30 พ.ค. 2564 | 02:10 น.
“ความทรงจำอันแสนหวานนำทางฉันกลับมาที่นี่ ให้ฉันได้รำลึกอดีตที่ราวกับเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน สุดที่รักของฉัน ใช่ คุณเป็นของฉัน และเพราะคุณ รักแท้ของเราจึงไม่มีวันพรากจาก”นี่คือส่วนหนึ่งของบทเพลงอมตะแห่งหมู่เกาะฮาวาย ‘Aloha ’Oe’ หรือ ‘Farewell to Thee’ ประพันธ์โดยราชินีลิลิอูโอคาลานี (Liliuokalani) กษัตรีย์องค์แรกและองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์คาเมฮาเมฮา (Kamehameha) Aloha ’Oe คือหนึ่งในเพลงรักที่ราชินีลิลิอูโอคาลานีตั้งใจแต่งขึ้นมา โดยได้แรงบันดาลใจมาจากสิ่งที่เห็นระหว่างกำลังขี่ม้ากลับที่พัก แต่สุดท้ายบทเพลงนี้กลับถูกใช้แทนคำอำลาหลังจากที่ฮาวายถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1898 ราชินีองค์สุดท้ายต่อสู้เพื่อเรียกร้องเสรีภาพให้แก่อาณาจักรฮาวายและประชาชนของพระนาง แต่ถึงแม้ความพยายามเหล่านั้นจะสำเร็จเพียงครึ่งเดียว การยืนหยัดเผชิญหน้ากับศัตรูรอบด้าน โดยเฉพาะนายทุนอเมริกันก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ราชินีองค์นี้ไม่ได้อ่อนแออย่างที่ใครคิด หนทางสู่บัลลังก์ราชินี ราชินีลิลิอูโอคาลานีเดิมมีชื่อว่า ‘ลิเดีย คามาคาเอฮา’ (Lydia Kamakaeha) ประสูติเมื่อวันที่ 2 กันยายน 1838 ณ เมืองหลวงโฮโนลูลู แห่งราชอาณาจักรฮาวาย พระนางคือลูกสาวของหัวหน้าเผ่าสูงสุดผู้รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้แก่พระราชาคาเมฮาเมฮาที่ 3 ราชินีลิลิอูโอคาลานีได้รับการศึกษาจากโรงเรียนมิชชันนารีของราชวงศ์ นั่นทำให้พระนางสามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งยังได้รับการอบรมด้านดนตรีเป็นอย่างดีจนเติบโตขึ้นมาพร้อมกับความสามารถในการประพันธ์เพลงและแต่งบทกวี ในปี 1862 ราชินีลิลิอูโอคาลานีแต่งงานกับข้าราชการหนุ่มนามว่า ‘จอห์น โอเวน โดมินิส’ (John Owen Dominis) บุตรชายของกัปตันเรือชาวอเมริกันที่พาครอบครัวมาตั้งรกรากอยู่ที่โฮโนลูลูตั้งแต่ปี 1837 โดยจอห์นและลิลิอูโอคาลานีไม่มีลูกด้วยกัน จนกระทั่งจอห์นเสียชีวิตลงในปี 1891 ก่อนภรรยาของเขาเพียง 2 ปี เส้นทางสู่บัลลังก์กษัตรีย์แห่งราชอาณาจักรฮาวายของราชินีลิลิอูโอคาลานีค่อย ๆ ตั้งเค้าในปี 1874 เมื่อพี่ชายคนโต ‘เดวิด คาลาคาอัว’ (David Kalakaua) ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ และน้องชายของราชินีลิลิอูโอคาลานี ‘วิลเลียม พิตต์ เลเลอีโอโฮคู’ (William Pitt Leleiohoku) เสียชีวิตหลังจากนั้นเพียง 3 ปี ทำให้พระนางได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัชทายาทอันดับหนึ่ง ในช่วงเวลาหลายปี ราชินีลิลิอูโอคาลานีพยายามทำงานอย่างหนัก เพื่อพิสูจน์ให้คนรอบข้างและประชาชนเห็นว่า พระนางมีความห่วงใยและมีความสามารถมากพอที่จะดูแลทุกคนได้ ทั้งความเป็นผู้หญิงก็ไม่ใช่อุปสรรคที่จะรับตำแหน่งผู้นำอาณาจักร โดยพระนางปูทางให้ตนเองผ่านการสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กฮาวาย และรับหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขณะที่พี่ชายเดินทางไปรอบโลกในปี 1881 