มิเชล ฟาน - บทเรียนจากการ Burnout ของยูทูบเบอร์และนักธุรกิจเจ้าของแบรนด์มูลค่าร้อยล้านเหรียญสหรัฐ
“ผู้หญิงไม่ได้แต่งหน้าเพื่อผู้ชาย ผู้หญิงส่วนใหญ่แต่งหน้าเพื่อตัวเอง พวกเธออยากจะรู้สึกดี เพราะถ้าพวกเธอรู้สึกดี พวกเธอก็จะปล่อยความมั่นใจนั้นออกมาด้วย แน่นอนว่าผู้หญิงอยากจะดูดีเพื่อใครสักคนบ้าง แต่ก็มักจะทำเพื่อตัวเองมากกว่า แล้วการแต่งหน้ายุคหลังจากเจเนอเรชันยูทูบ ก็ได้กลายเป็นการแสดงออกทางตัวตน มากกว่าที่จะเป็นการปกปิดความไม่สมบูรณ์แบบ” (จากบทสัมภาษณ์ในช่องยูทูบของ Sueching Chin เมื่อปี 2016)
เจ้าของถ้อยคำเหล่านี้คือ ‘มิเชล ฟาน’ (Michelle Phan) หญิงสาวจากครอบครัวผู้อพยพชาวเวียดนาม-อเมริกันที่เติบโตมาเป็นยูทูบเบอร์ทำคลิปสอนแต่งหน้าตั้งแต่วันที่ยูทูบยังไม่สามารถสร้างรายได้ จนมีผู้ติดตามหลักล้านในเวลาไม่กี่ปี พร้อมทำธุรกิจด้านความงามควบคู่ไปด้วย ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จทั้งชื่อเสียงและรายได้มหาศาล
ขณะที่ชีวิตก้าวผ่านอุปสรรคและสามารถไขว่คว้าดวงดาวที่เฝ้าฝันไว้แสนนาน ในปี 2016 มิเชล ฟานกลับทิ้งทุกอย่าง แล้วหายตัวไปจากโลกการทำงานและโซเชียลมีเดีย ทิ้งไว้เพียงปริศนาและคำถามจากผู้ติดตามหลักล้านของเธอ…
แรงผลักจากความจน สู่การเป็นยูทูบเบอร์สายบิวตี้
มิเชล ฟาน เกิดในเมือง (Boston) รัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1987 ชีวิตวัยเด็กของฟานไม่ราบรื่นเท่าไรนัก ทั้งการระหกระเหินไปยังสถานที่ต่าง ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า ฐานะทางบ้านที่ค่อนข้างลำบาก และการกลั่นแกล้งที่โรงเรียน ฟานจึงหันหน้าเข้าสู่ศิลปะและความสร้างสรรค์ ซึ่งเธอนิยามว่าเป็น ‘สถานที่แสนสุขใจในความคิดของเธอ’
แม่ของฟานประกอบอาชีพเป็นช่างทาเล็บ เธอจึงเติบโตมากับสีสันและนิตยสารความงาม ฟานเรียนรู้เคล็ดลับการแต่งหน้าจากหนังสือของแบรนด์ต่าง ๆ ในร้านของแม่ อย่าง Laura Mercier และ Bobbi Brown บวกกับการท่องเว็บ Barnes & Noble เพราะเธอไม่มีเงินพอจะซื้อหนังสือมาอ่านอย่างจริงจัง
แม้เธอจะฉายแววเรื่องความสวยความงามอย่างชัดเจน แต่แม่ของเธอกลับอยากให้ลูกไม้หล่นห่างไกลจากต้นเดิม เพราะไม่อยากอยู่ในวังวนของความจนอีกต่อไป ฟานจึงสานต่อความฝันของแม่ด้วยการทุ่มเทอ่านหนังสือเพื่อสอบเข้าเรียนต่อในคณะแพทยศาสตร์
แต่เรื่องราวกลับพลิกผัน เมื่อสัญชาตญาณของฟานบอกให้เธอเดินไปอีกเส้นทาง เธอจึงสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยด้านศิลปะที่ Ringling College of Art and Design ก่อนจะมาสารภาพกับแม่ทีหลัง พร้อมสัญญาว่าจะทำให้ครอบครัวสุขสบายให้ได้บนทางที่เธอเลือก
