มาร์ติน เซลิกแมน - ทำไมมนุษย์ถึงลุกขึ้นสู้ แม้ต้องผิดหวังเป็นครั้งที่ร้อย
ช้างตัวน้อยถูกผูกเชือกไว้กับเสา มันพยายามก้าวขา สะบัดเท้าครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่อาจหลุดพ้นจากพันธนาการ มันจึงยืนอยู่ที่เดิมเรื่อยมาจนเติบใหญ่
ในวันนี้ หากช้างขยับร่างมหึมาเพียงน้อยนิดก็สามารถโอบกอดอิสรภาพได้อย่างง่ายดาย ทว่าช้างตัวโตกลับนั่งนิ่ง จำนนต่อเชือกเส้นน้อย ทั้งที่มีโอกาสหนี เพราะมันเคยเรียนรู้มาว่า ‘การต่อสู้ทุกทางไม่มีประโยชน์’
หากทบทวนถึงชีวิตจริง บางครั้งที่เราอาจตกอยู่ในสถานการณ์ใกล้เคียงกับช้างตัวนี้ ไม่ว่าจะเป็นประโยค
“หมดหวังกับประเทศนี้ คงดีขึ้นไม่ได้หรอก”
“ผิดหวังกับรักมากี่รอบ คงไม่มีวันเจอคนที่ใช่”
“เรามันไม่เก่ง ทำยังไงก็ไม่มีวันสำเร็จ”
แต่มีนักจิตวิทยาคนหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับความสิ้นหวัง และจุดประกายความหวังให้กับคนที่เผชิญสถานการณ์เหล่านี้ นั่นก็คือ ‘มาร์ติน เซลิกแมน’ (Martin Seligman) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) โดยศึกษาเกี่ยวกับ ‘ความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้’ หรือ ‘Learned Helplessness’
การทดลองกับหมา หนู และผู้คน
ในช่วงปี 1960-1970 มาร์ติน เซลิกแมน และ สตีเฟน ไมเออร์ (Steven Maier) เริ่มทำการทดลองกับสุนัข โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกจะถูกมัดไว้ช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วปล่อยไป กลุ่มที่สองจะถูกมัดไว้ด้วยสายรัดแบบเดียวกันและถูกช็อตไฟฟ้า ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงได้โดยใช้จมูกกดแผงที่อยู่ใกล้ ๆ ส่วนกลุ่มที่สามจะถูกมัดไว้และถูกช็อตไฟฟ้า แต่ไม่มีหนทางให้หลีกเลี่ยงได้ (ฟังแล้วคนรักหมาก็ใจสลายเบา ๆ) จากนั้น เซลิกแมนจะพาสุนัขทั้งสามกลุ่มเข้าไปอยู่ในกล่องที่คั่นกลางด้วยไม้เตี้ย ๆ ฝั่งหนึ่งจะมีไฟฟ้าช็อต ส่วนอีกฝั่งคือด้านที่ปลอดภัย
ทันทีที่รู้สึกถึงแรงช็อตในกล่อง สุนัขกลุ่มแรกและกลุ่มที่สองจะรีบกระโดดมาอีกฝั่งทันที ขณะที่สุนัขกลุ่มที่สามส่วนใหญ่จะนั่งซึมอยู่ที่เดิม แม้จะสามารถกระโดดข้ามได้อย่างง่ายดายก็ตาม นั่นเป็นเพราะสุนัขกลุ่มที่สามเรียนรู้มาจากตอนถูกช็อตครั้งแรก ๆ ว่า ‘ดิ้นยังไงก็ไม่มีทางหนี’ และหลังจากนั้น เขาได้ทดลองกับหนูสามกลุ่มด้วยวิธีที่ใกล้เคียงกัน และผลออกมาแบบเดียวกับเจ้าสุนัขกลุ่มนี้
ต่อมาในปี 1974 มีผู้ทำการทดลอง Learned Helplessness กับมนุษย์ แต่เปลี่ยนจากการช็อตไฟฟ้า เป็นการเปิดเสียงรบกวนชวนรำคาญหู โดยกลุ่มแรกจะไม่มีเสียงรบกวน กลุ่มที่สองมีเสียงรบกวนพร้อมปุ่มปิดเสียง และกลุ่มที่สาม มีเสียงรบกวน แต่ปุ่มกดไม่ทำงาน จากนั้นจะพาคนทั้งสามกลุ่มเข้าไปอยู่ในห้องที่มีเสียงรบกวนและมีปุ่มปิดเสียงที่ใช้งานได้ ผลปรากฏว่ามีเพียงกลุ่มแรกและกลุ่มที่สองเท่านั้นที่กดปิดเสียง ส่วนกลุ่มที่สามส่วนใหญ่จะปล่อยให้เสียงนั้นดำเนินต่อไป
