คลารา บาร์ตัน: จากพยาบาลผู้ไม่เคยอบรมด้านการแพทย์ สู่ผู้ก่อตั้งสภากาชาดแห่งอเมริกา

คลารา บาร์ตัน: จากพยาบาลผู้ไม่เคยอบรมด้านการแพทย์ สู่ผู้ก่อตั้งสภากาชาดแห่งอเมริกา
“ฉันอาจจะถูกบังคับให้เผชิญหน้ากับความอันตราย แต่ฉันไม่เคยกลัวมันเลย ขณะที่ทหารของเรายืนหยัดต่อสู้ ฉันก็ยืนหยัดสนับสนุน และพยาบาลพวกเขาเหมือนกัน”
นั่นคือคำพูดของ ‘คลารา บาร์ตัน’ สุภาพสตรีผู้ทรงเกียรติคนหนึ่งของประวัติศาสตร์อเมริกา เพราะเธอไม่ได้เป็นเพียงพยาบาลภาคสนามที่อาสาไปรักษาทหารในสงครามกลางเมืองด้วยตัวเองมากถึง 16 สนามรบ แต่เธอยังเป็นผู้ก่อตั้งสภากาชาดแห่งอเมริกา และเป็นประธานสภาคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนานถึง 23 ปี แต่ก่อนที่คลาราจะเลือกเข้าสู่เส้นทางของพยาบาล เธอเป็นเพียงคุณครูและเสมียนที่ไม่เคยอบรมด้านการแพทย์มาก่อน และคนไข้คนแรกที่เธอได้ลองดูแลก็ไม่ใช่ใครอื่น เขาคือพี่ชายที่ล้มป่วยของเธอเอง เด็กสาวผู้ไม่เคยอบรมด้านการแพทย์ ‘คลาริสสา ฮาร์โลว์ บาร์ตัน’ (Clarissa Harlowe Barton) ลืมตาดูโลกในวันคริสต์มาส ปี 1821 ที่เมืองออกซ์ฟอร์ด รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอเป็นลูกคนที่ 5 ของสองสามีภรรยา ‘สตีเฟน บาร์ตัน’ และ ‘ซาราห์ บาร์ตัน’ คลาราเป็นเด็กสาวขี้อายที่ใช้ชีวิตตามปกติในฐานะลูกสาวของชาวไร่ผู้มีชื่อเสียง แต่แล้วความเป็นพยาบาลในตัวของเธอก็เริ่มฉายแวว เมื่อต้องดูแลพี่ชายคนโตอย่าง ‘เดวิด’ หลังจากที่เขาได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ แต่ประสบการณ์ในครั้งนั้นก็ยังไม่มากพอให้คลาราเลือกเข้าศึกษาต่อด้านการพยาบาล เธอเพียงรู้สึกว่า เธอต้องการช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อน หลังจากนั้น พ่อแม่ของคลาราก็วางแผนชีวิตให้เธอไปเป็นครู คลาราจึงเริ่มต้นสอนหนังสือตั้งแต่อายุเพียง 17 ปี และสร้างโรงเรียนเพื่อแรงงานเด็กในโรงสีของพี่ชายตอนอายุ 24 ปี เมื่อเธอย้ายไปยังเมืองบอร์เดนทาวน์ นิวเจอร์ซีย์ เธอก็ได้สร้างโรงเรียน ‘Clara Barton Schoolhouse’ ขึ้นในปี 1852 ซึ่งเด็ก ๆ สามารถเรียนได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ไม่นานหลังจากนั้นคลาราก็ลาออกจากโรงเรียน เพราะเธอค้นพบว่าทางโรงเรียนจ่ายเงินค่าจ้างให้กับครูผู้ชายมากกว่าเธอถึง 2 เท่า ซึ่งสำหรับคลาราแล้ว เธอไม่เคยทำงานหนักน้อยไปกว่าผู้ชาย นั่นทำให้คลาราตัดสินใจเข้าทำงานเป็นเสมียนที่สำนักงานสิทธิบัตรของรัฐวอชิงตันด้วยเงินเดือน 1,400 ดอลลาร์ เท่ากับเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ชาย จนกระทั่งคลาราต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมทางเพศในที่ทำงานอีกครั้ง เพราะชายที่ชื่อว่า ‘โรเบิร์ต แมคเคิลแลนด์’ (Robert McClelland) ลดตำแหน่งของเธอเหลือเพียงเด็กคัดลอกเอกสาร แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคสำหรับคลารา