อลัน ทัวริง: ถอดลับรหัสนาซีช่วยชีวิตคนนับล้าน เหยื่อกฎหมายต้านเกย์สู่หนัง The Imitation Game
“บางทีคนที่ไม่มีใครคาดคิดอาจเป็นผู้ที่สามารถทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดให้เกิดขึ้นได้”
นี่คือสารที่ภาพยนตร์ The Imitation Game (ถอดรหัสลับ อัจฉริยะพลิกโลก) พยายามสื่อออกมาผ่านบทบาทของ เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ นักแสดงนำผู้รับบท อลัน ทัวริง (Alan Turing) นักถอดรหัสอักษรไขว้ชาวอังกฤษ ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นนักคิดและนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 ไม่ต่างจาก อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
แต่ขณะที่ไอน์สไตน์คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษซึ่งนำไปสู่การสร้างระเบิดนิวเคลียร์อานุภาพทำลายล้างสูง อลัน ทัวริง คือวีรบุรุษสงครามผู้ช่วยชีวิตคนนับล้าน ด้วยการสร้างเครื่องถอดรหัสเพื่อล้วงความลับจากนาซี
นอกจากนี้ ทัวริงยังเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดที่ทำให้เกิดคอมพิวเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในยุคปัจจุบัน ทว่า ชื่อเสียงเหล่านั้นกว่าจะเป็นที่รับรู้ในวงกว้างก็ต้องรอหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้วหลายปี แถมยังมีคดีติดตัวข้อหาละเมิดกฎหมายต่อต้าน LGBTQ ในยุคนั้นด้วย
ประวัติทัวริงในหนังออสการ์
เรื่องราวของ อลัน ทัวริง ซึ่งนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ The Imitation Game ออกฉายใน ค.ศ. 2014 อ้างอิงจากประวัติของเขาในหนังสือปี 1983 ของ แอนดรูว์ ฮอดจ์ส (Andrew Hodges) ที่ใช้ชื่อ Alan Turing: The Enigma
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมในปี 2015 โดยนอกจาก เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ ที่รับบทเป็นนักคณิตศาสตร์ LGBTQ ผู้อาภัพแล้ว ยังได้ เคียร่า ไนต์ลีย์ มาเล่นเป็น โจน คลาร์ก เพื่อนสาวคนสนิทที่เป็นอดีตคู่หมั้นของทัวริงด้วย
เนื้อเรื่องในภาพยนตร์เน้นตัดสลับฉากบอกเล่าเหตุการณ์ 3 ช่วงเวลาสำคัญในชีวิต คือ วัยเด็กสมัยอยู่โรงเรียนประจำและเริ่มตกหลุมรักเพื่อนชายในโรงเรียนเดียวกัน ช่วงเข้าร่วมภารกิจลับกับรัฐบาลอังกฤษเพื่อหาทางถอดรหัสเครื่องอินิกมา (Enigma) และช่วงก่อนเสียชีวิตหลังโดนจับได้ว่ามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับคนเพศเดียวกัน
แม้เนื้อหาในภาพยนตร์หลายตอนจะมีการปรุงแต่งเพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชม แต่แกนเรื่องทั้ง 3 เหตุการณ์ล้วนมาจากชีวิตจริงของทัวริง ซึ่งเรียกได้ว่านอกจากจะเป็นอัจฉริยะผู้อาภัพและโชคร้ายแล้ว ยังทิ้งปริศนาไว้ให้ผู้คนถกเถียงกันตามมาไม่รู้จบด้วย
“เรื่องราวของ อลัน ทัวริง ไม่ใช่เรื่องครอบครัวหรือขนบทั่วไป แต่เป็นเรื่องของผู้มีความคิดแตกต่างและเป็นตัวของตัวเอง” ฮอดจ์ส เขียนบรรยายในหนังสือประวัติชีวิต อลัน ทัวริง
ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร
อลัน ทัวริง เกิดในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 1912 เป็นลูกคนเล็กในครอบครัวข้าราชการระดับสูงที่มีลูกชาย 2 คน โดยหลังออกมาลืมตาดูโลก พ่อและแม่ต้องเดินทางไปรับราชการที่อินเดีย ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษในยุคนั้น ทำให้ทัวริงและพี่ชายที่ไม่ได้ตามไปด้วย ต้องเติบโตมาภายใต้การเลี้ยงดูของผู้รับอุปถัมภ์
ทัวริงฉายแววอัจฉริยะตั้งแต่เด็ก เขาสอบเข้าเรียนที่เชอร์บอร์น โรงเรียนประจำเอกชนชื่อดังทางภาคใต้ของอังกฤษได้ตอนอายุ 13 ปี จากนั้นจึงเข้าเรียนต่อในสาขาคณิตศาสตร์ที่คิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเรียนจบในปี 1934 ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1
หลังจากนั้น 2 ปี ทัวริงเผยแพร่ผลงานทางวิชาการชื่อ On Computable Numbers ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ก่อนเข้าศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกทางคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1938
ปีถัดมาเมื่ออังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทัวริงกลับมารับใช้ชาติด้วยการเข้าร่วมทีมงานถอดรหัสเครื่องอินิกมา ซึ่งเป็นอุปกรณ์สื่อสารด้วยสัญญาณวิทยุแบบเข้ารหัสที่กองทัพนาซีของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ใช้ติดต่อแนวหน้าเพื่อบัญชาการรบ
ไขความลับอินิกมา
อินิกมา ซึ่งออกแบบโดยอาร์เธอร์ เชอร์เบียส (Arthur Scherbius) วิศวกรไฟฟ้าชาวเยอรมัน มีรูปร่างคล้ายเครื่องพิมพ์ดีด แต่สามารถเข้ารหัสข้อความด้วยความสลับซับซ้อนสูง สร้างเงื่อนไขความเป็นไปได้มากเกือบ 159 ล้านล้านแบบ จึงเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ชาวเยอรมันภาคภูมิใจและเชื่อมั่นว่าจะไม่มีใครสามารถถอดรหัสได้
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ยากเกินความสามารถของทัวริง เขาร่วมกับวิลเลียม กอร์ดอน เวลช์แมน เพื่อนนักคณิตศาสตร์จากเคมบริดจ์ นำข้อมูลเบื้องต้นจากนักคณิตศาสตร์ชาวโปแลนด์ มาสร้างเครื่องถอดรหัสได้สำเร็จในปี 1940 โดยตั้งชื่อว่า บอมเบ (Bombe)
เครื่องบอมเบ ทำงานด้วยการลอกเลียนแบบระบบปฏิบัติการของอินิกมา เพื่อถอดรหัสข้อความต่าง ๆ ออกมาโดยใช้เวลาไม่ถึง 15 นาที ทำให้อังกฤษและฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถรับรู้ความเคลื่อนไหวของกองทัพเยอรมันได้ล่วงหน้า โดยเฉพาะการโจมตีจากเรือดำน้ำ ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญของนาซีในการขัดขวางการลำเลียงเสบียงอาหารของอังกฤษ
มีการประเมินว่า ความสำเร็จของทัวริงในการถอดรหัสอินิกมา มีส่วนสำคัญที่ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเผด็จศึกเยอรมนี และยุติสงครามได้เร็วขึ้น 2 - 3 ปี และช่วยชีวิตผู้คนไม่ให้ล้มตายจากสงครามครั้งนี้ได้ 14 - 21 ล้านคน
ปริศนาการเสียชีวิต
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 ทัวริงเดินหน้าค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ก่อนเผยแพร่หน้าตาอุปกรณ์ที่เขาเป็นผู้ออกแบบในปีถัดมามีชื่อว่า Automatic Computing Engine (ACE) อุปกรณ์ดังกล่าวแม้ยังไม่มีการสร้างขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่าง แต่ได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบของคอมพิวเตอร์ยุคปัจจุบัน
ปี 1948 ทัวริงเริ่มทำงานกับมหาวิทยาลัยเมืองแมนเชสเตอร์ เพื่อสานต่อความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ หลังจากนั้น 2 ปี เขาตีพิมพ์บทความเชิงปรัชญา ซึ่งเป็นที่มาของชื่อภาพยนตร์ The Imitation Game จากแนวคิดและการทดลองเพื่อเปรียบเทียบการทำงานของเครื่องจักรกับสมองมนุษย์ และถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของเขาเกี่ยวกับระบบ AI
หลังจากชีวิตเริ่มลงตัว ทัวริงเริ่มเปิดเผยตัวตนในฐานะ LGBTQ มากขึ้น แต่ก็ยังคงเป็นเพื่อนที่ดีกับ โจน คลาร์ก อดีตคู่หมั้นที่เคยร่วมทีมถอดรหัสอินิกมามาด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยุคนั้นอังกฤษยังคงใช้กฎหมายห้ามการมีความสัมพันธ์แบบชายรักชาย ทำให้ต่อมาในปี 1952 ทัวริงถูกจับได้หลังจากคู่ขาวัย 19 ปีของเขาแอบพาเพื่อนมาขโมยของในบ้าน ทำให้เรื่องรู้ถึงตำรวจ จึงเข้ามาขุดคุ้ยและดำเนินคดีกับทัวริงในข้อหา ‘กระทำอนาจาร’