แต่ด้วยความพยายามอย่างหนักที่จะพิสูจน์ตัวเองต่อหน้าประชาชนของพระนาง ราชินีลิลิอูโอคาลานีจึงได้สร้างศัตรูขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัว จุดเริ่มต้นความเกลียดชังจากเหล่าพ่อค้า ราวปี 1853 พ่อค้าชาวอเมริกันนำพาโรคติดต่อร้ายแรงอย่างโรคฝีดาษเข้ามาที่ฮาวายเป็นครั้งแรก และเริ่มระบาดหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนราชินีลิลิอูโอคาลานีจำเป็นต้องสั่งปิดท่าเรือที่โออาฮู (O’ahu) ซึ่งการกระทำครั้งนี้ทำให้พระนางได้รับการยกย่องจากชาวบ้านเป็นอย่างมาก ขณะที่พ่อค้าอ้อยผู้ร่ำรวยต้องขาดรายได้จำนวนมหาศาล ก่อนที่ราชาคาลาคาอัวจะเสียชีวิตในปี 1891 อาณาจักรฮาวายถูกแทรกแซงโดยเหล่านักธุรกิจและพ่อค้าต่างชาติที่เข้ามาดูแลผลผลิตอย่างอ้อย ซึ่งมีแหล่งเพาะปลูกใหญ่อยู่ที่ฮาวาย โดยราชินีลิลิอูโอคาลานีได้เรียนรู้ถึงอำนาจที่มองไม่เห็นของพวกพ่อค้าหลังจากที่พระนางเดินทางไปร่วมพระราชพิธีกาญจนาภิเษกในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษในปี 1887 พร้อมกับราชินีของราชาคาลาคาอัว ขณะที่พระนางไม่อยู่ เหล่านักธุรกิจและพ่อค้าได้ร่วมมือกันบังคับให้ราชาคาลาคาอัวลงชื่อในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ‘Bayonet Constitution’ เพื่อลดอำนาจของสถาบันกษัตริย์ลง และมอบอำนาจนั้นให้กับนักธุรกิจและพ่อค้าชาวยุโรปและอเมริกันแทน นั่นจึงถือเป็นการลดอำนาจของราชวงศ์ลงอย่างเป็นทางการ แม้ภายหลังการสวรรคตของราชาคาลาคาอัว จะทำให้ราชินีลิลิอูโอคาลานีพยายามขอคืนพระราชอำนาจ แต่ก็ไม่เป็นผล ทั้งยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากกลุ่มที่หวังให้ราชอาณาจักรฮาวายผนวกเข้ากับสหรัฐอเมริกาด้วย สู่การผนวกดินแดน สุดท้ายราชินีลิลิอูโอคาลานีถูกปฏิวัติยึดอำนาจจากกลุ่มชาวฮาวายที่ต้องการเป็นเมืองขึ้นของอเมริกา โดยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ‘จอห์น เลวิตต์ สตีเวนส์’ (John Leavitt Stevens) เนื่องจากราชินีไม่ต้องการเห็นการนองเลือดในหมู่ประชาชน พระนางจึงเลือกลงจากบัลลังก์เอง แต่ก็หวังให้ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ‘โกรเวอร์ คลีฟแลนด์’ (Grover Cleveland) คืนอำนาจให้พระนาง ซึ่งเขาก็รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่ได้ทำกับชาวฮาวายจึงได้เสนอจะคืนสถานะให้กับราชินี แลกกับการที่พระนางต้องให้อภัยและนิรโทษกรรมผู้ร่วมทำการรัฐประหารทุกคน ซึ่งราชินีลิลิอูโอคาลานีได้ปฏิเสธไปในตอนแรก ก่อนจะยอมตกลง แต่รัฐบาลรักษาการของ ‘สแตนฟอร์ด โดล’ (Stanford Dole) ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งพอดี เขาจึงปฏิเสธที่จะคืนสถานะให้กับราชินี และสแตนฟอร์ดก็ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของ ‘สาธารณรัฐฮาวาย’ ในปี 1894 แทน ระหว่างนั้นในปี 1895 ‘โรเบิร์ต วิลคอกซ์’ (Robert Wilcox) ได้พยายามก่อจลาจลเพื่อให้ราชินีลิลิอูโอคาลานีกลับมาครองบัลลังก์อีกครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ ราชินีถูกจับกุมและถอดยศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มกราคม 1895 ก่อนจะถูกนำตัวไปขังไว้ในบ้านพักที่โฮโนลูลู