เนื่องจากสงครามกลางเมืองอเมริกาที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ทำให้เธอค้นพบหนทางในการทำตามความฝัน ซึ่งก็คือการออกไปช่วยเหลือทหารที่อยู่ในสงคราม นางฟ้ากลางดงแห่งสงคราม ‘Angel of the Battlefield’ ฉายานี้ไม่ได้ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เป็นเพราะคลาราออกไปร่วมต่อสู้ในแนวหน้ามาถึง 16 สนามรบตลอดช่วงเวลาที่เกิดสงครามกลางเมือง ย้อนกลับไปในปี 1861 สงครามกลางเมืองอเมริกาปะทุขึ้น ทำให้เด็กคัดลอกเอกสารอย่างคลาราตัดสินใจเข้าร่วมกองกำลังสนับสนุนเช่นเดียวกับผู้หญิงคนอื่น ๆ เธอมีหน้าที่เก็บผ้าพันแผลและเตรียมเสบียง แต่สุดท้ายคลาราก็ตระหนักได้ว่า ตัวเธอเองสามารถทำประโยชน์เพื่อคนอื่นได้มากกว่านี้ จนในปี 1862 คลาราก็ได้รับอนุญาตจากกองทัพให้เข้าไปยังแนวรบ เพื่อดูแลทหารที่ได้รับบาดเจ็บ นั่นคือจุดเริ่มต้นของอาชีพพยาบาลตลอดชีวิตของเธอ คลาราเดินทางไปยังสนามรบหลายแห่ง เพื่อต่อชีวิตและส่งเสบียงให้กับเหล่าทหาร ไม่ว่าจะเป็นรัฐแมริแลนด์ เวอร์จิเนีย หรือเซาท์แคโรไลนา จนเธอได้รับฉายาว่า ‘นางฟ้าแห่งสนามรบ’ และได้รับการแต่งตั้งจาก ‘นายพล เบนจามิน บัตเลอร์’ (General Benjamin Butler) ให้เป็นนางพยาบาลกิตติมศักดิ์ คอยติดตามดูแลหน่วยทหารของเขาที่มีจำนวนกว่า 30,000 นาย ถึงแม้เธอจะไม่เคยได้รับการอบรมทางด้านการแพทย์มาก่อน แต่คลาราได้ใช้สัญชาตญาณ ควบคู่กับการสังเกต จดจำ และความเห็นอกเห็นใจในการทำหน้าที่ของเธออย่างเต็มที่ นอกจากการทำงานด้านพยาบาลในสนามรบ คลารายังเป็นนางฟ้าที่คอยทำอาหาร ให้คำปรึกษากับคนที่มีอาการคิดถึงบ้าน พูดคุยกับทหารที่บาดเจ็บ ช่วยพวกเขาเขียนจดหมาย และให้กำลังใจทุกคนในสนามรบ แม้กระทั่งหลังสงครามจบ คลารายังช่วยเป็นกำลังในการตามหาผู้สาบสูญให้กับครอบครัว เธอและทีมช่วยกันตอบจดหมายกว่า 6 หมื่นฉบับ จนกระทั่งในปี 1869 คลาราก็ตัดสินใจปิดหน่วยของเธอลง และในปีเดียวกัน คลารา บาร์ตันก็ได้มีโอกาสเดินทางไปยังยุโรป เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสภากาชาดสากลที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเธอก็นำความฝันจากยุโรปกลับมาสู่อเมริกา นั่นก็คือการก่อตั้งสภากาชาดแห่งอเมริกาขึ้นในปี 1881 สู่ประธานสภากาชาดแห่งอเมริกา คลาราเห็นว่าอเมริกาควรเข้าร่วมเครือข่ายสภากาชาดสากล เธอและเพื่อนอย่าง ‘เฟรเดอริค ดักลาส’ (Frederick Douglass) จึงร่วมกันก่อตั้งสภากาชาดอเมริกาขึ้น และเธอก็ได้รับตำแหน่งประธานสภาคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนานถึง 23 ปี โดยคลาราลาออกจากองค์กรเมื่อปี 1904 ตอนเธออายุ 83 ปี สภากาชาดแห่งอเมริกาทำงานกันอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติ คลารานำทีมลงไปช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติเหล่านั้น เช่น