02 มิ.ย. 2564 | 18:08 น.
“ความสำเร็จที่แท้จริง คือการที่คุณปฏิบัติกับผู้คนอีกซีกโลกหนึ่ง ที่ไม่มีอะไรเหมือนคุณเลย นอกจากความเป็นมนุษย์ได้อย่างเท่าเทียมกัน”หลายครั้งที่เรามักจะเห็นชื่อของมหาเศรษฐีติดอันดับโลกอย่าง ‘บิลล์ เกตส์’ ถูกหยิบมาพูดถึงในฐานะคนเก่งอัจฉริยะที่ร่ำรวยและประสบความสำเร็จได้แม้เรียนไม่จบ แต่ 30 ปีต่อมา เจ้าพ่อไมโครซอฟต์ผู้สร้างตำนานบทใหม่ให้กับโลกเทคโนโลยีคนนี้ ได้รับเชิญจากสมาศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อกล่าวสุนทรพจน์ในวันรับปริญญากับบัณฑิตใหม่ และในวันเดียวกันนั้นบิลล์ เกตส์ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ซึ่งถือเป็นปริญญาใบแรกในชีวิตเขาด้วย บิลล์ เกตส์ เป็นที่รู้จักในฐานะนักธุรกิจชาวอเมริกัน หนึ่งในผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ และเป็นผู้บุกเบิกกรุยทางให้กับวงการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล โดยการคิดค้นระบบปฏิบัติการอย่าง ‘วินโดวส์’ (windows) เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บิลล์ เกตส์ กลายเป็นมหาเศรษฐีพันล้านด้วยอายุเพียง 31 ปี และ 10 ปีให้หลังต่อจากนั้น บิลล์ เกตส์ขึ้นแท่นเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เงินทองมหาศาลที่เขาหามาได้ถูกหั่นไว้ส่วนหนึ่งไปใช้กับการก่อตั้งมูลนิธิ ‘Bill & Melinda Gates Foundation’ เพื่อนสนับสนุนโครงการด้านการศึกษา สุขภาพ และภาวะโลกร้อน ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา มูลนิธิของบิลล์และเมลินดา เกตส์ ก็ได้มอบส่วนหนึ่งเพื่อเป็นงบประมาณในการวิจัยตรวจรับ และรักษาโรคนี้ บิลล์ เกตส์ เป็นนักธุรกิจ คนทำงานเพื่อสังคม และผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วโลกอยู่บ่อยครั้ง เส้นทางสู่ความสำเร็จของเขาดูจะหอมหวานสำหรับใครหลายคน แต่เบื้องหลังก็เต็มไปด้วยการต่อสู้ชิงไหวชิงพริบ และเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว เขากลับไม่ได้รู้สึกว่า การมีทรัพย์สินเงินทองมากมายจะช่วยให้ความสุข และความหมายของชีวิตดำรงต่อไปได้ นั่นจึงเป็นที่มาของสุนทรพจน์อันแหลมคมในวาระงานจบการศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อปี 2007 ที่กลายเป็นสุนทรพจน์ที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งของเจ้าพ่อไมโครซอฟต์คนนี้ นี่คือ สุนทรพจน์ฉบับเต็ม ณ พิธีจบการศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี 2007 ท่านอธิการบดีบ็อค ท่านอดีตอธิการบดีรูเดนสไตน์ ท่านอธิการบดีใหม่เฟาส์ต์ ท่านสมาชิกสภาฮาร์วาร์ดสภาฮาร์วาร์ด ท่านคณะกรรมการตรวจสอบการทำงานของสภาฮาร์วาร์ด คณาจารย์ ผู้ปกครอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้สำเร็จการศึกษาทุกคน ณ ที่ตรงนี้ ผมรอนานกว่า 30 ปีแล้วเพื่อจะพูดว่า “พ่อครับ ผมบอกพ่อเสมอว่าผมจะกลับมาเรียนให้จบ” ผมอยากขอบคุณฮาร์วาร์ดสำหรับเกียรติประวัติในครั้งนี้ ผมกำลังจะเปลี่ยนงานในปีหน้า และก็เป็นเรื่องดีที่ในที่สุด ผมจะมีปริญญาตรีบนประวัติย่อเสียที ผมขอชื่นชมบัณฑิตทุกคนในวันนี้ ที่เดินทางสายตรงในการคว้าใบปริญญามาได้สำเร็จ ในส่วนของตัวผมเอง ผมแค่มีความสุขที่ เดอะ คริมสัน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์นักศึกษาประจำมหาวิทยาลัยเรียกผมว่า “ผู้ดร็อปเรียนกลางคัน ที่ประสบความสำเร็จที่สุดของฮาร์วาร์ด” ผมว่า ตำแหน่งนี้ทำให้ผมเป็นนักสู้ในชั้นเรียนพิเศษของตัวเอง ผมประสบความสำเร็จที่สุดในบรรดานักเรียนที่เรียนไม่จบ แต่ผมก็อยากให้ทุกคนรู้จักผม ในฐานะคนที่เคยหว่านล้อมให้สตีฟ บัลเมอร์ ต้องลาออกระหว่างเรียนด้านบริหารธุรกิจ ผมเป็นอิทธิพลที่แย่เอามาก ๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่มหาวิทยาลัยเชิญผมมาพูดในงานรับปริญญาของพวกคุณ ถ้าผมพูดในวันปฐมนิเทศ วันนี้พวกคุณหลายคนก็อาจจะไม่ได้มานั่งอยู่ตรงนี้ก็ได้ ฮาร์วาร์ดเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมสำหรับผม ชีวิตในโลกการศึกษานั้นมีเสน่ห์ ผมเคยไปนั่งฟังเลคเชอร์หลายวิชาที่ผมไม่ได้ลงทะเบียน และชีวิตในหอพักก็สุดยอด ตอนนั้นผมอยู่หอเคอร์เรียร์ (Currier House) บริเวณวิทยาลัยแรดคลิฟฟ์ (Radcliffe) หลายคนจะมานั่งคุยกันในห้องตอนดึก ๆ เพราะทุกคนรู้ว่า ผมไม่ค่อยกังวลกับการจะตื่นเช้าไม่ได้ นั่นคือสาเหตุว่าทำไมผมกลายเป็นผู้นำของกลุ่มคนที่ไม่ชอบเข้าสังคม เราเกาะกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นเพื่อยืนยันการปฏิเสธของเราที่จะไม่คบกับพวกที่เข้าสังคมเก่ง ๆ แรดคลิฟฟ์เป็นสถานที่ที่ดีเยี่ยม เพราะมีนักศึกษาผู้หญิงอยู่แถวนั้นมากกว่า แล้วนักศึกษาชายส่วนใหญ่ก็เป็นประเภทเก่งวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ สองอย่างนี้รวมกันทำให้ผมมีโอกาสดีที่สุด พวกคุณคงรู้ว่าผมหมายถึงอะไร นั่นคือจุดที่ผมได้รับบทเรียนที่น่าเศร้าว่า การปรับปรุงแต้มต่อของคุณไม่ได้เป็นรับประกันว่า คุณจะประสบความสำเร็จ หนึ่งในความทรงจำที่ชัดเจนที่สุดของผมเกี่ยวกับฮาร์วาร์ดเกิดขึ้นในเดือนมกราคม ปี 1975 เมื่อผมโทรศัพท์จากหอพัก ไปหาบริษัทแห่งหนึ่งในเมืองอัลบูเคอร์คี (Albuquerque) ที่กำลังเริ่มผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเครื่องแรกของโลก ผมโทรไปเสนอขายซอฟต์แวร์ให้กับพวกเขา ผมกังวลว่า พวกเขาจะรู้ว่าผมเป็นแต่นักศึกษาที่โทรมาจากหอ แต่พวกเขากลับบอกผมแค่ “เรายังไม่พร้อม อีกหนึ่งเดือนค่อยมาพบเรา” ซึ่งนั่นก็เป็นข่าวดี เพราะเรายังไม่ได้เริ่มเขียนซอฟต์แวร์อะไรเลย จากนั้นผมเริ่มทำงานทั้งวันทั้งคืนกับโครงการพิเศษเล็ก ๆ ชิ้นนี้ ที่กลายเป็นจุดสิ้นสุดการเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางอันน่าทึ่งและแสนวิเศษกับไมโครซอฟต์ สิ่งที่ผมจำได้แม่นยำที่สุดเกี่ยวกับฮาร์วาร์ด คือการได้อยู่ท่ามกลางพลังงานและสติปัญญาอันมากมายมหาศาล มันทำให้ผมทั้งรู้สึกมีชีวิตชีวา ประหม่า และบางครั้งก็ท้อใจ แต่มันท้าทายอยู่เสมอ มันเป็นสิทธิพิเศษอันน่าทึ่ง และแม้ว่าผมจะออกจากที่นี่ไปกลางคัน แต่ประสบการณ์หลายปีในฮาร์วาร์ด ทำให้ผมได้รับมิตรภาพที่ผมสร้าง และไอเดียต่าง ๆ ที่ผมค้นคว้าระหว่างเรียนหนังสือก็ได้เปลี่ยนแปลงตัวผมไป แต่เมื่อมองย้อนกลับไปถึงช่วงเวลานั้นอย่างจริงจัง … ผมก็มีเรื่องเสียดายมาก ๆ เรื่องหนึ่ง