05 มิ.ย. 2564 | 17:50 น.
ในวันที่หนี้สินของ ‘จิโร่ ชาน’ เพิ่มขึ้นจากการปล่อยให้ดอกเบี้ยบัตรเครดิตบานปลาย คนที่ไม่มีงานทำอย่างเขาจึงตัดสินใจเดินเข้าไปในธนาคารเพื่อเจรจา ก่อนที่จะค้นพบว่า หนี้ทั้งหมดนั้นสามารถถูกระงับได้ทันที ‘ขอแค่บอกกันว่าคุณมีปัญหา สหรัฐอเมริกาจะไม่ยอมให้คุณล้ม’ หลังจากวันนั้น ชายหนุ่มผู้นี้ก็เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวอีกครั้ง ทำให้ ‘MrJiroChan’ กลายเป็นช่องยูทูบชาวไทยที่มีผู้ติดตามกว่า 7 แสนคน และเป็นอีกหนึ่งแหล่งความรู้สำหรับผู้ที่ต้องการติดตามไลฟ์สไตล์ของคนไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจิโร่ ชาน เจ้าของช่องมีแนวทางการทำยูทูบที่ให้ทั้งคอนเทนต์เน้นสาระ และ ‘Vlog’ วิดีโอไดอารี่ที่แบ่งปันประสบการณ์รายวัน รวมถึงมุมกล้องสวย ๆ ให้แก่เพื่อน ๆ ชาวไทยทั่วโลก โดยยูทูบเบอร์ผู้สรรสร้างวิดีโอกว่า 400 ตอนคนนี้ได้เผยถึง 3 สิ่งที่ชอบที่สุดไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ รถ หรือถนน ซึ่งทุกอย่างสามารถเชื่อมโยงชีวิตของเขากับอเมริกาได้อย่างลงตัว The People จึงชวนจิโร่ ชานมาถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตในอเมริกากว่า 16 ปีที่มีทั้งช่วงสุขและช่วงเศร้า ก่อนที่เขาจะผันตัวมาเป็นยูทูบเบอร์ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พร้อมความฝันที่ถูกจุดประกายขึ้น ณ เมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัสแห่งนี้ [caption id="attachment_34041" align="aligncenter" width="991"] จิโร่ ชาน ยูทูบเบอร์ชาวไทยในอเมริกา[/caption] อเมริกาแค่ขอบฟ้า “ผมชอบเมืองใหญ่ที่เจริญ แต่ไม่วุ่นวาย” หลังจากครอบครัวของจิโร่ ชานเดินทางมายังรัฐเท็กซัส เพื่อเปิดร้านอาหาร เขาก็มีโอกาสมาอาศัยอยู่ที่เมืองแห่งนี้นับตั้งแต่นั้นมา ประกอบกับความเจริญที่ไม่วุ่นวายเท่าลอสแอนเจลิสหรือนิวยอร์ก ทำให้แม้จิโร่ ชานจะไปมาแล้วถึง 5 รัฐ ทั้งแคลิฟอร์เนีย เท็กซัส ฟลอริดา เนวาดา และแอริโซนา แต่เมืองฮิวสตันก็ยังตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของเขาที่สุด นอกจากนี้ด้วยความที่ชื่นชอบรถยนต์ การขับรถบนถนนที่เป็นระเบียบและปลอดภัยตั้งแต่ตัวคนขับไปจนถึงผู้ร่วมใช้เส้นทางทุกคนจึงทำให้เขาชื่นชอบประเทศนี้เป็นพิเศษ “คนขับรถทั้งดีและไม่ดีมีอยู่ทุกที่ แต่กฎหมายของอเมริกาเคร่งมากกว่าไทย ตำรวจทำงานจริงจังกว่า และคนขับรถโดยส่วนใหญ่ค่อนข้างรักษากฎจราจรดี ทำให้เรารู้สึกว่าขับง่าย เป็นระเบียบกว่า และรถติดน้อยกว่า รถประจำทางก็ทันสมัยกว่าในบ้านเรา