธารณะ แต่บางทีมันไกลและอันตราย ต่างจากเยอรมันซึ่งไม่ใช่แค่สวนเล็ก ๆ แต่เป็นสวนใหญ่กลางเมือง เราคิดว่ามันสำคัญนะ สำหรับคนที่ทำงานเหนื่อย ๆ หรือวันอากาศดี ๆ แล้วมีโควิด-19 แต่ไปไหนไม่ได้ ไปได้แต่สวนสาธารณะ ลองนึกภาพการอยู่ในประเทศที่มีแต่ตึก ปูน แล้วร้านค้าปิด จิตใจมันจะย่ำแย่ แต่เราสามารถไปเดินเล่นสวนสาธารณะได้ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจจริง ๆ สวนที่นี่จะเหมือนสวนพฤกษศาสตร์ ต้นไม้ก็จะมีชื่อ แล้วก็เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ พอหน้าร้อนก็พักผ่อนหย่อนใจ ฤดูใบไม้ผลิก็ไปดูดอกไม้ ฤดูหนาวก็ไปเล่นสเก็ตอะไรอย่างนี้
“แต่ทุกอย่างที่เราได้ มันคือภาษีที่เขาจ่ายซึ่งมัน 45% เลย ทุกอย่างมันคืนมาในรูปแบบสวัสดิการ เหมือนโรงเรียนที่เราบอกว่าเขาให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา จะมีลูกกี่คนก็เรียนฟรี เพราะมันเป็นสวัสดิการพื้นฐานของรัฐบาล”
How to ย้าย...ไปอยู่เยอรมัน
บัวเล่าว่าสำหรับคนที่อยากมาหาประสบการณ์ก่อน และอายุไม่เกิน 27 ปี สามารถใช้วีซ่า Au Pair ได้ หากจบโครงการแล้วอยากอยู่ต่อเช่นเดียวกับบัว ก็มีอีกทางเลือก คือวีซ่าสำหรับ volunteer หรืออาสาสมัครที่ทำงานกับเด็ก คนชรา หรือการช่วยเหลือสังคม แต่หากจะย้ายมาอยู่อย่างถาวรและมีพาสปอร์ตเยอรมัน เธอคิดว่าอาจไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไรนัก
“เท่าที่รู้คือมีสองทางใหญ่ ๆ อย่างแรกคือต้องแต่งงานและสอบภาษาเยอรมันให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งสอบกฎหมายพื้นฐานของเยอรมัน นอกจากนั้นก็แล้วแต่เมืองที่มีกฎแตกต่างกันไป อย่างที่สองคือทำงาน อยู่ที่นี่ในระยะหนึ่งแล้วไปคุยกับสำนักงาน เขาก็จะบอกว่าเรามีสิทธิได้ยื่นทำพาสปอร์ตเยอรมันหรือเปล่า แต่เรารู้สึกว่ากฎหมายค่อนข้างเข้มงวด มันไม่ง่ายที่จะได้สัญชาติเยอรมัน
“ถ้าเป็นกรณีพิเศษว่าบริษัทนี้รับคุณเข้ามาทำงาน มาเรียนที่นี่ แล้วคุณได้วิชาชีพก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามาแบบเสื่อผืนหมอนใบ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเขาก็ต้องเอาคนของเขาก่อน เพื่อไม่ให้คนของเขาตกงาน มันจะยากตรงที่เราต้องได้ภาษา ได้วุฒิการศึกษา เพราะวุฒิจากไทยมันเทียบได้ยากด้วยความที่สอนคนละแบบ บางทีต้องมาเรียนใหม่กันหมด
“เยอรมันทำงานข้ามสายยากมาก ข้อดีคือไม่ค่อยมีการแย่งงานกันเท่าไร เขาจะรู้เลยว่าปีนี้มีคนจบสายนี้กี่คน มีที่ว่างสำหรับกี่คน เราไม่รู้ว่าทุกอาชีพหรือเปล่า แต่เท่าที่รู้คือเกือบทุกอาชีพต้องมีใบประกาศ มีใบจบถึงทำงานได้ การที่คุณจะเป็นช่างเสริมสวยแล้วคุณไม่จบช่างเสริมสวย คุณก็เป็นได้แค่ลูกน้องหรือไม่มีโอกาสทำงานเลย เพราะบางทีเขาไม่ยอมรับ แต่ก็มีสายอาชีพบางสาขาให้เรียน เสียค่าเทอมไม่เยอะ แล้วบางบริษัทหรือรัฐบาลเขาช่วย support ก็มี คนไทยก็เลยเรียนกันเยอะ เพราะได้งานทำง่ายกว่าการเรียนปริญญา”
หลังจากอยู่ประเทศนี้มาหนึ่งปีกว่า เมื่อถามว่าอยากอยู่ที่นี่ต่อแบบถาวรไหม บัวก็ยังไม่แน่ใจนัก เพราะการอยู่ที่นี่สำหรับเธอคือการเรียนรู้ในช่วงที่ยังมีโอกาส
“เรารู้สึกว่าตอนนี้ยังมีแรง ยังมีไฟ และอยากลองใช้ชีวิต ถ้าอายุ 30-40 แล้วงานมั่นคง ก็คงไม่อยากออกไปลองผิดลองถูก แต่ตอนนี้เรายังอยากไปเรียนรู้ และคิดว่ายังใหม่กับประเทศนี้อยู่ เรามองว่าเรื่องระบบคมนาคม ขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ทำให้ชีวิตเรามันง่าย แต่บางอย่างก็ยาก เช่นเรื่องการติดต่อ กฎหมาย เพราะกฎหมายเคร่งมาก ซึ่งเราไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับกฎหมายเยอะ เลยไม่ได้รับผลกระทบเท่าไร ที่แน่ ๆ คือตอนนี้เรารู้สึกว่ายังมีไฟ อยากเรียนรู้ไปก่อน ถ้าไม่ชอบก็อาจจะไปประเทศอื่นหรืออาจจะกลับไทยก็ได้”