ยาจิ ฮิโตกะ: ชาวเมืองบีผู้อยู่เบื้องหลังการเปล่งประกายของทีมวอลเลย์บอล ‘คาราสุโนะ’ ในโชเน็นจัมป์ ‘Haikyuu!!’
“แม่คะ! ชาวเมืองบีก็สู้ได้เหมือนกัน! หนูตัดสินใจแล้วว่าจะเป็นผู้จัดการชมรมวอลเลย์บอล”
ท่ามกลางความเร่งรีบอันเป็นระเบียบตามขนบญี่ปุ่น เสียงตะโกนก้องของเด็กสาวมัธยมฯ ปลายปีหนึ่ง ‘ยาจิ ฮิโตกะ’ ดังก้องไปทั่วทั้งสถานีรถไฟฟ้าในเมืองคารุไม จังหวัดอิวาเตะ แววตาของผู้เป็นแม่ที่ถูกเรียกเบิกกว้าง มองมายังลูกสาวร่างเล็กที่มักจะโลเลและไม่เอาจริงเอาจังอยู่เสมอของตัวเอง ที่คราวนี้กลับกล้าตะโกนบอกความต้องการของเธอออกมาอย่างจริงใจ จนทำให้ยาจิผู้เป็นแม่อดหันหลังเพื่อซ่อนน้ำตาไม่ได้ จากความจริงที่ว่าลูกสาวของเธอกำลังเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นอีกขั้น พร้อมด้วยการสนับสนุนจากเพื่อนชายหัวส้มจี๊ดที่ยืนยกนิ้วโป้งเป็นทำนองว่า ‘ยอดเยี่ยม!’ อยู่ข้าง ๆ
เหล่านี้คือเรื่องราวที่ปรากฏภายในภาพยนตร์แอนิเมชัน ‘Haikyuu!! II’ หรือ ‘ไฮคิว!! คู่ตบฟ้าประทาน ภาค 2’ ที่เป็นเรื่องราวหลังจาก ‘ฮินาตะ โชโย’ ตัวหลอกล่อร่างจิ๋วหัวส้มที่กระโดดได้สูงราวติดปีกบิน ได้พบกับ ‘คาเงยามะ โทบิโอะ’ มือเซตอัจฉริยะ ฉายา ‘ราชาเจ้าคอร์ด’ ซึ่งแม้จะมีเรื่องให้ขัดใจกันตั้งแต่แรกเจอ แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็กลายเป็นคู่หูปีหนึ่งประจำทีมวอลเลย์บอลชายโรงเรียน ‘คาราสุโนะ’ ทีมที่ในอดีตเคยได้ไปไกลถึงระดับประเทศ แต่ปัจจุบันฟอร์มตกจนถูกเรียกว่า ‘แชมป์ตกบัลลังก์’ หรือ ‘อีกาไร้ปีก’
ฮินาตะและคาเงยามะมีความฝันที่จะได้ไปเล่นในระดับประเทศ เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ในทีมที่ต้องการคืน ‘ปีก’ ให้กับ ‘อีกา’ อีกครั้ง เหมือนกับสโลแกนประจำทีมว่า ‘จงโบยบิน’ หากการติดปีกเติมฝันของทีมนักกีฬาวัยหนุ่มสิบกว่าชีวิตกลุ่มนี้ ก็อาจดำเนินไปอย่างทุลักทุเล หรือราบรื่นน้อยกว่าที่เราได้เห็น หากไม่มีตัวละครหญิงที่นิยามตัวเองว่า ‘ชาวเมืองบี’ คอยเป็นแรงผลักดันอยู่ด้านหลัง
***บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาในภาพยนตร์แอนิเมชัน ‘Haikyuu!! II’
ผู้จัดการชมรม ตำแหน่งสำคัญของทีม