ผมออกจากฮาร์วาร์ดโดยไม่เคยตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมกันอันร้ายแรงในโลกนี้ ความเหลื่อมล้ำอันน่ากลัวของสุขภาพ ความมั่งคั่งร่ำรวย และโอกาสที่กดทับให้คนหลายล้านคนต้องใช้ชีวิตอย่างสิ้นหวัง ผมได้เรียนรู้ไอเดียใหม่ ๆ มากมายจากฮาร์วาร์ด ทั้งในทางเศรษฐศาสตร์และการเมือง ผมได้รับความก้าวหน้าอย่างมาก จากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ แต่ความก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติไม่ได้อยู่ที่การค้นพบอะไรใหม่ ๆ หากอยู่ที่การใช้การค้นพบเหล่านั้นมาช่วยลดทอนความไม่เท่าเทียมได้อย่างไร ไม่ว่าจะด้วยกระบวนการประชาธิปไตย การศึกษาภาครัฐที่เข้มแข็ง ระบบสาธารณสุขที่ได้คุณภาพ หรือการมอบโอกาสทางเศรษฐกิจอันกว้างขวาง การลดความไม่เท่าเทียมในโลกต่างหาก คือความสำเร็จอันสูงสุดของมนุษย์ ผมออกจากมหาวิทยาลัยโดยแทบไม่รู้เลยว่า เยาวชนหลายล้านคนถูกโกงโอกาสด้านการศึกษาในประเทศของเรานี่เอง และผมก็ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับคนหลายล้านคนที่อยู่กับความแร้นแค้น ยากจน และโรคร้ายต่าง ๆ ในประเทศกำลังพัฒนา ใช้เวลาไปหลายสิบปีกว่าผมจะรู้เรื่องพวกนี้ ทุกคนในที่นี้จบการศึกษาจากฮาร์วาร์ดในช่วงเวลาที่แตกต่างกับผม พวกคุณรู้เกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมในโลกนี้ มากกว่านักเรียนรุ่นก่อน ๆ หลายปีที่ผ่านมาผมหวังว่าพวกคุณจะมีโอกาสระลึกได้ว่า ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง ในที่สุด เราก็หาทางรับมือกับความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ได้ เราช่วยกันขจัดปัญหาเหล่านี้ได้ ลองนึกภาพดูว่า ถ้าคุณมีเวลาว่างสักสองถึงสามชั่วโมงในหนึ่งสัปดาห์ และมีเงินไม่กี่ดอลลาร์ต่อเดือนที่จะอุทิศให้กับการช่วยสังคมในด้านใดด้านหนึ่ง และคุณก็อยากใช้เวลาและเงินไปกับการช่วยชีวิตและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คน คุณจะเอาเวลาและเงินนั้นไปทำอะไร? สำหรับผมและเมลินดา (Melinda Gates ภรรยาของบิลล์ เกตส์) ก็ได้เผชิญกับความท้าทายแบบเดียวกัน – จะทำอย่างไรให้เราสามารถช่วยคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ด้วยทรัพยากรที่เรามีอยู่? ระหว่างที่เราคุยกันเรื่องนี้ เมลินดากับผมก็ได้อ่านบทความเกี่ยวกับเด็กจำนวนหลายล้านคนในประเทศยากจนที่ตายทุกปีจากโรคร้ายที่ไม่เป็นอันตรายในประเทศเรามานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรคหัด มาเลเรีย ปอดบวม ไวรัสตับอักเสบบี และไข้เหลือง โรคชนิดหนึ่งที่ผมไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนคือ ‘rotavirus’ ที่กำลังคร่าชีวิตเด็ก ๆ กว่าครึ่งล้านคนในแต่ละปี ซึ่งในจำนวนนี้ไม่มีเด็กอเมริกันแม้แต่คนเดียว พวกเรารู้สึกช็อคอย่างมาก เราเคยคิดเอาเองว่า ถ้าเด็กหลายล้านคนกำลังจะตาย และมีหนทางที่จะช่วยชีวิตพวกเขาไว้ได้ โลกของเราก็ต้องให้ความสำคัญกับการค้นพบและนำส่งยาไปช่วยชีวิตพวกเขาเป็นอันดับแรก แต่โลกไม่ได้ทำแบบนั้น มีวิธีการมากมายที่มีต้นทุนต่ำกว่า 1 เหรียญสหรัฐฯ ที่จะสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้ แต่กลับไม่มีใครใช้ หากคุณเชื่อว่า ทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน มันก็น่าสะอิดสะเอียนมาก ๆ ที่ได้รู้ว่า มีบางชีวิตถูกมองว่า ควรค่าที่จะได้รับการช่วยเหลือมากกว่า และมองว่าอีกหลายคนไม่คุ้มค่า พวกเราบอกกับตัวเองว่า “เรื่องนี้ไม่น่าเกิดขึ้นจริงได้ แต่ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ นี่ก็ควรจะเป็นเป้าหมายหลักในการให้ของเรา” ดังนั้น เราจึงเริ่มงานของเราจากจุดเดียวกับทุกคนในที่นี้ ด้วยการตั้งคำถามว่า “โลกกำลังปล่อยให้เด็ก ๆ เหล่านี้ตายได้อย่างไร?” คำตอบนั้นเรียบง่ายและโหดร้าย ระบบกลไกตลาดไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของเด็กเหล่านี้ดีขึ้น และรัฐบาลทั่วโลกก็ไม่ให้เงินอุดหนุน เด็ก ๆ จึงต้องตายเพราะพ่อแม่ของพวกเขาไม่มีอำนาจในตลาด และไม่มีสิทธิมีเสียงในระบบ แต่พวกคุณและผมมีทั้งสองอย่าง เราสามารถทำให้กลไกการทำงานของระบบตลาดทำงานช่วยเหลือผู้ยากไร้มากขึ้น ถ้าเราสามารถพัฒนาทุนนิยมที่สร้างสรรค์กว่าเดิมได้ ถ้าเราสามารถขยายขอบเขตของระบบตลาด ให้คนจำนวนมากกว่าเดิมสามารถทำกำไร หรืออย่างน้อยก็เอาตัวรอดจากความไม่เท่าเทียมอันเลวร้ายที่สุดได้ นอกจากนี้ เรายังสามารถกดดันรัฐบาลทั่วโลกให้ใช้เงินภาษีไปในทางที่สะท้อนคุณค่าของผู้เสียภาษีเหล่านั้นได้ดีขึ้น ถ้าเราสามารถค้นพบแนวทางที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ยากไร้ ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ภาคธุรกิจมีกำไร และนักการเมืองได้รับคะแนนความนิยม ก็เท่ากับเราพบวิธีในการลดความเหลื่อมล้ำอันยั่งยืนในโลกนี้ ภารกิจนี้เป็นภารกิจปลายเปิด มันไม่มีวันสิ้นสุด แต่ความพยายามร่วมกันอย่างมีสติของทุกฝ่ายในการรับมือกับความท้าทายครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงโลก ผมมองโลกในแง่ดีว่าเราสามารถทำเรื่องนี้ได้ แต่ผมก็ได้คุยกับคนขี้สงสัยหลายคนที่อ้างว่า เราไม่มีความหวัง พวกเขาบอกว่า “ความเหลื่อมล้ำอยู่กับเรามาตั้งแต่ต้น และจะอยู่กับเราไปจนถึงจุดจบของ เพราะคนทั่วไปไม่ได้แคร์อะไรกับเรื่องนี้เลย” ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ผมเชื่อว่า เรามีความห่วงใยเกินกว่าที่เรารู้ว่าจะทำหรือรับมือกับมันอย่างไร เราทุกคนในที่นี้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ต้องเคยเห็นโศกนาฏกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เราหัวใจแตกสลาย แต่แล้วเราก็ไม่ทำอะไร ไม่ใช่เพราะเราไม่สนใจ แต่เพราะเราไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรดี ถ้าเรารู้วิธีช่วยเหลือ เราต้องทำแน่ ๆ สิ่งที่กีดขวางการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ความห่วงใยที่มีไม่พอ หากแต่เป็นความซับซ้อนที่มีมากเกินไป ก่อนที่เราจะเปลี่ยนความห่วงใยให้เป็นการปฏิบัติได้ เราต้องมองเห็นปัญหา วิธีแก้ไข และผลกระทบ แต่ความซับซ้อนต่าง ๆ เหล่านั้นปิดกั้นทั้งสามขั้นตอนนี้ออกไป แม้ว่า จะมีอินเทอร์เน็ตและข่าวให้ดูตลอด 24 ชั่วโมง แต่มันก็ยังเป็นเรื่องซับซ้อนที่จะทำให้ผู้คนมองเห็นปัญหาอย่างแท้จริง เมื่อไรก็ตามที่เครื่องบินตก เจ้าหน้าที่รัฐก็จะจัดงานแถลงข่าวทันที เพื่อให้คำมั่นสัญญาว่าจะสอบสวนหาสาเหตุ และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก แต่ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐมีความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาจริง ๆ พวกเขาจะพูดว่า “ในบรรดาคนทั้งหมดในโลกนี้ที่ต้องตายในวันนี้จากสาเหตุที่ป้องกันได้ คนจำนวนกึ่งหนึ่งในหนึ่งเปอร์เซ็นต์อยู่ในเครื่องบินลำนี้ เรามุ่งมั่นที่จะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อแก้ปัญหา ที่ทำให้คนจำนวนกึ่งหนึ่งในหนึ่งเปอร์เซ็นต์นั้นถูกคร่าชีวิตไป” ปัญหาที่ใหญ่กว่าไม่ใช่เครื่องบินตก แต่เป็นจำนวนคนตายนับล้านคนที่ป้องกันได้ เราไม่ค่อยได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของพวกเขามากนัก เพราะสื่อมวลชนนำเสนอแต่ข่าวใหม่ ๆ คนหลายล้านคนที่กำลังจะตายไม่ใช่ข่าวใหม่อะไร ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะมองข้ามกับเรื่องที่ถูกฝังกลบไว้เบื้องหลัง แต่ถึงแม้เราจะได้เห็นหรืออ่าน ก็เป็นเรื่องยากที่จะรักษาความสนใจไว้ที่ปัญหานี้ เพราะเป็นเรื่องยากที่จะมองความทุกข์ยากที่ซับซ้อนจนเราไม่รู้จะช่วยเหลือได้อย่างไร ฉะนั้น เราจึงมองข้าม เบือนหน้าหนีไปทางอื่น หากเราได้ผ่านขั้นตอนแรกในการมองเห็นปัญหาแล้ว เราก็จะมาถึงขั้นที่สอง นั่นคือ การตัดความซับซ้อนเพื่อหาทางแก้ไข การหาทางแก้ไขปัญหาเป็นสิ่งสำคัญจำเป็น ถ้าเราต้องการทำให้ความห่วงใยของเราเกิดประโยชน์จริง ๆ ถ้าเราได้รับคำตอบที่ชัดเจนและพิสูจน์ได้แล้วว่า เราสามารถตอบทุกครั้งที่องค์กรหรือปัจเจกชนถามว่า “ฉันจะช่วยได้อย่างไร?” เราก็จะสามารถลงมือปฏิบัติได้ สร้างความมั่นใจได้ว่า จะไม่มีความห่วงใยใด ๆ สูญเปล่า แต่ความสลับซับซ้อนของปัญหาทำให้เป็นเรื่องยาก ที่จะวางขั้นตอนปฏิบัติสำหรับทุกคนที่ห่วงใย และนั่นทำให้ความห่วงใยของพวกเขากลายเป็นเรื่องยากและไม่นำไปสู่อะไร การตัดผ่านความซับซ้อนเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหามีทั้งหมดสี่ขั้นตอน ได้แก่ กำหนดเป้าหมาย ค้นหาวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด หาเทคโนโลยีที่เหมาะสำหรับแนวทางนั้น และนำเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในตอนนี้ที่มีอยู่แล้วมาใช้ไปพลางก่อน ไม่ว่าจะเป็นอะไรที่ซับซ้อน เช่น ยารักษาโรค หรือสิ่งที่เรียบง่ายกว่านั้น เช่น มุ้ง ตัวอย่างเช่น ปัญหาโรคเอดส์ เป้าหมายกว้าง ๆ ของเราคือ การกำจัดโรคนี้ไปจากโลก วิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือ การป้องกันโรคเอดส์ เทคโนโลยีในอุดมคติที่ควรจะเป็นคือ วัคซีนที่ให้เป็นภูมิคุ้มกันได้ตลอดชีวิตหลังการฉีดเพียงหนึ่งครั้ง นั่นคือเหตุผลที่รัฐบาล บริษัทยา และมูลนิธิต่าง ๆ ให้เงินสนับสนุนการวิจัยวัคซีน แต่งานของพวกเขาน่าจะใช้เวลานานกว่าทศวรรษจึงจะสำเร็จ ดังนั้น ในระหว่างนี้ เราจึงต้องทำในสิ่งที่เราพอจะทำได้ และวิธีป้องกันโรคที่ดีที่สุดที่มีอยู่ตอนนี้คือ การโน้มน้าวให้ผู้คนหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ การบรรลุเป้าหมายด้านการป้องกันคือ เราต้องเริ่มวงจรที่มีสี่ขั้นตอนขึ้นใหม่ นี่เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องไม่หยุดคิดหรือหยุดทำงาน