รองรับคนใช้วีลแชร์ได้ด้วย แต่ในรัฐเท็กซัสมีรถประจำทางค่อนข้างน้อย ถ้ามีรถยนต์ส่วนตัวก็จะสะดวก ค่าน้ำมันที่นี่ก็ไม่แพง (ขึ้นอยู่กับแต่ละรัฐ)” นั่นคือชีวิตประจำวันที่สามารถขับรถไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกสบาย โดยจิโร่ ชานเล่าเพิ่มเติมว่า หากย้อนความทรงจำของเขากลับไปตั้งแต่เมื่อครั้งยังอยู่ที่กรุงเทพฯ เขาจะนึกถึงละครไทยเรื่อง ‘รักแท้แค่ขอบฟ้า’ (2540) ซึ่งสามารถนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่อเมริกาได้อย่างตรงใจและค่อนข้างตรงตามความเป็นจริง โดยพระเอกของเรื่องอย่าง ‘แทน’ (ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง) ได้ออกเดินทางมาทำงานที่ร้านอาหารในอเมริกา ไม่ต่างจากตัวจิโร่ ชานที่ขลุกอยู่กับงานร้านอาหารมากว่า 10 ปี แม้เขาจะเดินทางมาด้วยความโชคดี เพราะพ่อแม่ได้เตรียมทุกอย่างไว้ให้พร้อม แต่เมื่อจิโร่ ชานเริ่มสร้างครอบครัวของตัวเอง ไม่ได้พึ่งพาพ่อแม่เช่นเดิม เขากลับใช้เงินอย่างไม่เก็บออมจนเกิดเป็นปัญหาหนี้สินตามมา ประกอบกับกิจการร้านอาหารที่เขาประจำอยู่เริ่มขาดทุน เงินเดือนที่ได้จึงน้อยลงเต็มที บทเรียนสำคัญในอเมริกา “มันเป็นความผิดของเราเอง ด้วยความที่เราอยู่กับร้านอาหารมานาน มันเกิดความเคยชินทำให้เราไม่ออกไปไหน ขนาดร้านไม่มีลูกค้า เราก็ยังอยู่ มันคือช่วงเวลาปีกว่าที่ไม่ไปไหนเลย จึงเกิดเหตุการณ์ติดลบขึ้นมา” จิโร่ ชานเล่าว่า เมื่อเงินสดของเขาหมดลง รายจ่ายทั้งหมดจึงถูกรูดโดยบัตรเครดิตจนเกินวงเงิน และเขาก็ไม่มีรายได้มากพอจะมาจ่ายหนี้บัตรเครดิตนั้น ในช่วงเดือนแรกที่ธนาคารโทรฯ มา เขาไม่ได้รับสาย หลังจากนั้นไม่นานธนาคารจึงส่งหมายศาลมาแทน “ตอนนั้นปัญหาของเรามีเป็นสิบ แก้ไม่ได้สักเรื่อง ผมเครียดมาก ผมเลยปล่อย ปรากฏว่ามันเป็นวิธีที่ผิด พอผมโดนหมายศาล ผมเลยไปที่ธนาคาร บอกกับพนักงานว่าผมไม่มีเงิน ผมตกงาน ผมต้องทำอย่างไร พนักงานก็บอกว่า มันเป็นเพราะผมไม่ได้รับโทรศัพท์ของธนาคารในวันนั้น ถ้าคุณไม่อยากขึ้นศาล คุณแค่โทรฯ ไปบอกเขาเหมือนที่คุณกำลังบอกฉันอยู่” และเมื่อจิโร่ ชานโทรฯ ไปหาธนาคารดังกล่าว เขาก็ค้นพบว่า หนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยทั้งหมดสามารถถูกพักไว้ให้อยู่คงเดิม ไม่มีดอกเบี้ยเพิ่ม ส่วนการจ่ายหนี้ที่เหลือ ทางธนาคารอนุญาตให้เขากำหนดเองได้ว่า มีกำลังพอจ่ายหนี้ต่อเดือนในจำนวนเท่าไร “ผมบอกเขาว่าผมตกงาน เขาก็รับฟังและพักหนี้ให้ เขาให้เรากำหนดเองว่าต่อเดือนเราจ่ายได้เท่าไรถึงจะไหว ผมก็บอกจำนวนที่น้อยมาก ๆ ไป เขาก็โอเคนะ มันน้อยกว่าตอนแรกที่เขากำหนดมาอีก