เป็นไปไม่ได้ที่จะพูดถึง ยาจิ ฮิโตกะ โดยไม่เอ่ยถึงชื่อรุ่นพี่ที่ทำหน้าที่ในตำแหน่งเดียวกับเธอ และเป็นคนชักชวนให้เธอก้าวขาเข้าโลกแห่งวอลเลย์บอล ‘คิโยโกะ ชิมิซึ’ คือรุ่นพี่มัธยมฯ ปลายปีสามที่ต้องการหารุ่นน้องปีหนึ่งเพื่อเป็น ‘ผู้จัดการทีม’ ให้กับแก๊งอีกานักตบลูกวอลเลย์แทนในช่วงที่เธอเรียนจบ พร้อมด้วยการรวบรวมรายชื่อนักเรียนปีหนึ่งที่ยังไร้ชมรมอยู่ คิโยโกะได้ตรงเข้าไปหายาจิและชักชวนให้เธอมาเข้าร่วมชมรมในฐานะผู้จัดการทีมคนต่อไป ซึ่งเด็กสาวก็ตอบรับอย่างไม่ลังเลด้วยเหตุผลเพียงประการเดียวคือ ความสวยของรุ่นพี่คิโยโกะทำให้เด็กสาวไม่ทันฟังว่าเธอกำลังพูดอะไร
หลังจากตกปากรับคำไปแบบยั้งปากไม่ทัน เด็กสาวที่ปกติมักจะขี้อายจึงได้ยืนหลบอยู่ข้างหลังรุ่นพี่ในช่วงเวลาที่เธอกำลังถูกแนะนำตัวในฐานะ ‘ผู้จัดการทดลอง’ ให้กับสมาชิกในทีม พร้อมด้วยความตื่นกลัวเพราะไม่ชินกับผู้ชายตัวใหญ่ ๆ นับสิบที่รายล้อมและส่งเสียงต้อนรับเธออย่างแข็งขัน ‘พลัง’ ที่เธอได้รับรู้จากนักกีฬาทั้งทีมทำให้เธอเริ่มตั้งคำถามที่ก่อนหน้านี้เธอไม่เคยคิดหาคำตอบให้ตัวเอง
สมาชิกทุกคนในทีมวอลเลย์บอลมีความฝัน พวกเขามีสิ่งที่อยากทำและจะทุ่มเทเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย แล้วตัวเธอเองเธอล่ะ ชอบหรือฝันอะไร
แม้จะเป็นเพียงผู้จัดการเวอร์ชันทดลอง แต่ก็ดูเหมือนว่าเรื่องราววุ่น ๆ ในทีมคาราสุโนะจะเรียกร้องความช่วยเหลือจากยาจิเร็วกว่าที่เธอคิด เพราะช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง คือช่วงที่สมาชิกที่ไม่สันทัดเรื่องการเรียนนักในทีมวอลเลย์บอลต้องติวหนังสือกันอย่างขะมักเขม้น เพื่อที่จะหลีกหนีจากการสอบตกที่ต้องเรียนซ่อมในวันเดียวกับวันออกเดินทางไปโตเกียว และเข้าร่วมแข่งและซ้อมกับทีมเก่ง ๆ หลายทีมได้อย่างทันท่วงที
เพราะสอบตกเป็นประจำ สองทึ่มอย่างคาเงยามะกับฮินาตะจึงต้องหาติวเตอร์จำเป็น และหวยก็มาออกที่ยาจิ ผู้จัดการรุ่นเบต้าที่เพิ่งรู้จักกันได้ไม่ถึงวัน
“ฮินาตะไม่ชอบเรียนหนังสือ แต่ก็พยายามอย่างหนักเพื่อที่จะไปโตเกียวสินะ ยอดเลย ฉันไม่เคยพยายามเพื่ออะไรบางอย่างมาก่อนเลย” คือถ้อยคำของยาจิที่พูดกับฮินาตะ พร้อมด้วยดวงตาที่สื่อแววสงสัยระคนชื่นชมอย่างปิดไม่มิด
สิ่งสำคัญสำหรับก้าวแรก คือความอยากรู้อยากเห็นนิดหน่อย
ถ้าวัดจากการเรียนอยู่ในห้อง 5 ภายในโรงเรียนที่จัดลำดับห้องตามเกรดแล้ว ก็สามารถสรุปได้ว่ายาจิเป็นเด็กเรียนเก่งคนหนึ่ง แต่ว่าลึก ๆ ลงไปเธอกลับนิยามตัวเองว่า ‘ชาวเมืองบี’ และไม่เคยรู้สึกชอบหรือสนใจอะไรมากพอที่จะใช้ความพยายามเพื่อมันอย่างเต็มที่สักครั้ง แม้จะมีสาเหตุหลากหลายสำหรับการหล่อหลอมบุคลิกหรือลักษณะนิสัยให้ตัวละครแต่ละตัว หรือบุคคลแต่ละคน แต่เราก็อาจจะเดาได้ว่าหนึ่งในปัจจัยที่หล่อหลอมให้ยาจิมีนิสัยที่ไม่ลงมือทำกิจกรรมสันทนาการอะไรจริงจังนั้นเป็นเพราะแม่ของเธอ
“การไปเข้าร่วมแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ กับคนที่เขาเอาจริงน่ะ มันเสียมารยาทมากเลยนะ”
คือถ้อยคำที่แม่ของยาจิพูดกับเธอเป็นอย่างแรกในตอนที่รู้ว่าเธอถูกชักชวนให้เป็นผู้จัดการชมรมวอลเลย์บอล แม้ว่าคำพูดทำนองดังกล่าวจะไม่ได้รุนแรงหรือหยาบคาย และเป็นไปเพื่ออยากให้ลูกสาวของเธอรู้สึกฮึดสู้และทุ่มเทกับกิจกรรมนั้น ๆ มากยิ่งขึ้น แม่ของยาจิไม่อยากให้เธอถอดใจจากอะไรง่าย ๆ แต่ด้วยคำพูดของเธอ ยาจิก็มักจะถอดใจจากสิ่งที่พยายามจะลองทำอยู่เสมอ
พร้อมด้วยคำพูดของผู้เป็นแม่ที่ยังคงดังก้องอยู่ในหัว ยาจิเฝ้ามองกระดาษ ‘ใบสมัครเข้าชมรม’ และถอนหายใจซ้ำ ๆ จนกระทั่งคิโยโกะสังเกตเห็นเข้า และได้พูดให้กำลังใจเธอด้วยถ้อยคำว่า
“เวลาจะลองทำอะไรไม่จำเป็นต้องชอบสิ่งนั้นมาก่อนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีความมุ่งมั่น หรือความตั้งใจอันแรงกล้าก็ได้ แค่ทำมันไปเรื่อย ๆ สุดท้ายอาจจะชอบมันก็ได้ สิ่งสำคัญสำหรับก้าวแรก คือความอยากรู้อยากเห็นนิดหน่อยเท่านั้นแหละ”
ชาวเมืองบีก็สู้ได้
“ฉันน่ะ ที่จริงฉันก็มีความสุขค่ะ เพราะฉันไม่เคยทำอะไรจริงจัง แล้วก็ไม่มีอะไรที่ต้องทำเป็นพิเศษ เวลาเล่นละครเวที ฉันก็ได้แต่บทเล็ก ๆ อย่างชาวเมืองบีหรือต้นไม้”
“ฉันก็เคยเป็นชาวเมืองบีเหมือนกัน แต่ตอนนั้นฉันอยากขโมยซีน ก็เลยโดนดุ”
บทสนทนาเล็ก ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงค่ำหลังการซ้อมวอลเลย์บอลตามปกติ ฮินาตะพร้อมด้วยรุ่นพี่ปีสองและสามหลายคนกำลังล้อมรอบเด็กสาวและชักชวนซ้ำ ๆ ให้เธอมาเป็นผู้จัดการชมรมด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานาเท่าที่พวกเขาจะคิดได้ ตอนนั้นเองที่ยาจิตัดสินใจพูดถึงปม ‘ชาวเมืองบี’ ที่เป็นปัญหาใหญ่ฝังใจของเธอ และถูกตอบรับด้วยคำพูดของฮินาตะที่ว่า เด็กหนุ่มเองก็เคยเป็นชาวเมืองบีเหมือนกัน