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์และสัตว์ข้างต้น เป็นสิ่งยืนยันทฤษฎี ‘Learned Helplessness’ นั่นคือการเรียนรู้ที่จะยอมรับและอดทนต่อสิ่งเร้าอันไม่พึงประสงค์ (unpleasant stimuli) โดยไม่พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น แม้จะมีโอกาส เรียกง่าย ๆ ว่า ‘ผิดหวังจนสิ้นหวัง’ ทำให้พวกเขาหยุดพยายามที่จะหลีกหนีจากบาดแผลเหล่านั้น แล้ว ‘ยอมรับ’ สภาพที่เป็นอยู่ แม้จะมีโอกาสเอาตัวรอด หลบหนี หรือทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ก็ตาม
สิ่งที่ตามมาจึงมักเป็นความรู้สึกหมดแรงจูงใจ ความเครียด อาการเบิร์นเอาต์ (burnout syndrome) หรือ self-esteem ที่ลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ เช่น เด็กที่สอบตกเลขเป็นประจำ เลยหันหลังให้กับการเรียนเลขไปจนโต เหยื่อความรุนแรงที่ยอมถูกทำร้ายซ้ำ ๆ เพราะคิดว่าไม่มีทางสู้หรืออยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ที่ทำร้าย นอกจากนี้ทฤษฎีดังกล่าว ยังมีความสัมพันธ์กับเรื่องอายุ อย่างคนที่อายุมากขึ้น มีโอกาสพบความผิดหวังบ่อยครั้งกว่าตอนเด็ก ๆ ข้อดีคือความรอบคอบและวุฒิภาวะในการตัดสินใจ แต่สิ่งที่หล่นหายไปอาจเป็นความกล้าเสี่ยง กล้าพยายามอีกครั้ง อย่างที่บางคนเคยบอกว่า ‘ความฝันมักหดเล็กลงไปตามอายุ’ นั่นเอง
สิ่งที่บั่นทอนความหวังไม่ใช่เหตุการณ์ แต่เป็นความคิด
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในสามของสัตว์หรือคนที่อยู่ในเงื่อนไข ‘หลีกเลี่ยงไม่ได้’ กลับไม่เผชิญกับสภาวะ Learned Helplessness หรือในชีวิตจริง ยังมีบางคนที่ผิดหวังเป็นร้อยครั้ง แต่ยังไม่ยอมแพ้
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?
คำตอบคือ Learned Helplessness ไม่ได้มาจากสถานการณ์เพียงอย่างเดียว แต่มาจาก ‘ความคิด’ ของคนคนนั้นด้วย เพราะสิ่งที่มีบทบาทสำคัญคือ รูปแบบการอธิบายสาเหตุของเหตุการณ์ ( Explanatory style) อย่างคนที่มองโลกในแง่ดี จะคิดว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเพียง ‘ชั่วคราว’ เฉพาะเจาะจงแค่เรื่องนี้ ‘ไม่ใช่ทุก ๆ เรื่อง’ และคิดว่าสิ่งเลวร้ายอาจมาจาก ‘ปัจจัยอื่น ๆ’ นอกจากตนเองเพียงอย่างเดียว ฉะนั้นพวกเขาจะคิดว่า ยังมีโอกาสแก้ไขให้ดีขึ้นได้ หรือ ‘มีความหวัง’ ว่าทุกอย่างจะดีขึ้นในอนาคต คล้ายกับคนที่มี Growth Mindset แล้วบอกตัวเองว่า ฉัน ‘ยัง’ ทำไม่ได้ แทนที่จะบอกว่า ฉัน ‘ไม่มีวัน’ ทำได้ นั่นเอง
แล้วกลุ่มที่เผชิญกับ Learned Helplessness ไปแล้ว จะเป็นอย่างไร ?
