เคนจิ นักสู้ทระนง: ทูตวัฒนธรรมแห่งจีน-ญี่ปุ่น และคัมภีร์วิทยายุทธตะวันออกยุคใหม่

เคนจิ นักสู้ทระนง: ทูตวัฒนธรรมแห่งจีน-ญี่ปุ่น และคัมภีร์วิทยายุทธตะวันออกยุคใหม่

‘เคนจิ นักสู้ทระนง’ ตีพิมพ์ ตั้งแต่ปี 1988 ถึงปี 1992 เป็นการนำชีวประวัติตัวเองของมัตสึดะ ริวจิ ผู้เขียนมาประกอบภาพ จึงมีลักษณะเป็นประวัติศาสตร์จริง ผสมกับอัตชีวประวัติของมัตสึดะ ริวจิ

***เปิดเผยเนื้อหาของเรื่อง เรื่อง ‘เคนจิ นักสู้ทระนง’ ตีพิมพ์รายสัปดาห์ในนิตยสารการ์ตูน Weekly Shonen Sunday (週刊少年サンデー) ตั้งแต่ปี 1988 ถึงปี 1992 มีรวมเล่มของตัวเองทั้งหมด 21 เล่ม และมีภาค 2 ตั้งแต่ปี 2018 แต่น่าเสียดายที่ มัตสึดะ ริวจิ (松田隆智) ผู้แต่งเนื้อเรื่องเสียชีวิตไปก่อน จึงยังไม่ได้ข้อสรุปว่าภาค 2 จะเป็นอย่างไรต่อไป  อันที่จริงเรื่องนี้คือการนำชีวประวัติตัวเองของมัตสึดะ ริวจิ มาให้ฟุจิวะระ โยชิฮิเดะ (藤原芳秀) เป็นผู้วาดภาพประกอบให้เป็นเนื้อเรื่อง จึงมีลักษณะคล้ายนวนิยายกิมย้งยุคใหม่ คือเป็นประวัติศาสตร์จริง ผสมกับอัตชีวประวัติของมัตสึดะ ริวจิ แล้วแต่งเติมเสริมรายละเอียดตามจินตนาการเองเพิ่มเข้าไป จนแยกได้ยากว่าอะไรจริง อะไรคือเรื่องแต่ง (ตัวละครที่เสียชีวิตไปแล้วก่อนช่วงปี 1988-1992 จะใช้ชื่อจริงนามสกุลจริง ส่วนตัวละครที่ยังมีชีวิตอยู่ในตอนนั้นจะใช้นามแฝงที่คล้าย ๆ ชื่อจริงแทน แต่ลายเส้นสมจริงมากราวกับภาพถ่ายของตัวจริง) แต่ที่เรื่องนี้มีคุณค่ามากที่สุดสำหรับวงการการ์ตูนญี่ปุ่นและวงการศิลปะป้องกันตัว คือวิทยายุทธทุกวิชาทั้งของจีนและของญี่ปุ่นในเรื่องล้วนเป็นวิทยายุทธที่มีอยู่จริงที่หลงเหลือมาจนถึงยุคปัจจุบันทั้งสิ้น เริ่มเรื่องในภาคแรก เปิดตัวเด็กชายชั้นประถมฯ ที่ชื่อ โก เคนจิ (剛拳児) ว่ามีคุณปู่ที่แตกฉานวิทยายุทธทั้งของจีนและญี่ปุ่น ที่คอยสอนทั้งวิทยายุทธและคุณธรรมของมนุษย์ เนื้อเรื่องเริ่มซับซ้อนและขมวดปมขึ้นในเล่ม 2 โดยอิงจากประวัติศาสตร์จริง เมื่อปู่ของเคนจิเฉลยว่าเคยเป็นทหารญี่ปุ่นไปรบกับจีนในช่วง ‘สงครามจีน-ญี่ปุ่น (Sino-Japanese War) ครั้งที่ 2’ ในปี 1937-1945 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามมหาเอเชียบูรพา ปู่ของเคนจิไปลาดตระเวนที่เมืองชางโจว (滄州) ของจีน (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลเหอเป่ย: 河北) และได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ได้รับความช่วยเหลือจากชาวจีนที่เป็นชาวบ้านแถวนั้น ชาวจีนในหมู่บ้านนั้นมิได้มีความชิงชังในตัวของทหารญี่ปุ่นที่เข้าไปรุกรานเลย กลับมอบน้ำใจช่วยรักษาแผลและให้ที่อยู่ที่กินแก่ชาวญี่ปุ่นผู้นี้ จนในที่สุดปู่ของเคนจิพบว่าชาวบ้านบริเวณนี้มีการฝึกวิทยายุทธประหลาดที่ชื่อว่า ‘มวยแปดปรมัตถ์ (八極拳)’ (ในประเทศไทยเรียกภาษาแต้จิ๋วว่า ‘มวยโป๊ยเก๊ก’) จึงได้ร่วมฝึกวิชานี้ด้วย  และในที่สุดวิทยายุทธแห่งตะวันออกก็หลอมรวมน้ำใจของคนกลุ่มนี้ให้ข้ามพ้นความขัดแย้งระหว่างพรมแดนและเชื้อชาติได้สำเร็จ กลายเป็นพี่น้องร่วมสาบานกัน ปู่เล่าให้ครอบครัวของเคนจิฟังว่าฝันร้ายถึงศิษย์พี่ศิษย์น้องร่วมสำนัก จึงอยากกลับไปเมืองจีนเพื่อไปดูสารทุกข์สุกดิบ (ยุคนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ต) แต่เมื่อปู่ของเคนจิเดินทางไปเมืองจีนแล้วกลับหายสาบสูญไป 5 ปีเต็ม… เคนจิได้ฝึกวิทยายุทธบางส่วนที่ปู่เคยสอนให้ตลอด 5 ปีเต็ม และเริ่มเรียนภาษาจีน เพื่อหวังจะไปตามหาปู่ที่หายสาบสูญไปในจีนแผ่นดินใหญ่ ระหว่างนี้ได้ไปพัวพันกับแก๊งยากูซ่า, แก๊งมาเฟียจีนที่โยโกฮะมะ (โยโกฮะมะคือ China Town ที่ใหญ่ที่สุดที่อยู่ติดกับโตเกียว), พวกนอกกฎหมายในหลาย ๆ ประเทศ และมีเรื่องหมางใจกับวายร้ายอย่าง ‘โทนี่ ถัน’ (Tony Tán) ผู้มีวิทยายุทธร้ายกาจอย่าง ‘มวยสกุลหง’ (洪家拳) และ ‘ฝ่ามือทรายเหล็ก’ (鉄砂掌) โดยโทนี่ ถัน กลายเป็นศัตรูตัวฉกาจไปตลอดทั้งเรื่อง  เคนจิและโทนี่ประลองกันหลายครั้ง ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ โทนี่ยังมีบทบาทเป็น Last Boss อีกด้วย ฉากสุดท้ายมีการสู้กันบนหน้าผาในประเทศจีนแบบเอาให้ถึงชีวิต (บรรยากาศแบบหนังจีนกำลังภายใน ตอนที่พระเอกประลองครั้งสุดท้ายเป๊ะ) เคนจิและโทนี่มีฝีมือสูสีกันมาก ในที่สุดจึงประลองกันจนร่วงตกหน้าผาไปทั้งคู่ เคนจิบาดเจ็บหนัก ส่วนโทนี่หายสาบสูญไปตลอดกาลแบบไม่รู้ว่าเป็นหรือตาย ตลอดทั้งเรื่องจะเห็นพัฒนาการทางวิทยายุทธและพัฒนาการทางคุณธรรมจอมยุทธของเคนจิที่กลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มชาวจีนต่าง ๆ ทั้งในญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ฮ่องกง และจีนแผ่นดินใหญ่ ในเรื่องยังมีภาพลักษณ์เก่า ๆ ของจีนแผ่นดินใหญ่อยู่มาก (เพราะเป็นยุคที่จีนยังไม่เปิดประเทศ) เช่น แม่ของเคนจิมีความกังวลต่อ ‘การไปเมืองจีน’ ว่ายังเป็นดินแดนลับแล ตอนเคนจิไปฮ่องกง ก็มีตัวละครที่ลี้ภัยจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปฮ่องกงว่า “อย่าไปอายที่เป็นคนแผ่นดินใหญ่ที่หนีมาฮ่องกง” จีนแผ่นดินใหญ่จึงยังเป็น ‘จีนแดง’ ที่มีภาพของยุคเก่า ไต้หวันและฮ่องกงเจริญกว่ามากในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งการสอนวิทยายุทธให้คนนอกอย่างเคนจิ ก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับนัก (ดูภาพยนตร์เรื่อง ยิปมัน ภาค 4 จะเห็นได้ว่า ชาวจีนยุคก่อนที่จีนแผ่นดินใหญ่จะเปิดประเทศ มีค่านิยมว่า มวยจีนห้ามสอนคนต่างชาติ และถึงสอนให้คนจีนด้วยกันก็ยังต้องสอนเป็น 2 เวอร์ชันด้วย คือสอนให้ศิษย์ทั่วไปเป็นมวยธรรมดา