ฮาวายถูกผนวกรวมกับอเมริกาอย่างเป็นทางการในปี 1898 และกลายเป็น 1 ใน 50 รัฐของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในปี 1959 ทั้งยังถือเป็นรัฐเดียวที่เคยถูกปกครองโดยราชินี ราชินีลิลิอูโอคาลานีอาศัยอยู่ในบ้านเกิดเยี่ยงสามัญชน จนเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนขณะเป็นโรคหลอดเลือดสมองในปี 1917 อายุ 79 ปี เหลือไว้เพียงประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ของชาวฮาวายต่ออำนาจของเหล่านายทุนและมหาอำนาจชาติอเมริกาและยุโรปที่พยายามเข้าช่วงชิงสิทธิและเสรีภาพของชนพื้นเมือง รวมไปถึงบทเพลงอมตะที่พระนางตั้งใจแต่งให้เป็นเพลงรัก แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นเพลงแห่งการอำลาของราชินีองค์นี้ไปตลอดกาล จากเพลงรักสู่คำบอกลา มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นเกี่ยวกับที่มาของเพลงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจที่ว่าเพลง Aloha ’Oe ถูกประพันธ์ขึ้นระหว่างที่ราชินีลิลิอูโอคาลานีถูกจองจำอยู่ในบ้านพักที่โฮโนลูลู ซึ่งแท้จริงแล้วเพลง Aloha ’Oe ถูกประพันธ์ไว้ตั้งแต่ปี 1878 ก่อนที่ราชินีลิลิอูโอคาลานีจะขึ้นครองราชย์นานถึง 13 ปี โดยที่มาของเพลงเริ่มต้นจากการเดินทางกลับโฮโนลูลูด้วยการขี่ม้า หลังจากมาเยี่ยมฟาร์มปศุสัตว์ที่มาอูนาวิลิ (Maunawili) พระนางกำลังชมความงามของอ่าวคาเนโอเฮ (Kaneohe Bay) ก่อนจะเหลือบไปเห็นพันเอกเจมส์ บอยด์ (James Boyd) และหญิงสาวชาวมาอูนาวิลิกำลังเอ่ยคำร่ำลาต่อกันด้วยความรักใคร่ ราชินีลิลิอูโอคาลานีเก็บภาพที่เห็นมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง พระนางฮัมทำนองออกมาจนจบ และเกิดเป็นเพลง Aloha ’Oe ขึ้น แต่กระนั้นบทเพลงที่เปี่ยมไปด้วยความหมายและความงามนี้ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นเพลงรักอย่างที่ตั้งใจ เพราะอีก 20 ปีให้หลัง ราชินีลิลิอูโอคาลานีเลือกจะใช้เพลง Aloha ’Oe เพื่อกล่าวอำลาฮาวายภายหลังจากเสียเอกราชและกลายเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกาไปในที่สุด นั่นคือประวัติศาสตร์และความโศกเศร้าของราชินีที่ถูกฝากฝังไว้ในบทเพลง จนกระทั่งได้รับการแปลเนื้อให้เป็นภาษาอังกฤษเมื่อปี 1923 ภายใต้ชื่อเพลง Farewell to Thee เรื่องราวและความรู้สึกของพระนางก็ได้รับการเผยแพร่ไปสู่คนทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
“ลาก่อนทุกท่าน ลาก่อน ใครคนนั้นที่หลบอยู่ใต้เงาแห่งความอ่อนหวานและอ่อนโยน กับอ้อมกอดแห่งความรักใคร่ ฉันต้องไปแล้ว จนกว่าเราจะพบกันใหม่”เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ที่มา: https://www.songfacts.com/facts/queen-liliuokalani/aloha-oe https://www.biography.com/royalty/liliuokalani https://www.history.com/topics/19th-century/liliuokalani https://lyricstranslate.com/en/aloha-oe-goodbye.html https://lyricstranslate.com/en/aloha-%CA%BBoe-farewell-thee.html ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Lili%CA%BBuokalani#/media/File:Liliuokalani,_c._1891.jpg