แอนเดรีย เมซา: เหตุผลของชัยชนะและการเมืองบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส
หลังจากการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2020 จบลงแบบเหนือความคาดหมายของหลาย ๆ คน อย่างไรก็ตาม เราได้ผู้ชนะคือ แอนเดรีย เมซา (Andrea Meza) สาวงามจากประเทศเม็กซิโก ซึ่งถือว่าเป็นผู้เข้าประกวดที่ได้รับความสนใจไม่น้อยตั้งแต่แรกเริ่ม บทความนี้จึงอยากจะชวนผู้อ่านทำความรู้จักกับเธอ รวมถึงแบ่งปันความรู้สึกต่อการประกวดมิสยูนิเวิร์สในปีนี้
แอนเดรีย เมซา สาวงามวัย 26 ปี เกิดวันที่ 13 สิงหาคม 1994 เธอมีส่วนสูงถึง 182 เซนติเมตร เกิดและเติบโตในครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีลูกพี่ลูกน้องถึง 40 คน ที่เมืองชีวาวา ประเทศเม็กซิโก เธอจบการศึกษาด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ และเคยได้รับตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 1 บนเวทีการประกวดมิสเวิลด์ประจำปี 2017 ก่อนที่จะกลับมาคว้าชัยชนะบนเวทีมิสยูนิเวิร์สประจำปี 2020 ได้สำเร็จ
คำตอบที่พาเธอคว้าชัยบนเวทีมิสยูนิเวิร์สถือว่าน่าชื่นชมไม่น้อย เธอได้รับคำถามว่า จะมีวิธีจัดการกับโรคระบาดโควิด-19 อย่างไรหากเธอดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ แอนเดรียตอบว่า
“ฉันเชื่อว่าไม่มีหนทางที่สมบูรณ์แบบในการจัดการกับสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นโควิด-19 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ฉันจะทำคงเป็นการล็อกดาวน์ก่อนที่สถานการณ์จะรุนแรง เพราะเราได้สูญเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมากซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่อาจยอมรับได้ เราต้องดูแลประชาชนของเรา และนั่นคือสาเหตุที่ว่า ทำไมฉันถึงต้องดูแลพวกเขาตั้งแต่แรกเริ่ม”
ไม่เพียงเท่านั้น... เธอยังได้แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลงต่อมาตรฐานความงามในยุคปัจจุบันอีกด้วย
“เรามีชีวิตอยู่ในสังคมที่ล้ำหน้ายิ่งขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และยิ่งเรานำพาสังคมไปไกลมากเท่าไร เรายิ่งยึดติดกับภาพแทนดาษดื่น (stereotype) มากยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่เราไม่ควรมองกันเพียงแค่ความสวยงามจากภายนอก เพราะสำหรับฉัน ความสวยงามไม่ได้เป็นเรื่องของความรู้สึกนึกคิด แต่เป็นเรื่องของจิตใจและพฤติกรรมที่แสดงออกให้คนอื่นเห็น อย่ายอมให้ใครบอกคุณว่าคุณไม่มีคุณค่า”
คำตอบของแอนเดรียถือว่าเข้าเกณฑ์มาตรฐานของความเป็นมิสยูนิเวิร์สในยุคที่ WME-IMG (William Morris Endeavor Entertainment สังกัดดารานักแสดงชื่อดังของสหรัฐอเมริกา) ถือครองลิขสิทธิ์การประกวด ซึ่งก่อนหน้านี้ลิขสิทธิ์มิสยูนิเวิร์สเป็นของโดนัล ทรัมป์ และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเกณฑ์การตัดสินมุ่งเน้นความสวยงามภาพเรือนร่างจนเกินไป เราเห็นถึงความพยายามนำเสนอนิยามของความงามรูปแบบใหม่ที่ยึดโยงกับศักยภาพและคุณสมบัติของการเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงด้วยกัน
อีกหนึ่งในหลายเหตุผลที่ทำให้แอนเดรียสามารถตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องการเมืองและความงามได้ถูกใจกรรมการมิสยูนิเวิร์สคงเป็นเพราะเธอเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เธอมีความสนใจในประเด็นสิทธิสตรีและทำงานร่วมกับองค์กรสตรีของเม็กซิโกที่รณรงค์การยุติความรุนแรงทางเพศเสมอมา รวมถึงเธอยังได้มีโอกาสร่วมงานกับองค์กรการกุศลระดับโลกที่ระดมทุนในนานาประเทศ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย จีน เพื่อช่วยเหลือบุคคลผู้ขาดโอกาสทางสังคม
ยิ่งไปกว่านั้น แอนเดรียยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตการท่องเที่ยวของเมืองชีวาวา เนื่องจากเธอชื่นชอบในการท่องเที่ยวและกีฬาผาดโผน เช่น การปีนเขา แซนด์บอร์ด (sand boarding) เธอเป็นนางแบบมืออาชีพ และได้รับประกาศนียบัตรด้านการแต่งหน้า อีกทั้งเธอยังห่วงใยใส่ใจโลกโดยการกินมังสวิรัติ