และอย่าทำแบบเดียวกับที่เราเคยทำเมื่อครั้งโรคมาเลเรียและวัณโรคในยุคศตวรรษที่ 20 นั่นคือ การยอมจำนนต่อความซับซ้อนและเลิกล้มความพยายามที่จะแก้ปัญหา ขั้นตอนสุดท้าย หลังจากที่มองเห็นปัญหาและค้นพบวิธีแก้ไขแล้ว คือการวัดผลกระทบจากงานของคุณ และแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จและความล้มเหลวของคุณ เพื่อให้คนอื่น ๆ ได้เรียนรู้จากความพยายามของคุณได้ คุณต้องเก็บสถิติ คุณต้องแสดงผลให้ได้ว่า โครงการของคุณกำลังช่วยให้เด็กหลายล้านคนได้รับการฉีดวัคซีน คุณต้องแสดงให้เห็นได้ว่า เด็ก ๆ ที่ใกล้ตายจากโรคร้ายมีจำนวนลดลง นี่เป็นเรื่องสำคัญไม่ใช่เพราะมันจะช่วยให้คุณปรับปรุงโครงการนี้ได้เท่านั้น แต่สถิติเหล่านี้ จะช่วยดึงดูดเงินลงทุนจากภาคธุรกิจและภาครัฐอีกมาก แต่ถ้าคุณต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นมีส่วนร่วม คุณต้องแสดงมากกว่าตัวเลข คุณต้องสื่อสารผลกระทบด้านมนุษยธรรมจากงานของคุณ เพื่อให้คนอื่น ๆ ได้รู้ว่า การช่วยชีวิตคนคนหนึ่งมีความหมายต่อครอบครัวของเขาอย่างไร ผมจำได้ว่าผมเคยไปที่เมืองดาวอสหลายปีมาแล้ว เพื่อร่วมงานสัมมนาของคณะกรรมการสุขภาพที่กำลังอภิปรายเรื่องวิธีช่วยชีวิตคนนับล้านคน ล้านคน! ลองคิดถึงความรู้สึกอิ่มใจจากการได้ช่วยชีวิตคนเพียงหนึ่งคน แล้วก็คูณความรู้สึกนั้นด้วยหลักล้าน… แต่งานนั้นกลับเป็นงานสัมมนาที่น่าเบื่อที่สุดในชีวิตของผม มันน่าเบื่อเสียขนาดที่ผมทนอยู่แทบไม่ไหว สิ่งที่ทำให้ผมจำประสบการณ์ครั้งนั้นได้แม่นก็คือ ผมเพิ่งกลับมาจากงานของบริษัทที่เราเพิ่งเปิดตัวซอฟต์แวร์เวอร์ชั่น 13 ในงานมีผู้คนมากมายก็กระโดดขึ้นลงและตะโกนด้วยความตื่นเต้น ผมชอบทำให้คนรู้สึกตื่นเต้นเกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่เพราะอะไรเราจึงไม่สามารถทำให้คนตื่นเต้นยิ่งกว่านั้นที่ได้ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์? คุณไม่สามารถทำให้ใครตื่นเต้นได้ จนกว่าคุณจะช่วยให้พวกเขามองเห็นและรู้สึกได้ถึงผลกระทบ และวิธีที่จะทำอย่างนั้นได้ก็เป็นคำถามที่ซับซ้อนข้อหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังมองโลกในแง่ดีอยู่ ใช่, ความไม่เท่าเทียมกันจะอยู่กับเราตลอดไป แต่เครื่องมือใหม่ ๆ ที่ตอนนี้เรามีใช้เพื่อตัดผ่านและลดทอนความซับซ้อนนั้นไม่ได้อยู่กับเรามาตลอด เครื่องมือเหล่านี้เป็นสิ่งใหม่ ที่จะช่วยให้ความห่วงใยของเราเกิดประโยชน์สูงสุดได้ และนั่นคือเหตุผลที่อนาคตจะแตกต่างจากอดีตได้ นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีชีวภาพ คอมพิวเตอร์ หรืออินเทอร์เน็ต ทำให้เรามีโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อน ในการกำจัดความยากจนสุดขีดและป้องกันความตายจากโรคร้ายแรงที่ป้องกันได้ หกสิบปีที่แล้ว จอร์จ มาร์แชล (George Marshall) ประกาศแผนที่จะช่วยเหลือประเทศในทวีปยุโรปหลังสงคราม เขากล่าวว่า “ผมคิดว่าความยากลำบากอย่างหนึ่งคือ ปัญหานี้เป็นปัญหาที่สลับซับซ้อนมากเสียจนข้อเท็จจริงที่สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อวิทยุนำเสนอต่อประชาชน ทำให้ผู้คนเข้าใจสถานการณ์จริง ๆ ได้ยาก