ข่าวดีคือ ‘Learned Helplessness’ ไม่ใช่สิ่งเป็นโดยกำเนิด (innate trait) แต่สามารถ ‘เรียนรู้ได้’ ตามชื่อทฤษฎี ฉะนั้นคนที่สิ้นหวังอาจจะกลับมามีความหวังได้เช่นกัน เซลิกแมนจึงได้ทดลองเรื่องนี้ด้วยการใช้สายจูงลากเจ้าสุนัขกลุ่มที่สิ้นหวัง (helpless) มาช้า ๆ เพื่อให้รู้ว่ากล่องอีกด้านไม่มีกระแสไฟฟ้า
หลังจากเรียนรู้แล้ว สุนัขแทบทุกตัวจะกระโดดมาอีกฝั่งได้ด้วยตัวเอง (แม้ว่าช่วงแรก ๆ ต้องออกแรงดึงค่อนข้างมาก) นั่นแสดงว่า ในวันที่สิ้นหวังไปแล้ว เราสามารถเรียนรู้ที่จะมีความหวังได้อีกครั้ง ผ่านวิธีการต่าง ๆ เช่น การให้กำลังใจเพื่อนที่กำลังสิ้นหวัง แล้วชวนมาแบ่งปันหรือร่วมกันคิดหาวิธีแก้ปัญหาอื่น ๆ ที่ยังไม่เคยลองทำมาก่อน หรือ การเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองแก้ไขปัญหาเดิมด้วยวิธีใหม่ ๆ เป็นต้น เพราะสิ่งที่ยากที่สุด ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา แต่เป็นการตัดสินใจลุกขึ้นมาพยายามใหม่อีกครั้งนั่นเอง
สู่การพัฒนาจิตวิทยาเชิงบวก
หลังจากที่มาร์ติน เซลิกแมน เริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับ Learned Helplessness เขาก็เริ่มสงสัยด้วยว่า นอกจากการแก้ไข หรือบำบัดรักษาแล้วจะมีวิธีที่ช่วย ‘ป้องกัน’ การเกิด Learned Helplessness และเรื่องอื่น ๆ อีกหรือไม่
“ตอนที่ผมเริ่มเป็นนักจิตบำบัดใหม่เมื่อ 30 ปีก่อน ผมเคยคิดนะว่า ถ้าผมเก่งพอที่จะทำให้ใครสักคนหายซึมเศร้า ไม่วิตกกังวล ไม่โกรธ นั่นแปลว่าผมทำให้เขามีความสุขแล้ว แต่ผมไม่เคยพบผลอย่างที่คิด ผมพบว่า อย่างดีที่สุดคุณก็ทำได้แค่ดึงเขามาที่ศูนย์ แต่แล้วเขาก็รู้สึกว่างเปล่า” เซลิกแมนกล่าวบนเวที TED Talks เมื่อปี 2004
นั่นอาจเป็นเหตุผลที่เขาเริ่มสนใจมากกว่าการบำบัดรักษา และเริ่มศึกษาจิตวิทยาเชิงบวกอย่างจริงจัง หากอธิบายให้เห็นภาพ จิตวิทยาเชิงบวกจะเน้นที่ ‘พัฒนาการ’ ของแต่ละคน เช่น เปลี่ยนสภาวะจิตใจจากระดับ -3 มาเป็น -1 จาก 0 มาเป็น 1 หรือเปลี่ยนจาก 3 เพิ่มขึ้นไปเป็น 4 ขณะที่จิตวิทยาเพื่อการรักษาคล้ายกับการดึงคนที่สภาวะจิตใจติดลบมาอยู่ในระดับ 0 หรือมากกว่านั้น
หนึ่งในผลงานด้านจิตวิทยาเชิงบวกที่น่าสนใจของเซลิกแมน คือการค้นหาและพัฒนาจุดแข็งเชิงบวกของมนุษย์ (Character Strengths) ทั้ง 24 ด้าน เช่น บางคนอาจจะมีจุดแข็งที่ความยุติธรรม อารมณ์ขัน ความกล้าหาญ ฯลฯ โดยเน้นพัฒนาและสร้างรากฐานทางใจที่แข็งแรง สร้างมุมมองที่ว่าแต่ละคนมีคุณค่า ความงดงามและจุดแข็งในแบบของตนเอง เมื่อมีพื้นฐานจิตใจที่เข้มแข็งแล้ว ก็จะสามารถแก้ไขจุดอ่อนของตัวเองได้ โดยไม่รู้สึกด้อยค่า รวมทั้งรับมือและก้าวข้ามกับปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ รวมทั้ง ‘Learned Helplessness’ ได้เช่นเดียวกัน
ทุกเรื่องราวที่เซลิกแมนศึกษาสะท้อนให้เราเห็นว่า ความหวังจะยังอยู่กับเราเสมอ ไม่ว่าจะเป็นช้างที่ถูกผูกเชือก สุนัขที่อยู่ในกล่อง หรือคนที่ต้องทนฟังเสียงรบกวน เพราะสุดท้ายแล้ว มนุษย์สามารถเลือกได้ว่าจะถูกกลืนกินด้วยความสิ้นหวัง หรือลุกขึ้นมาอีกครั้งด้วยความหวังและความศรัทธา
*สำหรับผู้ที่สนใจค้นหาจุดแข็งเชิงบวก (Character Strengths) สามารถทำแบบทดสอบได้ที่เว็บไซต์ https://www.viacharacter.org/ หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเวอร์ชันภาษาไทยได้ใน www.mindsetmaker.co ซึ่งเป็น interactive video เชื่อมโยงกับ 24 character strengths เพื่อขยายภาพให้ครูมองเห็นทางเลือกในการส่งเสริมอุปนิสัย ผ่านมุมมองทางจิตวิทยาเชิงบวก
ที่มา
https://positivepsychology.com/who-is-martin-seligman/
https://www.verywellmind.com/martin-seligman-biography-2795527
https://positivepsychology.com/learned-helplessness-seligman-theory-depression-cure/
https://www.annualreviews.org/doi/pdf/10.1146/annurev.me.23.020172.002203
https://www.verywellmind.com/what-is-learned-helplessness-2795326
https://www.techtello.com/learned-helplessness-vs-learned-optimism/
http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2016/TU_2016_5606035235_7121_5125.pdf
https://www.ted.com/talks/martin_seligman_the_new_era_of_positive_psychology/transcript?language=th#t-385542
ที่มาภาพ