ถ้าเรามีปัญหาแล้วไม่บอก เขาก็จะไม่รู้ว่าเรามีปัญหา ผมปล่อยไปแค่ 3 เดือน ดอกเบี้ยบานเลย เรื่องนี้สอนผมว่า ทุกอย่างมันแก้ไขได้ ที่อเมริกาเขาจะไม่ปล่อยให้คนล้ม ถ้ามีอะไรที่เขาช่วยได้ เขาจะช่วย” หลังจากวันนั้น ปัญหาต่าง ๆ ที่ขมวดเป็นปมรัดตัวของเขาก็เริ่มคลายออก จิโร่ ชานหันมาทำยูทูบจนมีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เขานำประสบการณ์ดังกล่าวมาแชร์ผ่านช่องยูทูบ เพื่อช่วยเหลือชาวไทยที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาแบบเดียวกัน นอกจากนี้ยังเริ่มหาคอนเทนต์ที่น่าสนใจมาแชร์กับผู้ติดตาม ทำให้ช่องของเขาได้รับความนิยมจนถึงตอนนี้ (คลิปวิดีโอ VLOG 82.ประสบการณ์ชีวิตติดลบในอเมริกา https://www.youtube.com/watch?v=V46wRi6P3PQ) เส้นทางยูทูบเบอร์ไทยในอเมริกา “ต้องบอกว่าตั้งแต่มาอยู่อเมริกา ผมก็อยากทำมานานแล้ว แต่ว่าตอนนั้นยูทูบยังไม่เป็นที่นิยม ถ้าทำเป็นรายการ ขอบเขตจะใหญ่ ใช้คนเยอะ เราทำไม่ได้ เราตัวคนเดียว แต่พอเวลาผ่านไป เราดูยูทูบของฝรั่งและพบว่า Vlog มันฮิตมาก การถือกล้องคนเดียวเราทำได้ เราก็เลยเริ่มศึกษาของฝรั่ง เอามามิกซ์เป็นสไตล์ของเรา บวกกับความรู้ที่ได้เรียนมาในสาขานี้” จิโร่ ชานเล่าให้ฟังว่า เขามียูทูบเบอร์ในดวงใจอยู่สองคน คนหนึ่งเป็นยูทูบเบอร์สายรถซิ่ง ‘TheStradman’ และ King of Vlogging ‘CaseyNeistat’ ที่ถ่าย Vlog ประจำวันตั้งแต่การฆ่ามด ถ่ายกระรอกเข้าบ้าน ไปจนถึงจับเข่าคุยกับประธานาธิบดีของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจิโร่ ชานเล่าต่อว่า ยูทูบเบอร์คนนี้มีแนวคิดเช่นเดียวกับเขาคือการทำ Daily Vlog ให้เป็นเหมือนหนังสั้น ภายหลังจิโร่ ชานได้ทำ Vlog แบบเพิ่มมุมกล้องมากขึ้น เพื่อให้ดูเป็นภาพยนตร์ ซึ่งอาจจะไม่ชินตาสำหรับผู้ติดตามบางกลุ่ม ทำให้มีข้อความมาต่อว่า หรือแสดงความคิดเห็นในเชิงลบบ้าง ประกอบกับความเข้าใจเรื่อง Vlog ยังไม่แพร่หลาย ผู้ติดตามจึงไม่เข้าใจแนวทางการถ่าย Vlog ซึ่งแตกต่างจากการทำคอนเทนต์เน้นสาระของเขา “ตัวเราเองไม่ได้ทำแนวทางชัดเจนในช่วงต้นด้วยว่า เนื้อหาภายในช่องจะเป็นแนวคอนเทนต์ หรือ Vlog ทำให้ผู้ชมบางส่วนไม่เข้าใจ หลายคนตามมาจากคลิปดัง ๆ ที่เป็นคอนเทนต์หนัก ๆ อย่างคลิปรถบรรทุก หรือคลิปสัมภาษณ์ พอหลัง ๆ ผมทำ Vlog เขาเลยบอกว่ามันไร้สาระ แถมคนจะติดกับรูปแบบรายการมากกว่า ไม่ชินกับการเห็นมุมกล้องใหม่ ๆ แต่จริง ๆ Vlog เป็นการถ่ายเหตุการณ์ในชีวิตไม่ว่าเรื่องนั้นจะเล็กหรือใหญ่โต มันจะเรียล ไม่เซต ที่สำคัญคือต้องเป็นการถ่ายทำด้วยตัวเองเป็นหลัก