ชาวเมืองบีไร้ประโยชน์และเป็นภาระ ถ้าฟังจากประโยคถัด ๆ มาของยาจิ ก็อาจสรุปได้ว่าเธอคิดแบบนั้น แต่ท่ามกลางการก่นโทษตัวเองที่ไม่ได้รู้จักกีฬาวอลเลย์บอลมากพอ ไม่ได้เป็นนักกีฬา และไม่เคยคิดว่าตัวเองจะสนใจวอลเลย์บอลมาก่อน ถ้อยคำของรุ่นพี่คิโยโกะที่ว่า ‘เวลาจะลองทำอะไรไม่จำเป็นต้องชอบสิ่งนั้นมาก่อนก็ได้’ ก็ทำให้เธอเริ่มจะเปลี่ยนความคิด และอยากจะลองเป็นผู้จัดการชมรมวอลเลย์บอลดูสักตั้ง
และเพราะประโยค “ชาวเมืองบีก็มีข้อดีของตัวเองนะ” ของฮินาตะ ก็ทำให้เธอตัดสินใจจะบอกให้แม่ของเธอได้รู้ว่าเธอต้องการอะไร และจะทำอะไรต่อไปในวันข้างหน้า
“แม่คะ! ชาวเมืองบีก็สู้ได้เหมือนกัน! หนูตัดสินใจแล้วว่าจะเป็นผู้จัดการชมรมวอลเลย์บอล”
การกลับมาของยักษ์จิ๋ว อีกาโบยบินสู่ระดับประเทศ
หลังจากที่ได้บอกความต้องการของตัวเองกับแม่ ยาจิก็เริ่มต้นบทบาท ‘ผู้จัดการชมรม’ ของตัวเองทันที โดยภารกิจแรก (ถ้าไม่นับภารกิจสอนหนังสือคาเงยามะและฮินาตะ) ของเธอคือการทำโปสเตอร์เพื่อระดมทุนสำหรับเช่ารถบัสไปโตเกียว พร้อมด้วยคำแนะนำจากผู้เป็นแม่ที่เปิดบริษัทออกแบบหนังสือ ‘หลักการถ่ายภาพเบื้องต้น’ นายแบบที่ตบลูกรอบแล้วรอบเล่าอย่างฮินาตะ และคนเซตลูกบอลให้ตบอย่างคาเงยามะ ในที่สุด โปสเตอร์ระดมทุนฝีมือยาจิก็ถูกพรินต์ติดเข้ากับกระจกร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่คนผ่านไปผ่านมาสามารถเห็นได้โดยง่าย
ท่ามกลางภาพของฮินาตะที่กำลังกระโดดสูงราวกับบินอยู่กลางอากาศ “การกลับมาของยักษ์จิ๋ว อีกาโบยบินสู่ระดับประเทศ” คือถ้อยคำบนโปสเตอร์ที่ทำให้ผู้คนต่างติดต่อเข้ามาเพื่อให้ทรัพย์สินของตนได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งอีกาให้ทะยานขึ้นสู่ฟ้าฝัน ในที่สุดรถบัสจากการระดมทุนก็ได้ฤกษ์มุ่งหน้าไปยังโตเกียว พร้อมกับความตื่นเต้นของสมาชิกชมรมวอลเลย์บอล และความมั่นใจในการเริ่มต้นครั้งใหม่ที่เต็มตื้นในใจของยาจิเอง
จำศัพท์เกี่ยวกับวอลเลย์บอล จดจำวิธีนับแต้ม คอยสังเกตสมาชิกในทีมและรับมือกับปัญหาที่เข้ามา ในไม่ช้าจาก ‘ชาวเมืองบี’ ที่มองว่าตัวเองไร้ค่า ยาจิก็กลายเป็นส่วนสำคัญที่เติมเต็มคาราสุโนะได้อย่างสมบูรณ์ และ ‘ทีมคาราสุโนะ’ ก็กลายเป็นความทรงจำแห่งช่วยวัยมัธยมฯ ที่น่าจดจำไม่ใช่น้อยสำหรับเธอ