ในเหตุการณ์น้ำท่วมเมืองจอห์นส์ทาวน์ รัฐเพนซิลเวเนีย ปี 1889 สภากาชาดมีบทบาทในการสร้างที่พักชั่วคราว จัดหาอาหารและยา เพื่อดูแลผู้ประสบภัย นอกจากนี้ในปี 1893 รัฐเซาท์แคโรไลนาต้องเผชิญกับพายุเฮอร์ริเคนและคลื่นยักษ์ ทำให้ประชาชนเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันกว่า 30,000 คนกลายเป็นคนไร้บ้าน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 5,000 คน สภากาชาดจึงเข้ามาจัดหาอาหาร ที่พัก และยาให้กับพวกเขาเป็นระยะเวลา 10 เดือน สภากาชาดแห่งอเมริกาภายใต้การนำของคลารา บาร์ตัน สร้างความน่าเชื่อถือและความสบายใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก และถึงแม้คลาราจะเป็นผู้นำที่มักตัดสินใจอะไรหลายอย่างด้วยตัวเอง ไม่ต่างจากเผด็จการในบางครั้ง แต่เธอเป็นคนที่ทำหน้าที่ตลอดระยะเวลา 23 ปี โดยไม่เคยรับเงินเดือนจากสภากาชาดเลย ทั้งยังใช้เงินจากกองทุนของตัวเอง เพื่อสนับสนุนการบรรเทาทุกข์ของประชาชน ชีวิตหลังออกจากสภากาชาด ภายหลังการลาออกจากสภากาชาด คลาราในวัย 83 ปี ยังคงไม่หยุดทำตามความฝัน คือการอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน เธอก่อตั้ง ‘National First Aid Association of America’ องค์กรที่เตรียมความพร้อมในการปฐมพยาบาลฉุกเฉินขึ้นในปี 1904 นอกจากนี้ คลารายังเดินทางไปกล่าวสุนทรพจน์และบรรยายประสบการณ์ของเธออยู่เรื่อย ๆ โดยในปี 1907 เธอได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง ‘The Story of My Childhood’ ขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์ของตัวเอง จนกระทั่งวันที่ 12 เมษายน 1912 คลาราได้จากไปในบ้านพักที่เมืองเกรน เอคโค รัฐแมริแลนด์ ด้วยวัย 91 ปี ซึ่งในภายหลัง บ้านพักแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในปี 1975 เพื่อระลึกถึงความเสียสละ และจิตสาธารณะของพยาบาลผู้มีนามว่า คลารา บาร์ตัน แต่ถึงแม้เธอจะจากโลกนี้ไปแล้ว คำขอบคุณของชาวอเมริกันและคนทั่วโลกจะยังคงดังกึกก้องอยู่เสมอ ผลงานที่เธอทำยังคงฝังลึกในความทรงจำและประวัติศาสตร์ รวมถึงเรื่องราวของคลาราจะยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ และผู้ที่ต้องการอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของสังคมเสมอ เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ที่มา: https://www.redcross.org/about-us/who-we-are/history/clara-barton.html https://www.biography.com/activist/clara-barton https://www.womenshistory.org/education-resources/biographies/clara-barton https://www.history.com/topics/womens-history/clara-barton https://www.nursebuff.com/clara-barton-quotes/ ที่มาภาพ: https://redcrosschat.org/2017/03/07/10-fun-facts-about-clara-barton/ https://www.redcross.org/about-us/who-we-are/history/clara-barton.html