ส่วนศิษย์ก้นกุฎิที่นับเป็นญาติจะได้รับวิทยายุทธอีกชุดหนึ่งซึ่งเป็นวิทยายุทธที่ใช้ในการสังหารโดยเฉพาะ ไม่ใช่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อป้องกันตัว) เรื่องเคนจิจึงจัดเป็นการ์ตูนแนวสารานุกรมวิทยายุทธตะวันออกก็ว่าได้  รายชื่อวิทยายุทธที่ปรากฏในเรื่องและมีจริงในยุคปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น 1) มวยแปดปรมัตถ์ (八極拳) 2) มวยตั๊กแตน (蟷螂拳) 3) ฝ่ามือแปดทิศ (八卦掌) 4) มวยสกุลหง (洪家拳) 5) มวยหย่งชุน (詠春拳) 6) หมัดงู (蛇拳) 7) คาราเต้สำนักโชโตกัง (松濤館流空手) และ คาราเต้สำนักโกจูริว (剛柔流空手) 8) ไอกิโด้สำนักไดโตริว (大東流合気柔術) 9) ฝ่ามือทรายเหล็ก (鉄砂掌) และ ฝ่ามือทรายแดง (珠砂掌) 10) มวยเจตรูป (形意拳) และ มวยเจตรูปหกประสาน (心意六合拳) 11) มวยไท้เก๊กตระกูลเฉิน (陳氏太極拳) ซึ่งเป็นมวยไท้เก๊กสำหรับต่อสู้ที่สืบทอดจากบู๊ตึ๊ง และต่างจากมวยไท้เก๊กตระกูลหยาง (楊式太極拳) ที่เป็นมวยไท้เก๊กสายสุขภาพที่เรา ๆ ท่าน ๆ รู้จักกัน 12) มวยเส้าหลินแบบซงซาน (嵩山少林寺) ซึ่งเป็นมวยเส้าหลินต้นฉบับสาขาแรกที่ตั้งอยู่เทือกเขาซงซาน (嵩山) ที่รับวิชาโยคะอินเดียจากปรมาจารย์ตั๊กม้อ (達磨) สายตรงมาพัฒนาเกิดเป็นมวยเส้าหลิน (วัดเส้าหลินมีหลายแห่ง แต่ต้นฉบับคือที่เขาซงซานนี้เอง) เนื่องจากเส้าหลินเป็นต้นฉบับวิทยายุทธจำนวนมากของจีนในโลกแห่งความจริง จึงแตกแขนงเป็นอีกหลายวิชา เช่น หมัดเจ็ดดาว (七星拳) / หมัดอรหันต์ (羅漢拳) / ปราณอรหันต์ไสยาสน์ (羅漢臥睡功) / ฌานหนึ่งดัชนี (一指禅) / ฝ่ามือเซียน (仙人掌) / บาทาเหาะเหิน (飛毛脚) เป็นต้น ฉากการต่อสู้ต่าง ๆ ในเรื่องจึงมีความสมจริงมาก เนื่องจากใช้วิทยายุทธจริงในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ละนัดจะสู้กันเพียงไม่กี่วินาทีก็รู้ผล แถมโดนกันไม่กี่หมัดก็บาดเจ็บสาหัสมาก ถึงขั้นกระดูกหัก กระดูกร้าว หรือพิการ ฉากต่อสู้ค่อนข้างน่ากลัว เคนจิจึงใช้ชีวิตคาบเส้นของกฎหมายอยู่ตลอดเวลา เพราะในโลกแห่งความจริงนั้นคนที่วิวาทบ่อย ๆ แบบเคนจินั้นยากที่จะเลี่ยงกฎหมายไปได้ในประเทศญี่ปุ่น ส่วนในจีนก็ยังเป็นจีนยุคเก่าและเป็นดินแดนชนบทที่ยังเต็มไปด้วยมาเฟียจีนและพวกองค์กรใต้ดิน ที่ยังต่อสู้ ทำร้ายและฆ่ากันโดยยังลอยนวลเหนือกฎหมายกันได้ เรื่องนี้อ่านสนุกมาก เหมือนอ่านนวนิยายกำลังภายในดี ๆ เรื่องหนึ่งในเวอร์ชันการ์ตูน แต่เนื่องจากมีความอิงประวัติศาสตร์และสารานุกรม ถ้าหวังฉากแอ็กชันเวอร์ ๆ สะใจ ๆ ก็อาจจะรู้สึกเบื่อ แต่ถ้าหวังความดื่มด่ำและปรัชญาตะวันออกอย่างลึกซึ้ง หรือพล็อตเรื่องดี ๆ รวมทั้งมิตรภาพระหว่างเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ข้ามพ้นไปกว่าชาติ, ภาษา, วัฒนธรรม เรื่องนี้ก็เป็นการ์ตูนที่มีคุณค่าต่อสังคมอย่างมาก น่าลองหามาอ่านกัน