ฟานเริ่มต้นความฝันจากการใช้แล็ปท็อปที่มหาวิทยาลัยแจกเพื่อการศึกษา มาทำช่องยูทูบของตัวเอง ทั้งที่ตอนนั้นยังไม่มีใครสามารถสร้างรายได้จากยูทูบ แต่เธอคิดว่า อย่างน้อยก็สามารถสะสมตัวเลขของผู้ติดตามไว้ใส่ในเรซูเม่ได้ และคิดว่ายูทูบอาจเป็นเหมือนทีวีสำหรับใครหลายคนในอนาคต
วิดีโอแรกในช่อง Michelle Phan คือ ‘Natural Looking Makeup Tutorial’ ในปี 2007 ที่มียอดผู้ชมกว่า 4 หมื่นครั้งภายใน 1 สัปดาห์ และผ่านไปหนึ่งปีเธอก็มียอดเข้าชมถึงหลักล้าน ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงในวันที่ผู้ใช้งานยูทูบยังมีไม่มากนัก จนกระทั่งยูทูบเริ่มมีนโยบายสร้างรายได้ให้กับเหล่าครีเอเตอร์ ฟานจึงก้าวเข้ามาทำอาชีพนี้อย่างเต็มตัว และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ยูทูบเบอร์สายบิวตี้รุ่นต่อมาหลายต่อหลายคน หากจุดเริ่มต้นของเธอไม่ใช่การทำเพื่อเงิน แต่มาจากความหลงใหลและการมองเห็นปัญหา
“โอกาสดี ๆ จะมาถึงได้เมื่อคุณไม่ได้พยายามสร้าง product เพื่อเงิน แต่คุณพยายามที่จะเสนอทางออกให้กับปัญหาจริง ๆ และตอนนั้น (ช่วงปี 2007-2008) มีคนสอนแต่งหน้าไม่มากนัก คุณต้องไปที่เคาน์เตอร์และซื้อสินค้า หรือจ่ายเงินสำหรับคอร์สสัมมนาต่าง ๆ ฉันก็เลยเห็นช่องว่างของตลาด บางทีการทำวิดีโอพวกนี้อาจเป็นการเติมเต็มช่องว่างเหล่านั้นก็ได้ แล้วโชคดีที่ฉันมาถูกทาง” (จากบทสัมภาษณ์ในช่องยูทูบของ Girlboss ในปี 2020)
ก้าวใหม่ในโลกธุรกิจ
สิบปีที่แล้ว เธอคือยูทูบเบอร์สายบิวตี้ที่มีผู้ติดตามหลักล้าน แต่ฟานไม่ได้หยุดความฝันเพียงเท่านั้น เธอเปิดประตูบานใหม่สู่โลกธุรกิจ จากการเปิดบริษัท ‘ipsy’ บริการสมัครสมาชิกรายเดือนเพื่อส่งกระเป๋าพร้อมเครื่องสำอางแบรนด์ดังขนาดทดลองให้กับผู้ใช้งาน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลามตั้งแต่เปิดตัว
ฟานเล่าว่าไอเดียธุรกิจนี้ เกิดขึ้นเมื่อเธอเดินทางไปยังห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในประเทศไทยแล้วพบว่า ผู้คนนิยมซื้อเครื่องสำอางขนาดทดลอง เพราะที่นี่ไม่สามารถนำสินค้าไปขอคืนเงินได้หลังจากใช้แล้วไม่พอใจเหมือนในสหรัฐอเมริกา เมื่อเห็นช่องว่างทางธุรกิจ เธอจึงเก็บไอเดียนี้ไว้ จนวันที่พร้อมทั้งทรัพยากรและทุนทรัพย์ บริษัท ipsy จึงถือกำเนิดขึ้น แม้จะเริ่มจากต้นทุนไม่มาก แต่เธอเล่าว่า ipsy สามารถประหยัดงบการตลาดได้ เพราะเธอลงทุนไปแล้วก่อนหน้านี้จากการทำช่องยูทูบของตัวเอง นอกจากนี้เธอยังจัดทำโครงการต่าง ๆ เช่น Ipsy Open Studios ที่สนับสนุนเหล่านักสร้างสรรค์ด้านความงามให้สามารถถ่ายทอดเนื้อหาได้อย่างมืออาชีพ
แน่นอนว่าการเปลี่ยนสายจากด้าน ‘ศิลปะ’ มาสู่ ‘ธุุรกิจ’ ไม่ใช่เรื่องง่าย ฟานจึงใช้วิธีเรียนรู้จากการทำงาน เธอจะสังเกต จดจำ และกลับมาค้นคว้าสิ่งที่ไม่รู้หรือคำที่เธอไม่เข้าใจในอินเทอร์เน็ต ฟานเปรียบเทียบชีวิตช่วงนั้นเหมือนเข็มทิศ ตอนที่หยิบขึ้นมาครั้งแรก เราอาจจะลองหันซ้ายหันขวา ถูกบ้างผิดบ้าง เพื่อให้รู้ว่าทิศไหนคือเส้นทางที่ถูกต้อง แต่อีกปัญหาที่เธอต้องเผชิญคือการถูกตัดสินจากคนรอบข้าง ซึ่งกลายเป็นแรงผลักดันสำหรับเธอ
“ในโลกธุรกิจ ผู้คนจะมองฉันว่ายังเด็ก เป็นผู้หญิง แล้วก็เป็นยูทูบเบอร์ นั่นคือสิ่งที่พวกเขามองฉัน ทั้งหมดนั้นคือฉลากที่แปะลงบนตัวฉัน ‘เธอยังเด็ก เป็นผู้หญิง และเป็นยูทูบเบอร์’ เธอจะรู้อะไร เธอคงไม่รู้เรื่องธุรกิจหรอก ผู้คนประเมินค่าเราต่ำไป แต่พวกเขาก็ไม่รู้หรอกว่าแท้จริงแล้วเราเป็นยังไง และเราจะทำให้เขาประหลาดใจได้ในที่สุด”
หายไปจากโลกโซเชียล เพื่อตามหาตัวตนที่แท้จริง
มิเชล ฟาน คว้าอิสระทางการเงินให้กับครอบครัวได้อย่างที่สัญญากับแม่ไว้ เธอมีพร้อมทั้งเงินทองและชื่อเสียง แต่ทุกย่างก้าวนั้นราวกับบันไดที่ทอดยาวไม่มีที่สิ้นสุด
“รสชาติความสำเร็จเหมือนยาเสพติดที่ไม่เคยพอสำหรับฉัน ยิ่งโปรดักทีฟเท่าไร ฉันก็จะยิ่งสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น เพราะเงินซื้อความสุขได้”
นั่นคือความคิดของเธอในช่วงเวลานั้น ฟานต้องผลิตวิดีโอจำนวนมากออกมาสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ความสนุกในวันแรกของเธอเริ่มเลือนหาย ขณะที่การกระหายความสำเร็จกลับเพิ่มขึ้น ทั้งยังเริ่มมีความรู้สึกไม่พอใจกับรูปร่างหน้าตาของตัวเอง จนสภาพจิตใจเริ่มย่ำแย่ หัวใจที่เคยเต็มเปี่ยมด้วยพลังและความใฝ่ฝัน ถูกแทนที่ความรู้สึกว่างเปล่า
“สุดท้ายฉันเป็นหญิงสาวที่มีฝัน แต่กลายเป็นสินค้า ยิ้ม ขายของ แล้วก็ขายของ ฉันที่อยู่หน้ากล้อง กับฉันในชีวิตจริงเหมือนกลายเป็นคนแปลกหน้า”
ในปี 2016 มิเชล ฟาน ตัดสินใจ ‘ใช้เงินซื้อเวลา’ เธอทิ้งโลกการทำงานและยอดผู้ติดตามสูงลิ่วไว้เบื้องหลัง แล้วออกเดินทางเพื่อตามหาตัวตนที่หล่นหาย แม้จะรู้ว่าการไม่ได้อัปโหลดวิดีโออย่างเคย อาจทำให้ยอดผู้ติดตามและชื่อเสียงกลายเป็นเพียงความทรงจำ แต่ความรู้สึกเหนื่อยล้าและหลงทางกลับมีมากกว่าความกลัวเหล่านั้น
หลังออกเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยปราศจากบทสนทนาเรื่องงาน ไม่มีชื่อเสียงเงินทอง และไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต เธอได้ค้นพบบทเรียนสำคัญในชีวิต
“ฉันใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อไล่ตามความสำเร็จ เพื่อพบว่าตัวเองกำลังวิ่งหนีจากสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือตัวฉันเอง”
ฟานเล่าว่า การออกเดินทางอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็จริง แต่สิ่งที่ได้กลับมา คือมุมมองใหม่ ๆ เธอพบว่าชีวิตไม่ได้มีแค่เรื่องการทำงาน โลกซับซ้อนมากกว่านั้น เธอสามารถมองอะไรที่ต่างออกไปจากมุมเดิมได้ ไม่จำเป็นต้องคิดหรือเชื่อตามที่คนอื่น ๆ บอกเสมอไป
มิถุนายน 2017 เธอกลับมาอีกครั้งพร้อมวิดีโอชื่อ ‘Why I Left’ ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอตั้งแต่วัยเด็ก จนวันที่ประสบความสำเร็จสูงสุด และการออกตามหาตัวตนที่เกือบสูญเสียไประหว่างนั้น
เธอยังคงรักการทำยูทูบและธุรกิจด้านความงาม แต่การกดดันและแข่งขันกับตัวเองมากจนเกินไปกลายเป็นกับดักที่คอยฉกฉวยเอาความสุขระหว่างทางไปเกือบหมดสิ้น ฟานจึงกลับมาอีกครั้งในฐานะเบื้องหลัง และทำคลิปลงในยูทูบเป็นครั้งคราว จนกระทั่งกันยายน ปี 2017 เธอขายบริษัท ipsy ให้กับเพื่อนร่วมก่อตั้ง เพื่อก้าวสู่เส้นทางใหม่กับบริษัท EM Cosmetics และขยายความสนใจไปยังด้านอื่น ๆ อย่างคริปโตฯ และโหราศาสตร์
บ่อยครั้งที่เธอปรากฏตัวในพอดแคสต์เกี่ยวกับ Bitcoin เพราะเชื่อว่าผู้ประกอบการควรลงทุนใน Bitcoin “มันอาจจะเป็นการลงทุนที่สำคัญที่สุดที่คุณเคยทำได้ในชีวิต” เธอกล่าวอย่างจริงจัง “ตอนนี้ฉันเข้าไปในร้านกาแฟและซื้อเครื่องดื่มด้วย Bitcion ไม่ได้ แต่นั่นก็เหมือนกันกับอินเทอร์เน็ต จำได้ไหมว่าเมื่อก่อนมีแค่อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ? และตอนนี้เรามีอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์แล้ว” ฟานกล่าว
ปัจจุบัน มิเชล ฟาน ยังเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เป็นหญิงสาวที่หลงใหลในโลกความสวยงามอยู่เช่นเคย และแน่นอนว่าหญิงสาวคนนี้ยังคงกล้าเสี่ยง กล้าฝัน และกล้าลงมือทำอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ หากสิ่งที่เปลี่ยนไปคือการทำทุกอย่างด้วยรอยยิ้ม และความสุขที่มีมากยิ่งขึ้น โดยไม่ได้เอาความสำเร็จเป็นที่ตั้งเหมือนกับวันแรกที่ก้าวเข้ามาบนเส้นทางสายนี้ด้วยความฝันและความรัก
ที่มา:
https://www.biography.com/personality/michelle-phan
https://www.thecut.com/2019/09/michelle-phan-youtube-beauty-star-on-why-she-left.html
https://www.youtube.com/watch?v=bF8N9J2dDbE
https://www.youtube.com/watch?v=gPevz0noboA
https://www.youtube.com/watch?v=UuGpm01SPcA&t=2s
ที่มาภาพ https://www.instagram.com/michellephan/