ถือกล้องเอง” แต่ถึงแม้จิโร่ ชานจะพบเจอกับอุปสรรคในการทำช่องยูทูบ เขาก็สามารถก้าวผ่านมันมาได้ด้วยกำลังใจจากผู้ติดตามที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น ส่วนตัวเขาก็จะมุ่งมั่นถ่ายทำสิ่งที่ชอบต่อไปไม่ว่าจะเป็นการแชร์ประสบการณ์โร้ดทริป พาไปชมรถยนต์ หรือแชร์ภาพยนตร์ที่ชื่นชอบ อเมริกาที่ตอบโจทย์ทุกความชอบ “พูดถึงเรื่องเรียน น่าจะสายไปหรือเปล่าไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ตอนที่มาอเมริกาครั้งแรก พ่อแม่ตั้งใจจะให้เราเรียนต่อด้านภาพยนตร์โดยเฉพาะ แต่ด้วยความที่ว่าเรามาแบบเป็นใบเขียว ซึ่งต่างจากวีซ่านักเรียนที่โดนบังคับให้เรียน เราชิว เราทำงานได้ พอทำงานปุ๊บ เราเพิ่งมาจากเมืองไทย พอเห็นว่าเงินได้เยอะ เทียบเป็นเงินไทยแล้วสูงกว่าคนที่ทำงานตำแหน่งสูง ๆ ในไทยหลายคนก็เลยติดใจตัวเงิน ไม่ได้เรียนต่อ แล้วก็ติดอยู่ในวงจรร้านอาหารมา 10 ปี” ภาพยนตร์ รถ และถนน คือสามสิ่งที่จิโร่ ชานชื่นชอบที่สุดในอเมริกา ถึงแม้ปัจจุบันจะยังไม่มีโอกาสเรียนต่อในสาขาที่ต้องการ แต่ ‘ภาพยนตร์’ ก็ยังเป็นอีกสิ่งที่เขาขาดไม่ได้ โดยในปัจจุบัน โรงภาพยนตร์ที่อเมริกาเปิดทำการปกติแล้ว ทั้งเขายังสามารถดูผ่านยูทูบและเว็บไซต์ได้ ส่วนเมื่อก่อนจิโร่ ชานเล่าว่าเขาจะไปเช่าวิดีโอตามร้านเอา “ตอนนั้นในเมืองไทยเป็นวีซีดีแล้ว แต่ที่อเมริกาจะเป็นวิดีโอกับดีวีดี เขาจะไม่มีวีซีดี ตอนแรกเรามองว่าเขาล้าหลัง แต่พอมานั่งดู ม้วนวิดีโอเขาชัดมาก ชัดกว่าวีซีดีและดีวีดีที่ไทยอีก ผมก็เลยเข้าใจว่า อรรถรสในการดูหนังจริงมันไม่ควรจะดูแล้วภาพแตก แถมยังต้องต่อแผ่นดู แผ่น 1 แผ่น 2 ซึ่งมันผิดมาก ๆ มันขาดตอน” [caption id="attachment_34044" align="aligncenter" width="992"] ภาพยนตร์ที่จิโร่ ชานสะสมไว้[/caption] ส่วนสิ่งที่ชื่นชอบรองลงมาอย่าง ‘รถ’ เขาเล่าว่า เนื่องจากรถที่อเมริกามีหลากหลายและราคาไม่แพง ทำให้ความชอบในจุดนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความฝันไปแล้ว เขาอยากเปิดบริการดูแลรถหรือ Car Care เป็นของตัวเอง รวมไปถึงทำธุรกิจนำเข้ารถญี่ปุ่นที่มีอายุเกิน 25 ปี ด้วยภาษีที่ต่ำกว่าไทย ทำให้การนำเข้าเป็นไปได้มากกว่า ทั้งคนอเมริกันยังมีความสนใจในรถญี่ปุ่น แต่ตัวเขาเองก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องเงินทุนที่สูงอยู่ ส่วนสิ่งที่จิโร่ ชานชื่นชอบเป็นอันดับที่สามก็คือ ‘ถนน’ “ทุกครั้งที่ผมขับโร้ดทริป ผมอึ้งมาก มันสร้างถนนได้ยังไง ประเทศอเมริกามันใหญ่มาก เฉพาะรัฐเท็กซัสก็ใหญ่กว่าเมืองไทยแล้ว แต่ถนนมันเชื่อมต่อกันหมด ทุกรัฐวิ่งถึงกันหมด