24 พ.ค. 2564 | 14:26 น.
“ความรู้สึกในระหว่างเขียนนวนิยายนั้นใกล้เคียงกับ ‘กำลังบรรเลงดนตรี’ มากกว่า ‘กำลังเขียนหนังสือ’ ผมยังคงรักษาความรู้สึกนั้นไว้จนถึงทุกวันนี้ ถ้าจะให้สรุปก็คือ เป็นการเขียนด้วยประสาทสัมผัสทางกาย มากกว่าด้วยหัวสมอง รักษาจังหวะเอาไว้ หาคู่ประสานที่ไพเราะให้พบ และเชื่อมั่นในการบรรเลงแบบด้นสด”นี่คือคำพูดของ ‘ฮารูกิ มูราคามิ’ นักเขียนแถวหน้าของญี่ปุ่นที่มีผลงานโด่งดังไปทั่วโลก อย่างเรื่อง ‘ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย’ (Norwegian Wood) , 1Q84, ‘บันทึกนกไขลาน’ (The Wind-Up Bird Chronicle) หรือเรื่องสั้นในเล่ม ‘เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน’ ที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง Burning เมื่อปี 2018 ตัวหนังสือของเขามักทิ้งไว้เพียงคำถาม ความเหงา และความรู้สึกหน่วง ๆ หลังอ่านจบ แถมบางคนยังประสบปัญหา ‘อ่านไม่เข้าใจ’ (อย่างน้อยก็ผู้เขียน) หากความไม่เข้าใจที่ว่านี้กลับกลายเป็นเสน่ห์ของงานเขียนมูราคามิในเวลาเดียวกัน ซึ่งเบื้องหลังงานเขียนของเขานั้นราวกับการด้นสดแบบเพลงแจ๊สที่ไหลลื่นตามสัญชาตญาณ และผุดขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยตั้งแต่ตอน ‘เริ่มคิด’ ว่าจะลงมือเขียน ย้อนไปในช่วงวัย 20 ต้น ๆ มูราคามิใช้ชีวิตสวนทางกับคนทั่วไปที่เรียนจบ ทำงาน แต่งงาน ขณะที่ชีวิตของเขาเริ่มจากการแต่งงาน ทำงาน และเรียนให้จบ ทั้งยังไม่ได้ข้องเกี่ยวหรือคิดว่าจะเป็นนักเขียนแต่อย่างใด ภาพจำในวัย 20 ของเขามีเพียงการทำงานใช้หนี้ที่กู้ยืมมาเปิดบาร์แจ๊ส เจียดเวลาไปเรียนให้จบ พยายามประคองธุรกิจให้ไปรอด และใช้ชีวิตท่ามกลางคำดูแคลนจากคนรอบข้างว่าเป็นงานที่ไม่มั่นคง เขาใช้เวลาเกือบสิบปี กว่าจะฝ่ามรสุมเหล่านั้นจนชีวิตเริ่มลงตัวและบาร์แจ๊สเริ่มไปได้สวยในวัยย่างสามสิบ และนั่นคือจุดเริ่มต้นบนเส้นทางน้ำหมึกของฮารูกิ มูราคามิ วันหนึ่งในปี 1978 มูราคามินั่งจิบเบียร์อยู่ริมสนามเบสบอล ขณะที่การแข่งขันดำเนินไป เขาได้ยินเสียงลูกกระทบไม้สลับกับเสียงปรบมือเป็นระยะ แล้วจู่ ๆ เขาก็คิดขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยว่า ‘น่าจะเขียนนวนิยายได้’ “ความรู้สึกตอนนั้นผมยังจำได้แจ่มชัด มันเหมือนความรู้สึกที่มีอะไรปลิวตกจากฟ้าลงมาช้า ๆ แล้วผมจับไว้ได้ด้วยสองมือ” เย็นวันนั้นเขาเดินเข้าร้านเครื่องเขียนซื้อปากกาหมึกซึมและกระดาษมาเริ่มเขียนต้นฉบับ มูราคามิทำอย่างนั้นเป็นประจำหลังเวลาร้านปิด โดยที่ไม่รู้เลยว่านวนิยายควรเขียนอย่างไร งานเขียนของเขาจึงเป็นไปตามสัญชาตญาณเช่นเดียวกับการเริ่มต้น “ตอนเริ่มเขียนผมไม่ได้มีแผนผังภาพรวมไว้เลย แค่จมดิ่งลงไปในการเขียน...ผมจึงเขียนไปตามสัญชาตญาณ (spontaneous) ต่อไปจะมีอะไรออกมา ต่อไปอะไรจะออกมา ต่อไปเรื่อย ๆ สุดท้ายตอนจบก็ออกมา ทำไมน่ะหรือครับ เพราะว่าถ้าไม่มีตอนจบก็จะไม่เป็นนวนิยาย “อาจมีบางคนที่ ‘มีประเด็นจึงเขียนนวนิยาย’ แต่อย่างน้อยในกรณีของผมไม่ใช่ ผมรู้สึกว่า ผมเขียนนวนิยายเพื่อค้นหาว่ามีประเด็นอะไรอยู่ในตัวเอง ในกระบวนการเขียนเรื่องเล่า ประเด็นจะผลุดโผล่ขึ้นมาจากความมืด -- และส่วนมากจะเขียนอยู่ในรูปรหัสที่อ่านไม่รู้เรื่อง” นี่อาจเป็นคำตอบของเรื่องราวที่ไร้ตอนจบแบบหักมุมหรือมีหมัดฮุกกระแทกใจผู้อ่าน เพราะสาระสำคัญ สำหรับเขาอาจไม่ใช่เนื้อหา แต่เป็นความรู้สึกที่แฝงเร้นอยู่ในนั้นเสียมากกว่า ซึ่งมูราคามิเล่าว่า ความรู้สึกเหล่านั้นมาจากความพยายามเยียวยาจิตใจและสื่อสารความรู้สึกไร้รูปร่างของตนเองออกมาเป็นเรื่องเล่า “ทำไมผมจึงเริ่มเขียนนวนิยาย ผมเองก็ไม่รู้ว่าทำไม จู่ ๆ วันหนึ่งก็รู้สึกอยากเขียน ตอนนี้ลองคิดดูแล้ว คงจะเป็นขั้นตอนของการเยียวยาตนเองอย่างหนึ่ง...อย่างน้อยความ ‘กลวง’ ในใจที่ผมรู้สึกในขณะกำลังจะย่างเข้าสู่วัยสามสิบก็ได้ถูกเติมเต็ม” แม้ ‘เรื่องราว’ จากตัวอักษรของมูราคามิ อาจจะยากต่อการทำความเข้าใจ แต่ ‘ความรู้สึก’ นั้นเป็นสิ่งสากล ยิ่งถ่ายทอดออกมาจากความรู้สึกแท้จริงของผู้เขียน ยิ่งทำให้สัมผัสใจผู้อ่านได้จำนวนมากราวกับมีคนเข้าไปค้นส่วนเว้าแหว่งในหัวใจและ ‘เข้าใจ’ สิ่งที่ไร้รูปร่าง ยากเกินกว่าจะอธิบายเหล่านั้น ซึ่งอาจเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ผลงานของมูราคามิพกพาความเหงาไปปกคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกก็เป็นได้ ที่มา