คุณสมบัติที่ครบเครื่องและครบครันขนาดนี้จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่มิสยูนิเวิร์สจะเลือกเธอมาทำหน้าที่เป็นตัวแทนและกระบอกเสียงขององค์กรมิสยูนิเวิร์สหลังจากที่นางงามจากแถบลาตินอเมริกาห่างหายจากการครองมงกุฎไปนานหลายปี
เป็นที่น่าสังเกตว่าคำถามในปีนี้ลดความเข้มข้นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศไปมาก จุดนี้อาจจะทำให้เราเอะใจได้ว่าการประกวดมิสยูนิเวิร์สในปีนี้ลดความสำคัญเรื่องการเมืองลงไปหรือเปล่า ซึ่งไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ก่อนวันประกวดจริง ทางกองประกวดมิสยูนิเวิร์สได้ให้แนวทางแก่ผู้แข่งขันถึงประเด็นสำคัญที่จะนำมาเป็นคำถามในรอบสุดท้าย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องการเมือง วัฒนธรรม สังคม เหมือนเช่นเคย เพียงแต่ผู้เข้าประกวดจับสลากได้คำถามที่อาจจะห่างไกลจากการเมืองอยู่บ้าง (แต่ก็ทีสาวงามจากอินเดียที่ได้คำถามถึงความคิดเห็นเรื่องสิทธิในการแสดงออกทางการเมือง
หรือแม้แต่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรองชนะเลิศทุกอันดับ อาทิ จูเลีย กามา (Julia Gama) จากประเทศบราซิล จานีค มาเซตา (Janick Maceta) จากประเทศเปรู อาดไลน์ คาสเทลิโน (Adline Castelino) จากประเทศอินเดีย คิมเบอร์ลี จิเมเนซ (Kimberly Jimenez) จากสาธารณรัฐโดมินิกัน ทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและทำงานเพื่อสังคมด้วยกันทั้งสิ้น
แต่อุดมคติทางการเมืองแบบมิสยูเวิร์สกลับแสดงตัวอย่างชัดเจนในการคัดเลือกรางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมซึ่งตกเป็นของสาวงามจากประเทศพม่า ธูซาร์ วินท์ ลวิน (Thuzar Wint Lwin) เราคงพอคาดเดากันได้ว่าไม่ใช่เพียงความสวยงามของเครื่องแต่งกาย แต่เป็นป้าย ‘Pray for Myanmar’ ที่สาวงามจากพม่าชูขึ้นเหนือศีรษะเพื่อประกาศให้โลกรับรู้ถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า อีกทั้งเรายังได้เห็นภาพที่เธอชูสามนิ้วในการชุมนุมประท้วงต้านเผด็จการทหารอีกด้วยในตอนที่ชื่อของเธอถูกประกาศในฐานะผู้ผ่านเข้ารอบ 21 คนสุดท้าย...
นี่ถือเป็นการแสดงออกทางการเมืองของเวทีมิสยูนิเวิร์สที่ต้องการสื่อสารว่ากองประกวดมิสยูนิเวิร์สสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และตอกย้ำว่าการต่อสู้กับความอยุติธรรมทางสังคมเป็นเรื่องน่ายกย่องชื่นชม และถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานความงามแบบสากลที่มิสยูนิเวิร์สให้คุณค่า
ในส่วนของตัวแทนสาวไทย อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม ที่ผ่านเข้ามาถึงรอบ 10 คนสุดท้าย ถึงแม้ว่าหลายคนคาดหวังว่าเธอจะไปได้ไกลกว่านี้ แต่ทุกคนก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่ายังมีอีกหลายแง่มุมหรือเรื่องราวที่เราไม่รู้หรือไม่เห็น เราอาจจะโฟกัสที่ตัวแทนของเราจนอาจจะละเลยว่าสาวงามทุกคนคือผู้ชนะของประเทศนั้น ๆ ซึ่งการันตีคุณสมบัติที่เพียบพร้อมมาในระดับหนึ่งแล้ว รางวัล 10 คนสุดท้ายก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่อะไร แถมยังมาไกลกว่าหลายประเทศที่เป็นตัวเต็ง และท้ายที่สุดรางวัล 10 คนสุดท้ายที่อแมนด้าทำได้ยังคงตอกย้ำว่าสายสะพายประเทศไทยบนเวทีมิสยูนิเวิร์สยังคงแข็งแกร่งและเป็นที่จับตามองมากขึ้นทุกปี
จริงอยู่... คนไทยอาจจะไม่ได้รับชัยชนะในมิติด้านความงาม และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แอนเดรีย เมซา สาวงามจากเม็กซิโกสวยงามและสมบูรณ์แบบเมื่อเราได้ทราบเบื้องลึกเบื้องหลังของเธอ แต่อย่างน้อย ๆ เราควรยินดีที่ได้เห็นภาพชูสามนิ้วซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านเผด็จการปรากฏบนเวทีโลก และแม้ว่านั่นจะไม่ใช่ภาพของตัวแทนของประเทศเรา แต่ประเทศเราก็ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในขบวนการการขับเคลื่อนครั้งนี้ด้วย…
ในขณะที่สามนิ้วเป็นที่ชื่นชมของสากลโลก… แต่ก็มีคนบางส่วนกลับมองว่าขวางหูขวางตา
เรื่อง: ณัฐ วิไลลักษณ์
ภาพ: Rodrigo Varela/Getty Images