แล้วมันวิ่งสบายมาก การจัดผังเมืองไม่ระเกะระกะ เรามองถนนได้สุดลูกหูลูกตา ไม่มีอะไรบังสายตาเลย” เขาอธิบายด้วยน้ำเสียงที่แฝงความประทับใจอย่างล้นเหลือ ซึ่งความสะดวกสบายและคุณภาพชีวิตที่ดีนี้เอง ทำให้เขาเลือกที่จะอาศัยอยู่ในอเมริกาต่อไป [caption id="attachment_34046" align="aligncenter" width="989"] ถนนในประเทศสหรัฐอเมริกา[/caption] จากความคิดถึงสู่การนึกถึง “ช่วงแรกที่มา เราคิดถึงเมืองไทยมาก แต่ตอนนี้แค่นึกถึง อยากจะกลับไปเที่ยวบ้าง ถ้าพูดตรง ๆ รู้สึกว่าที่นี่โอเคกว่าในหลายเรื่อง ถึงแม้มันจะไม่ได้ดีที่สุด แต่มันดีกว่าที่ที่เราเคยอยู่ในหลายด้าน” จิโร่ ชานบอกว่า เขามีแผนที่จะเดินทางกลับมาพักผ่อนที่ประเทศไทยในอนาคต เนื่องจากช่วงนี้ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ ส่วนตัวเขาได้รับการฉีดวัคซีนที่รัฐเท็กซัสเป็นที่เรียบร้อย โดยคนในรัฐสามารถเลือกได้ว่าจะฉีดวัคซีน Moderna หรือ Pfizer “ของผมฉีด Moderna ครบ 2 เข็มแล้ว ที่นี่สามารถเดินเข้ามาทำนัดที่ร้านขายยาได้เลย แค่กรอกเอกสารว่าแพ้อะไรไหม ท้องอยู่หรือเปล่า ไม่ยาว แค่กระดาษ 2 หน้า พอนัดวันเสร็จก็มาได้ตามนัดเลย ฉีดเข็มแรกผมไม่เป็นอะไร ส่วนเข็มสองที่คนบางกลุ่มบอกว่าจะปวดแขน หรือไข้ขึ้น ผมก็มีตัวร้อนนิดหน่อย พอตอนเย็นก็หาย” [caption id="attachment_34051" align="aligncenter" width="994"] จิโร่ ชาน "EP490. ได้ฉีดวัคซีนกันโควิดฟรีแล้วครับ"[/caption] ซึ่งรายละเอียดขั้นตอนการเข้ารับวัคซีน Moderna ของเขาก็ถูกบันทึกเป็นวิดีโอในช่องยูทูบเช่นกัน (https://www.youtube.com/watch?v=W7fP4A0xG3g) นอกจากนี้ในช่องของเขายังมี Vlog ที่บันทึกเรื่องราวและคอนเทนต์ความรู้เกี่ยวกับคนไทยในอเมริกาอีกมากมายให้เลือกชม โดยทั้งหมดเป็นเนื้อหาที่เขาตั้งใจทำเป็นอย่างมาก จิโร่ ชาน ยูทูบเบอร์ชาวไทยจึงได้ฝากคำแนะนำไว้สำหรับคนที่กำลังอยากทำช่องยูทูบ ให้พวกเขาทำในสิ่งที่ตนเองชอบ ไม่ใช่เพียงทำตามเทรนด์เท่านั้น “ถ้าชอบการทำยูทูบก็ลุยเลย เลือกเรื่องที่เราถนัด เรื่องไหนที่อยากจะแชร์ก็เอาสิ่งนั้น อย่าไปทำตามใคร เห็นเขาทำแล้วเวิร์กเลยอยากสร้างรายการที่ไม่เป็นตัวของตัวเองขึ้นมา มันไปได้ยาก แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เราถนัด มันอาจจะไม่ได้ปังในช่วงต้นๆ แต่เชื่อว่าสักระยะหนึ่ง มันจะมีคนเห็นสิ่งที่เราทำได้ดี คนจะเริ่มสัมผัสได้ และเขาจะมาดูเราเอง ต้องชอบต้องรักในการทำวิดีโอจริง ๆ เพราะมันใช้เวลามาก เป็นตัวของตัวเองดีที่สุด” เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ภาพ: จิโร่ ชาน