ทัวริงยอมรับต่อศาลว่าตนเองเป็น LGBTQ แต่ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องผิด และยืนหยัดอย่างภูมิใจในตัวตนที่แท้จริงของตนเอง เขาถูกลงโทษสถานหนักโดยศาลให้เลือกระหว่างติดคุก หรือรับทัณฑ์บนภายใต้เงื่อนไขต้องเข้ารับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อลดความต้องการทางเพศ ซึ่งเท่ากับเป็นการถูกทำหมันด้วยเคมี
ทัวริงตัดสินใจเลือกอย่างหลัง เพราะยังอยากทำงานที่ตนเองรักต่อไป ทว่าหลังจากนั้นแค่ 2 ปี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 1954 ทัวริงถูกพบเป็นศพภายในบ้านของตนเอง เขาเสียชีวิตในวัย 41 ปี จากการกินสารพิษไซยาไนด์เข้าไปในร่างกาย โดยข้างศพพบผลแอปเปิลที่ถูกกัดไปแล้วครึ่งลูกตกอยู่
แม้ผลการชันสูตรของทางการยืนยันว่า ทัวริงเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย แต่มารดาของเขาเชื่อว่า ลูกชายน่าจะทำการทดลองบางอย่าง และเผลอกินไซยาไนด์เข้าไปโดยไม่ตั้งใจ ขณะที่ผลแอปเปิลปริศนาที่ตกอยู่ข้างศพ ก็ไม่เคยมีการตรวจพิสูจน์หาหลักฐานแต่อย่างใด
กฎหมายทัวริง
ไม่ว่าสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงของทัวริงคืออะไร ฮอดจ์สระบุว่า หลังถูกดำเนินคดีข้อหา LGBTQ จนถูกปฏิเสธไม่ให้ร่วมงานลับกับรัฐบาลอังกฤษยุคสงครามเย็น ทัวริงรู้สึกโดดเดี่ยวและเศร้าโศกเสียใจ จนสุดท้ายต้องมาจบชีวิตไปในฐานะผู้ต้องโทษคดีอาญา แม้จะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติมามากมายเพียงใด
หลังการเสียชีวิตของทัวริง 13 ปี อังกฤษประกาศยกเลิกกฎหมายต่อต้าน LGBTQ ในปี 1967 และต่อมาในปี 2009 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี กอร์ดอน บราวน์ ออกแถลงการณ์ขอโทษเหยื่อข้อหาอนาจารจากกฎหมายต่อต้านชายรักชายในอดีต
อย่างไรก็ตาม กว่าทัวริงจะได้รับพระราชทานอภัยโทษจากสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 และกลายเป็นผู้ไม่มีมลทินมัวหมองต้องรอถึงปี 2013 หรือ 59 ปีหลังจากเสียชีวิต โดยต่อมาในปี 2018 อังกฤษประกาศใช้กฎหมายทัวริง (Turing’s Law) เพื่อยกเลิกความผิดฐานเป็นชายรักชาย และลบชื่อผู้ต้องโทษทั้งหมดออกจากประวัติอาชญากรรม ทั้งผู้ที่เสียชีวิตแล้ว และยังมีชีวิตอยู่
นอกจากนี้ ในวันที่ 23 มิถุนายน 2021 ซึ่งตรงกับวันเกิดปีที่ 109 ของทัวริง ธนาคารกลางของอังกฤษยังเตรียมเปิดตัวธนบัตรใหม่ใบละ 50 ปอนด์ ซึ่งมีรูปของวีรบุรุษสงครามนักถอดรหัสจอมอัจฉริยะผู้นี้อยู่บนธนบัตรดังกล่าว
แม้การแก้ไขกฎหมาย การอภัยโทษ และยกย่องเชิดชูคุณงามความดีเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ อลัน ทัวริง ไม่อาจรับรู้และคาดไม่ถึงว่าจะได้รับ แต่อย่างน้อยก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การยืนหยัดต่อสู้เพื่อการยอมรับความแตกต่างหลากหลายในสังคม และกล้าเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของตนเองไม่ใช่เรื่องที่ผิด
...และวีรกรรมของชายผู้ทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นนี้ จะยังคงได้รับการจดจำตลอดไป
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.nytimes.com/2019/06/05/obituaries/alan-turing-overlooked.html
https://www.bbc.co.uk/teach/alan-turing-creator-of-modern-computing/zhwp7nb
https://www.bbc.co.uk/newsround/47142948
https://www.bbc.com/news/business-56503741
ภาพ: Wikipedia, ภาพยนตร์, Photo by Christopher Furlong/Getty Images