เมื่อเฝ้าดูจากระยะทางที่ห่างไกลขนาดนี้ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ใครจะเข้าใจความสำคัญที่แท้จริงของสถานการณ์ทั้งหมด” สามสิบปีหลังจากที่มาร์แชลกล่าวสุนทรพจน์ เมื่อนักศึกษารุ่นเดียวกับผมรับปริญญาโดยไม่มีผม เทคโนโลยีก็อุบัติขึ้นใหม่ เทคโนโลยีที่จะทำให้โลกเล็กลง เปิดกว้างยิ่งขึ้น มองเห็นได้ใกล้และเด่นชัดกว่าเดิม การถือกำเนิดขึ้นของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลราคาถูกทำให้เกิดเครือข่ายอันทรงพลัง ที่ได้เปลี่ยนแปลงโอกาสในการเรียนรู้และติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์ สิ่งที่มหัศจรรย์เกี่ยวกับเครือข่ายนี้คือ มันไม่เพียงแต่การย่นระยะทางและทำให้ทุกคนกลายเป็นเพื่อนบ้านของคุณเท่านั้น แต่มันยังเพิ่มจำนวนผู้ชาญฉลาดที่สามารถร่วมมือกันแก้ปัญหาเดียวกัน ซึ่งทำให้อัตราการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ในขณะเดียวกัน คนที่เข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้มีจำนวนเพียงหนึ่งในหกของประชากรโลกเท่านั้น นั่นหมายความว่า อีกห้าส่วนที่เข้าไม่ถึง ซึ่งอาจจะเป็นมันสมองอันสร้างสรรค์ต้องถูกกีดกันออกนอกวงสนทนานี้ – คนฉลาดที่มีทั้งปัญญาที่ใช้ได้ในโลกแห่งความจริง และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง กลายเป็นผู้ที่ไม่มีเทคโนโลยีที่จะแบ่งปันไอเดียให้โลกรู้ เราต้องการให้คนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ เพราะความเจริญก้าวหน้าเหล่านี้กำลังก่อการปฏิวัติในสิ่งที่มนุษย์สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงช่วยเหลือเฉพาะระดับชาติ แต่ยังช่วยให้มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชน องค์กรขนาดเล็ก และบุคคลทั่วไป ได้มองเห็นปัญหา วิธีแก้ไข และวัดผลของความพยายามของพวกเขาที่จะกำจัดความหิวโหย ความยากจน และความสิ้นหวังที่จอร์จ มาร์แชล เคยพูดไว้เมื่อ 60 ปีที่แล้ว สมาชิกครอบครัวฮาร์วาร์ดทุกท่าน: สนามแห่งนี้คือหนึ่งในศูนย์รวมความยอดเยี่ยมทางปัญญาที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่ออะไรกัน? ไม่ต้องสงสัยว่า คณาจารย์ ศิษย์เก่า นักศึกษา และผู้อุปการะคุณของฮาร์วาร์ดได้ใช้พลังของพวกเราเพื่อปรับปรุงชีวิตของผู้คนที่นี่และทั่วโลก แต่เราจะทำให้ดีกว่าเดิมได้หรือเปล่า เราทำมากกว่านี้ได้หรือไม่? ฮาร์วาร์ดจะทุ่มเทมันสมองเพื่อช่วยเหลือคนที่ไม่เคยได้ยินแม้แต่ชื่อของสถาบันแห่งนี้ได้หรือไม่? ผมมีคำวิงวอนที่อยากจะร้องขอต่อท่านอธิการบดีและอาจารย์ทั้งหลาย ผู้เป็นผู้นำทางปัญญาของฮาร์วาร์ด – ในขณะที่พวกท่านจ้างอาจารย์ใหม่ มอบตำแหน่ง ทบทวนหลักสูตร และกำหนดเงื่อนไขของการมอบปริญญาบัตร กรุณาถามตัวเองกันด้วยว่า: เราควรทุ่มเทมันสมองที่ดีที่สุดให้กับการแก้ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดหรือไม่? ฮาร์วาร์ดควรสนับสนุนให้คณาจารย์มุ่งหมายไปที่การแก้ไขความไม่เท่าเทียมที่ร้ายแรงที่สุดในโลกหรือไม่? นักศึกษาฮาร์วาร์ดควรได้เรียนรู้เกี่ยวกับความยากจนข้นแค้นในโลก …ความหิวโหยอดอยากของผู้คน …การขาดแคลนน้ำดื่มที่สะอาด …เด็กผู้หญิงที่ไม่ได้เรียนหนังสือ …เด็กที่เสียชีวิตจากโรคร้ายที่เรารักษาได้? ควรหรือไม่ที่กลุ่มคนที่มีอภิสิทธิ์ที่สุดในโลก จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตของกลุ่มคนสิทธิพิเศษน้อยที่สุดในโลก? คำถามเหล่านี้ไม่ใช่การเล่นเชิงโวหาร แต่เป็นสิ่งที่ต้องตอบพร้อมกับนโยบายของพวกท่าน แม่ของผม คนที่ภาคภูมิใจมากในวันที่ผมเข้าเรียนที่นี่ได้ ไม่เคยหยุดผลักดันให้ผมทำงานเพื่อคนอื่นให้มากกว่าเดิม ไม่กี่วันก่อนงานแต่งงานของผม แม่จัดงานเลี้ยงให้เจ้าสาว และในงานนั้น เธออ่านจดหมายที่เขียนขึ้นให้เมลินดาและแขกฟัง ตอนนั้นแม่ผมป่วยหนักด้วยโรคมะเร็ง แต่แม่ก็เห็นโอกาสที่จะเผยแพร่ข้อความของตัวเอง จดหมายฉบับนั้นลงท้ายด้วยประโยคว่า “คนที่ได้รับมาก ย่อมถูกคาดหวังว่าจะให้มากเช่นกัน” เมื่อพวกคุณลองพิจารณาถึงสิ่งที่พวกเราทุกคนในสนามแห่งนี้ได้รับ ไม่ว่าจะในด้านสิทธิพิเศษ อภิสิทธิ์ และ โอกาสแบบไม่มีขีดจำกัด – ฉะนั้น สิ่งที่โลกนี้ควรคาดหวังจากเราก็แทบไม่มีข้อจำกัดใด ๆ เลย ผมอยากจะกระตุ้นให้บัณฑิตทุกคนในที่นี้ครุ่นคิดถึงปัญหา – ปัญหาที่ซับซ้อน ความไม่เท่าเทียมที่หยั่งรากฝังลึก จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ ถ้าคุณทำให้เรื่องนั้นเป็นหมุดหมายของอาชีพคุณได้ นั่นจะเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มาก ๆ แต่คุณไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นเพื่อทำตัวให้เป็นประโยชน์ คุณเพียงแต่ต้องใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ใช้พลังของอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ทันข่าวสารข้อมูล ค้นหาคนอื่น ๆ ที่มีความสนใจตรงกัน มองเห็นสิ่งกีดขวางต่าง ๆ และหาวิถีทางที่จะฝ่าฟันมันออกไป อย่าปล่อยให้ความซับซ้อนหยุดคุณไว้กับที่ จงเป็นนักเคลื่อนไหว จงต่อกรกับความไม่เท่าเทียมครั้งใหญ่ มันจะกลายเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่ดีที่สุดในชีวิตคุณ พวกคุณจบการศึกษา และกำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในช่วงเวลาที่น่าอัศจรรย์ ในขณะที่คุณจบจากฮาร์วาร์ด คุณมีเทคโนโลยีที่สมาชิกในชั้นเรียนคนรุ่นผมไม่เคยมี คุณมีความตระหนักรู้ในความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งคนรุ่นผมไม่เคยมี และด้วยความตระหนักรู้เช่นนี้ก็จะทำให้คุณมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เป็นมโนธรรมที่จะคอยกวนใจคุณ ถ้าคุณทอดทิ้งเพื่อนมนุษย์ที่คุณสามารถช่วยเหลือได้ด้วยความพยายามเพียงน้อยนิด คุณมีมากกว่าที่เรามี คุณจะต้องเริ่มให้เร็วขึ้น และทำสิ่งนี้ไปอีกนาน เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว คุณจะไม่ทำได้อย่างไร? และผมหวังว่า เมื่อพวกคุณกลับมาที่ฮาร์วาร์ดในอีก 30 ปีข้างหน้า ไตร่ตรองถึงที่พวกคุณทำด้วยพรสวรรค์และพลังที่มี ผมหวังว่า เครื่องชี้วัดความสำเร็จของคุณจะไม่ใช่ด้วยอาชีพการงานเพียงอย่างเดียว แต่ด้วยระดับความพยายามที่จะลดทอนความไม่เท่าเทียมกันที่ฝังรากลึกที่สุด …จากการกระทำที่คุณปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ในอีกซีกโลกหนึ่ง ผู้ไม่มีอะไรเหมือนกับคุณเลยยกเว้นความเป็นมนุษย์ ขอให้พวกคุณโชคดีครับ. เรียบเรียงโดย: พิราภรณ์ วิทูรัตน์